กบยัดไส้ เศรษฐกิจฐานรากตำบลสลักได
กบยัดไส้ เศรษฐกิจฐานรากตำบลสลักได

­

มีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้ชาวบ้านโคกเพชร ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสลักไดเห็นว่าอาชีพการทำกบยัดไส้สมุนไพรของของชุมชนที่ทำต่อเนื่องกันมากว่า 100 ปี มีแนวโน้มหายไป

ประการแรกคือ “กบเริ่มหายาก” ประการที่ 2 เริ่มมีการเลียนแบบและใช้วัตถุดิบอื่นแทนเนื้อกบจากพ่อค้านอกหมู่บ้าน ส่วนเรื่องที่ 3 เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจอาชีพทำกับยัดใส้ของชุมชน

เหตุผลแค่ 3 อย่างก็เพียงพอที่จะทำให้ชาวบ้านโคกเพชร และทีมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มาทำวิจัยโครงการวิจัยกระบวนการเรียนรู้ภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน กรณีศึกษา: กบยัดไส้บ้านโคกเพชร หมู่ที่ 14 และบ้านโคกกระชาย หมู่ที่ 13 ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น)

กบหายไปไหน?

ในตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย 16 หมู่บ้าน แต่ละบ้านต่างประกอบอาชีพที่หลากหลาย บางหมู่บ้านเลี้ยววัววากิวเนื้ออร่อย แต่ที่โคกเพชรหมู่ 14 และ และบ้านโคกกระชายหมู่ 13 เลือกที่จะเลี้ยงกบ

“ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ก็เห็นชาวบ้านเลี้ยงกบและทำกบยัดไส้ขาย” ลุงนน รวดเร็ว เกษตรผู้เลี้ยงกบบ้านโคกเพชรหมู่ 13 บอก

“ตอนนี้ผมอายุ 74 ถ้าทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็น่าจะราว ๆ 100 ปีได้ เมื่อก่อนขายไม้ละ 50 สตางค์ ตอนนี้เป็นไม้ 15-20 บาทแล้วแต่ขนาด ทำไม่เคยหยุด ทำตลอด ยกเว้นแต่หากบไม่ได้”

ลุงนนยังบอกอีกว่า ที่มาของกบยัดไส้เมนูยอดฮิตของคนสุรินทร์ นั้น เริ่มมาจากการลองผิดลองถูกการทำกับข้าวของคนสมัยก่อน

“เคยถามแม่ แกบอกว่า เริ่มต้นจากหมกฮวก หรือหมกลูกอ๊อดผสมเครื่องสมุนไพร แล้วเอาใบตองห่อ ห่อแล้วก็ย่าง พอย่างได้กลิ่นหอมอร่อย และช่วงนั้นแถวบ้านเรากบเยอะ เดินไปไหนมาไหนก็เจอ ก็คิดว่าถ้าเอาตัวนี้มายัดไส้กบคงจะอร่อย ก็ทดลอง พออร่อยก็ทำกินกันมาเรื่อย”

ไม่ว่าขอสันนิษฐานของลุงนนจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา “กบยัดไส้” ของแท้จากบ้านโคกเพชรก็ถูกทำออกไปจำหน่ายให้คนนอกชุมชนได้ลิ่มลองรสชาต จากทำกินเองในครัวเรือน ขยับมาทำขาย จาก 1 ครัวเรือนที่ทำกบยัดไส้ ก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการทำกันทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากกบยัดไส้บ้านโคกเพชร ขึ้นชื้อในเรื่องรสชาติ เพราะใช้เนื้อกบล้วน ๆ ผสมกับสมุนไพรไร้สารเคมี เมื่อกิจการดี ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค ทางฝั่งผู้ผลิตก็ต้องเร่งผลิตให้ทันตามความต้องการของลูกค้า

เมื่อคนทำเพิ่มจำนวนขึ้น แต่วัตถุดิบคือ “กบ” มีจำนวนเท่าเดิม ซ้ำการทำเกษตระบบใหม่ก็เร่งให้กบธรรมชาติหายากยิ่งขึ้นไปอีก

“เมื่อก่อนเราจะหากบได้ตามทุ่งนา หนองน้ำ ในป่า บางทีก็หาได้แถว ๆ บ้านตอนฝนตกหนัก ๆ” ลุงนนบอกพร้อม ๆ กับตั้งข้อสังเกตว่า

“พอเราเปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน เราก็ไม่สามารถลงไปจับกบในนาได้ และการทำนาสมัยนนี้ก็ใส่สารเคมีเยอะ กบมันก็วางไข่ในนาไม่ได้อีกเหมือนกัน และพวกที่อยู่ในป่าตามแอ่งน้ำ แต่ก่อนก็มีเยอะ พอต้นไม้ถูกตัดเยอะ ๆ มันก็ไม่มีแอ่งน้ำให้กบได้วางไข่อีกเหมือนกัน แต่ก่อนมีแหล่งน้ำตามป่าตามคันนา เวลาฝนตกมา กบก็จะไปไข่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้หมดแล้ว ไม่มี มีแต่สระใหญ่ ๆ กบก็ไม่ไข่ น้ำเก่าไม่ไข่ ต้องมีฝนตก น้ำใหม่ ถึงจะไข่ได้ ทุกวันนี้ก็เลยหายไปหมด กบไม่มีที่วางไข่”

