ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.ศรีสะเกษ ปีที่ 2
ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.ศรีสะเกษ” ปีที่ 2

ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.ศรีสะเกษ” ปีที่ 2

ผลจากการทำงานโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษในปีแรกที่ลิ้มรสทั้งความสำเร็จ และความไม่สำเร็จ ได้สร้างบทเรียนเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นฐานการทำงานในปีที่ 2 ให้กับทีมงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งประกอบด้วย รุ่ง-รุ่งวิชิต คำงาม เบ็ญ-เบ็ญจมาภรณ์ แดนอินทร์ ติ๊ก-ปราณี ระงับภัย มวล-ประมวล ดวงนิล และ จิ๋ว-เพ็ญศรี ชิตบุตร (ซึ่งขณะนั้นเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานสันทนาการ ก่อนจะเข้าร่วมทีมอย่างเต็มตัว ในปีที่ 2) โดยทีมงานยังคงมีเป้าหมายคือ พัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นคนเก่งและคนดี สร้างพื้นที่ให้เยาวชน ได้แสดงบทบาท พัฒนาตนเองอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้มี คุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น รู้จักตนเอง มีสำนึกความเป็นพลเมือง มีจิตอาสา มีทักษะการคิดวิเคราะห์ อย่างมีเหตุผล รู้เท่าทันสื่อ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสังคม เข้าใจความแตกต่างของคนที่อยู่ร่วมกัน ในสังคม ตลอดจนมีทักษะชีวิตและภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต และนี่คือบทเรียนของพวกเขาในฐานะโคช หรือครูฝึก ผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในการสร้างพลเมืองเยาวชน

หลากกลยุทธ์สรรหา เพาะบ่มการเรียนรู้

“การพัฒนาโจทย์ในการทำโครงการของเยาวชน มีคาถากำกับคือ ต้องเป็นความอยากของเยาวชน ซึ่งทีมงานจะมีวิธีการสังเกตอาการ “อยาก” และ “มีใจ” ที่แสดงผ่านการมีส่วนร่วมของเยาวชน ทั้งการแสดงความคิดเห็น การร่วมคิด ร่วมทำ แสดงความสนใจอยู่ร่วมกระบวนการอย่าง กระตือรือร้น มีการรวมกลุ่มของทีมเยาวชน หรือกระทั่งเยาวชนที่ไม่ได้สนใจ อยากทำด้วยตนเองตั้งแต่ต้น แต่มีพัฒนาการของความสนใจที่เพิ่มพูนมากขึ้นในระยะต่อมา”

เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มต้นการทำโครงการในปีที่ 2 ทีมงานจึงนำ “บทเรียน” จากปีที่แล้วมาทบทวน เพื่อออกแบบการบริหารจัดการ และกระบวนการทำงานใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

เริ่มต้นจากการค้นหากลุ่มเยาวชนที่สนใจจะพัฒนาตนเองจากทำโครงการ โดยลงพื้นที่ไปพบกลุ่มเยาวชน เพื่อทำความรู้จัก สร้างความเข้าใจและพัฒนาโจทย์การทำโครงการ ทั้งในรูปแบบรายกลุ่มและโซนพื้นที่ การจัดเวทีสร้างการเรียนรู้ระดับโซน การจัดเวทีพบกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการ และการจัดเวทีกระจายทุน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ส่งต่อความเชื่อมโยงต่างๆ ในการพัฒนาความคิด พัฒนาทักษะ และพัฒนาโครงการ (Community project) ที่สร้างความชัดเจนในเป้าหมาย และแผนการทำงาน ปลูกสำนึกพลเมืองรักชุมชนท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้นทั้งฝั่งของเยาวชน พี่เลี้ยงชุมชน และทีมงานทั้งส้ิน

กลุ่มเยาวชนจำนวน 24 โครงการที่สมัครเข้าร่วมโครงการในช่วงแรก ๆ ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วในปีที่ 1 ซึ่งแสดง ความจำนงที่จะต่อยอดการทำงานในปีที่ 2 และเยาวชนกลุ่มใหม่ที่ได้รับการชักชวนจากภาคีในท้องถิ่น เช่น หน่วยงานสาธารณะสุข พัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้นำชุมชน และเครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เคยสัมพันธ์ ร่วมงานกันมาก่อน ด้วยทีมงานมี “ฐานคิด”ว่า การจะทำงานกับเยาวชนในชุมชนได้ ต้องทำงานกับผู้ใหญ่ ในชุมชนด้วย โดยในเฉพาะในพื้นที่ใหม่ ๆ เช่น อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอห้วยทับทัน การเข้าพบพูดคุยเพื่อทำความรู้จักและชี้แจงแนวคิด เป้าหมายของการทำงานพัฒนาที่ต้องการการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิดเอง ทำเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยหนุนหลัง ถือเป็นการเบิกทางให้การทำงานของเยาวชนได้รับการสนับสนุนจากชุมชนต่อไป

แต่ภายใต้การทำความเข้าใจกับชุมชนนั้น ยังมีรูปแบบย่อยคือ รูปแบบแรก ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชน แล้วผู้นำชุมชนเป็นผู้ประสานแกนนำเยาวชนในพื้นที่ให้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาโจทย์การทำโครงการ รูปแบบที่ 2 ประสานงานผ่านแกนนำเยาวชนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่เคยทำโครงการมาแล้ว ให้เป็นแกนประสานงานกับเพื่อน ๆ ในพื้นที่ จัดเตรียมสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาโจทย์การทำโครงการร่วมกับกลุ่มเยาวชน

รูปแบบที่ 3 การทำงานกับกลุ่มเยาวชนกลุ่มใหม่ ทีมงานต้องเริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักเยาวชน ทำความเข้าใจแนวคิด เป้าหมายของโครงการ พัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ สอบถามความสนใจของเยาวชน เมื่อเยาวชน ตกลงปลงใจที่จะทำโครงการ จึงเริ่มที่จะพัฒนาโจทย์ในการทำงานร่วมกัน โดยมีคาถากำกับคือ ต้องเป็นความ อยาก ของเยาวชน ซึ่งทีมงานจะมีวิธีการสังเกตอาการ “อยาก” และ “มีใจ” ที่แสดงผ่านการมีส่วนร่วมของเยาวชน ทั้งการแสดงความคิดเห็น การร่วมคิด ร่วมทำ แสดงความสนใจอยู่ร่วมกระบวนการอย่าง กระตือรือร้น มีการรวมกลุ่มของทีมเยาวชน หรือกระทั่งเยาวชนที่ไม่ได้สนใจ อยากทำด้วยตนเองตั้งแต่ต้น แต่มีพัฒนาการของความสนใจที่เพิ่มพูนมากขึ้นในระยะต่อมา

ซึ่งกว่ากลุ่มเยาวชนจะลงตัวเรื่องโจทย์ในการทำงานนั้นทีมงานต้องเทียวเข้าเทียวออกแต่ละชุมชนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้อง “สร้างการเรียนรู้” ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาโจทย์ เช่น การทำแผนที่ชุมชน เพื่อศึกษาชุมชนมิติพื้นที่ ให้รู้จักแผนที่ทางกายภาพ ของชุมชน และพื้นที่ทางสังคมที่ชุมชนรวมกลุ่มกันใช้ประโยชน์ ทำความเข้าใจความเป็นอยู่ของคนในชุมชนทั้งฐานทรัพยากร อาชีพเศรษฐกิจ รวมทั้งวิเคราะห์ทุกข์และทุนที่มีในชุมชน อันจะเป็นสิ่งแสดงถึงปัญหาที่รอการแก้ไข ที่กลุ่มเยาวชนสามารถเลือกมาเป็นโจทย์ในการทำงาน จากนั้นจึงเคลื่อนสู่กระบวนการวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ และศักยภาพของกลุ่มเยาวชนที่จะร่วมคลี่คลายปัญหา

“การใช้แผนผังชุมชนมาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ ทำให้น้องเห็นภาพรวมของชุมชน และทำความเข้าใจปัญหา เช่น น้องอยากรู้ว่าชุมชนใช้สมุนไพรจากป่าชุมชนมากน้อยแค่ไหน ก็เก็บข้อมูลมาทำสัญลักษณ์ในแผนผังชุมชน กำหนดสีแดง คือ คนในชุมชนไม่ใช้สมุนไพร สีเหลือง คือ คนในชุมชนใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง สีเขียว คือ คนในชุมชนใช้ประโยชน์จากสมุนไพร แต่พอมาดูภาพรวมในแผนที่ไม่ค่อยเห็นสีเขียวเลย ก็เท่ากับว่าชุมชนของเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสมุนไพรที่มีในป่าชุมชนเลย” มวล ยกตัวอย่างการใช้ เครื่องมือศึกษาสถานการณ์ของชุมชน

