เยี่ยมบ้านครูใหญ่
“โรงเรียนครอบครัวตำบลตะเคียนเลื่อน”
โรงเรียนครอบครัว พื้นที่ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
นวลทิพย์ ชูศรีโฉม
๕ พ.ค.๕๕
จากถนนใหญ่ไปทางเข้าบ้านพี่คำปัน (นางคำปัน นพพันธุ์ : ครูใหญ่โรงเรียนครอบครัวตำบลตะเคียนเลื่อน) สอง ข้างทางวันนี้ช่างต่างจากวันที่พวกเรามาครั้งก่อน (เมื่อประมาณปลายปีที่แล้วหลังน้ำท่วมใหญ่) ตอนนั้นมีแต่ซากต้นไม้ตายแห้งหลังน้ำลดเต็มไปหมด ผิดกับวันนี้ เริ่มมีสีเขียวจากต้นกล้วย และต้นไม้ต่างๆ นาๆ ที่ชาวบ้านเริ่มนำมาปลูกเพื่อทดแทนต้นไม้ที่ตายไปกับน้ำท่วม ที่บ้านพี่คำปันก็เช่นเดียวกัน วันนี้ทุกส่วนเต็มไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ถูกปลูกขึ้นมาเพื่อทดแทนของ เก่า เช่น กล้วย ผักหวาน ผักบุ้ง และอีกหลายๆ อย่างๆ ตามหลักของความหลากหลาย ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทีเดียว
ใต้ร่มกอไผ่ที่แผ่ต้นโน้มเข้าหากัน ใบปกคลุมผืนดินซุ่มน้ำที่เจ้าของบ้านนำมาราดรดเพื่อให้เกิดความเย็นไม่ต่าง อะไรกับห้องติดแอร์ อากาศเย็นได้ใจผู้ไปเยือนจริงๆ แถมมีโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งคุยกันพร้อมน้ำดื่มเย็นที่พี่คำปันจัดเตรียมไว้ ต้อนรับผู้มาเยือน มีคนที่มาร่วมพูดคุยครั้งนี้ ๔-๕ คน เป็นทีมครูใหญ่และกรรมการโรงเรียนครอบครัวที่พี่คำปันชวนมาร่วมคุยด้วยกับ พวกเรา สรส. (อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ /ผู้เขียน) ซึ่งไปเยี่ยมเยียนพื้นที่ครั้งนี้อย่างไม่เป็นทางการ พี่คำปันบอกว่าวันนี้เป็นวันพระใหญ่กรรมการหลายท่านจึงไม่ว่าง แต่เท่าที่เห็นที่มา ๔-๕ ท่านก็ดูจะใหญ่พอแล้ว รวมถึงคุณสายัน กรีธาเวช (ครูใหญ่โรงเรียนครอบครัวตำบลเนินศาลา ตำบลโกรกพระ นครสวรรค์) ก็มาร่วมพูดคุยตามคำเชิญของอาจารย์ทรงพล ที่ตั้งใจจะให้สองพื้นที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยในวันนี้
เกษตรคือทางเลือกและทางรอด แต่...
เมื่อพูดคุยกับนักการเกษตร อีกทั้งผู้ไปเยือนก็เป็นผู้ที่สนใจเรื่องการเกษตร ดังนั้นประเด็นการพูดคุยจึงเริ่มด้วยเรื่องเกษตร ซึ่งทั้งเจ้าบ้านและผู้ไปเยือนนั้นมีความคิดตรงกัน คือ “เกษตรคือทางเลือกและทางรอดของคนไทย” โดย อาจารย์ทรงพลได้เล่าถึงการนำนักเรียน “โรงเรียนบุตรเกษตรกร” ที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี ไปดูงานด้านเกษตรที่จังหวัดนครนายกให้ทุกคนฟัง ประเด็น คือ “ทำอย่างไรเมื่อพาไปดูงานแล้วชาวบ้านนั้นจะนำกลับมาลงมือทำอย่างจริงจัง” การพูดคุยเรื่องเกษตรครั้งนี้นับว่าจับคู่คุยได้ถูกต้องเพราะผู้เข้าร่วมพูด คุยฐานคือการทำเกษตร ยิ่งพี่คำปันด้วยแล้วเป็นผู้ชำนาญการด้านการเกษตรด้วยวิธีคิดการทำเกษตรแบบ “กิน แจก แลก ขาย” คือ ไม่ปลูกมาก ปลูกไว้กินก่อน เหลือเอาไว้ขาย และกำหนดราคาด้วยตัวเอง จะขายเท่านี้ หากใครกินแล้วบอกว่าอร่อยก็ให้เขามาดูว่าเราปลูกอย่างไร ดูแล้วหากเขามีบุญ เขาคิดได้ เขาก็เอาไปปลูกกิน
ที่บ้านพี่คำปัน เป็นศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ด้วยหน้าที่งานประจำของพี่คำปันคือ “เกษตรตำบล” ด้วยเนื้อที่ประมาณ ๑๐ กว่าไร่ ปลูกไปด้วยทดลองไปด้วย “บางครั้งก็ขาดทุน แต่ได้กำไร กำไรคือความรู้ที่เราจะนำไปบอกชาวบ้าน เราขาดทุนไม่เป็นไรแต่ชาวบ้านนำความรู้ไปใช้แล้วต้องไม่ขาดทุน... เราอยากได้ความรู้เพื่อต่อสู่กับวิกฤติ อาเซี่ยนที่จะเข้ามาเกษตรกรจะปรับตัวอย่างไร จัดการอย่างไร.” พี่คำปันกล่าว
ปัญหา คือ “ความเชื่อของชาวบ้าน”
“อย่างไรให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิธีคิดแล้วลองสิ่งใหม่”ชาวบ้านเน้นการปลูก ปริมาณเยอะๆ ที่ดินของตัวเองไม่พอก็ไปเช่าพื้นที่คนอื่นทำ ด้วยความเชื่อที่ว่าปลูกเยอะก็ได้เยอะ แต่ขาดการจัดการ
“ทำอย่างไรให้ชาวบ้านที่ไปดูงานแล้วกลับมาคิดมาทำอย่างจริงจัง”
เป็นประเด็นการพูดคุยที่ใช้เวลาคุยกันอยู่นาน จากการพูดคุย พอสรุปได้ว่า
เริ่มตั้งแต่การคัดคนที่จะไปดูงาน ต้องเลือกคนที่สนใจจริง ซึ่งจะต้องโยงไปถึงเป้าหมายการชีวิตของเขาด้วยว่า “ความสุขของเขาคืออะไร” จำนวนที่จะพาไปไม่ต้องมากประมาณ ๓-๔ คนก็พอ (เพราะไม่ใช่ไปเที่ยว) ไปเรียนรู้แบบให้ลงมือปฏิบัติกันจริงๆ ไม่ใช้แค่ไปดูเฉยๆ และเมื่อกลับมาแล้วผู้นำจะต้องทำให้ดูและมีแปลงทดลองเป็นตัวอย่าง และต้องจัดการอย่างต่อเนื่องเหมือนทดลองสิ่งใหม่และทำวิจัยไปในชีวิต และที่สำคัญ ”ใช้รูปแบบของโรงเรียน และมีบันใดการพัฒนายกระดับ”
พี่คำปันได้เล่าถึงนำชาวบ้านทำเกษตรแบบปลดหนี้ “ปลูกน้อย ปลูกหลายๆ อย่าง ใช้การจัดการเข้ามา” ตอนนี้มีตัวอย่างของคนที่ทำแล้วปลดหนี้ได้ แต่มีจำนวนไม่กี่คน ...ฟังแล้วน่าสนใจวันหลังต้องมาเรียนรู้ด้วยแล้ว
“ใครอยากปลดหนี้ยกมือขึ้น”
ทำแบบไม้เน้นปริมาณ แต่เน้นการจัดการเข้ามา ติดตามให้กำลังใจ ทำให้เขาไปรอด จากที่เขาทำเยอะ ๆ กลับมาตั้งหลัก ทำน้อยเท่าที่มี ไม่เช่าที่แต่ปลูกให้หลากหลาย
ตั้งเป้ารายได้ เช่น ปีนี้จะต้องมีรายได้ ๑ แสน
โจทย์ คือ ๑ แสนจะได้มาอย่างไร
จากนั้นสำรวจทุน มีอะไรอยู่และต้องหาอะไรเพิ่ม ใช้ใจ ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ “ให้เขาวิเคราะห์ให้เขาสรุป และให้เขาเลือกด้วยตัวเอง
การวัดผลต้องวัดผลเป็นรายเดือน วัดผลจากที่เขาดีขึ้น รายได้ สุขภาพ ความสุข คือตัวชี้วัด
ตั้งราคาผลิตผลเองได้ จุดขายคือ ปลอดสาร รับรองรอดแน่เพราะมีรายได้ทุกวัน ...หากตราบได้เกษตรกรไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองก็จะอยู่ไม่ได้ ไปไม่รอด
“เริ่มจากจุดเล็ก ทำแบบมีความรู้ มีการเก็บข้อมูล ทำแบบต่อเนื่อง เรียนแบบไม่มีวันสิ้นสุด ยกระดับการเรียนรู้ เชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตและเรื่องลูกหลาน”
การพัฒนาลูกหลานโดยใช้การเกษตรเป็นเครื่องมือ
โจทย์สำคัญ คือ “ทำอย่างไรให้เด็กหันกลับมาสนุกเพลิดเพลินกับเรื่องเกษตร”
“ต้องมีพี่พาเรียน เพราะเป็นวัยใกล้เคียงกัน เรียนแบบเล่นไปด้วย เรียนไปด้วย”
“ต้องมีความต่อเนื่อง”
“ผู้ปกครองต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้” เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะความคิดของผู้ปกครองคือ “ฉันส่งลูกมาเรียน ไม่ใช้มาปลูกต้นไม้หรือทำเกษตร หากจะเรียนเรื่องเกษตร ฉันสอนเองก็ได้” น้าน!
“โรงเรียนครอบครัว” คือ ความต่อเนื่อง
บอกเล่าการดำเนินงานโรงเรียนครอบครัว
ในการขับเคลื่อน “โรงเรียนครอบครัวของตำบลตะเคียนเลื่อน” นั้นพี่คำปันในฐานะครูใหญ่โรงเรียนครอบครัวตำบลตะเคียนเลื่อนเล่าว่า
ตอนนี้มีคณะกรรมการโรงเรียนครอบครัวแล้ว ซึ่งมาจากตัวแทน ๑๒ หมู่บ้านครบทุกหมู่โดยใช้ฐานกรรมการของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ตำบล ซึ่งเป็นกรรมการที่รู้จักกันมีจิตอาสา รู้จักกันมาทำงานด้วยกัน คุยกันรู้เรื่อง
กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดวังยาง ที่เป็นหมู่ที่พี่คำปันอยู่ และยังมีพื้นที่โรงเรียนในหมู่อื่นด้วย เช่น โรงเรียนวัดเกาะหงส์ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้โรงเรียนได้คัดกลุ่มเป้าหมายมาให้แล้วระดับหนึ่ง แต่คิดว่าจะต้องคิดใหม่อีกครั้ง
แผนที่จะทำต่อไปคือ การเข้าไปประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจเรื่อง “โรงเรียนครอบครัว” ในวันปฐมนิเทศนักเรียนของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจ เหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์รับสมัครไปในตัว เป็นการคัดครอบกลุ่มเป้าหมายอีกครั้ง ซึ่งจะเน้นเด็กนักเรียนระดับ ป.๓-ป.๖ เน้นจุดขาย คือ “การเรียนวิชาชีวิต คือการเรียนเพื่อการเติบโตให้คนเป็นอย่างเต็มคน” ครูใหญ่โรงเรียนครอบครัวกล่าว
เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายแล้ว จัดเชิญกลุ่มเป้าหมายพร้อมครอบครัวพ่อแม่ผู้ปกครองมาทำความเข้าใจและทำเป้าหมายร่วม “เราจะเน้นการพัฒนาทั้งครอบครัว”
ข้อเสนอแนะของผู้ไปเยือน
อาจารย์ทรงพล ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงาน ว่า
กรรมการโรงเรียนจะต้องคิดเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพราะเกณฑ์เป็นเงื่อนไขความสำเร็จที่สำคัญเราจะได้วัตถุดิบที่ดีในระดับ หนึ่งที่นำมาพัฒนาต่อไป หากมีไม่เกณฑ์ใครๆ ก็อยากจะฝากลูกเข้ามา อาจด้วยวิธีคิดที่ว่ามีคนช่วยดูแลลุกได้ไม่เป็นภาระตนเอง ดังนั้นควรมีเกณฑ์
“ไม่เน้นปริมาณฯ เน้นเรื่องใจ ทำน้อยแต่ทำเชิงประณีต จัดการได้ เราต้องหวังผลให้เกิดความสำเร็จ”
ข้อควรระวังคือ วิธีคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มองว่า สิ่งที่เราชวนทำเป็นภาระ เสียเวลาทำมาหากินเขา ทางแก้คือ เราจะต้องสื่อสารทำความเข้าใจ กาให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้ภาพรวม รู้บทบาทหน้าที่ เน้นให้เขามีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมของพ่อแม่คือ เน้นให้เขามีส่วนช่วยที่บ้าน ช่วยสังเกตลูก สอนลูกในวิถีชีวิต ให้มีความถี่ ความต่อเนื่อง เดือนหนึ่งอาจจะนัดมาพบกันเพื่อช่วยกันประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของลูก
ตัวจักร ตัวเชื่อมที่สำคัญ คือ “นายหมู่” คือ รุ่นพี่ชั้นมัธยมต้น ถึงมัธยมปลายที่ไปเรียนข้างนอก เพื่อมาเป็นครูผู้ช่วย “พี่พาน้องเรียน” เพราะเด็กคุยกับเด็กรู้เรื่อง และพาเล่นสนุก กรรมการต้องคิดเกณฑ์คัดเลือกนายหมู่ เช่น พาน้องเล่นได้ มีใจรักที่จะทำกิจกรรม อยากจะพัฒนาตนเอง เมื่อได้นายหมู่มาแล้วจะต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เขาจะทำนั้นเป็นประโยชน์ กับชีวิต โยงกับเป้าหมายชีวิตเขาอย่างไร
กรรมการต้องคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายว่า กิจกรรมที่เราจะพาทำเป็นการช่วยเสริมช่วยเหลือโรงเรียนอย่างไร
กลุ่มที่น่าสนใจมีอยู่ ๓ กลุ่ม คือ (๑) กลุ่มเยาวชน ซึ่งเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้ (๒) กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง เรียนรู้เรื่องฐานอาชีพ และ (๓) กลุ่มผู้สูงอายุ กิจกรรมของเด็กสามารถเชื่อมร้อยกับกลุ่มผู้สู่อายุได้ เช่น เด็กคนไหนอยากเป็นพยาบาล แล้วความเป็นพยาบาลจะมาเชื่อมกับผู้สูงอายุอย่างไร เป็นต้น
ที่สำคัญ คือ การทำงานจะต้องใช้ข้อมูล ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลนายหมู่ ข้อมูลผู้ปกครอง นักเรียน เพื่อนำมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ซึ่ง พ่อแม่ผู้ปกครองก็เป็นครูได้
การพูดคุยกันครั้งนี้ น่าจะเปิดประโยชน์หลายสถานในกาลเดียว ทั้งเรื่องงาน เรื่องชีวิต เรื่องงานก็คงได้แนวทางการทำงานต่อ ส่วนเรื่องชีวิตสำหรับผู้มาเยือนคงจะมองเห็นเส้นทางชีวิตที่จะดำเนินไปใน เส้นทางการเกษตรอย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ละฝ่ายทั้งเจ้าบ้านและผู้มาเยือนดูจะคุยกันถูกคอทีเดียว เพราะจบการพูดคุยแล้วเจ้าบ้านได้มีน้ำใจต้อนรับด้วยอาหารกลางวันที่สุดแสนจะ อร่อยที่ลงมือช่วยกันทำเอง ข้าวกล้องสุขภาพหุงร้อนๆ น้ำพริกปลาทอด ห่อหมก และผิดลวกชนิดต่างๆที่เก็บจากสวนมาสดๆ ตบท้ายด้วยมังคุดรสชาติดีคัดเก็บมาต้อนรับคนที่ไปจากเมืองกรุง ปลอดสารพิษแต่เต็มไปด้วยสารอาหาร ขอบคุณเจ้าบ้านและท่านผู้ร่วมวงพูดคุย
ไว้ครั้งหน้าพวกเราจะมาเจอกันอีกนะ. “โรงเรียนครอบครัวตะเคียนเลื่อน”.
ผู้ร่วมพูดคุย :
ทีมพื้นที่ตะเคียนเลื่อน : คุณคำปัน นพพันธุ์ /คุณสนิท บุญศิลป์ /คุณสุรัตน์ แซ่ตัน / คุณปลิว จันทร์ทองคำ /คุณสมบัติ ทองอ่อน
ทีมพื้นที่เนินศาลา : คุณสายัน กรีธาเวช
ทีม สรส. : อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ /คุณนวลทิพย์ ชูศรีโฉม
การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (๔ ภาค)
สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)