“เรียนรู้คลองแดน” เพื่อ "สร้างจิตสำนึกพลเมือง”

­

การประชุมเชิงปฏิบัติการ "สร้างจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชนและความเป็นชุมชนเข้มแข็งเป็นฐานการเรียนรู้" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชน ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย) โดยมีเยาวชน 10 โครงการร่วมเรียนรู้ ณ ชุมชนและตลาดริมน้ำคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม 2558 สนับสนุนโดยสงขลาฟอรั่มและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)

การเรียนรู้ชุมชนคลองแดน ได้รับการต้อนรับจากผู้ใหญ่ใจดีแกนนำในการพัฒนาชุมชนได้แก่ พระครูรัตนสุตากร เจ้าอาวาสวัดคลองแดน นายประจวบ รัตติโชติ นายเกรียงไกร อนันตพงศ์ นายสมเกียรติ หนูเนียม นายอุดม หยุ้งนา นางพเยาว์ อนุเชษฐรักษ์ นางสุพัฒรา พืชมงคล นางกานดา ทิพย์จันทร์ นายสุริยา ล่องแก้ว และนายบันเทิง คงขาว


เริ่มกิจกรรมวันแรก ช่วงบ่าย อ.พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ได้กล่าวเปิดเวทีครั้งนี้ว่า "การที่ให้น้องๆ ได้ทำกิจกรรมนั้น เพื่อให้เป็นพื้นฐานทางความคิด ถ้าหากเราทำกิจกรรมเพื่อกิจกรรม 12 เดือน ทำเสร็จก็จบกันไป แต่ถ้าน้องๆ ยังมีไฟอยู่ก็สามารถสร้างสรรค์โครงการดีๆ ต่อไปได้ ถ้าหากเราได้ติดชิพความเป็นพลเมืองในหัวใจไว้แล้ว และการที่เราใช้พื้นที่ชุมชนและตลาดริมน้ำคลองแดน เป็นพื้นที่เรียนรู้นั้นเพราะชุมชนที่นี่มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดพลังของชุมชนและเราจะได้เห็นจากการลงพื้นที่พูดคุยกับคนในชุมชน"


พระครูรัตนสุตากร เจ้าอาวาสวัดคลองแดนในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้แนะนำความเป็นชุมชนคลองแดนให้แก่เยาวชน “ชุมชนคลองแดนกำลังถูกจับตามองจากคนภายนอก จากสื่อต่างๆ ทุกคนจับจ้องมาที่นี่ ถามว่าคลองแดนมีอะไร คลองแดนไม่มีอะไรสักอย่าง เหมือนกับบ้านอื่นๆ แต่พิเศษตรงที่คลองแดน มี 2 เมือง (ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กับ ตำบลรามแก้ว อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีฯ)สามคลอง (คลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง เชื่อมต่อบรรจบกัน)มาอยู่ตรงนี้พอดี มิติคนเมื่อ 2 จังหวัดมาอยู่ใกล้ชิดกัน มาสร้างชุมชนอยู่ริมฝั่งเกือบร้อยปี มีสถาปัตยกรรมเรือนไม้ วิถีชีวิต วิถีชุมชน เติบโตมารุ่งเรืองสุดและตกต่ำสุด แต่คลองแดนยังอยู่ เราจึงรวมเรื่องนี้ให้เป็นมิติคลองแดน คุณค่าของ 3 คลอง 2 เมือง ภูมิทัศน์ จึงดึงดูดผู้คนให้มาชม ก่อนมาเกิดตรงนี้ได้มีมิติของ “ความเป็นพลเมือง” ชุมชน โรงเรียน ชาวบ้าน วัด ผลักดันคลองแดน เกิดจากจิตสำนึกของคนในชุมชนเป็นที่ตั้ง รัฐบาลส่วนกลาง รัฐบาลท้องถิ่น นักวิชาการเป็นแค่ผู้สนับสนุน ตัวขับเคลื่อนที่คิดแบบชุมชน จึงเป็นพลังขับเคลื่อนคลองแดนได้ ทุกคนมีความคิดสร้างสรรร่วมระดมกันพัฒนาบ้านเกิดอย่างเห็นผล ถ้าเรางอมือ งอเท้า รองบประมาณเมื่อไรจะมาถึงเรา เราไม่รอใคร เราเห็นคุณค่าสิ่งที่เป็นอยู่แล้วก็ลงมือทำในส่วนที่พัฒนาได้ก่อน เมื่อไม่รอใคร จึงเกิดจิตสาธารณะ จิตอาสา ทุกคนมีจิตใจที่จะทำปีนี้คลองแดนเข้าสู่ระดับโลก เป็น 1 ใน 10 ของไทย ที่สังคมสนใจลึกที่สุดคือกระบวนการที่คนกลุ่มหนึ่งตื่นขึ้นมาทำเพื่อบ้านตัวเอง ทำจากทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่นั่นเอง กล้าคิดกล้าทำบนพื้นฐานน่าจะเป็นมิติใหม่ของสังคมที่จะไปได้ ถ้ากลุ่มๆ หนึ่งลุกขึ้นมาใช้ข้อมูลพื้นฐานที่มีอยู่จะก้าวหน้ามาก กล้าหาญนำเสนอในสิ่งที่ถูกต้องน่ายกย่อง สิ่งที่ทำให้เป็นคลองแดนคือพลังของชุมชนที่ทำเพื่อบ้านตัวเองนั่นเอง”