ข้อค้นพบจากการทำงาน เพื่อค้นหากลุ่มเยาวชนที่จะทำโครงการ ในรูปแบบแรก แม้จะใช้เวลาค่อนข้างมากและนานกว่า แต่ทำให้ทีมงานสามารถลงลึก ในรายละเอียด สามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้นำ ผู้ปกครอง และชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งจะมีบทบาท หนุนเสริมการทำงานของเยาวชนได้ดีกว่า อีกทั้งการที่ทีมงานแต่ละคนได้ประกบกับกลุ่มเยาวชน ทำให้สามารถตั้งคำถามชวนคิดวิเคราะห์ เคี่ยวประเด็นและวางแผนการทำโครงการเพื่อชุมชน ได้อย่างเข้มข้นจนข้อเสนอโครงการเกือบเสร็จ

ส่วนการทำงานในรูปแบบที่สอง เยาวชนส่วนใหญ่จะสนใจมากกว่า เพราะได้รับแรงกระตุ้น และเห็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมระหว่างทำโครงการ จากเพื่อนกลุ่มเยาวชนรุ่นก่อน ที่เอาจริงเอาจัง และสร้างความร่วมมือจากคนในชุมชนได้มาก ทำให้เยาวชนที่เฉื่อยชาได้กระตือรือร้นมากขึ้น แม้ว่าทีมงานต้องใช้ พลังในการทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนที่หลากหลายก็ตาม แต่ด้วยปริมาณโครงการที่เข้าร่วมกิจกรรม มีจำนวนมาก ทำให้ทีมงานไม่อาจลงลึกในการเข้าไปหนุนเสริมกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ให้เกิดความชัดเจนในเป้าหมาย ได้อย่างทั่วถึง จึงต้องอาศัยเวทีพัฒนาศักยภาพ และการเติมเต็มความคิดเห็นจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการ ให้เป้าหมายและแผนงานชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับกลุ่มเยาวชนที่ผ่านการทำโครงการในปีแรกมาแล้ว ทีมงานจัดกระบวนการถอดบทเรียนจากการทำงานโครงการปีที่ผ่านมา ทบทวนข้อดี ข้อจำกัดของการทำงานที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นต่อตนเอง ต่อทีมงาน ต่อชุมชน รวมทั้งประเด็นที่อยากจะต่อยอด หรือปัญหาที่พบเห็นแล้วอยากแก้ไข

“เมื่อพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว จากนั้นเว้นไปสองสัปดาห์ให้เด็กเขียนโครงการเข้ามา เพื่อให้เด็กฝึก ทักษะการเขียน ซึ่งเมื่อเราอ่านแล้วจะรู้ว่าเด็กเขียนหรือผู้ใหญ่เขียน ซึ่งเราเองต้องทำความเข้าใจกับตัวพี่เลี้ยงด้วย ในช่วงลงพื้นที่ว่าให้เปิดโอกาสให้เด็กคิดเองทำเอง เน้นย้ำให้พี่เลี้ยงเห็นว่าเราทำกระบวนการอะไรกับเด็กบ้าง จนกว่าจะเกิดการเรียนรู้” ติ๊กเล่า

หลังจากลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนครบทุกแห่งแล้ว ทีมงานได้เว้นระยะ โดยทิ้งการบ้านไว้ให้กลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่มจัดทำข้อเสนอโครงการให้สมบูรณ์และส่งมายังทีมงาน ซึ่งจะร่วมกันอ่านข้อเสนอโครงการและระดมความคิดร่วมกันให้คำแนะนำจากพี่ๆ ทีมงานอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อเสนอโครงการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมงานได้วางระบบการทำงานเข้าไปพบน้องอีกครั้ง โดยจัดเวทีระดับโซนพื้นที่ เพื่อเสริมทักษะการสื่อสาร เตรียมการนำเสนอของกลุ่มเยาวชน และเติมเต็มความสมบูรณ์ของข้อเสนอโครงการตามความคิดเห็นของทีมงานที่ได้ช่วยกันทำไว้ รวมถึง ตั้งโจทย์คำถามกระตุ้นคิด ถึงโครงการที่น้องทำเชื่อมโยงกับ “สำนึกพลเมือง” ด้วย

“แบ่งเป็น 4 โซนพื้นที่คือ 1. โซนแถบอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อุทุมพรพิสัย ห้วยทับทัน, 2. โซนอำเภอขุขันธ์และปรางค์กู่ 3. โซนอำเภอขุนหาญซึ่งมีโครงการอยู่ 4.โซนอำเภอโนนคูณและกันทรลักษณ์ จัดให้จุดที่อยู่ใกล้กันได้มาเจอกัน การแบ่งโซนพื้นที่เช่นนี้ทำให้ทีมงานสามารถชวนคุยลงลึกได้เป็นรายกลุ่มมากขึ้น” มวล เล่า

คิดให้ชัด ก่อนลองมือทำ

“คำถามชวนคิดต่อที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กลุ่มเยาวชน เช่น แผนงานทำแบบนี้เพราะอะไร จะทำอย่างไร คิดว่าคุณค่าของโครงการของตนเอง คืออะไร ทำแล้วเยาวชนได้อะไร ชุมชนได้อะไร คือ “หัวใจ” สำคัญที่ทีมงานต้องถือให้มั่นเวลาลงพื้นที่”

เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอโครงการที่ทีมงานให้ความสำคัญยังคงเน้นเรื่องความสนใจของเยาวชนเป็น

ประเด็นหลัก โดยโจทย์ของการทำโครงการ ต้องเป็นการทำเพื่อชุมชน และมีพื้นที่ปฏิบัติการในชุมชน ทำให้ การคัดกรองกลุ่มเยาวชนตั้งแต่แรก เน้นไปที่กลุ่มเยาวชนที่ทำงานในชุมชนของตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อค้น พบในปีแรกว่า หากเป็นการรวมกลุ่มของเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียน ทำโครงการในโรงเรียน เมื่อจบโครงการมักจะสลายตัวต่างคนต่างไปตามเส้นทางของชีวิต ที่อาจต้องแยกย้ายกันไปเรียนต่อ แต่หากเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการในชุมชน ส่วนใหญ่แล้วยังจะ “สานต่อ” การทำงานในชุมชน และบางกลุ่มยังมีการขยายตัวต่อไป แต่กระนั้นทีมงานพี่เลี้ยงก็ต้องพยายามกระตุกกระตุ้นให้เยาวชนได้คิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง คำถามบางคำถามจึงถูกนำมาใช้ เพื่อช่วยกระตุกให้เยาวชนได้ทั้งการปลุกสำนึก และคิดอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะลงมือทำจริง เช่น ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไรกับชุมชน ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรกับชุมชน

เวทีพิจารณาโครงการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่าย Active Citizen จังหวัดสงขลา น่าน และสมุทรสงคราม นักวิชาการ นักพัฒนา และผู้นำในพื้นที่จ.ศรีสะเกษ และเครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่น ภาคอีสาน เป้าหมายของเวทีคือ การเติมเต็มความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ และเติมพลังให้แก่ เยาวชนที่จะทำโครงการต่อไป ดังนั้นโจทย์ของการจัดเวทีจึงต้องสร้างบรรยากาศไม่ให้เด็กเครียด จนเกินไป ซึ่งสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจแก่กลุ่มเยาวชนได้ดีที่สุดคือ การเตรียมความพร้อม ที่ทีมงานให้เวลา 1 วันเต็มสำหรับการซ้อมนำเสนอของเยาวชนแต่ละกลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีการลดความเคร่งเครียดของเวที ด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เข้าใจถึงเป้าหมายของเวที โดยการแบ่งเวทีพิจารณาออกเป็น 3 กลุ่ม ตามประเด็นงาน คือ วัฒนธรรม, สัมมาชีพ, สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ระหว่างการนำเสนอ มวล ซึ่งเป็นคนนำกระบวนการจะต้องคอยจับอาการ ของน้องว่า เริ่มเบื่อ เริ่มง่วงหรือยัง ถ้าพบเห็นอาการหาว ตาปรือ หรือเด็ก ๆ เริ่มหันมาคุยกับเพื่อน หรือเล่นโทรศัพท์ ก็จะคั่นด้วยการเล่นเกมบ้าง ชวนเหยียดตัว ยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อให้ได้ความสนุกควบคู่กับการเรียนรู้

สำหรับข้อเสนอแนะที่ผู้ทรงคุณวุฒิให้แก่เยาวชนแต่ละกลุ่ม จะถูกบันทึกไว้โดยทีมงาน และแกนนำ เยาวชน เพื่อนำไปปรับปรุงโครงการ ทั้งนี้ทีมงานมีความเห็นว่า คำถามชวนคิดต่อที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้ กลุ่มเยาวชน เช่น แผนงานทำแบบนี้เพราะอะไร จะทำอย่างไร, คิดว่าคุณค่าของโครงการของตนเอง คืออะไร, ทำแล้วเยาวชนได้อะไร ชุมชนได้อะไร คือ “หัวใจ” สำคัญที่ทีมงานต้องถือให้มั่นเวลาลงพื้นที่

คู่ขนานไปกับเวทีพิจารณาโครงการของเยาวชน คือ การประชุมทำความเข้าใจกับพี่เลี้ยงชุมชน ทีมงานจัดเวทีชวนพี่เลี้ยงแยกจากกลุ่มเยาวชน เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจถึงแนวคิด และเป้าหมายของโครงการ พัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ที่ต้องการให้เยาวชนได้มีสำนึกความเป็นพลเมือง และมีทักษะความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งเกิดจากการ “คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง” ให้มากที่สุด โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้หนุนเสริม เติมเต็มในส่วนที่เยาวชนยังทำไม่ได้ อันเป็นความเชื่อพื้นฐานของการทำงานที่สวนทางกับความคุ้นชินเดิม ที่ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำให้ โดยมีเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายร่วมกิจกรรม

ระหว่างทางของการเข้าร่วมโครงการจนถึงขั้นตอนนี้จึงพบว่า เริ่มมีเยาวชนบางกลุ่มที่ค่อย ๆ ถอนตัวออกไป ด้วยเงื่อนไขทั้งระยะเวลา ขั้นตอนของการเรียนรู้ในการพัฒนาโครงการที่นาน และมีการคิดก่อนทำเยอะเพื่อให้ได้แผนการทำงานที่รัดกุม รอบด้าน ทำให้เยาวชนบางกลุ่ม รู้สึกกังวลกับภารกิจที่จะต้องรับผิดชอบ จุดอ่อนที่ค้นพบทำให้ทีมงานรู้ว่า ต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่ โดยต้องสร้างความรู้สึก “มีใจ” ให้เกิดขึ้นกับเยาวชน ทำให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของโครงการว่า จะเป็นประโยชน์ต่อเขาและชุมชนอย่างไร และแนวทางหนึ่งที่คิดว่า น่าจะทดลองในปีถัดไป คือ “ในช่วงพัฒนาโครงการน่าจะมีทุนเล็ก ๆ ที่สนับสนุนให้เยาวชนเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำไปเลย แล้วค่อยอนุมัติในส่วนของแผนงานปฏิบัติการเพื่อให้เยาวชนได้ใจจากชุมชน ได้สัมผัสชุมชนจริง มีประสบการณ์การทำงานร่วมกัน มีข้อมูลชุมชนที่ชัดเจนเป็นแนวทางทำโครงการต่อ” รุ่งวิชิตเสนอการปรับวิธีทำงาน

หลังจากเวทีนำเสนอโครงการพบว่า เหลือกลุ่มเยาวชนเพียง 18 โครงการที่ยังคงยืนยันที่จะไปต่อ โดยระหว่างการรอให้กลุ่มเยาวชนปรับข้อเสนอโครงการตามข้อเสนอแนะที่ได้รับมาจากผู้ทรงคุณวุฒินั้น ทีมงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลอีกครั้ง ที่ช่วย “เจียระไน” ความคิดของทีมงาน ให้เกิดความชัดเจนเรื่อง “คุณค่า” ที่จะเกิดขึ้นจากการทำโครงการของเยาวชนแต่ละโครงการมากขึ้น สามารถนำไปหนุนเสริม เติมความคิด และทักษะเยาวชนได้ตลอดโครงการ

เพราะต้องการสร้างความรู้สึกว่า งานที่ทำเป็นสิ่งที่มี “คุณค่า” การสนับสนุนที่ได้รับคือ “โอกาส” จากผู้ใหญ่ที่อยากเห็นเยาวชนพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทีมงานจัดเวทีอนุมัติทุน เพื่อกระจายทุนแก่ โครงการที่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนที่ได้รับทุนทั้ง 18 โครงการ แต่มี 2 กลุ่มที่ขอถอนตัว เนื่องจาก ไม่สามารถรวบรวมทีมงาน จึงเหลือเพียง 16 โครงการที่เข้าร่วม

“ปีก่อนการทำสัญญาวุ่นวายมาก ทำให้เด็กไม่รู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์” เบ็ญ เล่าถึงบรรยากาศ การทำงานในปีก่อน ที่เป็นสาเหตุให้ต้องปรับกระบวนการทำงานในปีนี้ ที่เป็นการทำสัญญาร่วมกันเพื่อสร้าง การรับรู้ ประหนึ่งพันธะสัญญาที่ผูกพันร่วมกันระหว่างทีมงานกับกลุ่มเยาวชน พร้อม ๆ ไปกับการจัดกระบวน การเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการโครงการ การเงิน การบัญชีที่ต้องเน้นความโปร่งใส สมาชิกในกลุ่มเยาวชน ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของโครงการ การทบทวนแผนงาน และกิจกรรมในโครงการของเยาวชน ซึ่งทีมงานจะได้วางแผนการทำงานหนุนเสริมให้สอดรับกัน ขณะเดียวกันก็ ถือโอกาสสอดแทรกหลักการทำงานเป็นทีม ให้ทุกคนได้วิเคราะห์ตนเองว่า ถนัดอะไร เพื่อจะได้แบ่งบทบาทหน้าที่ ในการทำงาน การบันทึกการทำงาน ซึ่งทีมงานตั้งใจที่จะฝึกให้เยาวชนทุกกลุ่มได้ฝึกการเขียน จึงอำนวย ความสะดวกโดยมีแบบฟอร์มตัวอย่างการบันทึกกิจกรรมไว้เป็นคู่มือการทำงาน

หนุนเสริมพี่เลี้ยงชุมชน ร่วมประคับประคองการเรียนรู้

และเพื่อให้การดูแลเยาวชนเข้มข้นยิ่งขึ้น ปีนี้ทีมงาน 4 คนหลักคือ ติ๊ก เบ็ญ มวล จิ๋ว แบ่งกันดูแลกลุ่ม เยาวชน โดยยึดกลุ่มเยาวชนที่ได้ดูแลมาก่อนในช่วงพัฒนาโครงการ 1 เดือนแรกหลังการกระจายทุนที่เยาวชน แต่ละกลุ่มเริ่มทำงานในชุมชน ทีมงานแต่ละคนเริ่มลงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการทำงานของเยาวชน การได้ไปเห็นการ ทำงานของเยาวชน และสัมผัสกับการทำงานของพี่เลี้ยงชุมชนแต่ละโครงการ ทำให้ทีมงานต้องกลับมาปรึกษา หารือกันถึงวิธีการทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงชุมชน ที่ส่วนใหญ่ยังมีอาการเกร็งที่จะหนุนเสริมการทำงานของเยาวชน เนื่องจากถูกกำชับจากทีมงานว่า อยากให้เยาวชนได้คิดเอง ทำเอง ทำให้ไม่กล้าที่จะเข้ามามีบทบาทมากนัก จนบางครั้งก็กลายเป็นการปล่อยให้เยาวชนทำงานกันเอง

กอปรกับปีนี้ทีมงานมีเป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายพี่เลี้ยงชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะตั้งแต่การวางบทบาทพี่เลี้ยงชุมชน ที่กำหนดให้มีพี่เลี้ยง 2 คน คือ พี่เลี้ยงที่เป็นคนในชุมชน และพี่เลี้ยงที่เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในท้องถิ่น การนัดหมายพี่เลี้ยงทั้ง 16 โครงการมาร่วมประชุม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยงจึงเกิดขึ้น

“พี่เลี้ยงในปีนี้มีทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบต. สมาชิกอบต./เทศบาล) 7 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล 2 คน คนในชุมชน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน 7 คน ครู 5 คน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน 1 คน และพระสงฆ์ 1รูป กลุ่มที่เยอะที่สุดคือผู้นำชุมชน ได้แก่ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน” เบ็ญเล่า

“ทีแรกเราวางไว้ว่าพี่เลี้ยงโครงการละ 1 คน แต่เมื่อเห็นบทเรียนจากบ้านรงระที่มีพี่เลี้ยงที่เป็นคนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ อบต. ทำให้งานของเยาวชนเป็นที่รับทราบของท้องที่ ในปีนี้จึงปรับให้มีพี่เลี้ยง 2 คน อาจจะเป็นคน ในชุมชน 1 คนและหน่วยงาน 1 คน เพราะเราหวังผลไว้ว่า ถ้ามีเจ้าหน้าที่ อบต.มาร่วมเรียนรู้ด้วย ก็จะมีการ

ต่อยอดการทำงานร่วมกันได้” รุ่งวิชิตเล่าถึงการปรับวิธีการทำงาน

ทีมงานเลือกใช้กิจกรรมผู้นำ 4 ทิศ ซึ่งเป็นกิจกรรม ให้ทำความเข้าใจตนเอง เพื่อที่พี่เลี้ยงจะได้เข้าใจเยาวชนที่มีบุคลิกแตกต่างกัน รู้จักสังเกตความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของเยาวชน พร้อมทั้งเสริมทักษะในการหนุนเสริมทักษะการทำงานเป็นทีมของเยาวชนได้อย่างตรงจุด โดยแนะนำวิธีการ “ตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้” การผสมผสานของพี่เลี้ยงเก่าที่เคยผ่านการทำงานในปีแรกมาแล้ว กับพี่เลี้ยงใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วงการในปีนี้ เป็นจุดดีที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เป็นตัวช่วยที่เสริมให้การเรียนรู้ของพี่เลี้ยงชัดเจนมากขึ้น ในบทบาทหน้าที่และเทคนิคการหนุนเสริมเยาวชน

“เห็นได้ชัดเลยว่า ปีนี้พี่เลี้ยงชุมชนฟังน้องมากขึ้น เขาให้น้องคิดเอง อาจเป็นเพราะปีที่แล้วเขาก็ยังไม่ชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เลยไปจัดการน้องเยอะ ผลจากการสะท้อนบทเรียนในปีที่ 1 และจากการอบรมแบบนี้ที่มีการแนะนำวิธีการโคชน้องว่า ควรเป็นอย่างไร เขาก็จับทางได้ถูก สามารถปรับวิธีการทำงานได้” ติ๊กเล่า ถึงการทำงานของพี่เลี้ยงที่เปลี่ยนไป

ทีมงานเล่าว่า นอกจากการรู้จักตนเองเพื่อรู้จักเยาวชนอย่างลึกซึ้งผ่านกิจกรรมแล้ว การเติมเต็มครั้งนี้ยังทำให้พี่เลี้ยงเข้าใจวิธีการหนุนเสริมเยาวชนมากขึ้น ส่วนทีมงานเองก็มีการปรับตัวในเรื่องของการใช้สื่อประกอบการนำเสนอเพื่อให้ทำความเข้าใจ เช่น ใช้รูปภาพเพื่อกระตุ้นการวิเคราะห์คุณลักษณะของผู้นำกลุ่มที่ดี และไม่ดี การใช้ตัวอย่างการบินของฝูงนกที่มีการสลับบทบาทการนำ ทำให้พี่เลี้ยงชัดแจ้งเรื่องกระบวนการทำงานเป็นทีม ที่ดี

“ตอนนั้นให้เขาฝึกตั้งคำถามด้วย เช่น ถามเพื่อให้ได้ข้อมูล ถามเพื่อประเมินการทำงาน ถามทบทวนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง ถามเรื่องคุณค่า ถามความคิดเห็น ถามเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงปริมาณ เราก็ให้ไปฝึกตั้งคำถามกันเอง ให้เขาจับคู่ลองถามกันเอง”

ทีมงานค้นพบคาถาสร้างการเรียนรู้ที่ออกแบบเป็นลูกเล่นในการทำความเข้าใจกับพี่เลี้ยงคือ คาถา 6 x 6 เป็นคาถาเพื่อการเรียนรู้ โดยแปลงจากหัวใจนักปราชญ์ สุ (สุตตา คือ การฟัง) จิ (จิตตะ คือ การจินตนาการ) ปุ (ปุจฉา คือ การถาม) ลิ (ลิขิต คือ การเขียนการ บันทึก) และเพิ่มคาถา (ใส่) ใจ และ สัง (เกต) รวมเป็น 6 ด้าน ซึ่งในการเรียนรู้ต้องใช้องค์ประกอบของ การรับรู้ผ่านอายตนะทั้ง 6 คือ คือ ตา หู ลิ้น จมูก ใจ สัมผัส ซึ่งในส่วนของสัมผัสนั้นได้หมายรวม ถึงบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่รายรอบการเรียนรู้ด้วย

หนุน เสริม ซ่อม ถาม...กระบวนการสร้างพลเมืองตื่นรู้

“กิจกรรมหลัก ๆ ที่ทีมงานใช้เป็น “เครื่องมือ” สร้างการเรียนรู้แก่กลุ่มเยาวชนคือ การสรุปบทเรียนหลังทำกิจกรรม โดยมีคำถามหลักเกี่ยวกับความคาดหวังที่ตั้งไว้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง ผลที่ได้ จุดดี จุดด้อยในการทำกิจกรรม ซึ่งทีมงานจะต้องรับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อ “ช้อน” เก็บประเด็นจากคำตอบของเยาวชนเพื่อถามต่อให้ลงลึก สร้างการเรียนรู้ รวมทั้ง “เขี่ย” ให้เห็นประเด็นที่สะท้อนความเป็นพลเมือง”

แผนการทำงานของเยาวชนที่ได้แจกแจงในเวทีอนุมัติทุน คือ ต้นทางการวางแผนของทีมงานที่ใช้ติดตามการทำงานของกลุ่มเยาวชน โดยทุกคนจะยึดแผนงานที่กลุ่มเยาวชนกำหนดไว้เป็นหลักในการติดตาม สอบถามความคืบหน้าของงาน และใช้เป็นโอกาสที่จะไปเยี่ยมเยือนถึงในชุมชน แต่ด้วยจังหวะของโครงการเยาวชนที่ช่วงเริ่มต้นตรงกับช่วงปิดเทอม เยาวชนบางคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ บางส่วนไปทำงานหารายได้ บางส่วนไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ทำให้ทีมงานไม่ครบ ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามแผน ในกรณีที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ทีมงานก็ต้องกระตุ้นเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ ให้เริ่มงานบางส่วนที่สามารถทำเองได้ไปก่อน เช่น การเก็บข้อมูล บทบาทส่วนใหญ่ของทีมงานจึงเป็นเรื่องของการหนุนเสริมการชวนคิด ให้เยาวชนสามารถคิดวิเคราะห์ แตกประเด็นข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหางานของโครงการ เพื่อนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลในช่วงแรก ๆ

“ปัญหาหลัก ๆ ของเด็ก ๆ คือ รวมทีมกันไม่ค่อยจะได้ อาจจะเป็นเพราะเป็นช่วงปิดเทอมด้วย การที่เราลงไปคุยกับน้องที่ไม่อยู่ครบทีม ทำให้การเรียนรู้ของน้องไม่เท่ากัน ก็แก้ปัญหาด้วยการบอกว่า คนที่เริ่มเก็บข้อมูลได้แล้วให้เอาแจกกันอ่าน ให้เขารู้ว่าที่ผ่านมาเพื่อนเขาทำอะไรกันไปแล้วบ้าง” ติ๊ก เล่าถึงการแก้ปัญหาในการทำงานของกลุ่มเยาวชน ซึ่ง จิ๋ว เล่าเสริมว่า โชคดีที่ยุคนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยได้ คือ เยาวชนส่วนใหญ่จะสื่อสารกันทางเฟซบุ๊ก เมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็มักจะนำไปโพสต์ ทำให้เพื่อน ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดหรือไม่ได้มาร่วมกิจกรรม สามารถติดตามความคืบหน้าในการทำงานของกลุ่มตนได้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ทีมงานยังต้องทำความเข้าใจและหนุนเสริมการแก้ปัญหาอื่น ๆ ในการทำงานของกลุ่มเยาวชน เช่น การถอยออกของแกนนำหลักที่มีภาระด้านการเรียน ที่ทำให้การทำงานของกลุ่มชะงัก จึงต้องมีการปรับบทบาทการทำงาน ให้น้องๆ ชักชวนให้สมาชิกคนอื่น ๆ ขึ้นมาเป็นแกนนำแทน ในฐานะคนหนุนเสริมจึงต้องจับจังหวะของการเข้าไปซ่อม โดยช่วยไกล่เกลี่ยบทบาทในทีมให้ในบางครั้ง

แม้ว่าการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการทำงานจะเป็นเรื่องที่ทีมงานให้ความสำคัญ เพราะมีฐานคิดว่า อยากให้การทำงานของเยาวชนอยู่บนฐานข้อมูลความรู้ มากกว่าการตัดสินใจโดยความต้องการ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา หรือศักยภาพของกลุ่ม ศักยภาพของชุมชน แต่บ่อยครั้ง ที่ทีมงานพบว่า แม้จะเก็บข้อมูลไปแล้ว แต่ข้อมูลที่ได้มาส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลบริบทชุมชนแบบกว้าง ๆ หรือเป็นเรื่องเฉพาะส่วนที่ยังไม่มีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากเยาวชนไม่เข้าใจว่าข้อมูลเกี่ยวข้องกันอย่างไร และจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร การชวนคิดชวนคุย ให้น้องๆ “คิดเชื่อมโยง” จะทำให้น้องสามารถสรุปข้อมูลได้ชัดเจน เห็นช่องทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทั้งในรูปแบบของการนำไปเผยแพร่ หรือสร้างการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย หรือใช้ในการวิเคราะห์เพื่อปรับแผนการทำงาน

“ฐานคิดเราคือ เด็กต้องปฏิบัติการบนฐานข้อมูล แต่ส่วนมากช่วงแรกจะได้เรื่องบริบทของหมู่บ้าน ส่วนเรื่องเฉพาะจะได้มาเป็นคำ ๆ เช่น สมุนไพรนี้ชื่ออะไร มีสรรพคุณอย่างไร จะได้เป็นประโยคสั้น ๆ เราก็ต้องกระตุ้นให้เขาเก็บซ่อม สัมภาษณ์คนในชุมชนเพิ่มเติม ซึ่งบางทีมก็เก็บไปพร้อม ๆ กับการปฎิบัติการ” เบ็ญเล่า

“ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ติดตามเราจะชวนน้องเช็คว่า ตอนนี้เขาเก็บข้อมูลอะไรได้บ้าง ยังเหลืออะไร ได้ครบไหม ก็ได้ตามศักยภาพของเขา ส่วนใหญ่ที่เราจะเน้นคือ ให้เขาเขียนรายงานกิจกรรมทุกครั้งว่า เขาทำอะไร ได้อะไร ชวนคุยให้เขาเข้าใจว่า ต้องเก็บอะไรเพิ่ม ตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายของงาน ที่เขาตั้งไว้ อาจจะใช้เทคนิคกระตุ้นนิดหน่อยว่า ถึงเวลาต้องทำรายงานแล้วนะ ถ้าเราไม่เก็บข้อมูล เราจะเอาอะไรไปเขียนในรายงาน แล้วกระตุ้นต่อว่า ถ้าเราบันทึกว่าวันนั้นเราทำอะไรบ้าง เช่น เก็บข้อมูล อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง” ติ๊ก เล่าถึงเทคนิคส่วนตัว

ปัญหาสำคัญอีกด้านที่ทีมงานต้องเป็นผู้คลี่คลายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของเยาวชนอย่างแท้จริง คือ บทบาทของพี่เลี้ยงชุมชนที่อาจจะเข้าไปผลักดันหรือชี้นำมากเกินไป ซึ่งสังเกตได้จากอาการของเยาวชนเจ้าของโครงการที่มักไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการทำงานได้ ก็จะมีพี่เลี้ยงเป็นผู้ตอบคำถามแทน เมื่อประสบอาการเช่นนี้ ทีมงานก็ต้องหาโอกาสพูดคุยเป็นการส่วนตัว เพื่อทำความเข้าใจพี่เลี้ยงให้ลดบทบาทการชี้นำลง

กิจกรรมหลัก ๆ ที่ทีมงานใช้เป็น “เครื่องมือ” สร้างการเรียนรู้แก่กลุ่มเยาวชนคือ การสรุปบทเรียนหลังทำกิจกรรม โดยมีคำถามหลักเกี่ยวกับความคาดหวังที่ตั้งไว้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง ผลที่ได้ จุดดี จุดด้อยในการทำกิจกรรม ซึ่งทีมงานจะต้องรับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อ “ช้อน” เก็บประเด็นจากคำตอบของเยาวชนเพื่อถามต่อให้ลงลึก สร้างการเรียนรู้ รวมทั้ง “เขี่ย” ให้เห็นประเด็นที่สะท้อนความเป็นพลเมือง

เติมความรู้ระหว่างทาง

เวทีสรุปและนำเสนอผลการดำเนินโครงการเพื่อชุมชนของกลุ่มเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการทำงาน และเติมเต็มทักษะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับการทำงานไปพร้อม ๆ กับการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนในช่วงที่ 2 บทเรียนจากการจัดเวทีเรียนรู้ของเครือข่ายเยาวชนที่พบว่า พี่เลี้ยงชุมชนมักจะร่วมสังเกตการณ์อยู่ข้าง ๆ โดยยังไม่มีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากนัก ดังนั้น ในการจัดเวทีนำเสนอความก้าวหน้าครั้งนี้ ทีมงานตั้งใจเพิ่มบทบาทของพี่เลี้ยงให้มีส่วนร่วมมากขึ้น จึงได้เชิญพี่เลี้ยงมาร่วมออกแบบเวทีร่วมกัน

แต่ก่อนจะประชุมกับพี่เลี้ยง ทีมงานต้องประชุมกันเองเพื่อออกแบบกระบวนการพูดคุยกับพี่เลี้ยง ซึ่งทีมงานต้องวิเคราะห์สถานการณ์จากปรากฎการณ์ที่ได้สัมพันธ์กับพี่เลี้ยงแต่ละพื้นที่ ก่อนจะเลือกเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ให้พี่เลี้ยงได้เข้าใจบทบาท และได้แสดงบทบาทโค้ชอย่างเหมาะสม

“เกมตัวต่อเลโก้” คือ เครื่องมือสร้างการเรียนรู้แก่พี่เลี้ยง ด้วยทีมงานตั้งใจที่จะใช้เกมนี้ตอกย้ำบทเรียนการทำงานเป็นทีมให้แก่เยาวชน โดยในกระบวนการเรียนรู้ต้องมีการสรุปบทเรียนหลังการเล่นเกม ซึ่งต้องอาศัยพี่เลี้ยงในการทำหน้าที่เป็นวิทยากรกลุ่มย่อย (facilitator) ในแต่ละกลุ่ม แต่การจะเป็นวิทยากรกลุ่มย่อย ต้องเข้าใจเนื้อหาสาระของเกม พี่เลี้ยงที่ร่วมเตรียมเวทีทั้งหมดจึงได้สัมผัสประสบการณ์ตรงจากการเล่นเกมดังกล่าว เพื่อให้เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และเกิดบทเรียนจากการเล่นเกม

“วันเตรียมเราก็ชวนพี่เลี้ยงเล่นเกม เหมือนกับว่าจำลองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในวันข้างหน้า ให้พี่เลี้ยงสัมผัสความรู้สึกการเล่นจริงก่อน เราก็จะถามกับพี่เลี้ยงเลยว่า รู้สึกอย่างไร เรียนรู้อะไร เพราะสถานการณ์จะเป็นแบบนี้แหละที่พี่เลี้ยงต้องชวนน้องถอดบทเรียน” จิ๋วเล่า

นอกจากการเตรียมพี่เลี้ยงในบทบาทวิทยากรกลุ่มย่อยแล้ว การร่วมกันออกแบบเวทียังเป็นการส่งสัญญาณให้พี่เลี้ยงต้องกลับไปทำหน้าที่โคชกลุ่มเยาวชน โดยการเช็คความพร้อมของข้อมูลที่ได้จากการทำงานของกลุ่มเยาวชน ทั้งแง่เนื้อหาสาระตามประเด็น และกระบวนการทำงาน รวมทั้งชวนเยาวชนสรุปบทเรียนการเรียนรู้ ฯลฯ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับเครือข่าย และปัจจัยสำคัญของการจัดเวทีครั้งนี้ยังเป็นเรื่องของการสนับสนุนงบประมาณส่วนที่เหลือ โดยมีเงื่อนไขของการที่กลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่มต้องนำรายงานกิจกรรมและสรุปรายงานการเงินของตนเองมาส่งเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันจัดกิจกรรมจริง ผลที่ได้ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ “เวทีครั้งนี้ ในส่วนของพี่เลี้ยงชุมชนยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะวันที่เราคุยเตรียมไม่ใช่วันเสาร์-อาทิตย์ พี่เลี้ยงมาแค่ 4 กลุ่มที่ได้ทำความเข้าใจและคิดกระบวนการร่วมกัน พอเราให้พี่เลี้ยงชวนคุย คนที่มาเตรียมจะเข้าใจเพราะเขาได้ร่วมออกแบบ ได้เห็นภาพตอนเล่นเกม เวลาชวนคุยเขาก็จะชวนคุยได้ แต่พี่เลี้ยงที่ไม่ได้มาเตรียมด้วย ทำหน้าที่ได้แค่ช่วยดูเท่านั้น” มวล สะท้อนผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกับพี่เลี้ยง

ส่วนการนำเสนอของกลุ่มเยาวชน ก็เป็นไปด้วยดี แต่น่าเสียดายที่มีเวลาจำกัด จึงต้องลดเวลานำเสนอของกลุ่มท้าย ๆ ลง และช่วงเล่นเกมตัวต่อเลโก้ที่ยังมีจุดติดขัดที่ปล่อยโจทย์ในการสรุปบทเรียนไม่ชัดเจน ทำให้การสรุปเนื้อหายังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าบรรยากาศของการเล่นเกมจะสามารถดึงความสนใจ สร้างความสนุกสนานได้ก็ตาม

เพื่อนเยี่ยมเพื่อน กระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“เงื่อนไขของการทำงานที่ระยะเวลาเป็นกรอบกำหนดให้กลุ่มเยาวชนต้องกระตือรือร้นเร่งทำงาน ประกอบกับกิจกรรมที่ได้ทำยังคงสดใหม่ในความรู้สึก ยิ่งหลาย ๆ โครงการมีการจัดเวทีเพื่อเผยแพร่ ผลการทำงานต่อชุมชน โดยมีเพื่อนต่างโครงการมาร่วมเรียนรู้ การที่ได้เล่า ได้บอก ได้โชว์ จึงเป็นพื้นที่ความภาคภูมิใจของกลุ่มเยาวชน”

