เส้นทางสร้าง “เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ” ปีที่ 1
“จังหวัดศรีสะเกษกำลังเสี่ยงต่อการสูญหายไปของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และภาษา หากคนรุ่นใหม่ไม่เข้ามารับช่วงต่องานจากผู้ใหญ่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชุมชนในอนาคต เพราะหากเยาวชนไม่เข้าใจรากเหง้าเดิม เวลามาพัฒนาชุมชนก็จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างผิวเผิน”
สิ่งที่ "รุ่งวิชิต คำงาม" ในฐานะผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษพูดถึงนั้น มิได้ไกลเกินความจริงแต่อย่างใด หากพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ โดยเฉพาะกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามหัวเมืองชายแดนที่สังคมไม่เข้มแข็งมากนัก
และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ มิได้ส่งผลเชิงบวก หรือ เชิงลบเฉพาะระบบเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม โดยเฉพาะกับสังคมชนบทที่เปราะบางและขาดภูมิคุ้มกันทางสังคม ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับสภาวะ "เสี่ยงต่อการสูญหายของวัฒนธรรมท้องถิ่น"
ยังมิพักต้องเอ่ยถึงระบบการศึกษาใหม่ที่บางหลักสูตรมิได้ลงลึกเข้าไปในรายละเอียดของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และประเพณีของคนท้องถิ่น เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่เขียนจาก "ส่วนกลาง" ออกแบบมาเพื่อให้เด็กเรียนรู้เพื่อการแข่งขันเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น มีหน้าที่การงานดี ๆ และจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดหรือไม่...นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
ขณะที่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ประเพณีท้องถิ่นกลับปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่สืบทอดกันเองอย่างเงียบ ๆ ผ่านงานบุญงานประเพณีที่มีปีละไม่กี่ครั้ง ซ้ำบางพื้นที่ก็จัดกันแบบผิดๆ ถูกๆ ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าใจถึงแก่นแกนที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมนั้นได้
ศรีสะเกษ...เมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์
อีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 106 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด และเป็นแหล่งอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองมานานหลายพันปี ดังจะเห็นได้จากกู่ ปราสาท และร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ
ประชากรอีสานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หากข้อมูลที่ถูกสื่อถึงคนภายนอก กลับบ่งชี้ว่าอีสานเป็นดินแดนแห้งแล้ง ผืนดินไม่เหมาะสมกับการปลูกพืช ซ้ำปริมาณน้ำฝนน้อย และสิ่งที่ตอกย้ำความเข้าใจนี้คือพื้นที่ 2 ล้านไร่คือ "ทุ่งกุลาร้องไห้" ที่ทำให้กลายเป็นภาพจำว่าอีสาน "แห้งแล้ง" และทำให้ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาล และองค์กรภายนอก ต้องยื่นมือเข้ามาพัฒนาภาคอีสาน จนขาดมิติเชื่อมต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ชุมชนท้องถิ่นเริ่มหารากเหง้าของตัวเองไม่พบ และขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง
และศรีสะเกษที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ใน “ทุ่งกุลาร้องไห้” ก็มิอาจหลีกเลี่ยงผลกระทบในข้อนี้ แม้จะเป็นเมืองชายแดนที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อคือ "ปราสาทเขาพระวิหาร" แต่ศรีสะเกษก็อ่อนไหวต่อสถานการณ์ เนื่องจาก "การท่องเที่ยว" มิได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมาสู่เมืองชายแดนแห่งนี้เท่านั้น หากยังนำเอาความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านเข้ามา อาทิ การเปลี่ยนแปลงเรื่องของการหาอยู่หากิน การสืบทอดและธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณี เพราะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวส่วนมากให้ความสำคัญที่ "ตัวปราสาท" มากกว่าวิถีชีวิตของผู้คน...ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย ต่อกลุ่มเยาวชนในพื้นที่
นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว “ระบบการศึกษา” รวมทั้ง "ระบบเศรษฐกิจ" ก็ส่งผลต่อเยาวชนเช่นกัน
กล่าวคือ ระบบการศึกษาแบบท่องจำและเรียนอยู่ในห้อง มีครูยืนสอนอยู่หน้าชั้น ตกเย็นได้การบ้าน เช้าเอามาส่ง และสำคัญกว่านั้น เด็ก ๆ ใช้ตำราเรียนเหมือนกันทั่วประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ศรีสะเกษคงไม่ต่างจากเด็กๆ ที่จังหวัดสงขลา จังหวัดน่าน สมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม...ผู้เกี่ยวข้องก็มิได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พยายามตั้งรับกับสถานการณ์ปัญหาข้างต้น
เบื้องต้น...คือการเข้ามาหนุนเสริมทั้งด้านงบประมาณและกำลังคนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านการทำงาน "วิจัย" ที่ชาวบ้านจะต้องเป็นผู้ลุกขึ้นมาดำเนินงาด้วยตัวเอง ทั้งในเรื่องของการ "คิดโจทย์วิจัย" การเก็บข้อมูล รวมทั้งการลงมือปฏิบัติเพื่อ “แก้ไขปัญหา” ด้วยตัวเอง
ศรีสะเกษเริ่มต้นใช้ “กระบวนการวิจัย” เป็น “เครื่องมือ” ในการพัฒนาคนราวปี พ.ศ.2552 เน้นงานด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ชายแดน หากแต่ก่อนหน้านั้นชาวบ้านพยายามใช้กระบวนการวิจัยเพื่อรื้อฟื้นภูมิปัญญา ผ่านการศึกษาเรื่องราวของ "ตัวเอง" ว่า เป็นใคร มาจากไหน และอนาคตจะเป็นอย่างไร...
