กระบวนการวิจัยสร้างเด็ก..สอนคนทำงาน อบต.หนองขาม
กระบวนการวิจัยสร้างเด็ก..สอนคนทำงาน

กระบวนการวิจัยสร้างเด็ก..สอนคนทำงาน

เรามองว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญของตำบลเรา ผู้ปกครองส่วนหนึ่งสะท้อนว่าการพัฒนาเด็กจะได้ผลมากกว่า หากทำให้เขาได้ซึมซับตั้งแต่ยังเล็ก อนาคตของตำบลน่าจะดีกว่าเดิมที่เป็นอยู่ เป็นเหตุผลสั้น ๆ ของทีมงานนักวิจัยของตำบลหนองขามที่เลือกพัฒนาตัวเยาวชนมากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) มาตั้งแต่ระยะที่ 1 เพราะเห็นว่า หลักสูตรนักถักทอชุมชนเป็น “เครื่องมือ” สำคัญในการพัฒนาเด็กเยาวชนหนองขาม

แต่กว่าจะรู้เช่นนี้ ทีมนักถักทอชุมชนทุกคนต้องผ่านประสบการณ์มาไม่น้อย

“หลังจากจบหลักสูตรในปีที่ 1 เห็นเลยว่า ตอนนั้นเรามุ่งพัฒนาแกนนำเฉพาะเด็กโต ปัญหาที่ตามมาคือ เด็กเหล่านั้นต่างออกไปเรียนนอกพื้นที่ ส่งผลให้โครงการที่เราทำไว้เกิดช่องว่าง บทเรียนจากปีแรกทำให้เราเรียนรู้เรื่องการสร้างเด็ก ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่า เราควรจะสร้างตั้งแต่เล็ก ๆ จะดีกว่า แล้วค่อย ๆ สร้างเป็นรุ่น ๆ ไป พอรุ่นนี้โตเราจะได้มีน้องแถว 1 แถว 2 ที่พร้อมจะเป็นแกนนำเด็กในรุ่นต่อไป”[1] เอ็กซ์-ธนินธร พิมพขันธ์ อดีตหัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองขาม ที่เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชนมาตั้งแต่แรก เล่าประสบการณ์การทำงานด้านเด็กและเยาวชนให้ฟัง

การเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชนทั้ง 2 ระยะ นอกจากจะทำให้ทีมงานได้วิธีคิดวิธีทำงานเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบใหม่แล้ว กระบวนการอบรมยังเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ อบต.หนองขามไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่ต่างคนต่างทำงานในหน้าที่ของตนเองก็เปลี่ยนไป คือ หากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องมาพูดคุยกันและร่วมมือกันทำงาน โดยไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือหากคนไหนที่มีงานประจำที่เกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชนก็ต้องทำให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ได้งานที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ผลลัพธ์ของการเข้าร่วมทั้ง 2 ระยะจะดี แต่ทีมก็ยังเห็นช่องว่างช่องโหว่ที่ทำให้กระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปได้ไม่สุดทาง เพราะขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน

เซ็ต “กลไก” ขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กหนองขาม

ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการทำงานในระยะที่ 3 ของหลักสูตรนักถักทอชุมชน ที่เป็นการทำงานวิจัย เพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว ทีมนักถักทอชุมชนจึงตั้งทีมวิจัยที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ อบต. ผู้นำชุมชน และคนในชุมชน เพื่อเป็น “กลไกขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบลหนองขาม” ด้วยการทำโครงงานกลไกการจัดการและการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) เพราะเห็นปัญหาเด็กและเยาวชนใหม่ ๆ เกิดขึ้นในตำบลหนองขาม เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกอ้อย ปลูกข้าว และมันสำปะหลัง วัยรุ่นหนุ่มสาวบางส่วนเริ่มออกไปทำงานนอกพื้นที่ ปล่อยลูกหลานให้อยู่กับปู่ย่าตายาย สถานการณ์เด็กและเยาวชนในตำบลหนองขามที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ไม่ใช่เรื่องยาเสพติด เด็กแว้น การท้องก่อนวัยอันควรเหมือนที่ผ่านมา แต่กลับเป็นเรื่องของสื่อโซเซียลที่เข้ามามีบทบาทกับเด็กในชุมชนแทน เมื่อเด็กติดเกมส่งผลให้ไม่ทำงาน ก้าวร้าว เสียการเรียน ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการช่วยเหลือครอบครัวเริ่มลดน้อยลง ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ อบต.หนองขาม มองว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข

อุ้ย-ชลธิชา พุทธโกศา นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เล่าที่มาของการเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอว่า เดิมเธอและทีมงานไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับงานวิจัยเลย ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่เพราะมีจุดมุ่งหมายหนึ่งที่ตรงกัน ที่เป็นสาเหตุให้ทีมงานเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการด้วยนั่นคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชน

อุ้ย เล่าต่อว่าตอนนั้นพี่เอ็กซ์-ธนินธร พิมพขันธ์ อดีตหัวหน้าสำนักปลัด ที่เคยเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชนฯ อยากทำโครงการนี้ต่อ เธอและทีมงานทำงานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อหัวหน้าทำ พวกเธอก็ต้องทำด้วย แต่ยอมรับว่าตอนนั้นตามแบบยังไม่เข้าใจ จนมีโอกาสเข้าร่วมเวทีเครือข่าย โดยทีมโคชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ที่เข้ามาช่วยคลายความกังวลของพวกเธอเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยชุมชน

“ตอนแรกยอมรับว่าเราเครียดมาก นึกภาพคำว่างานวิจัยจะต้องเป็นเหมือนการทำงานวิชาการเป็นเล่ม ๆ ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว แต่พอได้เข้าไปเรียนรู้จากทีมวิทยากรแล้ว ทำให้เราเข้าใจงานวิชาการในรูปแบบใหม่ ซึ่งงานวิจัยสำหรับโครงการนี้คือ การทำตามความต้องการของเด็ก และให้เราไปมีส่วนร่วมคือการเป็นพี่เลี้ยง ทีมโคชเข้ามาสอนเทคนิคในการเข้าชุมชน การวางแผนการทำงาน ทำให้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่งานวิจัยที่ต้องทำเอกสารเยอะ แต่เป็นการทำงานที่ต้องการให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมและลงมือทำ โดยพวกเรามีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง พอเราได้เข้าอบรม ได้ชุดความรู้ทางความคิดในหลาย ๆ เวทีทำให้เราเริ่มเข้าใจมากขึ้น จนมีโครงการที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้” อุ้ยเล่าถึงข้อกังวลใจในช่วงแรก



อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่นี่.pdf