เช้าวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๖ พวกเรา (รัตยา, สมหญิง และณัฐพัชร์) หลังผ่าน ๑,๒๑๙ โค้งจากตัวจังหวัดตากมายังอำเภอแม่สอดจนถึงอำเภออุ้มผาง สะบักสะบอมกันพอสมควรโดยรถของกศน.จังหวัดตาก เมื่อได้พักผ่อนกัน ๑ คืน รถของกศน.มารับพวกเราในเวลา ๗ โมงเช้าโดยประมาณ เพื่อเดินทางขึ้นไปยังบ้านกรูโบซึ่งมีระยะทาง ๑๑๑ กิโลเมตร การเดินทางที่เป็นทั้งทางราบและทางขึ้นเขาจึงจำเป็นต้องพึ่งรถขับเคลื่อน ๔ ล้อและเราโชคดีมากที่ได้คนขับรถที่ชำนาญทาง แต่แม้จะชำนาญทางอย่างไรก็ยังใช้เวลาถึง ๖ ชั่วโมงที่เขย่าพวกเราจนหิวแล้วหิวอีก ..
ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง เมื่อลงจากรถเห็นได้ชัดว่าศูนย์การเรียนฯ และบริเวณโดยรอบดูสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างมากและได้พบกับคุณครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ในด้านพัฒนาการศึกษาของประชาชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดาร โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับ สำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นรางวัลเพื่อเผยแพร่ผลงาน คุณงามความดีและยกย่องเชิญชูเกียรติผู้ที่เป็นแบบอย่างการทำดีในสังคมไทย เป็นขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร
เป็นครูและผู้ให้แรงบันดาลใจ
ครูนฤมล แก้วสัมฤทธ์ วัย ๔๘ ปี หรือครูเจี๊ยบ ชาวกำแพงเพชรได้เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ครูที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (ศศช.) แม่ฟ้าหลวง บ้านกรูโบมา ๑๕ ปี ซึ่งในปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด ๕๑ คน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ๑ ถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ครูเจี๊ยบทำการสอนหนังสือทุกวันอย่างไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์“งานครูเป็นงานสร้างคน ถ้าเราไม่ดูแล ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเขา เราจะสร้างเขาได้อย่างไร เหนื่อยแต่ก็มีความสุขท่ามกลางป่าเขานะคะ” ครูเจี๊ยบกล่าว
บ้านกรูโบ ด้วยพื้นที่อยู่ไกลเมืองถึง ๖ ชั่วโมงด้วยรถยนต์ ถ้ายิ่งเป็นหน้าฝนการเดินทางก็ยิ่งเพิ่มความยากลำบากเข้าไป รถขึ้นไม่ได้ต้องเดินเท้าเท่านั้น ซึ่งครูเจี๊ยบบอกว่าถ้าต้องลงไปประชุมที่จังหวัดตากต้องเริ่มเดินทางล่วงหน้ากันเป็นสัปดาห์ เท่ากับในช่วงนั้นศศช.บ้านกรูโบ ต้องปิดทำการเรียนการสอนไปโดยปริยาย ภายในบ้านกรูโบ ยังมีวัด (น่าจะเป็นที่ปฏิบัติธรรม และเป็นที่จำวัดของพระที่ธุดงค์มา) เป็นที่พึ่งทางใจ และมีสุขศาลา เพื่อดูแลสุขภาพของชาวบ้านกรูโบชาวบ้านบ้านกรูโบส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง นับถือศาสนาพุทธ บางครอบครัวมีลูกมากถึง ๗-๘ คน มีอาชีพทางการเกษตร ทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว ปลูกพริก เหลือกินเหลือใช้ในครัวเรือนก็นำไปขาย ส่วนภายในศศช.บ้านกรูโบ มีเรือนไม้อยู่ ๕ หลัง เรือนอาคารเรียน เรือนโรงครัว เรือนห้องสมุด เรือนห้องพัก และเรือนทำกิจกรรม มีห้องน้ำ ๒ ฝั่งซ้าย ขวาของเรือนอาคารเรียน มี ๖ ห้องแยกชาย หญิง มีแผงโซล่าเซลในการเก็บและจ่ายกระแสไฟภายในศูนย์ฯ มีน้ำประปาภูเขา แต่ใช้น้ำฝนเพื่อการบริโภค
การดูแลลูกๆ หลานๆ ชาวกรูโบของครูเจี๊ยบจะเน้นให้เด็กมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักดูแลและแบ่งปันเช้าๆ เด็กๆ จะเดินไปกราบพระ มาไหว้คุณครู และเริ่มภารกิจที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ การทะเลาะเบาะแว้งที่นี่จะไม่มีเพราะครูเจี๊ยบจะให้จับคู่กันดูแลและรับผิดชอบ “พี่ดูแลน้อง” พี่จับมือคัดลายมือ น้องสกปรกก็พาน้องไปอาบน้ำ ดูแลข้าวของของน้องถ้าไม่สะอาดไปช่วยน้องทำความสะอาด เด็กนักเรียนทุกคนจะมีหน้าที่รับผิดชอบ ทำเวรต่างๆ การดูแลจัดข้าวของเครื่องใช้ในศูนย์ฯ มีต้นไม้ที่ต้องดูแล เด็กอนุบาลจะดูแลคนละต้น ผัก ผลไม้ ช่วยกันปลูกช่วยกันดูแล “แจกเมล็ดพันธุ์ และให้ไปปลูก ไปดูแล ไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง การได้ดูแล เค้าก็จะได้กิน ถ้าไม่ดูแลเค้าก็จะไม่ได้กิน และต้องดูแลจนถึงรากแก้ว ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีกินในครั้งต่อไป” ครูเจี๊ยบผู้มีชีวิตการเป็นอยู่ที่มีพลังความเป็นครูและให้แรงบันดาลใจแก่เด็กบอกกับพวกเรา ..
กระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการเพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ และเชื่อมโยงสู่ชุมชนสังคม
จากหลักคิดของครูเจี๊ยบที่ไม่อยากให้เด็กทิ้งถิ่นฐาน “ถ้าเด็กไม่รักชุมชนของตนเองเด็กก็จะทิ้งถิ่น” จึงเลือกการอนุรักษ์ลายผ้าเพื่อให้เด็กรักในเอกลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงเพื่อไม่ให้เด็กทิ้งถิ่นเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นตัวช่วยในการเดินทางของเด็กๆ ไปเยี่ยมบ้านโน้นบ้านนี้ หรือแม้แต่พาเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีลายผ้าสวยๆ ไม่แพ้กัน