“เวทีนับสี่ Cheke point พลเมือง” ค้นหา “คุณค่า”กิจกรรมเชื่อมโยงกับ “สำนึกพลเมือง” อย่างไร
"...อยากให้พวกเราเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพราะเราจะได้เข้าใจว่า “พลเมือง” เราไม่ได้เช็คความสำเร็จของโครงการแต่เราเช็คว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้การเป็น “พลเมือง” ของเรา เข้าใจคำว่า “พลเมือง” เด่นชัดหรือเปล่า หรือเข้าใจแค่เป็น “นักกิจกรรม” ทำ “กิจกรรม” ให้เสร็จ โดยที่ไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง...”

­












­

โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปี 2 (ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ของสสส.) ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด“เวทีนับสี่ Cheke point พลเมือง” ณ ฮาโมนี รีสอร์ท อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี วันที่ 21 - 22 พฤษภาคม 2559

­

­

เพราะเชื่อว่าเมื่อเยาวชนเข้าโครงการผ่านกระบวนการบ่มเพาะตั้งแต่นับ 1 ถึง 3 เป็นเวลา 5 เดือน หลังจากได้เติมเต็มและกลับไปลงมือทำ โดยมีความรู้หลัก ทั้งการบริหารจัดการโครงการ ทักษะ (สุ จิ ปุ ลิ) สำนึกพลเมือง ภูมิสังคมภาคตะวันตก การมีส่วนร่วม สิทธิ-หน้าที่และการทำงานเป็นทีม และได้ความรู้เฉพาะจากการลงพื้นที่และการปฏิบัติจริงกับพี่เลี้ยง ทั้งความรู้เรื่องสถานการณ์พื้นที่ ข้อมูลบริบทชุมชน ทุนในชุมชน เครื่องมือการศึกษาชุมชน และความรู้เชิงวิชาการ/เทคโนโลยี ทั้งหมดทั้งมวลนี้แล้ว เยาวชนจะได้สายตาใหม่ที่เริ่มมองเห็นว่าตนเองเชื่อมโยงกับชุมชนอย่างไร โดยมาสะท้อนในเวทีครั้งที่ 4 นั่นเอง

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการฯ กล่าวว่าในเวทีครั้งนี้ ทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม มีโจทย์สำคัญคือการพาให้น้องๆไปถึง “คุณค่า” ของคำว่า “สำนึกพลเมือง” นั้น จะต้องจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร และความท้าทายของเวทีครั้งนี้คือการจัดกระบวนการโดยไม่แบ่งน้องเป็นกลุ่มย่อย การพาน้องกว่าร้อยคนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน จะทำได้จริงหรือไม่? 

   “เรามาเช็คว่าเราใช้กระบวนการจากนับ 1-นับ 3 นำไปลงมือปฏิบัติการทำงานกับโครงการเราหรือเปล่า เราไปล้างห้องน้ำเพื่อคนอื่น จากนับ 1 เริ่มดูบริบทชุมชนเรื่องที่เราจะทำอยากทำคือเรื่องอะไร และโครงการมีเป้าหมายอะไร กิจกรรมนับ 2 สิ่งที่เราอยากจะทำโครงการใช่หรือไม่ ในกิจกรรมนับ 3 และกิจกรรมนับ 4 เป็นการเช็คสถานภาพ สถานการณ์ เวลาอีกสองเดือน เราเป็นอย่างไร เราจะกลับไปทำอะไรต่อ ต้องทบทวนตนเอง พี่เลี้ยงต้องเช็คน้องว่าทำไปได้ครึ่งทางแล้วหรือยัง อยากให้พวกเราเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพราะเราจะได้เข้าใจว่า “พลเมือง” เราไม่ได้เช็คความสำเร็จของโครงการแต่เราเช็คว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้การเป็น “พลเมือง” ของเรา เข้าใจคำว่า “พลเมือง” เด่นชัดหรือเปล่า หรือเข้าใจแค่เป็น “นักกิจกรรม” ทำ “กิจกรรม” ให้เสร็จ โดยที่ไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง ”

