เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย
ทต.กันตวจระมวล ทต.เมืองแก อบต.หนองอียอ และอบต.สลักได
เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย ใน 4 พื้นที่ จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ทต.กันตวจระมวล ทต.เมืองแก อบต.หนองอียอ และอบต.สลักได ภายใต้โครงการนักถักทอชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ระยะที่ 3 เป็นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2559
มีเป้าหมาย เพื่อให้ทีมนักถักทอชุมชน (ซึ่งประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ปลัด เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น) แกนนำชุมชน และแกนนำเยาวชน มีความสามารถใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นและการจัดการความรู้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน นำไปสู่การพัฒนาระบบ / กลไก สนับสนุนให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองและเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีได้แก่ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ,มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน (IERD) รศ.ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ ประธานคณะกรรมการ ,นายบุญเสริฐ เสียงสนั่น และนายวิเชียร สอนจันทร์ ,มูลนิธิยุวโพธิชน คุณวราภรณ์ หลวงมณี ,สถาบันชุมชนพัฒนา นายกฤษฏา บุญชัย และนายปาสิต วรพงศ์พิบูลย์
วันที่ 17 สิงหาคม ที่ทต.กันตวจระมวล ณ ห้องประชุมเทศบาลกันตวจระมวล อ.ปราสาท จ.สุรินทร์โดยมีนางนิภารัตน์ บุญยงค์ รองนายกเทศมนตรี กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงที่มาของการร่วมเวทีในครั้งนี้"จากที่ท่านนายกเทศมนตรี (นายสุข แนมดี) เคยบอกไว้ว่าเราจะทำอย่างไรให้ชาวชุมชนกันตวจระมวลจะลุกขึ้นมาทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบอก จากเดิมเราได้เคยทำโครงการ KM กับอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ และเคยเชิญท่านผู้ใหญ่ ผู้ช่วยทุกหมู่บ้านมาทำกัน และประสบผลสำเร็จสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้นำได้ จึงคิดต่อว่าเราน่าจะมาวางแผนพัฒนาตนเองได้โดยไม่ต้องมีใครมาช่วยจัดการ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนเราต้องเป็นคนแก้เอง คนอื่นมาช่วยแก้ได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ล่าสุดนายกฯ จึงเชิญทั้ง 8 ชุมชนเข้ามาพูดคุยกันว่าจะพัฒนาชุมชนของตนเองตามแนวทางนี้ และมีสองหมู่มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ บ้านสระ หมู่ที่ 2 และบ้านตาแจ๊ต หมู่ที่ 5ที่ผ่านมานักถักทอลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน และนำมาถอดบทเรียนว่าเราเจอปัญหาอะไรบ้าง และมีเวลาให้ผู้นำมาถอดบทเรียนกันว่าในพื้นที่มีปัญหาอะไร และวันนี้ทั้งสองหมู่จะนำข้อมูลมาพูดคุยกัน และหวังว่าเราจะเป็นชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้ เรามีทีมงานอย่างสรส. มูลนิธิวิจัยท้องถิ่น เป็นท่านผู้รู้มาช่วยและให้ความมั่นใจว่าพวกเราจะก้าวหน้าได้ โดยทำโมเดลประเทศ และจัดการให้หมู่บ้านท่านแก้ไขปัญหาได้บรรลุเป้าหมายได้"
