ติดตามชมกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่
“กระบวนการสร้างเครือข่ายและพัฒนาทักษะพี่เลี้ยงภาคกลาง”
สถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้อง “บ่มเพาะคนรุ่นใหม่” ให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันดูแลและพัฒนาโลกของเราให้น่าอยู่ต่อๆ ไป ต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น เด็กและเยาวชนจะเติบโตเป็นเช่นนี้ได้ ต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่บ่มเพาะความดีงามให้งอกงามขึ้นในตัวเด็กๆ ซึ่งอาจจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง คนในชุมชน ครู อาจารย์ที่โรงเรียน ที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่นี้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องมีทักษะในบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ให้เกิดในตัวเด็กๆ
ย่อจากประชากรโลกมาที่ภาคกลางของประเทศไทย ผู้ใหญ่ที่เรียกขานตนเองว่าเป็น “พี่เลี้ยงเยาวชน” ที่มีความแน่วแน่อยากจะพัฒนาลูกหลานของตนเองให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ที่จะพาลูกหลาน หรือเยาวชนของตนให้ไปสู่จุดหมายปลายทางเป็น “คนดี คนเก่ง มีสำนึกความเป็นพลเมือง” ดั่งที่วางไว้จึงได้มารวมตัวกันที่เวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างเครือข่ายและพัฒนาทักษะพี่เลี้ยงภาคกลาง : ภาวะผู้นำและการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน” ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว สนับสนุนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)
การอบรมครั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้ตั้งวัตถุประสงค์ เพื่อให้พี่เลี้ยงได้รู้จักตนเองและเกิดกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมที่เกิดจากพลังขับเคลื่อนภายใน เพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้มีทัศนคติ ความรู้ และทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และการให้คำปรึกษากับเด็กเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้ และเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของพี่เลี้ยงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้มีพลังในการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นตนเอง
โดยมีอปท.ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชสนใจเข้าร่วม ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลปลายโพงพาง,องค์การบริหารส่วนตำบลบางจะเกร็ง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่เทศบาลตำบลไผ่กองดิน , องค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว, องค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะสังข์, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านช้าง ได้ส่งบุคคลเหล่านี้ได้แก่ นักถักทอชุมชน(เจ้าหน้าที่อปท.ผู้เข้าร่วมในโครงการฯ) ผู้ใหญ่ใจดี พี่เลี้ยงชุมชน เยาวชน ที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานด้านพัฒนาเยาวชน / สภาเด็ก และเยาวชนระดับตำบล ร่วมเรียนรู้กับนักกระบวนกรอิสระ จรายุทธ สุวรรณชนะ และสิรินันท์ นิลวรางกูร (ผู้ช่วยกระบวนกร) ระหว่างวันที่ 2 – 4 เมษายน 2561 ณ โรงแรมริเวอร์ จังหวัดนครปฐม
สุทิน ศิรินคร ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “ในการอบรมพี่เลี้ยงนี้มีสองพื้นที่ที่ร่วมเรียนรู้คือจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งมีเครือข่ายนักถักทอชุมชนซึ่งได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในเวทีภาคกลาง มีเป้าหมายเช่นเดียวกันกับที่ภาคใต้ ที่อยากสร้างเครือข่ายพี่เลี้ยงให้เกิดขึ้นและพี่เลี้ยงเยาวชน ควรจะมีทักษะภาวะผู้นำและทักษะการโคช รวมทั้งสามารถออกแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ และมีแผนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนของแต่ละตำบล และท้ายสุดทุกตำบลก็สามารถสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏบัติจริงในพื้นที่ได้”นี่คือผลลัพธ์ในระยะสั้นและยาวที่เวทีนี้ต้องการให้เกิดกับผู้เข้าร่วม
จรายุทธ สุวรรณชนะ เผยถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้“เวทีนี้เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับพี่เลี้ยงเยาวชนพื้นที่ภาคกลาง โดยเป็นหลักสูตรพัฒนาภาวะการนำและการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรดังนี้ 1.เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความสามารถในการทำงานเพื่อท้องถิ่นของตัวเอง 2.เพื่อให้พี่เลี้ยงรู้จักวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือวิธีการทำงานที่เกื้อกูลและส่งเสริมให้เยาวชนได้พัฒนาความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้น ซึ่งนี่คือวิธีการทำงานที่ดี สร้างสรรค์ และทำให้ตัวเราเองมีความสุขด้วย 3.การสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในการทำงาน ซึ่งมีเครือข่ายหลายระดับ ได้แก่ เครือข่ายในระดับชุมชน เช่น โรงเรียน อบต. รพ.สต. รวมถึงพ่อแม่ด้วย และการสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน เพราะจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงการต่อยอดประสบการณ์ จะทำให้ทำงานแล้วรู้สึกสนุก ไม่รู้สึกตัน เพราะได้เรียนรู้และต่อยอดเพิ่มเติม และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำงานกับเยาวชนที่สามารถเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันกับเครือข่ายได้ นี่คือเป้าหมายสำคัญ
อีกส่วนหนึ่งคือ พี่เลี้ยงเองจะได้รู้ถึงบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงว่าการทำงานเพื่อให้เยาวชนมีภาวะความเป็นผู้นำต้องทำอย่างไร และคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของพี่เลี้ยงต้องมีทักษะใด เพื่อเกื้อกูลให้เยาวชนสามารถพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำได้ เพราะเมื่อเยาวชนมีภาวะความเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีความเสียสละหรือจิตอาสา มีความรับผิดชอบ แล้วเขาจะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ สิ่งที่สร้างสรรค์เพื่อท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมจิตอาสา รูปแบบของโครงงานที่ทำเพื่อชุมชน โดยหัวใจสำคัญของการทำงานทุกครั้ง คือการที่เยาวชนได้กลับมาพัฒนาตัวเอง ทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าในตัวเอง เชื่อมั่นในตนเอง และผูกพันกับท้องถิ่น นี่คือเป้าหมายและเนื้อหาโดยรวมในช่วง 3 วันนี้” จรายุทธเกริ่นเบื้องต้น
“พี่เลี้ยงเยาวชนหรือโคชที่ดี” นั้นจำเป็นต้องมีการฝึกฝนผ่านกระบวนการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ในเวทีภาคกลาง จรายุทธได้เลือกออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่บางกิจกรรมก็เป็นกิจกรรมเดียวกันกับภาคใต้และมีการเติมกิจกรรมใหม่ๆ เข้ามา เป็นรูปแบบ “กิจกรรมผ่านประสบการณ์” สำหรับกระบวนการที่จะทำให้พี่เลี้ยงรู้จักตัวเองเพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนภายใน และสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม มีกิจกรรมดังนี้ กิจกรรม check in / กิจกรรมสันทนาการ ประกอบด้วย 1.กิจกรรมปรบมือนับเลข , 2.กิจกรรมปลาร้า ปลาทู ,3.กิจกรรมเรียงลำดับ , 4. กิจกรรมเสร็จฉันและเธอ/ กิจกรรม socio (ความสุข 4 ระดับ)/ กิจกรรมจักรวาลจัดสรร / กิจกรรมท้องฟ้าใสไร้ก้อนเมฆ : รู้จักตนเอง จัดการอารณ์ตนเอง /กิจกรรมเมล็ดพันธ์ในใจ ระบายสี ระบายอารมณ์
มาดูกันว่าแต่ละกิจกรรมมีเป้าหมายและกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ เริ่มที่กิจกรรม check inมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สำรวจตัวเองก่อนว่า ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง และยังเป็นการฝึกการพูด ฝึกทักษะการสื่อสารแบบง่ายๆ ตัวอย่าง เช่น การแนะนำตัวโดยถามคนข้างๆ ไปเรื่อยว่า “เช้านี้เป็นอย่างไรบ้าง”ซึ่งทำให้คนกล้าที่พูดออกมาเพราะเป็นเรื่องของตัวเอง เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้พูด ซึ่งหัวใจสำคัญคือให้เขามีพื้นที่ของตัวเอง โจทย์ Check in เป็นโจทย์ง่ายๆ ไม่กดดัน”
มาที่กิจกรรมสันทนาการ เป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อมให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกผ่อนคลาย เพราะสภาพที่พร้อมจะเรียนรู้คือสภาพที่กำลังอยู่ในลักษณะผ่อนคลายซึ่งกิจกรรมสันทนาการจะมีหลากหลายในเวทีนี้นำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้เริ่มที่1.กิจกรรมปรบมือนับเลข มีเป้าหมายเพื่อเพื่อชี้ให้เห็นว่าถ้าเราทำงานด้วยกันต้องรู้จักสังเกต รู้จักการฟัง รู้จักการรอ ถึงจะทำให้งานสำเร็จได้
2.กิจกรรมปลาร้า ปลาทูเป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนคนอื่น โดยต้องจับคู่กับเพื่อนที่ไม่ได้มาด้วยกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์เพื่อใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไปหลังจากนี้
3.กิจกรรมเรียงลำดับ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนตนเอง และเมื่อได้ทบทวนตัวเอง
4.กิจกรรมเสร็จฉันและเธอ มีเป้าหมายเพื่อนำเข้าสู่การเรียนรู้ หัวใจสำคัญคือเป็นสันทนาการด้วยและเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้เข้าร่วม ซึ่งกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ และคนชนะจะได้รับการนวดซึ่งเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพราะคนจะมีปฏิสัมพันธ์ได้ดีเมื่อมีการสัมผัสและถูกเนื้อต้องตัวกัน และทำให้ผู้เข้าร่วมผ่อนคลายหลังจากกิจกรรมให้นอนกลางวันด้วย
กิจกรรม socio (ความสุข 4 ระดับ) เป็นตัวอย่างกระบวนการที่พาทุกคนสำรวจตัวเอง ได้รู้จักตัวเองในหลายมิติ ถ้าเรารู้จักตัวเองทำให้เรารู้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความหวัง และมีพลังใจ มีคุณค่า เป็นเครื่องมือง่ายๆ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมได้ข้อคิดกิจกรรมเป็นเครื่องมือ เป็นพื้นที่ที่แสดงออกของผู้เข้าร่วม เมื่อวางความคิดไม่ได้ถูก ได้ผิดอะไร จะทำให้ทุกคนกล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น
หัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมคือการมีพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความเห็นหรือว่าได้แสดงตัวตนได้ว่าอยู่ในระดับไหนถึงแม้คนไม่กล้าพูดแต่สามารถแสดงตัวตนได้ และทุกคนเคารพความเป็นตัวตนของเขา
กิจกรรมจักรวาลจัดสรร มีเป้าหมายคือทำให้เขาได้รู้จักตัวเองและฝึกการฟัง เพราะฉะนั้นโจทย์ที่ให้จะเป็นโจทย์ในลักษณะให้กำลังใจ เช่น ให้แบ่งปันเรื่องครอบครัวในมุมไหนก็ได้ที่สบายใจ และได้กลับมาทบทวนเรื่องความสำเร็จ ความภาคภูมิใจในการทำงานและการดำเนินชีวิต ในแง่มุมไหนก็ได้เพื่อทำให้เขามีกำลังใจในการทำงาน สุดท้ายให้ได้ทบทวนความใฝ่ฝันในชีวิต ซึ่งอาจเกี่ยวกับตัวเองหรือเรื่องของส่วนรวมก็ได้ จะช่วยเขาได้ค่อยๆกลับมาทบทวนตัวเอง จากพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจะทำให้เขาเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย
กิจกรรมท้องฟ้าใสไร้ก้อนเมฆ : รู้จักตนเอง จัดการอารณ์ตนเอง (เป็นช่วงที่กระบวนกรให้เนื้อหา)เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อให้เขาได้รู้จักจิตใจของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับก้อนเมฆหมายถึงความคิดที่เกิดขึ้น ถ้ามีก้อนเมฆเกิดขึ้นเยอะ แสดงว่ามีความคิดเยอะ ส่งผลให้เกิดความเครียด ความกดดัน และกิจกรรมนี้จะโยงกลับไปเรื่องงาน ให้เห็นว่าก้อนเมฆของเขาส่วนใหญ่เกิดจากการทำงาน เกิดจากความสัมพันธ์ในองค์กร และเกิดจากการใช้ชีวิตทั่วไป เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นเรื่องลูก เรื่องครอบครัว เรื่องของเพื่อนที่ทำงาน ส่วนก้อนเมฆที่เกิดจากเรื่องงานอาจเกิดจากการที่มีความเครียด ความกดดันจากงานที่เขาต้องรับผิดชอบ นี่คือสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดก้อนเมฆ และถ้าพี่เลี้ยงสามารถจัดการก้อนเมฆของตัวเองได้ (สามารถจัดการความเครียดความกดดันได้) เขาก็สามารถโอบอุ้มดูแลเยาวชนให้สามารถเติบโตได้ โดยที่เขาทำงานแล้วมีความสุขด้วย
กิจกรรมเมล็ดพันธุ์ในใจ ระบายสี ระบายอารมณ์เป็นกิจกรรมให้กลับมาสำรวจตัวเองว่าอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีหลากหลายอารมณ์ ถ้าเขาระบายอารมณ์ไหนอย่างต่อเนื่อง เช่น ความโกรธบ่อยๆ แล้วผลที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเขา คือจะเสพติดอารมณ์โกรธ ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์และการทำงานกับผู้อื่น ทำให้เขาเกิดความเครียด ความกดดัน
จากกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และรู้จักตนเองแล้ว กระบวนกรจึงได้ค่อยๆ ให้ผู้เข้าร่วมเกิดทัศนคติ ความรู้ และมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จึงเลือกกิจกรรมเรียนรู้สนุกๆ มาดังนี้ กิจกรรมตีระฆัง / กิจกรรมผ่านประสบการณ์ : Mission Impossible (วางเหรียญ) / องค์ประกอบการทำงานที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืน / กิจกรรมปมมนุษย์ / กิจกรรมการฟังด้วยหัวใจ เปิดคลิปการฟัง เป้ / กิจกรรมชมคลิป kind ness ส่งต่อความดี / กิจกรรมระบายก้อนเมฆ / กิจกรรมการฟังอย่างลึกซึ้ง เปิดคลิปท่านติช นัท ฮันห์ / กิจกรรมผ่านประสบการณ์ : สร้างภาวะผู้นำ – ปิดตาขับรถ / ปิดตาดึงเชือก / ชมภาพยนตร์ freedom riders นำเข้าสู่เนื้อหาผู้นำที่ดี / ชมคลิปเจ๊ดาตลาดแตก / คลิปผมขอฟ้องร้องระบบการศึกษา / กิจกรรมสี่เหลี่ยมแตก / กิจกรรม World café / กิจกรรมประเมินแบบเสริมพลังมาขยายความ แต่ละกิจกรรมว่ามีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไรกัน
เริ่มที่กิจกรรมตีระฆัง การตีระฆังเป็นการตีเพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์สำหรับการเริ่มต้นการเรียนรู้ และเป็นการโยงให้ผู้เข้าร่วมเห็นว่า คำตอบของผู้เข้าร่วมในการได้ยินเสียงระฆังนั้นไม่มีผิด ไม่มีถูก เป็นคำตอบที่มาจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในแง่ของการเรียนรู้ร่วมกัน จึงอยากให้ผู้เข้าร่วมฝึกวางคำตัดสิน ว่าถูกหรือผิด ใช่ หรือ ไม่ใช่ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนได้กล้าพูดและแลกเปลี่ยนความเห็นของตัวเอง
กิจกรรมผ่านประสบการณ์ : Mission Impossible เป็นกิจกรรมผ่านประสบการณ์เพื่อนำเข้าเนื้อหาเรื่ององค์ประกอบที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ โดยกระบวนการของกิจกรรม มีเงื่อนไขที่ทุกคนต้องช่วยกันที่จะทำงานที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าร่วมมือร่วมใจกัน งานที่ดูยากและท้าทายก็จะทำง่ายและเร็วขึ้น การถอดบทเรียนของกิจกรรมโยงมาที่องค์ประกอบที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องวิธีการทำงานที่ดี ซึ่งหัวใจอยู่ที่การสร้างการมีส่วนร่วม โดยสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานให้ทุกคนได้ใช้ศักยภาพและพัฒนาตัวเอง และมีการโยงให้เห็นว่าเป้าหมายสำคัญของการทำงานกับเยาวชน ไม่ใช่แค่คิดกิจกรรมให้เยาวชนทำอย่างเดียว แต่ต้องดูว่ากิจกรรมนี้พัฒนาความเป็นผู้นำด้านไหนให้กับเยาวชนบ้าง นี่คือการโยงเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมเห็น
องค์ประกอบการทำงานที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืน เป็นเครื่องมือการทำงานของพี่เลี้ยงเยาวชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้ 3 เรื่องนี้ 1.มีวิธีการ/กระบวนการทำงานที่ดี 2.มีความสัมพันธ์ที่ดีรองรับ (ครอบครัว ชุมชน) และ 3.มีบุคลากรมีภาวะความเป็นผู้นำ มีความสำคัญกับเราเป็นที่มาความสุข ความทุกข์ในชีวิตเรา อยากให้เขาเห็นว่าตัวเขามุ่งไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งมากไปหรือเปล่า เช่น บางกลุ่มอาจมุ่งเน้นไปที่การทำอีเวนท์หรือกิจกรรมอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจว่าเด็กจะมีภาวะความเป็นผู้นำหรือเปล่า (หมายถึงกล้าคิด กล้าแสดงออก) ไม่ได้สนใจความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ครอบครัวเราก็มีความสุขดังนั้นจะเห็นว่าบางกลุ่มยังไม่มีเครือข่ายองค์กรเลยเขาจะได้รู้ว่าเครือข่ายก็เป็นส่วนสำคัญของการทำงานให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน
กิจกรรมปมมนุษย์ พี่เลี้ยงสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมกับเยาวชนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถสะท้อนความคิดเรื่องการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน
กิจกรรมการฟังด้วยหัวใจ ดูคลิปวิดีโอการฟัง เป้ อารักษ์ กับการฟังที่จะเปลี่ยนชีวิตที่เหลือของเขา (เป้ อารักษ์ กรณีเพื่อนฆ่าตัวตาย ลิงค์https://www.youtube.com/watch?v=oD0LwD39_XMเป็นการให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกทักษะการฟังด้วยหัวใจ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของผู้นำ และเป็นทักษะสำคัญของพี่เลี้ยงเยาวชน เพราะเป็นเครื่องมือในการดูแลเยาวชนที่มีปัญหา ถ้าเยาวชนมีพื้นที่สำหรับไว้เล่าหรือแบ่งปัน จะทำให้เขาสามารถระบายและไม่เก็บปัญหาไว้กับตัวเอง ทักษะการฟังด้วยหัวใจ คือการเปิดพื้นที่ให้คนได้เสนอความคิด ซึ่งช่วยให้คนได้พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ ทำให้คนมีความเชื่อมั่นกล้าที่จะแสดงออก ซึ่งกระบวนการทำงานแบบนี้จะทำให้คนในทีมได้พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ เช่นเดียวกันกับพี่เลี้ยงถ้าสร้างการมีส่วนร่วมกับเด็กได้ เด็กจะโตและมีภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้น
กิจกรรมชมคลิป kind ness ส่งต่อความดี (https://www.youtube.com/watch?v=p8Q15KC0d5g)เป็นคล... ที่มีพลัง เชื่อมให้ผู้เข้าร่วมย้อนกลับมาที่ชีวิตตัวเอง เมื่อเราได้รับสิ่งดีๆ เราก็ต้องการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น ถ้าเราทำให้เยาวชนได้รับสิ่งดีๆ จากผู้ใหญ่ พอเขาโตมาเขาก็ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้น้องๆ รุ่นต่อไป ต่อ “สิ่งที่พวกเรากำลังทำคือบทบาทพี่เลี้ยงเยาวชนที่ให้สิ่งดีๆ กับเยาวชน ให้แนวคิด การดำเนินชีวิต ให้ทักษะชีวิต ให้ความสุข ให้แนวทางในการดำเนินชีวิต แล้วเขาจะส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้กับเพื่อน ให้กับน้องๆ ดังนั้นถ้าเขาโตขึ้นเป็นผู้นำชุมชนจะคุ้มค่าขนาดไหน ที่เรามีผู้นำที่เป็นคนที่มีจิตใจที่ดี เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็จะเป็นผลดีในภาพรวมของชุมชน การลงทุนกับเยาวชนกว่าจะเห็นผลใช้ระยะเวลานาน แต่ถ้าเห็นผลก็คุ้มค่า” กระบวนกรกล่าว
กิจกรรมระบายก้อนเมฆ เป็นกิจกรรมที่ใช้ฝึกทักษะการฟัง ทักษะการฟังเป็นทักษะสำคัญของพี่เลี้ยง เช่น หากเห็นเยาวชนมีความเครียดหรือความกดดัน เขาสามารถใช้ทักษะนี้ดูแลและทำให้น้องๆ เข้าหาเขาได้ โดยใช้การฟังเป็นเครื่องมือในการดูแลเยาวชน
กิจกรรมการฟังอย่างลึกซึ้ง เปิดให้ชมคลิปฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ท่านติช นัท ฮันห์ (ลิงค์ https://www.youtube.com/watch?v=qkyBDvJmndU) คลิปได้ให้ความหมายของการฟังไว้อย่างชัดเจน การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยดูแลความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับกิจกรรมจิตใจเท่ากับท้องฟ้าใส ไร้ก้อนเมฆ
กิจกรรมผ่านประสบการณ์ : สร้างภาวะผู้นำ – ปิดตาขับรถ / ปิดตาดึงเชือก เพื่อปรับทัศนคติในเรื่องภาวะผู้นำ ภาวะส่วนใหญ่ของผู้นำคนจะติดภาพว่าผู้นำต้องสั่งการและจัดการลูกทีม เพราะฉะนั้นเนื้อหาจะให้เห็นว่าบทบาทผู้นำที่สำคัญคืออะไร เช่น การสร้างการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของลูกทีม การจุดประกายหรือกระตุ้นให้ลูกทีมมีกำลังใจ มีความหวัง มีพลังในการทำงาน แล้วเชื่อมโยงเรื่องบทบาทของผู้นำให้กว้างขึ้น ไม่ติดอยู่กับเรื่องผู้นำต้องสั่งการ และการที่ผู้นำจะทำบทบาทแบบนี้ได้ต้องมีคุณลักษณะสำคัญ เช่น การเปิดใจกว้าง การรับฟังความคิดเห็น ความยุติธรรม ความเสียสละ ความอดทน ทั้งหมดนี้คือคุณลักษณะหรือภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งการทำให้เกิดคุณลักษณะเหล่านี้ในตัวเขาได้จะทำให้เขามีบทบาทหน้าที่ของผู้นำ คือการสร้างมีส่วนร่วมที่ดีและเกื้อกูลให้คนอื่นได้ใช้ศักยภาพ เป็นเรื่องที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
