
จับภาพ “ครูสลักจิตร ใจน้อย” ครั้งที่ 2
ครูประจำวิชาสังคม มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนวิชชานารี อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
กิจกรรมนักสืบสายน้ำ (กิจกรรมต่อเนื่องจากโครงการรักษ์น้ำวัง ปี 2554)
ระหว่างวันที่ 26 – 27 ธันวาคม 2555
ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
โครงการรักษ์น้ำวัง ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2554 เกิดขึ้นจากคณะครูหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวิชชานารี นำโดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 เพื่อศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างของคุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิต ของต้นน้ำและปลายน้ำแม่น้ำวัง
และในปีการศึกษา 2555 ครูสลักจิต ใจน้อย และคณะครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ได้จัดกิจกรรมนักสืบสายน้ำระยะที่ 2 นำโดยนักเรียนกลุ่มเดิม ปัจจุบันคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ระหว่างวันที่ 26-27 ธันวาคม 2555 ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้สำรวจเส้นทางน้ำลำห้วยแม่เปียก ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำวัง (ต้นน้ำของแม่น้ำวังประกอบด้วย 3 ลำห้วย คือ ลำห้วยแม่เปียก ลำห้วยแม่มอญ และลำห้วยแม่ขุน) รวมถึงเพื่อให้เด็กได้ศึกษาวิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ อย่างเช่น ชุมชนบ้านแจ้ซ้อน บ้านดินดำ และบ้านสบลี “ด้วยวิธีการสร้างกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน” โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ตามศักยภาพของนักเรียนจากสถานที่จริง และนำความรู้ที่ได้มาจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนร่วมกัน ดังมีรายละเอียดของกิจกรรมดังนี้
กิจกรรมวันแรก (วันที่ 26 ธันวาคม 2555)คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวิชชานารีออกเดินทางไปยังเป้าหมาย ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ใช้เวลาเดินทางกว่า 2 โมงในการเดินทาง โดยเริ่มออกเดินทางตั้งแต่
7.30 – 9.00 น. เมื่อถึงที่คณะครูและนักเรียนต่างช่วยกันจัดเตรียมสถานที่พักผ่อน (กางเต็นท์)
ภาพ 1 เดินทางถึงที่หมาย และจัดเตรียมสถานที่พักผ่อน (กางเต็นท์)
ภาพ 2 นักวิชาการอุทยานฯ แนะนำวิธีการเดินป่าอย่างปลอดภัย
ภาพ 3 เริ่มต้นออกเดินทาง
ภาพ 4 เรียนรู้พันธุ์ไม้และการจัดการน้ำของอุทยานฯ ตลอดการเดินทาง
เมื่อเดินทางมาถึงต้นน้ำ นักเรียนแยกย้ายกันสำรวจตามความสนใจ นักเรียนบางกลุ่มตรวจวัดคุณภาพ บางกลุ่มสังเกตความขุ่น-ใสของน้ำ และสังเกตสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ต้นน้ำ
ภาพ 5 วัดค่าความเป็นกรด-ด่างของต้นน้ำ
ภาพ 6 ภาพต้นน้ำ”ลำห้วยแม่เปียก” และบรรยากาศเมื่อเดินทางมาถึงต้นน้ำ
หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมสำรวจต้นน้ำ คณะครูและนักเรียนจึงเดินทางกลับมาถึงที่พักด้านล่างของอุทยานฯ เวลา 16.00 น. และทำกิจกรรมสำรวจการเรียนรู้จากการเดินป่าเบื้องต้น ด้วยการเขียนสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ตลอดการเดินทางทันทีก่อนแยกย้ายไปพักผ่อนตามอัธยาศัย
ภาพ 7 มอบของที่ระลึกแด่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ภาพ 8 กิจกรรมสำรวจการเรียนรู้จากการเดินป่า
เวลา 20.00 น. เป็นช่วงเวลาของวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ความรู้สึกจากการเดินป่า” และจากการแลกเปลี่ยนรู้ของนักเรียนวงนี้ พบว่า กิจกรรมเดินป่าด้วยกัน ระยะทาง 7.4 กิโลเมตร (ไป-กลับ) เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ทำให้นักเรียนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุกที่ได้เรียนรู้เช่นนี้ ได้เห็นความเสียสละ ความมีน้ำใจของเพื่อนๆ ตลอดการเดินทาง ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้รู้จักพันธุ์ไม้นานาชนิดในผืนป่า รู้จักแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำวัง ได้เห็นสภาพของต้นน้ำที่ใสสะอาดและได้รู้จักสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวชี้วัดความสะอาดของน้ำอย่าง แมลงชีปะขาว ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ได้ช่วยเหลือเพื่อนและแม้นักเรียนทุกคน รวมถึงครูผู้ร่วมเดินทางจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินป่าหลายกิโลเมตร แต่ทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวว่ารู้สึกคุ้มที่ได้เรียนรู้และได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ครูสลักจิตร ผู้รับผิดชอบกิจกรรมนี้ ให้ความเห็นหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมสำรวจป่าต้นน้ำว่า “ครูได้เห็นภาพนักเรียนที่ได้ร่วมกิจกรรม นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข เรียนรู้แบบพูดไปถามไป เหนื่อยก็บอกว่าเหนื่อย แต่เชื่อว่าทุกคนมีพลังอยู่ภายใน ที่กระหายความอยากรู้อยากเห็นจุดหมายปลายทางว่าเป็นอย่างไร นักเรียนต่างให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกกิจกรรม ให้อภัยกัน เมื่อมีคนใดคนหนึ่งทำผิดกติกา นักเรียนทุกคนมีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีค่ะ”
ภาพ 9 วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ความรู้สึกจากการเดินทางสำรวจเส้นทางสายน้ำลำห้วยแม่เปียก”
ภาพ 10 กิจกรรม “กอดเพื่อขอบคุณกันและกัน” และถ่ายรูปร่วมกัน ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
หลังจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้เสร็จสิ้น เวลา 22.00 น. ทุกคนต่างแยกย้ายกัน ไปพักผ่อน
------------------------------------------------------------------------------------------
วันที่สอง (วันที่ 27 ธันวาคม 2555)
นักเรียนตื่นแต่เช้า (6.00 น.) มาออกกำลังกาย และทำธุระส่วนตัว และรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน
8.30 – 10.00 น. เป็นการเปิดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากป่าต้นน้ำ” และสิ่งที่นักเรียนได้รู้จากป่าต้นน้ำผ่านการเล่าเรื่องของตนเอง คือ นักเรียนได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของต้นน้ำที่มีต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้จริงๆ ได้เห็นความใสสะอาดของน้ำซึ่งสร้างความรู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา ได้เรียนรู้ว่าต้นน้ำคือแหล่งเรียนรู้ในธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยไม้นานาพันธุ์ พืชผัก สมุนไพร เช่น กวาวเครือขาว จักข่าน หญ้าตืดแมว เป็นต้น แมลงต่างๆ และน้ำคือชีวิต
นอกจากนี้ นักเรียนยังได้มีโอกาสทบทวนตัวเองจากโจทย์ “นักเรียนจะมีส่วนช่วยรักษาต้นน้ำได้อย่างไรบ้างในชีวิตประจำวัน” นักเรียนต่างสะท้อนความคิดของตัวเองออกมามากมาย เช่น จากนี้ไปจะไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง เห็นขยะแล้วจะช่วยกันเก็บ จะดื่มน้ำให้หมดไม่ให้เหลือทิ้ง จะช่วยประหยัดน้ำโดยการใช้ฝักบัว จะนำน้ำล้างจานไปรดน้ำต้นไม้ จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนสารเคมี ไม่ใช้น้ำมากเกินความจำเป็น เช่น จะไม่อาบน้ำนานเพื่อช่วยประหยัดน้ำ ไม่ตัดไม้และปลูกป่าทดแทนเมื่อมีโอกาส และจะช่วยบอกต่อ คนในครอบครัวให้รู้จักคุณค่าของน้ำเพื่อจะได้ช่วยกันอนุรักต้นน้ำลำธารและแม่น้ำวังไว้จนถึงรุ่นลูก หลาน
ภาพ 11 วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากป่าต้นน้ำ”
10.00 – 12.30 น. เป็นกิจกรรมให้นักเรียน ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ จำนวน 3 ชุมชน คือ บ้านแจ้ซ้อน บ้านดินดำ และบ้านสบลี ด้วยวิธีการให้เด็กฝึกตั้งคำถาม และฝึกสังเกต องค์ประกอบและความเชื่อมโยงของคนในชุมชนกับการใช้น้ำ จากประสบการณ์เรียนรู้นอกห้องเรียน
ภาพ 12 นักเรียนลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ
จากการที่ครูสลักจิตรได้ออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนฝึกการตั้งคำถาม สัมภาษณ์ และเรียนรู้จากชาวบ้านในชุมชน เกี่ยวกับวิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ พบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะถามในสิ่งที่ตนสนใจเกี่ยวกับการจัดการน้ำ จากผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชน ซึ่งต่างก็ให้การต้อนรับและดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี เลี้ยงดูปูเสื่อจนอิ่มกันทั่วหน้า และที่สำคัญผู้ใหญ่บ้านสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยการขับรถพานักเรียนไปดูสถานที่จริง เช่น ฝายต้นน้ำ ท่อส่งน้ำของหมู่บ้าน และพาเยี่ยมชมศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริง และได้เรียนรู้น้ำใจของคนในชุมชนมาก นักเรียนบางคนบอกว่าอยากกลับมาอีกครั้ง หากมีกิจกรรมสร้างฝายในชุมชน
หลังจากพักรับประทานอาหารกลางวันแล้ว (13.30-14.30 น.) นักเรียนแต่ละกลุ่มกลับมานั่งรวมตัวกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากชุมชนต้นน้ำ และเขียนออกมาเป็น My mapping สรุปรวบยอดความคิดจากการลงศึกษาชุมชนต้นน้ำ
ภาพ 13 นักเรียนช่วยกันสรุปรวบยอดความคิดจากการลงชุมชนและเขียนออกมาเป็น my mapping
แล้วจึงนำ My mapping ของกลุ่ม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วงใหญ่กับเพื่อนๆ กลุ่มอื่น ในหัวข้อ “วิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ”
กิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ วิถีชีวิตกับการใช้น้ำของคนในชุมชนคนต้นน้ำ (ทั้ง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านแจ้ซ้อน บ้านดินดำ และบ้านสบลี มีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคตลอดปี ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง มีผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว พริก ข้าว มะเขือเทศ ข้าวโพด และพืชผักอื่นๆ และนำมาจำหน่ายเป็นสินค้าส่งออกของชุมชน นำมาซึ่งรายได้ในชุมชน ชุมชนมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เช่น ชุมชนบ้านสบลี
นักเรียนเรียนรู้ถึงความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตคนต้นน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ชุมชนตั้งอยู่ริมน้ำ อาศัยน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจากน้ำตกใกล้เคียง ตัวอย่างเช่น บ้านแจ้ซ้อนในอดีตเมื่อ 10 ปี ก่อนชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ชุมชนนี้มีน้ำมาก ลำน้ำกว้างขวาง น้ำใสสะอาดปราศจากขยะ สามารถดื่มได้โดยไม่ต้องผ่านการกรองน้ำ แต่ปัจจุบันลำน้ำตื้นเขิน เต็มไปด้วยขยะค่อนข้างสกปรก และมีน้ำป่าไหลหลากจนเกิดน้ำท่วมขัง และที่เลวร้ายที่สุดคือ เกษตรกรใช้สารเคมีในการเกษตรอันส่งผลกระทบโดยตรงต่อลำน้ำและสิ่งมีชีวิต)
ภาพ 14 นักเรียนสงบนิ่งเพื่อทบทวนตัวเอง ภาพ 15 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “วิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ”
ภาพ 16 บรรยากาศความสุข ภายในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
16.00 น. ปิดกิจกรรม และเดินทางกลับบ้าน
สรุปกิจกรรมนักสืบสายน้ำ
การจัดกิจกรรมนักสืบสายน้ำระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-27 ธันวาคม 2555 ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนครั้งนี้ เป็นเวทีสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนศึกษาสภาพของลำห้วยแม่เปียกซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำวังและศึกษาวิถีชีวิตกับการจัดการน้ำของชุมชนคนต้นน้ำ ด้วยวิธีการที่ครูสลักจิตรเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ตามความสนใจและตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนและเรียนรู้จากคนในชุมชน (กิจกรรมนี้ผู้ที่เข้าร่วมเป็นนักเรียนที่มีความสนใจอยากมาเรียนรู้ร่วมกัน ครูใช้วิธีการความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ โดยมีข้อตกลงว่า ผู้ที่เข้าร่วมต้องออกค่าอาหารและค่ารถเอง)
ครูสลักจิตรใช้วิธีการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และกระตุ้นการคิดด้วยคำถามแทนการสอนด้วยการบอกความรู้ เช่น วัตถุประสงค์ของการมาครั้งนี้คืออะไร? หรือรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นต้นน้ำ? ให้นักเรียนเรียนรู้คุณค่าของต้นน้ำจากการเดินทางสำรวจต้นน้ำด้วยตนเอง มีการประเมินการเรียนรู้ระหว่างทางด้วยการถามว่านักเรียนเห็นอะไรบ้าง หรือ ได้เรียนรู้อะไรบ้างระหว่างการเดินทาง
และที่สำคัญครูมีการเชื่อมโยงความรู้โดยตั้งคำถาม เช่น นักเรียนจะมีส่วนในการรักษาต้นน้ำได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน? และจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการสร้างการเรียนรู้ลักษณะดังที่กล่าวมาเบื้องต้นทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL (Problem-based Learning)
30 ธันวาคม 2555
น.ส.กนกอร แสงทอง
ผู้บันทึก