หลังจากแบ่งเยาวชนออกเป็น 4 กลุ่มเพื่อลงพื้นที่ “เรียนรู้ความเป็นพลเมืองของคนในชุมชนคลองแดน” 4 ประเด็น คือ 1. การรวมกลุ่มของคนในชุมชน 2. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน 3.ความเป็นผู้นำของคนในชุมชน และ 4.ประวัติศาสตร์ชุมชน จากนั้นเยาวชนได้นำข้อมูลที่ได้มานำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงสู่ความเป็นพลเมือง
ตัวอย่างการเยี่ยมชมพื้นที่ของเยาวชนกลุ่มประเด็น "การรวมกลุ่มของคนในชุมชน" ได้ช่วยกันตั้งคำถามเกี่ยวข้อหัวข้อที่ได้รับมา มีลุงชาย-สมเกียรติ หนูเนียม แกนนำชุมชนตอบคำถามพาเรียนรู้ชุมชน ที่บ้านยายเลียบ วัย 78 ปี ที่บ้านจัดทำเป็นโฮมสเตย์ โจทย์เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงสู่ความเป็นพลเมือง ตอนหนึ่งลุงชายบอกว่า..."บรรพบุรุษปลูกฝังลูกหลานต้องช่วยคลองแดน ช่วยบ้านเกิด ช่วยโดยใครมีกำลังก็ช่วยกำลัง ใครมีความคิดก็ช่วยแนะนำ...การรวมกลุ่มของเราเริ่มกันทีละเล็ก ทีละน้อยและเราต้องช่วยตัวเองก่อน โดยไม่ขอความช่วยเหลือใคร..เราอยากให้คลองแดนเป็นคลองแดนอยู่เหมือนเดิม ใครจะเอาอะไรมาให้ก็ต้องให้ตามที่เราอยากได้ เช่น จะเอาสะพานปูนมาสร้างให้เราก็ไม่เอา เพราะเราคิดว่าสะพานไม้คือวิถีชีวิตชุมชน"นี่คือชุมชนคลองแดนที่เยาวชนได้ลงมาสัมผัส เรียนรู้ ซึมซับ ความเป็นพลเมืองที่เป็นตัวอย่างสะท้อน ที่บอกเล่าเรื่องราวได้ชัดเจนว่าทุกคนสามารถปลุกพลังความเป็นพลเมืองในตัวเองขึ้นมาได้ด้วยตัวของตัวเอง