สำหรับเป้าหมายของการจัดเวทีนับสี่ฯ เป็นเวทีที่ให้น้องๆ เยาวชนทั้ง 24 ทีม จาก 4 จังหวัด (จ.สมุทรสงคราม จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี และจ.เพชรบุรี) และพี่เลี้ยงโครงการ ร้อยกว่าคน ได้มาร่วมกันค้นหา “คุณค่า”จากกิจกรรมในโครงการของน้องๆ ที่ได้ไปลงพื้นที่และฝึกปฏิบัติลงมือทำมาแล้วนั้น เชื่อมโยงกับคำว่า “สำนึกพลเมือง” จากประสบการณ์ตรงของตัวเองอย่างไร หลังจากผ่านการทำโครงการไปครึ่งทาง

­

­

­

โดยมีลุงเดช พุ่มคชา ผู้ใหญ่ใจดีที่ร่วมเดินทางมาพร้อมกับน้องๆ มาร่วมเติมพลังใจให้กับน้องๆ โดยขับลำนำกลอน...แบบกินใจ

­

สองวันนี้ นับสี่ นะหลานหญิงชาย

หลังปีนป่าย งานเจ้า เอาใจหาม

เกือบทั้งหมด ไม่ถอดใจ ได้พยายาม

เกิดความงาม หลากหลาย ในหว่างทำ

เรา ร่วมเรียน ปนเล่น เล่นคมคิด

เรา ร่วมผลิต ผองงาน ผ่านตอนถาม

เรา สามัคคี ดีกว่า หนึ่งคนคลำ

เรา นิยาม คนรุ่นใหม่ เพื่อ ไท ไท

ขอ เหล่าเธออยู่ยั้ง ตั้งมั่น สองวัน

ขอ จุ่งเฟื่องเรื่องขยัน ทั่วหน้า

ขอ คุณแม่-พ่อผัน ขวัญสู่ หมู่เจ้า

ขอ สำเร็จเสร็จคว้า ชัยตั้งทำงาน


สิ่งที่เด็กต้องมีในการทำโครงการคือหนึ่ง ต้องมี "ความรู้" หมายถึงมีฝีมือ มีทักษะด้านต่างๆสอง ต้องมี "ใจ" ต้องสู้ ท้อได้แต่ไม่ถอดใจ ลุงเดช กล่าวทิ้งท้าย

­

           

       ช่วงเช้าหลังทำกิจกรรมอุ่นเครื่อง เริ่มให้เยาวชนครุ่นคิดทบทวนกับตัวเองผ่านกิจกรรม เช็ค Point 1 เปิดหู เปิดตา สื่อความรู้สึก กิจกรรมนี้เป็นเครื่องมือของพี่เลี้ยงที่ใช้ในการถอดบทเรียนโดยให้ทุกคนได้มีพื้นที่แสดงออกและบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองลงมือทำและสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้และเกิดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ เป้าหมายเพื่อให้น้องๆ ได้ทบทวนกิจกรรมที่ตนเองทำในพื้นที่ ได้ประเมินตนเองว่าได้เรียนรู้อะไร เห็นความเปลี่ยนแปลงของตนเองจากการทำโครงการ เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการและความรู้ที่น้องๆ ได้นำไปใช้ในการทำกิจกรรมและสุดท้ายให้น้องๆ ได้สะท้อนให้เห็นคุณค่าและสำนึกความเป็นพลเมืองจากการทำโครงการ