ช่วงที่สอง ทั้งสองหมู่บ้านได้ทบทวนปัญหาในชุมชน (ปัญหา แนวโน้มปัญหา และความคาดหวังให้ปัญหาลดลง)เริ่มที่บ้านสระ หมู่ที่ 2 ได้แก่ 1.กระทรวงสาธารณสุข ปัญหาดื่มสุรา เกิดปัญหาทะเลาะวิวาท 2.กระทรวงส่งเสริมอาชีพชุมชน ปัญหาว่างงาน รายได้น้อย 3.กระทรวงประเพณีและวัฒนธรรม ปัญหาไม่มีผู้สืบสานประเพณีและวัฒนธรรม 4.กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว ปัญหาเด็กเลิกเรียนกลางคั่น ติดโซเชียล
หมู่บ้านตาแจ๊ต หมู่ที่ 5 ได้ตั้ง 4 กระทรวงหลักได้แก่ 1.กระทรวงเด็กและเยาวชน 2.กระทรวงสิ่งแวดล้อม 3.กระทรวงเศรษฐกิจและทำมาหากิน 4.กระทรวงสาธารณสุข ระดมปัญหาและแนวทางแก้ไข และเลือก 3 ปัญหา ที่ต้องการแก้ไขคือ 1.ปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอ 2.โรคประจำตัว 3.สภาพสิ่งแวดล้อมสะอาดถ้าสามารถแก้ปัญหา 3 ข้อนี้ได้จะสามารถตอบโจทย์ชุมชนบ้านตาแจ๊ตอยู่ดีมีสุขได้ สุขภาพดี มีความพอเพียงและปราศจากโรคโดยเฉพาะไข้เลือดออกสูงที่ใช้พลังของเยาวชนมาร่วมทำกิจกรรม ที่หมู่บ้านตาแจ๊ต เน้นเยาวชน จัดกิจกรรม ทำให้ชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
การสะท้อนงานพัฒนากับงานวิจัย ทำให้สองชุมชนเกิดความเข้าใจเครื่องมืองานวิจัยชาวบ้านมากยิ่งขึ้น โดย คุณบุญเสริฐ เสียงสนั่น มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน (IERD) อธิบายขั้นตอน "การพัฒนา Vs การวิจัย" "ที่ผ่านมางานพัฒนา เราไม่เคยตั้งคำถามว่ามีเรื่องอะไรที่เราไม่เคยรู้ และไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ งานวิจัยไม่ได้แยกส่วนจากงานพัฒนา แต่จะมาช่วยให้งานพัฒนามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการหาความรู้ก่อน เป็นการเพิ่มขั้นตอนในการทำงานเพื่อให้งานพัฒนาสร้างประสิทธิภาพมากขึ้น ภาวะที่เป็นประเด็นความไม่รู้ มีหรือไม่ นี่คือการใช้งานวิจัยแบบชาวบ้านมาช่วย การค้นหาแนวทางการพัฒนา ค้นหาความรู้ประเด็นที่เลือกอยากให้เป็นประเด็นที่ชุมชนจัดการตนเองได้
ขั้นตอนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น 1.วิเคราะห์ชุมชน ค้นโจทย์ ทำโครงการ 2.เตรียมทีมงานชุมชน 3.เก็บ-รวบรวมข้อมูล 4.สรุปวิเคราะห์ข้อมล 5.กำหนดแนวทางแผนงาน 6.ปฏิบัติการ 7.สรุปวิเคราะห์ รายงานผล 8.การนำใช้ขยายผลเคล็ดลับการทำงานวิจัยเรื่องท้องถิ่น 1.ต้องเป็นปัญหาที่แท้จริงของชุมชน 2.ชุมชน คนในชุมชน ต้องเป็นนักวิจัยด้วย "เรื่องของใคร คนนั้นต้องวิจัย" 3.นำไปใช้ได้จริง
หลักการในการเลือกเรื่องที่นำมาเป็นโจทย์วิจัย ได้แก่ 1.ไม่สร้างความขัดแย้ง 2.เริ่มจากง่ายไปยาก 3.ชุมชนสามารถจัดการเองได้ 4.มีเรื่องเร่งด่วน-จำเป็นต้องทำ 5.ทำดีอยู่แล้ว ต่อยอดให้ดีมากขึ้นไปอีก