และช่วงค่ำได้นำเสนอ “สิ่งที่ค้นพบจากชุมชนพลเมืองคลองแดน (Community of Citizen)“อ.พรรณิภา” ได้ให้ทุกคนได้ “สะท้อนคุณค่า” ที่ได้จากการเรียนรู้จากลุง ป้า ในชุมชนคลองแดน โดยการเล่าเรื่องความประทับใจของตนเองที่ได้พบเห็นในการลงพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนคลองแดน ทุกคนต่างสะท้อนตรงกันว่ารู้สึกประทับใจในการมีจิตสำนึกของการรักบ้านเกิดของคนในคลองแดน และความประทับใจการเป็นต้นแบบของจิตอาสาแบบลุงจวบ (นายประจวบ รัตติโชติ) ที่เป็นผู้บูรณะสะพานไม้ที่ใช้สัญจรเดิมที่กำลังจะพังลงไป โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน แต่ลงมือทำให้เห็นด้วยตัวเองคนเดียว จนคนในชุมชนเห็นถึงความตั้งใจได้มาช่วยกันสร้างสะพานไม้จนสำเร็จ กลายเป็นจุดนับหนึ่งของตลาดคลองแดนในวันนี้ พอวันที่ตลาดเปิดอย่างเป็นทางการในวันแรกและมีคนเดินสายสะพานไม้ของแก แกก็ถึงขนาดเดินยิ้มแบบมีความสุขอยู่คนเดียว

อ.กรณิภา ศรีวรเดชไพศาล จากม.ราชภัฏสงขลา พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนได้ร่วมสะท้อนว่า “จิตสำนึกพลเมืองไม่ใช่บังคับ แต่ค่อยๆ สร้างเองจากตัวเขาเอง สร้างความรู้สึกที่อยู่ในใจ ให้เบ่งบานไม่ว่าจะอยู่นอกบ้าน หรือในบ้านของตนเอง”

เริ่มเช้าวันที่ 17 มกราคม ที่คลองแดนด้วยธรรมะ เยาวชนได้ฟังข้อคิด"ในการใช้ชีวิตยุคใหม่" โดยพระครูรัตนสุตากร เจ้าอาวาสวัดคลองแดน และมีดนตรีอะคูสติกจาก"พี่หมี"บรรเลงให้ฟังเป็นระยะ เป็นการนำธรรมะกับดนตรีผนวกกันเพื่อเป็นการเข้าถึงวัยร่นยุคใหม่ วันนี้เยาวชนได้ข้อคิดดีๆ ไปใช้กับตนเองดังนี้ วัยรุ่นยุคนี้ต้องมี


1.การปะทะทางความเชื่อ ความเชื่อในยุคปัจจุบันสำคัญมากเพราะทุกคนต่างมีความเชื่อเป็นของตนเองจนเกิดการปะทะกัน การปะทะทางความเชื่อของคนต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน สังคมก็จะอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข

2.ต้องการคนกล้าวิพากษ์ วิจารณ์สังคม เยาวชนในปัจจุบันต้องกล้าแสดงความคิดเห็น โดยมีเหตุผล มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องรองรับ กล้านำเสนอตรงไปตรงมากับสาธารณะชน ความกล้าจะเป็นพลังขับเคลื่อนและเปลี่ยนสังคมในทางที่ดีและถูกต้องได้

3.การมีระเบียบวินัย การฝึกตัวเองให้มีระเบียบวินัยตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนจนกลายเป็นวิถีชีวิต จะสามารถสร้างความแตกต่างให้ตนเองในสังคมโลกได้ แต่ต้องไม่ทำแบบตึงหรือหย่อนจนเกินไป เพื่อให้มีกำลังใจที่ยังจะสามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา

4.ต้องอย่าจมกับอะไรนานเกินไป จะทำให้เสียคน เสียเวลา เช่น จมอยู่กับความรู้สึก แฟชั่น กระแสโลก มากจนเกินไป ต้องรู้จักติดเบรกและสลัดทิ้ง ต้องตัดสินใจได้ว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ นานแค่ไหนจึงควรพอแล้ว ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเสียเวลาไปเปล่าๆ

