ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.น่าน ปี 3

กระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชนจังหวัดน่าน

­­

     ผลจากการทำ “โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน” 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์เมืองน่านที่เยาวชนได้พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากคนนอกมองคนน่าน และปัญหาจากคนน่านมองคนน่านเอง ได้ข้อสรุปจากเยาวชนว่าปัญหาที่พบเจอในเมืองน่านเองได้แก่

     ปัญหาด้านทรัพยากรที่นับวันจะลดตัวลงทั้ง ดิน น้ำ ป่า อันเนื่องมาจากประชากรเพิ่มขึ้น คนชุมชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นโยบายของภาครัฐที่เข้ามา ทั้งนี้ความมั่นคงทางด้านอาหารของคนเมืองน่านลดลงจึงต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอกมากขึ้น

     ด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเกิดปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในและนอกชุมชน เช่น ด้านขยะมูลฝอย การใช้สารเคมีที่เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการทำอาชีพการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากทำให้อาหารไม่ปลอดภัย และมีการทิ้งสารเคมีลงในแม่น้ำทำให้ระบบนิเวศของน้ำเสียหาย

     ด้านวัฒนธรรมประเพณี ขาดผู้สืบทอดทั้งภูมิปัญญาของคนในชุมชน ศิลปะการแสดงต่างๆ ของเมืองน่านเริ่มลดลง เยาวชนให้ความสนใจน้อยเนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามา จึงลดทอนวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองลงไป ไม่กล้าแสดงออกถึงชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนเอง

     จากการดำเนินงานภายใต้โครงการ “เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน” 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีความต่างกันด้านกระบวนการดังนี้ ปีที่ 1 เยาวชนที่ถูกพัฒนาผ่านการทำโครงการ และกิจกรรมเยาวชนยังมีความคิดที่ยังไปไม่ถึงคำว่า “สำนึกความเป็นหน้าหมู่” หรือความเป็นพลเมืองน่าน ปีที่ 2 เน้นกระบวนการในการสร้างจิตสำนึกพลเมือง ทำให้เยาวชนในโครงการเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สถานการณ์ของเยาวชนเองจึงเห็นภาพความเชื่อมร้อยประเด็นไปกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดน่าน และสามารถเชื่อมร้อยไปกับประเด็นการพัฒนาเมืองน่านของผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่

     ทีมทำงานได้เกิดการวิเคราะห์ ว่าหากเยาวชนน่านลุกขึ้นมาแล้วไม่ควรจะปล่อยให้สูญหายไป จึงสานต่อด้วยการขยายพื้นที่ในการสร้างสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นให้ครอบคลุมทั้ง 15 อำเภอ ในปีที่ 3 โดยมุ่งเป้าหมายให้มีโครงการเยาวชนในพื้นที่ทั้ง 15 อำเภอ 21 โครงการ แบ่งประเด็นออกเป็น 1) ประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 2) ประเด็นวัฒนธรรม 3) ประเด็นสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ 4) ประเด็นสัมมาชีพ/เกษตรและ 5) ประเด็นวัฒนธรรมภูมิปัญญา ให้เกิดสำนึกพลเมืองให้เกิดกับคนรุ่นใหม่ ที่ก้าวเข้ามาสานต่อความคิดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ไม่เพียงแต่ตัวของเยาวชนเท่านั้น เรายังหวังในด้านการพัฒนาพี่เลี้ยง/ผู้ใหญ่ในพื้นที่ ให้เกิดความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของเยาวชน เพื่อร่วมกันขยับขับเคลื่อนการทำงาน ให้พลเมืองน่านเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีอัตตลักษณ์ มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถตั้งรับปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างเท่าทันและเหมาะสม โดยมีเป้าประสงค์ให้เด็กและเยาวชนสร้างกลุ่มการเรียนรู้ของตนเองในเรื่องที่ตนสนใจกับชุมชนที่อาศัยอยู่ ใช้กระบวนการหากลุ่ม วิเคราะห์พื้นที่ ศักยภาพ ทุน สถานการณ์ปัญหา เพื่อพัฒนาเป็นโจทย์ วางแผนกิจกรรมและดำเนินกิจกรรมของตนเอง ผ่านการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยคนในชุมชน องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภายในและนอกชุมชน คอยเป็นพี่เลี้ยงและเติมเต็มองค์ความรู้และกำลังใจในการดำเนินงาน

     ตลอด 3 ปีที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่าน ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน มีฐานคิดความเชื่อว่า

­

“จิตสำนึกพลเมืองสร้างได้จากการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฎิบัติจริง เพียงแต่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้จากเรื่องจริง ชีวิตจริงและเป็นสิ่งใกล้ตัว ”

­

โดยฐานคิดที่ทีมโคชใช้ในการพัฒนาเยาวชนละอ่อนน่านฮักบ้านเกิดมีเป้าหมายดังนี้

1. การสร้างเครือข่ายเยาวชนเพื่อให้เป็นพลเมืองรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาจังหวัดน่าน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

2. เสริมสร้างศักยภาพให้เยาวชนคิดเอง ทำเอง ฝังชิปการคิดเป็นระบบและสำนึกพลเมือง สร้างการเรียนรู้ให้มีศักยภาพในการทำอะไรเพื่อเมืองน่าน

3. สร้างการเรียนรู้ผ่านการทำงานสวนกระแส แก้ค่านิยม (จากเรียนให้เก่ง เรียนให้สูง เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน คิดถึงตัวเองก่อน มาเป็นการคิดเป็นกระบวนการและสำนึกถึงส่วนรวม)

4. อยากเห็นเยาวชนเป็นแชร์ลูกโซ่ต่อนำชิปที่ได้ไปใช้ต่อกับชุมชน

5. เชื่อมโยงการทำงานเยาวชนกับการขับเคลื่อนวาระน่าน โดยมีประเด็นที่สำคัญที่สอดคล้องกับ

สถานการณ์เมืองน่าน เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ สัมมาชีพ เศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น

ปี3น่าน

คุณลักษณะพลเมืองเยาวชนจังหวัดน่าน

     ทั้งนี้ทีมโคชคาดหวังว่า กระบวนการเรียนรู้จากเรื่องจริง ชีวิตจริง และเป็นสิ่งใกล้ตัวจะทำให้ละอ่อนน่านมีคุณลักษณะดังนี้

  • มีสำนึกความเป็นพลเมือง
  • ภาวะความเป็นผู้นำ
  • บริหารการจัดการทีม
  • รักถิ่นฐานบ้านเกิด
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์
  • ความสัมพันธ์กับชุมชน

การออกแบบกระบวนการพัฒนาเยาวชนเมืองน่าน

     ด้วยเป้าหมายหลกัของโครงการในปีที่ 3 ที่เน้นเรื่อง “การสร้างเครือข่าย” การทำงานจึงครอบคลุมทั้งจังหวัดน่าน ทั้งกลุ่มพี่เลี้ยงชุมชน หรือหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนในโครงการทั้ง 3 ปี เพื่อสร้างกลุ่มเยาวชนในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองน่านต่อไป ทำให้ในปีนี้โครงการได้ออกแบบการพัฒนาพลเมืองเยาวชนจังหวัดน่านดังนี้ 