จึงเริ่มเขียนแผนการเรียนรู้ประชาคมอาเซียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ของครูเจี๊ยบ เพื่อให้ได้ทักษะการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างทักษะอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ในโครงงาน “เส้นสายลายสวย ศิลปะบนผืนผ้า สู่วิถีอาเซียน” เพื่อให้ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองยังคงอยู่และได้เรียนรู้เอกลักษณ์ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งความเหมือนและแตกต่าง บูรณาการกันระหว่างสาระวิชาสังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ในระดับประถมปีที่ ๖ แต่เท่าที่สังเกตน่าจะได้ในสาระวิชาศิลปะ และวิชาคณิตศาสตร์ ควบคู่ไปด้วย
การค้นหาข้อมูลของเด็กไกลเมืองแบบนี้คงหนีไม่พ้นห้องสมุดของศูนย์ฯ ที่ครูเจี๊ยบพยายามเก็บรวมรวมข้อมูลต่างๆ หรือจากหนังสือบริจาคมาจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ น่าอ่านครูเจี๊ยบให้เด็กๆ จับกลุ่มป.๖ และป.๔ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันและพากันดำเนินไปตามจังหวะของกิจกรรม(สัมภาษณ์เด็กๆ ระดับประถมปีที่ ๖ ทั้งหมด ๖ คน ผู้หญิง ๔ คน ผู้ชาย ๒ คน คือ น้องกฤษณา, น้องจันทวรรณ, น้องอทิตยา, น้องสุพรรญา, น้องส่องชัย และน้องภานุวัฒน์) น้องๆ เล่าให้ฟังว่าคุณครูเจี๊ยบได้พาทำกิจกรรมกลุ่ม เขียนนิทาน เขียน mind map หรือ กิจกรรมโครงงาน ในวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ คุณครูเจี๊ยบจะให้ใบงานเพื่อกลุ่มร่วมสังเกต ดูรากของต้นไม้ ดูชนิดของแมลง เปรียบเทียบกับหนังสือ หรือในรายวิชาที่เกี่ยวกับท้องถิ่นเด็กๆ จะพากันเรียนรู้ ออกไปสนทนาซักถามที่บ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟังที่เน้นในเรื่องราวของวัฒนธรรมกะเหรี่ยงเช่น เรียนรู้วิธีการจักสานการทอผ้า เรียนรู้เพลงพื้นบ้านนิทานพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงแม้จะยังไม่ชัดเจนในการร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ของครูและเด็กเท่าที่สังเกตคุณครูเจี๊ยบก็มีทักษะในการพาเด็กทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ และคอยกระตุ้นเด็กๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่นในช่วงเช้าหลังการเคารพธงชาติและสวดมนต์ตอนเช้าแล้ว คุณครูจะพาเด็กทั้งศูนย์ฯ (ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้นประถมปีที่ ๖) นั่งล้อมวงเป็นวงเดียว โดยให้พี่โตๆ ที่พอรู้เรื่องในการทำกิจกรรม นั่งแทรกน้องเล็กๆ เพื่อช่วยดูแลน้องน้อยตลอดเวลา และครูเจี๊ยบพานำเล่นกิจกรรมที่สอดแทรกทักษะ เสริมวิธีคิด เสริมการแก้ปัญหาเล็กๆ เหมือนกับเป็นการเล่นอย่างมีสาระในระดับประถม ก่อนแยกย้ายเพื่อไปเรียนหนังสือ คุณครูจะพานั่งสมาธิและสอนธรรมะเล็กน้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการทำความดี การเป็นเด็กดีของครอบครัว ชุมชน และสังคม ..