กิจกรรม เช็ค Point 1 เปิดหู เปิดตา สื่อความรู้สึก ทีมพี่เลี้ยงได้แบ่งกลุ่มย่อยโดยคละน้องๆ ทุกโครงการ และแจกกระดาษที่มีสัญลักษณ์ 6 แบบคือ 1.ร่างกาย หมายถึง เราได้ทำกิจกรรมอะไรไปแล้วบ้าง มีวิธีการอย่างไร/ใช้ความรู้อะไร และมีกิจกรรมอะไรที่ช่วยพัฒนาทักษะ ซึ่งกิจกรรมนี้ต้องการจะให้น้องๆ สื่อกิจกรรมที่ทำได้สื่อถึงความมีสำนึกพลเมืองอย่างไร 2.ปาก หมายถึง กลุ่มเป้าหมายที่ลงไปสื่อสารใครบ้าง ติดต่อสื่อสารอย่างไร คุยเรื่องอะไรบ้าง ต้องการให้น้องๆ เห็นว่าทำไมจึงกล้าที่จะสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น มีวิธีการอย่างไร 3.ตา หมายถึง ได้เห็นมุมมองหรือสิ่งดีๆ จากทำโครงการ ทั้งการทำงานร่วมกันภายในทีมและการลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ต้องการให้น้องมองเห็นว่า ก่อนทำโครงการเคยเห็นสิ่งดีๆ เหล่าดีหรือไม่และเคยใส่ใจกับสิ่งนี้หรือไม่ 4.หู หมายถึง ได้รับรู้ข้อมูลอะไรมาบ้างทั้งจากพี่เลี้ยง จากชุมชน จากเพื่อนในทีม ต้องการให้น้องตระหนักถึงการฟังอย่างลึกซึ้งและมีเป้าหมาย 5.หัวใจ หมายถึง ความรู้สึกที่เราได้รับจากการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อน พี่เลี้ยง และ คุณค่า ที่ได้จากการทำโครงการ ต้องการให้น้องๆ เช็คตัวเองว่าความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นตอนไหน และเกิดขึ้นอย่างไร และ 6.สมอง หมายถึง เราได้ฝึก วิเคราะห์ เชื่อมโยงอะไรบ้างจากการทำโครงการ ทั้งการทำงานตามแผนและทำงานร่วมกับชุมชน ต้องากรให้น้องเห็นว่าสิ่งที่ทำในโครงการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในชุมชนอย่างไร

­

­

"พี่เลี้ยง" ต้องเรียนรู้ไม่ต่างอะไรกับเยาวชน ในเวทีนี้ พี่เลี้ยงต้องทำกิจกรรมเช็ค Point 1 เปิดหู เปิดตา สื่อความรู้สึก พี่เลี้ยงที่เป็นเจ้าหน้าที่อบต. อาจารย์จากมหาวิทยาลัย โรงเรียน ผู้ใหญ่ในชุมชน เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ผอ.กองการศึกษา นักวิจัยท้องถิ่น อสม. เจ้าหน้าที่ รพ.สต. หมออนามัย ฯลฯ เหล่านี้คือพลังเสริมหนุนเยาวชน ที่ทุกคนอยู่ในชุมชนบางท่านมีภารกิจกับชุมชนโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องเยาวชน โครงการจึงมองเห็นพี่เลี้ยงคือ “มูลค่าเพิ่ม” ที่นอกจากโครงการจะมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างเยาวชนแล้ว ยังคาดหวังที่จะสร้างกลไกพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาเยาวชนด้วย ซึ่งพี่เลี้ยงเองก็ต้องร่วมเรียนรู้และลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆ กับเด็ก ปฏิบัติไป เรียนรู้ไป คุณชิษณุวัฒน์ กล่าวต้อนรับวงประชุมพี่เลี้ยง

และร่วมเติมเต็มจากลุงเดช พุ่มคชา ว่า “ความหมายของพี่เลี้ยงต้องมีองค์ประกอบดังนี้ ต้องเป็นคนที่ไม่ขึ้นกับคนอื่น รู้ว่ามีภาระหน้าที่ มีความภูมิใจ พึ่งพาได้ เกิดอะไรขึ้นโทษตนเองไว้ก่อน มีทักษะด้านต่างๆ เช่น การเขียนวิจัยเชิงคุณภาพ เกิดงานมากขึ้น พร้อมยิ้มรับไว้ก่อน และมีความงามอยู่ในตัว (ความจริง ความงาม ความดี : ป๋วย อึ๊งภากรณ์) พี่เลี้ยงจึงมีความหมายที่สำคัญที่ร่วมเป็นพลังให้บ้านของเรา

­

หลังจากน้องๆ ได้ร่วมสะท้อนโดยเขียนบนฟลิปชาร์ต พอถึงช่วงค่ำพี่ๆ จากโครงการได้สะท้อนเนื้อหาโดยหยิบมาจากข้อความการเขียนสะท้อนของน้องๆ ได้ใจความที่ซาบซึ้งใจ

                ----------------------------------------------------------------

ความรู้สึกจากผองเรา เยาวชนภาคตะวันตก

ในอดีตพวกเราไม่สนใจอะไรในชุมชนเพราะพวกเราเรียนกันเพียงอย่างเดียวไม่สนใจกิจกรรม..

แต่วันนี้พวกเรารู้สึกว่ากำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและรู้สึกภูมิใจกับชุมชนที่ตนเองอยู่ เวลาลงชุมชนพวกเรารู้สึกภูมิใจที่สามารถทำให้คนในชุมชนมีรอยยิ้มและดูมีความสุข เราก็เหนือยนะกับการลงพื้นที่ แต่มันเป็นความเหนื่อยที่มีความสุข เพราะเราเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ เริ่มใช้ใจในการทำงานหนื่อยเพียงไหนเราก็มีความสุข

และคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำนี้ คือ “ความรับผิดชอบที่เราต้องมีต่อบ้านของเรา

­

­

­

จากนั้นรุ่นพี่จากโครงการปี 1 น้องกฤษฏาพงศ์ ที่ได้นำเล่าวิธีการของ Ignite มาฝากพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้องๆ และนำเคสตัวอย่างนางพยาบาลผู้ใช้การกอดในการดูแลคนไข้ และน้องจิมมี่ พีรเมศได้มาพูด Ignite ประสบการณ์จากการทำโครงการปลุกพลังคนรักนาเกลือ จากการทำโครงการที่เริ่มต้นเหมือนทุกคน เคยถูกว่าทำงานชุ่ย จนฝ่าฟันทำงานจนเป็นที่ยอมรับ โครงการทำให้ชุมชนกับโรงเรียนเกิดความสัมพันธ์กัน นาเกลือกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน อยากให้ทำโครงการอย่างสนุกและยิ้มแย้มแจ่มใส ถ้าหากสนุกแล้วจะทำให้โครงการดีขึ้นเอง เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส และเชื่อมั่นว่าเราต้องทำได้..ปลุกพลังใจให้น้องปี 2 ได้เป็นอย่างดี

­

และปิดท้ายของค่ำคืนนี้ ที่น้องๆ ทั้ง 14 กลุ่ม ก็ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนภาพการเรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการด้วยการนำเสนอที่น่านใจทั้งการแสดงละครจำลองการลงพื้นที่ การร้องเพลงฉ่อย จำลองรายการทีวี แสดงเลียนแบบคนหน้าขาว สร้างความสนุกสนานในการรับรู้และทำให้เยาวชนกล้าแสดงออก และเรียนรู้เรื่องการนำเสนองานได้อย่างน่าสนใจ

­

­

เช้าวันที่สองพี่ๆ ให้น้อง Cheke in ได้ชวนน้องคิดโจทย์สิ่งที่ได้สัมผัสจากการเข้าร่วมกิจกรรมสองวันนี้เห็น “สำนึกพลเมือง”จากเพื่อนๆ อย่างไร ? โดยพี่ธเนศ หรือคุณชิษณุวัฒน์ ชวนน้องๆ คุยว่า คำว่าสำนึกพลเมือง แต่ยังไม่กล้าพูด ใช่หรือเปล่า เราเป็นแบบนี้หรือเปล่า แต่สิ่งที่เราต้องคิดตอนที่เราคุยอยู่ในวง มีเพื่อนหรือน้องเราเริ่มคิดเป็นห่วงคนอื่น เห็นใจคนอื่น อยากทำให้เขา โดยที่ตนเองไม่ได้มีประโยชน์กับเรื่องนั้น ลองนั่งคุยมุมนี้ดู

-ฟังเพื่อนๆ หลายกลุ่มพูดว่ารักและหวงแหนชุมชนของตนเองมากขึ้น

-มุมเกี่ยวกับโครงการที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงกับตนเองคือการมีความสามัคคีภายในกลุ่ม นอกกลุ่มเมื่อต้องทำงานด้วยกันก็แบ่งงานกันทำไม่มีเกี่ยงงาน ทำงานกันด้วยใจ ตั้งใจ และยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน จากการทำกิจกรรมมาครึ่งปี จากที่ไม่เคยเรียนรู้ ก็ได้มาเรียนรู้และทำความเข้าใจการทำกิจกรรมและโครงการไปเรื่อย

-สำนึกเกิดขึ้นจากที่น้องๆ ยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการรำ แต่พอไปสอบถามข้อมูลกับชาวบ้านจึงรู้ว่าการรำเป็นสิ่งสำคัญของชาวบ้านจึงอยากอนุรักษ์เอาไว้

-เราต้องไปลงในพื้นที่นะ มีคนดูถูกว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ทำไปก็แค่นั้น แต่ว่าความรู้สึกที่เขาพูดทำให้เรามีแรงผลักดัน ทำให้เราทำผลงานได้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่เราทำมาเราไม่ได้ทำเพื่อตนเอง เพื่อท้องถิ่นตนเองแต่เราทำมาเพื่อทุกคน เราทำเพื่อตำบล และจังหวัดของเรา

-ไม่ได้อยู่ในโครงการแต่อยากมาช่วยเพื่อนพัฒนาสังคมและชุมชนที่ตนเองอยู่ คนในกลุ่มเริ่มออกไปเรียนและออกไปทำงานช่วยพ่อแม่ หนูก็เสียสละเวลาส่วนตัวของหนูมาทำงานชุมชนกับเพื่อนๆค่ะ

นี่คือเสียงจากภายในตัวเยาวชน กับ สำนึกความเป็นพลเมือง

­

วันสุดท้ายก่อนกลับพี่เลี้ยงประจำทีม พี่เลี้ยงชุมชน เยาวชน ของแต่ละทีมได้ร่วมกันวางแผนการทำกิจกรรมกับระยะเวลาที่เหลืออีก 2 เดือน เพื่อเป็นการทบทวนโครงการตนเอง เมื่อทบทวนแล้วสามารถปรับกิจกรรมบางอย่างได้เพื่อให้ได้โครงการที่เป็นไปได้ในที่สุด โดยมีโจทย์ “หลังจากลงชุมชนแล้วน้องๆ เห็นสถานการณ์อะไรบ้าง 1.สถานการณ์สุข สิ่งดีๆ ทุกข์ 2.เห็นสถานการณ์แบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไร และ 3.ในฐานะที่เราเป็นเยาวชน เราสามารถทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่น้องๆ สะท้อนได้มองเห็นทุกข์ ทุนของชุมชนอย่างชัดเจนและเกิดความรู้สึกร่วมกับสถานการณ์ชุมชน และในฐานะเยาวชนน้องๆ ร่วมสะท้อนอยากช่วยชุมชนโดยเริ่มจากใกล้ตัวคือการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน การทำสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจ มองว่าเห็นเองจะทำอะไรต่อไปหลังจากนี้

­

                   

­

 

พบกันครั้งใหม่ เวทีนับ 5 อีกสองเดือนข้างหน้า.

­

­

พี่เลี้ยงร่วมสะท้อนในเวที ...นายสมนึก เทศอ้น พี่เลี้ยงโครงการน้ำต่อชีวิต (ห้วยสงสัย) เล่าให้ฟังว่าเมื่อเช้าตื่นขึ้นมา เดินเที่ยวในที่พักได้เห็นน้องๆ ในโครงการเราช่วยเก็บจานชามที่วางระเกะระกะในโรงอาหารสิ่งที่เห็นนี่เป็นการสะท้อนว่า “นี่คือสำนึกของพลเมือง คิดว่าโครงการนี้เปลี่ยนได้ โดยที่ไม่ใช่ทำเพื่อตนเองนะครับ แต่ทำเพื่อชุมชนโดยแท้ สิ่งที่เห็นนี้น่าจะนำมาสะท้อนให้พวกเราได้เห็นได้ว่าเราได้อะไรกลับไป”

­

คุณฐิติมา เวชพงค์ โครงการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัย (ทีมหญ้าสาน 2) “จุดหนึ่งที่เห็นชัด เห็นความเป็นพี่ เห็นความเป็นน้อง ไม่ต้องบอกว่างานนี้พี่ต้องทำ งานนี้น้องต้องทำ ชัดจากการแสดงที่ใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงในการแสดง เห็นพัฒนารุ่น 1 รุ่น 2 เห็นชัดคืออาสา เมื่อคุณคนหนึ่งอาสาที่จะทำสิ่งๆ หนึ่ง แล้วรวมกันหลายๆ คนมันก็กระเพื่อมเหมือนเมฆ เมื่อก้อนเมฆรวมกันหนักๆ ก็จะกลายเป็นฝน ประเทศไทยแห้งแล้งต้องการน้ำฝน ประเทศไทยก็เหมือนกับพวกเราที่กำลังรอ “พลเมือง” อย่างเรานั่นแหละ คุณเป็นจุดเล็ก ๆ ที่กำลังก่อเกิดและรวมตัวกันเพื่อสร้าง “พลเมือง” ที่ดีที่สุด เป็นแกนนำที่น่ารัก ค่อยๆก่อเกิดและขยับขึ้น ชื่นชมทุกคน...”

­