"กันตวจระมวล"เป็นตำบลขนาดเล็กในเขตพื้นที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ที่ยังคงกลิ่นอายวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมและยังคงความเป็นชนบทไว้อย่างครบถ้วน แบ่งเขตพื้นที่การปกครอง 8 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 5,600 คน ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวประกอบอาชีพทอผ้า จักสาน ถักแห เก็บหมาก เก็บมะพร้าว และส่งขายพืชสมุนไพร ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งยังออกไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่ บ้างเป็นแรงงานก่อสร้าง บ้างเข้าเมืองขับวินมอเตอร์ไซค์ ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทุนทรัพยากรธรรมชาติ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"ตลอดจนทุนทางสังคมที่มีความรุ่มรวยทางภูมิปัญญา วิถี วัฒนธรรม ทำให้คนในชุมชนอาศัยอยู่กันอย่างมีความสุข
ทว่า หากฉายภาพไปถึงอนาคตอันใกล้ของกันตวจระมวล คงมีความเหมือนกับชุมชนชนบทอื่น ๆ อีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่คนรุ่นพ่อแม่เริ่มมีความวิตกกังวลใจกับความเป็นไปของลูกหลาน ผู้นำชุมชนตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองต่างชี้ตรงกันหลายปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเด็กเยาวชนไม่สนใจการเรียน ออกจากโรงเรียนกลางคันแล้วมานั่งนอนอยู่บ้าน ไม่ทำงานจึงไม่มีรายได้ และชักชวนกันมีพฤติกรรมเสี่ยง จับกลุ่มมั่วสุม ติดเกม ติดเหล้า ทะเลาะวิวาท แว้น เสี่ยงต่อการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สร้างความหวาดระแวง และความไม่สงบเรียบร้อยในชุมชน ขณะที่เด็กเยาวชนในระบบบางส่วนเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ เป็นภาระทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว จากปัญหาทั้งหมดนี้ส่งผลให้ครอบครัวของเยาวชนรู้สึกเสียใจและห่วงใย กลัวว่าลูกหลานจะเอาตัวไม่รอด ซึ่งนับวันปัญหาที่ว่าจะมีปริมาณและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
เพราะความห่วงใย
การส่งเสริมให้เยาวชนกลุ่มนี้มี “ความรู้” และมี “ทักษะ” ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับทุนทางสังคม ทุนทรัพยากร และทุนทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่ จึงเป็นความพยายามของชุมชนในการเปลี่ยนแปลงเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจาก "ภาระ" สู่การเป็น "พลัง"ของชุมชน และเป็นที่มาของโจทย์การทำวิจัยของทีมงานเทศบาลตำบลกันตวจระมวล ในหัวข้อโครงการกระบวนการเรียนรู้ทุนทางสังคมเพื่อสร้างทักษะอาชีพให้เยาวชน ตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ระยะที่ 3 มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) โดยมีผู้นำชุมชนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2 บ้านสระ และหมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต ดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 จนถึงเดือนสิงหาคม 2561
- รัตนา สุขสบาย -
ป๋า-รัตนา สุขสบาย หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลกันตวจระมวลในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย พูดถึงความตั้งใจของการทำวิจัยครั้งนี้ว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนสัมภาษณ์มุมมองผู้นำชุมชนและผู้ปกครองทำให้ทราบถึงปัญหา และเกิดความคิดกันว่าถ้าเด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ไม่อยากให้เขาเป็นภาระของครอบครัว และตกมาเป็นภาระของสังคม อย่างที่กันตวจระมวล เด็กเยาวชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับตายาย เนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น ยายไม่ได้มีรายได้มากนัก แต่ต้องเจียดเงินให้หลาน ๆ นำไปเล่นเกม หรือไปเติมเงินโทรศัพท์มือถือแต่ถ้าเราเสริมทักษะให้เขา แค่ให้รู้จักการประกอบอาชีพ ถ้าเขาอยากทำและทำได้ เขาจะเปลี่ยนตัวเอง มีงาน มีเงิน และเปลี่ยนมาช่วยเหลือจุนเจือยายแทน