โจทย์ให้แบ่งเป็นสองหมู่บ้าน ให้ชวนกันวิเคราะห์เรื่องด้านละ 1 เรื่องและชวนกันมาเลือก 1 ด้าน เป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์โจทย์วิจัยหมู่บ้านสระ หมู่ที่ 2 เลือกโจทย์ "การสร้างทางเลือกพื้นที่ทางสังคมแก่คนรุ่นใหม่บ้านสระควรทำอย่างไร" ส่วนหมู่บ้านตาแจ๊ต หมู่ที่ 5 เลือกโจทย์ "วิธีการสร้างความตระหนักและรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสม"
ในวันที่ 18 สิงหาคม ที่วัดบึงแก บ้านบึงแก หมู่ที่ 3 ต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เทศบาลตำบลเมืองแก นำโดย นายจักรกฤษณ์ พาณิชย์กิจเจริญ นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดฯ ชาวบ้านหมู่ที่ 3 มาร่วมเวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย
ผู้ใหญ่เบิ้ม สงนวน ผู้ใหญ่บ้านเมืองแก กล่าวเปิดเวที"วันนี้ ผมมั่นใจว่าสภาเรา ชุมชนเรา องค์กรหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในชุมชนเรา ลุกขึ้นมาหมดแล้ว พร้อมที่จะพาชุมชนเราไปทิศทางไหน เราก็เลือกมาหมดแล้ว เราได้วิเคราะห์ปัญหา วันนี้เป็นวันที่เราคิดหาหนทางช่วยชุมชนกัน ช่วยกันคิด อยากทำอะไรให้พูดออกมา ระดมความคิดออกมา ทำใจสบายๆ ขอให้พูดคำเล็กๆ ต้องการอะไรบอกออกมาให้หมด..."
ด้านนายจักรกฤษณ์ พาณิชย์กิจเจริญ นายกฯ กล่าวให้กำลังใจว่า “เป็นความภูมิใจของผมที่บ้านเมืองแกลุกขึ้นมาพัฒนาหมู่บ้านของตน ถ้าตำบลเมืองแกลุกขึ้นมาทุกบ้าน ผมก็เบาใจ เพราะตอนนี้ปัญหาใหญ่ เล็ก ชาวบ้านมาให้เทศบาลแก้ปัญหาให้หมดซึ่งก็ทำได้ยาก และนั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ”
บ้านเมืองแกเริ่มนำเสนอข้อมูลของแต่ละกระทรวง ได้แก่ 1.กระทรวงเกษตรและการทำมาหากิน จากปัญหามีภาระเพิ่มมากขึ้น ใช้ของฟุ่มเฟือย จากการพูดคุยของทีมสภาชุมชนมีแนวคิดอยากทำพันธุ์ข้าว และรวมกลุ่มทำปศุสัตว์ เลี้ยงโค กระบือ ไก่พื้นเมือง2.กระทรวงสิ่งแวดล้อม มีปัญหาขยะ ไม่มีที่กำจัด คนในชุมชนยังไม่ตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจ ทิ้งไม่เป็นที่ นำเสนอการแก้ คัดแยกขยะ และนำขยะเปียกไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ขวดต่างๆ แยกนำไปขายมีร้านรับซื้อในชุมชนแต่ละคุ้มมีประธานดูแลเรื่องความสะอาด3.กระทรวงพัฒนาครอบครัวและสังคม (ผู้สูงอายุ) มีผู้สูงอายุ จำนวน 124 คน อยากส่งเสริมอาชีพ เครื่องจักสาน ยังไม่เด่นชัด แต่จะส่งเสริมให้ขายได้4.กระทรวงพัฒนาครอบครัวและสังคม (เด็กและเยาวชน) เด็กในระบบไม่น่าเป็นห่วง แต่เด็กนอกระบบน่าเป็นห่วง เพราะไม่มีงาน ทำให้เป็นภาระครอบครัว ด้านเยาวชนขอจัดตั้งกระทรวงอาชีวะ เยาวชนบางคนเรียนอาชีวะแต่ไม่จบแต่มีทักษะด้านซ่อมมอเตอร์ไซด์
รศ.ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ ให้ข้อเสนอแนะว่า “ทั้ง5 เรื่องที่นำเสนอ อยากตั้งคำถามว่าเลือกเรื่องมาอย่างไร ตกผลึกแล้วหรือยัง ยังไม่เห็นการมีส่วนร่วมของประเด็น เช่น เยาวชน มีส่วนร่วมอย่างไร เยาวชนมีกี่คนเยาวชนอยากซ่อมมอเตอร์ไซด์หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นกระบวนการมานั่งคุยกันให้ชัด เพราะถ้าไม่ชัดเดินหน้าไปยิ่งจะไม่ชัดขึ้นเรื่อยๆ เรามีเส้นทางเดินชัดเจนหรือไม่...”
คุณบุญเสริฐ เสียงสนั่น มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน (IERD)ได้ชวนชาวบ้านคุยว่าการพัฒนาชุมชนโดยการนำเครื่องมือวิจัยเข้ามาช่วยนั้น ทำให้งานพัฒนาสามารถเคลื่อนไปได้อย่างไรบ้าง"การสร้างกระบวนการพัฒนาโดยมีงานวิจัยเข้ามาช่วย เครื่องมือวิจัยคือการสร้างความมั่นใจว่าเรื่องนี้สามารถทำได้...อยากรู้อะไรก็ไปแสวงหาความรู้นั่นคือการนำเครื่องมือวิจัยมาใช้"
ช่วงบ่ายทั้งสามกระทรวงแบ่งกลุ่มทำการวิเคราะห์เพื่อหาโจทย์วิจัยเพิ่มเพื่อเสริมให้กับโครงการพัฒนาของแต่ละกระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตรและการทำมาหากิน ที่ระดมความคิดเรื่องการผลิตพันธ์ข้าวเอง กระทรวงสิ่งแวดล้อม เรื่องการจัดการขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และกระทรวงพัฒนาครอบครัวและสังคม (ผู้สูงอายุ) ต้องการส่งเสริมอาชีพ – รายได้ และส่งเสริมให้มีบทบาทในชุมชน ชาวบ้านต่างช่วยระดมความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่
วันที่ 19 สิงหาคม 2559 ที่โรงเรียนหนองอียอวิทยา อ.สนม จ.สุรินทร์ อบต.หนองอียอ นำโดยนายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าปลัดฯ พาน้องๆ แกนนำเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบ เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาโจทย์การพัฒนาเด็กนอกระบบให้มีศักยภาพ"วันนี้เรามาร่วมกันค้นหาพัฒนาโจทย์การวิจัย ในพื้นที่ของเรา เราต้องการพัฒนาเด็กเยาวชน เด็กนอกระบบ กลุ่มเป้าหมายของเราคือ เด็กนอกระบบ และมีแกนนำในระบบที่จะมาช่วยกันด้วย และวันนี้ก็มีโรงเรียนครอบครัว กำนัน ผู้ใหญ่ใจดี และหน่วยงานมาร่วมฟังด้วยครับ "
เริ่มกระบวนการสร้างความเข้าใจเรื่องงานวิจัยนำมาใช้คู่กับงานพัฒนาได้อย่างไรแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมข้อมูล ความคิดเห็นดำเนินกระบวนการโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน (IERD) รศ.ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ ประธานคณะกรรมการ ,นายบุญเสริฐ เสียงสนั่น และนายวิเชียร สอนจันทร์
1."เรา –เพื่อนเรา-พี่น้องเรา เก่ง-ดี อะไรบ้าง” ค้นพบความเก่งของเด็กหนองอียอ ที่มีหลากหลาย อาทิขับรถเกี่ยวข้าว,สานแห,ทำนา,ตัดอ้อย,เลี้ยงหมู,ถอดนมัน,ช่างเชื่อม,ตัดต่อเพลง,เล่นกีฬา,เล่นฟุตบอล,ปลูกผัก,ดูแลผู้สูงอายุ,ถอนมัน ฯลฯ
2..พฤติกรรม เรา – เพื่อน –พี่น้องเรา ที่ไม่ค่อยดี(เราไม่ชอบคนอื่นไม่ชอบ) “มีอะไรบ้าง
3.พฤติกรรมของผู้ใหญ่ในชุมชนครอบครัว ที่เรา “คิดว่าไม่ดี ไม่ชอบ”
4.ที่ผ่านมาหน่วยงาน +ชุมชนมีกิจกรรมโครงการพัฒนาเยาวชนอย่างไรบ้าง ผลเป็นอย่างไรเยาวชนมีบทบาทช่วยงานกิจกรรมชุมชนอย่างไร
วงผู้ใหญ่ก็ระดมความคิดที่จะช่วยเด็กนอกระบบ โดยตั้งประเด็น ไกลไก (ผู้ใหญ่) จะทำอย่างไรให้เยาวชนนอกระบบมีทางเลือกอาชีพที่เหมาะสม (เหมาะกับบุคลิก(ใจรัก,มีความถนัด) , ขายได้จริง,ทำต่อเนื่อง)คำถาม 1.จะสร้างแรงจูงใจอย่างไร?2.จะทำให้เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเขาได้อย่างไร (ทำแล้วขายได้/มีตลาด)และ 3.จะสร้างความเป็นตัวตนแก่เยาวชนได้ด้วยวิธีการใดบ้าง?
สรุปโจทย์การทำวิจัย การส่งเสริมอาชีพให้เยาวชนหนองอียอ เยาวชนเสนอให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมอาชีพที่อยากทำได้แก่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงกบ ปลูกอัญชัญ ซ่อมมอเตอร์ไซด์
วันที่ 20 สิงหาคม ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หมู่ที่ 13 ต.สลักได อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ อบต.สลักได นำ 2 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ที่ 13 บ้านโคกกระชาย และหมู่ที่ 14 บ้านโคกเพชร เรียนรู้การนำงานวิจัยมาช่วยงานพัฒนาชุมชนได้อย่างไร? ภายใต้โครงการสร้างนักพัฒนามืออาชีพปั้นดินสู่ดาว ประจำปี 2559
นายมานพ แสงดำ นายกอบต.สลักได กล่าวเปิดเวที"เพื่อให้พี่เลี้ยงได้ความรู้ ได้การจัดการ โดยมีอาจารย์มาสอนเรา ผู้นำชุมชน ผมและ เจ้าหน้าที่ มีพี่น้องมาช่วยทำงานมากขึ้น ขอให้โครงการวันนี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ วันนี้เราจะเห็นแนวทาง ทั้งสองหมู่บ้านนำไปปรับใช้เอง การเรียนรู้วันนี้ไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้ชุมชนของเราเข้มแข็งขึ้น ขอบคุณครับ"
หมู่บ้านโคกเพชร หมู่ 14 นำเสนอ 6 กระทรวงได้แก่1.กระทรวงสาธารณสุข พบปัญหาไข้เลือดออก ที่ให้ชาวบ้านช่วยดูแลแหล่งน้ำไม่ให้มีลูกน้ำ2.กระทรวงเด็กและเยาวชน อยากให้เยาวชนหันมาเล่นกีฬา 3.กระทรวงวัฒนธรรม อยากให้สืบสานการละเล่นพื้นบ้าน เช่น กรรำธันเร ไม่ให้หายไป 4.กระทรวงผู้สูงอายุ ปัญหาผู้สูงอายุว่างงาน เชิญชวนให้รวมกลุ่มปลูกม่อนเลี้ยงไหม เพื่อรักษาภูมิปัญญาชุมชน ต้องการให้ผู้สูงอายุได้ทำงานและได้ออกกำลังกาย มีความสุข และความภาคภูมิใจ5.กระทรวงกลุ่มอาชีพ อยากให้ส่งเสริม 1.กบยัดไส้ขายทางออนไลน์ 2.เพาะเห็ด 3.เลี้ยงหมู่ ทำได้ดีผลิตไม่พอขาย แต่ขอให้ชาวบ้านรวมกลุ่มผลิต6.กระทรวงเกษตรกรรม มีปัญหาไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอในชุมชนหมู่บ้านโคกเพชร มีความเข้มแข็ง มีปราชญ์ชาวบ้าน ขาดแค่การรวมกลุ่มกัน เวทีนี้จะช่วยให้งานชุมชนพัฒนาไปได้
หมู่บ้านโคกกระชาย หมู่ที่ 13 เสนอ 6 กระทรวงได้แก่1.กระทรวงผู้สูงอายุ มีปัญหาสุขภาพอยากให้มีโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อสอนเรื่องรักษาสุขภาพ2.กระทรวงเด็กและเยาวชน อยากให้สนับสนุนรถไปโรงเรียน เพราะชุมชนอยู่ไกลทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน3.กระทรวงเกษตร อยากให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนาแบบเดิมให้หันมาใช้ทฤษฏีใหม่ 4.กระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีขยะล้นชุมชน ไม่มีที่ทิ้ง อยากได้ถังขยะและรณรงค์ให้ใช้ถุงพลาสติกน้อยลง5.กระทรวงด้านวัฒนธรรม ปัญหาเด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีชุมชน ทำให้ประเพณีพื้นบ้านหายไป6.กระทรวงด้านอาชีพ ขาดวัตถุดิบในการทำเผือกรังนก มันรังนก กล้วยฉาก ต้องซื้อวัตถุดิบนอกชุมชนลองปลูกแล้วไม่ได้ผล
หมู่บ้านโคกกระชาย มุ่งมั่นที่พัฒนาชุมชน "งานวิจัย" จะมาช่วยตอบโจทย์การพัฒนาชาวบ้านให้ยั่งยืนทั้งสองชุมชนอยากพัฒนาชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
ช่วงบ่าย ทางวิทยากรได้ยกประเด็นปัญหาผู้สูงอายุ ที่นำมาวิเคราะห์ ที่หมู่ 13 มี 75 ราย และ หมู่ที่ 14 มี 87 ราย เมื่อมาวิเคราะห์ถึงปัญหาทั้งด้านโรคประจำตัวร่างกายไม่แข็งแรง เหงาโดดเดี่ยวเครียด รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และมีภาระหนักในการเลี้ยงหลาน ปัญหาไหนจะถูกแก้ไข ชาวบ้านระดมความคิดปัญหาใด จะต้องแก้ไขอย่างไร
หมู่ที่ 13 เรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำหนองตาบัวเพื่อทำเกษตรฤดูแล้งที่เหมาะสมเป็นอย่างไร?
กระบวนการหาโจทย์วิจัยครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านเกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น นำเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้มาตั้งเป็นโจทย์วิจัยนั่นเองทั้งสองชุมชน และมุ่งมั่นที่พัฒนาชุมชน โดย"งานวิจัย" จะมาช่วยตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อให้ชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืนนั่นเอง
จบเวทีทั้ง 4 พื้นที่ ทางมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน (IERD) นำโดย รศ.ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ ประธานคณะกรรมการ ,นายบุญเสริฐ เสียงสนั่น และนายวิเชียร สอนจันทร์ ได้จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ทั้งสี่พื้นที่เข้าใจเครื่องมือวิจัยชุมชนนำมาช่วยงานพัฒนาและช่วยแก้ปัญหาที่ชาวบ้านนำเสนอขึ้นมาได้อย่างไร แต่ทั้งหมดนี้ คนคิด และคนทำคือชาวบ้านนั่นเอง พบกันใหม่เวลาต่อไปรอดูโครงการดีๆ จากทั้ง 4 พื้นที่ จะมีนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ และปัญหาได้รับการแก้ไขหรือไม่.
-------------------------
ชม 4 เวทีได้ที่นี่
การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย ทต.กันตวจระมวล
เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย ทต.เมืองแก
เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย อบต.หนองอียอ
เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย อบต.สลักได