เส้นทางการพัฒนาเยาวชนพลเมืองสตูล ปี1

เส้นทางการพัฒนาเยาวชนพลเมืองสตูลสู่กลไกสตูลยั่งยืน

­

สถานการณ์ “อวนลากอวนรุน” รุกล้ำน่านน้ำ และชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูลราวปี พ.ศ. 2530 ที่ทำให้เครือข่ายประมงพื้นบ้านต้องรวมตัวกันและลุกขึ้นมาหาแนวทางในการจัดการตนเอง เพื่อรับมือกับ “ผู้บุกรุก” ที่เข้ามากอบโกยทรัพยากรเหนือ “ทะเลหน้าบ้าน” การต่อสู้ครั้งนั้นยืดเยื้อยาวนานกระทั่งนำไปสู่การจัดตั้ง "กลุ่มประมงพื้นบ้านใน พ.ศ. 2540” ในที่สุด

การเคลื่อนไหวในนามของกลุ่มได้เกี่ยวร้อยเอาภาคประชาสังคมในจังหวัดสตูล ให้มาต่อสู้ร่วมกันซึ่งหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนคือ “สมพงษ์ หลีเคราะห์

กระทั่งปี พ.ศ. 2541 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่ม “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เป้าหมายคือการสนับสนุนให้ชาวบ้านแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนผ่านกระบวนการวิจัย กล่าวคือ ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ และนำองค์ความรู้นั้นไปแก้ไขปัญหา ซึ่งชาวบ้านที่เป็นเจ้าของปัญหาต้องเป็นผู้ดำเนินงานด้วยตนเอง โดยในระยะแรกเริ่มของงานวิจัยท้องถิ่นคือการ “มองหา” คนทำงานที่มีประสบการณ์กับชุมชน ซึ่งวีระ ทองพงษ์ นักพัฒนาเอกชนแถวหน้าของภาคใต้ ได้เข้ามาหารือและพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิด “ใช้งานวิจัยยกระดับและคลี่คลายปัญหาของชุมชนท้องถิ่น” นำไปสู่ความคิดความเชื่อที่ว่า งานพัฒนาที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ องค์กรชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเอง และสามารถจัดการปัญหาของชุมชนเองได้หากมียุทธวิธีที่เหมาะสม เครือข่ายนักพัฒนาจังหวัดสตูลจึงเห็นร่วมกันว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นโอกาสหนึ่งที่ให้ชุมชนท้องถิ่น สร้างความรู้ สร้างปัญญา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพคน ชุมชน หนุนเสริมงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสตูล

ดังนั้น ใน พ.ศ. 2544 การก่อร่างสร้างงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่สตูลจึงมีความชัดเจนมากขึ้น และเกิดการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล (NODE) โดยมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล (องค์กรภาคประชาชน) มีสมพงษ์ หลีเคราะห์ เป็นผู้ประสานงานจนถึงปัจจุบัน

กระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล ได้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทั้งทาง Node ทางโครงการวิจัย และเพื่อนพ้องพันธมิตรในแวดวงนักพัฒนาและประชาสังคมต่าง ๆ จนสามารถหยั่งราก ผลิใบ และให้ผลผลิตที่ตอกย้ำให้เห็นว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นอีกยุทธวิธีหนึ่ง ที่สามารถทำให้ความคิดความเชื่อของผู้เกี่ยวข้อง ที่อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเป็นความจริงได้ จนเกิดเป็นโครงการวิจัยในพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวน 24 โครงการ แยกเป็นโครงการที่ดำเนินแล้วเสร็จ 10 โครงการ กำลังดำเนินการ 14 โครงการ แบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ คือการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ในส่วนของประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านบ่อเจ็ดลูก” ค้นพบแนวทางการจัดการท่องเที่ยวกระทั่งเป็นต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้กับชุมชนอื่น ๆ จนปัจจุบัน

และชุดประเด็นการศึกษา โดยเฉพาะชุดประเด็นการศึกษาในโรงเรียนตะโละใส ที่มีอาจารย์สุทธิ สายสุนีย์ เป็นนักวิจัย (ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล) สามารถสร้างองค์ความรู้ที่เปลี่ยนหน้าตาการศึกษาของจังหวัดสตูลคือ “กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน 10 ขั้นตอน” ที่มีการนำรูปแบบการทำงานวิจัยไปใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนที่โรงเรียนอนุบาลสตูล จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดการศึกษาโดยใช้โครงงานฐานวิจัย (Research Based Learning) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียน ทำให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลมีประสบการณ์การทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระบบโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการทำงานด้านท่องเที่ยว และด้านการศึกษาแล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานฯ หรือทีมโหนด (Node) ยังร่วมกับชาวบ้านขึ้นโจทย์วิจัยในอีกหลายประเด็น เช่น เกษตรอินทรีย์ ประวัติศาสตร์ชุมชน และได้มีการนำกระบวนการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นไปจัดอบรมให้กับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่ทำงานกับชุมชน เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ฯลฯ

ปี พ.ศ. 2555 มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดทำ “โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ” ซึ่งทางศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลเห็นว่า กระบวนการและแนวทางที่ มูลนิธิสยามกัมมาจลออกแบบไว้จะสามารถ “ยกระดับ” การทำงานของทั้งเครือข่ายนักวิจัย และคณะทำงานของศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งการเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ก่อให้เกิดข้อค้นพบ และประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย อาทิ หลายพื้นที่เกิดกลไกการจัดการตนเอง เช่น สภากาแฟ (บ้านบ่อเจ็ดลูก) สภาองค์กรชุมชน (บ้านขอนคลาน) ขณะที่คณะทำงานเกิดข้อค้นพบสำคัญคือ การยกระดับชุมชนวิจัยไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองได้ต้องมีองค์ประกอบสามประการคือ “หลายคน หลายเรื่อง ต้องมีกลไก” ซึ่งหมายถึง ในชุมชนเกิดกลุ่มคนหลายคนที่สนใจเรื่องราวและประเด็นการพัฒนาชุมชนตนเองแตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็ต้องมีโครงสร้างคณะทำงานมีข้อตกลงร่วมกันที่จะร่วมคิด ร่วมรับผิดชอบ ร่วมทำงานเป็นกลไกกำกับการทำงานให้แต่ละเรื่องแต่ละประเด็นมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน

ซึ่งนอกจากแนวคิดดังกล่าว เงื่อนไขสำคัญของโครงการ “การสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ” คือการสร้างแกนนำแถว 2 แถว 3 รวมทั้งการสร้าง “คนรุ่นใหม่” หรือ เยาวชนในพื้นที่ให้เข้ามาทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่จะร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนต่อจากกลุ่มผู้ใหญ่ในอนาคต

จากการทำงานที่ผ่านมาการประกอบร่างกันระหว่าง “วิธีวิทยางานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” และ “กระบวนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง” จากชุดโครงการสึนามิ ทำให้ “ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล” เห็นเป้าหมายในการยกระดับไปสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง” ชัดขึ้น เมื่อเห็นความสำคัญของการสร้างคนรุ่นใหม่ผ่านชุดโครงการ Active citizen จึงได้กำหนดเป้าหมายของโครงการ Active citizen คือ การเปิดพื้นที่เปิดโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจปัญหาของบ้านเมืองตลอดจนเอาธุระ และไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ดังแนวคิดของโครงการ คือ “Rise up the chance : เยาวชนทนแลม้ายด้าย” อันหมายถึง เยาวชนที่มีการตื่นตัว ตื่นรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและจัดการอย่างชาญฉลาด

ดังนั้น เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดจะขยายพื้นที่การทำโครงการ Active citizen เพิ่มขึ้น 2 จังหวัด มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงชักชวนศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล เพราะเล็งเห็นศักยภาพในการทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ ความมีใจที่มุ่งมั่นกับการทำงานพัฒนาท้องถิ่น และประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ทางทีมโหนดจึงตอบตกลง ภายใต้ฐานคิดการทำงานของทีม 3 เรื่อง คือ

1.การทำงาน Active Citizen จะช่วยต่อยอดงานของภาคประชาสังคม

2.การทำโครงการต้องทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงพื้นที่

3.การสร้างเครือข่ายพี่เลี้ยงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนที่กว้างขึ้น

ในที่สุดจึงเกิดเป็น “โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล” ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนสู่การสร้างกลไกเยาวชนระดับจังหวัด และกลไกพี่เลี้ยงชุมชนที่ทำงานคู่ขนานกัน เพื่อเข้ามา “สืบต่อประเด็นการทำงานต่างๆ ของภาคประชาสังคม” ที่กลุ่มผู้ใหญ่ร่วมกันขับเคลื่อนอยู่ 7 ประเด็น ได้แก่ เครือข่ายประมง การจัดการทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สุขภาวะ และเกษตรกรรม โดยระยะเวลา 3 ปีของโครงการหลังจากนี้ ทีมงานหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสตูลคือ เพื่อพัฒนาจังหวัดสตูลสู่ “การจัดการสตูลยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) กำหนดขึ้น

­

­

กรอบคิดในการดำเนินงาน

โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล มีเป้าหมาย 2 ระดับ คือ 1. การพัฒนาเด็กเยาวชนสู่การสร้างกลไกเยาวชนระดับจังหวัด เพื่อเข้ามา“สืบต่อประเด็นการทำงานต่างๆ ของภาคประชาสังคม”และ 2. สร้างกลไกชุมชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยมีกระบวนการทำงานที่คู่ขนานกัน คือ

1. เดินตามเด็ก เป้าหมายคือการค้นหาเด็กและเยาวชนเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยพี่เลี้ยงหรือทีมโคชเข้าไปในพื้นที่เพื่อค้นหาเด็กกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน“ผุู้ใหญ่” ในชุมชน ซึ่งการทำงานลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการชักชวนและกระตุ้นให้เด็กอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการทำโครงการ ยังเป็นการช่วยอธิบายและทำความเข้าใจกับชุมชน ผู้ปกครอง และ/หรือพี่เลี้ยงเกี่ยวกับโครงการ

2. เดินพร้อมเด็ก เป็นกระบวนการที่โคชและพี่เลี้ยงพื้นที่ที่ต้องทำงานควบคู่กับเด็ก กรณีนี้พี่เลี้ยง อาจต้องเป็น “คนชวนเด็กหาความสนใจ” เพื่อทำกิจกรรมเป็นประจำในชุมชน เช่น งานจิตอาสา กีฬา งานช่วยเหลือชุมชน หรือพัฒนาทักษะอื่น ๆ ตามที่สนใจ ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นเสมือนการขยายเครือข่ายที่ทำให้เยาวชนรวมตัวกันได้ ขยายเครื่องมือหรือกิจกรรมใหม่ๆ เป็นการทำงานที่หนุนเสริมระหว่างกันให้กำลังใจขณะเด็กเกิดปัญหาระหว่างการทำงาน เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง (โดยทำได้ทั้ง 2 แบบคือ ผ่านพี่เลี้ยงพื้นที่ และทีมโคชจากศูนย์ประสานงาน)

กล่าวคือ กิจกรรมเดินพร้อมเด็ก สามารถเกี่ยวร้อยผู้เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกับเด็ก หากมีกิจกรรมต่อเนื่องก็จะมีการยกระดับไปสู่ “กลไกพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้าน...” ในอนาคต โดยให้เยาวชนแกนนำเป็นผู้ชักชวนเพื่อนมาเข้าร่วม เพื่อขยายกลุ่มเด็ก โดยเน้นกิจกรรมของกลุ่มที่เป็นกิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุก ๆ สัปดาห์ ทุกเดือน จนเกิดเป็นเครือข่าย เช่น เด็กปั่นจักยานเก็บขยะทุกอาทิตย์ เป็นต้น (Routine) เพื่อให้งานของกลุ่มมีความต่อเนื่อง และเกิดสายสัมพันธ์ยึดโยงกลุ่มผ่านกิจกรรม

3. หนุนเด็กเดิน คือ การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนคิดและทำกิจกรรมด้วยตนเอง โดยออกแบบให้เยาวชนดำเนินงานภายใต้กระบวนการ RDM ดังนี้

R1- Review ศึกษาข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรืออินเทอร์เน็ต

R2 – Research ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

R3 – Reconceptualize นำข้อมูลจาก R1 และ R2 มาวิเคราะห์ทิศทางการทำงาน และ ออกแบบการปฏิบัติการ

D-Development ดำเนินงานตามแผน และ

M- Movement ต้องนำไปสู่กิจกรรมสาธารณะในอนาคต ภายใต้การทำงานร่วมกันของเด็ก พี่เลี้ยง และชุมชน โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ มีกลุ่มเด็กและพี่เลี้ยงชุมชนเข้ามาร่วมทีมเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ กระบวนการทั้ง 3 ลักษณะจะนำไปสู่การสร้าง “กลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างยั่งยืน อีกทั้งจะก่อให้เกิดการพัฒนาคน เกิดกลไกในชุมชน และปัญหาที่เยาวชนและพี่เลี้ยงร่วมกันทำได้รับการแก้ไข หรือ คลี่คลาย

นอกจากการเกิดกลไกการทำงานแล้ว แนวทางการทำงานทั้ง 3 ลักษณะจะนำไปสู่การสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเยาวชน คือเกิดการพัฒนาทั้ง K: khowledge A : Attitude และ S : skill เช่นเดียวกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาในระบบ

­

กลไกการทำงาน

ทีมงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล หรือทีมโหนด ได้ร่วมกันวางแผนกลไกการทำงานเป็น 3 ระดับ คือ

1. กลไกบริหารจัดการโครงการ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล ซึ่งได้แบ่งบทบาทความรับผิดชอบในการพัฒนาเยาวชน ดังนี้

พิเชษฐ์ เบญจมาศ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้

ประวิทย์ ลัดเลีย ติดตามการดำเนินงานของเยาวชนในพื้นที่และเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชน

อับดุลอาสีด หยีเหม ฝ่ายเทคโนโลยี และติดตามการดำเนินงานของเยาวชน โคชเยาวชนในพื้นที่

ยุพาพร ปะดุลัง การเงิน/บันทึกรายรับ-รายจ่ายโครงการเยาวชน

แต่ทั้งหมดยังคง ”ทำงานร่วมกัน” เพื่อไปสู่เป้าหมายสำคัญของโครงการ

2. กลไกที่ปรึกษาโครงการ เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ใหญ่ในจังหวัดสตูลเข้ามาช่วยเติมมุมมอง การทำงาน พัฒนาเยาวชนของทีมโหนด และให้ความเห็นต่อโครงการที่เยาวชนดำเนินการ ประกอบด้วย

สมพงษ์ หลีเคราะห์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล

●อาจารย์สุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานฯ และผู้ดูแลเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

●หรน หัสมา ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานฯ และ อดีตศึกษานิเทศก์

●หุดดีน อุสมา ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานฯ และครูสอนภาษาอังกฤษที่ทำงานขับเคลื่อนภาคประชาสังคม

●ศักรินทร์ สีหมะ ประธานมูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี ต้นแบบการจัดการเรียนรู้โดยองค์กรชุมชน

คุณสมบัติของที่ปรึกษาโครงการ

●เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ทำให้เข้าใจอุปนิสัยในการทำงาน และมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน

●มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการศึกษาและภาคประชาสังคม

●สามารถเชื่อมประสานงานโครงการ Active Citizen ไปสู่แวดวงภายนอกที่กว้างขึ้นได้ อันจะทำให้โครงการได้รับการต่อยอด หรือขยายผล เพื่อสร้างผลกระทบที่มากขึ้น

3. กลไกชุมชน เพื่อให้การทำงานพัฒนาเยาวชนเกิดความต่อเนื่องในระยะยาว และเพื่อพัฒนา จังหวัดสตูลสู่ “การจัดการสตูลยั่งยืน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกในชุมชนเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งทีมศูนย์ประสานงานฯ มองว่ากลุ่มคนที่น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกนี้คือ

●ผู้นำชุมชน ทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือ

●พ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นคนที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก คอยช่วยเหลือ ดูแล

●พี่เลี้ยงพื้นที่ที่เป็นคนเล่นกับเด็ก หรือทำงานร่วมกับเด็ก

ฐานคิดความเชื่อ และกระบวนการดำเนินงาน

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลมีฐานคิดและความเชื่อเรื่อง “การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง” จึงใช้เครื่องมือการทำโครงการเพื่อชุมชน (Community project) เป็นเครื่องมือให้เยาวชนรวมกลุ่มกันทำงานเป็นทีม ร่วมคิดและร่วมลงมือทำโครงการ จากโจทย์สถานการณ์จริงในชุมชน ผ่านการคิดวิเคราะห์และวางแผนกระบวนการวิจัยด้วยเครื่องมือ RDM (รายละเอียดอยู่ในกระบวนการพัฒนาเยาวชน: 16 ขั้นตอนสร้างความรู้ ทักษะ และสำนึกพลเมือง)

ซึ่งภายหลังจากที่ได้กลไกการทำงานของโครงการ ทีมศูนย์ประสานงานฯ จึงจัดเวทีประชุมที่ปรึกษาโครงการ เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดของโครงการ แนวทางการหากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ และให้ที่ปรึกษาช่วย “ชี้เป้า” คนและพื้นที่ จนได้ข้อสรุป 3 เรื่อง ในการได้มาซึ่งกลุ่มเยาวชน ได้แก่

1.เชื่อมร้อยหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โรงเรียน และกลุ่มที่เคยทำงานวิจัยร่วมกันมาก่อนเพื่อหากลุ่มเป้าหมาย

2.ควรเลือกพื้นที่ที่มีความสนใจในการทำงานเยาวชน ไม่จำเป็นว่าต้องมีการรวมกลุ่มมาก่อน แต่พี่เลี้ยงและเด็กต้องอยากทำทั้งสองฝ่าย

3.พื้นที่เป้าหมายควรครอบคลุมทุกอำเภอ แม้ไม่รู้จักใครเลยในอำเภอนั้นก็ต้องหาให้เจอ เพื่อเป็นตัวอย่างโครงการในการขยายผลการดำเนินงานปีที่ 2

นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเยาวชน โครงการฯ ได้ออกแบบระบบการทำงานเพื่อหนุนเสริมการพัฒนาเยาวชน 5 ด้าน คือ

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

1. สร้างสำนึกและยกระดับคุณภาพเยาวชนสู่ความเป็น “พลเมือง” (Active Citizen) คือเยาวชนที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความสามารถในการพัฒนาตัวเอง และเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานกับผู้ใหญ่ในประเด็นต่างๆ ของจังหวัด เพื่อพัฒนาจังหวัดสู่เป้าหมาย “สตูลยั่งยืน”

2. พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนและผู้ปกครองสู่การเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นโคชหนุนเสริมงานเยาวชนที่กำลังขับเคลื่อน

3. ขับเคลื่อนกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ ผ่านการหนุนเสริมกลุ่ม/เครือข่ายเยาวชน และกลุ่ม/เครือข่ายแกนนำชุมชนกับผู้ปกครอง

4.พัฒนาชุดความรู้ในการสร้างการเรียนรู้แก่เยาวชน แกนนำชุมชน และผู้ปกครอง

5. ยกระดับการทำงานของพี่เลี้ยงโครงการสู่การพัฒนาเยาวชนอย่างมีความรู้และเป็นระบบ

คุณลักษณะแกนนำเยาวชนสตูลที่เป็นเป้าหมายของโครงการ

โครงการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเยาวชนให้เกิดคุณลักษณะสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ด้านแนวคิดและความเชื่อ คาดหวังว่าเยาวชนจะมีจิตสาธารณะ บนพื้นฐานการรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ครอบครัว และหน้าที่ต่อชุมชน 2) ด้านความรู้และทักษะ คาดหวังว่าเยาวชนจะมีความรู้ มีทักษะการคิด มีระบบคิด รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถสื่อสารความคิดของตนเองได้ เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย และ 3) ด้านปฏิบัติการ มีการใช้ความรู้มาต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชน ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ และมีทักษะการบริหารจัดการ สามารถประสานงานภายในทีมและชุมชน รู้จักวางแผน แบ่งบทบาทหน้าที่การทำงาน ดังภาพ

­

กระบวนการพัฒนาเยาวชน 16 ขั้นตอน: สร้างความรู้ ทักษะ และสำนึกพลเมือง

1.หาเด็ก หาพี่เลี้ยง: กิจกรรมค้นหาแกนนำ

หลังจากออกแบบกลไกการดำเนินงานทั้งระบบ ทีมโคชจึงติดต่อประสานงานกับ “แกนนำชุมชน” ในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ และจัดกิจกรรม “สร้างความเข้าใจ” กับผู้ใหญ่ในชุมชนก่อน ทั้งกลุ่มที่เคยร่วมงานกันมาก่อน และกลุ่มที่ไม่เคยทำงานร่วมกัน เพื่อหาพี่เลี้ยงที่สนใจเรื่องกระบวนการพัฒนาเยาวชน โดยใช้เทคนิค “แบหมด” ทั้งแนวคิดโครงการ วิธีการทำงาน ภาคี ภาพฝัน และงบประมาณ เพื่อทำให้ชุมชนไว้ใจ และเห็นเป้าหมายการทำโครงการร่วมกัน ทั้งนี้ โครงการตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการสนับสนุนเยาวชนให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยเริ่มลงพื้นที่ศึกษาบริบทและทำความเข้าใจในพื้นที่วิจัยเดิมก่อน ส่วนพื้นที่ใหม่จะให้ที่ปรึกษาช่วยชี้เป้าให้ว่าควรติดต่อใคร หรือหน่วยงานใด

จากการลงพื้นที่พบว่า บางพื้นที่ยังไม่เจอพี่เลี้ยงตัวจริง เป็นเพียงคนชี้เป้าที่ให้คำแนะนำต่อว่าควรไปหาใคร บางพื้นที่มีพี่เลี้ยงสนใจแต่ยังไม่มีเยาวชน และบางพื้นที่ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ทีมจึงต้องลงไปพูดคุยกับเด็ก ๆ ในพื้นที่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พี่เลี้ยงเข้าใจโครงการมากยิ่งขึ้น จึงจัดกิจกรรมปฐมนิเทศขึ้นที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลเป็นเวลา 1 วัน โดยมีกิจกรรมสันทนาการสร้างความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนแนวคิดของโครงการ และการจัดทำแผนการดำเนินงาน

2.ทำความเข้าใจกันและกัน: กิจกรรมทำความเข้าใจพื้นที่และเรียนรู้ทิศทางโครงการ

เนื่องจากเป็นการทำงานในรูปแบบใหม่กับคนกลุ่มใหม่ และพื้นที่ใหม่ในบางโครงการ การจะทำงานให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ทีมโคชจำเป็นต้อง “รู้จักเด็ก รู้จักพื้นที่” รายโครงการ จึงออกแบบเครื่องมือ “ปฏิทิน/นาฬิกาชีวิต” เพื่อให้เยาวชนทบทวนกิจกรรมของตนเองในแต่ละวัน และที่ทำให้ทีมโคชได้รู้ตารางชีวิตของเยาวชนแต่ละคน และเก็บเป็นฐานข้อมูลที่จะเข้าใจวิถีชีวิตเยาวชนมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการไปพบปะกับเยาวชนหลายครั้ง และส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลากลางคืน เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ต้องเรียนหนังสือและมีธุระส่วนตัว เช่น ช่วยพ่อแม่กรีดยาง ทำสวน เล่นเกม ดูบอล เป็นต้น รวมถึงเป็นโอกาสที่จะได้สร้างความเข้าใจเรื่อง พลเมืองตื่นรู้หรือ ACTIVE CITIZEN ที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการอีกครั้ง

การทำกิจกรรมในขั้นตอนนี้ เป็นเหมือนกระบวนการกลั่นกรองที่คัดเลือกเยาวชนจาก 20 ทีมที่สนใจ ให้เหลือทีมที่เข้าร่วมโครงการจริง 15 ทีม เพราะได้เกิดความเข้าใจกันชัดเจนมากขึ้น ทั้งความพร้อมของเยาวชนในการจัดการเวลาทำกิจกรรม ความต้องการในการพัฒนาศักยภาพตนเอง และได้เห็นว่าทีมใดมีคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนดไว้คือ “มีเด็ก มีพี่เลี้ยง และทั้งเด็กและพี่เลี้ยงมีใจอยากทำ” โดยจากการทำกิจกรรมสามารถแบ่งกลุ่มเยาวชนในโครงการออกเป็นกลุ่มตามภาพข้างล่าง

3 .สรุปภาพรวมและแนวทางไปต่อ: ประชุมที่ปรึกษาโครงการ

เมื่อเริ่มเห็นเด็ก เห็นพี่เลี้ยง และเห็นพื้นที่ทำงานที่สนใจเข้าร่วม เพื่อให้การทำโครงการประสบผลสำเร็จ ทีมโคชได้นำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อที่ปรึกษาโครงการฯ อีกครั้ง เพื่อช่วยวิเคราะห์หาแนวทางการดำเนินงานต่อ อันนำไปสู่การปรับประยุกต์เครื่องมือการเรียนรู้ในพัฒนาโครงการเพื่อชุมชน (Community project) จากเดิมที่จะใช้กระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน มาเป็นเครื่องมือ “3R D M” ที่ประยุกต์จากโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ โดยมีเหตุผลคือ กระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอนใช้เวลาทำนานเกินไป ขณะที่โครงการนี้เยาวชนมีเวลาทำงานเพียงแค่ 6 เดือน ซึ่งข้อดีของเครื่องมือ 3R D M คือ ใช้เวลาในการทำไม่มากและไม่เข้มข้นเท่ากระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน ซึ่งเยาวชนที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำวิจัยมาก่อนน่าจะสามารถเรียนรู้และทำได้ พร้อมกับปรับเปลี่ยนการสนับสนุนงบประมาณในการทำโครงการใหม่เป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกใช้สำหรับ “การวางแผนและศึกษาข้อมูลชุมชนในประเด็นที่สนใจ” (3R) ระยะที่ 2 ใช้ในระยะจัดกิจกรรมพัฒนาคน/ชุมชน ตามโจทย์หรือเป้าหมายที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลในระยะก่อนหน้านี้ หรือ D คือ Development และ M คือ Movement สื่อสารสร้างความรับรู้ /สร้างการเรียนรู้กับสาธารณะ ให้มีการขยับขยายเครือข่ายแนวร่วมในการดำเนินงานตามโจทย์หรือประเด็นที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

4.รู้จักเพื่อน รู้จักชุมชน: ค่ายพัฒนาโครงการและจิตวิทยาเด็ก

เมื่อได้รู้จักเยาวชนมากขึ้นและได้เครื่องมือในการทำงานแล้ว จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมค่ายพัฒนาโครงการและจิตวิทยาเด็ก ซึ่งกิจกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมโครงการฯ รู้จักทีมโคช รู้จักทีมงานร่วมทางทุกคนที่จะเป็นผู้สนับสนุนตลอดการเดินทางครั้งนี้ และมีเป้าหมายเพื่อให้ได้แผนการทำโครงการ สำหรับกลับไปดำเนินการต่อในชุมชน โดยจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนที่ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่นจังหวัดสตูล ซึ่งเยาวชนบางทีมที่ไม่สะดวกจะเข้าร่วมครบทั้ง 3 วัน ก็สามารถเลือกเข้าร่วมในวันที่สะดวกได้ เพราะทีมมีแนวคิดว่าจะไม่ตัดโอกาสในการเรียนรู้ของเยาวชน

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการให้เยาวชนจับกลุ่มกันเพื่อเข้าฐานการเรียนรู้ 7 ฐาน เพื่อละลายพฤติกรรมและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ภายใต้เงื่อนไขคือ “เคารพในร่างกายและจิตใจผู้อื่น” ต่อด้วยการเสวนาเล่าเรื่องเมืองสตูล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์จังหวัดสตูลในมิติต่าง ๆ เช่น การศึกษา เกษตร ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ และสมัชชาคนสตูล ทำ Social Mapping และพัฒนารายละเอียดโครงการ โดยได้คณะครูจากโรงเรียนอนุบาลสตูลมาเป็นโคชเสริม ช่วยชวนคิดชวนคุย และพาเยาวชนไปดูการทำงานของกลุ่มสองล้อรักบ้านเกิด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเห็นตัวอย่างการทำโครงการที่ไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่ควรจะ “สนุก ทำได้จริง พัฒนาศักยภาพของตัวเอง” ได้อย่างต่อเนื่อง

ผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้ ทำให้เยาวชนได้รู้จักเพื่อน โคช ที่ปรึกษาโครงการ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ประเด็นที่สนใจทำโครงการ มีหัวข้อโครงการและวัตถุประสงค์โครงการชัดเจนขึ้น และมองเห็นว่าค่ายเป็นตัวเชื่อมคนให้เข้ามาทำงานร่วมกันได้ ขณะเดียวกันข้อติดขัดที่ทีมพบคือ เนื้อหาอัดแน่นเกินไป ทำให้เยาวชนรับเนื้อหาไม่ได้ทั้งหมด แต่ที่สำคัญคือเวทีนี้ทำให้ทีมโคชได้เปลี่ยนความคิดตนเอง จากที่เคยคิดว่า ต้องทำงานเองทั้งหมด กลายเป็นการชวนคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ เพราะรู้แล้วว่าทั้งหมดทำคนเดียวไม่ได้

­

5.จะทำอะไร ใช้เงินเท่าไหร่: เวทีบริหารจัดการโครงการ

การบริหารจัดการโครงการเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ทีมจึงจัดเวทีบริหารจัดการโครงการขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงิน ด้วยชวนเยาวชนคลี่รายละเอียดของกิจกรรมที่จะทำ เพื่อกำหนดความเหมาะสมของงบประมาณ และวางแผนเก็บข้อมูลตลอดขั้นตอนของ 3R ประกอบด้วย R1 Review ชุดข้อมูลที่มีการรวบรวมไว้แล้ว ในรูปแบบเอกสาร, R2 Research ลงพื้นที่หาข้อมูลเพิ่มเติม โดยวิเคราะห์จากเอกสาร และตั้งประเด็นคำถามที่สนใจอยากรู้เพิ่ม ผ่านการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้ ทั้งมิติสาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เยาวชนรู้ข้อมูลรอบด้าน ทั้งข้อมูลในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก , R3 Reconceptualize สรุป วิเคราะห์ หาแนวทางการปฏิบัติการ จากข้อมูล และความเป็นไปได้

­

แบบฟอร์มตารางการปฏิบัติงาน

6.ติดตามและเติมเต็มโครงการ: เวทีนำเสนอโครงการครั้งที่ 1

หลังจากที่เด็กเยาวชนได้รู้ทุกข์รู้ทุนของตนเองและชุมชนจนเกิดความชัดเจนในสิ่งที่จะทำแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการฝึกเขียนข้อเสนอโครงการ และการนำเสนอโครงการต่อผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะช่วยปรับจูนโครงการเด็กให้คมชัดยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเวทีนี้ก็มีวัตถุประสงค์แฝงคือ เป็นการฝึกทักษะการพูด การนำเสนอความคิด ความกล้าแสดงออก และทักษะการสื่อสารแก่เยาวชนด้วย

โดยทีมโคชจะให้เยาวชนจะมานอนค้างคืนที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล เพื่อเตรียมการนำเสนอ โดยมีทีมโคชช่วยดูแลแนะนำลำดับการนำเสนอให้เป็นระบบ แต่จะไม่ไปแตะเนื้อหาโครงการของเยาวชน เพื่อให้เยาวชนนำเสนอตามความเข้าใจของตัวเองจริง ๆ ซึ่งจะทำให้เข้าใจคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีต่อโครงการตัวเองได้ดีกว่า ส่วนเทคนิคการนำเสนอจะเป็นรูปแบบใดก็ได้แล้วแต่ความถนัด เช่น คลิปวิดีโอ ละคร หรือ พาวเวอร์พอยต์ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และแสดงศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่

ผลลัพธ์ของการนำเสนอ พบว่า เยาวชนเห็นปัญหาจากชุมชนของตัวเอง รู้จักชุมชนของตัวเอง จนนำไปสู่เรื่องที่ตัวเองอยากจะทำชัดขึ้น มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และเรียนรู้การจัดการอารมณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะการก้าวข้ามความกลัวไมค์ และความเขินอาย เป็นต้น ขณะที่โคชก็ได้มองเห็นว่าทีมไหนควรเข้าไปเติมเรื่องใดระหว่างการสื่อสาร ทักษะการคิด หรือเนื้อหาโครงการ

7.ฝึกฝนทักษะการสื่อสารและรู้เท่าทันสื่อ: โปรเจ็กต์สื่อโดนใจ ครั้งที่ 1

การอบรมสื่อเป็นหนึ่งในขั้นตอนการพัฒนาเยาวชน Active Citizen เนื่องจากโครงการฯ เชื่อว่าทักษะการรู้เท่าทันสื่อและมีวิธีคิดในการทำสื่อที่สร้างสรรค์จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 หากเยาวชนสามารถออกแบบและใช้สื่อเป็นเครื่องมือบอกเล่าเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์และมีพลังให้สังคมรับรู้ จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น โดยในครั้งแรกเยาวชนได้ฝึกทักษะการสื่อสารผ่านภาพถ่ายและการเขียน เนื้อหาการเรียนรู้หลักมีดังนี้

●การรู้เท่าทันสื่อ ทั้งข้อดีและข้อเสีย

●การถ่ายภาพเพื่อสื่อสารและการเขียนบรรยาย (Caption) อย่างสร้างสรรค์

●เล่าเรื่องผ่านการเขียนบรรยาย การเขียนพรรณนาเชิงเปรียบเทียบ และออกแบบเป็นนิตยสารทำมือ โดยเลือกโจทย์ชุมชนที่เยาวชนอยากรู้จักมากที่สุด

●ฝึกทักษะการจับประเด็น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนไปสัมภาษณ์คนในชุมชน ผ่านกิจกรรมสถานการณ์สมมติ เล่าเรื่องโครงการที่ตนเองทำให้เพื่อนฟัง

สิ่งที่โคชค้นพบคือ เยาวชนรุ่นใหม่มีทักษะด้านเทคโนโลยี แต่ยังขาดแนวคิดในการโพสต์ที่สร้างสรรค์ และสิทธิ จรรยาบรรณของสื่อ การจัดกิจกรรมนี้จึงช่วยเติมเต็มความรู้ความคิดดังกล่าวแก่เยาวชน และทำให้เยาวชนเขียนรายงานส่งโครงการฯ ได้ง่ายขึ้นด้วย

­

8.เติมเต็ม 3R: นำเสนอโครงการครั้งที่ 2

หลังจากที่เยาวชนเก็บข้อมูล 3R ครบตามแผนที่วางไว้ เวทีนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยเติมเต็มแผนการทำงานแก่เยาวชน คือ D และ M โดยให้เยาวชนได้สรุปผลการศึกษาข้อมูลในประเด็นที่สนใจทำโครงการมานำเสนอ เพื่อให้เห็นแนวทางการพัฒนาโครงการต่อ รวมทั้งเป็นพื้นที่ฝึกทักษะการนำเสนอแก่เยาวชน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจในแนวคิดการสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชนแก่พี่เลี้ยงชุมชน เพื่อให้รู้วิธีหนุนเสริมเยาวชนในการทำกิจกรรมในชุมชนแบบไม่ชี้นำ แต่เฝ้าสังเกตการณ์ ติดตามพัฒนาการเรียนรู้ ช่วยตั้งคำถามทำกระบวนการทางความคิดในระหว่างลงมือทำกิจกรรม

ผลลัพธ์ของกิจกรรม พบว่า เยาวชนนำเสนอเป็นระบบขึ้นมากกว่าเวทีแรก มองเห็นแนวทางการทำงานโครงการของตัวเองต่อ ขณะที่โคชและพี่เลี้ยงก็มองเห็นสิ่งที่ต้องไปหนุนเสริมแก่เยาวชนแต่ละพื้นที่ในขั้นตอน 3R

­

9.รู้จักเพื่อน รู้จักตัวเอง เพื่อทำงานร่วมกัน: ค่ายพลังกลุ่มและความสุข

ทักษะ “การทำงานเป็นทีม” คือทักษะสำคัญหนึ่งที่เยาวชนจะต้องนำไปใช้ในการทำโครงการร่วมกับเพื่อน โคชจึงจัดค่ายพลังกลุ่มและความสุขขึ้น เพื่อเติมแนวคิดการทำงานเป็นทีมแก่เยาวชน โดยเริ่มจากกิจกรรมรู้จักตัวเอง และเพื่อนผ่านกิจกรรมสัตว์สี่ทิศ ที่ทำให้รู้ว่าแต่ละคนมีนิสัยอย่างไร และจะทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างจากตัวเองอย่างไร จากนั้นจึงเล่นเกมต่าง ๆ เช่น เกมตาราง 6 ช่อง, เก้าอี้ดนตรี, ลูกเป็ดขี้เหร่ และเกมเท้าชิด ซึ่งทั้งหมดจะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนการทำงาน ความสามัคคี การรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และการทำงานเป็นทีม

­

10.เยาวชนลงมือทำโครงการในชุมชน : หัวใจสำคัญของการสร้างทักษะและลักษณะนิสัย (Character building)

เมื่อเยาวชน “คิด วิเคราะห์” เพื่อพัฒนาโครงการได้แล้ว จึงเป็นช่วงของการ “ลงมือทำโครงการ” ที่เป็นเส้นทางการเรียนรู้สำคัญ (Learning journey) ที่จะเจอปัญหาและความท้าทายมากมาย ซึ่งโครงการฯ เชื่อว่า “ปัญหาคือโอกาสในการเรียนรู้” การที่เด็กได้เผชิญปัญหา และคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยมีพี่เลี้ยงและโคชคอยสังเกตการณ์ หาจังหวะที่เหมาะสมเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ ตรงนี้เป็นกระบวนการบ่มเพาะ สร้างทักษะและลักษณะนิสัย (Character building) ให้กับเยาวชน ซึ่งจากการดำเนินโครงการพบสถานการณ์ปัญหาที่เยาวชนต้องเผชิญ และบทบาทของพี่เลี้ยงและโคชที่จะเข้าไปช่วยสร้างการเรียนรู้ ดังนี้

1)เมื่อเริ่มต้นทำโครงการที่ต้องนำเสนอโครงการต่อชุมชน เยาวชนจะเผชิญสถานการณ์การพูดในที่ชุมชนครั้งแรก โคชและพี่เลี้ยงควรเข้าไปสร้างกำลังใจ เชื่อมโยงคนในชุมชนให้มารับฟังข้อมูล ช่วยตั้งคำถามเพื่อให้เยาวชนวางแผนลำดับในการนำเสนอ

2)ช่วงที่จะเริ่มทำโครงการ เยาวชนอาจรวมกลุ่มกันได้ยากเนื่องจากสมาชิกติดเรียน ติดทำกิจกรรม ในระยะแรกเพื่อให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม โคชต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นให้แกนนำหาวิธีในการสื่อสารและตกลงวิธีการทำงานร่วมกัน เช่น สื่อสารผ่านไลน์กลุ่ม นัดประชุมทุกเย็น เป็นต้น

3)ในการเก็บข้อมูล เยาวชนมักเจอปัญหาการวางแผนเก็บข้อมูล การแตกประเด็นที่จะเก็บข้อมูล การหาผู้รู้ การตั้งคำถาม การบันทึกข้อมูล การแบ่งบทบาทของสมาชิกกลุ่ม เนื่องจากเยาวชนไม่เคยทำกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน โคชควรเข้าไปช่วยเยาวชนวางแผนก่อนลงมือทำ (Before action review) การทำลักษณะนี้จะทำให้เยาวชนเห็นทั้งงาน คน การจัดการการเงิน และเห็นชุมชน ในขั้นนี้เยาวชนอาจจะมีอารมณ์ หงุดหงิด ไม่ได้ดังใจ ไม่ฟังกัน ยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก บางคนแก้ปัญหาโดยการทำงานคนเดียว ดังนั้น โคชหรือพี่เลี้ยงต้องวิเคราะห์ให้ออก ปล่อยให้เยาวชนเผชิญกับปัญหา พี่เลี้ยงต้องมั่นคง ไม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา เพราะปัญหาคือโอกาสให้เยาวชนได้ปรับตัว พี่เลี้ยงควรคอยสังเกตว่าเยาวชนมีภูมิหลังอย่างไร แล้วรอจังหวะที่เยาวชนเข้ามาปรึกษาซึ่งพี่เลี้ยงต้องทำหน้าที่รับฟัง

4)ในระหว่างที่เยาวชนเผชิญปัญหาจากการทำงานร่วมกัน หรือการเผชิญอุปสรรคต่างๆ จนอาจนำไปสู่ความ “ท้อ” หรือต้องการ “ล้มเลิก” เช่น เพื่อนในทีมไม่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น โคชหรือพี่เลี้ยงควรตั้งคำถามกระตุ้นคิดให้เยาวชนสะท้อนคิด (Reflection) ในเรื่องต่อไปนี้ 1) การวางแผนการจัดการงาน ไม่เป็นผู้นำเดี่ยว ทำงานแบบร่วมมือ 2) การจัดการอารมณ์ พี่เลี้ยงต้องมั่นคง และเป็นคนตั้งหลักให้ 3) การเข้าใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตั้งคำถามให้เด็กเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาและการไปต่อ

5)ปัญหาในเชิงเทคนิคการทำงาน เช่น ไม่มีความรู้ในการย้อมผ้า อุปกรณ์ไม่พอในการเล่นดนตรี หาผู้รู้ในชุมชนไม่ได้ บันทึกข้อมูลไม่เป็น ทำสื่อไม่เป็น พี่เลี้ยงต้องช่วยสนับสนุนให้เยาวชนมีทักษะการทำในเบื้องต้น เช่น สอนเอง เชื่อมผู้รู้ หรือพาไปศึกษาดูงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

6)ช่วงคืนข้อมูล ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ขาดการกำหนดเป้าหมายของการคืนข้อมูลว่าต้องการให้ชุมชนรับรู้และมีส่วนร่วมอะไร การนำเสนอข้อมูลที่เพียงพอเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนต้องการมีส่วนร่วม การประสานงานเชิญชวนคนในชุมชนมาเข้าร่วม รวมถึงทักษะในการสื่อสารและการนำเสนอเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนสนใจ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยการวางแผนและฝึกซ้อม ดังนั้น โคชและพี่เลี้ยงควรชวนเยาวชนกำหนดเป้าหมาย วางแผนการจัดกิจกรรม และฝึกซ้อมการนำเสนอ

11.พัฒนาทักษะการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์: โปรเจ็กต์สื่อโดนใจ ครั้งที่ 2

การอบรมเชิงปฎิบัติการโปรเจ็กต์สื่อโดนใจ ครั้งที่ 2 เยาวชนได้ฝึกทักษะการเล่าเรื่องผ่านการทำวิดีโอ โดยการนำประสบการณ์จากการทำโครงการ และสิ่งที่พบเจอระหว่างที่ลงพื้นที่นำมาผลิตสื่อในรูปแบบที่ตนเองสนใจ โดยนำเทคนิคเรื่องการถ่ายภาพ การตัดต่อวิดีโอ การตั้งคำถามและสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลมาใช้ประกอบในการเล่าเรื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเยาวชนนักสื่อสารที่จะนำทักษะและเทคนิคต่างๆ ไปใช้ในการถ่ายทำวิดีโอเพื่อนำเสนอโครงการของตนเองในพื้นที่ และเพื่อสร้างการรับรู้กับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

­

12.พัฒนาสื่อให้เป็นรูปธรรม: โปรเจ็กต์สื่อโดนใจ ครั้งที่ 3

การอบรมโปรเจ็กต์สื่อโดนใจครั้งที่ 3 เป็นการพัฒนาโปรเจ็กต์การทำสื่อที่ลงลึกมากขึ้นตามความสนใจและความถนัดของเยาวชน เพื่อนำไปใช้สื่อสารโครงการของตัวเองในชุมชนและงานมหกรรมพลังเยาวชนที่จะมีขึ้นช่วงท้ายของโครงการฯ โดยโคชจะเช็กความสนใจของแต่ละกลุ่มก่อน เพื่อวางแผนประสานวิทยากรและจัดกิจกรรม ซึ่งได้ข้อสรุปความสนใจของเยาวชนออกมา 5 ประเภท ได้แก่ 1.วิดีโอ 2.การแสดงละคร 3.คลิปขนาดสั้น 4.เพลง, ดนตรี และการละเล่น 5.นิตยสารและหนังสือทำมือ แล้วให้แต่ละทีมส่งตัวแทนฝ่ายสื่อสารทีมละ 2 คนมาเรียนรู้เช่นเคย ก่อนนำกลับไปขยายผลให้เพื่อนในทีม

ผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้ทำให้เยาวชนได้ฝึกฝนทักษะการสื่อสารตามความถนัดและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสื่อตามสไตล์ของตัวเอง

หลังจากเลือกสไตล์การทำสื่อของทีมตัวเองและเรียนรู้ไปเบื้องต้นแล้ว ครั้งนี้เยาวชนจะมาลงปฏิบัติการภายในค่าย จะเป็นการลงมือซ้อม ลงมือทำ และรับคอมเมนต์ เพื่อปรับแก้ผลงานของตัวเองให้เสร็จสมบูรณ์ แต่ครั้งนี้โคชออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนทุกคนและทุกทีมต้องมาเข้าร่วมกิจกรรม ขณะที่โคชก็ช่วยแนะนำเรื่องการออกแบบชุดความคิดที่น่านำเสนอผ่านสื่อ

การทำเวทีโปรเจ็กต์สื่อโดนใจถึง 3 ครั้ง ทำให้โคชค้นพบว่า การทำสื่อมีประโยชน์ในการช่วยให้เยาวชนตกตะกอนทางความคิดเรื่องการทำโครงการ และจัดข้อมูลให้เป็นระบบ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารการทำโครงการแก่คนในพื้นที่ได้ดี เช่น คลิปวิดีโอของทีมเกตรี ที่ทำให้คนในพื้นที่รับรู้ว่าเยาวชนกลุ่มนี้ทำอะไร โดยไม่ต้องไปเดินบอกหรืออธิบายให้มาก และเมื่อคนทั้งตำบลรับรู้แล้วก็เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการของเยาวชน

­

13.กระชับความสัมพันธ์โคชกับเยาวชน: ค่ายพลังกลุ่มและความสุข รอบที่ 2

สาเหตุที่ค่ายพลังกลุ่มและความสุข จัดขึ้นเป็นรอบที่ 2 เนื่องจากเยาวชนหลายทีมมีคนใหม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามา เยาวชนรุ่นพี่บางคนต้องออกไปเรียนต่อนอกพื้นที่ รุ่นน้องจึงต้องขึ้นมาเป็นแกนนำแทน ทีมโคชจึงจัดกิจกรรมนี้ให้ทุกกลุ่มในพื้นที่ใหม่อีกครั้ง กลุ่มละ 1 วัน โดยใช้กิจกรรมเดิมคือ การเรียนรู้ตัวเองและเพื่อนร่วมทีมผ่านกิจกรรมสัตว์สี่ทิศ เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม ขณะเดียวกันโคชกับเยาวชนที่มาใหม่ก็ได้รู้จักกัน สนิทสนมกันมากขึ้น ทำให้กล้าพูดคุยกัน และสื่อสารการทำงานได้เร็วขึ้น

­

14.ขยายมุมมองจากชุมชนสู่ระดับโซน: เวทีประชุมโซน

จากการมองเห็นปัญหาในระดับชุมชน โคชได้ชวนเยาวชนเติมมุมมองความเป็นพลเมืองในระดับโซน (ไม่ได้กำหนดเป็นทางการ แต่มีการประสานงานโดยยึดพื้นที่เป็นฐานทำงานร่วมกัน)เพื่อให้เยาวชนมองเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับสังคมในระดับใหญ่ขึ้น และปลุกสำนึกอยากมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเป็นไปของโซน โดยใช้จุดร่วมทางภูมิศาสตร์แบ่งโซนเป็น 3 โซน ได้แก่

1. โซนอำเภอควนกาหลง และอำเภอเมือง มีลักษณะวิถีชีวิตแบบคนเมือง

2. โซนอำเภอละงู และอำเภอทุ่งหว้า เป็นชุมชนชายฝั่ง มีวิถีชีวิตผูกพันกับทะเล

3. โซนอำเภอท่าแพ อยู่ในโซนที่มีนิเวศน์เป็นภูเขาและคลอง

โดยกระบวนการขยายมุมมองพลเมืองแก่เยาวชน จะใช้พื้นที่โซนมาเป็นเครื่องมือให้เยาวชนร่วมกันแลกเปลี่ยนว่าภายในแต่ละโซนเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นบ้าง แล้วพี่เลี้ยงกับโคชจะช่วยกันขมวดให้เห็นความเชื่อมโยง

นอกจากนั้นเวทีประชุมโซนยังเป็นเวทีในการติดตามงานช่วงปลายโครงการของโคชด้วยว่า แต่ละทีมกำลังทำอะไร ติดอยู่ตรงไหน พื้นที่ไหนที่ทำงานของตัวเองลุล่วงแล้วก็สามารถลงไปช่วยเพื่อนกลุ่มที่ยังไม่เสร็จได้ จุดนี้ทำให้โครงการฯ ได้ทั้งการตามความคืบหน้าการทำงานของเยาวชนให้ทันก่อนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และทำให้พี่เลี้ยงกับเยาวชนข้ามพ้นจากการทำงานในพื้นที่ของตัวเองได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดเครือข่ายของเยาวชนจังหวัดสตูล

­

15. Learning Journey: เวทีสรุปเส้นทางการเรียนรู้

ก่อนงานมหกรรมพลังยาวชนจะเกิดขึ้น ทีมโคชได้ชวนเยาวชนมาประชุมทบทวนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านเครื่องมือ “Learning Journey” โดยจัดขึ้นในพื้นที่ของแต่ละทีม ซึ่งโคชจะเลือกลงจัดกิจกรรมให้กลุ่มที่งานมีความคืบหน้าช้าที่สุดก่อน เพื่อให้น้องเหลือเวลาทบทวนตัวเองมากพอก่อนสิ้นสุดระยะการทำโครงการ

เครื่องมือ Learning Journey จะมีลักษณะเป็นเส้นทางการเรียนรู้ โดยมีขั้นตอน RDM เป็นธงในแต่ละระยะ เพื่อสะท้อนให้เยาวชนเห็นว่า พวกเขาทำอะไรไปบ้าง และในระยะนั้นเกิดอะไรขึ้น ได้บทเรียนอะไร และเหลืออะไรที่ต้องทำต่อหลังจากนี้ พร้อมกันนั้น โคชได้ถือโอกาสชวนคิดชวนคุยวางแผนงานมหกรรมของแต่ละทีมด้วย

­

16.มหกรรมเยาวชนสตูล: เยาวชนทนแลม้ายด้าย

เส้นทางการเดินทางอันยาวนานเกือบ 1 ปีของเยาวชนสตูลได้มาถึงจุดสิ้นสุดและจุดที่น่ายินดีไปพร้อมกัน เมื่อพวกเขาได้มีพื้นที่ที่จะแสดงพลังมหกรรมสื่อสารความคิด ความเชื่อ และกระบวนการทำงานให้ผู้ใหญ่และสังคมภายนอกได้รับรู้ในงาน “มหกรรมเยาวชนสตูลครั้งที่ 1 เยาวชนทนแลม้ายด้าย : Rise up the chance” ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2562 ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ซึ่งเป็นแม่ข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล นอกจากสื่อสารโครงการของเยาวชนแล้ว นี่ยังเป็นโอกาสสร้างการรับรู้แก่หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในจังหวัดซึ่งอาจนำไปสู่การขยายผลโครงการฯ ต่อไปด้วย

กิจกรรมภายในงานมุ่งเน้นสะท้อนบทบาทของเยาวชนที่ไม่เพิกเฉยต่อความเป็นไปของชุมชนตัวเอง พื้นที่ของตัวเองผ่านกิจกรรมที่เขาทำสอดคล้องกับแนวคิด Active Citizen ซึ่งมีทั้งห้องเวิร์กช็อปสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนประเด็น เด็กอวดดี สีลัต ผ้ามัดย้อม สุขภาพ และประวัติศาสตร์ ห้องเวิร์คช็อปของพี่เลี้ยง ครู และคนทำงานเยาวชนในประเด็น คนเล่นกับเด็ก เทคนิคการโคชและการสร้างเรียนรู้จากการลงมือทำโครงการเพื่อชุมชน เวทีการแสดงดนตรี ละคร วิดิโอสั้นผลงานของเยาวชน การเสวนา “พลเมืองเยาวชน 4.0 สร้างได้อย่างไร” นิทรรศการแสดงผลงานการดำเนินงานโครงการเยาวชน 6 ประเด็น ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ ผักปลอดสารพิษ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สุขภาวะ และสินค้าแลผลิตภัณฑ์ชุมชน นิทรรศการภาพถ่ายเล่าเรื่อง นิทรรศการจากภาคีเครือข่าย และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทิศทางกลไกจัดการเยาวชนในอนาคต ชุดการนำเสนอเพื่อขยายผลกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ที่มีเป้าหมาย คือ สื่อสารการเรียนรู้จากการทำโครงการของเยาวชน บทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนการเรียนรู้ และหาแนวร่วมสำหรับการเข้าร่วมโครงการในปีที่ 2

­

­

กระบวนการพัฒนาพี่เลี้ยงชุมชน : 4 ขั้นตอนสู่การเป็น “โคช”

เพราะโครงการฯ เชื่อว่า การพัฒนาเยาวชนจำเป็นต้องมี “กลไกระดับพื้นที่” สนับสนุนการทำงานของโคช เพื่อทำความเข้าใจกับพ่อแม่ของเยาวชนและชุมชน รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงให้เยาวชนระหว่างดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ รับบทบาทเป็น “โคชในบ้าน” โดยคุณลักษณะพี่เลี้ยงชุมชนที่คาดหวังแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ แนวคิดและความเชื่อ ความรู้และทักษะ และปฏิบัติการ รวม 7 คุณลักษณะ ดังภาพ

­

­

กระบวนการพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงชุมชน

โครงการฯ ออกแบบให้มีกระบวนการพัฒนาพี่เลี้ยงชุมชนควบคู่ไปกับการพัฒนาเยาวชนเป็นระยะผ่านรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีกิจกรรมหลัก ดังนี้

­

1.ความเข้าใจเยาวชนเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นพี่เลี้ยง: ค่ายอบรมจิตวิทยาพี่เลี้ยง

ค่ายอบรมจิตวิทยาพี่เลี้ยง จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต กระบวนการเรียนรู้แบบวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research: CBR) จิตวิทยาการเรียนรู้ ทักษะการเป็นโคช หรือนักจัดกระบวนการ (Facilitator) แนวทางการจัดการโครงการ และกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันในรูปแบบกลไก ซึ่งทีมโคชได้ประสานงานภาคีความร่วมมือ เช่น อบจ.สตูล องค์กรอาสาสมัครนานาชาติดาหลา มาร่วมทำกิจกรรม และออกแบบทิศทางการทำงานร่วมกัน

ผลลัพธ์ของกิจกรรมทำให้ทีมโคชได้เรียนรู้ศักยภาพพี่เลี้ยงแต่ละคนว่ามีจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาอย่างไร ที่จะนำไปสู่การออกแบบการทำงานร่วมกัน และการพัฒนาเครือข่ายพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง

­

2.เรียนรู้เครื่องมือ 3R และการบริหารงบประมาณโครงการ: เวทีปฐมนิเทศพี่เลี้ยง

นอกจากเยาวชนที่ต้องเรียนรู้เครื่องมือ 3R แล้ว พี่เลี้ยงชุมชนก็ต้องทำความเข้าใจเครื่องมือ 3R เช่นกัน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้เยาวชนระหว่างทำกิจกรรมได้ โครงการฯ จึงจัดให้พี่เลี้ยงเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งสร้างข้อตกลงการเบิกจ่ายเงิน และวิธีการทำจัดการเอกสารการเงินแก่พี่เลี้ยง เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้เยาวชนฝึกการบริหารจัดการงบประมาณ

­

3.สร้างความเข้าใจและแรงบันดาลใจในการเป็นพี่เลี้ยง: อบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

การจะเป็นพี่เลี้ยงของโครงการฯ จำเป็นต้องมีชุดความความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานพัฒนาเยาวชน มีทักษะ และเครื่องมือที่จะหนุนเสริมเยาวชนได้ถูกจังหวะ โครงการฯ จึงร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงชุมชนเรื่องการออกแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยมีเนื้อหาในการเรียนรู้ คือ

●บทบาทและคุณสมบัติของการเป็นพี่เลี้ยงในการจัดกระบวนการเรียนรู้

●ฝึกทักษะพื้นฐานกระบวนกร (Facilitator) ได้แก่ การฟัง การจับประเด็น การตั้งคำถาม การสรุปบทเรียน

●แนวคิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง และเทคนิคออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสำหรับเยาวชน

จากการจัดกิจกรรมทำให้พี่เลี้ยงมีแรงบันดาลใจในการทำงานพัฒนาเยาวชนมากขึ้น มีวิธีคิดในการตั้งคำถาม และมีเป้าหมายสิ่งที่จะกลับไปโคชเยาวชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม โครงการฯ พบว่า การพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงในเรื่องดัวกล่าว ควรจัดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่เยาวชนจะลงมือทำโครงการ เพื่อให้พี่เลี้ยงมีทักษะเครื่องมือที่จะโคชน้องในตอนการลงมือทำกิจกรรม

­

4.พัฒนาทักษะการเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) : อบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (Learning Design)

เนื่องจากโครงการให้ความสำคัญกับการโคช ที่พี่เลี้ยงหรือโคชใช้การออกแบบกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้หรือปรับพฤติกรรม มิใช่การใช้อำนาจของโคช จึงนำมาสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงและโคชให้มีทักษะในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และการถอดบทเรียน โดยฝึกทักษะการตั้งคำถามเพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ก่อน และหลังการทำกิจกรรม เป็นการช่วยเยาวชนก้าวข้ามปัญหาระหว่างทำโครงการ กิจกรรมดังกล่าวเพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงสู่การเป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) โดยฝึกคิด ออกแบบกระบวนการ และทดลองใช้

ผลลัพธ์จากเวทีนี้ นอกจากทำให้พี่เลี้ยงเข้าใจบทบาทของตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังทำให้รู้ว่าการเป็นโคชให้เยาวชนไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีทีมภายในชุมชนที่จะมาช่วยกันทำงาน ดังเช่นการออกแบบและพัฒนากิจกรรมที่พวกเขาช่วยกันทำภายในเวทีนี้นี่เอง

­

กล่าวได้ว่า 5 ขั้นตอนสู่การเป็นพี่เลี้ยงพื้นที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพี่เลี้ยงในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในนั้นคือ ครูสอและ หลงสมัน พี่เลี้ยงโครงการศึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ที่นำความรู้เรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การเช็คอิน เช็คเอาท์ การสรุปบทเรียนไปใช้ในการทำกิจกรรมกับเด็กเยาวชนแล้ว ยังนำไปใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียนอรุณศาสตร์วิทยามูลนิธิอีกด้วย

­

­

คุณลักษณะของโคช

บทบาทของโคชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล คือการดำเนินงานกับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ เยาวชน พี่เลี้ยงชุมชน และเครือข่ายบุคคล องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด สำหรับการพัฒนาเยาวชน โคชจะมีบทบาท 3 ประการ ได้แก่

1. หนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนระดับเหนือพื้นที่: ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ส่วนกลางที่เยาวชนทุกโครงการมาเรียนรู้ร่วมกัน

2. หนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนระดับพื้นที่: ติดตาม หนุนเสริมการดำเนินงานของเยาวชนในพื้นที่ และติดตามพัฒนาการของเยาวชน

3. เชื่อมโยงเครือข่ายในจังหวัดสตูลมาร่วมสนับสนุนการพัฒนาเยาวชน เพื่อทำบทบาทดังกล่าวได้ บทเรียนจากการดำเนินงานพบว่าโคชควรมีคุณลักษณะนี้

●มีความรู้เชิงทฤษฎี เข้าใจทฤษฎีพัฒนาการ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนที่หลากหลาย เพื่อนำมาทำความเข้าใจ “ธรรมชาติของวัยรุ่น” และนำมาปรับการสร้างเครื่องมือ และกระบวนการในการออกแบบและการทำงานกับเยาวชน

●รู้สถานการณ์ รวบรวมข้อมูลความรู้สถานการณ์ของเยาวชนในระดับทีม และภาพรวม วิเคราะห์และติดตามพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชน และรู้ข้อมูลบริบทชุมชน สังคมจังหวัด เพื่อเติมเต็มการทำโครงการของเยาวชน มีความสามารถจัดระบบกลไกบริหารจัดการโครงการ ผ่านบทบาท ทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ ทีมประสานงาน ทีมสื่อสารเครือข่าย ทีมบริหารจัดการการเงิน และทีมข้อมูลระบบสารสนเทศ

●มีสุนทรียะ การทำงานกับเยาวชนไม่ใช่งานที่ง่าย จึงต้องมีใจมุ่งมั่นอยากทำงานเยาวชนมากพอ และรู้จักเก็บเกี่ยวความสุขและผลลัพธ์ระหว่างการทำงานเพื่อเป็นพลังให้ทำงานไปต่อได้เรื่อยๆ

ข้อค้นพบจากการดำเนินงาน

●เยาวชนไม่ใช่คนก่อปัญหา แต่เป็นเพราะไม่มีพื้นที่หรือคนที่ให้โอกาสเขาได้แสดงออก หรือทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม โคชจึงต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าควรเปิดพื้นที่ที่ไหน กับใคร และแบบใด

●ควรมีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือ 3R D M แก่พี่เลี้ยงชุมชนเพิ่มเติม เพื่อให้พี่เลี้ยงเข้ามามีส่วนร่วมหนุนเสริมและแนะนำเยาวชนในระหว่างการทำโครงการ

●ปัจจัยที่น่าจะทำให้เครื่องมือ 3R D M สำเร็จ ประกอบด้วย

1.พี่เลี้ยงชุมชนต้องเข้าใจเพื่อร่วมกับโคชช่วยสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน

2.พี่เลี้ยงชุมชน จะต้องเป็นคณะพี่เลี้ยง ที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชน เป็นเสมือน “ครูในบ้าน”

3.ต้องพัฒนาทักษะเยาวชนเพิ่มเติมในเรื่อง การรวบรวมและเรียบเรียง รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล

●การสร้างคุณลักษณะและลักษณะนิสัย (Character building) ของคนรุ่นใหม่ต้องไม่ไปลดทอนวิถีวัฒนธรรมเดิม โดยเฉพาะไม่ไปล้อเลียนความเป็นชาติพันธุ์ ความเชื่อ หรือความเป็นท้องถิ่นของกันและกัน และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องทำบนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

●กลุ่มที่มีกิจกรรมประจำ (Routine) จะทำให้เด็กมีกิจกรรมที่จะรวมตัวกันเป็นประจำ และสามารถดึงเยาวชนหน้าใหม่เข้ามาร่วมโครงการได้ผ่านการทำกิจกรรม กระทั่งสามารถดึงผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ในชุมชนเข้ามาร่วมทำกิจกรรม และสามารถผลักดันไปสู่กลไกพัฒนาเยาวชนของชุมชนได้

●การทำงานกับเยาวชนต้องให้เวลาค่อนข้างมาก เพราะเยาวชนมีความแตกต่างหลากหลาย มีตัวตนและวิธีคิดเป็นของตัวเอง บางคนยึดติดกับตัวตนมาก จนยอมรับความคิดใหม่ ๆ ได้ยาก

●พี่เลี้ยงชุมชนเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างเยาวชนกับชุมชน ที่จะทำให้เยาวชนเข้าถึงผู้รู้ ปราชญ์ที่จะช่วยให้ข้อมูล และเป็นตัวเชื่อมงานเยาวชนให้ถูกขยายผลในชุมชนหรือกับหน่วยงานต่างๆ

●พี่เลี้ยงควรมีทีมอย่างน้อย 3 คนเพื่อทำงานประสานกัน คือ คนที่ 1 คือคนที่เข้าถึงเด็ก เป็นคนที่เด็กไว้ใจ ทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยงระหว่างเด็กทำกิจกรรม (เล่นกับเด็ก) เข้ามวยกับเด็กได้ เมื่อมีปัญหาเด็กกล้าเข้ามาปรึกษา คนที่ 2 คือนักยุทธศาสตร์ เป็นนักคิด ให้คำปรึกษา ทำบทบาทเชื่อมโยง ประสานงานกับคนภายนอกได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในชุมชนก็ได้ แต่เป็นเครือข่ายพี่เลี้ยง เช่น เจ้าหน้า อบต. เจ้าหน้าที่ รพ.สต. หรือผู้นำชุมชนที่สามารถอธิบายหรือให้ข้อมูลในเชิงกว้างได้ และคนที่ 3 คือ คนสนับสนุนและจัดการช่วยเด็ก มีเครื่องมือช่วยเหลือเด็ก เช่น เทคนิคการเขียนโครงการ เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น

ก้าวต่อไปของ Active Citizen จังหวัดสตูล

หลังผ่านการทำงานมาเป็นเวลา 1 ปี ทีมโคชได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายจากที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำงาน 3 ปี เพื่อสร้างกลไกเยาวชน และกลไกพี่เลี้ยงชุมชน มาเป็นการเริ่มทดลองขับเคลื่อนทั้ง 2 กลไกในการทำโครงการปีที่ 2 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เพราะจากการทำงานในปีแรกทำให้ได้แกนนำเยาวชนบางส่วน การเริ่มต้นขับเคลื่อนงานจะทำให้มีเวลาปรับรูปแบบการทำงานของกลไกมากขึ้น โดยทั้งกลไกเยาวชนและกลไกพี่เลี้ยงจะมีการดำเนินการคู่ขนานกันไป แต่จะให้ความสำคัญกับกลไกพี่เลี้ยงมากเป็นพิเศษ ด้วยเชื่อว่าความยั่งยืนของการทำงานพัฒนาเยาวชนอยู่ที่พี่เลี้ยง ที่ส่วนมากคือคนที่เลือกแล้วว่าจะใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิด และตายในบ้านเกิด กลไกพี่เลี้ยงจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะไปสร้างการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่อ