  • พัฒนา “กลไกการพัฒนาเยาวชน” ผ่านการสร้างกลุ่มเครือข่ายดอกไม้หลากสี โดยรวบรวมกลุ่มคนที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนในจังหวัดน่าน เพื่อแรงเสริมในการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนจังหวัดน่าน
  • กระบวนการพัฒนาพี่เลี้ยงโครงการ เน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพการเป็นโคชที่คอยหนุนเสริมเด็กและเยาวชน และเติมเต็มองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทฤษฏีเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก ทักษะการโคช เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเยาวชนได้ รวมถึงเป็นตัวเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงกลุ่มอื่น ๆ เชื่อมการทำงานในระดับจังหวัด โดยคาดหวังเป้าหมายปลายทางคือ เกิดเครือข่ายผู้ใหญ่ใจดีในจังหวัด
  • สร้างเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนการทำงานให้ครอบคลุมทั่วจังหวัดน่าน 

­

13 ขั้นตอนการพัฒนาเยาวชนเมืองน่าน “เส้นทางสู่ฝันละอ่อนน่านฮักบ้านเกิด”

     ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่เยาวชนได้เข้าร่วมโครงการ ภายใต้ฐานคิดเรื่องการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและลักษณะนิสัย (Character building) จากการลงมือทำ แก้ปัญหา และมีประสบการณ์ตรงจากสถานการณ์จริงในชุมชน สังคม โครงการได้ออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ (Learning journey) ไว้ 13 ขั้นตอนดังนี้

      1. กระบวนการค้นหาเด็ก

     เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ 3 ของการทำโครงการ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจึงมีทั้งเด็กเก่าที่ทำงานต่อเนื่องและเยาวชนกลุ่มใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมกระบวนการมาก่อน ทำให้ทีมโคช ต้องวางรูปแบบในการคัดสรรเยาวชนเพื่อเข้าร่วมโครงการออกเป็น 2 รูปแบบคือ 

กระบวนการค้นหาเด็ก

     2. เวทีประชุมคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ Active Group

      สำหรับเป้าหมายของเวทีนี้คือ การรวมพลังดอกไม้หลากสี ที่หมายถึงการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในจังหวัดน่าน ใช้การทำงานของเยาวชนเป็น “เครื่องมือ” เชื่อมร้อยกลุ่มคนทำงานในหน่วยงานต่างๆ ภายในจังหวัดน่าน ทำให้เกิดเวทีประชุมคณะกรรมการและผู้ทรงคณวุฒิขึ้น ผ่านการประชุมหารือเพื่อร่วมกันคัดกลุ่มคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนเข้ามากำหนดทิศทางในการทำงานร่วมกัน

ผลที่เกิดขึ้น
  • เกิด “ไลน์ดอกไม้หลากสี” เพื่อใช้เป็นพื้นที่พูดคุยงาน
  • ด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนของจังหวัด
  • กลุ่มดอกไม้หลากสีอยากเห็นวิธีคิดและกระบวนการ
  • ทำงานของเยาวชน

ไลน์ดอกไม้หลากสี

tips

      3. เวทีประชุมพี่เลี้ยงโครงการเยาวชนน่านปี 3

     เป็นเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างโคชและพี่เลี้ยงในพื้นที่ในประเด็น คุณสมบัติของพี่เลี้ยง การคัดเลือกพี่เลี้ยงที่เน้นคนที่มี “ใจ” เข้าใจกระบวนการพัฒนาเด็กเยาวชน ซึ่งกระบวนการคัดเลือกพี่เลี้ยงจะใช้การประชาสัมพันธ์เบื้องต้น โดยส่งหนังสือชี้แจงรายละเอียดการทำโครงการให้กับโรงเรียนในจังหวัดน่าน รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ ให้พี่เลี้ยงที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จากนั้นทีมโคชจึงนัดนัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

กระบวนการ
  • ชวนพี่เลี้ยงวิเคราะห์ทุนดี-ปัญหาผ่านโจทย์ 
  1. เห็นสถานการณ์เมืองน่านเป็นอย่างไร
  2. เห็นสถานการณ์ชุมชนเป็นอย่างไร
  3. เห็นสถานการณ์ของเยาวชนเป็นอย่างไร 
  • ภาพฝันละอ่อนน่าน
  • บทบาทพี่เลี้ยงที่ดีควรเป็นอย่างไร
  • เป้าหมายในการทำงาน
  • เครื่องมือที่ควรใช้ในการทำโครงการ เช่น 
  1. Timeline เพื่อใช้สำรวจช่วงเวลาเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อค้นหาทุกข์-ทุน หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนตามช่วงเวลา
  2. แผนที่ชุมชน เพื่อใช้ในการค้นหาของดีในชุมชน ทุนที่มีในชุมชน ทั้งทรัพยากร บุคลากร วัฒนธรรมประเพณี และสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การคิดโจทย์ในการทำโครงการของเยาวชนได้ 

­

ผลที่เกิดขึ้น
  • พี่เลี้ยงเข้าใจกระบวนการโคชเยาวชนมากขึ้น จากเดิมที่เคยชี้นำเด็ก ก็เปลี่ยนมาเป็นเปิดโอกาสให้เด็กคิดลงมือทำด้วยตัวเอง

­

4. เวทีบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ละอ่อนน่าน : เวทีพัฒนาข้อเสนอโครงการ

     เวทีนี้ถือเป็นเวทีแรกของเยาวชนทีได้มีโอกาสมาเจอกันเป็นครั้งแรก เป้าหมายหลักของเวทีนี้จึงเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมโคชและเด็กเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ฝึกทักษะการเขียโครงการ ทักษะการนำเสนอ ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทีมโคชออกแบบไว้ดังนี้

กระบวนการ : ออกแบบกิจกรรมเป็นระยะเวลา 2 วัน 

­

วันที่ 1 เน้นเความสัมพันธ์ของกลุ่มเยาวชน ผ่านกิจกรรมละลายพฤติกรรม

  • กิจกรรม “อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย” เป็นบทความที่สะท้อนถึงพฤติกรรมของเยาวชนในยุคปัจจุบัน ให้เยาวชนอ่านและวิเคราะห์ตัวเองว่าตนเป็นเหมือนบทความนี้หรือไม่
  • เสาแห่งตัวตน เป้าหมายคือ ให้เยาวชนวิเคราะห์ตัวเอง เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กวิเคราะห์ตัวเองผ่าน กรุ๊ปเลือดแต่ละกรุ๊ป โดยไม่บอกว่านิสัยแบบนี้เป็นเลือดกรุ๊ปอะไร โดยโคชจะให้เยาวชนวิเคราะห์ผ่านการอ่านนิสัยที่อยู่ในแต่ละเสาว่าเสาไหนตรงกับนิสัยของตัวเองมากที่สุด จากนั้นพาถอดบทเรียน และเฉลยเสาที่เขาเลือกตรงกับกรุ๊ปเลือดของเขาหรือไม่
  • ปิดตาลอดห่วง 