การติดตามการทำงานในช่วงปฏิบัติการของโครงการเยาวชน มีความแตกต่างไปจากการติดตามช่วงแรกที่เน้นเรื่องการเก็บข้อมูล แต่ในช่วงปฏิบัติการทีมงานจะหนุนเสริมให้เยาวชนนำข้อมูลที่เก็บมาได้มา “ทบทวน” เปรียบเทียบกับกิจกรรมที่เคยวางแผนไว้ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเช่นนี้จะทำให้เยาวชนเห็นว่า สิ่งที่คิดเกี่ยวกับชุมชนทั้งสภาพปัญหา และทุนศักยภาพของชุมชนในตอนแรกนั้น สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สะท้อนจากข้อมูลที่เก็บมาได้หรือไม่ หากสอดคล้องกันก็จะนำข้อมูลมาใช้วางแผนการทำกิจกรรม และลงมือปฏิบัติการตามแผนเดิม แต่ก็มีบางกลุ่มที่พบว่า ข้อมูลกับแผนงานที่ตั้งไว้ไม่สอดคล้องกัน

ติ๊ก เล่าต่อว่า บทบาทการติดตามโครงการของเยาวชนในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ทีมงานจะไปร่วมกิจกรรม ของน้อง โดยให้กลุ่มเยาวชนดำเนินการเอง เมื่อพบปัญหาอะไรในการทำกิจกรรมทีมงานจึงจะค่อย ๆ ชวนคิดและชวนปรับวิธีการทำงาน

โดยเบ็ญ เสริมว่า การตามน้องช่วงแรก เราเป็นคนจัดกระบวนให้เขาได้คุย กระตุ้นเรื่องการบันทึกวิธีการทำงาน บันทึกข้อมูลการทำงานของตนเอง แต่พอถึงช่วงปฏิบัติการจึงปล่อยให้น้องได้ลงมือทำเองตามแผนที่วางไว้ เช่น เขายืนยันว่าจะทำตามแผนที่ออกแบบในเวที เขาก็จะทำแบบนั้นเป๊ะเลย เด็ก ๆ เขาสามารถประสานงาน วางแผน และลงมือทำ ได้เอง เขาถามว่า พี่จะมาไหม บทบาทในช่วงหลังของเราคือไปร่วมกิจกรรม สังเกตการณ์ และชวนสรุปบทเรียนเท่านั้น

เงื่อนไขของการทำงานที่ระยะเวลาเป็นกรอบกำหนดให้กลุ่มเยาวชนต้องกระตือรือร้นเร่งทำงาน ประกอบกับกิจกรรมที่ได้ทำยังคงสดใหม่ในความรู้สึก ยิ่งหลาย ๆ โครงการมีการจัดเวทีเพื่อเผยแพร่ผลการทำงานต่อชุมชน โดยมีเพื่อนต่างโครงการมาร่วมเรียนรู้ การที่ได้เล่า ได้บอก ได้โชว์ จึงเป็นพื้นที่ความภาคภูมิใจของกลุ่มเยาวชน

“พี่รุ่งออกแบบเรื่องการเรียนรู้ข้ามโซน เพราะต้องการให้น้องไปเห็นกัน ไปให้กำลังใจ บางกลุ่มก็ไปช่วยกัน เช่น กลุ่มสมุนไพรนำน้ำสมุนไพรไปช่วยในงานลานวัฒนธรรมของกลุ่มทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งการไปช่วยงานกันเช่นนี้ ก็เหมือนได้บทเรียนจากกลุ่มอื่นด้วย” มวลเล่า

การเรียนรู้ข้ามโซนเป็นแผนการที่ถูกออกแบบไว้ในช่วงท้ายของ เวทีสรุปและนำเสนอผลการดำเนินโครงการเพื่อชุมชนของกลุ่มเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เป็นเวที ที่กลุ่มเยาวชนแต่ละทีมต้องเล่ารายละเอียดกิจกรรมที่จะทำในช่วงปฏิบัติการให้เพื่อน ๆ ในโซนเดียวกันได้รับรู้ เมื่อเห็นเพื่อนต่างหมู่บ้านทำโครงการในประเด็นใกล้เคียงกัน ก็อยากเรียนรู้ ประกอบกับสนิทสนมกันมากขึ้นจึงอยากไปมาหาสู่ ช่วยเหลืองานของเพื่อน ๆ อีกทั้งการติดต่อประสานงานกันเองก็ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะมีเฟซบุ๊ก ไลน์กลุ่มทั้งของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ และของส่วนตัวเป็นสื่อกลาง

พัฒนาการที่สัมผัสได้

“เขามีทักษะในการทำงานร่วมกับเพื่อน การเป็นห่วงเพื่อนในทีม การทำงานในทีมในกลุ่มของเขา ถึงแม้ว่าเพื่อนบางคนจะทิ้งงาน บางคนจะต้องทำงานมากกว่าคนอื่น แต่น้อง ๆ ก็มีวิธีการ จัดการกับปัญหา แม้แต่เพื่อนที่หายไปช่วงปิดเทอม การที่ตัวเองทำงาน แทนเพื่อนแล้วเพื่อนกลับมา เห็นได้ชัดว่า พวกเขาพยายามประคับประคองความเป็นทีมและ ความสัมพันธ์ของเขาไว้ แบ่งรับแบ่งสู้ อดทนบ้าง อธิบายกันบ้าง การจัดการการทำงาน ในทีมของเขาถือว่า เขาทำได้ แต่ทักษะเรื่องการนำเสนอ การเล่า อาจจะได้บางคน บางคนเล่าไม่เก่ง แต่คิดและทำทุกอย่าง รวมทั้งเขียน ในทีมของเขาก็จะมีคนที่คอยเล่าแทน มันเหมือนกับว่า เขาจัดวางบทบาทของทีมว่า ถ้าใครยังไม่พร้อมจะพูด เพื่อนก็จะพูดแทน ถ้าจะห่วงก็ห่วงแต่เรื่องการนำเสนอ”

ณ จุดที่กลุ่มเยาวชนปฏิบัติการในช่วงสุดท้าย ทีมงานประเมินได้ว่า คุณลักษณะของเยาวชนที่อยากเห็นในเรื่อง “สำนึกรักถิ่นเกิด” และ “ทักษการทำงานเป็นทีม” นั้นบรรลุเป้าหมายทุกโครงการ สิ่งที่ขาดคือ “ความกล้าแสดงออก” ที่บางกลุ่มยังขัด ๆ เขิน ๆ ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ต่อไป

“เขามีทักษะในการทำงานร่วมกับเพื่อน การเป็นห่วงเพื่อนในทีม การทำงานในทีมในกลุ่มของเขา ถึงแม้ว่าเพื่อนบางคนจะทิ้งงาน บางคนจะต้องทำงานมากกว่าคนอื่น แต่น้อง ๆ ก็มีวิธีการจัดการกับปัญหา แม้แต่เพื่อนที่หายไปช่วงปิดเทอม การที่ตัวเองทำงานแทนเพื่อนแล้วเพื่อนกลับมา เห็นได้ชัดว่า พวกเขาพยายามประคับประคองความเป็นทีมและความสัมพันธ์ของเขาไว้ แบ่งรับแบ่งสู้ อดทนบ้าง อธิบายกันบ้าง การจัดการการทำงานในทีมของเขาถือว่า เขาทำได้ แต่ทักษะเรื่องการนำเสนอ การเล่า อาจจะได้บางคน บางคนเล่าไม่เก่ง แต่คิดและทำทุกอย่าง รวมทั้งเขียน ในทีมของเขาก็จะมีคนที่คอยเล่าแทน มันเหมือนกับว่า เขาจัดวางบทบาทของทีมว่า ถ้าใครยังไม่พร้อมจะพูด เพื่อนก็จะพูดแทน ถ้าจะห่วงก็ห่วงแต่เรื่องการนำเสนอ” เบ็ญประเมินพัฒนาการของกลุ่มเยาวชน

“เราเห็นว่าน้องเปลี่ยนจริง ๆ จากครั้งแรกที่เอารายงานมาส่ง พิมพ์บนกระดาษสีเขียวแบบปกรายงานทั้งเล่ม เราก็คิดว่า มันใช่ไหมนี่ แล้วเปิดข้อมูลในรายงานดูก็รู้ว่าเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตแล้วพริ้นมาส่ง เราก็บอกว่า พี่รบกวนให้น้องไปทบทวนนะ ข้อมูลที่หนูจด ตอนลงชุมชนสัมภาษณ์ หนูจดอะไรก็พิมพ์อย่างนั้นมา ปรากฏว่าวันอบรมเว็บไซต์ เขาก็ทำมาใหม่อย่างดี ใช้กระดาษขาว บอกว่า ให้เราช่วยอ่านให้หน่อยว่าต้องปรับอย่างไร เราก็เห็นความตั้งใจของเขา” ติ๊กเล่า

ในปีนี้ทีมงานตั้งใจที่จะใช้โอกาสในช่วงท้าย ๆ ของโครงการ ชวนเยาวชนแต่ละกลุ่มตั้งวงคุยเพื่อสรุปบทเรียนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ปีก่อนตั้งใจว่าจะทำแต่ไม่ได้ทำ การสรุปบทเรียนในปีที่ผ่านมาทำได้เพียงให้เยาวชนแต่ละคนเขียนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการ นอกจากนี้ยังมีการสรุปบทเรียนภายในทีมที่ควรต้องสรุปการทำงานในปีนี้ร่วมกัน

“คำถามที่จะชวนน้องคุย ส่วนมากเป็นเรื่องการเรียนรู้จากกระบวนการทำงานของน้อง เพราะแต่ละครั้งที่เราไปตาม เราต้องเช็คกับตัวเอง ว่า ผลที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้องที่มาจากชุมชน เพราะเราคาดหวังว่า เยาวชนในพื้นที่จะมีบทบาท หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างไร” รุ่งวิชิตเล่าถึงหลักคิดในการตั้งคำถามที่จะใช้ถอดบทเรียนกลุ่มเยาวชน

จุดประกายความคิด แสดง “พลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ”

ก่อนที่จะสรุปปิดโครงการในปีที่ 2 นี้ ทีมพี่เลี้ยงเห็นว่าเยาวชนทั้ง 16 กลุ่ม ได้ทั้งการเรียนรู้ และประสบการณ์สุข ทุกข์จากการลงมือทำโครงการเพื่อชุมชนที่งดงามเป็นอย่างมาก เป็นโอกาสดีที่เยาวชนและพี่เลี้ยงชุมชนจะได้ร่วมกัน นำเสนอ “พลังการเรียนรู้” และ “พลังคุณค่า” ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ มานำเสนอต่อสาธารณะชนจังหวัดศรีสะเกษ ทีมงานจึงจัดเวทีพัฒนาทักษะการสื่อสาร ที่ชวนน้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่อง Infographic ฝึกคิดประมวลข้อมูลสื่อสารผ่านภาพ เพราะการทำ info เป็นทั้ง ศาสตร์และศิลป์ ที่น้องๆ จะได้พัฒนาทักษะการจับประเด็นสำคัญของข้อมูลที่ได้มาจากการลงพื้นที่ชุมชน ถอดบทเรียนการเรียนรู้ ฝึกคิดวิเคราะห์ดึงข้อมูลสำคัญ และการคิดออกแบบการนำเสนอเป็นภาพให้ชัดเจน สวยงาม

น้องๆ กลุ่มเยาวชน ได้สรุปผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ ทั้ง "ปัญหา" บริบทในชุมชนที่ตนเห็น "วิธีการแก้ปัญหา" และ "ผลการเรียนรู้" ที่เกิดขึ้นต่อตัวเอง และความเปลึ่ยนแปลงต่อคนในชุมชน มือใหม่หัดทำ info ก็เริ่มจากงานทำมือ ระดมความคิดในกลุ่มเพื่อน สรุปความคิดรวบยอด คัดสรรคำนำเสนอ แปลงเป็นภาพ วาดภาพระบายสี ซึ่งการเรียนรู้ครั้งนี้ นอกจากน้องๆจะสามารถวาดภาพจับประเด็นเป็น สื่อสารเป็นภาพได้งดงามขึ้นแล้ว น้องๆ ยัง สามารถ "เล่าเรื่องราว" การทำงานและการเรียนรู้ของน้องๆ ได้ชัดเจนน่าฟัง สั้นกระชับชัดเจนภายใน 3 นาที สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการคิด ความกล้าแสดงออก และทักษะการสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้นกว่าตอนเริ่มโครงการ เพราะสิ่งที่น้องๆนำเสนอ ล่วยมาจากประสบการณ์ตรงขอวตัวเอง

ความตื่นเต้น และตื่นตัวที่สุดของเหล่าเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ทั้ง 16 กลุ่มคือ การจัดงาน “มหกรรมพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปีที่ 2” ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ เพราะมีแนวคิดว่าจะเป็นการ “เปิดพื้นที่” และ “เปิดโอกาส” ให้กลุ่มเยาวชนทั้ง 16 กลุ่มได้แสดงพลังศักยภาพการเป็น “พลเมืองดีศรีสะเกษ” ให้ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ในชุมชน รวมทั้ง หน่วยงานต่างๆ ในระดับท้องถิ่น และจังหวัด ภาคภูมิใจในตัวเยาวชน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของเยาวชน เข้าใจในตัวเยาวชนมากขึ้นว่า เยาวชนก็มีพลัง มีศักยภาพที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษร่วมกับผู้ใหญ่ ทั้งในการสืบสานงานวัฒนธรรม การร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ช่วยผู้ใหญ่จัดการดูแลชุมชนบ้านเกิดของตน ตลอดจนเยาวชนอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงานของเยาวชนต่อไป และมีการขยายเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญคือ อยากให้คนเมืองศรีสะเกษจะเกิดสำนึกร่วม “รักแผ่นดินเกิด” เพราะมองเห็นสถานการณ์ความเป็นมาและเป็นไปของเมืองศรีสะเกษ ผ่านโครงการของเยาวชนทั้งด้านวัฒนธรรม ทรัพยากร สัมมาชีพ จนเกิดความรัก ความหวงแหน และความภาคภูมิใจในจังหวัดศรีสะเกษมากขึ้น

ในระหว่างการเตรียมงานอย่างแข็งขันของทุกคนทั้งพี่เลี้ยงชุมชน และเยาวชน น้อง ๆ มีการรวมตัวกันแบ่งเป็น 4 โซนพื้นที่ ได้แก่ อำเภอโนนคูณ อำเภอปรางค์กู่-ขุขันธ์ อำเภออุทุมพร และอำเภอขุนหาญ ได้รวมตัวกันคิดค้นหาทุกข์-ทุนคุณค่าในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นจุดเด่นของโซนพื้นที่ จุดร่วมของการทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิด คิดสร้างสรรค์การนำเสนอทั้งรูปแบบขบวนแห่นำเสนอพลังเยาวชนทั้ง 4 กลุ่มชาติพันธุ์ 4 โซนพื้นที่ ณ ใจกลางเมืองศรีสะเกษ การแสดงศิลปวัฒนธรรมสะท้อนพลังการเรียนรู้ ณ ลานวัฒนธรรม เวทีเสวนาบทบาทของพี่เลี้ยง และโคชในการสนับสนุนเยาวชน การนำเสนอผลงานอย่างสร้างสรรค์ และนิทรรศการการเรียนรู้ที่มีชีวิต เป็นต้น ระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้จนถึงวันงาน จึงเป็นแบบฝึกหัดการเรียนรู้ช่วงสุดท้ายของโครงการ ที่น้องๆจะได้ทั้งการฝึกทักษะการคิด จัดการ การทำงานร่วมกัน ในการจัดงานซึ่งเป็นเวทีที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาเอง ที่พร้อมจะเสนอต่อ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้สนใจทั่วไปในเมืองศรีสะเกษ

น้องเรียนรู้...พี่เรียนรู้

สำหรับทีมงานแต่ละคนนั้น กรอบคิดที่ว่า ให้เยาวชนคิดเอง ทำเอง ก็ถูกใช้กับทีมงาน เพราะการทำงานในปีนี้เป็นก้าวแรกที่ได้กุมสภาพการทำงานบริหารจัดการของตนเอง ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานที่แตกต่างออกไป

ติ๊กบอกว่า ได้เรียนรู้ไปกับน้อง ยอมรับตัวเองว่า เป็นปีแรกที่หัวหน้าปล่อยให้ลงไปโคชน้องเอง เพราะปีที่ผ่านมาลงไปกับหัวหน้า เวลาลงไปก็จะทบทวนตัวเองว่า ตอนไปกับหัวหน้า หัวหน้าทำอะไร อย่างไรบ้าง หัวหน้าพูดอะไรบ้าง ก็เลยได้ฝึกตนเองไปพร้อมกับน้อง ลองผิดลองถูกไปกับน้องเหมือนกัน เห็นน้องเปลี่ยนก็ภูมิใจ

“ในส่วนของตัวเองที่เปลี่ยนคือ อดทนมากขึ้น ถือว่านิ่งขึ้นเยอะ บางทีน้องอาจจะทำไม่ถูกใจเรา บางทีน้องอาจจะเล่น เราก็นิ่งแล้วก็พยายามหาเทคนิคถึงให้น้องกลับมา แต่การทำงานทุกครั้งเตรียมตัวเอง เช่น เมื่อรู้ว่าจะไปพบเยาวชนกลุ่มไหน จะต้องศึกษาข้อมูลโครงการของเยาวชนกลุ่มนั้น ๆ ว่าทำงานถึงจุดใด น้องต้องทำอะไรบ้าง น้องต้องทำอะไรก่อน น้องต้องเก็บข้อมูลอะไรอย่างไร เราต้องเตรียมตัวเองก่อนพอไปถึงเราก็จะพร้อมที่จะหนุนเสริม”

เบ็ญเสริมว่า บางครั้งเธอก็ติดวิธีการทำงานเดิม ๆ คือ ติดการนั่งดู หรือคุยในวงเล็กๆ เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งของวง แต่ตอนนี้เราต้องจัดกระบวนการ ให้คนนั้นคนนี้ได้คุย คนนี้ว่างอยู่ก็ให้เขียน หรือชวนให้แต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างไร ก็ได้คิด รู้จักมองเชิงกระบวนการมากขึ้น ถ้าเป็นงานแบบเดิม เวลาไปเราก็จะทำแต่หน้าที่ที่เราเคยทำ คือ งานเอกสาร เพราะพี่รุ่งเป็นคนนำกระบวน เราเป็นคนบันทึกอยู่รอบข้าง ไม่เคยคิดว่า เวลาต้องมาจัดวงแบบนี้มันปวดหัวอย่างไร ต้องจัดการคนอย่างไร ในขณะจัดเวทีอยู่ต้องวางแผนล่วงหน้าไปพร้อมกันอย่างไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องเนื้อหาเชิงประเด็นที่บางเรื่องเราไม่รู้ เราก็ต้องศึกษามาก่อน จะได้ทันน้อง

จิ๋วซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ได้สัมผัสเยาวชนทุกกลุ่มตั้งแต่เริ่มต้น จึงเห็นพัฒนาการของน้อง ๆ ที่กลายเป็นความประทับใจในการทำงาน ซึ่งย้อนกลับมาทำให้เห็นตัวเอง

“มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกวุ่นวายมาก ทั้งงาน ทั้งเรื่องส่วนตัว ก็จะคิดว่าเอาอย่างไรดีนะ น้องก็จะใกล้ถึงเส้นชัยแล้ว ใกล้จะจบโครงการแล้ว เราก็ต้องไปตาม เป็นช่วงที่เครียดมาก แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเราต้องจัดการตัวเองอย่างไร สามารถลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ให้ตัวเองได้”

สำหรับมวล ซึ่งปีนี้เริ่มบทบาทใหม่ในการเป็นคนนำกระบวนการในเวทีต่าง ๆ รวมทั้งได้ลงมือหนุนเสริมเยาวชนเอง โดยที่หัวหน้าไม่ได้ไปด้วยเหมือนเช่นเคย บุคลิกขี้เล่น ที่พูดไปหัวเราะไป บางครั้งหลุดประเด็นไหลไปกับเรื่องราวที่น้อง ๆ จุดประเด็นขึ้นมา ถูกปรับเปลี่ยนสู่ความนิ่ง สยบความตื่นเต้น สามารถกุมสภาพและจับชีพจรบรรยากาศของเวทีได้แม่นขึ้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้

“เมื่อก่อนจะเป็นหัวหน้าในการชวนคุย วิเคราะห์สถานการณ์อะไรก็จะเป็นพี่รุ่ง ปีนี้เราได้ทำเองหลายกลุ่ม ก็เป็นปีแรกที่ได้ลองทำเองโดยที่หัวหน้าไม่ได้ไปด้วย พอได้ทำเองก็ประทับใจว่าเราทำได้ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับป่า คือ เราไม่เคยทำเรื่องป่ามาก่อน จะสำรวจป่าอย่างไร ก็ต้องไปศึกษาเครื่องมือในอินเทอร์เน็ต แล้วเอาคลิปอะไรที่เราได้ดูไปให้น้องดูด้วย เอาแบบฟอร์มที่เราเห็นในอินเทอร์เน็ตมาลองให้น้องทำดู น้อง ๆ ก็ทำได้ เราก็เรียนรู้ไปพร้อมกัน ขอแค่เราเราต้องมีแนวทางที่จะพาน้องไปให้ชัด ถ้าเราไม่รู้เราก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม”

วางระบบ ปรับการบริหารจัดการเพื่อไปต่อ

“ทีมงานจึงมองว่า การทำงานในอนาคตยังคงใช้การทำงานแบบโซนพื้นที่เป็นตัว “เชื่อมร้อย การเรียนรู้” ของเยาวชน และค้นหาประเด็นร่วมในแต่ละโซน เพื่อที่จะได้หยิบยกขึ้นมาเป็นวาระ ขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป”

แม้การทำงานจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้นในปีที่ 2 แต่ทีมงานยังสะท้อนว่า ยังมีเรื่องหนักใจอยู่เป็นพัก ๆ เช่น

ติ๊กหนักใจเรื่องการจัดการเวลาของตนเอง เกรงว่าจะทำบัญชีซึ่งเป็นงานกลางไม่ทัน จนคลี่คลายได้เมื่อเบ็ญมาช่วย

จิ๋วหนักใจว่า จะพาน้องไปถูกทางหรือไม่ ก็ต้องทบทวนวิธีการทำงานของตนเองเป็นพัก ๆ ผสมกับการปรึกษาขอคำแนะนำจากพี่ ๆ

ส่วนเบ็ญหนักใจว่าพาน้องไปให้ถึงสำนึกพลเมืองได้หรือไม่ รวมทั้งความรู้สึกที่อยากจะมีเวลาทำงานกับกลุ่มเยาวชนอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เป็นอยู่

ขณะที่เรื่องหนักใจของมวลคือ เรื่องข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง นั่นคือ เวทีมหกรรมพลังเยาวชนที่รู้สึกกังวลกับจำนวนโครงการของเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับรุ่งวิชิตมีเรื่องหนักใจในฐานะหัวหน้าทีม ที่ต้องออกแบบระบบการทำงาน การบริหารจัดการงานให้สัมพันธ์กับเวลาที่มี อีกทั้งการมองไปข้างหน้าถึงการรับไม้ต่อระหว่างงานชุมชนกับงานเยาวชน ที่มองว่า ทีมยังไม่รู้จักชุมชนมากพอที่จะเชื่อมโยงงานพัฒนาของผู้ใหญ่กับงานเยาวชนให้เป็นเนื้อเดียวกัน เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนงานภาพรวมของจังหวัดที่ยังขาดประเด็นร่วมที่จะเชื่อมร้อยงานต่าง ๆ

“ปีนี้เราจัดรูปแบบการทำงานใหม่ ทั้งรูปแบบการรับผิดชอบของแต่ละคน และรูปแบบเป็นโซน ศรีสะเกษอาจจะยังไม่มีประเด็นร่วมเหมือนน่านที่เขามีประเด็นร่วมของทางจังหวัด เราเลยจัดเป็นโซน แล้วให้เขาวิเคราะห์ปัญหาของตัวโซนแล้วค่อย ๆ ยกขึ้นมาเป็นปัญหาของจังหวัด” รุ่งวิชิตเล่า

ทีมงานจึงมองว่า การทำงานในอนาคตยังคงใช้การทำงานแบบโซนพื้นที่เป็นตัว “เชื่อมร้อยการเรียนรู้” ของเยาวชน และค้นหาประเด็นร่วมในแต่ละโซนเพื่อที่จะได้หยิบยกขึ้นมาเป็นวาระขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป

หัวใจหลักของการทำงานคือ การบริหารจัดการองค์กรที่ดี มีระบบงานที่ชัดเจน ทั้งระบบการวางแผนยุทธศาสตร์ ที่มีการกำหนดเป้าหมายและวางแผนการทำงาน และการประเมินตนเองที่ชัดเจน การเชื่อมร้อยเครือข่ายทั้งภายใน และภายนอกจังหวัดศรีสะเกษเข้ามาสนับสนุน การจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการ การทำฐานข้อมูลต่างๆ รวมทั้งศักยภาพของโคชในการสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสคิดเอง ทำเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองสู่ความเป็นพลเมืองดีศรีสะเกษ ได้ถูกหยิบมาใช้เป็นหลักการพัฒนาศักยภาพในการทำงานของทีมงาน ดังนั้นการทำงานที่พยายามพัฒนาปรับปรุงและวางระบบบริหารจัดการที่ดีจึงเป็นการเรียนรู้ที่ก้าวไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของเยาวชน พัฒนาการของเยาวชนที่สัมผัสได้จึงเป็น “แรงใจ” ที่ส่งพลังให้ทีมงานพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมืองที่ได้มาอาศัยและถิ่นเกิดตลอดไป

อ่านรายละเอียดที่ หนังสือถอดบทเรียน กระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.ศรีสะเกษปี 2

////////////////////////////////////////