5.การมีความเพียร ความพยายาม เป็นปัจจัยของการมีชีวิตที่ทุกคนต้องมีไว้ต่อสู้ในการใช้ชีวิต ความเพียรต้องนำมาเป็นฐานของชีวิต ถ้ามีความเพียร ใช้ให้ถึงที่สุด อย่าท้อแท้ อย่าเหนื่อยหน่าย จะนำไปสู้เป้าหมายที่ตนเองวางไว้ได้โดยง่าย

6.ต้องมีหัวใจที่เข้มแข็ง จะโดนโจมตีจากสังคมยาก คนที่มีหัวใจที่เข้มแข็งคือคนที่ไม่ยึดติดความสะดวกสบาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี ไม่ฟุ้งซ่านคิดเรื่อยเปื่อย และมีมาตรฐานในความคิดที่มั่นคงจะช่วยให้อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมั่นคง

พระครูรัตนสตากร ฝากทิ้งท้าย"สิ่งทีเด็กๆ ได้ฟังในวันนี้ สามารถนำไปเป็นมุมมองที่เก็บไปใช้กับชีวิตของตนเองได้ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย”


จากนั้น เยาวชนทั้ง 10 กลุ่ม ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงค่ำและไปนำเสนอต่อในเช้าวันสุดท้าย โดยมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ เริ่มจาก


1.โครงการครูเพื่อศิษย์ กลุ่มครูอาสา ม.ราชภัฏสงขลา (ขยายรับสมัครครูอาสาสมัคร จาก 20 เป็น 36 คน) แกนนำเยาวชนเป็นนักศึกษาวิชาชีพครู มองเห็นว่าปัจจุบันนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ยังไม่สามารถนำความรู้ที่ได้มาปฏบัติจริงได้ นักศึกษาที่จบการศึกษาไม่มีคุณภาพเพราะขาดทักษะ จิตวิญญาณความเป็นครู สาเหตุจากหลักสูตรการศึกษาเน้นการเรียนภาคทฤษฏีมากกว่าภาคปฏิบัติและหลักสูตรการศึกษาขาดกระบวนการที่จะทำให้นักศึกษามีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของวิชาชีพครูที่เป็นรูปธรรม ทางกลุ่มจึงสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองและเครือข่ายเพื่อนนักศึกษาครู

เป้าหมายการเข้าค่ายฝึกสอนที่ โรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน บ้านบาโรย อ.สะเดา จ.สงขลา จัดการเรียนการสอนให้ครบทุกวิชา มีการเตรียมความพร้อม เตรียมการสอนก่อน 1 วัน เพราะไม่ใช่ครูวิชาชีพ มีการแบ่งเวรกัน 4 โมงทำกับข้าว ทำความสะอาด ทำกิจกรรมสามวัน มีการจัดการเรียนการสอน มีกิจกรรมฐานการเรียนรู้ โดยการคละนักเรียนทั้งโรงเรียน มีการสรุปกิจกรรมในการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง เสียงสะท้อนส่วนหนึ่ง“ความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับ ชั้นปีที่ 1 ไม่เคยออกไปสอน สิ่งที่ได้มาที่เราไปออกค่ายได้ลงมือทำปฏิบัติจริงได้นำตัวตนของการเป็นครูออกมาใช้จริง เรียนในมหาวิทยาลัยจะไม่ได้เรียนรู้แบบนี้ โครงการนี้เปรียบเสมือนขั้นบันไดขั้นหนึ่งไปสู่ครูที่ดี”

