เส้นทางการพัฒนาพลเมืองเยาวชนคนลำพูน ปี1

เส้นทางการพัฒนาพลเมืองเยาวชนคนลำพูน

­

­

      ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาสู่เมืองลำพูนทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และวัฒนธรรมความทันสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ที่มีการเปิดถนนไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง การรุกเข้ามาของลำไย และพืชเชิงเดี่ยวในปี พ.ศ. 2520 ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนลำพูน จากการทำนามาเป็นสวนลำไยอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2527 กระทั่งปี พ.ศ. 2528 ที่มีการเปิดตัว "โครงการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน" และการย้ายถิ่นของแรงงานต่างด้าวในปี พ.ศ. 2533 – 2535 สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในจังหวัดลำพูน อาทิ ปัญหาสารเคมีในดิน ครอบครัวขาดความอบอุ่นเนื่องจากพ่อแม่เข้าสู่อุตสาหกรรม ปัญหาเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะ ปัญหาสุขภาพที่พบว่าคนลำพูนมีสารตกค้างในเลือดสูง ขณะที่เด็กเยาวชนมีปัญหายาเสพติด แว้น ดื่มสุรา และขาดการเชื่อมต่อกับรากเหง้าภูมิปัญญาของชุมชน

     ความไม่นิ่งดูดายของผู้ใหญ่ในจังหวัดลำพูน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนลำพูน (Active Group) จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน พระสงฆ์ ประชาสังคม รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือ การปกป้องจังหวัดลำพูน ภายใต้ชื่อสภาเมืองลำพูนหรือลำพูนฟอรั่ม เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของจังหวัด จนเกิดวงเสวนา (Speaking group) ขึ้นในปี พ.ศ. 2539-2541 และพัฒนาไปสู่เส้นทางการทำงานของสถาบันหริภุญชัยในปี พ.ศ. 2542 และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน (สกว.ฝ่ายท้องถิ่น) ในปีถัดมา โดยขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ผ่านกระบวนการวิจัย กระทั่งปี พ.ศ. 2553 จึงขยายผลการทำงานไปสู่เด็กเยาวชนภายใต้โครงการชื่อบ้าน-นามเมือง ที่เชื่อมต่อการทำงานระดับพื้นที่ของคน 3 วัย คือ คนสูงวัย ผู้ใหญ่ และเยาวชน โดยชักชวนเด็กเยาวชนที่เคยทำงานร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ปปส.) มาทำกิจกรรมอีกครั้งหลังจากขาดช่วงไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545

­

“เราคาดหวังว่าเยาวชนที่เข้ามาทำงานกับผู้ใหญ่ ถ้าชุมชนมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เขาจะเห็นความสำคัญของบ้านตัวเอง เห็นปัญหาในชุมชนตัวเอง แล้วเขาจะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาบ้านตัวเอง ลุกขึ้นรับไม้ต่อจากพี่ ๆ จากพ่อจากแม่ จากปู่ย่าตายายได้”

วันเพ็ญ พรินทรากูล สถาบันหริภัญชัย

­

­

ส่งต่อสปิริตลำพูน

     ปี พ.ศ. 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดจะขยายพื้นที่สนับสนุนการพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง (Active citizen) เพิ่มขึ้น จึงชักชวนสถาบันหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ที่มีจุดเด่นคือ การมีสปิริตลำพูน มีเครือข่ายผู้ใหญ่ในจังหวัดที่มีสปิริตลำพูนที่ต้องการเห็นจังหวัดลำพูนพัฒนาไปในทิศทางที่ดี รวมถึงมีประสบการณ์การดำเนินงานในประเด็นต่าง ๆ ของจังหวัดลำพูน อาทิ เด็กและเยาวชน สุขภาพ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เกษตร เป็นต้น พร้อมทั้งได้เชื่อมโยงมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ และการสังเคราะห์ความรู้จากการดำเนินงานมาร่วมเป็นทีมขับเคลื่อนในครั้งนี้ จนเกิดเป็นโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน เพื่อส่งต่อสปิริตลำพูน หรือจิตวิญญาณของความเป็นคนลำพูน ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนลำพูนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ที่เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเมืองลำพูน ภายใต้ฐานคิดและความเชื่อ คือ

­

“การเปิดพื้นที่เปิดโอกาสให้เยาวชนรู้จักและภาคภูมิใจในรากเหง้า เห็นคุณค่าของฮีต ฮอย ภูมิปัญญา ไม่ดูดายต่อปัญหาบ้านเมือง ผ่านการเรียนรู้จากการลงมือทำและการสนับสนุนของผู้ใหญ่”

“เด็กและเยาวชนเกเร ติดเกม ไม่สนใจชุมชน ไม่สนใจบ้านเมือง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น เนื่องจากมันมีบางสิ่งบางอย่างมากดทับศักยภาพตรงนี้เอาไว้ เราเชื่อว่าการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ดี จะช่วยดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กเยาวชนออกมาได้”

­

ชีวัน ขันธรรม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

­

การออกแบบโครงการเพื่อพัฒนาพลเมืองเยาวชนคนลำพูน

     เพราะอยากเห็นเยาวชนจังหวัดลำพูนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการทำงานและเกิดกระบวนเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ โครงการฯ ได้ออกแบบโครงการเพื่อพัฒนาพลเมืองเยาวชนคนลำพูน ดังนี้

1. พัฒนากลไกการพัฒนาเยาวชน ประกอบด้วยกลไก 2 ลักษณะ คือ

  • กลไกหนุนเสริม มี 2 ระดับ คือ 1) ระดับชุมชน ได้แก่พี่เลี้ยงชุมชน และ 2) ทีมโคช ซึ่งเป็นทีมโคชจากโครงการ โดยกลไกหนุนเสริมทั้งสองระดับทำงานร่วมกันในการพัฒนาเยาวชน
  • กลไกเสริมแรง เป็นภาคีที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชน ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน และภาคีอื่นๆ ทั้งในและนอกชุมชน

2. กระบวนการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเยาวชน โครงการไม่เพียงออกแบบการพัฒนาเยาวชนเท่านั้น แต่ได้ออกแบบการพัฒนาระบบอื่นๆ เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาเยาวชน ซึ่งโครงการฯ ได้ออกแบบกระบวนการสำคัญ 5 ประการ คือ

  • กระบวนการพัฒนาเยาวชน
  • กระบวนการพัฒนาโคช ทั้งแนวคิดและทักษะการพัฒนาเยาวชน
  • พัฒนาฐานข้อมูลเยาวชนในโครงการ
  • สร้างเครือข่ายเยาวชนจังหวัดลำพูน
  • สื่อสารความรู้ของโครงการและกระบวนการพัฒนาเยาวชน

3. ความเชื่อและกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเยาวชน โครงการฯ มีความเชื่อเรื่องการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง จึงใช้เครื่องมือการทำโครงการเพื่อชุมชน (Community project) เป็นเครื่องมือให้เยาวชนคิดและลงมือทำจากสถานการณ์จริงในชุมชน

4. ผลลัพธ์ที่คาดหวัง 5 ด้าน

  • เยาวชนต้นแบบ คือเยาวชนที่เป็นตัวแบบที่สามารถขยาย เพิ่มจำนวนเยาวชนที่มีจิตสำนึก มีความสามารถในการพัฒนาตัวเอง การทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดลำพูน
  • เกิดเครือข่ายเยาวชนในจังหวัดลำพูน มีประเด็นขับเคลื่อนร่วมกับผู้ใหญ่ในจังหวัด
  • กลไกพัฒนาเยาวชนจังหวัดลำพูน ที่เด็กมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ และมีกลไกหนุนเสริมการทำงานของเยาวชนในระดับอำเภอและชุมชน เพราะจากช่องว่างที่สรุปได้ว่า เมื่อ 10 ปีก่อน สาเหตุที่งานเยาวชนไม่สามารถขับเคลื่อนได้เพราะกลไกไม่สามารถหมุนต่อได้ จึงเป็นผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะเห็นกลไกเกิดขึ้นในโครงการนี้
  • โคชเยาวชน ที่เป็นพี่เลี้ยง ที่ทำงานในพื้นที่ที่จะมาหนุนเสริมงานเยาวชนที่กำลังขับเคลื่อน
  • องค์ความรู้ในการทำงานของจังหวัดลำพูน เกิดโมเดลการทำงานเยาวชนเมืองลำพูน

­

­

คุณลักษณะของเยาวชนเมืองลำพูนที่เป็นเป้าหมายของโครงการ

     ภายใต้กรอบคิดของการเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่มุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ทั้งการพูด การฟัง การตั้งคำถาม และกรอบคิดในส่วนบริบทพื้นที่ของเมืองลำพูนที่มีจุดเด่นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบกับเอกลักษณ์ของสถาบันหริภุญชัยที่เน้นเรื่องของคุณธรรมภายใต้นิยามคำว่า “ความดี” เมื่อนำกรอบคิดทั้งสองประการมาผนวกรวมกันจึงเป็นที่มาของคุณลักษณะเยาวชนเมืองลำพูน 6 ด้าน ดังต่อไปนี้

­

“ฐานคิดของการพัฒนาเยาวชนจังหวัดลำพูนภายใต้นิยามคำว่า “ดี” ที่เป็นส่วนหนึ่งของสำนึกพลเมือง ที่ประกอบด้วย การมีส่วนร่วม คุณธรรม มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ”

­

โดย ปี พ.ศ. 2561 โครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 15 โครงการ ในพื้นที่ 8 อำเภอ 15 ตำบล โดยแบ่ง 3 ประเด็นคือ 1. ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี 2. ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 3. จิตอาสา และแบ่งการทำงานเป็น 3 โซนคือ โซนเหนือ คือ อำเภอเมือง อำเภอป่าซาง และอำเภอเวียงหนองร่อง โซนกลาง อำเภอแม่ทา และโซนใต้ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ครอบคลุม 3 ชาติพันธ์ คือ เมือง ไตลื้อ ไตยอง และชนเผ่าปกาเกอะญอ มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 87 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 54 คน ผู้ชาย 33 คน

­

14 ขั้นตอนการพัฒนาเยาวชนคนลำพูน

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่เยาวชนเข้าร่วมโครงการ ภายใต้ฐานคิดเรื่องการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและลักษณะนิสัย (Character building) จากการลงมือทำ แก้ปัญหา และมีประสบการณ์ตรงจากสถานการณ์จริงในชุมชน สังคม โครงการได้ออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ (Learning journey) 14 ขั้นตอน ดังนี้

­

­

1.สำรวจและทำแผนที่ (Mapping) เช็คต้นทุน ‘คนและพื้นที’ ที่สนับสนุนการพัฒนาเยาวชน

“รู้เขา รู้เรา” ขั้นตอนแรก โครงการฯ ได้สำรวจและทำแผนที่ (Mapping) คนและพื้นที่ในจังหวัดลำพูนที่มีต้นทุนและมีศักยภาพในการสนับสนุนการพัฒนาเยาวชน เพื่อเข้าไปต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ที่มีประสบการณ์การสนับสนุนเยาวชน และมีพี่เลี้ยงชุมชนที่มีศักยภาพในการสนับสนุนเยาวชน ซึ่งจากการสำรวจและทำแผนที่ (Mapping) ทำให้ในปีแรกนี้โครงการฯ เชื่อมโยงกับเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น เด็กและเยาวชนที่เคยทำโครงการชื่อบ้าน-นามเมือง และเครือข่ายอื่นๆ