ลุงนน ทีมวิจัยชาวบ้านจากโครงการยังวิเคราะห์ต่อไปว่า

“แต่ก่อนมีหลุมมีอะไรที่ตามควายนอน ทุกวันนี้ไม่มีแล้วเพราะว่ามีหลุมนิดก็เอารถไปเกลี่ยให้มันเสมอกันขึ้นมา ตามทุ่งนาก็เหมือนกัน เวลากบจำศีล เอารถไถไปพรวนดิน กบตายหมด และเดี๋ยวนี้พวกลูกอ๊อด เมื่อหายากก็ขายดี ทุกวันนี้ ลูกอ๊อดโล 200 บาท แย่งกันซื้อ”

เมื่อกบในธรรมชาติหายาก หรือ “หาไม่ได้อีกแล้ว” ทางออกของชาวบ้านมีอยู่ 2 ทางเลือกที่จะทำให้อาชีพดั้งเดิมของชุมชนยงคงอยู่ต่อไปคือ “เลี้ยง” และ “ซื้อ” จากประเทศกัมพูชา

­

ในแง่ของการเลี้ยง ชาวบ้านบอกว่าเลี้ยงกันตามมีตามเกิด รอดบ้าง ตายบ้าง เพราะไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องสำคัญอะไร ขณะที่ พ่อสำเนียง ธรรมพุมา ผู้นำชุมชนบ้านโคกเพชร ทีมวิจัยชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงกบบอกว่า “กบเลี้ยงยาก ขี้ตกใจ และศัตรูมันเยอะ”

“ของเราเริ่มเลี้ยงกันจริง ๆ จัง ๆ เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ต่างคนต่างเลี้ยงไป ไม่ได้ดูต้นทุน ไม่ได้ดูอะไร จะตายก็ตายไป จริง ๆ แล้วกบเลี้ยงยากนะ มันขี้ตกใจ พอช่วงหลัง ๆ บางคนก็ตายหมด บางคนก็ตายครึ่งนึง บางคนก็รอดทั้งหมด” พ่อสำเนียงบอก

ในแง่การซื้อ หรือนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน กนกพร ศรีมาลา ทีมวิจัยการเลี้ยงกบ บอกว่า ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะหาซื้อได้ตลอดปี แต่ราคาจะสูงกว่าปกติ

“กัมพูชาขายให้เรากิโลกรัมละ 70 – 80 บาท หรือ 100 บาท เวลาซื้อก็ต้องซื้อทีละมาก ๆ เพราะจะได้คุ้มค่าการขนส่งซึ่งน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ 13 ตัว หรือ 15 ตัว/ 1 กิโลกรัม คนที่มาทำขาย ถ้าได้จำนวนตัวน้อย เขาก็ได้แค่ 10 กว่าไม้ มันก็ไม่คุ้ม ถ้าเอากบเขมรมา ก็ได้ 30 ไม้ 10 กิโล จะได้ 130 หรือ 150 ไม้ ถ้ากบเลี้ยงจะได้แค่ 110 ไม้ มันก็ลดไปประมาณ 30 , 40 ไม้ ซึ่งมันก็ไม่คุ้ม พอเป็นแบบนี้ เราก็พยายายามเลี้ยงเองด้วย หลายบ้านเลี้ยงเอง รอดบ้าง ตายบ้าง เพราะกบเลี้ยงยาก”

เมื่อชาวบ้านกำลังพบกับวิกฤติเรื่องกบ มานพ แสงดำ นายกองค์การบริหารตำบลสลักได มีโอกาสได้คุยกับนายกฯ ประเสริฐ สุขจิตร จาก อบต. เมืองลีง ทำให้ทราบว่ามูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กำลังขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนอยู่ จึงสนใจเข้าไปร่วมเรียนรู้ตามเวทีต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ จัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พบว่ามูลนิธิฯ มี “กระบวนการและองค์ความรู้” ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ อบต. และมี “เครื่องมือ” ในการลงไปสร้างการเรียนรู้แก่เด็กเยาวชนในชุมชนจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการด้วย เพราะเห็นว่าตรงกับแนวทางของตัวเอง โดยมีเป้าหมายในใจที่อยากให้ “กลไกในชุมชน” มีความเข้มแข็งโดยตัวของพี่น้องประชาชนเอง คือเขาต้องมีเครื่องมือทางความคิดที่เขาสามารถคิดเป็นและหาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์ได้ และสามารถที่จะสร้างเด็กเยาวชนลูกหลานรุ่นต่อรุ่นให้ทำงานกับเขาเป็น ซึ่งจะบ่งบอกถึงความยั่งยืน

“ผมมองเป้าหมายระยะยาวเสมอ เราไม่ได้ทำให้มันเป็นกิจกรรมสั้น ๆ เรามองยาวคือให้เครื่องมือทางความคิดไปเลย ถ้าเปรียบเทียบคือให้วิธีการหาปลา ให้เครื่องมือหาปลา เราไม่ให้ตัวปลา เขาจะได้ปลา หากินได้ตลอดไป” นายกฯ มานพ บอกวิธีการทำกับชุมชน

อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่นี่.pdf