เมื่อความรู้สั้น แต่อายุคนยืนยาว
แล้วเราจะจัดการเรียนรู้อย่างไร
ในโลกที่ปั่นป่วน
พลิกผันอย่างรวดเร็ว.....
“สิ่งท้าทายคือความรู้สั้น แต่อายุคนยืนยาว
จะจัดการเรียนรู้อย่างไร ในโลกที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว
เพราะโลกพลิกผันเร็ว จึงต้องการคนที่มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21++
คนที่จะปรับตัวอยู่รอดได้ ต้องเปิดใจ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”
เฮนรี มินทซ์เบิร์ก ศาตราจารย์ด้านกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา กล่าวไว้ว่า “เมื่อโลก พยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้”ผมคิดว่าคำกล่าวนี้จับใจความสำคัญของการจัดการศึกษาในโลกอนาคต คือ ทำอย่างไรให้เด็กของเราเรียนรู้และปรับตัวได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างรวดเร็ว
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป สำหรับโลกที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว ผมกำลังคิดว่าเรากำลังต้องการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21++ เพราะหากโลกพลิกผันไปอย่างรวดเร็ว คนที่จะปรับตัวอยู่รอดในโลกได้ “จะต้องมีใจที่เปิดกว้าง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”
ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21++ ได้แก่ ใฝ่หาความรู้ อดทน รับผิดชอบ เปิดกว้าง กล้าทดลอง จิตใจแห่งการเติบโต ศิลปะ การทดลอง การเล่น คิดเชิงวิพากษ์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม คิดสร้างสรรค์ มองภาพใหญ่ วาดภาพ
A S K กับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21++
“Attitude ทัศนคติ+อุปนิสัย : ใฝ่หาความรู้ อดทน รับผิดชอบ เปิดกว้าง กล้าทดลอง จิตใจแห่งการเติบโต ศิลปะ การทดลอง การเล่น
Skill ทักษะ : คิดเชิงวิพากษ์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม คิดสร้างสรรค์ มองภาพใหญ่ วาดภาพสถานการณ์ ละคร การฝึกงาน ทำของเล่น
Knowledge ความรู้ : คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน ความเป็นไปในโลก ทฤษฎีแห่งความรู้ เทคโนโลยีพลิกผัน กิจกรรมนอกเวลา อาสาสมัคร การคิดเชิงออกแบบ”
คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล บอกผมเสมอว่า เวลาทำเรื่องการศึกษาอย่าเน้นแต่ตัว K เท่านั้น แต่ต้องเน้นทั้ง A S K คือ A - Attitude S - Skill และ K - Knowledge หมายความว่า ทัศนคติและอุปนิสัยต้องมาก่อน เด็กต้องใฝ่หาความรู้ อดทน รับผิดชอบ และต้องมีทักษะแบบใหม่ ทักษะในความคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม และความรู้พื้นฐานอย่างน้อย3 อย่าง คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ
ผมคิดว่าโจทย์ของโลกการศึกษาในอนาคต คนจะต้องกล้าทดลอง กล้ามีความล้มเหลว กล้ามีความผิดพลาด เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องทำให้เด็กของเรากล้าทดลอง กล้าผิดพลาด เรียนรู้จากความผิดพลาดได้ และมีจิตใจแห่งการเติบโตที่เรียกว่า Growth mindset คือกลุ่มที่ประสบความสำเร็จได้ดี มีความสุขมากกว่า เชื่อว่าแม้วันนี้จะทำอะไรบางอย่างไม่ได้ แต่ในอนาคตสามารถเรียนรู้ได้
นอกจากนี้ทักษะก็ต้องถูกยกระดับเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทักษะการคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนวัตกร ความสามารถในการมองภาพใหญ่ การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันเต็มไปด้วยองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ หากมองทีละจุด การสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะมองภาพใหญ่ได้จึงมีความสำคัญ และโลกที่ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร การวาดภาพสถานการณ์ หรือการทำ Scenario จึงเป็นสิ่งจำเป็น
“แม้ความรู้อายุสั้นลง แต่ไม่หมดความสำคัญ
ในโลกที่พลิกผัน นักเรียนยุคต่อไปต้องรู้ว่า..
ความรู้ถูกสร้างขึ้นอย่างไรทำไมจึงเป็นสิ่งที่ผิดพลาดได้
เป็นโจทย์ที่เราต้องสร้างระบบการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างทักษะให้เด็กอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21++”
ในเรื่อง Knowledge แม้ว่าความรู้จะมีอายุสั้นลง แต่ไม่ได้หมายความว่าความรู้จะหมดความสำคัญลง เรื่องนี้เป็นเรื่องย้อนแย้งว่า ในเมื่อความรู้หมดอายุเร็วแต่เด็กยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ความเป็นไปในโลกพอสมควร และต้องเข้าใจเทคโนโลยีพลิกผันที่จะมากระทบตัวเขา นักเรียนในยุคต่อไปควรจะต้องรู้สิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฏีความรู้” ที่ต้องรู้ว่าความรู้ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมความรู้จึงเป็นสิ่งที่ผิดพลาดได้ แม้วันนี้จะถูกแต่อาจจะผิดในอนาคตก็ได้
ฉะนั้นเราต้องการสร้างระบบการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างทักษะให้เด็กอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21++ และความรู้ใหม่จะไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียน และเผลอ ๆ ห้องเรียนจะเป็นส่วนที่สำคัญน้อยที่สุด ห้องเรียนจะช่วยสร้างทักษะพื้นฐานในการอ่าน การเขียน การคิด ความเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐาน คณิตศาสตร์พื้นฐานเท่านั้น แต่ถ้าจะอยู่ในโลกเปลี่ยนแปลง ปั่นป่วน ผันผวน รวดเร็ว คงจะต้องมีการเรียนรู้ที่ทำให้คนยืดหยุ่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่มีคำตอบสมบูรณ์ อาจจะเป็นศิลปะหรือละครก็ได้ สิงคโปร์ได้นำศิลปะและละครมาสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ หรืออาจจะเป็นกิจกรรมก็ได้ ถ้าเป็นในห้องเรียนก็ต้องเป็นการทดลอง ฝึกงานโดยการทำจริง เป็นอาสาสมัคร ทำของเล่น หรือการคิดขั้นสูงที่เรียกว่า Design Thinking การคิดเชิงออกแบบ
หนังสือเล่มหนึ่งคือ คู่มือสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก Creating Innovator ที่เขียนโดย Tony Wagner เขาศึกษาว่าคนที่เป็นนวัตกรในวันนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นที่ความ “สงสัย” การที่เด็กคนหนึ่งยอมเรียนรู้อะไรที่ท้าทายได้ เริ่มจากความหลงใหล (Passion) ที่มาจากความชอบ เพราะฉะนั้นศิลปะ ละคร การฝึกงาน การทำของจริงจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเรึยนรู้ในอนาคต
“การสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการทดลองได้
หากทักษะสำคัญที่จะทำให้เด็กอยู่ได้ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง
คือการทดลอง และกล้าเสี่ยง ระบบการศึกษาไทยก็ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกัน”
ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ภาคีเพื่อการศึกษาไทยจึงถูกจัดตั้งขึ้น มี 26 องค์กร เรายังเป็นองค์กรเล็ก ๆ ถ้าเทียบกับผู้ที่ทำด้านการศึกษาในประเทศไทยจำนวนมาก 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลก้าวหน้าในบางเรื่อง เราสามารถร่วมมือกับกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ผลักดันกฎหมายออกมา 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย และ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าน่าจะมีผลต่อการสร้างภาพการศึกษาใหม่ของประเทศไทยได้คือ “การสร้างพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา” เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการทดลองได้ หากทักษะสำคัญที่จะทำให้เด็กอยู่ได้ในโลกที่ไม่มีความแน่นอนสูงคือ การทดลอง การกล้าเสี่ยง ระบบการศึกษาไทยก็ควรจะมีลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
ภาคีเพื่อการศึกษาไทยจึงร่วมมือกับรัฐบาล และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขึ้น โดยภาคีเพื่อการศึกษาไทยอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ศรีสะเกษ และสตูล และทางรัฐบาลเติมให้อีก 3 พื้นที่คือ เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใน “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” จะมีนวัตกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สื่อการเรียนการสอน วิธีการฝึกบุคลากร บริหารบุคลากร การสอบ การประเมินผล และการบริหารจัดการแบบใหม่
และนี่คือสิ่งที่สำคัญที่ภาคีเพื่อการศึกษาไทย และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทย เพิ่งแล่นออกจากฝั่งได้ไม่นาน เราไม่รับประกันความสำเร็จ แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ “เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์”
----------------------
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษา และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
กล่าวในงาน TEP Forum 2019
“ภาพใหม่การศึกษาไทย : New Education Landscape”
ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ วันที่ 8 มิ.ย.62