­

2.พัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงก่อนพัฒนาเยาวชน: เวทีเรียนรู้ของพี่เลี้ยงครั้งที่ 1

ในการสนับสนุนเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชนจำเป็นต้องมี “โคช” ทำบทบาทเป็น “กลไกหนุนเสริมในพื้นที่” คอยตั้งคำถามกระตุ้นคิด เสริมพลัง และประสานงานกับคนในชุมชนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เยาวชนในการทำโครงการ ซึ่งผู้ที่ทำบทบาทนี้ใกล้ชิดกับเยาวชนได้แก่ ที่ปรึกษาโครงการและพี่เลี้ยงโครงการเยาวชน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ในช่วงเริ่มต้นโครงการ จึงจัดให้มีการเติมความรู้และทักษะให้กับพี่เลี้ยง เรื่องแนวคิดการพัฒนาเยาวชน ทักษะการเป็นโคช และทักษะการสื่อสารกับเด็กและเยาวชน โดยใช้ “สถานการณ์จำลอง” ฝึกทักษะการฟังและการตั้งคำถาม ระหว่างพี่เลี้ยงและเด็ก เช่น หากเด็กเข้ามาปรึกษาท่าทีพี่เลี้ยงควรเป็นอย่างไร ควรให้คำแนะนำแบบไหน เป็นต้น

­

“แผนที่ชุมชน ปฏิทินประเพณีวัฒนธรรม เป็นกระบวนการสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนของตัวเอง เราอยากให้เด็กได้รู้จักทุนชุมชนของตัวเอง”

วันเพ็ญ พรินทรากูล สถาบันหริภุญชัย

­

3.เวทีเรียนรู้ของเยาวชนครั้งที่ 1 : รู้ทุกข์ทุนของชุมชน

เนื่องจากการออกแบบโครงการได้ออกแบบให้เยาวชนเรียนรู้ พัฒนาทักษะต่างๆ รวมถึงเกิดสำนึกรักชุมชนผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชน ดังนั้น สิ่งแรกที่เยาวชนจะได้เรียนรู้คือการทำแผนที่ชุมชน (Social mapping) เพื่อให้รู้จักชุมชนของตนเอง เข้าใจสถานการณ์ ทุกข์และทุนของพื้นที่ ก่อนที่จะเลือกประเด็นและสถานการณ์ที่สนใจมาทำโครงการ ซึ่งทีมโคชได้ออกแบบเครื่องมือแผนที่ชุมชน (Social mapping) ให้เยาวชนได้วิเคราะห์ชุมชน

  • แผนที่ชุมชน (Social mapping) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยทำความเข้าใจภาพรวมของคน กลุ่มคน องค์กรในท้องถิ่น และทุนทางสังคมต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน นำไปสู่การวิเคราะห์ และตัดสินใจร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทาง /แนวทางในการทำงานกับชุมชน
  • เป้าหมายของแผนที่ชุมชน (Social mapping)
    • คนทำเกิดความเข้าใจภาพรวมความเป็นชุมชน
    • สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน
    • การกำหนดทิศทาง / ประเด็นในการทำงานของชุมชน
    • ใช้สื่อสารให้คนอื่นได้ทราบภาพรวมของชุมชน
  • ควรทำแผนที่ชุมชน (Social mapping) เมื่อไหร่: เมื่อต้องการทำความเข้าใจภาพรวมความเป็นชุมชน / ต้องทำโครงการ หรือแผนงานเพื่อพัฒนาชุมชน
    • ก่อนทำโครงการ - เช็คทุนก่อนเริ่มงาน / สร้างความเข้าใจร่วม
    • ระหว่างทำโครงการ - เช็คความเปลี่ยนแปลง / ความเคลื่อนไหว
    • สิ้นสุดโครงการ - สรุปทุนที่เปลี่ยนแปลง
4.วิเคราะห์ปัญหา : พัฒนาโจทย์โครงการ

เมื่อรู้ทุกข์รู้ทุนของชุมชนตนเองแล้วเยาวชนไม่อาจแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง การเลือกเรื่องที่เยาวชนสนใจทำโครงการและมีศักยภาพที่จะร่วมกับผู้ใหญ่คลี่คลายปัญหาได้ ควรมาจากความเข้าใจในสิ่งที่จะทำ การคิดวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัญหาในชุมชนเพื่อให้เยาวชนรู้รอบ มีเหตุ-ผล รู้ต้นตอของปัญหา เห็นเป้าหมาย และแนวทางทำโครงการ จึงต้องใช้เครื่องมือ “ต้นไม้ปัญหา” เพื่อที่จะทำให้เยาวชนได้ทบทวนสิ่งที่เขาอยากทำ ผ่าน “คำถาม 5 ข้อ” คือ

1.ทำเรื่องอะไร

2.ทำไมต้องทำเรื่องนี้

3.ทำกับใคร

4.ทำอย่างไร

5.ทำแล้วได้อะไร

5.เวทีเรียนรู้ของเยาวชนครั้งที่ 2 : รับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนาโจทย์โครงการ

เมื่อเยาวชนได้พัฒนาโจทย์โครงการมาแล้ว เพื่อให้เยาวชน “คิดรอบด้าน” มากขึ้น โครงการฯ ได้ออกแบบให้มีผู้ใหญ่ใจดีที่มีประสบการณ์ทำงานพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญประเด็นต่างๆ เช่น วัฒนธรรมประเพณี ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่สอดคล้องกับประเด็นที่เยาวชนทำโครงการมาให้ความเห็นเพื่อเติมเต็ม ให้ข้อเสนอแนะ และให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงการ ให้เยาวชนออกแบบโครงการได้ชัดขึ้น พร้อมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อม ฝึกซ้อมให้เยาวชนคุ้นชินกับการนำเสนอโครงการก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการในการนำเสนอเพื่อกลั่นกรองโครงการ เช่น โครงการผลิตฝ้าย (เส้นด้าย) และการย้อมสีธรรมชาติ ที่ตอนแรกตั้งใจจะทำโครงการเกี่ยวกับการทอผ้าทั้งระบบ แต่เมื่อได้รับคำชี้แนะเรื่องระยะเวลาการทำโครงการที่มีเพียง 6 เดือน ทีมจึงเปลี่ยนโจทย์โครงการใหม่เป็นการศึกษาเรื่องการผลิตเส้นด้ายและการย้อมสีธรรมชาติแทนเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาของโครงการ

­

6.เวทีเรียนรู้ของเยาวชนครั้งที่ 3 : เรียนรู้การบริหารจัดการโครงการ

เป็นการเรียนรู้การบริหารจัดการโครงการ (Project management) ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การวางแผนกิจกรรมภายใต้การทำงานร่วมกันเป็นทีม ระดมความคิดให้แผนที่กำหนดร่วมกันไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ โดยทำผ่านกระบวนการดังนี้

  • ทบทวนเป้าหมายโครงการ ผ่านการทำภาพ 2 ภาพของชุมชน คือ 1.ภาพฝันของโครงการ 2. ถ้าไม่ทำโครงการชุมชนจะเป็นอย่างไร
  • หน้าต่างแห่งโอกาสและภูมิคุ้มกันความเสี่ยง คือการคิดวิเคราะห์ว่าสิ่งที่จะทำให้โครงการสำเร็จ / ติดขัด คืออะไร ป้องกันความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง
  • วิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือ (ใคร บทบาทคืออะไร)
  • ทบทวนกิจกรรมโครงการที่ออกแบบไว้ โดยการเขียนลงบัตรคำ และสรุปภาพรวมทำแล้วได้อะไร

­

7. เวทีพิจารณาโครงการ : เชปโครงการให้ชัด ผู้ใหญ่ร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ลำพูน

เมื่อพัฒนาโครงการเป็นรูปเป็นร่าง ผ่านกระบวนการคิดมาหลายขั้นตอน ก่อนนำไปลงมือทำในชุมชน เยาวชนได้นำเสนอโครงการแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ พลเมืองผู้ใหญ่ในจังหวัด ที่มีความรู้ในแต่ละประเด็นที่เยาวชนทำโครงการ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและนำไปปรับโครงการของตนเองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการร่วมกันสร้างคนรุ่นใหม่ ร่วมกันส่งต่อสปิริตลำพูนไปสู่เยาวชน

­

8.เวทีเตรียมความพร้อม : บัญชี การเงิน รายงานโครงการ งานยากที่ต้องเรียนรู้

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจให้เยาวชนและพี่เลี้ยงก่อนเริ่มทำโครงการทั้งเรื่องการบริหารจัดการโครงการ ได้แก่ การบันทึกผลการปฏิบัติงาน การสรุปผลการดำเนินงาน และการบริหารจัดการงบประมาณ ได้แก่ การจัดการเอกสารทางการเงิน

นอกจากนี้ ในกระบวนการดำเนินงาน เยาวชนและพี่เลี้ยงจำเป็นต้องเข้าใจเรื่อง การวางแผน การทำงานเป็นทีม การสรุปบทเรียนจากการดำเนินงาน และการสรุปงาน ในครั้งนี้จึงได้ออกแบบกิจกรรม “เกมเลโก้อลเวง” เพื่อให้เยาวชนและพี่เลี้ยงเล่นเกมและเรียนรู้เรื่องดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในระหว่างทำโครงการ

­

9.เวทีเรียนรู้ พัฒนาทักษะการสื่อสาร: ครั้งที่ 1 ฝึกทักษะการสื่อสาร

นอกจากการทำโครงการแล้ว โครงการฯ เชื่อว่าในศตวรรษที่ 21 ที่มีเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้และการเปลี่ยนแปลง หากเยาวชนมีทักษะในการสื่อสาร ใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองต้องการสร้างการรับรู้และการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์และมีพลัง จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปได้รวดเร็วขึ้น และเยาวชนมีทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดยในครั้งแรกเยาวชนได้ฝึกทักษะการสื่อสารผ่านภาพอย่างง่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ เนื้อหาการเรียนรู้หลักมีดังนี้

  • การถ่ายภาพเพื่อสื่อสารและการเขียนบรรยาย (Caption) อย่างสร้างสรรค์
  • ฝึกทักษะการสื่อสารในประเด็นที่สนใจ เพื่อให้รู้ว่าเด็กมีความสามารถด้านที่จะเข้ามาช่วยทีมทำสื่อ เช่น การถ่ายภาพ การจัดทำข้อมูล การสัมภาษณ์ เป็นต้น
  • ฝึกทักษะการจับประเด็น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนไปสัมภาษณ์คนในชุมชน ผ่านกิจกรรมสถานการณ์สมมติ เล่าเรื่องโครงการที่ตนเองทำให้เพื่อนฟัง
  • ฝึกทำคลิปวิดีโอ
“โครงการปลุกพลัง สร้างสำนึก เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กคิดเอง ทำเอง แก้ไขปัญหาเอง เรียนรู้แล้วก็ถอดบทเรียนด้วยตัวเอง ”

วันเพ็ญ พรินทรากูล สถาบันหริภุญชัย

­

10.เยาวชนลงมือทำโครงการในชุมชน : หัวใจสำคัญของการสร้างทักษะและลักษณะนิสัย (Character building)