“เราไม่อยากให้เยาวชนคนอายุน้อย ๆ ที่มีเรี่ยวแรง มีกำลัง ไปเป็นภาระของผู้สูงอายุ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่”พี่ป๋าสะท้อน
เมื่อคิดจะทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบ กระบวนการแรกที่ อบต.กันตวจระมวลทำคือ “สร้างการมีส่วนร่วม”ของคนในชุมชน เพราะมีฐานการทำงานเดิมของนักถักทอชุมชนอยู่ก่อนแล้วว่า การทำงานใดๆ ก็ตามประสบความสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ อบต.ไม่ใช่คนลงไปทำเอง จึงชักชวนผู้นำชุมชนทั้ง 8 หมู่บ้านเข้ามารับฟังรายละเอียดการทำโครงการ และหาคนที่มี “ใจ” มาเข้าร่วมกระบวน จนได้หมู่ 2 บ้านสระ ที่ผู้ใหญ่บ้านอยากหาคนเข้ามาช่วยทำงานในชุมชน และหมู่ 5 บ้านตาแจ๊ตที่กลุ่มเด็กเยาวชนเข้มแข็งอยู่แล้วเข้ามาเป็นทีมวิจัยร่วม
หลังจากได้โจทย์การวิจัยแล้ว ขั้นตอนต่อมาจึงเป็นการฟอร์มทีมทำงาน ป๋าในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย บอกว่า การทำวิจัยครั้งเป็นการฟอร์มทีมใหม่ของ อบต. ดึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นทีมวิจัย คือ มาง-จิราพร น่าชม ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร เอม-อาทิตยา บุญสม ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ปุ้ย-สายสุนีย์ แก้วสอน ผู้ช่วยนักวิชาการสาธารณสุข ก้อย-ปรารถนา โกรัมย์ ผู้ช่วยฝ่ายการเงิน เนียง-วรีรัตน์ สุขสบาย ผู้ช่วยธุรการ เก่ง-อรรถพร ประจุทรัพย์ ผู้ช่วยนักวิชาการศึกษา ซึ่งหลายคนทำงานด้วยกันมานาน มีความสนิทสนม รู้ใจกัน เป็นทุนเดิม หลายคนอาศัยอยู่ในชุมชน มีใจอยากแก้ปัญหาในชุมชนอยู่แล้ว และบางส่วนเป็นนักถักทอชุมชน มีทักษะการทำงานกับชุมชน จึงชวนเข้ามาร่วมทีม การมอบหมายงานจึงดูควบคู่กันไปทั้งความถนัด และดูว่าใครอยู่ใกล้ชุมชนไหนก็ให้เป็นหัวหน้าทีมไปทำงานกับบ้านนั้น แล้วค่อยเอางานมารวมกันในภายหลัง ส่วนงานไหนเป็นงานใหญ่ต้องทำงานร่วมกันหลายคนก็มาระดมพลังช่วยงานกัน
“พื้นที่หมู่ 2 บ้านสระ มีมางเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ส่วนที่หมู่ 5 บ้านตาแจ๊ต มีปุ้ยเป็นหัวหน้าทีมวิจัย หมู่ที่ 5 ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นคนในหมู่บ้านการทำงานจึงสะดวก แม้จะเป็นเวลาเย็นค่ำก็สามารถทำงานได้ตลอดเวลา แต่เวลาทำงานจริงๆ ทุกคนก็ลงไปช่วยกันหมด ข้อดีของการใช้คนในเป็นหัวหน้าทีมวิจัยคือ รู้จักคนในชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งผู้นำชุมชน ปราญช์ผู้รู้ พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงเยาวชนด้วย ทำให้การทำวิจัยง่ายขึ้น เพราะรู้ว่าคงไม่พาลูกหลายเขาเสียแน่นอน” ป๋าย้ำข้อดีของการออกแบบกระบวนการวิจัยที่ใช้คนในเป็นคนขับเคลื่อนงาน
ข้อมูลที่ “ใช่” มีชัยไปกว่าครึ่ง
การเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายของโครงการ คือ การส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองนั้น ความตั้งใจและความห่วงใยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ยังต้องพึ่งพาการมีชุดข้อมูลที่ตรงจุด ถูกต้อง และแม่นยำ ซึ่งจะทำให้การทำวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชน ชุมชน และมีความยั่งยืน ทีมวิจัยจึงต้องลงพื้นที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีการใช้เครื่องมือวิจัยอย่างหลากหลาย เช่น ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ แผนที่ชุมชน การใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลจากผู้นำชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครอง และเยาวชน ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งกันเก็บข้อมูล โดยมีผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ประสานงาน ประกาศเสียงตามสายว่า “วันนี้จะมีเจ้าหน้าที่ อบต.ลงมาเก็บข้อมูลวิจัยที่ศาลากลางหมู่บ้าน ขอให้ลูกบ้านให้ความร่วมมือ” จนได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย
- ·บริบทพื้นที่และสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน
- ·ปัญหาและความรุนแรงของปัญหาด้านการประกอบอาชีพของเยาวชน
- ·ศักยภาพและความต้องการด้านอาชีพของเยาวชน
- ·ทุนทางสังคมที่เอื้อและเหมาะสมกับการพัฒนาอาชีพของเยาวชน
ในช่วงของการเก็บข้อมูลนี้เองที่ถือว่าเป็น “งานหิน” สำหรับทีมวิจัย โดยเฉพาะการเข้าถึงเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง มาง เล่าว่า ระยะแรกที่ทีมวิจัยเข้าหากลุ่มเยาวชน เยาวชนถึงกับเกิดอาการ “วงแตก” ลุกหนีไปคนละทิศละทาง กว่าเยาวชนจะยอมเปิดใจพูดคุยด้วย ต้องอาศัยลูกล่อลูกชนเต็มที่ ทั้งให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยคุย ทั้งพยายามเข้าไปตีสนิท หยอกล้อพูดคุยด้วยบ่อย ๆ ครั้งแรกไม่ได้ผลก็เข้าไปลองใหม่ ประมาณ 4 - 5 ครั้ง เยาวชนจึงเปิดใจและเข้าร่วมกิจกรรมด้วย
บทเรียนที่ได้ในครั้งนั้นทำให้นักวิจัยรู้จักการปรับตัวเข้าหาเด็กเยาวชน และการเปิดใจรับฟังปัญหาของพวกเขา ทำให้พบว่าเด็กเยาวชนแต่ละคนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน บางคนขี้อาย ไม่พูด ไม่เข้าสังคม เราต้องใช้กิจกรรมที่เขาสนใจเป็นสะพานเข้าไปทำความรู้จักเขา บางครั้งเยาวชนก็มองว่าเขาใช้ชีวิตของเขาตามปกติ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร เป็นจุดที่ผู้ใหญ่ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความเข้าใจให้แก่พวกเขา
“เขาอาจไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่เรามองเขาว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ทีนี้พอได้อยู่ด้วยกัน เราก็เข้าใจเขามากขึ้น เหมือนที่อาจารย์คนหนึ่งเคยบอกว่า แม่ไม่เข้าใจหรือว่าเวลาผมบิดมอเตอร์ไซด์แล้วก้มลงอย่างนี้ ลมมันพัด มันมีความฟินขนาดไหน แกพูดอย่างนี้ว่าพวกเราไม่เข้าใจวัยรุ่น ตอนนี้เราเข้าใจแล้ว ก็จากที่ได้ไปอยู่กับเขา บางทีเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไรอย่างนั้น เขาอาจจะกินโค้กจริง ๆ แต่คนมองว่าไอ้เด็กพวกนี้ หน้าตาแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ มันต้องกินอะไรอย่างอื่น เหล้าสี หรือมันต้องมีอะไรผสมลงไปแน่ ๆ อะไรแบบนี้ พอมาทำตรงนี้ เราเข้าใจเด็กมากขึ้น” ป๋าเสริม
ก้อย เสริมว่า ตอนลงพื้นที่เก็บข้อมูลสนุกมาก มีผู้ปกครองเด็กในระบบบางคนชักชวนลูกเข้ามาช่วยระบายสีบ้าง หยิบจับอุปกรณ์บ้างก็มี
เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถนำข้อมูลนั้น ๆ มาใช้ได้เลย ทีมวิจัยยังต้องนำข้อมูลมาตรวจทาน พูดคุยถกเถียง วิเคราะห์ และสรุปผลร่วมกัน จากนั้นจึงจัดทำเป็นแบบสอบถามความถนัดและความสนใจของเด็กว่าอยากเรียนรู้อาชีพอะไร โดยทำแบบสอบถามทีละหมู่บ้าน