2 โครงการนายหนังพลเมือง กลุ่มตะลุงพันธุ์ใหม่ สานใจเยาวชน ม.ราชภัฏสงขลา

กลุ่มเยาวชนมีแนวคิดใช้หนังตะลุง ซึ่งมีคุณค่าทางจิตวิญญาณและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้คนในท้องถิ่นภาคใต้มาแต่ครั้งอดีต มาสร้างสรรค์และพัฒนาให้สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่และใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงานให้กับเยาวชนและคนทั่วไป โดยทางแกนนำและเยาวชนที่มีความสนใจในหนังตะลุงมาอบรมให้ความรู้เรื่องยาเสพติด ประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรม จากนั้นนำเรื่องราวที่ศึกษามาผูกเป็นหนังตะลุง โดยการแต่งกลอง บทเจรจา ตลก ผ่านการแสดงหนังตะลุง เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกฝังให้เยาวชนและคนในชุมชนที่เราไปแสดงและบันทึกเป็นสื่อวิดีโอ เพื่อทำการเผยแพร่แก่องค์กรต่างๆ

เยาวชนสะท้อนว่า “ถือว่าเป็นหน้าที่พลเมืองในการให้ความรู้เรื่อง ยาเสพติด คอรัปชั่น และเรื่องประชาธิปไตย โดยถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ซึมซับ หนังตะลุงอยู่รอดได้มี 3 องค์ประกอบหลัก นายหนัง เจ้าภาพ และคนดู คุณค่าได้รับความรู้ความเข้าใจ นายหนังก่อนมาแสดงได้ต้องศึกษาข้อมูล ได้ฝึกให้มีความชำนาญในการแสดงหนังตะลุง มีความรับผิดชอบ แก้ไขปัญหา และทำงานเป็นทีม นายหนังต้องรับฟังคนอื่นเพื่อมาปรับปรุงงาน เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้นำสิ่งดีๆ ให้สังคม นายหนังต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะแสดงย่างแท้จริง และทันสมัยอยู่เสมอ สรุปผลการทำงานแต่ละครั้งเพื่อนำไปแก้ไขข้อผิดพลาด”

3.โครงการเฝ้าระวังหาดสมิหลากรณีศึกษาเรืออรพิณและกรณีอื่นๆ กลุ่ม The Sand ร.ร.เทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก)

เนื่องจากชายหาดสมิหลาฝั่งแหลมสนอ่อน มีเรืออรพิณ 4 มาเกยตื้น ทำให้ชายหาดบริเวณดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลง โดยฝั่งทิศใต้ของเรือ เกิดการทับถมของตะกอนทราย ส่วนทิศเหนือของเรือเกิดการเว้าแหว่งของชายฝั่ง ทำให้กลุ่ม The Sandต้องการศึกษาและติดตามผลกระทบจากการกู้เรือลำดังกล่าว และจากผลการศึกษาและติดตามผลกระทบการกู้เรือนำมารวบรวมและเผยแพร่ โดยกลุ่มคาดหวังว่าผลการศึกษาสามารถเป็นแนวทางในการแก้ปัญหากรณีเรือเกยหาดและทำให้สังคมเข้าใจระบบนิเวศน์ชายหาด เข้าใจปัญหาการกัดเซาะชายหาดที่แท้จริง

กลุ่มได้ดำเนินการศึกษาการเปลี่ยนแปลง ติดตาม และเฝ้าระวังชายหาด โดยการเก็บข้อมูลความลาดชันของชายหาด วัดหน้าตัดชายหาด เก็บตัวอย่างตะกอนชายหาด และถ่ายภาพชายหาดเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทุกๆ วันเสาร์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน การดำเนินงานช่วงแรก มีผู้เชี่ยวชาญ คือ ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชายหาดคอยให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องการใช้เครื่องมือและการเก็บข้อมูลการติดตามชายหาด และส่งข้อมูลไปให้นักวิชาการประมวลขั้นต่อไป “การทำงานทำให้ได้เรียนรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ เช่นการวัดหาด การสังเกตการเปลี่ยนแปลงของชายหาด ความสัมพันธ์ของคลื่นกับชายหาด ทำให้กลุ่มเข้าใจปัญหาการกัดเซาะชายหาดได้อย่างดียิ่งขึ้น”