นอกจากเรื่องการบูรณาการการเรียนการสอนแล้ว ครูเจี๊ยบยังช่วยจัดส่งเสริมอาชีพให้กับคนในบ้านกรูโบ เช่น ก่อตั้งกลุ่มพริกแห้ง, กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง มีการก่อตั้งธนาคารข้าวให้ชุมชน และดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวกะเหรี่ยง อนุรักษ์เครื่องใช้หัตถกรรมพื้นบ้านกะเหรี่ยง และอีกหลายอย่าง ครูเจี๊ยบเป็นครูผู้เสียสละจริงๆ จึงกลายเป็นที่รักของคนในชุมชน
ลงมือปฏิบัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ครูเจี๊ยบเป็นทุกอย่าง : จากบ้านกรูโบ สู่การศึกษาขั้นสูงด้วยความมีวินัยและอดทน
การผลักดันลูกศิษย์รุ่นแรกให้ได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อในระดับมัธยม และระดับปริญญาตรี ของคุณครูเจี๊ยบส่งผลให้ลูกศิษย์ ๒ คนจากบ้านกรูโบได้ไปเรียนต่อชั้น ม.๑ ที่ ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมีคุณลุงบุญทัน มหาลัย เป็นเลขาธิการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เป็นผู้ดูแล และต่อในระดับชั้นม.๔ ที่โรงเรียนมัธยมอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยมีอาจารย์สมประสงค์ เป็นผู้ดูแล และสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ เอกภาษาไทย ซึ่งได้รับทุนจากโครงการบัณฑิตคืนถิ่น ซึ่งเป็นทุนของสมเด็จพระเทพฯ อย่าง น้องเจน น.ส.จริยา ทรัพย์กิจเกษตร และน้องอ๊อดน.ส.พรรณิภา บำเพ็ญรุ่งโรจน์ได้พร้อมใจกันบอกว่า ครูเจี๊ยบเป็นทุกอย่าง เป็นทั้งครู เป็นทั้งแม่
“ครูเจี๊ยบเป็นทุกอย่างสำหรับพวกหนู ครูเจี๊ยบเคยบอกว่า เน้นสอนพวกหนูให้เป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง เพราะคนดีจะอยู่ในสังคมได้ แต่ถ้าคนเก่งจะอยู่ในสังคมไม่ได้ถ้าไม่เป็นคนดี”
“ครูเจี๊ยบสอนให้มีระเบียบวินัย อดทน ดูแลน้อง”
“หนูสนิท ผูกพัน ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน จะขอนอนกับครูเจี๊ยบตลอดแม้จะไม่สบาย มันรู้สึกผูกพัน ทุกรุ่นก็จะเป็นแบบนี้ต่อๆ กัน พ่อกับแม่ก็สบายใจถ้าอยู่กับครูเจี๊ยบ”