กิจกรรมผ่านประสบการณ์ : สร้างภาวะผู้นำ ปิดตาดึงเชือก โยงไปที่บทบาทของพี่เลี้ยงเยาวชน เพราะพี่เลี้ยงคือผู้นำคนหนึ่งที่จะนำเยาวชนให้เติบโต โยงให้เห็นความสำคัญถึงเป้าหมายของการพัฒนาภาวะผู้นำในตัวเด็ก ที่พี่เลี้ยงมีความสำคัญในการที่พาให้เด็กเติบโต คือการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก เพราะถ้าเด็กมีภาวะผู้นำมีความเสียสละ มีพลังในการทำงานมีจิตอาสา มีความอดทน ต่อไปเขาจะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนและสังคม และนอกจากนั้นเวลาเขาเจอปัญหาเขาจะใช้ทักษะเหล่านี้ในการจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ ซึ่งบางครั้งเราเรียกภาวะความเป็นผู้นำตรงนี้ว่ามีทักษะชีวิตหรือทักษะในการใช้ชีวิต
ชมภาพยนตร์ freedom riders เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์และถอดบทเรียนเป็นการนำเข้าสู่เนื้อหาผู้นำที่ดี การใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงทำให้เห็นว่าบทบาทของครูที่ช่วยสร้างภาวะผู้นำในตัวเด็ก ครูทำอะไรและทำอย่างไร และเมื่อเด็กมีภาวะผู้นำเกิดขึ้น เขาลุกขึ้นมาจัดการห้องเรียนของตัวเอง จัดการกับปัญหาของตัวเอง รวมถึงมีความสัมพันธ์กับเชื่อมโยงบทบาทของครู แล้วเราจะเห็นว่าคุณลักษณะสำคัญของครู คือการมีภาวะผู้นำในตัวครู ซึ่งหนังจะเป็นบทสรุปของเนื้อหาสำหรับวันนี้ คือเรื่องบทบาทความเป็นผู้นำและภาวะความเป็นผู้นำที่อยู่ในตัวครู ซึ่งมาสอดคล้องกับการทำหน้าที่พี่เลี้ยงของผู้เข้าร่วมทุกคนนั่นเอง
กิจกรรม World caféเป็นรูปแบบหนึ่งของการประชุมแบบมีส่วนร่วมเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม
ในการแสดงความเห็นและการระดมความคิดเห็น เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อให้ทบทวนสิ่งที่ผ่านมา และสามารถนไปใช้เป็นเครื่องมือระดมความเห็น กระบวนการในการประชุมกับเด็กและเยาวชน ทำให้ประหยัดเวลาและได้ความคิดเห็นได้หลากหลาย “เรานำมาใช้เพื่อผู้เข้าร่วมได้ระดมความคิดเห็นด้านการทำงานกับเด็กและเยาวชน ทำให้รู้ว่าเขาได้ทำเรื่องงานเยาวชนในด้านใดบ้าง และมีบทบาทอย่างไร และก็รวมถึง “พี่เลี้ยงควรมีคุณลักษณะอะไร” ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ออกแบบ เพื่อให้เขาช่วยกันต่อยอดว่าน่าจะเป็นอย่างไรบ้างจากโจทย์ที่เราให้ไว้ จากนั้นถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของเขา ซึ่งกิจกรรมนี้นำมาเป็นกรอบให้เขาได้ทำกิจกรรมประเมินตัวเองด้วย (กิจกรรมประเมินแบบเสริมพลัง)
สำหรับกิจกรรมนี้จะใช้สำหรับการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของเขา และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกเรื่องทุกประเด็น ทำให้การพูดคุยสนุก การที่เราให้เขาทำกลุ่มเดียวใน 8 ประเด็นจะเป็นเรื่องน่าเบื่อและทำให้เขาคิดไม่ออก แต่พอมีการเคลื่อนแบบนี้ (ทั้งกลุ่มย้ายไประมความคิดเห็นทีละประเด็นจนครบ)ทำให้สนุก และได้เห็นการเติมมุมมองของตัวเองจากมุมมองของคนอื่น เป็นการต่อยอดความคิดซึ่งกันและกัน ทำให้เขาสนุกที่จะคิดด้วย เป็นวงวิชาการที่ไม่เครียดเหมือนกับเล่นสนุกแต่ได้เรียนรู้อะไรเยอะ”
กิจกรรมประเมินแบบเสริมพลัง ต่อเนื่องมาจากกิจกรรม World Café การทำงานทั้ง 8 ด้านที่ผู้เข้าร่วมได้ระดมความคิดเห็นกันออกมา กลายมาเป็นเครื่องมือการประเมินตัวของผู้เข้าร่วมเอง เพราะผู้เข้าร่วมเป็นผู้กำหนดเองว่าลักษณะของพี่เลี้ยงที่ดีต้องเป็นแบบใด และเป็นกิจกรรมเพื่อเป็นการทบทวนการทำงานของตนเองด้านเด็กและเยาวชน เพื่อจะพัฒนาและเดินหน้าในงานด้านนี้ต่อ “เราจึงนำการระดมความคิดของผู้เข้าร่วมทั้ง 8 ด้าน มาให้พวกเขาได้ประเมินตัวเอง ว่าที่ผ่านมาพวกเขาทำได้ขนาดไหน เป็นการประเมินแบบเสริมพลังหรือการประเมินแบบมีส่วนร่วม โดยตัวชี้วัดจริงๆ เขาเป็นตัวกำหนดไม่ใช่เรา สำหรับกิจกรรมประเมินนี้สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง จะประเมินเรื่องสุขภาวะก็ได้ ทั้งสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางจิตใจ สุขภาวะทางปัญญา ทำได้หมด แต่คนทำต้องมีเนื้อหาเป็นแบคกราวด์ คือมีฐานคิด มีทฤษฎีที่รองรับ”
จรายุทธ ย้ำว่า “ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานเยาวชนได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในบทบาทใด ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทของผู้บริหารในท้องถิ่น ครู พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือว่าผู้นำชุมชน ด้วยการเสียสละเวลาบางส่วน ที่จะมาเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็ก หรือเปิดพื้นที่ให้คนที่เขามีความตั้งใจมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อเยาวชน ได้มาทำงานกันเพื่อเยาวชน หรือจะสนับสนุนในแง่ของการใช้ทรัพยากร หรือใช้ทรัพยากรขององค์กรที่มีอยู่ เป้าหมายก็เพื่อให้เยาวชนได้มีพื้นที่ในการทำงานและเกิดความคิดสร้างสรรค์ สุดท้ายแล้วเด็กๆก็จะได้พัฒนาภาวะผู้นำเกิดขึ้นในตัวเขาเอง เพราะว่าเขามีพื้นที่ได้ใช้ศักยภาพและทุกคนในองค์กร ในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลเยาวชนด้วยกัน”
ท้ายสุดสำหรับผู้ที่อยากเป็น “พี่เลี้ยง” แต่ไม่ได้มีโอกาสเข้าอบรมที่ไหนเลย จรายุทธ ก็มีข้อแนะนำแบบง่ายๆ ให้เป็นพี่เลี้ยงขั้นเริ่มต้นว่า “อยากเป็นพี่เลี้ยงก็ลองให้ฝึกตัวเองแบบง่ายๆ โดยมีหลักง่ายๆ คือการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้พูดและแสดงความคิดเห็น เช่น เวลาประชุมกัน ลองฟังและสนับสนุนเกื้อกูลให้เด็กได้พูดได้แสดงออกเต็มที่ก่อน ให้ลดการแนะนำ ลดการสอนลง” กระบวนกรกล่าวตบท้าย
ตลอดระยะเวลาสามวัน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคน ที่มีโอกาสดีที่ได้มาเติมเต็มความรู้ ทักษะและทัศนคติใหม่ๆ ในการพัฒนาเยาวชนในทิศทางการเรียนรู้แบบใหม่ การกลับไปทำหน้าที่ “พี่เลี้ยงเยาวชน” ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังกาย พลังใจ จะทำให้พวกเขาเหล่านี้สามารถนำสิ่งที่ได้ในเวทีครั้งนี้ ไปประยุกต์ใช้กับงานที่ตนเองทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ถ้าผู้ใหญ่ทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็กสามารถทำหน้าที่ “พี่เลี้ยงเยาวชน” ได้อย่างเข้าใจเรื่องการพัฒนาเด็ก เยาวชนอย่างถูกต้อง เชื่อมั่นว่าด้วยสองมือของทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน “บ่มเพาะ” เด็ก เยาวชน จะก่อให้เกิดความงอกงาม บานสะพรั่งทั่วทั้งแผ่นดิน เมื่อนั้นประเทศไทยในอนาคตย่อมสดใสแน่นอน
……………………………………………………….
เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมการอบรม สิ่งที่ได้เรียนรู้ และประโยชน์ที่จะนำไปสานต่อ...
อำนาจ เฉียดแก้ว ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบต.บางจะเกร็ง “แนวทางที่อยากจะกลับไปทำคือ อยากทำให้ทุกภาคส่วน ผู้ใหญ่ในชุมชนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็ก และอยากให้เด็กเห็นความสำคัญ