อ.กรณิภา ศรีวรเดชไพศาล ให้ความเห็นว่า“มองว่าเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาเชิงลึกมากกว่า ที่ทางหน่วยงานราชการ หรือเทศบาบที่รับผิดชอบทำ จะทำให้อย่างไรให้เทศบาลตำบลนั้นได้เข้ามาช่วยร่วมกับทีมเด็กๆ ขอชื่นชมและติดตามโครงการนี้ต่อไป เพราะเริ่มเห็นทิศทางแก้ปัญหาแล้ว หวังว่าเทศบาลจะเห็นและเปิดใจเพื่อช่วยแก้ปัญหาร่วมกันทั้งหมด”

4.โครงการขยะเป็นทอง กลุ่มสิงห์สมิหลา ม.ราชภัฏสงขลา

หมู่บ้านล่องมุด ต.คลองทราย อ.นาทวี จ.สงขลา บริบททั่วไป ชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนยางและอาชีพเสริมคือ ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำให้มีขยะจากการประกอบอาชีพ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมในชุมชนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่ถูกวิธี แกนนำเยาวชน จึงได้ดำเนินกิจกรรมตั้งแต่พูดคุยกับผู้นำชุมชนให้เห็นความสำคัญของการจัดการขยะ จัดทำถังขยะจากขวดพลาสติกเพื่อให้ชุมชนเห็นการนำขยะไปใช้ต่อได้ ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและไม้

เยาวชนสะท้อนว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้โครงการอันดับแรกคือการยอมรับตนเอง ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด ตอนแรกเราทำที่ทิ้งขยะสร้างจากขวดน้ำพลาสติกและทำตัวโครงเป็นเหล็ก ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ แต่พอมาที่คลองแดนเห็นที่ทิ้งขยะแค่เอาไม้ 4 เหลี่ยมตอกตะปูและใส่ถุงดำก็ใช้ได้แล้ว ก็เลยคิดว่าจะนำไปพัฒนาโครงการได้ ทำให้ได้คิดว่าเราไม่ต้องหาของจากภายนอกชุมชนมาทำ ภายในชุมชนเองก็มีค่ะ”

ป้าหนู - พรรณิภา ให้ความเห็นว่า“เห็นพลังของความเป็นหญิงเหล็ก ตั้งเป้าว่าคนทำงานขยะต้องมีความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ถ้าเขาทำสิ่งนี้แล้วตัวเขาเปลี่ยน ปีที่แล้วมีธนาคารขยะเป็นแฟชั่น แต่นิสัยคนทำโครงการยังทิ้งไม่เป็นที่ เราจะมองหาคนที่ผ่าถึงใจตัวเองได้ เริ่มจากคนทำกิจกรรม ชาวบ้านที่ทำกิจกรรม ถ้าแค่รวมตัวเก็บขยะหายแค่นั้น ขยะก็ยังไม่หาย อย่างพื้นที่ตัวอย่าง ต ปริก ที่ยังมีแผนที่ต้องพัฒนาความสำเร็จต่อไป อาทิ ขยะที่ยังเหลืออยู่และจัดการไม่ได้ จากภูเขาสามลูก เหลือภูเขาหนึ่งลูก แต่ก็ต้องจัดการต่อไป เราพยายามผนึกเรื่องทีมทำงาน ที่ทำงานเรื่องเดียวกัน เป็นต้นแบบ ช่วยเหลือกัน ซึ่งต่างประเทศที่พัฒนามักมองหาประเทศที่ไม่กระตือรือร้นจัดการกับปัญหาบ้านตัวเอง เขาจะนำขยะมาทิ้งบ้านเราได้ง่ายๆ เพราะเรายังมีคนที่เดียวดายกับปัญหาอีกเยอะ”