“โดนตีก็เจ็บ แต่หนูไม่รู้สึกโกรธ เพราะหนูรักครูและพวกหนูซนเอง ขโมยของ เล่นไพ่ โดนตีเจ็บ มือบวมจนเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ครูเจี๊ยบตีไปก็สอนไปว่า ที่ตีเพราะรักนะ และให้จำไว้”
“เป็นกันเองกับชุมชนกับทุกบ้าน ชาวบ้านรักครูเจี๊ยบ”
ส่วนน้องอ๊อดบอกว่า “ตอนหนูเริ่มไปเรียน แม้กระทั่ง ก.ไก่ หนูก็ไม่รู้เรื่องจนพวกหนูรู้เรื่องจนได้ ตอนท่องสระไม่ได้ ครูเจี๊ยบก็จะสอน รอ รอ จนกว่าจะท่องได้ บางทีจนเย็นเลย”
น้องอ๊อดยังบอกอีกว่า “การอ่านออกเขียนได้ทำให้หนูไปต่อได้ แต่หนูคิดว่าการเป็นคนดี เก่งไม่เก่งหรอก แต่เป็นคนดี ความอดทน ทำให้หนูไปได้”
น้องเจนเสริมอีกว่า “สำหรับหนูเราคุยรู้เรื่องเข้าใจกัน ปกติเค้าจะบอกว่าครูคนแรกคือแม่ใช่ไหมคะ เข้าใจว่าแม่ให้กำเนิดเรา แต่คนที่ทำให้เราสอนให้ลากเส้น อ่าน ออก เขียนได้ กว่าจะลากเส้นได้ กว่าจะพูดได้ ถึงเราจะไปเรียนต่อที่อื่น แต่ถ้าเราไม่ผ่านครูเจี๊ยบคนนี้ก็ไม่สามารถไปต่อได้”
พี่สอนน้อง
“ครูเจี๊ยบบอกให้เราดูแลน้อง หลังจากที่พวกหนูคิดเลขเสร็จ ให้หนังสือที่พวกหนูอ่านมาแล้วและอ่านและสะกดให้น้องฟัง ให้น้องอ่านทีละคนจนกว่าจะอ่านได้ พวกหนูคล่องกว่าคนอื่นคงเพราะชอบด้วย เมื่อก่อนพวกหนูก็อ่านและสะกดไม่ได้ก็โดนดุและให้หนูอ่านจนกว่าจะได้ พวกหนูร้องไห้ไปอ่านไป ครูเสียงดุมาก เวลาสอนครูเจี๊ยบจะดุและจริงจัง เวลาไปสอนน้องก็บอกให้ตีเลยลูก เพราะการตีจะเป็นแรงขับให้กลัวแล้วทำให้เราทำได้ ไม่ตีพวกเค้าจะไม่สนใจ พอตีแล้วเค้าจะสนใจ
“การกลับไปสอนหนังสือที่บ้าน เพราะความผูกพัน เป็นบ้านเรา ไม่อยากทิ้งน้องๆ อาจจะไม่ได้เต็มที่แต่แค่ขอให้ได้ปูพื้นฐานให้กับน้องๆ อยากทำให้ได้ครึ่งหนึ่งของครูเจี๊ยบแต่คงจะยากแต่ก็จะทำให้ดีที่สุด”
“ตอนป.๖ แบ่งหน้าที่ทำความสะอาด ตักน้ำ ล้างห้องน้ำ รดน้ำต้นไม้บ้าง ช่วยคุมแถว ช่วยดูแลจับคู่กับน้องป.๑ อ่านภาษาไทยให้น้องฟัง”
ความสำคัญของการเรียน
“คิดว่าการได้ออกมาเรียน ทำให้มีความรู้อีกจุดหนึ่ง ทำให้สื่อสารได้ อ่านออกเขียนได้ หนูดูตัวอย่างจากคนในหมู่บ้านที่ต้องใช้ภาษาใบ้ ต้องให้คนมาช่วยสื่อสารซึ่งบางทีไม่ตรงกัน”
“ครูเจี๊ยบสอนผู้ใหญ่ด้วย สอนพวกหนูกลางวัน สอนผู้ใหญ่กลางวัน นี่ถ้าไม่มีครูเจี๊ยบพวกหนูคงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง พูดอาจจะได้แต่ให้เขียนอาจจะไม่ได้ เพราะชาวบ้านต้องมีจดอะไรบ้าง เวลามีประชุมอสม. ต้องเขียนชื่อ พวกนี้ก็ต้องผ่านครูเจี๊ยบมาเหมือนกัน บ้านพวกหนูถ้าไม่มีครูก็จะไม่มีใครออกไปเรียนที่ไหน ถ้าไม่ผ่านครูเจี๊ยบจะไม่มีใครยอมออกไปไหนเลย”
ศิษย์พูดถึงครูทั้ง ๓ ช่วงชั้น
