อากาศที่ร้อนขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อุทกภัยที่ผ่านมา หรือปัญหาภัยแล้งตามแต่ละภาคต่างๆ ในประเทศไทย ล้วนมีผลมาจากการกระทำของคนที่ดำเนินกิจกรรมโดยไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผลกระทบจากการทำลายธรรมชาตินั้นย้อนกลับมาสร้างความเดือดร้อนต่อการดำรงชีพของมนุษย์ในที่สุด
ปัญหาสิ่งแวดล้อมคงไม่มีใครที่จะสามารถแก้ไขทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อมที่เสียไปให้กลับคืนสู่สภาพที่ดีขึ้นได้ นอกจากว่าทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้ ซึ่งปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่เองกลับเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อให้คงอยู่ตลอดไป
เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับศูนย์อบรมวนศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการ “เยาวชนต้นกล้า GREEN Generation พลังสร้างสรรค์เพื่อดิน น้ำ ป่า” ขึ้น โดยมีน้องๆ ตัวแทนเยาวชนมาชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการรักษ์ธรรมชาติและการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
คุณสมหญิง สุนทรวงษ์ ผู้ประสานงานแผนงานประเทศไทย RECOFTC กล่าวว่า งานเยาวชนต้นกล้า GREEN Generation พลังสร้างสรรค์เพื่อดิน น้ำ ป่า เกิดขึ้นเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเยาวชนในท้องถิ่นชนบทที่อาศัยและพึ่งพาป่า ทั้งที่อยู่ในและรอบๆ ป่ากับเยาวชนคนเมือง เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่มีอายุระหว่าง 16-22 ปี ได้ส่งผ่านความคิดของพวกเขาในการเป็นตัวแทนและเป็นกระบอกเสียงเพื่อกระตุ้นให้เยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนในเมือง ได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่ออนาคตของทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนของเรา
การจัดงานครั้งนี้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “พลังเยาวชนพันธุ์ใหม่ ใส่ใจรักษ์โลก” ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า รวมทั้งการปลูกผักในเมืองอีกด้วย
นายพีระพงศ์ ดวงดี (น้องพี) ชมรมเกสรลำพู, กรุงเทพมหานคร เผยว่า ชมรมเกสรลำพูเป็นกลุ่มเยาวชนที่ร่วมกันทำจิตอาสา โดยหันมาทำเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพปัญหาของคลองบางลำพูที่เน่าเหม็น สกปรก เริ่มจากพูดคุยกับน้องๆ และคนในชุมชนช่วยกันรณรงค์ ประกอบกับมีโครงการ “หน้าบ้านน่ามอง หลังบ้านน่ามอง” ที่ผู้ใหญ่ทำ จึงช่วยกันออกสำรวจคลอง เก็บขยะ และรวมกลุ่มเยาวชนที่ทำน้ำหมักอีเอ็มบอลมาช่วยกันปรับสภาพน้ำ ปัจจุบันน้ำในคลองบาลำพูก็มีสภาพดีขึ้นกว่าเก่า
นางสาวศิรินญา บุญอาจ (น้องเนส) กลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า เนื่องจากบ้านแบกหมู่บ้านใกล้เคียงมีอาชีพทำการเกษตร และใช้สารเคมีกับพืชที่ปลูกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบกับดิน มีสารเคมีสะสม อาจก่อให้เกิดดินเป็นพิษ จึงคิดว่าแล้วคนรุ่นหลังจะอยู่กันอย่างไร โดยเริ่มจากสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเพื่อนๆ กลายเป็นเครือข่ายกลุ่มเยาวชนทั้งสิ้น 78 คน บอกต่อถึงพิษภัยที่เกิดจากการใช้สารเคมี และทำการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการนำดินไปตรวจว่ามีสารเคมีที่จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง แล้วจึงหาวิธีที่จะแก้ไขปรับปรุงดินต่อไป
นางสาวกุสุมา คำพิมพ์ (น้องเมย์) กลุ่มเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่ สานใจฟื้นฟูป่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ชุมชนที่ตนเองอาศัยนั้นอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า จึงรวมตัวกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันจัดการเรื่องทรัพยากร และเผยแพร่ ถ่ายทอด ว่าคนที่อยู่กับป่าก็ทำเรื่องการอนุรักษ์รักษาป่าเช่นกัน โดยกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้ใหญ่ก็เช่น การทำแนวกันไฟ ศูนย์เรียนรู้บ้านดิน คืนกล้วยไม้สู่ป่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนกิจกรรมที่เยาวชนร่วมกันทำก็เช่น การทำค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม การปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมในชุมชน การเก็บขยะ รวมถึงการระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการมา 5 ปีแล้ว
ด้านนายนคร ลิมปคุปตถาวร (ปริ๊นซ์ เจ้าชายผัก) กลุ่มสวนผักคนเมือง เปิดเผยว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องการปลูกผักในเมืองนั้น มาจากที่ตนเองได้ศึกษามาทางด้านเกษตรอยู่แล้ว และมีโอกาสได้ไปฝึกงานเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่ต่างประเทศ ซึ่งมีการทำแปลงเกษตรแบบผสมผสาน ไม่ได้ใช้สารเคมี จึงนำความรู้ที่ได้รับมาปฏิบัติในชมรมมหาวิทยาลัย และต่อยอดมาทำการวิจัยกับชาวบ้านที่ทำอาชีพเกษตรกรรม จนปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ในโครงการสวนผักคนเมือง ที่ให้ความรู้แนะนำว่าคนที่อยู่ในเมืองมีพื้นที่จำกัดก็สามารถปลูกผักกินเองได้ แถมยังปลอดภัยจากสารเคมี และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ โดยคนเมืองเองนั้นก็หันมาสนใจเริ่มปลูกผักในพื้นที่อาศัยของตนเองมากขึ้น
นอกจากเวทีเสวนาดังกล่าวแล้ว ในงาน GREEN Generation ยังมีการแสดงนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจในการรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมเสริมสร้างความสำคัญของคนเมืองสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว การแสดงละครจากเยาวชนในเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าในป่าใหญ่ ภาพยนตร์สั้นนำเสนอเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อม และมินิคอนเสิร์ตจากเยาวชนคนดนตรีมาขับกล่อมสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ร่วมงาน
หวังว่ากิจกรรมงานเยาวชนต้นกล้า GREEN Generation พลังสร้างสรรค์เพื่อดิน น้ำ ป่า สามารถเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนเกิดความรัก เกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ หันกลับมาดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเหมือนดังเช่นกลุ่มเด็กๆ เยาวชนเหล่านี้บ้าง โลกของเราก็คงจะมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ไม่ประสบปัญหาอันเกิดจากธรรมชาติ รวมถึงมีทรัพยากรต่างๆ ที่ยั่งยืนไปอีกนานเท่านาน.