ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.สงขลา ปี 4
โคชชิ่ง ปี 4 โดยคิดค้นคว้า : การเรียนรู้สู่สำนึกพลเมืองเกิดขึ้นได้อย่างไร

­

การเรียนรู้สู่สำนึกพลเมืองเกิดขึ้นได้อย่างไร

     “วัยรุ่นเป็นวัยสำคัญที่เป็นรอยต่อพัฒนาการไปสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น และจิตสำนึกความเป็นพลเมืองเป็นเรื่องสำคัญของการสร้างคุณภาพประชากรไทย” คือ ฐานคิดและความเชื่อที่สงขลาฟอรั่มใช้ดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลามาโดยตลอด เพราะรู้ว่าวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 14-24 ปี เป็นวัยที่มีอิสระเป็นตัวของตัวเอง เป็นวัยที่เริ่มรับผิดชอบทั้งการเรียน งานบ้าน งานกิจกรรม เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่กล้าเผชิญปัญหาได้เยอะ เป็นช่วงวัยที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์ และการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา พร้อมที่จะเรียนรู้ทั้ง “โลกภายใน” เป็นการค้นหาและสร้างบุคลิกภายในตัวตน และเรียนรู้สังคม “โลกภายนอก” ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ผู้ใหญ่ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่ยังต้องมีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นการเรียนรู้เป้าหมายชีวิต หลักการ อุดมการณ์ ความรับผิดชอบ ชั่วดี และจิตสำนึกของการเสียสละเพื่อส่วนรวม

     ด้วยเหตุนี้สงขลาฟอรั่มจึงตั้งวิสัยทัศน์ (vision) เป็นประทีปส่องทางในการดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาให้การทำงานขององค์กรในจังหวัดสงขลาเป็น “กระบวนการสร้างความร่วมมือในการสร้างพลเมืองเยาวชนให้รู้สิทธิ หน้าที่ สิทธิชุมชน และมีทักษะชีวิตในการอยู่ร่วมกัน โดยใช้พื้นที่เรียนรู้จากสถานการณ์จริงในโลกยุคใหม่” เป็นการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ของจังหวัดสงขลาผ่านการเปิดโอกาสให้เยาวชน “เรียนรู้จากการลงมือทำโครงการ” เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนสังคมที่ตนสังกัดอยู่ ด้วยคาดหวังว่าหากกลุ่มเยาวชนผ่านกระบวนการเหล่านี้จะทำให้กลุ่มเยาวชน “เก่งคิด เก่งงาน เก่งคน” นั่นคือ มีทักษะความรู้ ความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีทักษะสังคม จัดการงานเป็นริเริ่มลงมือทำจนงานสำเร็จ และเป็นพลเมืองตื่นรู้มีส่วนร่วมและทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังที่สังคมไทยต้องการ ดังปรากฎในวิสัยทัศน์และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เพื่อเตรียมคนในสังคมไทยให้มีทักษะในการดำรงชีวิตสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21

     สำหรับกระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาของสงขลาฟอรั่ม ดำเนินการผ่านกลไกการพัฒนาเยาวชนดังนี้

­

อินโฟกลไกการพัฒนาเยาวชนและอินโฟกระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนต้นน้ำ-ปลายน้ำ


     คำถามหลักของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย คือการเรียนรู้ของเยาวชนเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ ตลอดระยะเวลาของการทำงานสนับสนุนเยาวชนมาอย่างยาวนานของสงขลาฟอรั่ม ได้สร้างองค์ความรู้จากการจัดกระบวนการหนุนเสริมเยาวชนจากโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเมื่อนับถึงวันนี้เป็นปีที่ 4 ของการทำหน้าที่ในบทบาทพี่เลี้ยงโครงการของเยาวชน ทีมงานได้สกัดบทเรียนซึ่งเป็น “ความรู้ปฏิบัติ” ที่หน่วยงานต่างๆสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้

­

เชื่อมคน ออกแบบระบบงาน เปิดรับพลเมืองรุ่นใหม่

     กระบวนการทำงานทุกขั้นตอนถูกออกแบบโดยทีมงานซึ่งประกอบด้วย มีนี-นูรอามีนี สาและ ใหม่-มนตกานต์ เพ็ชรฤทธิ์ กช-กรกช มณีสว่าง อุ้ม-กมลา รัตนอุบล และเจาะห์-อาอีเซาะ ดือเราะ โดยมีผู้หนุนเสริมกระบวนคิดอย่างท้าทายจากป้าหนู-อ.พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ที่ทำให้การทำงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีแก่นความคิดเรื่อง “จิตสำนึกพลเมือง” เป็นหัวใจหลักของโครงการ

     สำหรับในปีนี้การค้นหากลุ่มเยาวชนเข้าร่วมโครงการ ยังคงรูปแบบเดิมคือใช้วิธีประชาสัมพันธ์ทั่วไป คู่ขนานกับการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เปิดให้เยาวชนผู้สนใจกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ส่งข้อมูลความต้องการมาที่สงขลาฟอรั่ม นอกจากนี้ทีมสงขลาฟอรั่มยังเน้นการทำงานเชิงรุก สื่อสารกับเครือข่ายที่เคยร่วมงานกับสงขลาฟอรั่ม อาทิ โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และองค์กรเอกชนที่ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนในจังหวัดสงขลา เพื่อกระจายข่าวการรับสมัคร

     เกณฑ์การรับสมัครต้องมีองค์ประกอบเบื้องต้นคือ สมาชิกของกลุ่มต้องอายุอยู่ในเกณฑ์ 14-24 ปี มีสมาชิกครบ 5 คน มีที่ปรึกษาโครงการ การลงมือทำโครงการมีระยะเวลาในการดำเนินงานต่อเนื่อง 4-5 เดือน และที่สำคัญคือโครงการที่ทำต้องเชื่อมโยงกับชุมชน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของโครงการครบ พร้อมรับพลเมืองเยาวชนแต่ละกลุ่ม ทีมงานจะทำใบปะหน้าสรุปบทวิเคราะห์เป้าหมาย จุดแข็ง จุดอ่อนของโครงการส่งให้คณะกรรมการของสงขลาฟอรั่มพิจารณาก่อนในเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการจะช่วยให้ความเห็นใน 3 เรื่องคือ 1. ความสมเหตุสมผลของโครงการ 2. การบริหารจัดการงาน เงิน และ 3. ขั้นตอนการดำเนินงานต้องเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ทั้งหมดนี้จะพิจารณาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

     กระบวนการกลั่นกรองจากมุมมองหลากมิติ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทีมงานสงขลาฟอรั่มใช้เจียระไนโครงการ ด้วยสงขลาฟอรั่มมีคณะกรรมการผู้มีประสบการณ์ วิชาการ วิชาชีวิตจากหลายสาขาอาชีพมาช่วยตั้งคำถามสร้างความชัดเจนในตัวโครงการของเยาวชน ซึ่งการให้ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการจะอยู่บนพื้นฐานงานที่กลุ่มเยาวชนสนใจ โดยไม่ตัดทอนสิ่งที่เยาวชนคิดทำ แต่จะพิจารณาว่าต้องเติมเต็มอย่างไร เพื่อให้เชื่อมโยงกับความเติบโตในสำนึกพลเมืองของเยาวชนแต่ละคน

     แม้คณะกรรมการจะมีหลากหลายสาขา ทั้งเครือข่ายคนทำงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ครู อาจารย์ ผู้รู้ในชุมชน เป็นพลเมืองผู้ใหญ่ที่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ “การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพสู่สังคม” การพิจารณากลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติจึงเป็นบรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกัน มีการให้ข้อคิดเห็นเติมเต็มอย่างมีเมตตา ไม่ใช่บรรยากาศของการตัดสินว่าได้หรือไม่ได้ ขณะที่คณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะ ทีมงานแต่ละคนจะบันทึกความคิดเห็นรายโครงการ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการลงพื้นที่พัฒนาโครงการของเยาวชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

     ตัวอย่างการให้ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ เช่น โครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน คณะกรรมการได้ให้ข้อคิดต่อการทำงานของโครงการ เช่น ให้ทีมงาน ศึกษาเพิ่มเติมตัวอย่างการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ครูตู้) เพื่อให้ทีมงานมีข้อมูลความรู้ก่อนการทำงานจริง พร้อมกับตั้งคำถามเชื่อมโยงให้คิดว่า กิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่เยาวชนออกแบบไว้จะสร้างการเรียนรู้ให้แก่ทีมได้อย่างไร พื้นที่ทำงานของเยาวชนไม่ควรไกลจากมหาวิทยาลัย ควรมีการวัดผลสัมฤทธิ์ของการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ และควรพิจารณาถึงความยั่งยืนของโครงการหลังสิ้นสุดการดำเนินงาน เป็นต้น

     ภาพรวมข้อเสนอแนะของคณะกรรมการส่วนใหญ่จะเสริมมุมมองการทำงานทั้งเนื้อหาเชิงประเด็น และกระบวนการ ที่สำคัญกระบวนการพัฒนาโครงการ เสนอให้ทีมงานสงขลาฟอรั่มมุ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนได้มีการพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดการรับฟังกันและกัน เคารพความคิดเห็นของกันและกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำงานเป็นทีมอันเป็นทักษะชีวิตข้อหนึ่งที่โครงการมุ่งหมายให้เกิดขึ้น

     การมีคณะกรรมการช่วยชี้ให้เห็นช่องทางกระบวนการพัฒนาการทำโครงการเยาวชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังกล่าว ช่วยปิดจุดอ่อนการทำงานของเยาวชนในลักษณะโครงการที่มักจะสิ้นสุดตามกรอบเวลา อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มให้ทีมงานสงขลาฟอรั่มมีแนวทางที่ชัดเจนในการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชน เป็นการกระตุ้นให้ทีมงานแต่ละคนได้ศึกษาหาความรู้ในประเด็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการของกลุ่มเยาวชน ถือเป็นการเตรียมตัวก่อนการลงพื้นที่จริง

     โดยก่อนจะลงพื้นที่ไปพบกับกลุ่มเยาวชนแต่ละโครงการ ทีมงานจะประชุมร่วมกับป้าหนูเพื่อหารือแนวทางการปรับโครงการร่วมกัน

     “ป้าหนูเรียกพวกเราคุยว่า เราจะมีการปรับโครงการอย่างไร เพื่อให้โครงการของน้องไปสู่ความเป็นพลเมือง ให้วิเคราะห์ทั้งก่อนและหลังทำโครงการ และให้พวกเราสืบค้นข้อมูลคำว่า หน้าที่พลเมืองคืออะไร ทักษะชีวิตคืออะไร เมื่อลงพื้นที่จะได้มีความรู้ติดตัวติดตัวไปด้วย” กชเล่า 


คำถามเชื่อมโยงสำนึกพลเมือง คือการเรียนรู้ช่วงต้นน้ำ

     แม้จะเป็นการค้นหากลุ่มเยาวชนเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาทำโครงการเหมือนโครงการทั่วไป แต่มีรายละเอียดแฝงไว้ให้เกิดการเรียนรู้ในทุกจังหวะ โดยเป้าหมายการพัฒนาเยาวชนจะเน้นไปที่ “ทักษะชีวิต 5 ด้าน” คือ 1. กระบวนการคิดและการตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ 2. ความเข้าใจตนเองและผู้อื่น 3. การจัดการทางอารมณ์และความเครียด 4. การสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร 5. ความรับผิดชอบต่อสังคม และ “จิตสำนึกพลเมือง” ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่อยู่ในใจทีมงานทุกคน เพื่อที่จะตั้งคำถามกระตุ้นคิด เชื่อมโยง ให้กลุ่มเยาวชนทบทวน และเห็นมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในโครงการของตน ดังนั้นทีมงานพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มต้องกระจ่างชัดในเป้าหมายการพัฒนาเยาวชน และ เข้าใจว่า “การเรียนรู้” ของเยาวชนจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ระหว่างการลงมือทำโครงการ ด้วยถูกท้าทายจากคำถามจากป้าหนูว่า “แต่ละกิจกรรมในโครงการของกลุ่มเยาวชนจะทำให้เยาวชนเกิดสำนึกพลเมืองอย่างไร” 

     “มันย้อนแย้งกับตัวเองว่า น้องยังไม่ได้ทำงานเลย แล้วมันจะเกิดสำนึกพลเมืองได้อย่างไร ซึ่งพอคิดแบบนี้ทำให้เราไม่มั่นใจที่จะตั้งคำถามกับน้อง แต่พอหลังๆ เข้าใจว่า เราถามคำถามนี้ไปเพื่อให้น้องได้รู้จักคำว่าพลเมืองก่อนในเบื้องต้น เลยลองชวนน้องคิดไปก่อนว่า แต่ละกิจกรรมที่น้องทำจะเกิดสำนึกพลเมืองอย่างไรบ้าง ชวนน้องตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ไปก่อนเลย” กช สารภาพถึงความรู้สึกค้านในใจในตอนแรก


      คำถามกระตุกคิดของป้าหนูครั้งนี้ชวนให้ทีมงานวิเคราะห์โครงการของเยาวชนละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อเจียระไนให้เห็นมิติของสำนึกพลเมือง เพราะที่ผ่านมาคำถามนี้มักจะถูกถามในช่วงกลางๆ หรือท้ายๆ การถอดบทเรียนทำงานของโครงการของกลุ่มเยาวชน

      โดยมีนี เสริมว่า การที่เยาวชนไม่เคยมีความรู้เรื่องพลเมืองมาก่อน ไม่เคยถูกปูพื้นฐานในเรื่องนี้มาก่อน การจะไปถามตรงๆ เป็นเรื่องยาก ดังนั้นเทคนิคในการชวนคิดจึงต้องใช้คำถามที่เชื่อมโยงกับเนื้องานในขณะนั้น เช่น กิจกรรมนี้เราต้องทำกับใครบ้าง น้องตอบว่า ก็มีชาวบ้าน เขา เพื่อน แล้วเราก็ถามต่อว่า ทำงานแบบนี้ยากไหม เพราะมีคนมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง น้องก็บอกว่า มันต้องยากแน่ๆ เพราะมีหลายความคิด ต้องขัดแย้งกันแน่นอน เราก็ถามเขาต่อว่า แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ขัดแย้งกัน เขาก็จะบอกว่าก็ต้องฟังกันสิ ไม่เช่นนั้นงานก็ไม่สำเร็จ เราก็จะสามารถเชื่อมให้น้องเห็นความเป็นพลเมืองเรื่องเคารพความคิดเห็นของกันและกัน

      เหตุผลเบื้องหลังความคิดของการงัดคำถามสำคัญมากระตุ้นทีมงานนั้น ป้าหนูบอกว่า เราทำเรื่องกระบวนการสร้างพลเมือง ถ้าทีมงานไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องนี้มันดูแย่มาก ป้าหนูพูดเสมอว่า พี่เลี้ยงต้องก้าวนำน้อง 3-5 ก้าว เพราะฉะนั้นพี่เลี้ยงต้องเข้าใจเนื้องานของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก 

“ที่ต้องเสริมความรู้เรื่องนี้ก่อน เพราะวิถีชีวิตเขาไม่ได้เป็นเหมือนป้าหนูที่เริ่มการทำงานก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เป็นคนที่อยู่ในเส้นทางนี้มาตลอดชีวิต แต่พวกน้องๆ เขาไม่ใช่ เขาเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน จึงต้องบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจเรื่องพลเมืองให้เข้มข้น เป้าหมายงานของเราคือการพัฒนาให้เด็กมีสำนึกพลเมือง ถ้าเราไม่คลี่รายละเอียด ไม่เชื่อมโยงให้เด็กเห็น มันก็ไม่ต่างจากการทำโครงการอื่นที่ทำแล้วจบ แต่ถ้าเราเชื่อมให้เขาเห็นว่างานที่เขาทำมันเป็นสำนึกพลเมืองอย่างไรตั้งแต่ตอนแรก เหมือนเรา “ฝังชิปความเป็นพลเมือง” ให้ติดอยู่ในเนื้อในตัวเขา”

­

     มีนี เสริมต่อว่า ป้าหนูบอกพวกเราว่า จริงๆ แล้วการทำงานโครงการของกลุ่มเยาวชนสามารถเล่นเรื่อง “สำนึกพลเมือง” ได้ในทุกขั้นตอนการทำงาน แม้กระทั่งการประชาสัมพันธ์ชวนเพื่อนเข้าร่วมโครงการก็เป็นสำนึกพลเมืองเช่นกัน การที่เราไม่ได้ไปบังคับเพื่อนคือ การเคารพสิทธิของเพื่อน เป็นสำนึกพลเมืองที่เคารพความเท่าเทียม ไม่กีดกัน ไม่ยัดเยียด เลยนำมาสู่ความคิดที่ว่า เราต้องมีกระบวนการทำงานที่พาให้กลุ่มเยาวชนได้ย้อนคิดเรื่องสำนึกพลเมืองอยู่ตลอดเวลา

     การถูกกระตุ้นตั้งแต่ต้นใช่ว่าจะมีผลต่อการปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนเท่านั้น ทีมงานทุกคนก็ถูกกระตุกให้ต้องคิด วิเคราะห์ถึงเหลี่ยมมุมโครงการของกลุ่มเยาวชน เพื่อที่จะได้หาช่องทางที่จะชี้แนะให้เยาวชนได้เห็นมิติของความเป็นพลเมือง เมื่อได้คิดวิเคราะห์ ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันในทีมยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจ และมั่นใจในประเด็นเรื่อง “สำนึกพลเมือง” อันเป็นหัวใจของการทำงานอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ทีมงานจะต้องแม่นก่อนที่จะไปสร้างการเรียนรู้เพื่อชวนกลุ่มเยาวชนพัฒนาโครงการจึงประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการรายโครงการ และการเรียนรู้เรื่องจิตสำนึกพลเมือง


ลงสนามสร้างการเรียนรู้ จากกระบวนการพัฒนาโครงการ

     เมื่อได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการแล้ว ทีมงานจะต้องลงพื้นที่เพื่อนำข้อเสนอของคณะกรรมการไปสร้างการเรียนรู้ชวนกลุ่มเยาวชนปรับแก้โครงการ เนื้อหาเชิงประเด็นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทีมงานต้องเตรียมค้นคว้าข้อมูล ความรู้ในแต่ละประเด็นที่กลุ่มเยาวชนทำ ถือเป็นบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบส่วนตัวของทีมงานแต่ละคน

     สำหรับกระบวนการพัฒนาโครงการ ทีมงานนำกระบวนการที่ได้ร่ำเรียนมาจากการอบรมการเป็น “กระบวนกร” ซึ่งต้องใช้ทักษะการฟัง การจับประเด็นอย่างมีสติรู้ตัว การตั้งคำถาม การออกแบบการเรียนรู้ การสรุปบทเรียน และเวทีการประเมินเสริมพลัง (Empowerment Evaluation) ซึ่งใช้ในการระดมความคิด รับฟังเหตุ-ผล ในการประเมินตนเอง สำรวจจุดแข็ง-จุดอ่อน และสรุปผลพัฒนาการทำงาน รวมทั้งเครื่องมือ 5 ห่วง ซึ่งเป็นกรอบคำถามที่พัฒนามาจากการเขียนสตอรี่บอร์ด มาประมวลใช้จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้กลุ่มเยาวชนเกิดความชัดเจนในตัวโครงการที่จะทำ

     มีนี บอกล่า สำหรับกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มใหม่ จะเริ่มกระบวนการด้วยการเช็คอินเพื่อเตรียมความพร้อม เช็คความรู้สึก ความคาดหวัง แล้วจึงชี้แจงเป้าหมายโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา จากนั้นจึงชวนน้องคุยถึงสิ่งที่อยากทำ แล้วซักถามให้เกิดความชัดเจนถึงเป้าหมายของงาน เช่น ทำไมถึงทำเรื่องนี้ ถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร ส่วนเยาวชนกลุ่มเก่าที่ต้องการต่อยอดการทำงาน การชวนคุยเน้นไปที่ การทบทวนตนเองคล้ายๆ การประเมินเสริมพลัง เพื่อให้เยาวชนได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อน ความสำเร็จ สิ่งที่ต้องปรับปรุง และทุนทางสังคมที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายการทำงานในปีต่อไป

     เมื่อผ่านการพูดคุยหรือทบทวนในช่วงต้นแล้ว จึงให้กลุ่มเยาวชนนำข้อมูลจากการพูดคุยมาใส่กล่องคำถามในเครื่องมือ 5 ห่วง ซึ่งจะประกอบด้วยคำถาม สถานการณ์หรือปัญหาคืออะไร (ปัญหา) สาเหตุเพราะอะไร (สาเหตุ) ถ้าเราไม่แก้ไขจะเป็นอย่างไร (ผลกระทบ) ถ้าแก้จะแก้อย่างไร (ไอเดีย) และเมื่อใช้วิธีแก้ปัญหานั้นๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น (ภาพฝัน) กรอบคำถาม 5 ห่วง จึงเป็นชุดคำถามที่ไล่เรียงความคิด ช่วยจัดระบบความคิดของเยาวชนให้เกิดความชัดเจนในสิ่งที่ตนเองจะทำ เมื่อกลุ่มเยาวชนเติมเต็มเนื้อหา 5 ห่วงได้แล้วจึงสอดแทรกข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ และชวนคิดวิเคราะห์เรื่องของทักษะชีวิตและจิตสำนึกพลเมืองที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงของกิจกรรมที่ได้ออกแบบไว้ 

      “หลังจากเข้ากระบวนการนี้แล้ว น้องๆ จะชัดเจนในเป้าหมายของตนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน ตอนแรกที่น้องเขียนมาคือ แค่ช่วยเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เมื่อได้ผ่านกระบวนการคิดทำให้น้องได้เรียนรู้ว่า การที่เขาจะสอนเด็กได้ เขาก็ต้องเรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณความเป็นครูก่อน และในการทำงานก็ต้องมีการประเมินผลก่อนทำและหลังทำ โดยมีการเพิ่มเติมเรื่องการสร้างแกนนำนักเรียนในโรงเรียน เพื่อสานต่อกิจกรรมให้เกิดความยั่งยืน” กช เล่า

    อุ้ม เสริมต่อว่า กระบวนการนี้เป็นการชวนให้น้องคิดว่า แต่ละกิจกรรมที่น้องทำมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น การลงพื้นที่ศึกษาชุมชนกับคนอื่นเราจะทำอย่างไร อาจจะเริ่มต้นจากการวางแผนลงชุมชน ติดต่อผู้รู้ประสานงาน ทำให้ทั้งน้องเห็นว่า เรื่องง่ายๆ แบบนี้มันมีความเป็นพลเมืองแทรกอยู่ตลอดเวลา

     “กลุ่มที่ใหม่ดูแล เช่น กลุ่มขยะเป็นบุญ ก็โดนตั้งคำถามจากป้าหนูเหมือนกันว่า โครงการนี้มีความเป็นพลเมืองอยู่ตรงไหน อย่างไร ทำให้เราในฐานะโคชต้องศึกษาหาความรู้ตั้งแต่แรก เพื่อชวนน้องคุยว่า โครงการนี้ไม่ใช่การเก็บขยะไปขายเอาเงินเข้ามัสยิด แต่ป้าหนูชวนเราคิดต่อว่า เราต้องไปดูไหมว่าที่อื่นมีกระบวนการทำงานเรื่องขยะอย่างไร และมีกิจกรรมอะไรที่มากกว่าการคัดแยกขยะแล้วขยายหรือไม่ ทำอย่างไรที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับขยะจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่สำนึกความเป็นพลเมืองได้ เราต้องลงพื้นที่อย่างมั่นใจว่า เรามีข้อมูลไปแลกเปลี่ยนกับน้องได้ ดังนั้นก่อนลงพื้นที่พี่เลี้ยงทุกคนจะตั้งวงคุย และชวนกันตั้งคำถาม เพื่อให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในการลงไปโคชน้อง ทำให้โครงการขยะเป็นบุญมีกิจกรรมสร้างสรรค์แปลกใหม่จากเดิม”  ใหม่เล่าถึงการเตรียมตัวของพี่เลี้ยง

     มีนี เสริมอีกว่า การปรับโครงการไม่ใช่การบังคับให้เยาวชนต้องปรับตามความคิดเห็นของพี่เลี้ยงหรือคณะกรรมการ แต่เป็นการพูดคุยเพื่อชวนคิดวิเคราะห์ให้ชัดเจนถึงเป้าหมายการทำงาน โครงการเป็นเพียงเครื่องมือให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะชีวิตและสำนึกพลเมือง

     “สิ่งที่พี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มให้ความสำคัญมากที่สุดคือ เราต้องจริงใจกับน้อง การเป็นโคชที่ดีต้องรู้จักโครงการน้องตั้งแต่เริ่ม ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาวิจารณ์งานน้อง เราต้องพยายามรักษาสิ่งที่น้องคิดทำ แล้วค่อยๆ ตกแต่งต่อเติมให้สอดคล้องกับสิ่งที่อยากทำ”  ป้าหนู กล่าวย้ำ

ลงมือทำ สัมผัสจริง คือการเรียนรู้ช่วงกลางน้ำ

     เมื่อถึงเวลาลงมือทำโครงการ กลุ่มเยาวชนจะ “เรียนรู้ด้วยตนเอง” พัฒนาทักษะ และสั่งสมประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติการด้วยตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงคอยประคับประคองให้อยู่ในเส้นทางการเรียนรู้ผ่านการเปิดโอกาส สร้างเงื่อนไข และกระบวนการที่หลากหลาย ดังนี้

  • เรียนรู้เพราะได้คิดเอง ทำเอง

     หลักการทำงานที่ยึดพื้นฐานว่า โจทย์การทำงานของกลุ่มเยาวชนต้องเป็นประเด็นที่เกิดจากความสนใจของเยาวชนเอง แม้ขั้นแรกความอยากอาจมาจากความสนใจของที่ปรึกษาโครงการ ครู หรือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด มีความปรารถนาดีอยากให้เยาวชนได้เรียนรู้ จึงช่วยนำเสนอประเด็น กระทั่งช่วยร่างข้อเสนอโครงการส่งมา แต่ด้วยกระบวนการพัฒนาโครงการของพี่เลี้ยงที่ใช้วิธี “ตั้งคำถาม” เพื่อสร้างการเรียนรู้ถึงสิ่งที่น้องจะทำ ชวนทบทวนทุนทางสังคมในชุมชนที่เป็นพื้นที่ดำเนินงาน ทำให้เยาวชนได้เห็นเหลี่ยมมุมของสถานการณ์บ้านเมือง และประเด็นปัญหาที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง จนมีการเปลี่ยนแปลงโจทย์ที่คิดโดยคนอื่น มาเป็นโจทย์ที่ตนเองสนใจอย่างแท้จริง และ เมื่อต้องทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ ความทุ่มเทที่ใส่ลงไปในเนื้องานจึงเกิดขึ้น

    ระหว่างทางการดำเนินงานโครงการของกลุ่มเยาวชนภายใต้การประคับประคองของทีมงานสงขลาฟอรั่ม และที่ปรึกษาโครงการ กระบวนการสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในโครงการแต่ละโครงการจึงเป็นแบบฝึกหัดความคิดที่ต้องนำมาปฏิบัติจริง 

  • เรียนรู้เพราะมีเป้าหมาย

     เพราะโครงการที่ทำเป็นสิ่งที่เยาวชนอยากรู้ พื้นฐานความรู้สึก “อยาก” จึงเป็นน้ำเลี้ยงความสนใจ การทำโครงการจึงเป็นโอกาสให้ผู้เรียนตั้งเป้าหมายการเรียนรู้และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อต้องลงมือทำจึงมี “ธง” ที่ชัดเจนเป็นเครื่องนำพาให้เกิดการเรียนรู้ทั้งมิติของเนื้องานและพฤติกรรม เมื่อได้ผนวกกับโจทย์ปัญหา สถานการณ์จริง และปฏิบัติการในพื้นที่จริงที่เกิดสถานการณ์นั้นๆ จึงสร้างการเรียนรู้ที่เกิดจาก “ความจริง”

ดังตัวอย่างการเรียนรู้ของเยาวชนทีมโครงการย้อนรอยยามู ที่เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำงานคือ ครูช่วยร่างโครงการให้ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาโครงการของสงขลาฟอรั่ม ทำให้กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสทบทวนสิ่งดีๆ ในชุมชนตนเอง จนกลายเป็นการกระตุ้นให้อยากรู้ว่า ชุมชนยามูของตนเองมีความเป็นมาอย่างไร มีของดีอะไรบ้างในชุมชน ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนประเด็นการทำงานจากเรื่องที่ครูร่างให้ เป็นเรื่องที่พวกเขาสนใจ ซึ่งกลายเป็นแรงขับให้ทีมงานได้ออกแบบการเรียนรู้ชุมชนตนเองอย่างสนุกสนาน ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาสำนึกรักบ้านเกิดที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางของการทำงาน 

  • เรียนรู้เพราะได้คิดเชื่อมโยง คิดวางแผนให้รอบคอบ และจัดการงานจนสำเร็จ

     เมื่อได้ลงมือทำงานที่มีกระบวนการตั้งแต่การคิดโจทย์ ตั้งเป้าหมาย การวางแผน การประสานงาน การลงมือปฏิบัติการ การสรุปบทเรียน วงจรเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ได้คิดวิเคราะห์ สังเกตการณ์สิ่งรอบตัว ทำให้การคิดงานขยายขอบเขตไปมากกว่าโครงการของตนเอง โดยเยาวชนส่วนใหญ่เรียนรู้ว่า สิ่งที่ตนเองทำสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสังคม และสรรพสิ่งในโลกนี้อย่างไร

     ตัวอย่างจาก โครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษที่เริ่มต้นมีเป้าหมายเพียงแค่จะลดปริมาณชานอ้อยในชุมชมที่เมื่อทิ้งลงในลำคลองจะทำให้น้ำเน่าเสีย แต่เมื่อทำงานไประยะหนึ่งจึงคิดเชื่อมโยงได้ว่า ลำคลองสายนี้ไหลลงแม่น้ำสายใหญ่แล้วไหลผ่านชุมชน ลงสู่ทะเลสาบสงขลาอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมือง ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหา ณ จุดนี้ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสายหลักและทะเลสาบในที่สุด แต่แรงที่มีก็น้อยเกินกว่าจะแก้ปัญหาได้ทัน ดังนั้นถ้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลง ลำพังกลุ่มตนเองเพียงกลุ่มเดียวคงไม่ทันกับปริมาณชานอ้อยจำนวนมหาศาล จึงเริ่มจะสร้างเครือข่ายกับเพื่อนชมรมอื่นๆ ในโรงเรียน กลุ่มแม่บ้าน โรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ เพื่อขยายผลนำความรู้เรื่องการทำกระดาษจากชานอ้อยไปเป็นเครื่องมือช่วยกันแก้ปัญหาให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ต่อไป 

  • เรียนรู้เพราะได้แก้ปัญหาระหว่างการทำงาน

     เมื่อลงมือทำจริง เยาวชนจะได้สัมผัสถึงรายละเอียดปลีกย่อยของการทำงาน ที่แน่นอนว่าต้องพ่วงมากับปัญหานานัปการ ทั้งปัญหาที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหางาน การจัดการทั้งตนเองและผู้อื่น และการจัดการเวลาซึ่งเป็นปัญหาร่วมที่กลุ่มเยาวชนทุกกลุ่มต้องฝ่าฟันเพื่อที่จะก้าวข้าม การปรับพฤติกรรมตนเองในเรื่องเวลา จึงเป็นบทเรียนการแก้ปัญหาที่ทุกคนต้องทำ เมื่อปรับแก้ที่ตนเองได้ก็จัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้ กลายเป็นว่า เยาวชนที่ทำโครงการส่วนใหญ่แบ่งเวลาได้ดีขึ้น ตั้งใจเรียนในเวลาเรียนมากขึ้น รับผิดชอบทำการบ้านหรือรายงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะรู้ตัวว่า จะต้องแบ่งเวลาสำหรับการทำกิจกรรม

     นอกจากปัญหาเรื่องการจัดการเวลาซึ่งเป็นปัญหาสามัญของเยาวชนทุกกลุ่มแล้ว กลุ่มเยาวชนแต่ละโครงการก็จะพบปัญหาที่แตกต่างกันไปตามบริบทของงาน และความสัมพันธ์กับผู้คน การได้เผชิญปัญหาจริง ในบริบทการทำงานจริง และได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เยาวชนได้เติบโตทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน

  • เรียนรู้เพราะได้การทำงานเป็นทีม

     การทำงานเป็นทีม เป็นทักษะชีวิตขั้นพื้นฐานที่คนไทยถูกมองว่า อ่อนด้อยมาโดยตลอด ประเทศไทยมีคนที่เก่งเดี่ยวอยู่มากมาย แต่ถ้าต้องทำงานร่วมกันก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จ การทำงานในโครงการนี้สามารถพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้น ตั้งแต่การคัดสรรเพื่อนร่วมทีม การแบ่งบทบาทหน้าที่ และสิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนที่เห็นต่างไปจากตนเอง โดยมีสิ่งที่ยึดโยงความสัมพันธ์ในทีมให้คงอยู่คือ เป้าหมายร่วมที่อยากเห็นโครงการสำเร็จดั่งภาพฝันที่ช่วยกันจินตนาการไว้ ทำให้กลุ่มเยาวชนค่อยๆ เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายของความคิด และเลือกสรรปรับใช้ได้อย่างถูกที่ถูกทาง

     ความสัมพันธ์ในทีมที่ต้องมีการปรับตัวเอง เยาวชนหลายๆ คนรับรู้ด้วยตนเองว่า นิสัยที่เป็นอยู่เหมาะสมกับการทำงานกับเพื่อนๆ หรือไม่อย่างไร บางคนคนเอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ อารมณ์ร้อน ขี้งอน นอนตื่นสาย ก็ต้องปรับจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อทำงานร่วมกับเพื่อน การปรับตัวเปลี่ยนนิสัยทำให้สามารถพยุงความเป็นทีมเอาไว้ได้ เป็นบทเรียนที่ทำให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น อันจะเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมต่อไป

  • เรียนรู้เพราะได้สะท้อนคิดทบทวนตนเองและทีมงาน 

     กระบวนการภาคบังคับที่ทีมงานสงขลาฟอรั่มพยายามจัดขึ้นเพื่อการหนุนเสริมการทำงานของเยาวชน คือ การเตรียมตัวก่อนการทำงาน (Before Action Review: BAR) และการสรุปบทเรียนการทำงาน (After Action Review: AAR) เพราะเชื่อมั่นว่า การทำงานที่มีการทบทวนตนเองเป็นระยะๆ จะทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้

     การชวนให้เยาวชนวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ เป็นการเตรียมตัวก่อนการทำงานที่ทีมงานต้องช่วยหนุนให้เกิดขึ้น เพราะเยาวชนส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมคิดแล้วทำเลย โดยลืมที่จะใคร่ครวญถึงเป้าหมายกระบวนการให้ละเอียด บ่อยครั้งการคิดได้แล้วทำเลยทำให้งานไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ คำถามชวนคิด ประเภทที่ว่า ลงพื้นที่ในวันนี้น้องตั้งใจจะเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้อย่างไร คำถามที่จะใช้ในการเก็บข้อมูลมีอะไรบ้าง หรือแบ่งหน้าที่ในทีมอย่างไร ฯลฯ การชวนให้คิดเช่นนี้จึงมีผลต่อการทำงานของกลุ่มเยาวชนที่เป็นระบบ และพุ่งเป้าตอบโจทย์การทำงานของโครงการได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

    ส่วนคำถามชวนคุยหลังเสร็จกิจกรรม เช่น กิจกรรมของเราในวันนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นต้องทำอย่างไร เป็นคำถามให้เยาวชนได้ย้อนทวนการทำงานของตนเอง โดยน้องหลายคนบอกว่า “ไม่คิดว่ากระบวนการถอดบทเรียนจะมีประโยชน์มากขนาดนี้ เพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้เขาได้ส่องตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานในแต่ละครั้ง มีจุดดีและข้อผิดพลาดอะไรที่ควรแก้ไขเพื่อต่อยอดงานให้ดียิ่งขึ้น” กช เล่าถึงเสียงสะท้อนต่อกระบวนการทำงานจากกลุ่มเยาวชน

    นอกจากนี้กระบวนการถอดบทเรียนยังเป็นวิธีการหนุนเสริมที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาการทำงานของกลุ่มเยาวชนในจังหวะที่เกิดข้อติดขัดบางประการ เช่น เมื่อเห็นว่ากลุ่มเยาวชนบางกลุ่มเงียบหาย ขาดการรายงานความก้าวหน้าการทำงานผ่านเฟซบุ๊ก ก็จะเป็นจังหวะที่ทีมงานต้องจับอาการให้ทัน แล้วนัดหมายเพื่อไปถามไถ่ถึงจุดติดขัด ตัวอย่างเช่น การทำงานของกลุ่มอัคคีภัยและภัยทางน้ำ ที่ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยได้ เมื่อสอบถามสาเหตุ ทีมงานก็มีหน้าที่เข้าไปชี้แจงเป้าหมายของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาและทำความเข้าใจกับอาจารย์ ให้เปิดทางสะดวกในการทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชน 

  • เรียนรู้เพราะมีชุมชนที่เอื้อต่อการเรียนรู้

     การต้องทำงานในพื้นที่ชุมชนเป็น “ฐานคิด” ที่ต้องการให้เยาวชนได้รู้จักชุมชนบ้านเกิดของตนเอง และรู้สึกรู้สากับความเป็นไปของชุมชนตนเอง ชุมชนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเยาวชนจึงเป็นชุมชนในมิติของพื้นที่ทางกายภาพ เช่น หมู่บ้าน ตำบล และชุมชนในมิติของสถานภาพที่เยาวชนสังกัดอยู่ เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือชุมชนคนที่เยาวชนสัมพันธ์ด้วย อาทิ เครือข่ายโครงการบัณฑิตอาสาฯ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ ฯลฯ การจะเข้าใจเรื่องของชุมชน หาใช่การที่เยาวชนไปศึกษาชุมชนเพียงด้านเดียว หากแต่ชุมชนนั้นๆ ก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการทำงานโครงการของเยาวชนด้วยจึงจะเกิดประโยชน์ที่เกื้อกูลกัน

     ดังเช่น ตัวอย่างการทำงานของโครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน ปีที่ 2 ที่เยาวชนลงไปเรียนรู้ความเป็นไปของชุมชนสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เปิดมุมมองของว่าที่นักกฎหมายให้รับรู้ถึงบริบทของสังคมผ่านสถานการณ์ปัญหาที่ชุมชนประสบอยู่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเติมเต็มความรู้ด้านกฎหมายที่จะช่วยให้ชุมชนมีทางเลือกในการต่อสู้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ ซึ่งการทำงานในโครงการฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ชี้แนะแนวทางการทำงานงานในมิติของกฎหมาย ซึ่งกระบวนการทำงานหนุนเสริมของอาจารย์ที่อยู่เคียงข้างเยาวชน ก็ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนวิชาการที่เยาวชนสังกัดคือ ได้แนวทางการสร้างการเรียนรู้ในบริบทใหม่ ที่นำพานักกฎหมายลงไปสัมผัสชุมชนให้เห็นความเป็นจริงของสังคม และเกิดงานต่อเนื่องในมิติการบริการวิชาการ โดยการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายให้แก่ชุมชนสวนกง

  • เรียนรู้เพราะมีความกล้า..ที่จะเรียนรู้

    การหนุนเสริมกลุ่มเยาวชนที่แม้จะมีแกนนำเพียง 5 คนในโครงการ แต่พี่เลี้ยงต้องดูแลให้เกิดสำนึกพลเมืองและพัฒนาทักษะชีวิตแก่เยาวชนแต่ละคนอย่างเท่าเทียม ด้วยความต่างที่แต่ละคนมีประสบการณ์ ความเป็นมาในชีวิตแตกต่างกัน ความดี ความกล้า ความเก่ง อาจจะลดหลั่นกันไปในตัวตนของแต่ละคน การจัดสรร ผลักดันโอกาสให้เยาวชนแต่ละคนได้มีพื้นที่แสดงออกซึ่งความสามารถของตนเอง จึงเป็นทักษะสำคัญของพี่เลี้ยง

    เจาะห์เล่าว่า ต้องมีเทคนิคการแหวกเพื่อสร้างความกล้า ซึ่งความกล้าที่ว่านั้นหมายถึง สามารถคิดเองและกล้าที่จะเสนอความคิดเห็นของตนเอง ไม่ใช่ทำตามคำสั่งของครู หรือตามความคิดของเพื่อนที่โดดเด่นในกลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มศาสนานำพาชีวิต เยาวชนบางคนในกลุ่มจะทำงานเก่ง แต่บางคนจะทำแบบเพื่อนบอกให้ทำอะไรก็ทำ แต่เมื่อได้ทำโครงการนี้ มีพี่เลี้ยงที่คอยซักถาม ชวนพูดคุย เยาวชนที่เดิมมักจะหลบอยู่ข้างหลังเพื่อนตลอด ก็มีพัฒนาการในการทำงานและกล้าที่จะเสนอความคิดเห็น มั่นใจตนเองมากขึ้น

    “เหมือนเราไปแหวกให้เขากล้าลุกขึ้นมาแสดงความสามารถ ถ้าโคชไม่ได้ไปเจียระไนน้องในกลุ่ม เขาก็จะหลบอยู่หลังเพื่อนอยู่อย่างนั้น แต่พอเราไปชวนคุย เวลาเราตั้งคำถามก็จะพยายามถามคนที่ไม่ค่อยพูด ให้คนที่พูดตลอดลองฟังเพื่อนดูบ้าง ให้แต่ละคนมีบทบาทเท่าเทียมกันในกลุ่ม และจะบอกเสมอว่า การแบ่งบทบาทหน้าที่จะทำให้เรามีการเรียนรู้เท่าๆ กัน ทำให้เขาทำงานเป็นเท่าๆ กัน” 

­

สื่อสารประสบการณ์เรียนรู้ แสดงพลังเยาวชน คือการเรียนรู้ช่วงปลายน้ำ

   ทีมงานสงขลาฟอรั่มและกลุ่มเยาวชนทุกโครงการได้จัดเทศกาลเรียนรู้ร่วมกันเป็นงานประจำปี โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างพื้นที่นำเสนอผลงานพลังพลเมืองเยาวชนที่สามารถขับเคลื่อน

    ออกมาได้เด่นชัดสู่สาธารณะ และพลเมืองเยาวชนยังได้นำผลงานมานำเสนอและเรียนรู้ระหว่างกัน ตลอดจนเป็นพื้นที่ เพื่อให้คนทำงานด้านพัฒนาเยาวชนและพัฒนาสังคมได้เห็นโอกาสในการเชื่อมโยงงานร่วมกัน โดยในปีนี้กลุ่มเยาวชนกลุ่มต่างๆ ได้ดึงประเด็นนำเสนอออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

    กลุ่ม 1 บทบาทของพลเมืองเยาวชนที่นำเอาสิ่งดีๆที่มีในชุมชน และโจทย์ปัญหาใกล้ตัว มาผนวกกับความรู้ของตนแล้วมาลงมือทำ เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ทำให้เยาวชนได้ความรู้จากการปฏิบัติจริง จนเกิดทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับโจทย์ปัญหาในพื้นที่ โดยมีกลุ่มเยาวชนดังนี้

  1. โครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษ กลุ่ม มิตรรักษ์สิ่งแวดล้อม
  2. โครงการไรน้ำนางฟ้า กลุ่ม พรานทะเล
  3. โครงการผลิตน้ำบูดูสู่ชุมชน กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ
  4. โครงการสื่อเล็กๆของเด็กสงขลา กลุ่ม TPCD
  5. โครงการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ กลุ่ม ชมรมความปลอดภัย

     กลุ่ม 2 พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้ความเป็นรากเหง้าของพื้นที่ ความงดงามของ Rumah kita

    บ้านเรา มรดกศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ ในจังหวัดยะลาและปัตตานี จนจุดประกายให้ชุมชนเห็นความสำคัญของบ้านเกิด และคนภายนอกเห็นคุณค่า เห็นศักยภาพของเยาวชนโดยมีกลุ่มเยาวชนดังนี้

  1. โครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชนกะลูแป
  2. โครงการเกลือหวานตานี กลุ่มเยาวชนบ้านตันหยงลูโละ
  3. โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ กลุ่มเยาวชนแหลมไข่มุก
  4. โครงการย้อนรอยยามู กลุ่มสุวรรณนำเที่ยว
  5. โครงการศาสนานำพาชีวิต กลุ่มสะนอสวยด้วยมือเรา
  6. โครงการอาสากุนุงจนอง ใส่ใจธรรมชาติ กลุ่ม เยาวชนจิตอาสากุนุงจนอง

     กลุ่ม 3 สำนึกพลเมือง ความรักและหวงแหน รักในศิลปวัฒนธรรมที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้เพื่อพลิกฟื้นศิลปวัฒนธรรม โดยศึกษาที่มา คุณค่าความหมาย ฝึกฝนเทคนิควิธี พัฒนาความสามารถของตนเองและทีม ในระหว่างเรียนรู้ร่วมกัน จนเกิดความภาคภูมิใจ และสานสายใยความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับคนในชุมชน โดยมีกลุ่มเยาวชนดังนี้

  1. โครงการรวมพลฅนรักษ์โขน กลุ่ม เด็กโขน
  2. โครงการสืบสานการเล่นกลองยาว กลุ่ม กลองยาวเด็กปากแจ่ม

     กลุ่ม 4 พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ที่มองเห็นเมืองสงขลาที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้ง ป่า น้ำ หาด ฯลฯ สร้างประโยชน์ให้กับคนเมือง แต่การพัฒนาเมืองที่ขาดความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับโครงสร้าง ทำให้เยาวชนเห็นความสูญเสียของมรดกทางธรรมชาติ จึงใช้ศักยภาพของตน นักวิชาการ และพลเมืองสงขลา มาร่วมขับเคลื่อนหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยการเรียนรู้จากเรื่องจริง สถานการณ์จริง ทำให้เยาวชนเข้าใจระบบนิเวศ รักและหวงแหน ลุกขึ้นมากระตุ้นและปลุกให้คนสงขลาตระหนัก เกิดความเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกัน โดยมีกลุ่มเยาวชนดังนี้

  1. โครงการหาดเพื่อชีวิต กลุ่มBeach for life
  2. โครงการศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน ปีที่ ๒ กลุ่ม Law Long Beach
  3. โครงการศึกษาระบบนิเวศเขาเทียมดา กลุ่ม Water for life
  4. โครงการศึกษาระบบนิเวศป่าสนเมืองสงขลา กลุ่ม กอดสน

     กลุ่ม 5 นักศึกษาวิชาชีพครูที่ต้องการค้นหาคุณค่าและจิตวิญญาณของความเป็นครู ได้นำตัวเองออกไปสัมผัสห้องเรียนจริงๆ จนค้นพบปัญหาการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของเด็ก และลงมือปฏิบัติจริง ฝึกออกแบบการเรียนรู้จากปัญหาจริง ทำให้ได้เรียนรู้บทบาทของครูที่สอนวิชาการควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิต และเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นครูที่ดีในอนาคต และนี่คือจิตสำนึกพลเมืองของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เยาวชนค้นพบจากพื้นที่จริง โดยมีกลุ่มเยาวชนดังนี้

  1. โครงการ ครูเดลิเวอร์รี่ กลุ่ม Darlenemia
  2. โครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน กลุ่ม ครูไทยใจเกินร้อย
  3. โครงการครูเพื่อศิษย์ ครูบ้านนอก

     กลุ่ม 6 สำนึกพลเมืองจากการได้รับโอกาส และเปิดใจให้ตัวเองได้ลงมือทำชิ้นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีต อดทน มุ่งมั่น รับผิดชอบ ควบคุมตัวเอง เรียนรู้การทำงานกับผู้อื่น พัฒนาจนผลงานสำเร็จเป็นที่ยอมรับ มีคุณภาพ จำหน่ายได้ และได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นโดยถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและเพื่อน ทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นเป้าหมายชีวิต กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองพร้อมที่จะเป็นพลเมือง โดยมีกลุ่มเยาวชนดังนี้

  1. โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อนกลุ่ม พลังคนหัวรั้นเพื่อสังคม
  2. โครงการเย็บใย ร้อยใจด้วยรัก กลุ่ม SBC (Smart Beautiful Clever)
  3. โครงการงานหนังสานฝันเพื่อเยาวชน กลุ่ม สร้างสรรค์งานหนัง

     กลุ่ม 7 พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะปลูกผักในพื้นที่ที่จำกัด ปลูกผักปลอดสารกินเอง คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจวิถีการพึ่งพาตัวเองบนฐานทุนของชุมชน และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยมีกลุ่มเยาวชนดังนี้

  1. โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ กลุ่ม จ.ช. นำแสง
  2. โครงการผักกับเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่ กลุ่ม young for commune
  3. โครงการปลูกเอง กินเอง ไร้สารตกค้าง กลุ่ม ผักอินทรีย์

    เยาวชนแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทในการจัดการนำเสนอผลงานของตนเองมากขึ้น ตั้งแต่การนำเสนอนิทรรศการ พื้นที่จำลอง การสาธิต การแสดงละคร การเป็นพิธีกรประจำเวที การพูดจุดประกาย สร้างพลัง และวงเสวนา การเป็นผู้นำในเส้นทางการเรียนรู้ของแต่ละโซน ซึ่งบทบาทหน้าที่ที่ได้รับเป็นการฝึกฝน และแสดงออกซึ่งศักยภาพของเยาวชนที่น้องๆ สามารถทำได้อย่างน่าชื่นชม 

­

พูนพลังโคช...เงื่อนไขที่เสริมพลังทีมงานสงขลาฟอรั่ม

­

  • Coach the Coach 

    ด้วยโครงสร้างการทำงานของทีมงานทุกฝ่ายในสงขลาฟอรั่ม ที่เปิดพื้นที่อิสระในการคิดและทำ ให้ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยมีป้าหนู-อ.พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่มเฝ้ามองอยู่ห่างๆ แต่มีพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ที่ป้าหนูจะช่วยเข้ามากระตุกความคิด เชื่อมโยงเรื่อง “สำนึกพลเมือง” ที่เป็นหัวใจหลักของการกระบวนการพัฒนาเยาวชนอยู่เป็นระยะๆ บทบาทโคชของทีมโคชจึงเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกทีมงานตอนสัมภาษณ์งาน ที่ใช้เทคนิคถามแล้วให้ตอบเร็วๆ เพื่อให้ได้ความจริงที่ปราศจากการปรุงแต่งถ้อยคำ การให้ดูคลิปวิดีโอโครงการเพื่อสอนงาน หรือการให้ลงพื้นที่พร้อมกันเพื่อทดสอบวิธีคิด วิธีทำงาน ล้วนเป็นเทคนิคชั้นเซียนที่ป้าหนูใช้ดูแววคนทำงาน

     “เป็นวิธีการสอนของเราเอง ให้ดูคลิปเพื่อให้เขาดูกระบวนการทำงานของเรา และต้องลงพื้นที่กับเราเป็นการสอบ เพราะการสัมภาษณ์นั้นสามารถตกแต่งคำพูดให้ดูสวยหรูได้ แต่การลงพื้นที่จะทำให้เราเห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาได้ เราถามเลยว่าว่างไปลงพื้นที่ด้วยกันไหม ถ้าเขาตอบว่าไม่ได้ เราตัดเลย” ป้าหนูเล่า

     สำหรับทีมงานที่เคยผ่านการทำงานมาบ้างแล้วจะใช้กระบวนการ Learning by Doing เพราะการอ่านรายงาน อ่านวารสารเก่าๆ เกี่ยวกับโครงการ เป็นการปูพื้นโครงการเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้เข้าใจถ่องแท้เท่ากับการเอาตัวเข้าไปทำหน้าที่พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนแล้วค่อยๆ เรียนรู้ สั่งสมเป็นประสบการณ์

     ส่วนการสอนงานทีมงานที่เรียนจบมาใหม่ๆ ป้าหนูจะมอบหมายให้ทำหน้าที่บันทึกการประชุม เพราะเป็นงานที่ต้องมีสมาธิ นิ่งกับการรับฟัง ซึ่งจะทำให้เขาสามารถเรียนรู้งานได้เร็วที่สุด

     “เวลาเราบันทึกการประชุมจะต้องนิ่งตั้งใจฟัง จับประเด็น แล้วตีความ ทำให้เรารู้งานมากที่สุด พอเลิกประชุม ป้าหนูถามอะไร เราสรุปเป็นข้อได้ เวลาออกไปนอกห้อง เพื่อนร่วมงานต้องมาขอข้อมูลจากเรา แล้วฝึกให้เราเป็นคนนิ่งกับการฟัง” เจาะห์ เล่าวิธีการสอนงานของป้าหนู

     กระบวนการสอนที่วิเคราะห์ทีมงานรายคนให้ชัด และมีระบบการถ่ายทอดความคิด ความรู้ และความรักอย่างจริงใจและจริงจังผ่านการประชุมทีมงาน ทำให้ทีมงานเกิดการซึมซับความคิด บุคลิกการเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะเรื่องสำนึกพลเมืองที่ทีมงานแต่ละคนต้องมีอยู่ในเนื้อในตัวชนิดที่ปล่อยไม่ได้

     “สงขลาฟอรั่มจะมีการประชุมย่อยบ่อยมาก ที่ประชุมเยอะเพราะเวลาประชุมเราได้ฝึกทั้งการคิด วิเคราะห์ และภาวะความเป็นผู้นำที่ต้องนำเด็ก 3-5 ก้าว เพื่อให้เยาวชนเชื่อถือเรา ทีมงานต้องจริงจังและจริงใจ รู้ก็บอกว่ารู้ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ เพราะบางทีการไม่รู้ของเขาอาจทำให้เราฉลาดขึ้นก็ได้ ทีมงานต้องเล่นกับคำว่าพลเมือง ถ้าตัวเขาเองไม่มีความเป็นพลเมืองอยู่ในเนื้อในตัว แล้วเขาจะไปสอนเด็กได้อย่างไร กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ทำให้ทีมงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร คำว่าจริงจังและจริงใจนั้นไม่ใช่ของเล่นๆ” ป้าหนู อธิบายวิธีเติมความรู้ให้ทีมงาน

     เพราะยึดการทำหน้าที่สร้างความเป็นมนุษย์ คำว่า “พลเมืองรุ่นใหม่” จึงเป็นเสมือนธงชัยที่ทีมงานปักหมุดไว้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันป้าหนูก็ได้เรียนรู้แง่มุมบางอย่างจากทีมงานแต่ละคน เช่น ความนิ่มนวลของกช ก็ทำให้ป้าหนูได้หยุดคิด และรู้ตัวว่าตนเองเป็นคนที่บู๊เยอะมาก การเรียนรู้และการเติมเต็ม หนุนเสริมกันในส่วนที่ใครบางคนขาดหายจึงเป็นบรรยากาศของ “ความเป็นผู้นำร่วม”

     “ปีนี้เป็นปีที่เรารู้สึกว่า ใครจะมาถามว่าลูกน้องแต่ละคนเก่งอย่างไรไม่ได้ สงขลาฟอรั่มเป็นองค์ประกอบของความเป็นผู้นำร่วม คำว่า Collective Leadership ก็คือสิ่งนี้ ต้องมองให้เห็นว่าเราทำงานเป็นทีม โดยธรรมชาติของคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบทุกเรื่อง”

     ส่วนการหนุนเสริมกลุ่มเยาวชนนั้น แม้จะไม่ได้ลงไปคลุกโดยตรง แต่ป้าหนูได้ใช้สถานการณ์ทางสังคมรอบตัวมาเป็น “เงื่อนไข” สร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งเมืองสงขลาเปลี่ยนผังเมืองใหม่ เราก็คิดว่าจะให้เด็กของเราอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร จึงนำเรื่องผังเมืองมาเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ให้เด็กไปชน เพราะรู้ว่าเด็กของเราไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ แต่อยากให้เขานำสถานการณ์ในสังคมมาเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ ทำให้เห็นว่า กระบวนการแบบนี้น่าจะสอนตั้งแต่อนุบาลเสียด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นมิติที่ลุ่มลึกมาก

     แม้บทบาทจะเป็นเหมือนคุณครูผู้เข้มงวด แต่โคชของโคชไม่เคยละเลยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างที่สะท้อนความใส่ใจต่อความรู้สึกของเยาวชน เช่น ในการสอบถามว่างานของกลุ่มเยาวชนมีคุณค่าอย่างไร เป็นหลักจิตวิทยาที่ทำให้คนทำงานรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะไม่ว่าใครก็ปรารถนาให้งานของตนเองมีคุณค่า นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ “พลังแห่งถ้อยคำ” ที่สร้างพลังใจให้แก่เยาวชนและคนทำงาน 

­

  • หลักคิด แรงบันดาลใจ แรงผลักของการเป็นพี่เลี้ยง 

     เพราะงานที่ทำไม่ใช่เป็นเพียงอาชีพที่ทำมาหาเลี้ยงชีวิต แต่เป็นชีวิตจิตใจที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของทุกคน งานที่ทำจึงเป็นสิ่งที่ใช่ในความคิดของเจาะห์ ที่บอกว่า “วิธีคิด วิธีการทำงานของที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น ไม่ใช่ทำโครงการเพื่อโครงการ แต่เป็นการทำโครงการเพื่อจิตใจภายใน ซึ่งสำคัญมาก เพราะเดี๋ยวนี้เด็กไม่มีวุฒิภาวะ พ่อแม่ให้เรียนอย่างเดียว ถ้าเขาได้ทำงานด้วยจะทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ คิดอยากนำโครงการแบบนี้ไปทำที่บ้านบ้าง ครั้งแรกที่มีโครงการลงบ้านตัวเอง คือโครงการตะลุโบะเมื่อปีก่อน จึงรู้สึกภาคภูมิใจที่อย่างน้อยก็ได้ทำอะไรเพื่อบ้านเรา เพราะไม่ได้มองแค่หมู่บ้านที่อยู่คือบ้านตัวเองเท่านั้น แต่มองว่า 3 จังหวัดเป็นบ้านตัวเอง เนื่องจากเราได้รับการสอนตั้งแต่เด็กว่า เพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน หมายถึงคนที่นับถือศาสนาเดียวกันคือเรือนร่างเดียวกัน การช่วยให้เขาดีขึ้น พัฒนาขึ้น เราก็ได้บุญ ส่วนไหนเจ็บ เราก็เจ็บไปด้วย พอเราเข้ามาทำงานที่นี่ ไม่ได้คิดแค่ว่าคนในศาสนาจะดีขึ้น แต่คิดว่าถ้าคนในสังคมเดียวกันดีขึ้น ประเทศก็จะดีขึ้น คนในศาสนาก็ดีขึ้น”

     ในขณะที่อุ้ม ที่แม่ขอร้องให้ กลับมาทำงานที่บ้านเกิดสงขลา จึงเข้ามาทำงานกับสงขลาฟอรั่ม ความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นทันทีในวันแรกที่เริ่มสัมผัสงาน “รู้สึกถูกสะกิดในตอนหนึ่งของวิดีโอที่บอกว่า คุณได้มีความรู้อยู่ในตัวมากมาย แล้วคุณได้นำวิชาความรู้นั้นมาเสริมสร้างหรือต่อยอดอะไรเพื่อประเทศชาติบ้าง รู้สึกเห็นด้วยว่า นานแค่ไหนแล้วที่เราใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อย ไม่เคยได้มานั่งย้อนคิดว่าจะใช้ชีวิตไปทางไหนดี ตอนป้าหนูสัมภาษณ์ว่า เราจะใช้วิชาที่เรียนมากับงานที่สงขลาฟอรั่มได้อย่างไร โดยให้คิดเร็วๆ ตอบเร็วๆ เราก็ตอบว่ามันคงคล้ายๆ ศิลปะ เป็นเรื่องของจินตนาการ ถ้าคนเรามีจินตนาการก็น่าจะทำอะไรเพื่อไปสู่ความฝันให้เป็นจริงได้ สุดท้ายพอมาทำงานตรงนี้ก็คล้ายๆ กับความคิดของเราตอนนั้น” อุ้มเล่าที่มาของตนเอง พร้อมสารภาพว่า การทำงานในช่วงแรกๆ อาศัยการลอกแบบจากพี่มีนี แต่พอทำได้ระยะหนึ่งก็ค้นพบแนวทางการทำงานของตนเองและคิดว่า “งานนี้คือสิ่งที่ชอบและใช่” เพราะการได้ติดตามสถานการณ์ของสังคมทำให้รู้กว้างขึ้น และการถอดบทเรียนการทำงานของตนเองที่ทำให้รู้ลึกยิ่งขึ้น

     ส่วนกช มีพื้นฐานจากครอบครัวที่พาเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครตั้งแต่เล็กๆ จึงชอบทำกิจกรรมมาโดยตลอด เมื่อแม่เห็นว่าลูกชายชอบงานด้านนี้จึงแนะนำให้มาสมัครงานที่นี่ “ครอบครัวปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ให้เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อน และคำสอนของมหาวิทยาลัยที่บอกว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่ 2 ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่ 1 ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของพระบรมราชชนก คำเหล่านี้สอนเรามาตลอด ทำให้เราไม่นิ่งเฉยกับสิ่งที่เห็น”

     กชเติบโตจากการเรียนรู้จากการทำงานในฐานะพี่เลี้ยงโครงการเยาวชนที่ไม่ประสบความสำเร็จมาก่อน อยู่กับความท้อและความเครียดหนักมาก แต่ก็ผ่านมาได้เพราะการประคับประคองของทีมงานที่คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ จนฮึดสู้เอาชนะใจตนเอง ถอดบทเรียนความผิดพลาดเก็บไว้เตือนใจไม่ให้ผิดซ้ำรอย

     “เพื่อนร่วมทีม ทุกคนรักใคร่กลมเกลียวกัน ซึ่งองค์กรอื่นไม่มีแบบนี้ เราตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ตั้งแต่ได้ลงกิจกรรมแรก เพราะรู้สึกสนุกที่ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การ AAR ทำให้ได้ทบทวนการทำงานว่าใช่หรือไม่ใช่” กชเล่าถึงแรงดึงดูดที่ผูกใจตนเอง

     สำหรับ มีนี ที่เข้าร่วมงานกับสงขลาฟอรั่มตั้งแต่โครงการสะพานชีวิต ที่ทำงานกับเยาวชนที่ก้าวพลาดในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ต่อเนื่องมาจนถึงโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาค้นพบว่า เธอมีความสุขกับการทำงานชนิดที่ยอมสแตนด์บายเพื่องานนี้ และน้องๆ เยาวชนในโครงการคือสังคมที่เธอผูกสัมพันธ์ด้วย

     “การทำงานจะมีเรื่องท้าทายตัวเองตลอดเวลา จากที่เคยคิดว่า ทำปีแรกแล้ว ปีต่อมาจะเหมือนเดิม แต่ป้าหนูจะให้โจทย์ใหม่ตลอดว่า จะออกแบบกระบวนอะไรให้น้อง เราจึงต้องพัฒนาตัวเอง สไตล์งานกับสไตล์เราเป็นเรื่องเดียวกัน ตอนนี้เราก็ชอบคิดไม่หยุด...ดีใจที่ได้อยู่ในบ้านหลังนี้ บ้านนี้ไม่ได้นำกะลามาครอบเรา แต่เป็นบ้านที่เปิดโอกาสให้เราได้พัฒนา มีเวทีไหนที่พัฒนาเราได้ เขาก็ส่งเราไป แล้วก็มาแชร์กัน ไม่มีใครทำตัวเองเป็น one man show”

­

คิดจะพัฒนาต่อยอด คือสิ่งเติมเต็มการทำงานของพี่เลี้ยง

     เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการทำงานที่เข้มข้นในปีนี้ มีผลลัพธ์ของการเรียนรู้ของเยาวชนที่น่าชื่นใจ แต่ในมุมของคนทำงานเอง เมื่อได้ใคร่ครวญสะท้อนคิดถอดบทเรียนการทำงานในปีที่ผ่านมา แต่ละคนก็ยังเห็นจุดที่ยังอยากเติมเต็ม พัฒนาปรับปรุงการทำงานของทีมให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น 

  • เติมกระบวนการเรียนรู้ให้ที่ปรึกษาโครงการ

     เมื่อการทำงานโครงการของกลุ่มเยาวชน มีเงื่อนไขที่จะต้องมีที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งอาจจะเป็นครู อาจารย์ หรือผู้ใหญ่ในชุมชน เพื่อช่วยเหลือเอื้ออำนวยความสะดวกและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับกลุ่มเยาวชน แต่กระบวนการทำงานที่เน้นการเรียนรู้ของเยาวชนเป็นหลัก ทำให้ทีมงานสงขลาฟอรั่มต้องกุมสภาพการหนุนเสริมการทำงานของเยาวชน โดยที่ปรึกษาโครงการของเยาวชนจะเฝ้ามองอยู่ห่างๆ ซึ่งกชมองว่า ควรให้ความสำคัญกับที่ปรึกษามากขึ้น ทั้งแง่การพูดคุยทำความเข้าใจถึงเป้าหมายของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เพื่อที่ปรึกษาจะได้ปรับบทบาทตนเองให้หนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนได้ถูกต้องเหมาะสม และไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำงานของกลุ่มเยาวชน

     ซึ่งป้าหนูได้เสริมว่า ที่ผ่านมาการทำงานของสงขลาฟอรั่มมุ่งเป้าไปที่ตัวเยาวชน แต่เมื่อทำงานไประยะหนึ่งจึงเห็นว่า การเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการเป็นเรื่องที่น่าจะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น “เพราะฉะนั้นการดีไซน์โครงการปีหน้าเป็นต้นไปต้องเพิ่มน้ำหนักในการมอง ไม่เช่นนั้นเราก็จะไปหนุนแต่เด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่มบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับโครงการอยู่ เหมือนที่ปรึกษาน้องคือ ครู ผู้นำชุมชน ที่เด็กเลือก แทบจะไม่มีตัวตนเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะเราไม่ได้ดีไซน์กระบวนการเรียนรู้ให้เขาเลย”

  • เชื่อมโยง Active Group เสริมความแข็งแกร่งให้ประเด็นงาน

     เพราะงานที่ทำคือ การขับเคลื่อนสังคม ที่ต้องใส่ใจต่อสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง ทำให้มีนีมองว่า โครงการของเยาวชนทุกโครงการสามารถเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางสังคมได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดการทรัพยากร นิเวศนาครกับการพัฒนาเมือง ประวัติศาสตร์และวิถีเมืองเก่า พลังงานทางเลือก สิทธิชุมชน ฯลฯ แต่ความรอบรู้ของพี่เลี้ยงแต่ละคนอาจจะมีจำกัดในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง สิ่งที่พี่เลี้ยงต้องรู้คือ การประสานผู้รู้เข้ามาช่วยในเรื่องนั้นๆ

     “ในสงขลามี Active Group อยู่หลายกลุ่ม แต่เราไม่เคยไปเชื่อมกับเขาเลย ในขณะที่เนื้อหาข้อมูลในประเด็นนั้นๆ เราก็ยังไม่ลึกพอ พอเราไปคุยกับน้อง เราก็ได้แค่สเต็ปเดียว นั่นคือรู้มากกว่าน้องแค่ก้าวเดียวเท่านั้น” มีนีสะท้อน

     ดังนั้นการประสานเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายคนทำงานที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เพื่อสร้างแนวร่วมในการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนให้รอบด้านทั้งแนวกว้างและแนวลึก อันจะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากพอที่จะขยับเขยื้อนสังคมต่อไป

  • การสร้าง commitment นิสัยมุ่งมั่น จดจ่อต่อการทำงานให้บรรลุความสำเร็จ

     ด้วยระยะเวลาการทำงานของโครงการที่ยาวถึง 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานมากในความคิดของเด็กและเยาวชน ที่คุ้นชินกับการเข้าร่วมกิจกรรมรายครั้งแล้วจบไป ขณะที่โครงการนี้มีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบให้มีการเติมเต็มความรู้และพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องในการเข้าร่วมของแกนนำเยาวชนแต่ละโครงการ บทเรียนที่พานพบในช่วงที่ผ่านมาคือ ทำงานไปแล้วแกนนำเยาวชนเริ่มหายหน้าหายตาไป บางทีมจาก 5 คนเหลือ 2 คน หรือบางทีมก็สับเปลี่ยนหมุนเวียนคนหน้าใหม่ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม ปรากฏการณ์เช่นนี้ ใหม่และเจาะห์มองว่า ทำให้การเรียนรู้ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลต่อความเข้าใจและคุณภาพการทำงาน การทำความเข้าใจกับกลุ่มเยาวชนเพื่อให้รับทราบเงื่อนไขของการร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกำหนดเป็นพันธะสัญญาร่วมกัน

     “เงื่อนไขที่ต้องมี เช่น ต้องมาประชุมกับสงขลาฟอรั่มครบทั้ง 3 ครั้ง ไม่ใช่นึกจะออกก็ออก เพื่อให้เขารู้สึกว่า เป็นโครงการที่ต้องทำงานตามเงื่อนไขอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่จะเพิ่มเติมมุมมองของการเป็นพลเมือง ไม่ใช่การทำโครงการเพื่อโครงการ แต่เป็นการทำโครงการที่ทำให้เขาเป็นคนที่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมือง” เจาะห์ ย้ำ

  • ศึกษาข้อมูลเชิงประเด็นอย่างลึกซึ้ง

     การทำงานของกลุ่มเยาวชนที่มีความหลากหลายของประเด็นเนื้อหา เป็นความงามของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ก็เป็นภารกิจสำคัญที่มีนี มองว่า คนเป็นพี่เลี้ยงต้องมีความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหางานของกลุ่มเยาวชนที่ตนเองรับผิดชอบดูแล การหาความรู้ของพี่เลี้ยงสามารถทำได้ผ่านการอ่าน การฟัง การดู การไปสัมผัสของจริง เพื่อให้สามารถตั้งคำถามกับการทำงานของกลุ่มเยาวชนได้ลึกยิ่งขึ้น

    ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทั้งกชและอุ้ม เห็นตรงกันว่า หลังจากได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการและแบ่งบทบาทหน้าที่ดูแลโครงการเยาวชน พี่เลี้ยงต้องมีเวลาหาข้อมูลความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และทำความเข้าใจกับข้อมูลความรู้นั้นให้ลึกซึ้ง เพื่อที่จะสามารถนำพาการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนได้อย่างมั่นใจ หากพี่เลี้ยงสามารถคิดนำหน้าน้องได้ 3-5 ก้าว ก็จะทำให้เยาวชนเกิดความมั่นใจและเชื่อถือในตัวพี่เลี้ยงด้วยเช่นกัน

­

วงจรของการเรียนรู้ที่ครบ Loop

     การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นที่กำลังพัฒนาทั้งทักษะทางสังคม และทักษะการใช้สมองที่พร้อมจะเรียนรู้ในเรื่องที่ต้องคิดซับซ้อน คิดวิเคราะห์ และเรียนรู้การวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน บทบาทของทีมงานสงขลาฟอรั่มได้ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นหนุนเสริมให้เยาวชนเกิดการฝึกฝนทักษะผ่าน การทำโครงการ ที่เป็นเสมือนแบบฝึกหัดที่เปิดโอกาสให้ได้คิด วิเคราะห์ วางแผน ลงมือทำ และสรุปบทเรียนผ่านปฏิบัติการจริงด้วยตนเอง และสื่อสาร แสดงพลังต่อสังคม การเดินทางของเยาวชนผ่านวงจรการเรียนรู้ที่ครบ Loop ดังกล่าว จึงมั่นใจได้ว่าเยาวชนที่ผ่านกระบวนการนี้จะมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังที่สังคมต้องการได้อย่างแน่นอน

     เห็นได้ว่า “กระบวนการสร้างสำนึกพลเมือง” ที่เป็นหัวใจหลักของโครงการ ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งต่างจากการทำโครงการทั่วไป เพราะสำนึกพลเมืองที่ถูกย้ำเน้นในกระบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ผ่านโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา คือ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมที่ต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ในมาตุภูมิบ้านเกิดของพลเมืองรุ่นใหม่ทุกคน

­