“ครูเจี๊ยบเป็นทุกอย่าง เป็นเหมือนแม่หนูอีกคน ส่วนคุณลุงบุญทันเป็นครูคนที่ ๒ สอนเรื่องประสบการณ์ชีวิต ชุมชนนี้จะสอนใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกข้าว ทำนา แบบเจาะลึก บุคคลที่ ๓ คือครูสมประสงค์ สอนให้พวกหนูเน้นวิชาการที่สูงขึ้น คนดี เสียสละ อดทนก็มีเหมือนกัน หนูคิดว่าพวกเขามีหน้าที่ส่งต่อไปเรื่อย ถ้าไม่มีผอ.เราก็ไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ ไม่มีครูเจี๊ยบเราก็คงไม่มาถึงจุดนี้เหมือนกัน”
“ครูที่ให้ความรู้ คือ ครูเจี๊ยบ เพราะครูเจี๊ยบไม่เคยทิ้งพวกหนู ผอ.สมประสงค์ก็ไม่เคยทิ้งพวกหนู ก็ตามว่าใครไปเรียนต่อที่ไหน เวลาลงทะเบียนก็คอยดูแลเวลาไม่มีเงินก็ยืมผอ. แกก็ไม่เคยทวงพวกหนูเลย แต่ถ้าคิดถึงความสำคัญหนูคิดว่าความสำคัญเท่าๆ กัน เพราะไม่งั้นจะทำให้พวกหนูไปต่อได้”
“ผลสำเร็จจนมาถึงทุกวันนี้เกิดจากอะไร ครูเจี๊ยบ คือพื้นฐาน หนูให้ ๕๐% ความอดทน ความเสียสละ พอไปอยู่ที่ชุมชน คุณลุงก็สอน การทำนา การกินข้าว ซึ่งครูเจี๊ยบก็ไปเยี่ยมตลอด ที่อุ้มผาง ทุกอย่างต้องทำเอง ดูแลตัวเอง ผอ.ก็ทำให้ทุกอย่าง เจอแต่คนที่เสียสละให้ทุกอย่างทำให้หนูก้าวมาถึงขนาดนี้”
ศิษย์พูดถึงครูเจี๊ยบ
“มีอยู่วันหนึ่งครูเจี๊ยบจะไปเป็นครูนิเทศ ซึ่งพวกหนูไม่อยากให้ครูเจี๊ยบไป เพราะจะไม่ได้มาอยู่ที่นี่บ่อยเหมือนเมื่อก่อน คนในชุมชนก็ไม่อยากให้ไป เมื่อถึงวันที่ต้องไปพวกหนูก็เดินไปส่งถึงหมู่บ้านที่ไม่เปลี่ยวมาก (หมองกวั๊วะ-ด่าน-ยูนไน) จนปลอดภัย เพราะเคยเจองู เจอช้างของชาวบ้านทำพวกหนูตกใจ เป็นห่วงที่ครูเจี๊ยบต้องเดินคนเดียวถึงจะสบายใจกลับบ้านได้ แต่ครูเจี๊ยบไปครั้งเดียวก็ไม่ไปอีกแล้ว บอกว่าคิดถึง คิดถึงที่นี่”
“ตอนเรียนต่อใหม่ๆ แล้วคะแนนพวกหนูไม่ดีสู้เขาไม่ได้ แต่ในที่สุดก็ทำเกรดได้ดีขึ้นมาได้ จาก ๒.๑๓ ขึ้นมาเป็น ๓.๐๐ ก็ดีขึ้น ถ้าท้อจะคิดถึงครูเจี๊ยบ พ่อกับแม่ บางทีโทรฯคุยกะแม่ว่าไม่ไหวแล้ว แม่บอกว่าในเมื่อเราเดินมาไกลแล้วลองย้อนกลับไปดูพ่อกับแม่เราลำบากมากแค่ไหนถ้าเราไม่รู้ต่อไปอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้วเราจะทำอย่างไร เพราะอยู่ที่บ้านก็คงแต่งงานเพื่อให้ผู้ชายเข้าบ้านเพื่อมาช่วยงานบ้าน แม่ก็บอกสู้ๆ ถ้าเรียนจบแล้วจะได้ช่วยส่งน้องเรียน มีอะไรก็ปรึกษาครูเจี๊ยบตลอด ครูเจี๊ยบกลายเป็นเหมือนเพื่อน พวกหนูมีแฟนครูเจี๊ยบก็รู้หมดแล้ว เวลาไม่มีเงินหนูก็บอกครูเจี๊ยบขอยืมครูเจี๊ยบ”
เข้าสู่เมืองหลวงเพื่อรับการศึกษา และจะกลับบ้านเรา อย่างอดทน และรอคอย
“พวกหนูไม่เคยคิดว่าจะมาได้สูงขนาดนี้เลย คิดว่าจบม.๖ ก็พอแล้ว แต่พอมีการช่วยกันบอกต่อว่าจะมีทุนช่วยพวกเราได้ พวกหนูก็มองหน้ากันว่าพวกหนูนี่เหรอที่จะได้ไปเรียนต่อ แต่พวกหนูก็ไปลองสอบ พ่อกับแม่พวกหนูให้อิสระตัดสินใจเอง เรียนก็ไปเรียนไม่บังคับ”
“พวกหนูได้ทุนการศึกษาเทอมละ ๒ หมื่นต่อ ๒คน ค่าเทอมๆ ละ ๘,๐๐๐ บาท ค่าหอ ๒,๘๐๐ บาท นอกนั้นใช้ในชีวิตประจำวันเงิน ๑๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาทมีค่ากับพวกหนูมาก แต่นี่เงินหมื่นได้มาเวลาจ่ายออกไปก็คิดว่าไม่เห็นได้อะไรเลย เพื่อนก็ถามว่าอยู่ได้เหรอ เพราะเพื่อนหนูบางคนก็ใช้ที ๕ หมื่น ๖ หมื่นบาท พวกหนูข้าวกลางวัน ข้าวเย็นไม่กินก็ได้เพราะครูสอนให้อดทน”
“ทุกวันนี้คิดอยากจะกลับบ้านทุกลมหายใจ อยู่บ้านสบาย อากาศปลอดโปร่ง หนูนั่งรถเข้าเมืองกลับมาหนูจะตายแล้วหนูไม่ไหว หนูก็ไม่รู้ว่ามันสะดวกสบายตรงไหน อยู่บ้านเราไม่ต้องใช้เงิน ไม่มีสารพิษ อยู่ที่นี่หนูกลัวไปหมด ร่างกายก็เปลี่ยน เมื่อก่อนอยู่บ้านหนูก็ไม่ถึงกับแข็งแรงแต่ก็ไม่ได้ป่วยมาก แต่มาอยู่นี้หนูปวดเมื่อยตัวไปหมดเหมือนคนแก่ หายใจไม่ออก มือชาเขียนหนังสือไม่ได้ต้องบอกให้เพื่อนช่วยเขียนแทน บางทีเครียดว่าจะเรียนตามเพื่อนไม่ทันจนต้องโทรฯ หาครูเจี๊ยบ ครูก็จะบอกอดทนนะลูก”
อยากเป็นครูเพราะ ...
น้องอ๊อดบอกว่า “ครูเจี๊ยบคือคนที่ทำให้อยากกลับบ้าน “เจอครูครั้งแรก ทำให้พวกหนูอยากเป็นครูไปเลย คือชอบ หนูเคยเป็นผู้ช่วย พอสว. ได้ช่วยหยิบจับเครื่องมือ ก็ชอบเหมือนกัน เราก็รัก เริ่มลังเล แต่พอกลับมาเจอครูทำให้หนูได้คิด แต่หนูคิดว่า ครูจำเป็นกว่าเลยเลือกเรียนทางนี้ เพราะถ้าอ่าน ออกเขียนได้เมื่อไหร่ก็จะไปเรียนหมอพยาบาลเมื่อไหร่ก็ได้ หนูเลยคิดว่าการเป็นครูจำเป็นที่สุด”
“แต่พวกหนูไม่อยากสอบบรรจุ เพราะหนูกลัวจะไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้ไปสอนน้องๆ”
ขอทำเพื่อครู ..
“ครูเจี๊ยบตั้งแต่เข้าไปสร้างโรงเรียนนี้ อย่างห้วยแม่จันไม่มีแพ ครูเจี๊ยบยังข้ามมาได้ พวกหนูต้องอดทนให้ได้อย่างครูเจี๊ยบ พวกหนูจะเรียนจนจบเพื่อให้แม่คนนี้มีความสุขให้ได้”
การก้าวสู่ความเป็นครูในศตวรรษที่ ๒๑
ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๖ ตั้งแต่เช้ามืด นอกจากได้สัมผัสอากาศอันหนาวเหน็บแล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิตภายในศูนย์ฯ ที่ทำให้เห็นเรื่องราวของความเป็นจริงทางการปฏิบัติ สะท้อนภาพความเป็นครูที่มีจิตวิญญาณ และมีคุณธรรม ที่มีต่อเหล่าศิษย์ตัวน้อยของคุณครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ หรือครูเจี๊ยบ คือ ...
เป็นครูและผู้ให้แรงบันดาลใจ : มีชีวิตการเป็นอยู่ที่มีพลังเป็นครูและให้แรงบันดาลใจแก่เด็กและผู้คน ในชุมชน ครูเจี๊ยบเป็นครูต้นแบบที่ช่วยสร้างเสริมพลังการเรียนรู้ของเด็กๆ แม้จะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ครูเจี๊ยบพยายามพาเด็กๆ ทำนั้นสามารถส่งผลต่อวิธีคิดและกระบวนการทำความดี ของเด็กๆ ได้ในอนาคต เช่น การให้นักเรียนชั้นสูงสุดคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องเด็กเล็ก แบบ “พี่สอนน้อง” ซึ่งทำให้พี่ๆ ได้ฝึกความรับผิดชอบ หรือแม้กระทั้งการจัดเวรดูแลต้นไม้ รดน้ำ ทำอาหาร กวาด ถู บริเวณศูนย์ฯ แม้ในระดับอนุบาลก็ยังได้รับมอบหมายในการดูแลต้นไม้ ๑ ต้น การฝึกให้มีระเบียบวินัยในตนเองที่คุณครูเจี๊ยบบอกว่าไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแต่เพียงในศูนย์ แต่จะพยายามฝึกให้พวกเขาได้ทำสิ่งเหล่านี้ที่บ้าน และในชุมชนของเขาด้วย
·งานสมดุลกลมกลืนกับการดำเนินชีวิต : พาเด็กๆ เรียนรู้ พาเด็กๆ ทำงานอย่างเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต ถ่ายทอดและสร้างสิ่งต่างๆให้กับเด็ก ชุมชน อย่างมีความหมาย การศึกษารูปแบบของการศึกษานอกโรงเรียนที่คุณครูเจี๊ยบพยายามนำพาชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ฯ ทำงานร่วมกันอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ตั้งแต่การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ การส่งเสริมด้านอาชีพให้กับชาวกรูโบ
·มุ่งความสำเร็จไปกับการสร้างชีวิตส่วนรวม : มีความสุขและมุ่งความสำเร็จในชีวิต ผ่านการสร้างสังคมและชีวิตการอยู่อาศัยกับส่วนรวม เพื่อให้ตนเองได้ร่วมอยู่อาศัยอย่างมีความสุขในสังคมที่ดีอีกทีหนึ่ง ด้วยความที่พื้นแพคุณครูเจี๊ยบไม่ใช่ชาวกรูโบ แต่ต้องมาเปิดพื้นที่ใหม่ในชีวิตเพื่อการสร้างสรรสังคมที่เป็นอยู่ให้เป็นสังคมที่ตัวเองต้องเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับชาวกรูโบอย่างมีความสุข โดยพาลูกหลานของพวกเขามาเป็นสภาพแวดล้อมผสมพลังใจที่มีอยู่ล้นเหลือของตนเองออกมาในรูปแบบของการทำงานเพื่อส่วนรวมตลอด ๑๕ ปี
·อดทนและเปิดกว้าง : อดทน มีจิตใจเปิดกว้าง พยายามและให้โอกาสทำความเข้าใจและเรียนรู้ความเป็นจริงร่วมกับผู้อื่น
·พากันใช้ชีวิตและทำสิ่งสร้างสรรค์ : เป็นครูด้วยการใช้ชีวิต อบรมสอนสั่ง พาคิด พาทำ อยู่บนฐานชีวิตจริง
·ให้โอกาสและให้ความเข้าใจ : ให้โอกาส อดทน รอคอยความเจริญงอกงามที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของพัฒนาการบนเงื่อนไขแวดล้อมและพื้นฐานอันแตกต่างกัน
·บูรณาการการเรียนรู้กับการเลี้ยงชีวิต : ประคับประคองให้เรียนรู้และให้เข้าถึงความจริงด้วยการปฏิบัติ ไปจนถึงการเกิดทักษะการพึ่งตนเอง กล้าริเริ่ม ได้ความมั่นใจในการทำงานและนำชีวิตตนเอง
·เป็นสภาพแวดล้อมและกัลยาณมิตรให้กัน : เป็นครูและสภาพแวดล้อมของชีวิต เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกสรรความมีประสบการณ์ ทั้งต่อการมีประสบการณ์ต่อสังคมถิ่นฐานบ้านเกิด การมีประสบการณ์ต่อโลกภายนอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป