การพัฒนาเยาวชนต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืนโดยเฉพาะต้องมีทักษะการเป็น “พี่เลี้ยง” หรือ “โค้ช” ที่ดีด้วย หลักสูตรนักถักทอชุมชน จึงเสริมทักษะด้านนี้อย่างเข้มข้น ในเวทีครั้งที่ 4 “อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์” จึงเติมเครื่องมือเรื่องนี้ลงไป เริ่มตั้งแต่กำหนดให้มีโรดแมพการทำโครงงานของเยาวชน การนำ “ปอเช - ปลัดสุรศักดิ์ สิงห์หาร” จากเทศบาลเมืองแก และ “จินตนา “ นักถักทอชุมชนรุ่นพี่ มาเล่าประสบการณ์ในการทำค่ายเพื่อพัฒนาเยาวชนอีกด้วย
สำหรับเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มแนวคิดเครื่องมือในการทำงานกับชุมชน โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว เวทีครั้งที่ 4 พื้นที่โซนสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2557 มี 5 พื้นที่เข้าร่วมได้แก่ อบต.บ้านไทร. อ.ปราสาทอบต.โชกเหนือ อ.ลำดวนอบต.เพี้ยราม อ.เมือง เทศบาลตำบลกันตวจระมวล อ.ปราสาท อบต.โคกยาง อ.ปราสาท โดยมี อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข(สรส.) ร่วมเติมทักษะต่างๆ สำหรับหลักสูตรนักถักทอชุมชน ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข(สรส.) สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)
นายเหิน จุไรย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไทร กล่าวเปิดเวทีครั้งนี้ว่า “ขอให้เก็บเกี่ยวความรู้ครั้งนี้เพื่อนำมาพัฒนาตำบลของตนเอง” ส่วนนายชาติชาญ กล้าเชียว ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไทร กล่าวว่า “เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะได้มาเรียนรู้ ให้ทุกท่านได้นำความรู้ความรู้ ความตั้งใจ ตั้งข้อสังเกตุให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไรต้องมีการติดตามให้ทราบผลด้วย”
นางสุทิน ศิรินคร ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวเปิดงานว่า “มูลนิธิสยามกัมมาจลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นคนคุณภาพ หัวใจอยู่ที่การพัฒนาท้องถิ่น หวังว่าเพื่อนๆ นักถักทอฯ คงจะได้รับความรู้จากท่านอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ซึ่งเป็นวิทยาการที่เชี่ยวชาญด้านปกครองส่วนท้องถิ่น หวังว่าทุกท่านจะได้รับความรู้ ทักษะ ปรับทัศนคติ โดยเฉพาะหลักในการทำงานร่วมกับชุมชน เพราะการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความสำคัญมากกับการพัฒนา ถ้าสามารถทำใหห้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันได้ จะกลายเป็นเบ้าหลวมทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและยั่งยืน”
อ.ทรงพล เจตนาวาณิชย์ ได้เปิดเวทีกล่าวว่า “อยากเห็นเยาวชนมีนิสัย 2 อย่าง คือเป็นเยาวชนมีนิสัยพอเพียง เป็นคนที่จัดการความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นพลเมือง ดังนั้นเราจึงต้องฝึกทักษะด้านต่างๆ บ่มเพาะนิสัยเด็กเสียใหม่”
ภาพรวมวันแรก อาจารย์ทรงพล ได้ให้นักถักทอฯ เริ่มคิดทำกิจกรรมให้เด็กได้โชว์ทักษะของตนเองในวันเด็ก วิธีคิดแบบโรดแมพคือปักธงวันเด็กและถอยหลังกลับมา โดยมีการบ้านให้กลับไปดูแกนนำเยาวชนในแต่ละพื้นที่ ว่าจะจับแกนนำเยาวชนกลุ่มไหน และจะโค้ชเด็กอย่างไร ขั้นตอนของโรดแมพในการพัฒนาเยาวชน เป้าหมายต้องการให้เยาวชนมีผลงาน โดยผ่านกิจกรรมมี 3 รูปแบบ คือ 1.การนำเสนอผลการสืบค้นชุมชน มีวัตถุประสงค์ต้องการให้เด็กหันมารู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้น 2.แกนนำเยาวชนสามารถทำฐานการเรียนรู้ให้กับน้องๆได้ และ3.โครงงานพัฒนาชุมชน โครงการที่เป็นปัญหาของชุมชนร่วมกันทำ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
ตัวอย่างวิธีการคัดเลือกแกนนำเยาวชนได้แก่ น.ส.พัชรี สายวงษ์ (ปุ๊) นักพัฒนาชุมชนจากอบต.บ้านไทร กล่าวว่า” อบต.จะทำการคัดเลือกหมู่บ้านละ 5 คน 8 หมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ครู และเพื่อนบอกเพื่อน โน้มน้าวใจ และ สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ดูช่วงเวลาของเด็กด้วยว่าพร้อมไหมและต้องไม่ไปสร้างภาระในการทำงานให้เยาวชนอีก ”
ในวันที่สอง ได้มี คุณวราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน วิทยากรกระบวนการ ได้มาเล่าวิธีการพัฒนาแกนนำเยาวชนเพื่อให้เห็นรูปธรรม และให้มีความชัดเจนขึ้น โดยได้ฝึกฝนแกนนำเยาวชนให้กับ อบต.หนองสนิท เทศบาลตำบลเมืองแก และ อบต.หนองอียอ
“ค่ายที่เราจัดมีกระบวนการสอนเรื่อง รู้จักตนเอง รู้จักเป้าหมายชีวิตให้เด็กๆ ทำกิจกรรมสมุดทำมือ ทำกระเป๋า มีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเบื่อและอยากกลับบ้าน เด็กได้ฝึกสมาธิ การจดจ่อกับชิ้นงาน ความใส่ใจและภาคภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ เป็นศักยภาพความเป็นมนุษย์ มีกิจกรรมกลุ่มฐาน กิจกรรมกระเตงมะนาว เพื่อให้เด็กมีเพื่อนคู่หู มีเพื่อนเป็นการฝึกสมาธิ กิจกรรมตีบอล สร้างความสนุก และกดดันนิดๆ เพื่อให้เด็กอยากทำ จากนั้นถอดบทเรียน มีการใช้กิจกรรมโยคะทำให้เด็กได้กลับมาอยู่กับตัวเอง ฝึกสติและเคลื่อนไหว โยคะคู่ให้เด็กได้มีสัมพันธ์กัน กิจกรรมวาดภาพให้มองตัวเอง ใน 20 ปี ทำให้เด็กรู้จักตัวเอง คิดว่าการทำงานพัฒนาเด็กผู้ใหญ่ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไป รอการพัฒนาการของพวกเขาจนกว่าจะพร้อม เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะแสดงออกมาได้ในที่สุด”
ในครั้งนี้ได้มีปลัดและนักถักทอชุมชนรุ่นพี่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างแรงบันดาล คนแรก นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม ได้มาเล่าประสบการณ์การคัดเลือกแกนนำเยาวชนในเมืองแกว่า “ได้นำความรู้ที่ได้จากอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ไปพัฒนามีการจัดค่ายเยาวชนและทำโครงงาน ในอดีตทำไม่สำเร็จเพราะทำแล้วไม่ต่อเนื่อง จากนั้นได้ปรับให้มีกลไกหมู่บ้านและล่าสุดที่จัดค่ายเยาวชนได้ให้เจ้าหน้าที่ของเมืองแกลงไปเป็นพี่เลี้ยงด้วย ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”
นางจินตนา แกล้วกล้า หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองสนิท อ.จอมพระ เล่าประสบการณ์ว่า“ตอนแรกที่มาจับงานเด็กคิดว่าเป็นงานที่ไกลตัว เพราะเป็นคนที่ไม่รักเด็ก คิดเสมอการทำงานกับเด็ก เยาวชน ค่อนข้างยาก ยิ่งเด็กแว๊น เด็กเกเร ด้วยแล้ว เราก็เริ่มจากการเปลี่ยนตัวเองก่อน ก่อนอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ที่หนองสนิทก็เริ่มจัดให้มีทีมกรรมการหมู่บ้าน ให้การสนับสนุนให้การคัดเลือกแกนนำเยาวชน ก่อนหน้านี้ทำเป็นฐานการเรียนรู้ เช่นขี่จักรยานแรลลี่เป็นหมู่บ้าน และถอดบทเรียนกัน ทั้งผู้ใหญ่ วิทยากรทำค่ายเยาวชนสองค่ายกับทีมผู้นำในหมู่บ้าน สรุปกิจกรรมไม่ตอบโจทย์ทำเป็นอีเว้นท์ คิดว่ายังมีอะไรที่แก้ไม่ตก ปัญหาที่ยังมีอยู่น้องๆ ออกจากโรงเรียนกลางคั่น ท้องก่อนวัย สำคัญน้องๆ ที่เรียนอยู่ก็ไปเข้ากับเด็กนอกระบบ ก็พอดีเข้าร่วมหลักสูตรนี้ ก็ให้น้องๆ ไปร่วมค่ายกับพี่อ้อย (วราภรณ์ หลวงมณี) ที่ขอนแก่น เยาวชนที่ไปเข้าค่าย กลับมาสามารถมาต่อยอดและเป็นรุ่นพี่ได้ ทำให้มีกิจกรรมที่มีความต่อเนื่อง เริ่มให้กิจกรรมน้องๆ ทำเริ่มจากปฏิทินงานที่มีอยู่ในชุมชน ให้น้องๆ ให้มีบทบาทในการเป็นจ้าภาพงาน เช่น งานวันเด็ก บุญบั้งไฟ ผู้สูงอายุ ให้น้องๆ มีบทบาทในการจัดการ ความสมบูรณ์ตอนนี้ น้องยังไม่เป็นเจ้าของเต็มที่นัก เพราะยังมีผู้ใหญ่ช่วยคิดด้วย แต่คิดว่าก็เริ่มที่จะเข้าที่เข้าทางบ้างแล้ว ชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญ สัมผัสได้ว่าหมู่บ้านไหนขาดน้องๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมจะรู้สึกว่าเชยมาก
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สำเร็จคือกลไกในชุมชนมีการจัดประชุมไม่น้อยกว่าสามครั้ง ต้องพูดคุยก่อนเริ่มงาน ลักษณะการประชุมจากเรามาพูดให้ฟัง ใช้กระบวนการที่พี่อ้อยทำกับเด็กๆ ให้ทุกคนมีโอกาสพูด เราเป็นคนเชื่อมโยงความคิด และต่อยอดกันไป มีเสนอความคิดเห็นและสรุปประเด็นและใครทำ ให้เขาได้ออกแบบกันเอง จะไปประสานกับเด็กอย่างไรให้คิดเอง ทำเอง จากนั้นอบต.ก็ไปติดตามการทำงาน ทำเป็นคำสั่งให้นายกออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่อบต. ทุกคนออกฐานการเรียนรู้ด้วยเพราะจะทำให้การเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกัน และจัดให้มีการประชุมกับผู้ใหญ่ (หัวหน้างาน) เราต้องประชุมด้วยว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร กิจกรรมเด็กจัดเป็นปีที่ 3 แล้วยังต้องเรียนรู้ต่อว่าจะทำอย่างไรต่อ โครงงานที่น้องๆ ทำยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ตัวเองยังต้องเก็บประสบการณ์ในการเป็นพี่เลี้ยง และต้องเตรียม”พี่เลี้ยง” ของน้องๆ ให้ให้พร้อมด้วย สำหรับพี่เลี้ยงให้น้องๆ เลือกกันเองจากหมู่บ้านที่คิดว่าตัวเองสามารถปรึกษาได้”
นักถักทอชุมชน กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกชื่นชมนักถักทอชุมชนรุ่นพี่ที่บุกเบิกจนเห็นภาพว่าสามารถจะขับเคลื่อนงานอย่างไรให้สำเร็จได้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ในการไปปรับใช้กับงานของตนเองต่อไป
ในวันสุดท้าย อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ให้ทักษะในการดำเนินขั้นตอนการขับเคลื่อนให้กลไกทำงานให้สัมฤทธ์ผล มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.จัดเวทีพูดคยทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ใจดี เป้าหมายคือให้ผู้ใหญ่ใจดีเข้าใจและเห็นความสำคัญกับสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนเยาวชน วิธีการที่ทำให้เขาเข้าใจต้องทำแบบไม่เป็นทางการ ให้มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย พูดคุยหัวข้อไม่เป็นทางการเป็นการนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ชุดคำถามมีความสำคัญ เช่นแต่ละคนกังวลเรื่องลูกหลานตัวเองไหม อยากให้ลูกหลานตัวเองเป็นอย่างไรในอนาคตทั้งหน้าที่ การงาน นิสัย มั่นใจหรือไม่ว่าลูกตัวเองจะเป็นอย่างที่ตัวเองคิด (ไม่มั่นใจ /ทำไมไม่มั่นใจ) ขณะนี้ลูกของตัวเองนิสัยดี หรือไม่ดี เกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากไหนให้ใช้วิธีคุย แต่ไม่ใช้วิธีต่อว่ากัน ขณะเดียวกันเราก็ไปกระตุ้นตัวเด็กอีกครั้ง เป็นการรู้ข้อมูลผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อมาจัดการได้ถูกต้อง ถ้าไม่มีข้อมูลความรู้เราจะไปจัดการปัญหาได้อย่างไร ต้องรู้รอยต่อ รอยเชื่อมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ทำอย่างนี้เพื่อให้เห็นพัฒนา เห็นอะไรมากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น มาคุยแต่ละครั้งให้เห็นพัฒนา ไม่จำเจ คนจะไม่เบื่อ
หลักการสำคัญ แต่ละครั้งที่มาเขามาประชุมพูดคุยต้องได้อะไรกลับไป อาทิ ได้วิธีคิด วิธีการ ขณะที่เวทีเด็กเคลื่อนไป เวทีผู้ใหญ่ก็เคลื่อนขนานไป เช่น เชิญให้มาดูเวทีเด็ก และนำเรื่องของเด็กไปคุยในเวทีผู้ใหญ่ สิ่งที่ขับเคลื่อนไปได้ต้องมีผู้ใหญ่ หัวหน้างาน และ ภาคี (กรรมการ )ให้การสนับสนุน
และ 2.จัดค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชน3.การคัดสรรแกนนำเยาวชน สุดท้าย 4.การคัดสรรกรรมการ หลังจากเวทีนี้ครั้งนี้ นักถักทอชุมชน จะนำสิ่งที่ได้คิดกันในเวทีนี้ไปรวบรวมเป็นรูปเล่มเป็นโรดแมพในการทำงานปีนี้
“หน้าที่เราคือหน้าที่คอยประคอง และสนับสนุนไป การพัฒนาที่ให้เขาพึ่งตัวเองได้ คือการพัฒนาที่เราเริ่มต้น และช่วยเขาหมุน ไปทำให้คนเขาพึ่งตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเอง ตอนแรกทำให้ดู จับมือทำ ปลายทางให้เขาทำต่อไปได้เอง” อ.ทรงพล กล่าวตบท้าย
นางอาภา บุญศักดิ์ (อ๋า) นักพัฒนาชุมชน อบต.โชกเหนือ อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ หนึ่งในนักถักทอชุมชนรุ่น 2 สะท้อนความคิดในการเข้าอบรมว่า "ทำให้มีการคิดอย่างมีระบบ มีมุมมองได้กว้างมากขึ้น และได้นำไปปรับใช้จริงในแต่ละเดือน เป็นการกระตุ้นต่อมการเรียนเรียนรู้ของเราเรียกว่าตีเหล็กต้องตีตอนร้อน พอทำปุ๊บเราได้ ณ ขณะนั้นเข้าไปในตัวเองเลย"
พบกันอีกครั้งที่เวทีครั้งที่ 5 ที่ อบต.โคกยาง เป็นเวทีถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน กับการบ้านที่อ.ทรงพล ได้ให้โจทย์ไว้ในเวทีครั้งที่ 4 และให้นำกลับไปปฏิบัติจริง และนำมาพูดคุยกันนั่นเอง