ลดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ สไตล์ “เมืองแก”
ลดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ สไตล์ “เมืองแก”

การผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการต่อสู้เพื่อพาชุมชนที่ถูกระบุว่าว่าเป็น “เกรด D” หมายถึง ชุมชนที่ผู้คนต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจซึ่งกันและกัน ครอบครัวแตกแยก ล่มสลาย พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกหลานถูกทิ้งไว้กับปู่ ตา ย่า ยาย รวมถึงการมีบุคคลระดับแกนนำที่ไม่มีสมรรถนะ ไม่มีศักยภาพในการนำพาชุมชนออกจากวังวนร้าย ๆ มาสู่ชุมชนเกรด A ที่มีผู้นำเข้มแข็ง ชาวบ้านทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในทุก ๆ กิจกรรม ระบบเศรษฐกิจชุมชนแข็งแรง ชาวบ้านยิ้มแย้มแจ่มใส และมีความสุข

แต่นั้นก็ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะแกนนำอย่าง เบิ้ม สงนวน ผู้ใหญ่บ้านเมืองแก หมู่ 3 ผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2556 ยังเห็นว่า สี่แยกข้าง ๆ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านยังมีเสียงแว้นมอเตอร์ไซค์ให้ได้ยินอยู่ทุกวี่วัน วันร้ายคืนร้ายวัยรุ่นก็ออกมาทะเลาะตบตีกัน

“มันเกิดความสงสัยนะ เราก็ทำมาทุกอย่างแล้ว ทั้งเอาเด็ก ๆ ไปเข้าค่ายอบรม แต่พอกลับมาอยู่สภาพเดิม ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ผู้ใหญ่เบิ้มบอกถึงข้อกังวลใจ

สำหรับผู้ใหญ่เบิ้ม เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปี พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นช่วงที่เมืองแกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด และถูกจัดอยู่ในกลุ่มชุมชนเกรด D จากการมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง 5 ปีต่อมา เมืองแกก็ค่อย ๆ ไต่ระดับจากเกรด D สู่ชุมชนเกรด A ได้ในที่สุด

อ่านต้นฉบับฉบับเต็มได้ที่นี่.pdf

จากชุมชนเกรด D สู่ชุมชนเกรด A

การจัดระดับของชุมชนในเมืองแกเพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ ของ เทศบาลตำบลเมืองแกคือ เกรด A คือทีมดี เยาวชนดี ผู้นำดี เกรด B คือเด็กเยาวชนสนใจปัญหาบ้านเมือง แต่ผู้ใหญ่ไม่เอาด้วย เกรด C ผู้ใหญ่สนใจปัญหา แต่เด็กไม่เอาด้วย และสำหรับเกรด D คือทั้งเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนไม่สนใจปัญหา ไม่พยายามหาแนวทางแก้ไข

และสำหรับบ้านเมืองแก ก่อนปี พ.ศ.2553 ก็ไม่ต่างจากชุมชนอื่น ๆ คือประสบปัญหาหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ หนี้สิน ทะเลาะวิวาท ความสัมพันธ์ในชุมชนไม่ดี แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ยังไม่รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหาเด็กแว้น

ปี พ.ศ. 2556 หลังเปลี่ยนผู้นำ บ้านเมืองแกเข้าร่วม “โครงการชุมชนน่าอยู่” ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเน้นไปที่การดูแลผู้สูงอายุและสิ่งแวดล้อมในชุมชน มีการปรับกลไกขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนในรูปแบบของ “สภาผู้นำชุมชน” จำนวน 45 คน แบ่งการดูแลออกเป็น 4 คุ้ม ได้แก่ หรดี บูรพา ทานตะวัน ทักษิณ ประชานิวัติ โดยคัดตัวแทนคุ้ม ปราชญ์ชาวบ้าน ประธานกลุ่มอาชีพ เข้าร่วมแก้ปัญหาในชุมชน แต่ก็เป็นเพียงการรวมตัวขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชน ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน สภาผู้นาชุมชนยังขาดแรงบันดาลใจ ความรู้ และทักษะในการทำงานตามที่ตนเองรับผิดชอบ