5.โครงการเที่ยวทั่วท่อง กลุ่มช้างแคระทัวร์ ชุมชนคลองแดน

เยาวชนเป็นแกนนำในชุมชนคลองแดน มองเห็นปัญหาชุมชนยังขาดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงคิดจะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทางยนต์ตามรอยภูมิปัญญาคนคลองแดน เพื่อที่จะทำให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญและคุณค่าของสถานที่ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาและวิถีชีวิต อีกทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวและนำรายได้เข้าสู่ชุมชน ทางกลุ่มได้มีกิจกรรมสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว เช่น ทุ่งข้าวรวงทอง ดงตาล100 ปี หอฉันเก่าแก่ที่วัดบางหรอด เป็นต้น เยาวชนสะท้อนปัญหาการทำงาน “พวกเราบางคนเรียนอยู่นอกพื้นที่ ทำให้การทำงานล่าช้า และการรวมตัวยาก ก็พยายามสานต่องานให้สำเร็จจนลงสำรวจพื้นที่ได้ แต่ประสบการณ์ที่เราได้รับในการไปสำรวจพื้นที่ท่องเที่ยวทำให้รู้ว่าบ้านเกิดเรามีอะไรบ้าง”

6.โครงการ Media Save Khlong Dan กลุ่มลูกขวานสื่อ

เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นเยาวชนในคลองแดน และมุ่งทำเรื่องการสื่อสารให้คนคลองแดนและคนภายนอกได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคลองแดนได้อย่างถูกต้องและมีความเข้าใจชุมชนมากขึ้น ทางกลุ่มจึงได้รวบรวมข้อมูล ประวัติศาสตร์ชุมชนจากคนเฒ่าคนแก่ ผู้รู้ในชุมชน และฝึกการเขียนรายงานลงบนเฟสบุ๊ค ติดต่อวิทยากรในชุมชนเพื่อสอนการตัดต่อวิดีโอ และลงมือถ่ายทำสื่อ “พวกเราได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือกันระหว่างพวกเราสามกลุ่ม(กลุ่มภูตสามคลอง กลุ่มช้ายแคระ) ได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายทำวิดีโอเพิ่มขึ้นได้ประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้น”
“อ.กรณิภา ศรีวรเดชไพศาล” จากม.ราชภัฏสงขลา ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะ การนำเสนอสื่อให้คนภายนอกแล้วนั้นเป็นเรื่องดี แต่ควรจะนำเสนอให้คนภายในชุมชนรับรู้ด้วยเพราะเป็นเรื่องสำคัญในการสื่อสารให้รู้ข้อมูลนั้นเท่าๆ กัน

7.โครงการเติมสีแต้มใจน้อง กลุ่มต้นกล้ามนุษยศาสตร์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช

โรงเรียนศูนย์เด็กเล็กวัดขรัวช่วย เป็นโรงเรียนปฐมวัยที่มีสภาพภูมิทัศน์ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการเด็กเล็ก เนื่องจากโรงเรียนขาดงบประมาณ องค์ความรู้และบุคลากรในการพัฒนาเด็กเล็ก เยาวชนกลุ่มต้นกล้ามนุษยศาสตร์จึงคิดจะพัฒนาภูมิทัศน์ของโรงเรียน โดยการ โดยการสืบค้น หาสื่อที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กในแต่ละด้าน ซึ่งประกอบด้วย สมอง ร่างกาย จิตใจ จากการสืบค้นเยาวชนพบว่าการที่จะจัดทำสื่อต่างๆ ให้หนุนเสริมพัฒนาการของเด็กๆ เป็นด้านๆ เป็นเรื่องยาก แกนนำเยาวชนจึงจัดทำสื่อที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านไปพร้อมๆ กัน จึงนำข้อมูลไปเสนอให้ชุมชนพิจารณาและเห็นความสำคัญของศูนย์เด็กเล็กและได้มีส่วนร่วมดูแลกันต่อไป มีการจัดกิจกรรมปรับภูมิทัศน์โดยการทาสี วาดสื่อที่ได้จากการร่วมกันคิด ร่วมกันทำระหว่างแกนนำเยาวชนและชุมชน “ทำให้พวกเราได้เห็นถึงน้ำใจของเพื่อนในกลุ่มและคนในชุมชน ดีใจที่ชุมชนเห็นความสำคัญและมาร่วมทำกิจกรรมกัน”

8.โครงการล่องนาวา ภูมิปัญญาคลองแดน กลุ่มภูตสามคลอง ชุมชนคลองแดน


เป็นเยาวชนในชุมชนคลองแดน ที่มองเห็นปัญหาของระบบนิเวศน์ทางน้ำที่เสื่อมโทรม เกิดจากนักท่องเที่ยวทิ้งขยะลงในคลอง อีกทั้งนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนไม่เห็นคุณค่าและประวัติศาสตร์ของริมน้ำสองฝั่งคลอง จึงได้จัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ และศึกษาการใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยทางเรือที่ถูกวิธี และนำเสนอข้อมูลและแนวทางการแก้ไขกับชาวบ้าน “มีปัญหากลุ่มเราไม่ค่อยได้อยู่ในพื้นที่ต้องออกไปเรียน ก็ตกลงกันว่าใครอยู่ก็ทำกิจกรรมไป สลับกันทำ ช่วยกันทำ”

9.โครงการมหัศจรรย์โลกยิ้ม กลุ่มคนสร้างป่า ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช


แกนนำเยาวชนมองเห็นปัญหาของป่าชุมชน บ้านท่างิ้ว ที่มีความเสื่อมโทรม เช่นดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทางกลุ่มคนสร้างป่า มีแนวคิดที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชน โดยการศึกษาป่าชุมชน ศึกษาคุณค่าประโยชน์ ระบบนิเวศน์ป่า และจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมโดยการเข้าร่วมประชุมกับชุมชน ทุกวันที่ 8 ของเดือน สิ่งที่เยาวชนได้ฝึกได้สะท้อนออกมาว่า “พวกเราทำฝึกการทำงานเป็นทีม รู้จักการแบ่งภาระหน้าที่ในการทำงานตามที่แต่ละคนถนัด อาทิ การประสานงานชุมชน การประสานติดต่อขอพันธุ์ไม้ และยังได้ฝึกทำงานร่วมกับชุมชนด้วย”

10.โครงการ ค.ส.ช. (คืนความสุขให้ชุมชนช้างกลาง) กลุ่มคันทรี่เกลอ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช

ชุมชนวัดจันดี ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนพุทธ ที่มีวัดพระธาตุที่มีชื่อเสียง มีวัฒนธรรมชุมชนที่ดีงามมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันค่านิยมของคนในชุมชนเปลี่ยนไป เกิดอบายมุขมากขึ้นทุกวัน เยาวชนไม่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด มองข้ามคุณค่าในชุมชน เยาวชนกลุ่มคันทรีเกลอ จึงร่วมกันคิดทำโครงการขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนในชุมชนได้คิดถึงชุมชน คิดถึงส่วนรวม เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนตัวเอง โดยการรับสมัครเยาวชนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง โดยมีครูในโรงเรียนเป็นผู้สรรหา รูปแบบการจัดกิจกรรมเน้นการพัฒนาในด้านทักษะชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ได้เน้นเรื่องวิชากรตามหลักสูตรของโรงเรียน ทำให้ประสบปัญหาความไม่เข้าใจของครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ไม่ยอมให้แกนนำเยาวชนจัดกิจกรรมในโรงเรียนอีกต่อไป แต่ด้วยเสียงสะท้อนของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมว่าต้องการให้พี่ๆ มาจัดกิจกรรมต่อไป ทำให้แกนนำเยาวชนมีพลังทำงานต่อไปโดยเปลี่ยนการประสานงานจากโรงเรียนเป็นชุมชนแทน

นี่คือทั้ง 10 โครงการเยาวชน ที่น่าปรบมือให้ ที่สงขลาฟอรั่มได้ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือเพื่อฝึกนิสัยเยาวชน เพื่อให้เติบโตเป็น Active Citizen ในภายภาคหน้า เพื่อจะได้มาร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองของตนต่อไป