เมื่อเยาวชน “คิด วิเคราะห์” เพื่อพัฒนาโครงการได้แล้ว ช่วงนี้คือช่วงที่สองเป็นช่วง “ลงมือทำโครงการ” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางการเรียนรู้สำคัญ (Learning journey) ที่เขาจะเจอปัญหาและความท้าทายมากมาย ซึ่งโครงการฯ เชื่อว่า “ปัญหาคือโอกาสในการเรียนรู้” การได้เผชิญปัญหา คิดแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยมีพี่เลี้ยงและโคชคอยสังเกตการณ์ และหาจังหวะที่เหมาะสมเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ ตรงนี้เป็นกระบวนการบ่มเพาะ สร้างทักษะและลักษณะนิสัย (Character building) ให้กับเยาวชน ซึ่งจากการดำเนินโครงการพบสถานการณ์ปัญหาที่เยาวชนต้องเผชิญ และบทบาทของพี่เลี้ยงและโคชที่จะเข้าไปช่วยสร้างการเรียนรู้ ดังนี้

1)เมื่อเริ่มต้นทำโครงการที่ต้องนำเสนอโครงการต่อชุมชน เยาวชนจะเผชิญสถานการณ์การที่ไม่เคยพูดต่อหน้าชุมชน ต้องพูดต่อหน้าชุมชนครั้งแรก ในช่วงนี้โคชและพี่เลี้ยงต้องช่วยเข้าไปสร้างกำลังใจ เชื่อมโยงคนในชุมชนให้มารับฟังข้อมูล ช่วยตั้งคำถามเพื่อให้เยาวชนวางแผนลำดับในการนำเสนอ

2)ช่วงที่จะเริ่มทำโครงการ เยาวชนอาจรวมกลุ่มกันได้ยากเนื่องจากสมาชิกติดเรียน ติดทำกิจกรรม ในระยะแรกเพื่อให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม โคชต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นให้แกนนำหาวิธีในการสื่อสารและตกลงวิธีการทำงานร่วมกัน เช่น สื่อสารผ่านไลน์กลุ่ม นัดประชุมทุกเย็น เป็นต้น

3)ในการเก็บข้อมูล เยาวชนมักเจอปัญหาการวางแผนเก็บข้อมูล การแตกประเด็นที่จะเก็บข้อมูล การหาผู้รู้ การตั้งคำถาม การบันทึกข้อมูล การแบ่งบทบาทของสมาชิกกลุ่ม เนื่องจากเยาวชนไม่เคยทำกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน โคชควรเข้าไปช่วยเยาวชนวางแผนก่อนลงมือทำ (Before action review) การทำลักษณะนี้จะทำให้เยาวชนเห็นทั้งงาน คน การจัดการการเงิน และเห็นชุมชน ในขั้นนี้เยาวชนอาจจะมีอารมณ์ หงุดหงิด ไม่ได้ดังใจ ไม่ฟังกัน ยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก บางคนแก้ปัญหาโดยการทำงานคนเดียว ดังนั้น โคชหรือพี่เลี้ยงต้องวิเคราะห์ให้ออก ปล่อยให้เยาวชนเผชิญกับปัญหา พี่เลี้ยงต้องมั่นคง ไม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา เพราะปัญหาคือโอกาสให้เยาวชนได้ปรับตัว พี่เลี้ยงควรคอยสังเกตว่าเยาวชนมีภูมิหลังอย่างไร แล้วรอจังหวะที่เยาวชนเข้ามาปรึกษาซึ่งพี่เลี้ยงต้องทำหน้าที่รับฟัง

4)ในระหว่างที่เยาวชนเผชิญปัญหาจากการทำงานร่วมกัน หรือการเผชิญอุปสรรคต่างๆ จนอาจนำไปสู่ความ “ท้อ” หรือต้องการ “ล้มเลิก” เช่น เพื่อนในทีมไม่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น โคชหรือพี่เลี้ยงควรตั้งคำถามกระตุ้นคิดให้เยาวชนสะท้อนคิด (Reflection) ในเรื่องต่อไปนี้ 1) การวางแผนการจัดการงาน ไม่เป็นผู้นำเดี่ยว ทำงานแบบร่วมมือ 2) การจัดการอารมณ์ พี่เลี้ยงต้องมั่นคง และเป็นคนตั้งหลักให้ 3) การเข้าใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตั้งคำถามให้เด็กเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาและการไปต่อ

5)ปัญหาในเชิงเทคนิคการทำงาน เช่น ไม่มีความรู้ในการย้อมผ้า อุปกรณ์ไม่พอในการเล่นดนตรี หาผู้รู้ในชุมชนไม่ได้ บันทึกข้อมูลไม่เป็น ทำสื่อไม่เป็น พี่เลี้ยงต้องช่วยสนับสนุนให้เยาวชนมีทักษะการทำในเบื้องต้น เช่น สอนเอง เชื่อมผู้รู้ หรือพาไปศึกษาดูงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

6)ช่วงคืนข้อมูล ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ขาดการกำหนดเป้าหมายของการคืนข้อมูลว่าต้องการให้ชุมชนรับรู้และมีส่วนร่วมอะไร การนำเสนอข้อมูลที่เพียงพอเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนต้องการมีส่วนร่วม การประสานงานเชิญชวนคนในชุมชนมาเข้าร่วม รวมถึงทักษะในการสื่อสารและการนำเสนอเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนสนใจ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยการวางแผนและฝึกซ้อม ดังนั้น โคชและพี่เลี้ยงควรชวนเยาวชนกำหนดเป้าหมาย วางแผนการจัดกิจกรรม และฝึกซ้อมการนำเสนอ

Tips

  • 1. พี่เลี้ยงต้องมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสการเรียนรู้ ต้องไม่เข้าไปจัดการแก้ปัญหาให้
  • 2. การจะรู้สาเหตุของปัญหาพี่เลี้ยงต้องคอยสังเกต วิเคราะห์สถานการณ์ รับฟังปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาต้องเป็นบทบาทของเยาวชน เพราะนั่นเป็นโอกาสที่เขาจะได้ฝึกหลายเรื่อง เป็นการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีทั้งการตรงต่อเวลา การควบคุมอารมณ์ จัดการอารมณ์ตนเอง การแบ่งปัน ให้โอกาสเพื่อน การเสียสละ การไม่ย่อท้อ มุมานะจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ฯลฯ
  • 3. การที่โคชหรือพี่เลี้ยงจะช่วยให้เยาวชนก้าวข้ามปัญหา นอกจากการรับฟัง คือการตั้งคำถามชวนคิด ให้เขาทบทวนเป้าหมายที่เข้ามาทำโครงการ เป็นการปลุกพลังให้เขาเห็นเส้นทางไปสู่เป้าหมาย มากกว่าการจมดิ่ง ท้อกับปัญหานั้น
  • 4. ปัญหาของการทำงานเป็นการฝึกทักษะเยาวชน โดยเฉพาะสิ่งที่ได้ทำเป็นครั้งแรก ควรให้สิ่งนี้เป็นของขวัญของเขา เช่น การประสานงานครั้งแรก การพูดหน้าที่ประชุมชนครั้งแรก การบันทึกครั้งแรก การประชุมเพื่อวางแผนงานกันเองโดยไม่มีผู้ใหญ่ช่วยครั้งแรก ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เด็กมีทักษะการทำงานที่จำเป็นมากในศตวรรษที่ 21 คือ การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา (Critical thinking and problem solving skill) ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก พี่เลี้ยงไม่ควรทำให้เด็กเสียโอกาสนี้ไป
  • 5. ในการทำงานของเยาวชน สิ่งที่เยาวชนต้องเจอแน่ ๆ คือความแตกต่าง ทั้งความแตกต่างของความชอบ ความถนัด นิสัยใจคอ ความคิด ซึ่งการแก้ปัญหาของเยาวชนมักเลือกใช้วิธีทำงานคนเดียวไปเลย หรือใช้ความเป็นผู้นำในการครอบงำเพื่อน ซึ่งในระยะแรกอาจทำให้เพื่อนอึดอัด ไม่นำความแตกต่างออกมา พี่เลี้ยงต้องมีแนวคิดว่า ความแตกต่างคือโอกาส พี่เลี้ยงต้องหลอมรวมความแตกต่างมาเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนงาน เช่น การทำงานในช่วงการระดมความคิด ความแตกต่างของเด็กที่มีหลายมุมมองจะทำให้ได้วิธีการที่หลากหลายในการแก้ปัญหา ในช่วงลงมือทำความถนัดที่หลากหลายจะช่วยให้คนทำงานหลายบทบาท ตามความถนัด เช่น ถนัดพูด ถนัดเขียน ถนัดประสานงาน ถนัดวางแผน ถนัดทำสื่อ ถนัดจัดการการเงิน ในการทำงานหนึ่ง ๆ ความหลากหลายจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในสถานการณ์จริงในโลกปัจจุบัน พี่เลี้ยงต้องนำความหลากหลายนี้มาหลอมรวมให้เกิดการทำงานเป็นทีมให้ได้
  • 6. คำพูดติดปากของเด็กคือ “ทำไม่ได้หรอก” “เป็นไปไม่ได้” ตรงนี้เป็นโอกาสท้าทายที่พี่เลี้ยงจะรับฟังว่าอะไรคือความรู้สึกและอุปสรรคที่ทำให้เขา “ไม่กล้า” เมื่อรับฟังจนสะท้อนให้เยาวชนได้เห็นตัวเองแล้ว พี่เลี้ยงจะช่วยตั้งคำถามว่าก้าวแรก (First step) ที่เขาจะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของความไม่กล้าเขาจะทำอย่างไร และก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ (Big step) ของเยาวชนคือการเริ่มลงมือทำในเรื่องเล็กๆ ที่เขาไม่เคยทำมาก่อน โคชหรือพี่เลี้ยงควรรับฟังว่า เมื่อเขาทำแล้วเขารู้สึกอย่างไร นั่นคือการสร้างความภูมิใจให้เด็ก (Self esteem) หลังจากนั้นคือการท้าทายที่จะทำให้เขามีก้าวที่ยิ่งใหญ่ต่อ ๆ ไปเพื่อให้เขาภูมิใจ เห็นคุณค่าของตนเอง (Self esteem) เป็นของขวัญที่จะติดตัวเขาไป
  • 7. คำถามในการทำกระบวนการทางความคิดช่วงวางแผนก่อนลงมือทำ (Before Action Review) 1) อะไรคือเป้าหมายของการทำกิจกรรมครั้งนี้ 2) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง 3) ต้องเตรียมอุปกรณ์และการจัดการอะไรบ้าง 4) จะแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างไร 5) คาดว่าจะเจอปัญหาอะไร และมีวิธีแก้ยังไง 6) ต้องใช้งบประมาณเท่าไร และมีวิธีจัดการงบประมาณให้ประหยัดและเกิดประโยชน์มากที่สุดอย่างไร 7) ทำแล้วตัวเองจะได้อะไร 8) ต้องการความช่วยเหลือจากใครบ้าง ซึ่งวิธีการพี่เลี้ยงหรือโคชอาจใช้วิธีการให้เยาวชนแต่ละคนวาดภาพ หรือเขียน แล้วแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่อให้เป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น
  • 8. ภายหลังเยาวชนทำกิจกรรมแล้ว ควรมีการสรุปบทเรียนหลังการดำเนินงานเพื่อให้เยาวชนเกิดข้อเรียนรู้ของตนเองจากประสบการณ์ตรงที่ได้ลงมือทำ และเพื่อให้เห็นวิธีการพัฒนา ปรับปรุงงาน ในครั้งต่อไป ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ ซึ่งคำถามอาจประกอบไปด้วย 1) อะไรคือเป้าหมายที่เราอยากเห็นร่วมกันก่อนจัดงานครั้งนี้ 2) ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร อะไรที่ได้ตามเป้าหมาย อะไรที่ได้เกินเป้าหมาย 3) อะไรที่พวกเราทำได้ดี 4) อะไรที่ยังทำได้ไม่ดี 5) ถ้าทำอีกครั้งจะพัฒนาปรับปรุงอย่างไร 6) ตัวเราได้ทักษะอะไรใหม่ๆ จากการทำกิจกรรมครั้งนี้ 7) อะไรที่เราประทับใจที่สุด เพราะอะไร 8) ถ้าเราจะชื่นชมเพื่อนหรือขอบคุณใคร เราอยากบอกอะไร