ปี พ.ศ. 2558 เทศบาลตำบลเมืองแก มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขับเคลื่อนงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และ ป.เช่-สุรศักดิ์ สิงหาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก เลือก “บ้านเมืองแก” เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของนักถักทอชุมชน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ เกิดเป็น “โมเดลประเทศเมืองแก” โดยการจำลองการบริหารแบบประเทศ มีรัฐมนตรีเข้ามาดูแลและรับผิดชอบจากกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งในท้ายที่สุด ชุมชนบ้านเมืองแกสามารถสร้างกลไกพึ่งตนเองในการพัฒนาหมู่บ้าน มีการจัดหาทีมงานที่เหมาะสม ทำให้ปัญหาของชุมชนได้รับการแก้ไข และพัฒนาให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังเกิดกลไกการขับเคลื่อนงานโรงเรียนครอบครัวและโรงเรียนชุมชน มีคณะทำงานที่เป็นคนในชุมชนร่วมกับครู ให้เด็กคิดทำโครงงานในชุมชน เช่น กิจกรรมเสริมเรื่องอาชีพ ซึ่งนายกเทศมนตรีได้จัดสรรงบประมาณในรูปของ “กองทุน” ไว้รองรับการทำกิจกรรมของเยาวชน

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชมตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้เกิดกการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิด วิธีทำงานของเจ้าหน้าที่ อบต.เมืองแกไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่คิดทำโดย อบต.ก็เปลี่ยนมาเป็น “สร้างความร่วมมือ” กันหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ปราญช์ ผู้รู้ แต่ที่ดีไปกว่านั้นคือ กระบวนการของนักถักทอชุมชนทำให้ อบต. “เห็นคน เห็นงาน” ที่จะไปขับเคลื่อนต่อ

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมากลับพบว่า แม้หลาย ๆ ปัญหาจะได้รับการคลี่คลาย แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรังคือ “ปัญหาเด็กและเยาวชน”

“เมื่อก่อนเราทำหลาย ๆ กล่อง หรือหลาย ๆ ประเด็นนะ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เยาวชน และผู้สูงอายุ ก็พยายามหาแนวทางแก้ไขกันมาตลอด แต่ปัญหาเด็กที่จับกลุ่มมั่วสุม ขับรถเสียงดังในชุมชน เปิดเครื่องเสียงดังไม่เกรงใจชาวบ้าน บางทีก็ยกพวกไปตีกับชุมชนอื่นก็ยังมีอยู่ อีกเรื่องคือ ผู้สูงอายุปิดตัวเอง ไม่เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง ก็คิดว่าเราจะแก้ไขตรงนี้ยังไงให้เด็กและผู้สูงอายุได้เข้าใจกัน” ผู้ใหญ่เบิ้มบอกวิธีการแก้ปัญหาที่ผ่านมา

ทั้งนี้ปัจจุบันหมู่ 3 บ้านเมืองแกมีประชากรทั้งสิ้น 889 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 129 คน เด็กและเยาวชน 118 คน ที่เหลือเป็นคนวัยทำงาน

ใช้วิจัยไขปัญหา

ปี พ.ศ. 2560 และเมื่อ สรส. และมูลนิธิสยามกัมมาจลเชื่อมประสานกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อต่อยอดการทำงานให้ลงลึกยิ่งขึ้น เทศบาลตำบลเมืองแกจึงได้ร่วมกับสภาผู้นำ ชุมชนบ้านเมืองแกเข้าร่วมเรียนรู้ภายใต้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

“พอ ป.เช่-สุรศักดิ์ สิงหาร – ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก มาชวนทำวิจัย ก็เลยเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ทั้งผู้ใหญ่และทีมก็เห็นด้วย ตอนนั้นเราเห็นปัญหาใหญ่ๆ ในชุมชน 2 เรื่องปัญหาเด็กเยาวชนและผู้สูงอายุที่ไม่สนใจกิจกรรมทางสังคม คิดกันว่าทำอย่างไรเราจึง “ถอดหัวใจ” ของเด็กได้ว่า เพราะอะไรเขาถึงชอบยกพวกตีกัน ทำไมชอบแว้นเสียงดัง ประกอบกับคิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะสร้างเด็กของเราได้ เลยคิดกันว่าถ้าอย่างนั้นเราเอาทั้ง 2 เรื่องมาเป็นโจทย์วิจัยได้มั้ย ก็เลยเกิดเป็นโครงการแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนผู้ใหญ่เบิ้มอธิบายวิธีตั้งโจทย์

ด้าน ป.เช่-สุรศักดิ์ สิงหาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก บอกว่า เหตุผลที่เลือกเมืองแกเป็นพื้นที่ปฏิบัติ การวิจัยเพื่อต่อยอดโครงการนักถักทอชุมชน เนื่องจากเห็นว่า บ้านเมืองแกหมู่ 3 มีต้นทุนการทำงานค่อนข้างสูง มีคณะกรรมการหมู่บ้านที่ผ่านการทำงานมาแล้วหลายเรื่องหลายประเด็น หากชวนมาทำวิจัยเพื่อต่อยอดและพัฒนา

ทักษะของการเป็นนักวิจัย จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

“ผมเห็นโอกาสว่าชุมชนมีโครงสร้างการทำงานค่อนข้างแข็งแรง เขามีต้นทุนที่ดี โดยเฉพาะเรื่อง สภาผู้นำชุมชน แล้วก็มีการขับเคลื่อนงานในส่วนของงานด้านสาธารณสุขกับผุ้สูงอายุมาก่อน ทีมเขาถูกเซ็ตไว้แล้วตั้งแต่ตอนที่ผู้ใหญ่เบิ้มเข้ามาในปี พ.ศ. 2556 ผมเห็นความเข้มแข็งของพื้นที่ และพื้นที่เองก็มีโจทย์และข้อสงสัยที่อยากรู้อยู่แล้วว่า กิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เขาเพียรทำมาเมื่อหลายปีแล้วทำไมมันไม่ได้ผล มันไปติดขัดตรงไหน เราก็เอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้โครงการวิจัยเรื่องแนวทางการอยู่อยู่ร่วมกับของเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน” ป.เช่ กล่าวถึงที่มาของโครงการ

ภายใต้กระบวนการวิจัย ทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ป.เช่ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยร่วมกับผู้ใหญ่เบิ้มและทีมวิจัยชาวบ้านคนอื่น ๆ อาทิ สมหมาย รักชอบ, สงวน พจนะแก้ว ประธานสตรีเมืองแก และทีมวิจัยซึ่งเป็นแกนนำจาก 4 คุ้มบ้าน รวมทั้งสิ้น 12 คน ซึ่งทุกคนมาด้วยใจทั้งสิ้น

และเนื่องจากเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ กระบวนการสำคัญคือการหา “เหตุ” ที่แท้จริงของปัญหา กิจกรรมในโครงการวิจัยจึงถูกออกแบบให้ไปศึกษาษาสถานการณ์ปัญหาและความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนบ้านเมืองแก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ไปศึกษาทุนในชุมชนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนบ้านเมืองแก


ปากท้อง และการศึกษา เพิ่มช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่

แม้ที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาศักยภาพ และสร้างการอยู่กันร่วมของเด็ก และผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ขาดหายไป และทีมวิจัยพูดตรงกันคือ ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลด้านความสัมพันธ์เลย โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองแกกันแน่?เพราะที่ผ่านมา เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ต่างอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เครื่องมือ Timeline ทำให้ทีมวิจัยและคนทั้งชุมชนพบว่า นับจากปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้ “ช่องว่าง” ระหว่างวัยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

สมหมายบอกว่า เธอเคยได้ยินคำนี้มานานแล้วเหมือนกัน แต่ไม่คิดว่ามันจะมามีผลต่อบ้านตัวเอง

“ตัวไทม์ไลน์บอกอะไรเราเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงมันปี พ.ศ. 2524 - 2529 เป็น ยุคที่ ธกส.เข้ามา และคนออกไปทำงานนอกชุมชน ออกไปทั้งในประเทศและนอกประเทศ คือคนที่ไปจะกลับมาก็พูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เรื่องของเงินเดือนที่ได้ และการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากคนในหมู่บ้าน พอคนหมู่บ้านเราเห็นปุ๊ปก็อยากจะเป็นเหมือนเขา พ่อแม่ก็ต้องเอาที่นาไปจำนองจำนำ เพื่อที่จะหาเงินให้ลูกไปทำงานต่างประเทศ เราก็สูญเสียพื้นที่ทำกินค่อนข้างที่จะเยอะเหมือนกันในยุคนั้น”

และการออกไปทำงานข้างนอกของพ่อและแม่ก็ส่งผลมาที่ตัวเด็ก ๆ คือถูกปล่อยไว้กับญาติ ๆ หรือ ผู้สูงอายุ

“เมื่อก่อนจะมีแค่พ่อไปทำงาน แต่พอมีระบบของสินเชื่อเข้ามาเยอะขึ้น ตรงไหนเขาก็ปล่อยสินเชื่อ คนก็อยากได้ พออยากได้ก็มีหนี้ แรก ๆ ก็ไปทำงานเฉพาะพ่อคนเดียว พอหนี้เพิ่ม ก็มาชวนแม่ไปอีกคน บางครอบครัวก็พาลูกไปด้วย เด็กก็ไม่ได้เรียน” ทีมวิจัยบอกข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือไทม์ไลน์

สำหรับเด็กที่ยังอยู่ในชุมชน สมหมายชี้ว่า หลายคนก็ถูกเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย และมีไม่น้อยที่ถูกห้ามออกมาเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม

เมื่อบวกรวมกับการลงไปศึกษา “ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว” และพบว่า จากยุคแรก ๆ ที่ชนบทมีเฉพาะครอบครัวใหญ่ พ่อ แม่ ปู่ ย่าตา ยาย หรือ พี่ ป้า น้า อา อยู่กันครบ เป็นระบบ และมีกลไกความสัมพันธ์ที่ช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็ก ๆ ในชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่ครอบครัวแบบใหม่ ที่ ป.เช่และทีมวิจัยศึกษาพบ คือ มีความสัมพันธ์ 7 ลักษณะที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป

“ส่วนใหญ่เราจะเห็นปลายทางแล้วคือ เห็นพฤติกรรมเด็กที่ก่อปัญหา แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าเด็กมาจากครอบครัวแบบไหน พอลงไปศึกษาจริง ๆ เราพบว่าบ้านเมืองแกที่มีกว่า 170 ครอบครัว กลับมีความสัมพันธ์ภายในถึง 7 แบบ” ป.เช่ บอก

“อย่างครอบครัวใหญ่ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงคือ อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา มีความสุข ผู้สูงอายุและเด็ก ๆ มีความสุข แต่จะมีปัญหาตรงที่ผู้สูงอายุประคบประหงมเด็กมากเกินไป พูดง่าย ๆ คือรักมากเกินไปจนไม่อยากให้เด็กออกมาทำกิจกรรมทางสังคม” ผู้ใหญ่เบิ้มบอกรายละเอียดความสัมพันธ์แบบที่ 1

ส่วนแบบที่ 2 คือ ครอบครัวที่รับภาระดูแลบุตรหลาน เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ปลัดเทศบาลอธิบายว่า ครอบครัวแบบนี้ความเป็นอยู่ค่อนข้างอะลุ่มอล่วยซึ่งกันและกัน

แบบที่ 3 คือครอบครัวที่ทะเลาะกับบุตรหลานประจำ ผู้ใหญ่คอยจับผิดเด็ก เป็นครอบครัวที่ไม่ค่อยมีความสุข

แบบที่ 4 คือครอบครัวที่ดูแลบุตรหลานตามความลำบาก ข้อดีคือผู้ปกครองสอนให้อยู่อย่างมัธยัสถ์ สอนให้เห็นคุณค่าของเงิน และเด็ก ๆ จะตั้งใจเรียน

แบบที่ 5 คือ ครอบครัวที่อยู่กับลูกหลานตามลำพัง ซึ่งจะมีโลกส่วนตัวสูง และไม่เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน

แบบที่ 6 คือ ครอบครัวที่ผู้สูงอายุดูแลกันเอง และต้องดูแลคนพิการ ส่วนมากมักไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม

แบบที่ 7 คือครอบครัวที่ทะเลาะกันเองเป็นประจำ แน่นอนคือ ไม่มีความสุขทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ข้อค้นพบนี้บอกทีมวิจัย ว่า บุตรหลานที่อยู่กับผู้สูงอายุที่เอาใจใส่ อบรมสั่งสอน จะส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงบวกของเด็ก ๆ ได้เช่นกัน

“บางทีอาจจะเกิดจากความรักและความห่วงมากเกินไประหว่างผู้ปกครองที่เป็นผู้สูงอายุ” สมหมาย เปรยขึ้นพร้อมกับอธิบายว่า

อย่างช่วงเสาร์ – อาทิตย์เด็ก ๆ น่าจะช่วยงานของครอบครัวได้ ผู้ปกครองก็มองว่า แดดมันร้อน ไม่อยากให้ไปทำหรอก ไม่อยากให้ลูกลำบาก อย่างเด็กไปที่ทุ่งนาไปช่วยแบกหญ้า ไปช่วยหาเห็ด อยากเข้าไปป่าเล่นกับพ่อแม่ บางครั้งก็ไม่ได้ไป เพราะพ่อแม่เป็นห่วงกลัวลูกลำบาก เราสอบถามเด็ก ๆ หลายคนก็อยากไปนะ แต่บางทีโดนห้าม บางทีเราชวนมาเข้าค่าย หรือทำกิจกรรม ผู้ปกครองบางคนก็ไม่อยากให้เด็กออกมา เพราะห่วง” ผู้ใหญ่เบิ้มเล่าถึงวิธีคิดของพ่อแม่ส่วนใหญ่ในชุมชน

อีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงในแง่ความรักคือ การใช้งานเด็ก ๆ แล้วทำไม่ได้ตามที่คาดหวังผู้ปกครองก็มักจะเอาทำไปทำเอง แทนที่จะฝึกให้เด็ก ๆ ทำจนเกิดความชำนานหรือเป็นนิสัย เช่นเรื่องล้างจาน

“เด็กบางคนล้างจานไม่สะอาดซักสองสามครั้ง ผู้ปกครองก็ไม่ให้ล้างแล้ว เพราะล้างไม่สะอาด เลยต้องเอามาล้างเอง บางรายลูกวัยรุ่น เวลาใช้ไปทำอะไรเห็นเด็กโอ้เอ้ ชักช้า สุดท้ายรำคาญ ผู้ปกครองก็ต้องออกไปทำเอง” ทีมวิจัยสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น

สมหมาย บอกว่า การลงไปเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมทำให้ทีมวิจัยเห็นปัญหาการเลี้ยงดู และการเอาใจใส่ค่อนข้างชัดเจน แม้บางรายจะรักและห่วงเกินไป แต่ก็มีไม่น้อยที่ปล่อยปละละเลยเช่นกัน

“บางคนรีบออกไปทำงานแต่เช้า เด็ก ๆ ต้องออกไปโรงเรียนอยู่บ้านไม่มีข้าวกินตอนเข้า มันก็ส่งผลต่อจิตใจเด็ก ๆ เหมือนกัน” ทีมวิจัยเล่า

และไม่เฉพาะ “การเลี้ยงดู” เท่านั้นที่ตัดขาดเด็กออกจากกิจกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ที่จะต้องเป็นไปตามวัย ซึ่งข้อค้นพบของทีมวิจัยระบุว่า “การศึกษา” ก็ดึงเด็กออกจากไปเช่นกัน

“บางทีลูกกำลังเข้ามาร่วม พ่อแม่ก็มาตามเพื่อให้กลับไปทำการบ้าน และบอกว่า ไม่ต้องมาทำอันนี้หรอกลูกไปทำการบ้าน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า เด็กเรียนหนังสือเยอะ รายงานเยอะ ต้องอ่านหนังสือ ต้องทำการบ้าน ผู้ปกครงอจึงไม่ค่อยให้อยากมาร่วมกิจกรรม บางทีเสาร์ อาทิตย์ เด็กแทบจะหายไปเลยทั้งหมู่บ้าน โรงเรียนก็จะเน้นในเรื่องของวิชาการของเขา แต่เรื่องวิชาชีพ วิชาชีวิตน้อยมีมากเลย” ผู้ใหญ่เบิ้ม บอก


การมองเห็นทั้งปัญหา และเห็นทั้งเหตุของปัญหา ผ่านการศึกษาข้อมูลที่รอบด้าน ทำให้ทีมวิจัยเริ่มมองเห็นโอกาสในการที่สร้างความสัมพันธ์ และลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก และผู้สูงอายุ

“ผมพบว่านี่คือข้อดีของงานวิจัย เพราะมันทำให้เราค่อย ๆ ศึกษาข้อมูล การศึกษาทำให้คนในชุมชนและทีมวิจัยเห็นข้อมูลที่ตรงกัน พอเห็นข้อมูลเหมือนกัน ก็จะทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน” ผู้ใหญ่บ้านเมืองแกหมู่ 3 ชี้ให้เห็นข้อดีของการใช้งานวิจัยในการแก้ไขปัญหา

แต่งานยังไม่จบ เพราะกระบวนการต่อมาทีมวิจัยต้องหา “รูปแบบ” ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้สูงอายุ โดยคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบ 11 ครอบครัวทั้ง 7 แบบเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำโครงการ

ลดช่องว่างด้วยการสร้าง “ความสัมพันธ์”

ถึงแม้กระบวนการค้นหา “เหตุ” จะทำให้ทีมวิจัยเกิดอาการตื่นเต้นหรือร้องว้าวกับข้อมูลที่ลงไปศึกษา ผู้ใหญ่เบิ้มบอกว่า แม้จะเป็นผู้ใหญ่บ้าน รับรู้ และเห็นปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำมาต่อยอดในการพัฒนาชุมชนอย่างไร