และหนึ่งในงานวิจัยทีทำให้คนศรีสะเกษเข้าใจรากเหง้าของตนเองคือ "กอนกวย...ส่วยไม่ลืมชาติ"
วิจัยท้องถิ่น...ใครๆ ก็ทำวิจัยได้
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) เป็นการวิจัยแนวใหม่ ที่ก่อกำเนิดขึ้นบนสถานการณ์ที่พบว่า การวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมามีประโยชน์น้อยมากสำหรับชุมชนท้องถิ่น เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่เกิดจากคนภายนอกเข้ามาดำเนินการวิจัย ซึ่งบางครั้งโจทย์วิจัยไม่ใช่ความต้องการของชุมชน
แต่การที่ชุมชนจะ "ทำวิจัยได้" ต้องมีกลไกการหนุนงานที่เรียกว่า "พี่เลี้ยง" หรือ หน่วยประสานงาน (Node) เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการวิจัยแบบนี้ และจะช่วยให้การวิจัยมีคุณภาพ นั่นคือ ชุมชนมีส่วนร่วมสูงและเข้มข้น โจทย์วิจัยตรงกับปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะปัญหาที่ซ่อนเร้นใต้ภูเขาน้ำแข็งและใช้แก้ปัญหาชุมชนได้จริง ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการวิจัยจะได้ 1) นักวิจัยที่ตื่นรู้เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาและการแก้ปัญหาของชุมชน 2) ความรู้ทั้งที่เป็นความรู้ภูมิปัญญาที่แฝงในตัวคนหรือกลุ่มคน (Tacit knowledge) ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และความเป็นมาของชุมชน ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการระดมพลังการพัฒนาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของชุมชน และ 3) ชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ช่วยก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมในระยะยาว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเริ่มตื่นตัว ทำงานวิจัยท้องถิ่นภาคอีสาน เพื่อหาคำตอบให้กับตัวเอง และมุ่งสร้างพลังอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวทางสังคม
"งานวิจัยท้องถิ่นภาคอีสานหลายเรื่องเริ่มจากการดึงประเด็นปัญหาจากชุมชน และเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรมก็มีการฟื้นฟูทรัพยากร ปัญหาเด็กและเยาวชนก็มีงานวิจัยเพื่อค้นหาความรู้เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งพบว่าสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด หรือแม้แต่ปัญหาเศรษฐกิจด้านการผลิต เช่น ปัญหาเรื่องของการเกษตร ซึ่งวันนี้ปัญหาการเกษตรคือการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม ก็พบว่างานวิจัยก็ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และแก้ไข ทิศทาง
การผลิตที่อาศัยภูมิปัญญาเป็นตัวฉุดดึงขึ้นมา แล้วนำมาปรับใช้ หรือกรณีประวัติศาสตร์ เราก็ใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นตัวสร้างสำนึก จุดประกายสำนึกของชุมชน" (บัญชร แก้วส่อง : สารวารงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 2556)
นอกจากนี้ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นบางโครงการยังสามารถฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ใกล้สูญหาย เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน เช่น “กลุ่มเยาวชนกับการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชาติพันธุ์ กวย” โดยใช้พื้นที่ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่วิจัย นอกจากนั้น กลุ่มเยาวชนในโครงการยังร่วมกับผู้ใหญ่ผลิตหนังสั้นของชาวกวยเรื่องแรกของโลก ชื่อเรื่อง “กอนกวย ส่วยไม่ลืมชาติ” มีความยาวประมาณ 40 นาที โดยมี สุรสีห์ ผาธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง และมีนักเขียนชื่อดัง เช่น นายวีระ สุดสังข์ หรือ ฟอน ฝ้าฟาง นักเขียนจากกลุ่มวรรณกรรมลุ่มน้ำมาเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งได้แต่งเพลงและทำเสียงประกอบให้กับหนังสั้นเรื่องนี้ด้วย
วีระผู้ประพันธ์และร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ชาวกวย กล่าวว่า ได้ดูความก้าวหน้าของการจัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้น้ำตาไหล และทึ่งที่ทีมงานวิจัยชาวกวยทำได้ถึงขนาดนี้ ทั้งที่ไม่เคยจับงานด้านนี้มาก่อน
“หลังจากที่หนังตัดต่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้มีการนำมาฉายให้ชาวบ้านบ้านตาตา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ ได้ดู ซึ่งชาวบ้านตอบรับสูงมาก เนื่องจากพี่น้องชาวกวยภูมิใจที่เรื่องราวของชาวกวย หรือ ชาวกูย ได้รับการถ่ายทอด ทำให้ตัวตนของชาติพันธุ์ชัดเจนขึ้นในสายตาของสังคมส่วนกว้าง โดยเฉพาะการที่ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษก็เห็นความสำคัญ และให้การสนับสนุนมาโดยตลอด รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ทำให้ค่อยๆ ลบล้างปมด้อยที่เคยมี"
สร้างเด็กบ้านเรา....เยาวชนพัฒนาได้
ความสำเร็จของ "กอนกวย" แม้จะเป็นการค้นพบศักยภาพของเด็กและเยาวชนในจังหวัดศรีสะเกษว่า มีความสามารถหลายด้าน อาทิ ในแง่ของการเป็นนักวิจัยน้อยร่วมกับทีมผู้ใหญ่ การเป็นนักแสดงหลักและรองของหนังสั้นเรื่อง กอนกวยส่วยไม่ลืมชาติ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ข้อจำกัดของ "งานวิจัย" คือการพัฒนาโจทย์วิจัยที่ต้องใช้เวลานานและเพราะเด็กๆ ต้องเรียนหนังสือ โอกาสในการเข้าร่วมทีมกับผู้ใหญ่จึงมีไม่มาก
แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า "การพัฒนาจะทอดทิ้งเยาวชน"
กระทั้งมีการประสานงานจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชักชวนให้ขับเคลื่อนงาน Active citizen หรือ การสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง
ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบนฐานความรู้ภูมิปัญญา โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นทุกระดับ เห็นว่า รูปแบบการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านโครงการ Active citizen เป็นงานใหม่ที่มีความท้าทาย แม้ความยากของจังหวัดศรีสะเกษจะอยู่ที่การมีกลุ่มคน 4 ชาติพันธุ์ ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน เช่น ส่วย เขมร ลาว เยอ โชคดีที่มีฐานทุนเดิมทำงานวิจัยกับผู้ใหญ่มาเป็นเวลานับสิบปี แต่ข้อค้นพบคือการขาดช่วงต่อของเยาวชนในการทำโครงการ อีกทั้งผู้ใหญ่ก็มองว่าเยาวชนไม่มีคุณค่า ทำอะไรไม่สำเร็จ เด็กไม่สนใจเรื่องในชุมชน และผู้ใหญ่เองก็ไม่เชื่อมั่นในตัวเยาวชน จึงคิดว่างาน Active citizen จะสามารถกระตุ้นสำนึก และสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะกับตัวเด็ก เพราะเท่าที่เห็นการทำงานของสงขลาฟอรั่มพบว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถกระตุ้นสำนึกความเป็นพลเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้จริง จึงตั้งทีมทำงาน มีรุ่งวิชิต คำงาม ในฐานะศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) เป็นหัวหน้าโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ พร้อมด้วยทีมงานคือ เบ็ญ-เบ็ญจมาภรณ์ แดนอินทร์ ติ๊ก-ปราณี ระงับภัย และมวล-ประมวล ดวงนิล
Learning by doing
เพราะ “การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการคิดและลงมือทำ” จึงนำไปสู่กรอบคิดในการทำงานให้เยาวชนพลเมืองศรีสะเกษเป็น “พลเมืองแห่งการตื่นรู้” ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบนฐานความรู้ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะคุณลักษณะของเยาวชนที่โครงการฯ อยากเห็นคือ 1.มีสำนึกความเป็นพลเมือง 2.เป็นแกนนำพัฒนาชุมชน 3.มีสำนึกท้องถิ่น 4.รู้จักตนเอง 5.คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ ใช้ข้อมูลความรู้ในการทำงาน 6.รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 7.กล้าแสดงออก 8.ทักษะในการจัดการโครงการ 9.รู้เท่าทันสื่อ 10.มีการทำงานเป็นทีม การทำงานแบบมีส่วนร่วม
“เราตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรกว่า แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เยาวชนได้ลงมือทำ แต่ 2 สิ่งที่เยาวชนต้องมีคือ ประเด็นหรือโจทย์ในการทำงาน และชุดข้อมูลความรู้”
นอกจากเป้าหมายข้างต้นแล้ว คณะทำงานยังหวังว่าผลจากการทำโครงการนี้จะเป็น “พลัง” ในการหนุนเสริมงานชุมชนของผู้ใหญ่ ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมมี บทบาท มีการจัดการตนเองในพื้นที่มากขึ้น สามารถต่อยอดการทำงานของชุมชนได้ แม้ว่าความเข้าใจเรื่องพลเมืองจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็คิดว่าเด็กในชุมชนมีพลังอยู่แล้ว การที่เขาได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมบางอย่าง น่าจะสร้างเยาวชนที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และใส่ใจกับเรื่องราวความเป็นไปของชุมชนและสังคมได้
เมื่อเป้าหมายการทำงานชัด การหากลุ่มเป้าหมายก็ไม่ยาก งานนี้ใช้การประชาสัมพันธ์ไปตามกลุ่มพื้นที่ที่มีงานวิจัยอยู่ ใช้ “เวทีวิจัย” เป็น “เครื่องมือ” พูดคุยทำความเข้าใจกับนักวิจัยและแกนนำชุมชนในพื้นที่ก่อน ซึ่งทุกคนต่างเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งดีที่จะให้เด็กมาทำงานเพื่อชุมชน แต่หากพื้นที่ไหนไม่ได้เป็นพื้นที่วิจัยก็อาศัยเวทีประชุมสัมมนาที่คนศรีสะเกษมาประชุมพูดคุยกันเรื่องการขับเคลื่อนงานเยาวชน หากใครสนใจก็จะจัดเวทีพูดคุยในพื้นที่อีกครั้ง
รุ่งวิชิตยอมรับว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม ถ้าเป็นชุมชนที่ยังไม่ผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นการทำงานร่วมกันจะค่อนข้างยาก อาจเป็นเพราะฐานความสัมพันธ์ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แต่ถ้าเป็นพื้นที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน แถมแต่ละคนยังรู้จักฝีไม้ลายมือกันดีอยู่แล้ว การเคลื่อนงานจึงทำได้ง่ายกว่า “เหมือนคนคุยเรื่องเดียวกัน งานจึงเดินได้เร็ว” ด้วยเหตุนี้การทำงานกับพื้นที่ที่ยังไม่ผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไม่ผ่านกระบวนจึงต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยและสอบทานแนวคิดกันนานกับทีมพี่เลี้ยงชุมชน
เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกของโครงการ แถมยังเป็นการเริ่มต้นอย่างกะทันหัน เรียกได้ว่าเป็นการขยับหน้างานใหม่ทีมพี่เลี้ยงจึงต้องระแวดระวังพอสมควร ด้วยการเลือกทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาซึ่งอิงกับพื้นที่ฐานวิจัยและงานเยาวชนเดิม ยังไม่ได้ขยายกว้างไปถึงระดับมหาวิทยาลัยด้วยเหตุนี้โครงการของเยาวชนที่เสนอเข้ามาจึงมีทั้งจากพื้นที่ที่มีงานวิจัยและพื้นที่ที่มีฐานงานพัฒนาซึ่งได้แก่พื้นที่อำเภอโนนคูณที่เป็นฐานงานของทีมสาธารณสุขและโรงพยาบาลโนนคูณที่ทำงานกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่อยู่แล้ว
กว่าจะเป็น “เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ”
จากกรอบคิดที่ต้องการสร้าง “พลเมืองแห่งการตื่นรู้” เพื่อสานต่องานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจากผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน นำไปสู่การ “ออกแบบ” กระบวนการเรียนรู้ งานนี้ทีมพี่เลี้ยงงัดชุด “เครื่องมือ” ต่างๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับช่วงวัยของเด็กและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยการออกแบบกระบวนดังกล่าวรุ่งวิชิตบอกว่า ทำพร้อมกันใน 2 ส่วนคือ การสร้างเยาวชน และการสร้างกลไกพัฒนาพลเมืองเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการทำงานเข้มแข็งยิ่งขึ้น
กระบวนการ “สร้างเยาวชน”
กระบวนการสร้างเยาวชนจะมีการดำเนินงานเป็นระยะๆ บ้างทำในพื้นที่ บ้างนำเด็กมารวมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “เป้าหมาย” ของกิจกรรมเป็นหลัก
- เรียนรู้แผ่นดินถิ่นเกิดผ่าน “แผนที่ชุมชน”
เนื่องจากโครงการนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับพื้นที่ และทีมงานที่ต้องเริ่มต้นทำงานไปพร้อมกัน การสร้างความคุ้นเคยและปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันพี่เลี้ยงพื้นที่และทีมงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น
รุ่งวิชิตบอกว่า ในช่วงพัฒนาโครงการเพื่อหา “ประเด็น” ทำโครงการ ทีมใช้วิธีนัดทีมวิจัยชุมชนกับเยาวชนมาพูดคุยเป็นรายพื้นที่ เริ่มจากให้เด็กๆ ทำ “Story board” หรือ แผนที่ชุมชนค้นหาว่าปัญหาของชุมชนอยู่ตรงไหน มีข้อดีข้อเสียอะไรให้ช่วยกันคิดวิเคราะห์ แล้วค่อยนำมาเป็นโจทย์การทำงาน
เมื่อได้โจทย์แล้วจึงใช้เครื่องมือ “ต้นไม้ปัญหา” เพื่อให้เด็กแตกประเด็น เห็นปัญหา เห็นสาเหตุ เห็นผลกระทบ จากนั้นจึงออกแบบการทำงานของทั้งโครงการให้ครบถ้วน ซึ่งทีมจะใช้กระบวนการตั้งคำถามเพื่อชวนคิด เช่น ตั้งชื่อโครงการว่าอย่างไร ชื่อโครงการมีความหมายว่าอย่างไร โครงการที่ทำนำไปสู่อะไรวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอย่างไรพื้นที่ดำเนินการที่ไหนทีมเป็นใครบ้าง และมีใครเข้าร่วมบ้าง เป็นต้น
การตั้งคำถามชวนคิดก็เพื่อให้เด็กและเยาวชนแต่ละทีมได้คิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงสิ่งที่เด็กๆ จะต้องทำ ถือเป็นการให้เด็ก “จัดระเบียบความคิด” และ “สร้างระบบ” การทำงานที่ต้องมีการคิดวิเคราะห์ในทุกขั้นตอน ซึ่งในกระบวนการนี้พี่เลี้ยงในชุมชนก็จะได้เรียนรู้วิธีการทำงานไปพร้อมกัน
- พัฒนาโจทย์โครงการ...เติมทักษะบริหารจัดการโครงการ
3 เดือนหลังจากทีมลงพื้นที่พัฒนาโครงการอย่างเพื่อให้โจทย์แต่ละโครงการชัด ไม่สะเปะสะปะเวลาทำงาน ทีมจึงจัดประชุมระดมความคิดระดับจังหวัดขึ้น เพื่อขอความเห็นจากคณะกรรมการให้ช่วยขัดเกลาโครงการให้คมชัดและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยในช่วงต้นๆ ขอความอนุเคราะห์จากเครือข่ายศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสานในจังหวัดใกล้เคียงและนักวิชาการในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษมาช่วยให้ข้อเสนอแนะเวลาเด็กๆ นำเสนอโครงการ พร้อมกับเติมทักษะบริหารจัดการโครงการ เช่น “หลักคิด 5 ข้อ” ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย เหตุผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน ความรู้และคุณธรรมมาให้เด็กๆ ใช้เป็น “แนวทาง” การบริหารจัดโครงการของตนเอง
- Workshop ออกแบบ “เครื่องมือ” การทำงานกับชุมชน
หลังจากเวทีกลั่นกรองของคณะกรรมการ และการพิจารณาอนุมัติ ทีมถือโอกาส “หนุนเสริม” การทำงานของเยาวชนอีกครั้งด้วยการจัดเวทีออกแบบเครื่องมือในการทำงานกับชุมชนเนื่องจากการทำงานมีภาคบังคับให้เด็กๆ ต้องศึกษาข้อมูลก่อน จึงจำเป็นต้องเติมความรู้เยาวชนได้เรียนรู้ “เครื่องมือ” การทำงานกับชุมชน พร้อมทั้งทำแผนการศึกษา วางกรอบข้อมูล แตกประเด็น และตั้งประเด็นคำถามร่วมกัน ซึ่งในการอบรมดังกล่าวมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมเรียนรู้ด้วยการเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มย่อย เช่น 5W 1H ทำเป็น Action plan ตัวอย่างเช่น ปลูกผัก ผักอะไร ปลูกที่ไหน ทำอย่างไร เพื่อให้เด็กใช้เป็นเครื่องมือไปสอบถามผู้รู้ในชุมชน ซึ่งในเวทีนี้บางชุมชนก็จะใช้แผนผังชุมชน เช่น กลุ่มที่เรื่องผ้าลายลูกแก้วเขาจะใช้แผนผังเป็นเครื่องมือ เป็นต้น
- “สะท้อนการเรียนรู้” เครื่องมือพัฒนากระบวนการทำงานของเยาวชน
ด้วยเป้าหมายที่ว่าทุกโครงการต้องทำงานบนฐานข้อมูลและชุดความรู้...
3 เดือนผ่านไป เมื่อเด็กลงพื้นที่เก็บข้อมูล ศึกษาหาความรู้ได้ระดับหนึ่ง ทีมได้จัดเวทีนำเสนอความก้าวหน้าโครงการ เป้าหมายของเวทีนี้คือให้เด็กๆ นำข้อมูลความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนปฏิบัติการ ซึ่งทีมได้ออกแบบกระบวนการทำงานไว้ว่า ทุกโครงการจะต้องทำงานบนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น นั่นคือ การทำงานต้องมีฐานความรู้ ฐานข้อมูลก่อน ถ้าข้อมูลพร้อม ข้อมูลพอ การทำงานก็จะเกิดผลสำเร็จ เพราะเชื่อว่าถ้ามีข้อมูลชุดความรู้ชัดจะทำให้การปฏิบัติชัดขึ้นตามไปด้วย เหมือนเป็น “ข้อบังคับ” กลายๆ ว่าทุกโครงการต้องทำงานบนฐานข้อมูลความรู้ แม้บางกลุ่มจะได้ข้อมูลไม่ชัด แต่สิ่งที่เด็กได้คือ “พวกเขาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติเรื่องการค้นหาข้อมูล”
ส่วนคำว่า “วิเคราะห์ข้อมูล” รุ่งวิชิตมองว่า สำหรับเด็กแล้วมีความแตกต่างกันตามสภาพของข้อมูล บางพื้นที่ได้ข้อมูลชัดก็สามารถเขียนอธิบายชัด บางพื้นที่อาจได้ข้อมูลยังไม่ชัด หน้าที่ของพี่เลี้ยงจังหวัดคือ หนุนเสริมต่อในการทำงานกลุ่มย่อย โดยให้แต่ละทีมทบทวนว่า ข้อมูลของตนมีเรื่องอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ หรือได้ไม่ครบ หรือข้อมูลที่เก็บมาได้จะนำไปสู่การปฏิบัติการที่เกิดผลได้หรือยัง โดยทบทวนร่วมกับแผนงานที่เคยออกแบบไว้ เพราะตอนแรกที่ออกแบบไว้ยังไม่เห็นข้อมูล เมื่อเห็นข้อมูลแล้ว จะเปลี่ยนแปลงแผนการทำงานหรือไม่อย่างไร ถ้าสิ่งที่เด็กๆ จะทำไม่ได้มาจากฐานข้อมูล เด็กต้องบอกให้ได้ว่า เพราะอะไร หรือต้องทำอะไรเพิ่มเพื่อให้งานนั้นบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
“เราให้เด็กทบทวนว่า นี่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำจริงหรือไม่ เหตุที่เราต้องทบทวนเด็กอยู่ตลอดเวลา เพราะ ตอนแรกเด็กวางแผนในขณะที่เขายังไม่มีข้อมูลประกอบ แต่เมื่อเขาได้ลงพื้นที่และมีชุดข้อมูลแล้ว แผนงานที่วางไว้จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร อยากให้เขาทบทวนใหม่อีกครั้งบนพื้นฐานข้อมูลความรู้ที่มีอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล”มวลเล่า
ขณะที่รุ่งวิชิตเสริมว่าถ้าเราไม่ให้เด็กทบทวนเด็กก็จะทำเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ เราก็ต้องคอย “กระตุก” ดึงกลับมาบ่อยๆ ให้เขามีใจจดจ่อกับเรื่องที่ทำ ไม่เช่นนั้นพอเขาไปเจอเรื่องใหม่ก็ไหลไปเรื่อย สิ่งที่เราทำก็เพื่อให้เขารู้จักตัวเอง การได้ทบทวนงานก็เหมือนกับการได้ทบทวนตัวเอง ได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเอง
และเพื่อให้เด็กมีทักษะในการทำงานมากขึ้น การอบรมครั้งนี้ทีมได้เสริมกระบวนการทักษะชีวิต โดยจัดเป็นฐานการเรียนรู้ 4 ฐานคือ ฐานการทำงานเป็นทีม ฐานการวิเคราะห์ข้อมูล ฐานการวางแผน และฐานสร้างเมือง เหตุที่ต้องเสริมเรื่องนี้ให้กับเด็กเพราะตอนนั้นเด็กยังอยู่แต่กลุ่มของตนเอง เราอยากให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้รู้จักเพื่อนใหม่จากต่างพื้นที่บ้าง จึงละลายขั้วความต่างด้วยการจับเด็กคละกลุ่มให้เวียนเรียนรู้ตามฐานต่างๆ หลังจบกิจกรรมฐาน ทีมเห็นความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเด็กชัดเจนว่า เริ่มมีการพูดคุยกันข้ามกลุ่มมากขึ้น ทีการพูดคุยและวางแผนการทำงานร่วมกัน แม้จะจะต่างภาษาชาติพันธุ์ก็ตาม
- “การสื่อสาร” ทักษะที่ต้องเติม
ระหว่างการทำงาน ทีมวิเคราะห์พบว่า เด็กเยาวชนยังขาดทักษะเรื่องการสื่อสาร กอปรกับต้องการเตรียมเด็กนำเสนองานผลงานในเทศกาลการเรียนรู้ ทีมจึงจัดให้มีการเติมเต็มเรื่อง “การออกแบบสื่อสาร” ทั้งการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ แนวคิดในการนำเสนอผลงาน เป็นต้นซึ่งเดิมตั้งใจจะจัดเวทีการเรียนรู้สัญจร แต่เนื่องด้วยกรอบเวลาที่จำกัด จึงปรับเป็นเวทีใหญ่ครั้งเดียว
แม้รู้ว่าเด็กยังขาดเรื่องทักษะการสื่อสาร แต่กิจกรรมนี้ก็มาช้าเกินไป รุ่งวิชิตบอกว่า หากจะให้เกิดประโยชน์จริงๆ จังหวะที่เหมาะสมในการเติมเต็มความรู้เรื่องนี้น่าจะทำในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินงาน โดยทำไปพร้อมๆ กับเรื่องการออกแบบเครื่องมือการทำงานชุมชนให้เป็นกระบวนเดียวกัน
“ถ้ามาเติมเรื่องการสื่อสารในตอนท้าย วัตถุดิบในการผลิตสื่อบางทีเด็กไม่ได้เก็บภาพ ไม่ได้ถ่ายวิดีโอไว้ หรือถ้าถ่ายก็คุณภาพไม่ค่อยดี ถ้าเราเติมเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น เด็กๆ ก็จะสามารถถ่ายภาพเก็บวิดีโอระหว่างทำกิจกรรมไว้ได้เลย”
- เทศกาลการเรียนรู้...งานนี้ต้องขยายยยยย
ผลงานของเด็ก ถ้าไม่นำเสนอสู่สาธารณชน ความรู้และสิ่งที่เด็กทำมาก็จะสูญเปล่า กอปรกับทีมต้องการให้คนทำงานด้านเด็กในจังหวัดศรีสะเกษรับรู้รับถึง “กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชน” และนำ “แนวคิด” ดังกล่าวไปต่อยอดการทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ หรือเกิดภาคีความร่วมมือสนับสนุนการทำงานระหว่างกันต่อไป จึงวางแผนจัดเวทีขยายผลเพื่อนำเสนอผลงานของเด็กๆ ให้สาธารณชนได้รับรู้
รุ่งวิชิตบอกว่า เวทีนี้นอกจากต้องการให้ “คนอื่น” ได้รับรู้แล้ว เป้าหมายสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การให้คนในพื้นที่ ในหมู่บ้าน ในชุมชนที่กลุ่มเยาวชนอาศัยอยู่รับรู้รับทราบ และร่วมชื่นชมผลงานของลูกหลาน
“อยากให้คนในชุมชนที่เด็กๆ ทำงานด้วยมาดู เพราะตอนแรกบางพื้นที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ไว้ใจให้เด็กทำ วันนี้ก็อยากให้เขามาเห็นว่าเด็กทำอะไร ให้คนในพื้นที่ได้มาเห็นว่า ลูกหลานเขาไม่ได้ทำคนเดียว แต่ยังมีพื้นที่อื่นๆ ด้วย และอยากให้มีคนในจังหวัด รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดมาดูด้วยว่า “พลัง” ของเด็กสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนได้อย่างไร”
- กระบวนการการสร้าง “กลไก” พัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ
อาจกล่าวได้ว่าโครงการพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ไม่เพียงแต่สร้างเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ลุกขึ้นมาเอาธุระกับชุมชนท้องถิ่นได้เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้าง “กลไกระดับจังหวัด” ให้เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กเยาวชนของจังหวัดศรีสะเกษได้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับกลไกระดับจังหวัดที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการโครงการประกอบด้วย เครือข่ายศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสานในจังหวัดใกล้เคียง และนักวิชาการในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษที่เข้ามาช่วยให้ข้อเสนอแนะการทำโครงการของเด็กเป็นระยะๆ
รุ่งวิชิตบอกต่อว่านอกจากกลไกระดับจังหวัดแล้ว “กลไกในพื้นที่” หรือ “พี่เลี้ยงชุมชน” ก็สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้ทีมจึงสร้าง “กลไกร่วม” ของกลุ่มคนที่ทำงานด้านเยาวชน มีกลไกระดับจังหวัดทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการ ให้ข้อเสนอแนะทั้งพี้เลี้ยงจังหวัด พี่เลี้ยงชุมชน และการทำโครงการของเด็ก ส่วนพี่เลี้ยงจังหวัดทำหน้าที่หนุนเสริมและติดตามการดำเนินงานของเด็ก ขณะที่พี่เลี้ยงชุมชนที่อยู่ในพื้นที่จะทำหน้าที่กระตุก กระตุ้นให้เด็กลงมือทำโครงการตามแผนที่วางไว้
“โค้ช” ผู้สร้างการเรียนรู้และสร้างคน
“โค้ช” ทำหน้าที่อะไร คำถามนี้คงมีหลายคำตอบ แต่สำหรับโครงการ Active citizen แล้ว “โค้ช” ก็คือ “พี่เลี้ยง” นั่นเอง ซึ่งในทีนี้หมายถึงผู้ทำหน้าที่สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการชุมชน ให้คุณค่ากับการที่เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงมากกว่าตำรา ให้เด็กได้ทดลอง สร้างสรรค์ ลงมือทำ ลองผิดลองถูก โดยมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน กล้าปล่อยให้เด็กล้มและลุกด้วยตัวเอง สอนโดยไม่สั่ง แนะโดยไม่นำ เปิดใจกว้าง และที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก
สำหรับโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษแบ่ง “โค้ช” ออกเป็น 2 ระดับคือ “โค้ชที่เป็นที่ปรึกษาเด็ก” ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “พี่เลี้ยงชุมชน” และ “โค้ชที่เป็นเจ้าหน้าที่โหนด” หรือ “พี่เลี้ยงจังหวัด” นั่นเอง โดยโค้ชทั้ง 2 จะทำงานหนุนเสริมซึ่งกันและกันเพื่อให้โครงการเดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้คุณลักษณะการเป็น “โค้ช” ที่ดีคือ 1. รู้จักสังเกตและเข้าใจเยาวชน นำความชอบมาต่อยอดสร้างฝันให้เป็นจริง รู้สถานการณ์ปัญหาที่กำลังเผชิญ และสามารถสนับสนุนได้ทันท่วงทีให้เยาวชนก้าวสู่อนาคตที่คาดหวังไว้อย่างราบรื่น 2. เปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้โจทย์จากชีวิตจริง ประสบการณ์จริงในชุมชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงตัวเองกับพื้นที่ ได้มากกว่าความรู้สำเร็จรูป 3.มีทักษะสร้างแรงบันดาลใจ เติมพลังใจ ให้สร้างความเปลี่ยนแปลงกับสังคมด้วยพลังพลเมืองในตัวเยาวชน 4 .มีทักษะการ “ตั้งคำถาม” กระตุ้นความคิด สร้างความท้าทาย เพื่อยกระดับความสามารถเยาวชน เปิดอิสรภาพทางความคิดโดยไม่ครอบงำแต่สร้างการเรียนรู้หรือกระตุ้นความคิดจากการตั้งคำถาม และ5 .ยอมรับความต่าง ให้คุณค่ากับความคิดที่หลากหลาย และคุณค่าของการสร้างสรรค์ไปด้วยกัน
- เทคนิคการโค้ชเพื่อสร้างเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ
สำหรับเทคนิคการโค้ชของพี่เลี้ยงจังหวัดจะใช้วิธี “แบ่งพื้นที่” กันดูแล ทั้งนี้ความสะดวกในการตามงานอย่างใกล้ชิด โดยมวลดูแลโครงการในพื้นที่อำเภอโนนคูณ ติ๊กดูแลโครงการในพื้นที่อำเภอขุนหาญ ส่วนเบ็ญดูแลโครงการในพื้นที่อำเภอปรางค์กู่
มวลบอกว่า ช่วงแรกๆ ที่เขาลงพื้นที่ ทั้งเด็กๆ และพี่เลี้ยงเกร็งกันหมด คงกังวลว่าเขาจะมาตามงาม แต่พอช่วงหลังไม่มีใครเกร็งแล้ว แถมยังถามอีกว่า “พี่มวลจะมาวันไหนจะเตรียมอาหารไว้รอ”
“ตอนแรกที่เราแบ่งพื้นที่กันดูแล เพราะยังจัดระบบการทำงานของทีมไม่ลงตัว ไหนจะงานประจำงานสำนักงาน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นใครจะลงพื้นที่ ใครจะอยู่สำนักงาน เลยต้องมีการสลับกันลงพื้นที่ ส่วนใครจะลงพื้นที่ไหน ทีมจะใช้การเขียนขึ้นตารางบอกว่าใครไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร” มวลเล่าบรรยากาศการทำงานในทีม
อย่างไรก็ตามทีมงานจะร่วมกันประเมินเป็นช่วงๆ ว่า แต่ละครั้งที่ลงไปเยี่ยมในพื้นที่เห็นเด็กเป็นอย่างไรทั้งนี้ทีมงานได้ตั้งข้อสังเกตต่อความแตกต่างประเด็นชาติชาติพันธุ์และพื้นที่งานวิจัยเก่า พื้นที่ใหม่ซึ่งคาดหมายว่าน่าจะเป็นมิติที่จะใช้สังเคราะห์โครงการในช่วงท้ายๆ ได้
- จังหวะ “เข้ามวย” กับพี่เลี้ยงในชุมชน
เป็นสิ่งที่ทีมทำงานให้ความสำคัญมาก เพราะอยู่ใกล้ชิดเด็ก รุ่งวิชิตบอกว่า สำหรับโครงการ Active
citizen เขามองว่า “พี่เลี้ยงชุมชน” คือผู้ที่มีบทบาทมากที่สุด การที่เราจะชวนเด็กมาร่วมเวทีแต่ละครั้งต้องได้รับการไว้วางใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองในชุมชนด้วย ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่ให้มา และต้องมีคนที่เขาไว้ใจพามาด้วย ซึ่งคนที่ชุมชนไว้ใจก็คือพี่เลี้ยงชุมชนนั่นเอง เรามองว่าตัวพี่เลี้ยงเองก็ต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อทีมจัดอบรมทุกครั้งจึงต้องเชิญพี่เลี้ยงชุมชนเข้าร่วมด้วย แต่จะจัดวงพูดคุยกันเฉพาะพี่เลี้ยง เพื่อหารือเรื่องทิศทาง แนวทาง และกระบวนการทำงาน ด้วยการ “สร้างความเข้าใจ” ร่วมกันว่า โครงการนี้เด็กต้องคิดเองทำเอง
“จังหวะและท่าที” ในการทำงานกับพี่เลี้ยงในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่ทีมงานตระหนักว่า มีผลอย่างยิ่งต่อการทำงานของเยาวชน โดยเฉพาะการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างทีมพี่เลี้ยงจังหวัดกับพี่เลี้ยงในชุมชน ระหว่างพี่เลี้ยงในชุมชนกับกลุ่มเยาวชน หรือระหว่างพี่เลี้ยงจังหวัดกับกลุ่มเยาวชน เป็นเรื่องที่ทีมต้องเรียนรู้ที่จะจัดวางความสัมพันธ์ให้พอดีให้ต่างฝ่ายต่างสบายใจในการทำหน้าที่
“ช่วงแรกๆ ยอมรับว่า ต้องทำความเข้าใจกันอย่างหนักถึงบทบาทของพี่เลี้ยง เพราะเป้าหมายที่อยากเห็นร่วมกันคือ อยากให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้ คิดเอง ทำเอง ดังนั้นต้องให้เด็กมีบทบาทมากกว่าพี่เลี้ยง แต่พอกลับไปในพื้นที่ก็ตกร่องเดิม พี่เลี้ยงเผลอนำเด็กอีกแล้ว เจอแบบนี้ก็ต้องคุยใหม่เป็นรอบๆ ลงไปพื้นที่ก็คุยเฉพาะตัวบ้าง เราเองก็ต้องระวังท่าทีในการห้ามด้วย ก็กลัวอยู่ว่า เขาจะเคืองเอา” มวลสารภาพถึงอาการเกร็ง
เช่นเดียวกับการจัดความสัมพันธ์กับคนที่อยู่รายรอบเด็ก ซึ่งมีทั้งผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง อบต. อสม. ที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงานเยาวชน เน้นให้เด็กได้คิด ได้ออกแบบ ได้วางแผน ได้ลงมือปฏิบัติ และสรุปผลด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่ที่รายล้อมคอยช่วยประคับประคองอำนวยความสะดวก ไม่ใช่ครอบงำ
- “กระดาษปรู๊ฟ” คัมภีร์ตามงานของพี่เลี้ยง
หลังจากติดอาวุธการทำงานให้เด็ก ด้วย “เครื่องมือ” การทำงานกับชุมชนแล้ว เมื่อแต่ละทีมเมื่อกลับเข้าพื้นที่ทำการศึกษาข้อมูลความรู้ในเรื่องที่ทำตามแผนงานที่ออกแบบไว้แล้ว ระหว่างนี้ทีมพี่เลี้ยงจังหวัดก็ต้องคอยเมียงมองและประเมินดูว่า ทีมไหนเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้หนุนเสริมได้ทันท่วงทีซึ่งเครื่องมือการทำงานของพี่เลี้ยงจังหวัดคือ “กระดาษปรู๊ฟ” ที่แต่ละทีมบันทึกไว้ เช่น แผนที่ชุมชน แผนงานที่ออกแบบ การแตกกรอบประเด็น เป็นต้น
“เวลาทีมลงพื้นทุกครั้งจะต้องบอกเด็กๆ ให้นำกระดาษปรู๊ฟมาด้วยเพื่อใช้ทบทวนการทำงาน เรียกว่าเป็น “คัมภีร์” ก็ว่าได้ “เพราะบางครั้งสิ่งที่เด็กๆ ทำก็ไม่ตรงตามแผนที่วางไว้ หากรู้สึกว่าเด็กไม่เข้าใจ เราก็ต้องพาเด็กตั้งต้นใหม่ พยายามชวนคิดชวนคุยแล้วให้เขาทำ เอาตัวโครงการมาดูเป็นรายกิจกรรมเลย กิจกรรมนี้ทำทำไม ทำแล้วมีใครมาร่วมบ้าง ทำแล้วเราจะได้อะไร แล้วตอนลงมือทำจะออกแบบกันอย่างไร ใครจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ใครจะไปชวนผู้รู้ใครจะไปชวนผู้นำชุมชน ถ้าเราพยายามกระตุ้นเขาก็ทำ” มวลเล่าถึงวิธีการทำงาน
สำหรับติ๊กซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดกับโครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซนโวดละเว) โครงการ Eng Easy สานใจเติมฝัน เรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้องและโครงการสารสัมพันธ์กอนกวยทร่วยอิกที่ดูแลอยู่ จะมีความสนิทสนมกับเด็กๆ มากกว่า เด็กๆ จึงกล้าพูดกล้าถาม บางครั้งก็จะขี่มอเตอร์ไซค์มาหาถึงบ้าน ถ้าไม่อยู่ก็โทรศัพท์ถามไถ่ว่า กิจกรรมนี้ต้องเริ่มอย่างไร ต้องเริ่มเก็บข้อมูลอย่างไร
- พี่เลี้ยงต้องกระตุก กระตุ้นเด็กตลอดเวลา
คิด 3 เดือน ทำ 3 เดือน คือ การแบ่งแผนการทำงานของโครงการเยาวชน โดยมีเงื่อนไขว่า 3 เดือนแรกศึกษาข้อมูลความรู้ ทำรายงานสรุปความก้าวหน้าและสรุปการเงินในงวดแรก เพื่อนำมาเบิกงบประมาณช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงปฏิบัติการ ทีมพบบทเรียนในเชิงของการบริหารจัดการโครงการของหลายพื้นที่ว่า การบริหารจัดการโครงการช่วงแรกหลายพื้นท