เนื่องในวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ถือว่าเป็น “วันครูแห่งชาติ” เป็นวันที่ “ลูกศิษย์”จะร่วมรำลึกถึงพระคุณของครูที่ให้ความรู้และสั่งสอนให้เป็นคนดีจนประสบความสำเร็จในชีวิต อันที่จริงแล้วบทบาทหน้าที่ของครูไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ยังคงสำคัญเสมอ อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ให้ความเห็นว่าการจัดการเรียนรู้ในยุคใหม่นั้น การมีจิตวิญญาณของความเป็นครูเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว ครูจำเป็นต้องมีทักษะและคุณสมบัติเพิ่มอีก 3 ข้อด้วยกันคือ 1.ครูต้องเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเข้าใจว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างไร 2.ครูต้องมีทักษะในการสอนแบบใหม่เพื่อให้เด็กมีทักษะในศตวรรษที่ 21 และ 3.มีความสามารถในการประเมินผลสำเร็จโดยดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในเด็กแต่ละคน
การที่ครูต้องมีความเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเข้าใจว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างไรนั้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้
“ครูยุคใหม่” จัดการเรียนการสอนได้ตรงกับลูกศิษย์ได้อย่างเหมาะสม คุณสมบัติอีกข้อที่สำคัญคือต้องมีทักษะในการสอนแบบใหม่ คือการสอนให้มี*** ทักษะในศตวรรษที่ 21ครูต้องออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะและคุณสมบัติเหล่านั้นได้“..คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือ ครูต้องมีฉันทะมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ซึ่งการเรียนรู้ในที่นี้ คือ การเรียนรู้เพื่อทำหน้าที่ครูที่ดี ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจากมุมมองของผม การเรียนรู้ดีที่สุดของครู คือการเรียนรู้จากห้องเรียนของตัวเอง การเป็นครูที่ดี คือ ต้องมาตั้งเป้าหมาย learning out come ในปีนี้ เทอมนี้ หรือวิชานี้ คืออะไร ซึ่งต้องมีทั้งสองส่วน ทั้งในส่วนวิชาการและนิสัยใจคอ การเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดี ครูตั้งเป้าหมายหาวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า
“วิธีก็คือการออกแบบการเรียนรู้ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ให้เด็กทำกิจกรรม เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นจากการสร้างความรู้นั้นข้างในตัวเอง จากการปฏิบัติ การสัมผัส การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ระหว่างนั้นครูก็ต้องมาทำความเข้าใจว่าจะร่วมเรียนรู้หรือเข้าใจไปพร้อมๆ กับเด็กได้อย่างไร จะส่งเสริม ให้กำลังใจอย่างไร ซึ่งในกระบวนการนั้น ครูจะคอยประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก แล้วให้เด็กสะท้อนการเรียนรู้ตลอดเวลา ครูต้องให้กำลังใจและเป็นแรงเสริม เพื่อให้เด็กรับรู้ เด็กจะได้ทักษะการเรียนรู้จากปฏิบัติไปตลอดชีวิต ครูจะเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้ตลอด หน้าที่ของครูไม่ใช่ว่าเปิดตำราแล้วสอน เริ่มต้นก็คือ วางแผน แล้วก็ทำให้บรรลุแผนนั้น การศึกษาที่ดีจะทำให้คนในสังคมนั้นมีศักยภาพเพิ่มขึ้นมากมาย..” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
คุณสมบัติอีกข้อหนึ่งที่ครูจะขาดเสียมิได้คือครูต้องมีความสามารถในการประเมินผลสำเร็จของลูกศิษย์โดยดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นของเด็กแต่ละคน
“...ครูสมัยใหม่ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาถ่ายทอดความรู้ ก็มาต้องคิดเสมอว่าการจัดการเรียนรู้ของครู ก่อให้เกิดผลลัทธ์อะไรต่อผู้เรียนบ้าง ครูต้องรู้ว่าหากจะทำให้ให้เกิดการเรียนรู้ อะไรที่จะทำให้เกิดผลลัทธ์เช่นนั้นได้ ครูให้เด็กทำอะไร ครูก็ต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไร เป็นต้น แล้วครูจะรู้ได้อย่างไรว่า เด็กมีความก้าวหน้าในเรื่องการเรียนรู้ไปได้ดี เด็กในชั้นเรียน บางคนไปไว บางคนไปช้า ครูก็ต้องมาตั้งคำถามอีกว่า คนไหนไปไว คนไหนไปช้า แล้วครูจะทำอย่างไร การเรียนรู้ที่ดีเด็กทั้งชั้นต้องเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ถึงแม้ว่าหัวจะช้าก็ตาม ...” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย
นี่เป็นเพียงแนวคิดเพียงบางส่วนของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ต้องการเห็น
“ครู” ได้ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีสอน ให้กลายเป็น “ครูยุคใหม่” หากทำได้จะทำให้การพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ของประเทศ สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการดูแลพัฒนาประเทศได้อย่างแน่นอน.
***ทักษะในศตวรรษที่ 21ประกอบด้วย ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ ทักษะด้านการสื่อสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทักษะอาชีพ-ทักษะการเรียนรู้ และสุดท้ายทักษะการเปลี่ยนแปลง