“แบบสอบถามของหมู่ 2 สรุปได้ว่าน้องอยากทำข้าราชการ และค้าขาย เราก็นำมาสอบทานกับข้อมูลบริบทชุมชนที่เก็บมา ทำให้รู้ว่าอาชีพข้าราชการเราทำให้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร เช่น เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา ก็สามารถทำได้ เพราะสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ อย่างเลี้ยงปลาก็ใช้สระน้ำของหมู่บ้านเป็นสระสาธารณะ ประมงจังหวัดเขามาสอน ที่นี่มีทุนทางที่นี่เองด้วย น้องวิชาการเกษตรและผู้ช่วยก็จะมีความรู้อยู่แล้ว แล้วเอาจากข้างนอกมา 2 ครั้ง หลังจากนั้นก็เรียนกันเอง” ป๋าบอกความสำคัญของการมีข้อมูลบริบทพื้นที่สำหรับใช้ตัดสินใจจัดกิจกรรมให้เด็กที่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
ต๋อง-กิตติศักดิ์ เป็นตามวา-
“ให้ทำในสิ่งที่เขารัก” แนวทางส่งเสริมอาชีพให้แก่เยาวชน
ข้อสรุปจากการเก็บข้อมูลของทีมวิจัยพบว่า เยาวชนกลุ่มเป้าหมายในหมู่ที่ 2 บ้านสระ เป็นเยาวชนชายจำนวน 8 - 9 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กนอกระบบ ไม่ได้ศึกษาต่อ มีความสนใจประกอบอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์ เพราะสอดคล้องกับความสนใจส่วนตัว และมีรุ่นพี่ในชุมชน คือ ต๋อง-กิตติศักดิ์ เป็นตามวาลูกชายของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งกลุ่มเยาวชนมีความรู้จักมักคุ้น และได้ยึดอาชีพซ่อมและตบแต่งรถจักรยานยนต์ขายมาอยู่ก่อนแล้ว
เยาวชนกลุ่มเดียวกันนี้ยังให้ความสนใจกับอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชัง เนื่องจากชุมชนมีความพร้อม ยินดีให้เยาวชนเข้าไปใช้ประโยชน์บริเวณสระน้ำของหมู่บ้าน และใช้รำละเอียดจากโรงสีชุมชนผสมอาหารให้ปลาเพื่อลดต้นทุน ทีมวิจัยยังได้เชิญหน่วยงานประมงอำเภอและประมงจังหวัดมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการเลี้ยงปลาแก่เยาวชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเย็บกระชังปลา วิธีการเลี้ยง วิธีการให้อาหาร ไปจนถึงการแปรรูปปลาเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ส่วนอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ และกลุ่มปลูกผัก เป็นความตั้งใจดีของเยาวชนที่ต้องการขยายผลกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนได้มีพื้นที่มาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน
ส่วนเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในหมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต ประกอบด้วยเยาวชนหญิงชายที่กำลังศึกษาอยู่และที่ไม่ได้ศึกษาแล้วจำนวน 15 คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีความสนใจประกอบอาชีพทำขนมพื้นบ้าน เนื่องจากมีปราชญ์ผู้รู้ในชุมชนช่วยสอน ขนมพื้นบ้านหลายอย่าง อาทิ ขนมดอกจอก ขนมนางเล็ด ขนมดอกบัว เป็นที่นิยมรับประทาน และชุมชนมีความต้องการขนมเหล่านี้สำหรับประกอบงานประเพณีต่าง ๆ อยู่เสมอ เยาวชนเล็งเห็นว่าสามารถทำขายและมีรายได้ทุกวัน ส่วนอีกอาชีพที่เยาวชนสนใจคือการเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งชุมชนมีสระน้ำกลางหมู่บ้านที่เยาวชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้
ผลที่ได้คือความสำเร็จ
ทั้งนี้ ภายหลังจากได้ข้อสรุปถึงอาชีพที่เยาวชนต้องการทำแล้ว ขั้นตอนต่อมาจึงเป็นการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดลองฝึกปฏิบัติการประกอบอาชีพด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ถึงเดือนสิงหาคม 2561 ได้ผลลัพธ์ ดังนี้
หมู่ที่ 2 บ้านสระ