วันที่ 2 เน้นที่เครื่องมือ กระบวนการในการทำโครงการ

     แบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มที่ชัด คือ กลุ่มที่ได้โจทย์ร่างข้อเสนอโครงการแล้ว แต่มีบางส่วนที่ต้องปรับแก้ โคชจะให้คำแนะนำเรื่องการปรับข้อเสนอโครงการ ซึ่งการที่เด็กเยาวชนมีโจทย์ปัญหาชัดเจนเนื่องจากโคชให้เครื่องมือในการวิเคราะห์ชุมชนมาแล้วในระดับหนึ่ง และโคชลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับเยาวชนพอสมควร
  • กลุ่มปานกลาง คือ กลุ่มที่เห็นโจทย์แล้วแต่ข้อเสนอโครงการยังไม่ชัด ดในเวทีนี้พี่เลี้ยงจะทิ้งคำถาม 7 ข้อให้เขาไปหาคำต่อ เพื่อนำไปสู่การเขียนโครงการ
  1. สิ่งที่อยากทำ (ชื่อโครงการ)
  2. ทำไมถึงต้องการทำ (ที่มา)
  3. ทำเพื่อให้เกิดอะไร (วัตถุประสงค์/เป้าหมาย)
  4. ทำไมต้องทำ/ไม่ทำไม่ได้หรือ (สำนึกความเป็นพลเมือง)
  5. ทำแล้วจะได้อะไร (ผลที่คาดว่าจะได้รับ)
  6. มีวิธีการทำเพื่อไปสู่เป้าหมายอย่างไร (ขั้นตอน/วิธีการ)
  7. ใครที่สามารถมาช่วยเราได้บ้าง (ผู้เกี่ยวข้องในโครงการ)
  • กลุ่มที่เข้ามาใหม่ คือกลุ่มที่ยังไม่เคยทำมาก่อน โคชจึงต้องพาเด็กค้นหาสถานการณ์ปัญหาในชุมชน ผ่านแผนที่ชุมชน และวิเคราะห์ทุกข์ - ทุน และของดีในชุมชน โดยโคชจะทำหน้าที่วิเคราะห์โครงการอีกครั้ง หลังจากเยาวชนนำเสนอโครงการจบ เพื่อจัดกลุ่มเยาวชนที่ต้องลงไปโคชในพื้นที่อีกครั้ง เพื่อให้ได้โจทย์โครงการที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ข้อค้นพบ

5. เวทีต้นกล้าแห่งความหวังพลังของละอ่อนน่าน: เวทีพิจารณาโครงการ นำเสนอโครงการแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ

     สำหรับเป้าหมายของเวทีนี้คือ การฝึกทักษะการนำเสนอ การรับฟังความคิดเห็น ทักษะการคิดสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กทบทวนโครงการของตนเอง และมีการเติมความรู้รูปแบบการนำเสนอใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ

     กระบวนการเรียนรู้ 2 วัน
  • วันที่ 1 ซ้อมนำเสนอโครงการ
    • ให้เยาวชนแต่ละทีมทบทวนโครงการของตัวเองก่อน ซักซ้อมการนำเสนอในรูปแบบที่ตนเองสนใจ
    • แจกโจทย์ให้เยาวชนนำเสนอ “หัวใจ” ของโครงการ เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ
    • ให้เวลาคิดรูปแบบในการนำเสนอโครงการตามความคิดของตัวเอง
  • วันที่ 2 นำเสนอโครงการให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ
    • โคชทำความเข้าใจเป้าหมายในการจัดเวทีให้ผู้ทรงคุณวุฒิรับทราบเงื่อนไขในการพิจารณาโครงการ ข้อแนะนำควรเป็นการเสริมพลังให้กับเยาวชน
    • นำเสนอกลุ่มละไม่เกิน 10 นาที
    • ออกแบบให้เยาวชนแต่ละทีมจับคู่กลุ่มกัน โดยระหว่างที่เพื่อนนำเสนอ จะต้องจดประเด็นข้อเสนอแนะจากผู้ทรงให้กับทีมที่นำเสนอ เพื่อฝึกทักษะการฟัง การจับประเด็น
ผลที่เกิดขึ้น

     จากการออกแบบกระบวนการของโคชที่ให้แต่ละทีมหา “หัวใจ” ของโครงการ และซ้อมการนำเสนอหลาย ๆ ครั้งในวันแรก เมื่อถึงวันนำเสนอจริงเยาวชนจึงเกิดความมั่นใจ สามารถเล่าได้โดยไม่สั่น ไม่เขินไมค์ และเล่าได้โดยไม่ต้องมองกระดาษ ขณะที่บางกลุ่มสามารถนำเสนอในรูปแบบละครสั้นได้อย่างสร้างสรรค์

­

6. เวทีกระจายทุน

     เป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องระเบียบการใช้เงินในโครงการ วางแผนการทำงานร่วมกันระหว่างเยาวชนและทีมโคชโดยใช้ปฏิทินส่วนกลาง เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรู้ความเคลื่อนไหวและติดตามหนุนเสริมการทำกิจกรรมของเยาวชนรายพื้นที่

ผลที่เกิดขึ้น

     ปฏิทินส่วนกลางเปรียบเสมือนแผนที่ที่แสดงภาพรวมการทำโครงการสร้างเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่ทีมโคชใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการหนุนเสริมติดตามการทำงานของเยาวชนรายโครงการ 

tips1­

7. เวทีอบรมเยาวชนนักสื่อสารสาธารณะ

      ทักษะการสื่อสาร เป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 โครงการและมูลนิธิสยามกัมมาจลจึงออกแบบให้มีการอบรมเยาวชนนักสื่อสารสาธารณะขึ้น เพื่อให้เยาวชนรู้เท่าทันเรื่องการเสพสื่อ และให้เยาวชนเรียนรู้เทคนิคสื่อสารรูปแบบใหม่ อาทิ แบนเนอร์ คลิปวิดีโอ และใช้กระบวนการผลิตสื่อมาสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนในโครงการสามารถหยิบจับประเด็นในโครงการตัวเองเสนอสู่สื่อสาธารณะ

กระบวนการ
  • เรียนรู้ความหมายของคำว่า “สารคดี” และ“ข่าว” โดยให้เยาวชนฝึกเล่าการทำข่าวแบะสารคดีผ่านโครงการของตัวเอง
  • ลงพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนในพื้นที่ เรียนรู้ทักษะการจับประเด็น
  • เรียนรู้เทคนิคการทำ story board สำหรับใช้ทำคลิปวิดีโอ
  • เรียนรู้โปรแกรมตัดต่อ Sony Vegas และ premiere Pro
  • นำเสนอคลิปวิดีโอ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเรื่องเทคนิค และเนื้อหาที่ควรปรับแก้
ผลที่เกิด / ข้อค้นพบ