­

“ คนสำคัญที่จะช่วยทำหน้าที่ในการติดตามหนุนเสริม เป็นหูเป็นตาในการติดตามดูแลเด็กแทนโคชคือพี่เลี้ยงที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ที่จะลงไปติดตามพูดคุยกับน้องว่าในตอนนี้เป็นยังไง ถึงไหนแล้ว”

ชีวัน ขันธรรม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

­

­

11.พัฒนาทักษะพี่เลี้ยง : อบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

จากการดำเนินงานพบว่า พี่เลี้ยง เป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการเป็น “กลไกหนุนเสริมในพื้นที่” ทำบทบาทโคช สนับสนุนเยาวชนระหว่างการทำโครงการ เปิดโอกาสให้เยาวชนคิดเองทำเอง ทั้งนี้ เพื่อให้พี่เลี้ยงเข้าใจบทบาทมากยิ่งขึ้น พร้อมกับมีเครื่องมือในการทำงานกับเยาวชน โครงการฯ จึงร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยมีเนื้อหาในการเรียนรู้ คือ

●บทบาทการเป็นพี่เลี้ยง

●ฝึกทักษะกระบวนกร (Facilitator) ได้แก่ การฟัง การจับประเด็น การตั้งคำถาม การสรุปบทเรียน

●เทคนิคออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเยาวชน

12.เวทีเรียนรู้ พัฒนาทักษะการสื่อสาร: ครั้งที่ 2 “ข้อมูล” หัวใจสำคัญของการสื่อสาร

จากทักษะการถ่ายภาพ การบรรยายภาพ การทำคลิปวิดีโออย่างง่าย มาสู่การฝึกทำคลิปวิดีโอเพื่อสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อใช้คลิปวิดีโอที่ผลิตขึ้นเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในระหว่างการทำโครงการ

กระบวนการเรียนรู้ : คิดออกแบบซีรีย์สื่อสารผ่านคลิปวิดีโอให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น คลิปวิดีโอสำหรับเวทีคืนข้อมูลเยาวชน และคลิปวิดีโอสำหรับใช้ในงานมหกรรมพลังเยาวชนเมืองลำพูน โดยแบ่งเนื้อหาการอบรมเป็น 3 เรื่องคือ

●เครื่องมืออย่างง่ายในการเก็บข้อมูล เช่น การถ่ายภาพขณะลงพื้นที่

●การเรียบเรียงข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ การเก็บข้อมูล

●การดึงข้อมูลสำคัญมาใช้ในการสื่อสาร

13.เวทีเรียนรู้เยาวชนครั้ง 4 : สรุปบทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการ

ตลอดระเวลาของการทำโครงการ มีทั้งความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรคนานัปการ เพื่อให้เยาวชนได้ตกผลึกการเรียนรู้ของตนเอง โครงการฯ จึงออกแบบให้มีนำเสนอผลการดำเนินงาน และสรุปบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา โดยใช้เครื่องมือ 7 Act. ให้เยาวชนทบทวนเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง 7 กิจกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมกับใคร่ครวญ ทบทวนสถานการณ์สำคัญ 3 ด้านจากเส้นทางการเรียนรู้ทั้งหมด ได้แก่

●จ๊าบที่สุด: สถานการณ์ที่มีความสุขมากที่สุด

●จี๊ดที่สุด: สถานการณ์ที่เป็นปัญหามากที่สุด

●จ๋วดที่สุด: สถานการณ์ที่ได้เรียนรู้มากที่สุด

●ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

เครื่องมือ 7 Act

14.มหกรรมพลังเยาวชนคนหละปูน

คร่ำเคร่งทำโครงการกันมานานหลายเดือน ก็ถึงเวลาโชว์ศักยภาพพลังเยาวชนเมืองลำพูนในวันที่ 19 – 20 มกราคม 2562 ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร รวมกับงานสืบฮีต สานฮอย ฮ้อยกึ๊ด คนฮักหละปูน ครั้งที่ 2 “บุญตานข้าวใหม่ ปู๋จาพระธาตุเจ้าหริภุญชัย” และ “พลังเยาวชนคนหละปูน” ที่เด็กเยาวชนในโครงการ ร่วมกัน คิดออกแบบกิจกรรมด้วยตนเอง ทั้งการแสดง นิทรรศการ และการนำเสนอผลการดำเนินงานให้คนลำพูนเห็นถึง ศักยภาพและความสามารถของเด็กและเยาวชนเมืองลำพูน

เห็นได้ว่า กระบวนการเรียนรู้ 14 ขั้นตอนข้างต้น ได้บ่มเพาะเยาวชนเมืองลำพูนให้มีทักษะชีวิต “ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาในบ้านของตนเอง” จนมั่นใจได้ว่า “พลังเยาวชนคนหละปูน” เหล่านี้คือผู้สืบทอดสปิริตลำพูนต่อไปในอนาคต

­

­

กลไกพัฒนาเยาวชนเมืองลำพูน

โครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน ดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น และสถาบันหริภุญชัย ร่วมกันเป็นกลไกพัฒนาเยาวชนเมืองลำพูน ซึ่งมีบทบาท ดังนี้

1.หนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนระดับเหนือพื้นที่ ได้แก่ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ส่วนกลางที่เยาวชนทุกโครงการมาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักที่เยาวชนทุกโครงการควรได้เรียนรู้ เช่น การทำแผนที่ชุมชน (Social mapping) การบริหารจัดการโครงการ (Project management) และการสรุปบทเรียนจากการดำเนินโครงการ เป็นต้น