แต่การค้นพบความสัมพันธ์ของครอบครัว 7 ลักษณะ และเมื่อบวกรวมจากผลการศึกษาเรื่อง “ทุนทางวัฒนธรรม” และ “อาชีพเกษตร” ของคนในชุมชน ทำให้ทีมวิจัยเห็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยอีกครั้ง

กระบวนการวิจัยคือการเก็บข้อมูล และถอดบทเรียนไปด้วย มันทำให้เรามองเห็นสภาพปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริงในชุมชน พอศึกษาข้อมูลได้ระยะหนึ่งเราก็รู้ว่าสาเหตุมาจากอะไร และเหตุแห่งปัญหานั้นนำไปสู่เรื่องอะไรบ้าง ทีมวิจัย สภาผู้นำ ประธานคุ้ม กรรมการคุ้ม ผู้สูงอายุประจำคุ้ม เด็กเยาวชนแต่ละคุ้ม ก็มานั่งถกกัน ถ้าเราจะช่วยกันลดปัญหาเรื่องนี้เราจะทำอะไรดี ก็มีหลายส่วนที่มันเกิดขึ้น บางส่วนก็อาจจะนำทุนนี้มาใช้ ทุนนั้นมาใช้ ก็คุยกันถกกันนานพอสมควร แล้วก็ตกผลึกกันว่าเราลองมาใช้สัก 2 เรื่องคือ กิจกรรมเรื่องการเข้าค่าย โดยเราเอาเรื่องค่ายเมื่อปีที่แล้ว เมื่อปีก่อนโน้นมาวัดดูว่า กิจกรรมนี้มันน่าจะช่วยให้ผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนได้มาพบปะกัน ซึ่งถามว่าการจัดค่ายแต่ก่อนดีมั้ย ก็ดีมาก ๆ มีทั้งพ่อฮักแม่ฮัก ผู้สูงอายุ เด็กเยาวชน ก็เลยเอากิจกรรมค่าย เลือกกิจกรรมค่าย คือ ค่ายครอบครัวชื่นสุข ซึ่งจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน 1 คืน” ผู้ใหญ่เบิ้มบอกข้อดีของการทำวิจัย

โดยกิจกรรมภายในค่าย ทีมวิจัยได้ร่วมกันออกแบบให้ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ปกครองทำอาหารมาทานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้เด็กเปิดใจกับผู้ปกครองว่าที่เคยทำผิดพลาดในอดีตมีอะไรบ้าง จากนั้นลงไปเรียนรู้ ฐานเรียนรู้ 4 ฐานคือ ป่าเรียนรู้ป่าธรรมชาติและป่าปลูกกับปราชญ์ผู้รู้ นาเรียนรู้วิถีการทำนา น้ำเรียนรู้เรื่องห้วย หนอง คลอง บึง แหล่งเก็บน้ำของชุมชนที่เป็นปัจจัยหลักในการทำการเกษตร และปศุสัตว์ โดยเหตุผลที่เลือกเรียนรู้ 4 ฐานนี้มาจากข้อมูลงานวิจัยที่พบว่าพื้นที่บ้านเมืองแกมีทรัพยากร ผู้รู้ และองค์กรต่างๆ ในชุมชน จึงอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องของชุมชน และเพื่อให้เขารู้องค์ประกอบของวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนที่สัมพันธ์กับดิน น้ำ ป่า

“จากการสืบค้นข้อมูลในการทำวิจัย แม้กระทั่งผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมเพิ่งเรียนรู้ว่า จริง ๆ แล้วทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรบุคล ทรัพยากรองค์กรต่าง ๆ มีอยู่ในชุมชนเยอะมากที่เรายังไม่ได้เรียนรู้เลย แล้วสิ่งที่เราจะต้องปลูกฝังให้เด็กรับรู้ก็คือ เรื่องราวต่าง ๆ ที่มันมีอยู่แล้วในชุมชน ซึ่งมันเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน เลยออกแบบกิจกรรมให้เขาได้ไปดูการปลูกป่า ไม้พะยูง ไม้ยางนา ทุกอย่าง แล้วก็ไปเรียนรู้เรื่องการทำปศุสัตว์ การทำประมง การทำเกษตรผสมผสาน วิถีชีวิตของคนในชุมชน คือนอกเหนือจากการเรียนสูงแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนจะกลับมาทำการเกษตรนี่แหละ พวกผมเลยเอาเรื่องเหล่านี้ให้เป็นฐานเรียนรู้ ให้เป็นประสบการณ์ชีวิต แล้วก็ให้ผู้ปกครองเดินควบคู่กันไป เพื่อที่จะให้เด็กไม่ถามวิทยากรอย่างเดียว พ่อแม่ ผู้สูงอายุก็สามารถให้คำตอบเด็กได้” ผู้ใหญ่เบิ้มเล่าวิธีคิดในการออกแบบกิจกรรมพาเด็กเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีฐานพิเศษคือ ฐานตายเอาดาบหน้า ที่ทีมวิจัยสมมติให้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวและน้ำป่าไหลหลาก เพื่อฝึกเรื่องความอดทน ความกล้าหาญ ความสามัคคี ทำยังไงเขาพาทีมให้รอดจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้ โดยแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ 10 มีทั้งพ่อ แม่ ลูก คละกันไป

“เด็กบางคนไม่เคยจับมือพ่อแม่เลย แต่ ณ วินาทีนั้น เมื่อเหตุมันมาถึงแล้ว เขาได้โอกาสสัมผัสมือพ่อแม่ มันเป็นภาพที่ประทับใจ” สงวนเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

หลังจบค่ายมีการถอดบทเรียน เด็กหลายคนสะท้อนว่า ไม่เคยรู้เลยว่าแหล่งน้ำที่ชุมชนตัวเองมีกี่แหล่ง มีกี่บ่อ มีกี่สระ แล้วมีป่ากี่ป่า แต่ค่ายนี้ทำให้เด็กรู้จักชุมชนตัวเองดีขึ้นและไม่ผิดจากที่คาดไว้ ความสัมพันธ์จากค่ายทำให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองสนิทกันมากขึ้น ทีมวิจัยซ้ำด้วยการนำงานบุญงานประเพณีที่ทีมวิจัยลงไปศึกษาว่ามีงานบุญ หรือ งานประเพณีอะไรบ้างในอดีตที่เด็ก และผู้สูงอายุสามารถทำร่วมกันได้

“ทีแรกว่าจะทำงานบุญผะเหวด[1]แต่ต้องเตรียมงานนาน เลยไม่เอา ต่อมาเป็นงานลอยกระทง แต่ทุกคนมองว่า ลอยกระทงจะเป็นประเพณีนิยมเสียมากกว่า ผู้สูงอายุก็ไม่เอา เพราะเป็นงานกลางคืนจะทำให้เด็ก ๆ มีปัญหาได้ ก็เลยไม่เลือก ก็มาสรุปกันที่งานประเพณีสงกรานต์ย้อนยุค เพราะที่ผ่านมาผู้สูงอายุมีความสุขมาก ลูก ๆ หลาน ๆ ได้ไปกราบไหว้ ขอพร และเด็ก ๆ เองก็ไม่ขัดข้องกับกิจกรรมนี้”

ในประเพณีสงกรานต์ เด็ก ๆ ผู้สูงอายุ สภาผู้นำชุมชน และทีมวิจัย มาร่วมกันออกแบบกิจกรรมกันอย่างคึกคัก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เด็กร่วมคิดออกแบบกิจกรรมทั้งหมด วิธีการแบบนี้ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ประเพณีโบราณ เรียนรู้วิถีของชุมชนด้านวัฒนธรรม ทั้งการเตรียมการแสดงการเตรียมจัดหาเครื่องแต่งกาย การไปสรงน้ำพระ การก่อเจดีย์ทราย และแห่พระประทานรอบหมู่บ้านร่วมกัน ขณะที่ผู้สูงอายุเองก็มีความสุข ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับบุตรหลาน

ทีมวิจัยเล่าว่า ภาพวันสงกรานต์ประทับใจพวกเรามาก ที่ได้เห็นพ่อแม่จูงมือลูกหลานแต่งชุดไทยย้อนยุคมาร่วมงานกัน มีการประกวดนางงามย้อนยุคผู้สูงอายุ นางงามย้อนยุคเด็กและเยาวชน มีการแสดงเรือมอัมเร[2]ศิลปวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชนที่เด็กต้องไปฝึกซ้อมกับผู้รู้ กลายเป็นว่างานนี้เราได้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งได้ฝึกฝนการทำงานให้เด็ก สานสัมพันธ์ในครอบครัว และสานสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ถือเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์วิจัยได้อย่างลงตัว


[1]บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญพระเวส หรือ บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไป ของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน 3 พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า

[1]เรือม หรือลู้ด แปลว่า รำ แปลว่า กระโดดหรือเต้นอันเร แปลว่า สากฉะนั้นคำว่า เรือมอันเร หรือ ลู้ดอันเร แปลว่า รำสากหรือ เต้นสาก

เรือมอันเรหรือลู้ดอันเร เป็นการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายเขมรจังหวัดสุรินทร์ที่เล่นกันในเดือนห้า(แคแจด) ซึ่งถือเป็นวันพักผ่อนประจำปี ช่วงวันหยุดสงกรานต์มาแต่โบราณ เรียกว่า งัยตอมโดยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะพากันหยุดทำงาน 2 ช่วง ช่วงแรกหยุด 3 วัน วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 เรียกว่า ตอมตู๊จช่วงที่สองหยุด 7 วัน เรียกว่า ตอมทมวันแรม 1 ค่ำถึงวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 การหยุดในช่วงที่สองนี้ก่อนจะมีการหยุดพักผ่อน ชาวบ้านจะก่อเจดีย์ทรายที่วัดใกล้บ้าน ในวันขึ้น 14 ค่ำ พอเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ ทำบุญตักบาตร หลังจากนั้นก็จะหยุด 7 วัน ในช่วงนี้เองเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวที่รักใคร่ชอบพอกันได้มาพบประกันด้วยการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่า เรือมอันเรหรือ ลู้ดอันเร

ที่มา: http://www.finearts.go.th/surinmuseum/parameters/...


บททดสอบสุดท้าย คือการทำเกษตรของกิจกรรมที่ผ่านมาทั้งการเข้าค่ายและงานบุญเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วจบภายในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่การทำเกษตร จะเป็นกิจกรรมที่จะทดสอบความสัมพันธ์ของคนสองวัยว่า จะสามารถทำงานร่วมกันได้นานแค่ไหน

“เพราะหลังจัดค่ายเราจะมีแบบสอบถามว่ากลับจากค่ายแต่ละบ้านจะทำอะไร ส่วนใหญ่เลือกทำเกษตร มีบ้างที่อยากเลี้ยงไก่ แต่การทำเกษตรมีเด็กและผู้ปกครองเลือกทำมากถึง 40 ราย” ทีมวิจัยบอก

เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกการทำเกษตร ผู้ใหญ่บ้านเบิ้ม และทีมวิจัยก็ไม่ปฏิเสธ พร้อมทั้งจัดให้มีการไปศึกษาดูงานด้านการทำเกษตรผสมผสานของกลุ่มสตรีบ้านร่องคำ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยเลือกครัวเรือนเป้าหมายทั้ง 7 แบบไปร่วมเรียนรู้ มีทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ตัวแทนผู้สูงอายุ ประธานคุ้ม และทีมวิจัย โดยให้โจทย์ไปว่า เขาต้องสืบค้นข้อมูลและจดบันทึกด้วยตัวเอง

และหลังกลับจากการศึกษาดูงาน ก็ชวนกันถอดบทเรียนโดยมีประธานคุ้มทั้ง 4 คุ้มเป็นผู้นำถอดบทเรียน

“สิ่งที่เห็นคือนอกจากการสร้างรายได้ ก็คือสุขภาพของคนในชุมชนที่ได้บริโภคผักปลอดสารพิษ ได้สายสัมพันธ์ที่ดี ได้เรื่องการแบ่งปัน เพราะแต่ละครอบครัวจะปลูกผักต่างชนิดกัน เช่น ผักบุ้ง คะน้า ต้นหอม ที่ทุกครอบครัวสามารถแบ่งปันกันได้” ทีมวิจัยบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้

ป.เช่ เสริมว่า ผักแปลงรวมเปรียบเสมือน “ครัวกลาง” ของชุมชนที่ทุกคนสามารถไปใช้ได้ ใครมีกะเพรา โหระพา พริกก็สามารถไปเด็ดได้ โดยมีไม่มีแบ่งว่าของเธอ ของฉัน หรือของใคร ใคตรอยากกินส้มตำก็ไปเอามะละกอมา ถึงงานบุญประเพณีก็ไปเอากล้วยมาใช้ทำขนม เป็นภาพของการพึ่งพาอาศัยกันเหมือนในอดีต

ทีมวิจัยย้ำว่า นี่คือ