- กลุ่มอาชีพซ่อมและตบแต่งรถจักรยานยนต์ กลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จเป็นกลุ่มแรก และเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด จากช่วงก่อนการทำโครงการวิจัย เยาวชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่ว่างงาน เรียนไม่จบ หรือเรียนจบแล้วแต่ไม่มีงานทำ เมื่อได้มาทดลองฝึกอาชีพแล้วทำให้เยาวชนมีรายได้และสามารถช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้ เยาวชนยังได้เรียนรู้การแบ่งบทบาทหน้าที่ มีการสอนงานให้แก่กัน รู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และจัดสรรผลกำไรจากการขายรถจักรยานยนต์ที่ตบแต่งแล้วเข้ากองกลางเพื่อต่อยอดกิจการ ขณะที่คนในชุมชนเองได้รับประโยชน์เพราะไม่ต้องนำรถจักรยานยนต์ที่เสียไปซ่อมไกล และราคาไม่แพง นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังนำเครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดไปให้เยาวชนซ่อ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังเป็นการที่เยาวชนมีความรับผิดชอบมากขึ้น ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองและคนในชุมชน พ่อแม่ชื่นชมลูกหลานว่ามีพฤติกรรมดีขึ้น จากเมื่อก่อนกลับบ้านดึก ตามตัวไม่เจอ แต่ตอนนี้ตามตัวได้ง่าย ตกเย็นก็มาอยู่ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์
- ·กลุ่มอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังเยาวชนช่วยกันทำกระชังปลา ได้ฝึกฝนทักษะการเลี้ยงปลา มีกำไรจากการขายปลารอบแรกและไปซื้อพันธุ์ปลามาเลี้ยงรอบใหม่ และเกิดการต่อยอดขยายผลสู่กลุ่มแม่บ้าน รับซื้อปลาจากเยาวชนไปแปรรูปเป็นปลาส้มเพื่อจำหน่ายในชุมชน แต่ปัจจุบันการเลี้ยงปลาในกระชังหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากกระชังขาดเสียหาย หากซ่อมเสร็จเยาวชนก็จะกลับมาเลี้ยงปลาอีกครั้งป๋าเสริมว่า ตอนที่เด็กขายปลาได้รอบแรก เขาเดินมาถามที่ อบต.ว่า “พี่จะเอาเงินลงทุนคืนไหม” แต่เราก็ไม่ได้เอาคืน บอกเขาไปว่าให้เก็บไว้เป็นทุนสำรองของกลุ่มต่อไป
- กลุ่มอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ เป็นกลุ่มอาชีพที่เกิดจากการต่อยอดขยายผลของ 2 กลุ่มอาชีพแรก เพิ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน แต่มีแนวโน้มไปได้ดี เนื่องจากเป็นภาพความร่วมมือของคน 3 กลุ่มคือ เยาวชน ผู้ใหญ่ในชุมชน และเจ้าหน้าที่ อบต.ที่ลงแรง ลงเงิน สนับสนุนการเลี้ยงไก่ของเยาวชน โดยเยาวชนกลุ่มซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นผู้ออกแบบและร่วมกับชาวชุมชนสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ขณะที่คนในหมู่บ้านเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายพร้อมกับสนับสนุนหัวอาหารไก่ ส่วนทีมวิจัยสนับสนุนไก่สาว 50 ตัวเป็นทุนตั้งต้น กลุ่มอาชีพนี้ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่และมีรายได้ควบคู่ไปกับ 2 อาชีพแรก และทำให้ชาวบ้านมีไข่ไก่ราคาถูกไว้บริโภค โดยเยาวชนและผู้ใหญ่บ้านต่างเห็นตรงกันว่าระยะต่อไปจะเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนหญิงได้เข้ามามีส่วนร่วม และรับช่วงดำเนินการต่อ
- ·กลุ่มอาชีพปลูกผัก เป็นกลุ่มอาชีพที่เกิดจากความต้องการของพี่ ๆ เยาวชนที่ต้องการให้น้อง ๆ เด็กเล็กได้เข้าร่วมกิจกรรมในส่วนที่สามารถทำได้ โดยตั้งใจนำผักที่ปลูกได้ไปเป็นอาหารกลางวันให้แก่น้อง ๆ ในศูนย์เด็กเล็กประจำตำบล ซึ้งเยาวชนที่เข้าร่วมในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมและบางส่วนเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ในระยะเริ่มต้น พ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนคณะกรรมการหมู่บ้านช่วยเยาวชนยกแปลงและปลูกผัก จากนั้นให้เยาวชนจัดเวรหมุนเวียนกันมาดูแลและรดน้ำ แต่เนื่องจากแปลงผักอยู่ติดกับสระน้ำของหมู่บ้าน และน้อง ๆ ยังดูแลตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงเกิดความเป็นห่วง ไม่ต้องการให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรม บทบาทของเยาวชนจึงค่อย ๆ ลดน้อยลง และส่งต่อแปลงผักให้ผู้ใหญ่ในชุมชนรับช่วงดำเนินการแทน อย่างไรก็ดี ผู้ใหญ่บ้านเองมีแผนที่จะปรับปรุงแปลงปลูกผักให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเพื่อให้เยาวชนกลับมาร่วมกิจกรรมได้อีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวได้ดี
หมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต
- กลุ่มอาชีพทำขนมพื้นบ้าน การดำเนินการของกลุ่มเยาวชนถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากเยาวชนจะได้เรียนรู้วิธีการทำขนมพื้นบ้านจากปราชญ์ผู้รู้ และรวมกลุ่มกันทำขนมอย่างต่อเนื่อง มีร้านค้าในชุมชนมารับขนมไปขาย บางครั้งมีออเดอร์สั่งทำขนมเพื่อนำไปใช้ในงานบุญงานประเพณี ทำให้เยาวชนมีรายได้จากการขายขนมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับทีมวิจัยและผู้รู้ในชุมชนเป็นไปด้วยดี เด็กและผู้ใหญ่สามารถพูดคุยหยอกล้อกันได้ เยาวชนมีความสุขในการทำกิจกรรม มีความรับผิดชอบ และมีความอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
- กลุ่มอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชัง เยาวชนชายหญิงเรียนรู้วิธีการทำกระชังปลา มีทักษะในการเลี้ยงปลา เยาวชนมีความรับผิดชอบ ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นเยาวชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ผลที่ได้จากการเลี้ยงปลา ปลาที่เยาวชนเลี้ยงเป็นที่ต้องการของชาวชุมชน เมื่อเยาวชนโพสต์ขึ้นโซเชียลมีเดียก็มีลูกค้าสนใจเข้ามาสั่งซื้อ
ความงอกงามในตัวเยาวชน จาก “ภาระ” สู่ “พลัง” ของชุมชน
ผู้ใหญ่ตร๊อบ-มนัญชยา เป็นตามวา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านสระ และนักวิจัย สะท้อนว่า การทำวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของชุมชน ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิดและเลือกเองว่าเขาชอบอะไร อยากทำอะไร และได้ทดลองทำสิ่งนั้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน ไม่ใช่กิจกรรมที่ผู้ใหญ่เลือกให้ทำเป็นครั้ง ๆ แล้วจบไป จึงทำให้เขาได้ทบทวนตัวเอง และรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริง ๆ เมื่อเยาวชนได้ทำในสิ่งที่รัก เขาจะทำสิ่งนั้นได้ยาวนาน
“เรารู้ว่าการทำงานกับเด็กเราจะต้องอาศัยจากสิ่งที่เด็กชอบ แล้วเราทำหน้าที่สนับสนุนเขา อย่างกลุ่มซ่อมรถ 1 ปี 8 เดือนที่ผ่านมา เขายังอยู่ตรงนี้ ไม่ทิ้งช่วงไปไหน และเขาไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่เอาแล้ว เราในฐานะผู้ใหญ่บ้านเห็นเด็กกลับมาเป็นแบบนี้ก็ภูมิใจ เราคุยกับเขาได้ ให้เขามาช่วยงานเราได้ จากเมื่อก่อนไม่เคยเลย เหมือนกับว่าพอโครงการนี้เข้ามา มันทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง และชุมชนเห็นคุณค่าของเยาวชน” ผู้ใหญ่ตร๊อบเล่า
โดนัท-ณัฐพล ไชยผง เยาวชนหมู่ที่ 2 บ้านสระ สมาชิกกลุ่มซ่อมรถจักรยานยนต์ เล่าว่า แต่ก่อนตัวเองติดเกมหนักมาก หลังออกจากโรงเรียนตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก็อยู่แต่บ้านเล่นเกม เมื่อได้มาเข้าร่วมกลุ่มกับพี่ ๆ รุ่นพี่ให้ช่วยหยิบโน้นจับนี่ ก็รู้สึกชอบ หมั่นสังเกต และเรียนรู้จากพี่ๆ จนตอนนี้สามารถเปลี่ยนยาง ถอดประกอบชิ้นส่วน ทำสีเองได้ และเริ่มทำเครื่องยนต์เป็น การที่พี่ๆ แบ่งงานให้ ยังทำให้ตัวเองมีรายได้ ไม่ต้องขอเงินแม่และยายเหมือนแต่ก่อน
ความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดของโดนัทคือการที่โดนัทตัดสินใจไปสมัครเรียนต่อที่ กศน.ตามคำแนะนำของ แมกซ์-วิชัย มณีรัตน์ รุ่นพี่ในกลุ่มที่ชี้ให้โดนัทเห็นคุณค่าของการศึกษา เพื่อให้ได้ “วุฒิ ม.3” เป็นใบเบิกทาง สามารถนำไปเข้าเรียนต่อสาขาช่างยนต์ สำหรับอนาคตของโดนัทๆ ใฝ่ฝันว่าเขาอยากจะมีร้านซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นของตัวเอง
“ผมบอกน้องว่าหากในอนาคตโดนัทมีใบประกอบวิชาชีพ โดนัทจะสามารถทำงานในโรงงาน ทำงานในบริษัท หรือแม้แต่จะเปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของตัวเอง ก็ทำได้ ในทางกลับกันหากโดนัทไม่มีวุฒิการศึกษา โดนัทจะถูกมองข้าม ถึงเราทำได้ดีกว่าเขา แต่จะไม่มีใครเชื่อถือ และเรายังอาจถูกคนอื่นเอาเปรียบได้ด้วย” แมกซ์เล่า โดยอ้างอิงกับประสบการณ์ที่ตัวเองเคยพบ
การเปลี่ยนแปลงตนเองของโดนัทถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจสำคัญของทีมวิจัย โดยเปลี่ยนโดนัทจากเด็กที่ติดเกม แว้น และติดเพื่อนจนสุ่มเสี่ยงต่อการไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดจนแม่และยายถอดใจ มาเป็นเยาวชนที่รู้จักความต้องการของตนเอง กลับมาสนใจการเรียน และสามารถเลือกหนทางเดินให้กับชีวิตของตนเองได้
“เมื่อก่อนโดนัทล่อแหลมมากกับปัญหายาเสพติด โครงการนี้ช่วยดึงเขาออกมา พลิกอีกด้าน จากเดิมที่แม่เขาต้องมาร้องห่มร้องไห้บอกว่าเขาคงไม่มีความสามารถดึงลูกของเขากลับมาได้แล้ว ยายเขาก็ด้วย พอมีโครงการนี้มา เราถามเขาว่าโดนัทมาไหม แรกๆ เขาไม่ค่อยชอบ แต่เขาก็ค่อยๆ มาคลุกคลีกับพี่ๆ เลิกนอนตื่นสาย แล้วมาที่กลุ่มทุกวัน พี่เขามีอะไรให้ทำ เขาเรียกใช้แล้วก็ให้ค่าตอบแทนน้องไป” ผู้ใหญ่ตร๊อบ เล่า
ส่วน เจน-เจนนิสา นาคงาม และ ต่าย-ชัชฎาภรณ์ ชาติเหิมเยาวชนกลุ่มอาชีพทำขนมพื้นบ้าน หมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต เล่าว่า ตอนนี้ทั้งเธอทั้ง 2 คนไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว เมื่อก่อนไม่ได้ทำอะไรก็จะอยู่บ้าน เล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะไม่มีอะไรให้ทำ พอมีกลุ่มทำขนมจึงมาช่วย มาเรียนรู้วิธีการทำ เผื่อว่าในอนาคตจะสามารถยึดเป็นอาชีพได้ พ่อแม่เห็นแล้วดีใจ อยากให้มาทำ ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ การมาทำขนมยังทำให้ได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ชอบที่ได้ทำขนมแล้วพูดคุยกันไป ทำขนมแล้วซื้อข้าวมาทานด้วยกัน นอกจากนั้น การได้เข้าร่วมกลุ่มทำขนมยังทำให้รู้ตัวเองด้วยว่าชอบอะไร และยากทำอะไรในวันข้างหน้า
“ความฝันของเรา 2 คน เราอยากเปิดร้านทำเบอเกอรี่ขาย ตอนนี้ยังไม่มีคนสอน ยังไม่มีอุปกรณ์ ก็ไม่เป็นไร จะขอเรียนรู้การทำขนมพื้นบ้านไปก่อนค่ะ” เจนและต่ายกล่าว
เคล็ดลับการทำงานกับเยาวชน
ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่ได้คิดและลงมือทำวิจัย กลุ่มผู้ใหญ่ก็ได้คิดและลงมือทำเช่นเดียวกัน จากที่เคยมองดูเด็กอยู่ห่าง แบบห่วง ๆ ก็อาสาเข้ามาเป็นทีมวิจัย จนได้เทคนิคการทำงานกับเด็กติดไม้ติดมือไว้ใช้พัฒนาเด็กในชุมชนต่อไป
ต๋อง-อรุณรัตน์ สอดศรีจันทร์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และนักวิจัย หมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต พูดถึงผลของการทำวิจัยว่า การมาทำวิจัยครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดยังเป็นการทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองอุ่นใจว่าลูกหลานไม่ได้ไปเถลไถลที่ไหน บางครั้งผู้ปกครองแอบตามมาดู พอรู้ว่ามีผู้ใหญ่อยู่ด้วยก็วางใจ เลิกตาม บอกว่าดีแล้วที่ได้มาทำแบบนี้ เพราะอย่างน้อยลูกหลานอยู่ในหมู่บ้านและมีพี่เลี้ยงคอยดูแล
ส่วนเทคนิคการเข้าหาเยาวชนของพี่ต๋อง ๆ เล่าว่า ถ้าจะพัฒนาเยาวชนให้ดีขึ้น เราต้องเข้ากับเยาวชนให้ได้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องของคำพูดที่เราพูดคุยกับเขา เราต้องรู้จักการใช้คำพูดเพราะว่าเรากำลังพูดคุยกับวัยรุ่น เราจะพูดเอาแต่ใจไม่ได้ เราต้องวิเคราะห์เขา ดูเด็กเป็นรายคน แล้วปรับตัวให้เข้ากับเด็กแต่ละคนให้ได้ เช่น เด็กบางคนอารมณ์ร้อน เราต้องพูดให้เขาหัวเราะหรือเล่นอะไรกับเรา ไม่ทำให้เขารู้สึกเครียด เมื่อเขาเปิดใจกับเรา เราก็สามารถช่วยเหลือเขาได้
“การดึงเด็กมาทำงานกับเรามันเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะว่าบางครั้งถ้าเขาไปในทางที่ไม่ดี เราสามารถคุยกับเขาได้ ทำให้เขาเชื่อฟังเราได้ ส่วนตัวอยากให้เขามีอาชีพ มีรายได้ สามารถอยู่ในชุมชน ไม่ต้องออกไปข้างนอก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เราจะเดินไปด้วยกัน” พี่ต๋องพูดอย่างมีความหวัง
พี่เยาะ-พุธสดี บุญยง ผู้รู้ด้านการทำขนมพื้นบ้าน และนักวิจัย หมู่ที่ 5 บ้านตาแจ๊ต เสริมว่า ความคิดผู้ใหญ่กับความคิดเด็กย่อมไม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่ต้องเอาความคิดของเด็กมาปรับเข้ากับความคิดของเราว่ามันจะไปด้วยกันได้ไหม พบกันคนละครึ่งทาง เราต้องพยายามปรับความคิดของเรา ดูว่าเราคิดเป็นผู้ใหญ่มากเกินไปหรือเปล่า ทำอย่างไรให้เด็กเขาคิดตามเราให้ทัน ถ้าเราเข้าถึงเขา บางครั้งเขามีเรื่องไม่สบายใจ เขากล้ามาเล่าให้เราฟัง บางทีเขาเครียดเรื่องเรียน เครียดเรื่องที่บ้าน เขาจะมาคุยกับเรา เราสามารถช่วยเขา เราต้องไม่ปล่อยให้เขาหลุดไปไหน
“เมื่อก่อนเราไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยกันกับเขาอย่างนี้ เพราะส่วนมากเราจะดูแลลูกของตัวเอง พอมาเจอเด็กข้างนอก มันไม่เหมือนกัน เมื่อเอาความคิดมาคุยกัน มันทำให้เราได้คิดว่าเราต้องช่วยกันดูแล ตอนนี้เห็นเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็มีความสุขที่เห็นเขาสนใจ และสนุกกับสิ่งที่เขาได้ทำ” พี่เยาะเล่า
แมกซ์-วิชัย มณีรัตน์ รุ่นพี่ของเยาวชนกลุ่มซ่อมรถจักรยานยนต์ หมู่ที่ 2 บ้านสระ ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่า ในมุมมองของเขา การดึงเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม การประกาศขอความร่วมมืออาจไม่ใช่วิธีที่ได้ผล ผู้ใหญ่จำเป็น ต้องรู้จักและเข้าถึงเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเป็นรายกลุ่มหรือรายบุคคล วิธีการนี้จะได้ผลมากกว่า เพราะลึก ๆ แล้วเยาวชนมีความเกรงใจผู้ใหญ่ และอยากช่วยเหลืองานชุมชน แต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร อีกทั้งการเข้าหาเยาวชนเป็นรายคนจะช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่กับตัวเยาวชนได้
“ยกตัวอย่างผมเอง เมื่อก่อนผู้นำชุมชนไม่เคยรู้เลยว่าผมมีความสามารถทำอะไรได้บ้างจึงไม่เรียกใช้ แต่เมื่อผมได้มาทำกิจกรรมร่วมกับผู้นำชุมชนเขาก็เริ่มเห็นว่าผมเรียนจบจากวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ สาขาช่างเชื่อม สามารถออกแบบและเชื่อมโลหะได้ จึงให้มาช่วยออกแบบถังขยะซึ่งหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลให้ทำแจกทุกหลังคาเรือน หรือแม้แต่ในโครงการวิจัยครั้งนี้ ผมก็ได้เข้ามีส่วนร่วมในงานหลายอย่าง ทั้งในส่วนของการติดต่อประสานงานระหว่างทีมวิจัยกับกลุ่มเยาวชน การทำเอกสารข้อมูล การทำแผนที่ชุมชน รวมถึงโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ก็เป็นผลงานการออกแบบของผม หากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ผมไม่โดนทหาร ผมคงจะเปิดร้านซ่อมรถจักรยานยน