2.หนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนระดับพื้นที่ ได้แก่ การติดตาม หนุนเสริมการดำเนินงานของเยาวชนในชุมชน ทำกระบวนการทางความคิด หรือร่วมแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดติดขัดในการดำเนินงาน รวมถึงประสานงาน ทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงชุมชนในการสนับสนุนเยาวชน

3.เชื่อมโยงเครือข่ายในจังหวัดลำพูนมาร่วมสนับสนุนการพัฒนาเยาวชน เช่น การเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ข้อเสนอแนะ ให้ความเห็นในการดำเนินงาน และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชน และร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการของเยาวชน เป็นต้น

คุณลักษณะของโคช

โคช ได้แก่ ทีมงานจากสถาบันหริภุญชัยและมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทในการดำเนินงานกับบุคคล 3 กลุ่ม คือ เยาวชน พี่เลี้ยงชุมชน และเครือข่ายบุคคล องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด

ในการพัฒนาเยาวชน โคชมีบทบาท 3 ประการ 1. หนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนระดับเหนือพื้นที่ (ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ส่วนกลางที่เยาวชนทุกโครงการมาเรียนรู้ร่วมกัน) 2. หนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนระดับพื้นที่ (ติดตาม หนุนเสริมการดำเนินงาน) และ 3. เชื่อมโยงเครือข่ายในจังหวัดลำพูนมาร่วมสนับสนุนการพัฒนาเยาวชน เพื่อทำบทบาทดังกล่าวได้ บทเรียนจากการดำเนินงานพบว่าโคชควรมีคุณลักษณะนี้

คุณลักษณะของพี่เลี้ยงชุมชน

พี่เลี้ยงชุมชน เป็นที่ปรึกษาโครงการของเยาวชน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกับเยาวชน ได้แก่ เจ้าอาวาส ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ข้าราชการ ครู และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 26 คน ซึ่งมีความใกล้ชิดและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของเยาวชนในพื้นที่ ทำหน้าที่กระตุ้น หนุนเสริม ตั้งคำถามกระตุ้นคิด จัดกระบวนการเรียนรู้ การสรุปบทเรียนกับเยาวชนได้ รวมไปถึงการปลูกฝัง จิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่สามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับชุมชน สังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งพบว่าคุณลักษณะสำคัญที่พี่เลี้ยงโครงการเยาวชนเมืองลำพูนควรมี คือ

1.วิธีคิด สนใจงานพัฒนาเด็กและเยาวชน เข้าใจกระบวนการที่ออกแบบให้เยาวชนได้ทำแต่ละกิจกรรมว่าต้องการพัฒนาทักษะด้านใดบ้าง และมีวิธีคิด ออกแบบรูปแบบในการหนุนเสริมเยาวชนเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

2.มีใจ (เข้าถึงเด็ก) เข้าใจพัฒนาการของเยาวชนในแต่ละช่วงวัย รักและชอบที่จะทำงาน ร่วมกับเยาวชน หากพี่เลี้ยงไม่มีใจและไม่สามารถเข้าถึงเด็กได้ จะส่งผลให้เกิดช่องว่าง ระหว่างการทำงาน พี่เลี้ยงที่มีใจและสามารถเข้าถึงเยาวชนได้จะเป็นโอกาสที่ทำให้ เยาวชนกล้าเข้ามาขอคำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาระหว่างการทำโครงการ

3.วิธีการ มีความเข้าใจบทบาทของพี่เลี้ยง ไม่ชี้นำ เปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิดเองทำเอง และมีทักษะในการทำงานกับเยาชน อาทิ การตั้งคำถามกระตุ้นคิด การสร้างกำลังใจ การสรุปบทเรียน เป็นต้น

­

ข้อค้นพบจากการทำงาน

  • การพัฒนาพี่เลี้ยงสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาเยาวชน และต้องมีการพัฒนาความสัมพันธ์ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับพี่เลี้ยงคนเดียว เยาวชนแต่ละโครงการสามารถมีพี่เลี้ยงได้มากกว่าหนึ่งคน
  • การพัฒนาโครงการเยาวชน 3 รู้ที่เยาวชนต้องมีคือ รู้ชุมชน รู้เรื่องที่จะทำ และรู้การบริหารจัดการโครงการ
  • เตรียมความพร้อมพี่เลี้ยงเพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เยาวชนหาย ไม่ทำโครงการต่อ จะต้องหาวิธีการแก้ไขอย่างไร
  • เมื่อเด็กและพี่เลี้ยงถอดใจ ทีมโคชต้องทำความเข้าใจปัญหา หาความเป็นไปได้ สร้างความ
  • มั่นใจให้เดินต่อไปได้
  • ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชุดภาษาที่ใช้สื่อสารควรเป็นภาษาที่เด็กเข้าใจง่าย เป็นคำที่วัยรุ่นนิยมใช้จะทำให้เด็กเข้าใจกระบวนการที่โคชต้องการสื่อสารมากขึ้น
  • การติดตั้งเครื่องมือถูกเวลามีผลต่อการพัฒนาโจทย์โครงการ ทีมโคชพบว่าการติดตั้งเครื่องมือให้กับเยาวชนมีผลต่อการทำกิจกรรม เช่น เครื่องมือ Project Management การบริหารจัดการโครงการ ควรถูกนำมาจัดในช่วงแรกของการเริ่มโครงการเพื่อให้เห็นเป้าหมาย และความชัดเจนของการตัดสินใจเลือกทำโครงการ หรือเครื่องมือ 7 Act. ที่ควรทำก่อนที่เด็กจะจัดเวีคืนข้อมูลชุมชนหรือถอดบทเรียนการทำโครงการ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสทบทวนการทำงานของตัวเอ