ผ้ามัดย้อมจากเปลือกผลตะบูนเป็นการนำความรู้ท้องถิ่นมาใช้ ทำให้ผู้เรียนรู้ถึงคุณค่าของป่าชายเลน รักและคอยดูแลพืชป่าชายเลนในชุมชนให้คงอยู่ต่อไป ผ้ามัดย้อมจากเปลือกผลตะบูนเป็นการมัดย้อมที่ไม่ต้องใช้สารเคมี เป็นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่า เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านและดำเนินตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง
วงศ์ : MELIACEAE ชื่ออื่น : กระบูน , กระบูนขาว , ตะบูน (กลาง , ใต้)
ลักษณะทั่วไปของต้นตะบูน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก – กลาง สูง 8 – 20 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นสั้น แตกกิ่งใกล้โคนต้นมีพูพอนแผ่ออกคดเคี้ยว ต่อเนื่องกับรากหายใจที่แบนคล้ายกระดาน เปลือกเรียบบาง สีเหลืองแต้มเขียวอ่อน หรือสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลแกมชมพู ลักษณะคล้ายเปลือกต้นฝรั่งหรือตะแบก เปลือกหลุดออกเป็นแผ่น รูปทรงไม่แน่นอน
วัสดุ
1.ผ้าใยธรรมชาติ 100 % เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าลินิน
ขนาด 30 x 30 ซม. 10 ผืน (นิยมใช้ผ้าฝ้ายเพราะมีราคาถูก)
2.เปลือกผลตะบูนที่หั่นแล้ว 1,000 กรัม
3.น้ำเปล่า 5 ลิตร
อุปกรณ์
1.เชือกฟางสำหรับมัดยาว 30 ซม. 30 – 50 เส้น
(ผ้า1 ผืน ใช้เชือกฟาง 3 - 5 เส้น)
2.เตาแก๊ส 1 ถัง
3.หม้อดิน 1 ใบ
4.กระด้ง 1 ใบ
5.ทัพพี 1 อัน
6.ไม้สำหรับคน 1 อัน
ขั้นตอนการทำงาน
1. หั่นเปลือกผลตะบูนสดตามขนาดที่ต้องการ
2. นำผลตะบูนที่หั่นไว้ ไปต้มกับน้ำจนเป็นสีน้ำตาล
3. นำผ้าฝ้ายหรือผ้า cotton ที่ตัดไว้ ตามขนาดที่ต้องการ มามัดด้วยเชือกตามที่ออกแบบไว้ หรือตามจินตนาการ
4. นำไปต้มในน้ำตะบูนที่เตรียมไว้ นานประมาณ 30-60 นาที หรือนานกว่านั้นจนได้สีตามต้องการ
5. ตักขึ้นมาตากให้แห้ง จากนั้นนำไปตัดเชือกออก
6. นำไปซักให้สะอาด รีดให้เรียบ
7. สามารถนำไปใช้ได้ตามต้องการ