     เวทีอบรมเยาวชนนักสื่อสารสาธารณะเป็น “เครื่องมือ” ที่สำคัญที่ทำให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะหลายด้าน ทั้งทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้ออกแบบวิธีการนำเสนอด้วยตัวเองอย่าง แต่โคชอาจต้องสอดแทรกความรู้ความเข้าใจเรื่องของการสื่อสาร และจิตสำนึกของการสื่อสารเข้าไปด้วย

­

8. เวทีเสริมศักยภาพพี่เลี้ยง

     ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของการรวมตัวกันในกลุ่มพี่เลี้ยงชุมชน ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาพี่เลี้ยง โดยทีมโคชมองว่าในเมื่อจะพัฒนาเยาวชน พี่เลี้ยงเองก็ต้องได้รับการพัฒนาด้วย ในช่วงแรกของการทำโครงการพี่เลี้ยงมีการปรับเปลี่ยนบ่อย เมื่อเด็กทำโครงการได้ระยะหนึ่งทีมโคชจึงจัดกิจกรรมเสริมศักยภาพพี่เลี้ยง โดยมีเป้าหมายคือ สร้างการเป้าหมายร่วมในกระบวนการพัฒนาเยาวชน ร่วมกันวางแผนการพัฒนาเด็กแต่ละช่วงเวลา

กระบวนการ
  • Check In ความคาดหวังของพี่เลี้ยงในเวทีและทุกข์-สุข ที่ผ่านมา
  • เปิดวิดีโอ “เสียงกู่จากครูใหญ่”ให้พี่เลี้ยงร่วมกันวิเคราะห์ เพื่อปลูกฝังกระบวนการคิดเรื่องการพัฒนาชุมชน เห็นกระบวนการพัฒนาเยาวชน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่บทบาทการเป็นพี่เลี้ยง และคุณลักษณะการเป็นพี่เลี้ยงที่ดีเป็นอย่างไร
  • กิจกรรม 4 ทิศ ถอดบทเรียนด้วยการชวนวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยในแต่ละคน
  • บทบทสมมุติ
    • พี่เลี้ยงแบ่งบทบาทสมมุติออกเป็น พี่เลี้ยง , คนในชุมชน, เยาวชน จากนั้นให้พี่เลี้ยงแต่ละคนจับสลากเพื่อเล่นบทบาทสมมุติ โดยโคชจะเขียนกำกับถึงสถานการณ์และนิสัยของตัวละครสมมุติให้พี่เลี้ยงแต่ละคนแสดง เช่น เยาวชนมีใจรักอยากทำโครงการ / เจ้าหน้าที่คอยต่อต้าน / ผู้ปกครองที่ไม่สนับสนุนการทำงาน
    • ชวนถอดบทเรียนจากบทบาทที่ได้รับ สอบถามความรู้สึก วิธีการจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้พี่เลี้ยงได้สะท้อนมุมมองของแต่ละบทบาท
ผลที่เกิดขึ้น

    หลังถอดบทเรียนพี่เลี้ยงชุมชนบางคนเปิดใจและยอมลดตัวตนของตัวเองลง เพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนไปต่อได้ 

­

9. ติดตามหนุนเสริม

     การติดตามหนุนเสริมกระบวนการทำงานของกลุ่มเยาวชนถือเป็นช่วงที่มีความสำคัญอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งทีมโคชจะแบ่งบทบาทหน้าที่ให้โคชแต่ละคนดูแลรับผิดชอบ โดยเครื่องมือที่โคชใช้ในการขั้นตอนนี้คือ การตั้งคำถาม ชวนคุย ชวนวิเคราะห์ ตามแผนกิจกรรมที่น้อง ๆ แต่ละทีมออกแบบไว้ เช่น กิจกรรมที่ทำมีอะไรบ้าง สิ่งที่ทำได้ดีมีอะไร ทำไมถึงสำเร็จ ที่ไม่สำเร็จเพราะอะไร ซึ่งบางครั้งเยาวชนยังมีความสับสนหรือไม่เข้าใจในกิจกรรม จึงจำเป็นที่โคชต้องไปร่วมพูดคุย และสรุปการทำงานร่วมกัน (AAR) ตลอดจนสร้างพลังใจในการทำงาน โดยขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ทีมโคชควรใช้เป็นโอกาสในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและชุมชน

“โคชหรือพี่เลี้ยงโครงการถือว่ามีบทบาทสำคัญในการร่วมกันสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพี่เลี้ยง เยาวชน ชุมชน และภาคีเครือข่าย ดังนั้นจุดเน้นที่สำคัญคือพี่เลี้ยงหรือโคชต้องมีทักษะในหลาย ๆ ด้าน เช่นเดียวกับกระเป๋าโดเรม่อน ที่สามารถหยิบจับมาใช้ได้ในทุกสถานการณ์”
สำหรับคุณลักษณะที่สำคัญของโคชมีดังนี้
  • ตั้งคำถามชัด ตั้งคำถามเป็น การตั้งคำถามถือเป็นจุดเน้นที่สำคัญในการสร้างเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากโคชตั้งคำถามไม่ชัด ไม่ตรงประเด็นอาจเกิดความสับสนในตัวเยาวชนได้
  • มีทักษะ ศิลปะ เครื่องมือที่หลากหลาย ที่สามารถปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ สิ่งที่พี่เลี้ยงจะต้องมีคือทักษะในด้านต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ ทักษะการพูด การฟังอย่างตั้งใจ ชวนคิด ชวนคุย ชวนตั้งคำถาม ศิลปะการพูดคุย นอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องมือในการทำงานกับเยาวชนที่หลากหลาย เช่น เครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชน ซึ่งประกอบด้วย แผนที่ชุมชน แผนที่ตัดขวาง TIME LINE ปฏิทินวัฒนธรรม ปฏิทินการผลิต ต้นไม้ชุมชน ต้นไม้เจ้าปัญหา ซึ่งการหยิบเครื่องมือมาใช้ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทชุมชน
  • ปรับกระบวนการให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก การสร้างการเรียนรู้หรือร่วมเรียนรู้กับกลุ่มเยาวชน สิ่งที่สำคัญคือการมีกระบวนการทำงานที่หลากหลายสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ดังนั้นการปรับกระบวนการให้เหมาะสมและสามารถเรียนรู้ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พี่เลี้ยจะต้องมี
  • กระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ สิ่งหนึ่งที่พี่เลี้ยงจะต้องเรียนรู้อีกด้านคือ การทำความเข้าใจเรื่องศักยภาพและพัฒนาการตามช่วงวัยของกลุ่มเยาวชน ซึ่งการทำโครงการถือเป็นเรื่องท้าทายความสนใจ ดังนั้นสิ่งที่พี่เลี้ยงจะต้องทำคือการกระตุ้นให้น้อง ๆ เกิดแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งในส่วนของการทำงานโครงการและการสร้างพลังพลเมือง เพื่อให้เด็กใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้ถูกที่ ถูกเวลา และตามกำลังความสามารถ
  • สร้างวงจรการเรียนรู้หลายขั้น โดยปกติของการดำเนินโครงการจะเริ่มตั้งแต่การคิดหาโจทย์ที่จะทำ วางแผนการดำเนินงาน ลงมือปฏิบัติตามแผน และสรุปผลการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นวงจรการเรียนรู้ชั้นเดียว แต่สิ่งที่พี่เลี้ยง/โคชต้องทำในโครงการนี้คือ การสร้างวงจรการเรียนรู้หลายชั้น เพื่อให้น้องได้เรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะสร้างการเรียนรู้ได้คือ การสรุปถอดบทเรียนในการทำกิจกรรมในโครงการแต่ละครั้งว่า สิ่งที่ทำนั้นรู้สึกอย่างไร สิ่งไหนทำได้ดี สิ่งที่ไหนที่ต้องปรับปรุง เมื่อได้ข้อสรุปจากการถอดบทเรียนแล้ว พี่เลี้ยง/โคชจะทำหน้าที่สร้างวงจรการเรียนรู้ใหม่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ 

คิดเชื่อมโยง

10. เวทีร้อยพลัง สร้างฝันละอ่อนน่าน เพื่อบ้านเกิด : เวทีรายงานความก้าวหน้า

     ภายหลังจากที่เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านชุดโครงการแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาที่แต่ละโครงการจะได้เผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกันไปตามประเด็นที่เลือกทำ และเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามปัญหานั้นเหล่านั้นให้ได้ แต่อาจจะมีบางโครงการที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากโคชในการมองหาลู่ทางเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ขณะที่หลายโครงการมุ่งที่จะทำโครงการโดยไม่มีการทบทวนกิจกรรมว่าอะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ควรปรับปรุง เวทีนี้จึงเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสทบทวนการทำกิจกรรมของตนเอง และยังเป็นโอกาสในการประชุมเพื่อคัดเลือกตัวแทนเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ใจดี “กลุ่มดอกไม้หลากสี” ในการทำงานเพื่อพัฒนาจังหวัดน่านต่อไป

กระบวนการ: ออกแบบเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความเคลื่อนไหวรายโครงการผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น

  • กิจกรรมเล่าสู่กันฟัง: ถามถึงความทุกข์ของเยาวชนที่เกิดขั้นจากการทำโครงการ
  • กิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง: เพื่อสร้างพลังให้กับน้อง ๆ เนื่องจากเป็นช่วงกลางน้ำ ที่เยาวชนเริ่มทำกิจกรรม โคชต้องการเสริมพลังให้เยาวชนในการกลับไปขับเคลื่อนโครงการของตัวเองต่อ โดยในกิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลังโคชจะแจกโจทย์ให้เยาวชนถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นภาพวาดเพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ต่างโครงการ

สำหรับโจทย์มีดังนี้

  • แรงบันดาลใจที่อยากทำ
    • ทำไมถึงรู้สึกอยากทำ
    • เห็นเรื่องที่อยากทำได้อย่างไร
  • เมื่อเห็นเรื่องที่อยากทำแล้วทำอย่างไร
  • ระหว่างทำมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ แก้/หรือก้าวข้ามอย่างไร
  • ข้อค้นพบระหว่างทำกิจกรรมโครงการ
  • อะไรที่คิดว่าทำได้ดี เช่น ตัวเองเก่งขึ้น
  • อะไรที่คิดว่าต้องพัฒนาต่อ

­

  • เล่าเรื่องด้วยภาพ : เพื่อให้เยาวชนได้ทบทวนการทำโครงการของตนเอง ตั้งแต่ช่วงพัฒนาโจทย์จนถึงช่วงลงมือปฏิบัติ โดยให้เยาวชนวาดภาพเรื่องราวของโครงการตัวเองต่อจากกิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง เพื่อฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์ การสรุปประเด็นการทำงาน การคิดวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ และทักษะการสื่อสาร

เล่าเรื่องด้วยภาพ

ข้อค้นพบ
  • เยาวชนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ดี เพราะเล่าจากความเข้าใจ ไม่ยืนอ่านตัวหนังสือเหมือนช่วงแรก ๆ
    • การสื่อสารด้วยภาพดีกว่าการนำเสนอผ่านพาวเวอร์พอยต์
    • เยาวชนสามารถจัดระบบความคิดของตัวเองได้ พูดเป็นขั้นเป็นตอน
    • ฝึกทักษะการคิดเชิงระบบผ่านการเขียน Story Board มาแปลงเป็นภาพวาด และนำเสนอ เป็นกระบวนการทำซ้ำ ที่ทำให้เยาวชนได้มีโอกาสคิดทบทวน
  • สันทนาการสู่การเรียนรู้ “เกมลูกโป่ง” โคชออกแบบกิจกรรมโดยให้ความหมายของลูกโป่งแทนตัวโครงการ ผ่านเงื่อนไขคือ ให้ทีมพาลูกโป่งไปให้ถึงจุดหมาย โดยระหว่างทางจะมีด่านทดสอบให้เยาวชนต้องใช้การพูดคุยเพื่อให้ทีมพาลูกโป่งไปให้ถึงจุดหมาย โคชจะสร้างข้อจำกัดโดยมัดขาเพื่อนร่วมทีมติดกัน และให้มือประสานกันเพื่อประคองลูกโป่งไปให้ถึงจุดหมาย หากลูกโป่งของใครหล่นให้เริ่มใหม่

tips2

11. เวทีประชุมคณะทำงานเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน

     หลังจากตั้งคณะกรรมการเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านในเวทีร้อยพลังสร้างฝันละอ่อนน่าน...เพื่อบ้านเกิดโดยมี ปุ๊กกี้-จิราภา เทพจันตา จากโครงการหนึ่งเยาวชน หนึ่งตำบล หนึ่งต้นน้ำเป็นประธานเครือข่าย ทีมโคชจึงออกแบบเวทีคณะทำงานเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านมาวางเป้าหมายในการพัฒนาเมืองน่านร่วมกัน โดยให้แต่ละกลุ่มบอกเล่าการทำโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ รวมไปถึงร่วมกันวางแผนการจัดงานมหกรรมเยาวชนจังหวัดน่าน เพื่อสื่อสารความรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองผ่านการทำโครงการสู่สังคมภายนอก และเพื่อให้ผู้ใหญ่และผู้ที่เกี่ยวข้องในเมืองน่านได้รับรู้และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองน่าน

กระบวนการ

  • เปิดโอกาสให้เยาวชนจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนด้วยตนเอง
  • หากเห็นสถานการณ์ว่าเยาวชนไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทีมโคชจะเข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหา โดยตั้งคำถามชวนคิด เช่น
    • เราสร้างเครือข่ายมาเพื่ออะไร
    • เราเห็นปัญหาของเมืองน่านแล้วใช่ไหม
    • สิ่งที่คนต่างจังหวัดมองบ้านเราเป็นอย่างไร
    • เรามองบ้านเราอย่างไร
    • โจทย์ปัญหาที่เราต้องการแก้ไขมีอะไรบ้าง เช่น ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม
    • หากโจทย์ปัญหาที่เยาวชนคิดทำใหญ่เกินไป ทีมโคชจะช่วยเหลาโจทย์ให้คมชัดและเหมาะกับศักยภาพของเด็ก

    ­

12. เวทีร้อยพลังสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นเมืองน่าน

     เวทีนี้ถือเป็นเวทีในช่วงปลายน้ำของโครงการที่ผู้ร่วมกระบวนการทุกคน คือ เยาวชน พี่เลี้ยงชุมชน และโคชจะได้มาเจอกัน ก่อนที่จะมีการจัดงานมหกรรมการเรียนรู้ โดยใช้เวทีนี้เป็นพื้นที่ในการสรุปและทบทวนกิจกรรมที่เยาวชนได้ทำมาตลอดระยะเวลา 6 เดือน ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของกิจกรรมที่เยาวชนในแต่ละโครงการได้ทำผ่านภาพวาด (Story board) วิดีโอ การเติมเต็มกำลังใจจากผู้ใหญ่ใจดี รวมไปถึงการวางแผนการดำเนินงานมหกรรมพลังเยาวชนน่านร่วมกัน โดยเครือข่ายเยาวชนน่าน โดยกิจกรรมมีดังนี้

  • เกมสันทนาการแม่น้ำพิษ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่เลี้ยงชุมชนและเยาวชน โดยใช้เกมแม่น้ำพิษเป็นสื่อกลาง
  • ใช้แผ่นกระดาษเป็นช่องทางสำหรับการเดินไปให้ถึงเป้าหมาย ในแต่ละช่วงจะมีเงื่อนไขที่ต้องทำเพื่อแลกกับการเดินต่อ
  • วางบทบาทให้พี่เลี้ยงเป็นตัวช่วยระหว่างการเล่นเกม เพื่อให้เยาวชนเห็นความสำคัญระหว่างพี่เลี้ยงกับเยาวชนที่พาไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
  • ถอดบทเรียน โคชทำหน้าที่ชวนคุยเพื่อให้พี่เลี้ยงและเยาวชนเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นทีม และบทบาทของพี่เลี้ยง เยาวชนที่ต้องร่วมมือกันเพื่อให้ทีมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยตัวอย่างคำถามถอดบทเรียนมีดังนี้
    • ผู้สังเกตเห็นอะไรบ้างในการเล่นเกม
    • ผู้เล่นรู้สึกอย่างไร
    • คนที่โดนเหยียบรู้สึกอย่างไร
    • สิ่งที่ได้เรียนรู้
    • สิ่งที่ทำได้ดี/สิ่งที่ทำได้ไม่ดี
    • ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้จะทำอย่างไร
    • ถ้าจะสร้างพลังเครือข่ายจะนำบทเรียนอะไรจากเกมนี้
    • ผู้เล่นรู้สึกอย่างไร คนที่โดนเหยียบรู้สึกอย่างไร สิ่งทีได้เรียนรู้
    • นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร
    • ถ้าจะสร้างพลังเครือข่ายจะนำบทเรียนอะไรไปใช้จากเกมมนี้กับเครือข่าย

    ­

13. งานมหกรรมพลังเยาวชนพลังสร้างสรรค์เครือข่ายละอ่อนน่านฮักบ้านเกิดปี 3

     6 เดือนของการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เวทีนี้จึงเนการเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนทุกโครงการได้แสดงศักยภาพของตนเอง ผ่านการจัดเวทีงานมหกรรมพลังเยาวชนพลังสร้างสรรค์เครือข่ายละอ่อนน่านฮักบ้านเกิด ปี 3 ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ซึ่งในปีนี้ทีมโคชมอบหมายให้คณะกรรมการเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านเป็นผู้ออกแบบงานด้วยตนเอง โดยโคชและพี่เลี้ยงทำหน้าที่เป็น Facilitator คอยอำนวยความสะดวก สำหรับเป้าหมายของเวทีนี้คือ การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการให้กลุ่ม Active Group ในจังหวัดน่านและภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้รับรู้ผลการทำโครงการ เพื่อนำไปในขยายผลต่อไป

เงื่อนไขที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะ นิสัย และสำนึกพลเมือง

ด้วยกระบวนการดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าการพัฒนาทักษะ นิสัย และสำนึกพลเมืองสำหรับเด็กเยาวชนสามารถทำได้ เพียงแต่พ่อแม่ ครู หรือโค้ช ต้องมี “เงื่อนไข” บางอย่าง สำหรับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก มีดังนี้ 

­

ทำอินโฟกราฟฟิค2
บทบาทโคช

     เนื่องจากเป็นการทำโครงการระยะยาว โค้ชหรือพี่เลี้ยงชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการที่ร่วมกันสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพี่เลี้ยง เยาวชน ชุมชน และภาคีเครือข่าย ดังนั้น จุดเน้นที่สำคัญ คือ พี่เลี้ยงหรือโคชต้องมีทักษะในหลายๆด้าน เฉกเช่น กระเป๋าโดราเอม่อน ที่สามารถหยิบจับมาใช้ได้ทุกสถานการณ์ นั่นก็คือ

1. ตั้งคำถามชัด ตั้งคำถามเป็น เพื่อเกิดข้อท้าทายในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ซึ่งการตั้งคำถาม ถือเป็นจุดเน้นที่สำคัญ ในการเบิกทางสร้างการเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากตั้งคำถามไม่ชัด ไม่ตรงประเด็น ตั้งคำถามไม่เป็น และไม่เกิดการท้าทาย ย่อมสร้างความสับสนและไม่เข้าใจในตัวเยาวชนหรือแม้แต่พี่เลี้ยงเอง ไม่เร่งรัดเอาคำตอบ โดยคำถามจะต้องมีความยืดหยุ่น รู้จักรุกและรับและขยับต่อ ย่อมจะทำให้บรรยากาศในการพูดคุยและการแลกเปลี่ยนในเวทีมีแต่ความสนุกและได้ความรู้ “เรียนเล่นให้เป็นงาน” และในบางครั้งก็ต้องตั้งคำถามที่เป็นความท้าทายศักยภาพของเด็ก ๆ เพื่อให้เกิดความตื่นตัวและฉุกคิด ทั้งนี้จำเป็นที่พี่เลี้ยงหรือโคชต้องทำการบ้านก่อนลงพื้นที่ เพื่อที่จะได้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ทุกอย่างจะต้องมีการบ้านเสมอ”

2. มีทักษะ/ศิลปะ/เครื่องมือที่หลากหลาย สามารถปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ทักษะในด้านการสร้างความสัมพันธ์ ทักษะการพูด ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ ทักษะการชวนคิด ทักษะการตั้งคำถาม เป็นต้น รวมถึงมีศิลปะการพูดคุย การแสดงออก และจะต้องมีเครื่องมือในการทำงานกับชุมชนหรือเยาวชนที่หลากหลาย เช่น เครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชน ซึ่งประกอบด้วย แผนที่ชุมชน แผนที่ตัดขวาง TIME LINE ปฏิทินวัฒนธรรม ปฏิทินการผลิต ต้นไม้ชุมชน ต้นไม้เจ้าปัญหา ฯลฯ ซึ่งการที่จะหยิบเอาเครื่องมือมาใช้ ก็ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทชุมชน พี่เลี้ยงจึงต้องศึกษาเรียนรู้และสะสมเครื่องมือจนเต็มลิ้นชัก สามารถที่หยิบออกมาใช้ได้ทุกสถานการณ์

3. ปรับกระบวนการให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก

4. กระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ เนื่องจากในชีวิตจริงของเยาวชนมักจะให้ความสำคัญในเรื่องของการเรียนเป็นหลัก รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองก็ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เด็กเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มที่มีจิตอาสาและอยากทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากวิชาเรียน แต่ในบางครั้งก็มักจะยังไม่เข้าใจในเรื่องของกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ หรือยังมองไม่เห็นภาพรวมหรือเป้าหมายของการทำงานโครงการ ดังนั้นพี่เลี้ยงจะต้องกระตุ้นให้น้องเกิดแรงบันดาลใจและเกิดการเรียนรู้ ทั้งในส่วนของการทำงานโครงการ การสร้างพลังพลเมือง หรือการทำความดีในด้านอื่น

5. เรียนรู้ร่วมกับกลุ่มเยาวชนแต่ต้องมีความรู้ในประเด็นนั้นๆ มากกว่า รวมถึงต้องรู้เท่าทันของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในประเด็นนั้นอย่างเท่าทัน

6. ฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ

7. ออกแบบการทบทวนตัวเองของกลุ่มเยาวชนตามคุณลักษณะความเป็นพลเมือง (ถามย้อนกลับ) เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง

8. เคารพความคิดของเด็ก เป็นผู้รับฟังที่ดี เข้าใจเด็ก อดทน เรียนรู้ ถ่ายทอด การทำงานโครงการเยาวชน คุณสมบัติของพี่เลี้ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมีความอดทน อดกลั้นที่จะให้คำตอบในสิ่งที่น้องสงสัย ถึงแม้ว่าเราจะรู้คำตอบหรือเป้าหมายของการดำเนินงานโครงการก็ตาม แต่เมื่อเราทำงานกับเด็ก จะต้องให้ความเคารพความคิดของเด็ก ซึ่งอาจจะมีผิดบ้าง ถูกบ้าง คำตอบที่ได้อาจไม่ตรงใจ เกาไม่ถูกที่คัน แต่เราควรเป็นผู้รับฟังที่ดี เข้าใจเด็ก อดทนที่จะเรียนรู้ไปกับเด็ก ถึงแม้ความห่างระหว่างช่วงวัย การศึกษา หรือประสบการณ์ที่มีมากกว่า แต่สิ่งที่ควรรำลึกไว้เสมอว่า “ครั้งก่อนเราก็เคยเป็นเด็ก เราก็เคยคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ มีนิสัยแบบนี้เหมือนกัน” การที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กก็ต้องเรียนรู้ตามช่วงวัย เด็กคิดได้เท่านี้ก็เท่านี้ แต่จะต้องมีการอธิบายให้น้องๆได้เข้าใจภายหลังที่มีการสรุปบทเรียน(AAR) ร่วมกัน ซึ่งการสรุปบทเรียนจะช่วยให้น้องๆเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องเคารพความคิดของเด็ก เป็นผู้ฟังที่ดี มีความเข้าใจในตัวเด็ก และมีความอดทนพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมไปกับเด็ก

9. สร้างวงจรการเรียนรู้หลายขั้น เพื่อให้น้องได้เรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะสร้างการเรียนรู้ได้ คือ การสรุป/ถอดบทเรียนในการทำกิจกรรมโครงการในแต่ละครั้งว่า สิ่งที่เราทำนั้นเรามีความรู้สึกอย่างไร สิ่งไหนที่เราทำได้ดี สิ่งไหนที่เราคิดว่ายังทำไม่ได้ดั่งใจคิด และถ้าหากเราจะทำให้ดีกว่านี้เราจะต้องทำอย่างไร และสุดท้ายเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เราทำ เมื่อได้ข้อสรุปจากการถอดบทเรียนการทำงาน เราก็เริ่มสร้างวงจรการเรียนรู้ใหม่ และปฏิบัติอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ได้ 

­

คุณลักษณะโคชจังหวัดน่าน

     ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ทีมโคชสรุปคุณลักษณะสำคัญของโคชจังหวัดน่านได้ดังนี้

  • สามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ตรงตามความสนใจของเยาวชน
  • หมั่นสังเกต วิเคราะห์พฤติกรรมของเยาวชน เช่น นิสัย พฤติกรรม ความสามารถ
  • กระตุ้นให้เยาวชนหาข้อมูลชุมชน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้
  • จับจังหวะการเรียนรู้ของเยาวชนได้ รู้ว่าจะต้องเข้าไปกระตุ้นเยาวชนช่วงไหน/ช่วงไหนควรปล่อยให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
  • โคชต้องมีใจรักในความเป็นเยาวชน เข้าใจความเป็นตัวตนของเยาวชน โดยต้องตามให้ทันในทุก ๆ เรื่อง เช่น ข่าวสารสถานการณ์บ้านเมือง สถานการณ์ปัญหาในชุมชน และสถานการณ์ปัญหาของการทำโครงการ หรือนิสัยของเยาวชน รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการพูดคุยกับเยาวชนในทุก ๆ เรื่องที่ไม่ใช่แค่เรื่องของโครงการเท่านั้น

­

“หน้าที่หลักๆ เราคือเป็นคนตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนคุย เป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ผ่านการตั้งคำถามให้เขาไปคิดต่อยอดหาทางแก้ไขเอาเอง”

คุณลักษณะพี่เลี้ยงชุมชน

     เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว โครงการฯ จึงออกแบบให้เยาวชนต้องมีพี่เลี้ยงชุมชนเพื่อช่วยหนุนเสริมการทำโครงการของเยาวชนในพื้นที่ โดยคุณลักษณะที่สำคัญของพี่เลี้ยงชุมชนมีดังนี้

  • มีใจอยากทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นแรงหนุนเสริมให้มีแรงผลักดันในการทำงานเพื่อเยาวชน
  • มีเวลา/เสียสละ
  • สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้
  • รู้พัฒนาการเด็กเยาวชนในแต่ละช่วงวัย
  • รู้จักสังเกตบุคลิกของเยาวชน และสถานการณ์ในชุมชน รวมถึงสถานการณ์การทำงานของเยาวชนเพื่อให้คำแนะนำได้ทันต่อสถานการณ์ปัญหา

­

“พี่เลี้ยงไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่หรือคนที่มีความรู้ แต่ขอให้มีใจและรักเด็ก รักเด็กในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเอาใจเด็ก แต่รักที่จะพัฒนาให้เด็กเยาวชนมีทักษะชีวิต ถ้าบอกว่ารักแล้วเอาใจไม่ใช่สำหรับเรา แต่ถ้ารักและเอาใจเขาให้เขาเกิดการพัฒนานั่นแหละคือพี่เลี้ยงชุมชน”

­

เครื่องมือโคช

     กระบวนการพัฒนาเยาวชนของจังหวัดน่าน ทีมโคชมีการใช้เครื่องมือหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

  • เครื่องมือวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม (AIC) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้น้องๆ เห็นภาพชุมชนของตัวเองชัดขึ้น โดยเริ่มจากการใช้เครื่องมือง่าย ๆ คือ การทำแผนที่ชุมชน/หรือแผนที่เดินดิน ซึ่งจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แผนที่ภายในชุมชน และแผนที่รอบนอก ที่จะประกอบไปด้วย ที่ตั้งหมู่บ้าน พื้นที่ทำกิน ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งการทำแผนที่จะเริ่มจากการให้น้องๆ วาดแผนที่ชุมชนของตนเอง ทั้งในส่วนของที่ตั้งของหมู่บ้าน ถนนหนทาง ตรอกซอกซอย สถานที่สำคัญในชุมชน แหล่งเรียนรู้ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ รวมถึงแหล่งมั่วสุมหรือแหล่งที่กลุ่มเยาวชนมักจะนัดกันทำกิจกรรม ทั้งในส่วนที่ดีและไม่ดี เป็นต้น การทำแผนที่ดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในเบื้องต้น ที่จะให้เด็กเห็นภาพชุมชนชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถที่จะขยับให้ลงลึกในรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ

      นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลชุมชนของตนเองผ่านแผนที่ชุมชน การนำเสนอดังกล่าว พี่เลี้ยงจะต้องมีเทคนิคทั้งในการตั้งคำถาม ชวนคุย และลงลึกในรายละเอียด การจับประเด็น มีวิธีคิด การรับฟังอย่างตั้งใจ ความรู้เท่าทัน มีสติ และมีความนิ่ง ซึ่งเทคนิคดังกล่าว จะทำให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องและสามารถที่เชื่อมโยงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับน้องได้ ซึงเทคนิคในการชวนคุยและตั้งคำถาม ที่ทางพี่เลี้ยงโครงการได้เรียนรู้ระหว่างปฏิบัติการจริงในพื้นที่ มีดังนี้

  • การชวนคุยและการตั้งคำถาม (กว้าง กระชับ ลงลึก ช้อน เชื่อมโยง)
    • กว้าง หมายถึง การชวนพูดชวนคุยในเรื่องราวต่างๆที่อยู่ในชุมชน เช่น การทำงาน การทำมาหากิน ครอบครัว ชุมชน และระบบความสัมพันธ์
    • กระชับ หมายถึง การชวนคุยจนทำให้เกิดความกระชับในเนื้อหาของการแลกเปลี่ยนจะช่วยทำให้เกิดเป็นประเด็นร่วม และทุกคนสามารถแชร์ความเห็นกันได้มาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ เพื่อให้เกิดการเห็นภาพร่วมกันของคนในชุมชนลึก หมายถึง การตั้งคำถามเพื่อลงลึกในรายละเอียด เพื่อที่จะได้เห็นในส่วนที่มีความละเอียดในประเด็นที่มีความคิดเห็นร่วมกัน
    • ช้อน หมายถึง การสนทนาแลกเปลี่ยนในเวทีการวิเคราะห์ชุมชนในแต่ละครั้ง มักจะมีประโยคเนื้อหาที่สำคัญที่จะเป็นประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยนในวงได้ กระบวนกรหรือพี่เลี้ยงจะต้องช้อนคำพูดนั้นๆ เพื่อเป็นคำถามในการถามต่อ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายและลงลึกในรายละเอียดให้มากที่สุด
    • เชื่อมโยง หมายถึง การเชื่อมโยงคำพูดจากเวทีเสวนาในแต่ละประเด็น ให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนกับสิ่งที่อาจจะพัฒนาต่อยอดเป็นโจทย์โครงการเยาวชนได้
  • Mind map Story board Time line ต้นไม้เจ้าปัญหา ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทำให้เยาวชนมองปัญหาครอบคลุมทุกมิติและมีความสัมพันธ์กัน
  • ปฏิทินทางการเกษตร ปฏิทินทางวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ จะใช้ก็ต่อเมื่อมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เด็กอยากทำหรืออาจเรียกใช้ตามความเหมาะสม
  • Project Management คือ การบริหารจัดการโครงการ โดยมีขั้นตอนกระบวนการ ดังนี้
    • การเชื่อมโยงสถานการณ์ปัญหาหรือข้อค้นพบจากการทำแผนที่ชุมชน
    • การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา จะนำไปสู่หัวข้อหรือสิ่งที่เยาวชนอยากทำโครงการ
  • Refection หรือ AAR คือ ชวนน้อง ๆ ทบทวนว่าที่เราทำโครงการ/ทำกิจกรรมนี้ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง สิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่ยังไม่มีความมั่นใจ หรือทำได้ไม่ดีมีอะไรบ้าง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เราผิดพลาดตรงไหน สิ่งไหนทีต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานโครงการให้ดีขึ้น ซึ่งการทำ AAR จะช่วยให้น้องได้คิดทบทวนการทำงานที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร และจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกและกว้างขึ้น

     กล่าวโดยสรุปแล้ว กระบวนการหรือเทคนิคการโค้ช (Coach) ของพี่เลี้ยง คือ การตั้งคำถาม การชวนพูด ชวนคุย เพื่อให้น้องเยาวชนได้ช่วยกันตอบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการทำโครงการร่วมกัน ซึ่งการทำกิจกรรมร่วมกัน จะช่วยให้น้องเกิดความมั่นใจที่จะตอบจากความคิดความรู้สึกของตน และจะค่อย ๆ เห็นเองว่า ความคิดเห็นมีหลากหลายที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือการทำกิจกรรม และได้เรียนรู้ว่าความรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงเป็นอย่างไร คือ ได้เห็นว่าไม่มีอะไรที่มีความชัดเจนหรือถูกต้องเสมอไป เพราะในชีวิตจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่สิ่งสำคัญน้อง ๆ จะเรียนรู้และเข้าใจจากการลงมือทำจริง ซึ่งนั่นก็คือ การเรียนโดยการลงมือทำผ่านตัวโครงการ และมีการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งน้อง ๆ จะได้ทั้งทักษะและได้ความรู้ ได้ความเป็นเพื่อน ได้เห็นการเชื่อมโยงความคิด การทำงานเป็นทีมและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกับชุมชนของตนเอง