Special of Art…สกัดกั้นยาเสพติด

สถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันที่ซื้อง่ายขายคล่องนับวันจะแพร่ระบาดสู่เด็กและเยาวชนมากขึ้น ดุษฎียา สถิรวณิชย์“แนน” ในฐานะคณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนแจ้งวิทยา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา รับรู้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง




“เพื่อนบางคนตกเป็นทาสยาเสพติด และเกรงว่า “ยาร้าย” จะเล็ดลอดเข้ามาในรั้วโรงเรียน”

แนนจึงตัดสินใจตั้งกลุ่ม Special of Art พร้อมกับชักชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียนซึ่งประกอบด้วย ณิชากร มุนีอภิบาล หรือ “อิ๋ว” ชาลิสา จิรนนทพงษ์ หรือ “แจม” รัชนีกร แซ่ลิ้ม หรือ “แพท” และพงศธร คงดี หรือ “กอล์ฟ” ทำโครงการเยาวชนคนสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียน

เพื่อนช่วยเพื่อน...พี่ช่วยน้อง

แนนในฐานะหัวหน้าโครงการเล่าว่า ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถือเป็นชั้นสูงสุด และเป็นประธานนักเรียนด้วยมองเห็นว่ายาเสพติดเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของโรงเรียน เพราะเพื่อนหรือน้องบางคนไม่เพียงแค่ลักลอบเสพยาในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังกลับไปเสพในชุมชนอีกด้วย พอครูทราบก็จะมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ตั้งแต่คาดโทษ พักการเรียน ไปจนถึงไล่ออก ซึ่งเธอมองว่าจะส่งผลกระทบต่ออนาคตในระยะยาวของเพื่อนและน้องๆ ทั้งยังสะเทือนไปถึงสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว รวมถึงสถาบันสังคม เห็นว่าวิธีการของครูไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาที่ดี

“ถ้าเพื่อนหรือน้องติดยา แล้วครูเข้าไปตักเตือน ติเตียน ทำโทษ แทนที่เพื่อนหรือน้องจะคิดได้ กลับจะยิ่งทวีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น อยากท้าทาย อยากประชด หรือบางรายถูกไล่ออกจากโรงเรียนไปแล้ว ก็ยังกลับมาชวนเพื่อนในโรงเรียนให้ไปเสพยาด้วยกันแต่หากเราใช้ความเป็นเพื่อนเป็นพี่เข้าไปพูดคุย เข้าไปชักชวนให้เขาร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์ คอยติดตามให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ เขาจะค่อยๆ ห่างจากยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเลิกได้ในที่สุด” แนนให้ความเห็นอย่างเข้าใจในอารมณ์ของวัยรุ่น





“หากเราใช้ความเป็นเพื่อนเป็นพี่เข้าไปพูดคุย เข้าไปชักชวนให้เขาร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์ คอยติดตามให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ เขาจะค่อยๆ ห่างจากยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเลิกได้ในที่สุด”

ประกอบกับหน้าที่ของคณะกรรมการนักเรียน ที่แนนต้องคอยตรวจกระเป๋านักเรียนทุกคนในช่วงเช้าก่อนเข้าห้องเรียนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน แม้จะเป็นการสุ่มตรวจโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะตรวจวันไหน ทำให้แนนเห็นรูปแบบการซุกซ่อนที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ก็เจอสารเสพติดเกือบทุกครั้ง จึงนำมาหารือกันในกลุ่ม และวางแผนจัดกิจกรรมค่ายอบรมให้กลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนรู้เท่าทันยาเสพติด โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 ช่วงชั้น คือเด็กเล็ก ตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ป.3 เด็กกลางตั้งแต่ชั้น ป.4 - ป.6 และเด็กโตคือชั้น ม.1 - ม.3 เนื่องจากโรงเรียนแจ้งวิทยาเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนมากกว่า 3,000 คน

ยาเสพติด...แก้ไม่ได้ในครั้งเดียว

แนนเล่าต่อว่า เมื่อคิดจะทำค่าย เธอและเพื่อนๆ จึงเริ่มวางแผนจัดกิจกรรม โดยแบ่งการอบรมเป็น 3 วัน เริ่มจากแนะนำให้รู้จักแกนนำหลัก 5 คน พร้อมกับชี้แจงหน้าที่ว่าแต่ละคนทำอะไรบ้าง วันรุ่งขึ้นจึงอบรมให้ความรู้เรื่องยาเสพติด โดยช่วงเช้านิมนต์พระมาให้ความรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม สอดแทรกในกิจกรรมเพราะเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ จากนั้นจึงให้ความรู้เรื่องยาเสพติด

โดยก่อนหน้านี้แกนนำทั้ง 5 คน ได้เชิญวิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 มาให้ความรู้กับคณะกรรมการนักเรียนรวมถึงหัวหน้าห้องทุกชั้นเรียน แล้วช่วยกันนำความรู้ทั้งหมดมาประมวลนำเสนอในรูปแบบพาวเวอร์พอยต์ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้



วันสุดท้ายเป็นการทำกิจกรรมสันทนาการคลายเครียด หลังปิดการอบรมแล้วแกนนำและสภานักเรียน จำนวน 46 คน ร่วมกันลงพื้นที่รอบโรงเรียนเพื่อสำรวจจุดเสี่ยง และสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เด็กที่เสพยาเสพติดส่วนใหญ่มักจะติดเกมด้วย เมื่อกลับจากโรงเรียนก็จะขลุกอยู่ตามร้านเกม ไม่ช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน ซ้ำเมื่อมาโรงเรียนก็ไม่ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ

“การแก้ปัญหายาเสพติด คงไม่สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แค่ครั้งเดียวแล้วได้ผล แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พวกเราจึงให้ความรู้เรื่องยาเสพติดหน้าเสาธงทุกวัน พอถึงช่วงพักเที่ยงก็เดินตรวจตามห้องน้ำทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เพราะถือเป็นจุดเสี่ยงที่นักเรียนมักจะใช้เป็นสถานที่หลบมาเสพยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ได้ปรึกษากับอาจารย์ขอใช้ช่วงเวลาเรียนในบางวันทำกิจกรรมอบรมเรื่องยาเสพติด ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี ทำให้สามารถจัดกิจกรรมอบรมได้ทุกเดือน” แนนอธิบาย


แทรก “สาระยาเสพติด” ในทุกสื่อของโรงเรียน

และเพื่อให้การสื่อสารสาระยาเสพติดเข้าถึงเพื่อนๆ ในโรงเรียนอย่างแท้จริง แนนและทีมงานจึงนำ “สื่อ” ทุกชนิดที่มีอยู่ในโรงเรียนมาใช้ หวัง “กระตุ้นจิตสำนึก” ของนักเรียนให้ห่างไกลจากยาเสพติด เช่น เสียงตามสาย อย.น้อย ที่เปิดทุกเช้าก่อนเข้าเรียนและช่วงพักเที่ยง ซึ่งแต่เดิมสื่อนี้โรงเรียนเองก็ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน เพียงใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างของโรงเรียนและให้สาระบันเทิงทั่วไปเท่านั้น แต่เมื่อมีโครงการเยาวชนคนสร้างสรรค์เกิดขึ้นจึงมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของเสียงตามสายใหม่ให้เป็นเรื่องของยาเสพติดทั้งหมด ส่วนสื่ออื่นๆ อาทิ มโนราห์ วงดนตรีโรงเรียน หนังตะลุงคน ก็พยายามสอดแทรกเนื้อหาเรื่องพิษภัยของยาเสพติดเข้าไปด้วยทุกครั้งที่มีการแสดง



“แนนและทีมงานจึงนำ “สื่อ” ทุกชนิดที่มีอยู่ในโรงเรียนมาใช้ หวัง “กระตุ้นจิตสำนึก” ของนักเรียนให้ห่างไกลจากยาเสพติด”

ณิชากร มุนีอภิบาล หรือ “อิ๋ว” หนึ่งในแกนนำหลักบอกว่า การสื่อสารกับวัยรุ่นจำเป็นต้องใช้สื่อทุกอย่างที่มีอยู่ ลำพังการจัดบอร์ดนิทรรศการหรือการอบรมให้ความรู้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ให้ความสนใจน้อย แต่เมื่อนักดนตรีของโรงเรียนนำเรื่องยาเสพติดไปพูดคุยระหว่างหยุดพักการแสดงบนเวที หรือนักแสดงมโนราห์ คนเล่นหนังตะลุง นำปัญหาเรื่องยาเสพติดไปเป็นเนื้อหาในการร้องและแสดงโชว์ จะมีเสียงกรี๊ด เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง...เป็นกระแสตอบรับจากวัยรุ่นอย่างล้นหลาม จึงถือว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากและโดนใจกว่า




ผลจากการทำงานแม้จะไม่สามารถขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากโรงเรียนได้ แต่พวกเราก็มีส่วนช่วยคลี่คลายปัญหาได้ในระดับหนึ่ง สังเกตได้จากการตรวจกระเป๋านักเรียนช่วงหลังๆ จะพบการซุกซ่อนยาเสพติดมาโรงเรียนน้อยลง และยังช่วยเพื่อนรายหนึ่งให้เลิกเสพยา เลิกสูบบุหรี่ได้ พวกเราสังเกตเห็นว่าเพื่อนคนนี้มีรูปร่างสูงใหญ่น่าจะเล่นกีฬาได้ดี จึงชักชวนเขาให้เข้ามาเล่นกีฬาโรงเรียนทั้งวอลเลย์บอลและฟุตบอลจนเขาเลิกได้ในที่สุด

“ตอนแรกเพื่อนก็ไม่ชอบ แต่ครูพละและพวกเราร่วมมือกันเข้ามาช่วยดูแลเพื่อนคนนี้อย่างใกล้ชิด ช่วงฝึกซ้อมก็ดึงเขามาเข้าค่ายกินนอนที่โรงเรียนเพื่อเก็บตัว จนเพื่อนเริ่มสนุกกับการเล่นกีฬาฟุตบอล ได้พบสังคมใหม่ที่ห่างไกลจากยาเสพติด ไม่จมจ่อมกับสภาพเดิมๆ ที่เลิกเรียนกลับบ้านแล้วเจอพ่อแม่ติดเหล้า ทำให้เขาต้องหันเข้าหาสิ่งเสพติดด้วย และผลจากการมุ่งมั่นเล่นกีฬาฟุตบอล ก็ทำให้เขากลายเป็นนักฟุตบอลที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน” อิ๋วเล่าด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความภาคภูมิใจ

วางแผนดี...ช่วยลดภาระงาน

ดูเหมือนว่าการทำโครงการของกลุ่ม Special of Art จะราบรื่น เพราะได้รับความร่วมมือจากครูอาจารย์ในโรงเรียนเป็นอย่างดี แต่เมื่อสอบถามในเชิงลึกเด็กๆ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ปัญหา” จากการทำยังมีอยู่แม้จะเริ่มต้นจากปัญหาจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อสะสะนานวันเข้าก็กลายเป็นความขัดแย้งกันในกลุ่ม เช่น ความคิดเห็นไม่ตรงกัน การแบ่งงานไม่เสมอภาค บางคนได้ทำงานมากบางคนได้ทำน้อย แต่ละคนไม่ค่อยมีเวลาว่าง ต้องสวมหมวกหลายใบ ด้วยความที่แกนนำทุกคนเป็นคณะกรรมการนักเรียน เมื่อมีงานโรงเรียนหรือกิจกรรมการแข่งขันต่างๆ ครูก็จะดึงไปร่วมด้วยเสมอ ทำให้ทั้งกลุ่มรู้สึกเหนื่อยและท้อ

“ด้วยศักยภาพของแกนนำกลุ่ม Special of Art ที่ทุกคนมีเป็น “ทุนเดิม” ในฐานะคณะกรรมการนักเรียนที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนมาโดยตลอด เมื่อต้องมาทำโครงการเยาวชนคนสร้างสรรค์พวกเขาจึงสามารถต่อรองกับอาจารย์หรือผู้บริหารโรงเรียนเรื่องการจัดการกับปัญหายาเสพติดภายในโรงเรียนได้ โดยไม่ยึดติดกับกรอบกติกาของบทลงโทษเดิมๆ ที่โรงเรียนวางไว้”

ดวงแก้ว แกล้วทนงค์ หรือ “พี่กล้วย” พี่เลี้ยงโครงการ เล่าว่าพอเริ่มเห็นอาการของเด็กๆ เราก็ให้คำแนะนำพวกเขาว่าให้สอดแทรกแผนการจัดกิจกรรมไว้ในแผนงานหลักของโรงเรียน เพื่อไม่ให้แต่ละคนรู้สึกว่ามีภาระงานเพิ่มขึ้นจนล้นมือ ทำให้เด็กกลุ่มนี้คิดได้และเกิดความกระตือรือร้นที่จะวางแผนการทำงานอีกครั้ง โดยใช้แผนงานของโรงเรียนเป็นธงนำ จากนั้นก็ค่อยๆ ดูว่าจะสอดแทรกกิจกรรมของโครงการเข้าไปในจุดไหนได้บ้าง อาทิ ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีการแสดงคอนเสิร์ตวงดนตรีของโรงเรียน ก็จัดให้มีการเสริมความรู้เรื่องยาเสพติดเข้าไป ให้นักดนตรีพูดสาระความรู้เพิ่มเติมแทนที่จะเล่นดนตรีเพียงอย่างเดียว หรือช่วงที่โรงเรียนมีกิจกรรมใหญ่ประจำปีจะมีการแสดงหนังตะลุงคนและรำมโนราห์ ก็นำเรื่องราวที่เกี่ยวกับยาเสพติดมาเป็นเนื้อหาในการแสดงหรือบทร้อง เป็นต้น




“กิจกรรมหยุดชะงักไปราว 2 สัปดาห์ ในช่วงกลางโครงการ เพราะเพื่อนในกลุ่มอยากให้บทเรียนแนนที่อาศัยความเป็นหัวหน้าโครงการและประธานนักเรียนใช้อำนาจเผด็จการ ทั้งวางแผน สั่งการ และทำทุกอย่างเองโดยไม่ฟังเสียงเพื่อน และไม่กระจายงานให้เพื่อน ทั้ง 4 คนจึงไปปรึกษาอาจารย์คะนึงนิจ คำใส ที่ปรึกษาโครงการ วาจะไม่มาช่วยทำงานสักระยะหนึ่ง เพื่อให้เวลาแนนทบทวนตัวเอง ซึ่งระหว่างนั้นอาจารย์คะนึงนิจได้เรียกแนนมาคุย พร่อมกับแนะนำให้มองเห็นความสำคัญของเพื่อนร่วมโครงการแต่ละคน แนะนำหลักการทำงานกลุ่ม ที่ต้องฟังเสียงเพื่อน ต้องกระจายงานให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคน ทำให้แนนเริ่มปรับปรุงตัวเอง ขณะที่เพื่อนๆ ก็กลับเข้ามาช่วยงานอย่างกระตือรือร้น” พี่กล้วยเล่าถึงอุปสรรคระหว่างการทำงานของเด็กๆ กลุ่มนี้

ด้วยศักยภาพของแกนนำกลุ่ม Special of Art ที่ทุกคนมีเป็น “ทุนเดิม” อยู่แล้ว ในฐานะคณะกรรมการนักเรียนที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนมาโดยตลอด เมื่อต้องมาทำโครงการเยาวชนคนสร้างสรรค์พวกเขาจึงสามารถต่อรองกับอาจารย์หรือผู้บริหารโรงเรียนเรื่องการจัดการกับปัญหายาเสพติดภายในโรงเรียนได้ โดยไม่ยึดติดกับกรอบกติกาของบทลงโทษเดิมๆ ที่โรงเรียนวางไว้ และผลที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เด็กไม่หมดอนาคตทางการศึกษา ไม่กลายเป็นภาระของครอบครัว ชุมชน และสังคมในระยะยาว




ได้ผลงาน….ได้การเรียนรู้

วันนี้แม้โครงการจะจบลง แกนนำต่างแยกย้ายกันไปศึกษาต่อ แต่สภานักเรียนโรงเรียนแจ้งวิทยา ยังคงใช้แผนปีของโรงเรียนที่ถูกสอดแทรกด้วยแผนกิจกรรมโครงการเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพราะตระหนักดีว่าปัญหายาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น และแผนกิจกรรมที่แทรกไว้ก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มงานเพิ่มภาระ แต่ช่วยให้ทำงานควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน

และนอกจากผลงานที่ฝากไว้กับโรงเรียน แนนในฐานะหัวหน้าทีมบอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอเห็นตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องภาวะความเป็นผู้นำ

“จากเดิมเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมากไม่ฟังเสียงเพื่อนในกลุ่มเลย คิดวางแผน สั่งการตัดสินใจเองทั้งหมด พอสั่งแล้วเพื่อนไม่ทำหรือทำไม่ได้ดั่งใจก็จะลงมือเอง จนรู้สึกเหนื่อยและท้อมาก พอทำโครงการได้ระยะหนึ่งรู้สึกได้ว่าถูกเพื่อนทิ้งจึงเริ่มกลับมามองตัวเอง พยายามปรับปรุงตัวฟังความคิดเห็นของเพื่อนมากขึ้น เริ่มกระจายงานให้เพื่อนอย่างทั่วถึง ทำให้เราเข้าใจเพื่อนมากขึ้น แต่ในฐานะหัวหน้าโครงการเราก็ยังต้องตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายอยู่ดี”

แนนบอกต่อว่าโครงการนี้ทำให้เธอได้พัฒนาความรู้เรื่องยาเสพติด จากที่เคยรู้จักแบบผิวเผิน ก็รู้จักชนิด โทษภัยของยาเสพติดชัดเจนขึ้นทำให้รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่สามารถเข้ามาทำโครงการที่เป็นปัญหาระดับชาติได้ ถึงแม้สิ่งที่ทำจะเป็นเพียงการเริ่มต้นในจุดเล็กๆ ก็ตาม แต่การทำงานครั้งนี้ทำให้เธอมั่นใจมากขึ้นว่าต่อไปนี้ไม่ว่าจะเจองานหนักหนาแค่ไหน เธอก็ต้องทำให้ได้




ขณะที่อิ๋วบอกว่า ผ่านไป 4 เดือนกับการทำโครงการนี้เธอเริ่มใจเย็นลง คิดได้ว่าการทำงานกับเพื่อนต้องพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย

“เมื่อก่อนเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก ถ้าไม่ได้ดั่งใจจะโวยวายทันที เช่น ในช่วงเสนอโครงการ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากจนร้องไห้ โวยวายจะไม่ทำต่อแล้ว แต่พอได้พูดคุยกับเพื่อนกับครูและพี่เลี้ยงโครงการ ก็เริ่มใจเย็นลง พยายามคิดตามโดยใช้เหตุผลกำกับ ขณะเดียวกันก็ฝึกเรื่องการเข้าใจเพื่อน ฝึกภาวะการเป็นผู้นำ ฝึกการทำงาน อะไรที่ทำไม่เป็นไม่รู้ ต้องไม่อายที่จะถาม หรือขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้กล้าแสดงออกเพิ่มขึ้น เมื่อจัดกิจกรรมก็สามารถพูดอธิบายส่งต่อความรู้ให้กับน้องๆ ในโรงเรียนได้การทำโครงการนี้ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเพื่อนๆ น้องๆ ไม่ยุ่งกับยาเสพติด พ่อแม่เขาก็สุขใจ เราจึงพลอยสุขใจตามไปด้วย”

สำหรับแจมแม้จะรับหน้าที่ช่วยเหลืองานทั่วไป แต่สิ่งที่แจมบอกว่า เป็นประโยชน์กับตัวเองมาที่สุดคือได้ฝึกคิดและนำเสนอ

“เมื่อก่อนเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เวลาเพื่อนประชุมหารือกันก็จะคอยรับฟังอย่างเดียว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น กระทั่งทำโครงการได้ระยะหนึ่งเริ่มเรียนรู้ว่าเราต้องหัดคิด หัดแสดงออกภายใต้หลักความเป็นจริงและเหตุผล เนื่องจากแกนนำทุกคนต้องช่วยกันระดมความคิดในทุกขั้นตอนของการทำงาน เมื่อใครนำเสนอขึ้นมาเพื่อนก็จะรับฟัง และนำไปใช้เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจ”

ซึ่งก็คล้ายๆ กับแพทที่เป็นคนขี้อาย ชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับเพื่อน แต่พอผ่านกระบวนการทำงานในโครงการทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า เธอจะนิ่งเฉยเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ถ้าไม่เห็นด้วยหรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปจากกลุ่ม ต้องพูด ต้องอธิบายให้เพื่อนรู้ด้วยเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด




“ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันว่าคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก อย่างเราจะกล้าพูดกล้านำเสนองานได้...คิดว่าคงมาจาก “กระบวนการ” อบรมที่พี่ๆ จากสงขลาฟอรั่มฝึกฝนให้ ทำให้เรากล้าพูดกล้าแสดงออก ป้าหนูพูดเสมอว่าความเห็นของเราไม่มีผิด ไม่มีถูกคิดว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้เรากล้าแสดงความเห็นในกลุ่มมากขึ้น”

และนี่คืออีกหนึ่ง “กระบวนการเรียนรู้” ที่กลุ่ม Special of Art ได้ “เรียนรู้” จากการลงมือปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการตั้งโจทย์ การวางแผนการทำงาน การประสานงาน การคิดทำกิจกรรม การค้นคว้าหาความรู้ การคิดวิเคราะห์ และที่สำคัญคือ “การทำงานเป็นทีม” ที่พวกเขาต้องรู้ตัวตนทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้การทำโครงการของพวกเขาบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด