​ดึงศักยภาพด้านบวก “เด็กนอกระบบ” ร่วมพัฒนาชุมชน

­

­

จากรายงานข่าวล่าสุด ผลการสำรวจพบว่า “เด็กนอกระบบ” ที่ออกจากสถานศึกษากลางคั่น นับวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แค่ในเอเชียมีถึง 18 ล้านคน เฉพาะประเทศไทยตัวเลขอยู่ที่ 3 แสนคน จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะดึง “พลัง” ของเด็กกลุ่มนี้กลับมาเป็น “พลัง” ของประเทศและโลกให้ได้

­

­

­

ที่ อบต.หนองอียอ อ.สนม จ.สุรินทร์ พบว่า มีเยาวชนนอกระบบจำนวน 41 คน แต่ที่หมู่ที่ 5 ,6 และ 8 มีถึง 31 คน จึงเริ่มหาทางแก้ไขที่สามหมู่บ้านนี้ก่อน โดยอบต.ได้ตระหนักถึงพลังด้านบวกของเยาวชน จึงเป็นลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ ดึงทุนในชุมชน (รพ.สต. โรงเรียน ชุมชน องค์กร /หน่วยงาน) มาร่วมกันคิดหาแนวทางดึงเด็กนอกระบบกลับมาช่วยชุมชน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ที่โรงเรียนหนองอียอวิทยา อ.สนม นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด พาน้องๆ แกนนำเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบ ร่วมเรียนรู้ใน “เวทีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย เพื่อพัฒนาโจทย์การพัฒนาเด็กนอกระบบให้มีศักยภาพ " ภายใต้โครงการนักถักทอชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ระยะที่ 3 เป็นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)

­



สมเกียรติ เล่าว่า “วันนี้เรามาร่วมกันค้นหาพัฒนาโจทย์การวิจัย เราต้องการพัฒนาเด็กเยาวชน เด็กนอกระบบ และแกนนำเยาวชนในระบบ หลังจากเราได้ร่วมวิเคราะห์ปัญหากับน้องๆ เยาวชน ทั้งในระบบและนอกระบบ น้องๆ ร่วมกันสะท้อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อไม่ได้เรียนต่อระดับม.ปลาย หรือออกกลางคั่น จะทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การสมัครงานที่ต้องใช้วุฒิที่การศึกษา ทำให้ขาดโอกาสเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ เมื่อไม่ได้ทำงานทำให้เกิดผลกระทบต่อตนเอง คือขาดรายได้ ไม่มีอาชีพมั่นคง เสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ เช่น ยาเสพติด เป็นเด็กแว๊น เกิดผลกระทบต่อครอบครัว ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น พ่อแม่เกิดความวิตกกังวล เครียด มีผลต่อชุมชน เมื่อเด็กเยาวชนจับกลุ่ม ดื่มเหล้าทำกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ เช่น สูบบุหรี่ กินเหล้า ทะเลาะวิวาท แว๊น เป็นตัวอย่างไม่ดีให้เด็กในชุมชน เป็นต้น

­

­

ทางอบต. ได้มองเห็นปัญหาและหาทางแก้ไข โดยคิดว่าเยาวชนเหล่านี้มีศักยภาพหากเราได้มาช่วยกันพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้กับพวกเขา โดยอบต.และหน่วยงานชุมชน ได้แก่ รพ.สต. โรงเรียน ชุมชน แกนนำเยาวชน ได้ร่วมกันพูดคุยและชวนน้องๆ นอกระบบเข้ามาหารือร่วมกันถึงปัญหาและทางแก้ไข เราคิดว่าเราต้องใช้ทุนทั้งตำบลในการพัฒนาเยาวชนของเรา อบต. จึงได้จัดทำข้อมูลชุมชน ทำให้เราทราบชัดเจนว่า เรามี 1.ทุนบุคคล ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ถึง 271 คน มีความรู้เฉพาะด้าน เช่น การจักสาน การประกอบอาชีพต่างๆ 2.ทุนแหล่งเรียนรู้ จำนวน 62 แหล่ง 3.ทุนองค์กรหน่วยงานต่างๆ จำนวน 6 หน่วยงาน 4.ทุนที่เป็นแหล่งประโยชน์ เช่น อาคาร ศาลาประชาคม แหล่งน้ำ จำนวน 32 แหล่ง และสุดท้าย หมู่บ้านจัดการตนเอง มี 1 หมู่บ้าน ทุนเหล่านี้ เราจะนำมาใช้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน และถือว่านี่เป็นโอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนไปในตัว

­

­

­

“...สำหรับความคาดหวัง ที่เป็นโมเดลของเรา จะนำทั้งทุน หน่วยงานภาคีต่างๆ ที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมในกระบวนการของเรา เริ่มจากนโยบายของรัฐ มีนโยบายจัดตั้งศูนย์เยาวชนของตำบล เราใช้กลไกโรงเรียนครอบครัว (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 1 : โรงเรียนครอบครัว) ประกอบด้วยผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ใจดี โรงเรียน หน่วยงานในพื้นที่ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเป็นคณะทำงาน มีนักถักทอชุมชน (ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่อบต.ซึ่งเข้ารับการอบรมในหลักสูตรนักถักทอชุมชน จัดโดยสรส.) เป็นเลขา ใช้วิชาชีพ วิชาชีวิต และวิชาชุมชนเป็นแกนหลักในการให้เยาวชนนอกระบบได้มาเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง ในด้านนิสัย อาชีพ สุขภาพ และการศึกษา เพื่อพัฒนาครอบครัว ในเรื่องรายได้ ความภูมิใจของพ่อแม่ และเพื่อการพัฒนาชุมชน เป็นการการสืบสานความเป็นอยู่ของท้องถิ่น ความปรองดองในชุมชน การร่วมพัฒนาท้องถิ่น



­

มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ เด็ก เยาวชนนอกระบบ มีอาชีพ มีความรับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น รักษาสิ่งแวดล้อม เกิดแกนนำเยาวชนรุ่นสู่รุ่นอย่างมีภูมิคุ้มกัน และจิตอาสา อยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข และมีศักดิ์ศรี แต่เงื่อนไขความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมของชุมชน แกนนำชุมชน ผู้ปกครองและแกนนำเยาวชน ถ้ากลไกการพัฒนาเด็กนอกระบบมีความเข้มแข็งต่อเนื่องจะเกิดผลดีต่อชุมชนเป็นอย่างมาก”

­



สำหรับผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมในเวที อาทิ รพ.สต. โรงเรียน ผู้นำชุมชน ต่างระดมความคิดที่จะช่วยเด็กนอกระบบ โดยตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนนอกระบบมีทางเลือกอาชีพที่เหมาะสม (เหมาะกับบุคลิก(ใจรัก,มีความถนัด) , ขายได้จริง,ทำต่อเนื่อง) โดยทิ้งคำถามไว้ 1.จะสร้างแรงจูงใจอย่างไร? 2.จะทำให้เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเขาได้อย่างไร (ทำแล้วขายได้/มีตลาด) และ 3.จะสร้างความเป็นตัวตนแก่เยาวชนได้ด้วยวิธีการใดบ้าง? สำหรับเยาวชนนอกระบบ ได้ระดมความคิดที่จะพัฒนาตนเอง โดยต้องการให้ส่งเสริมอาชีพที่อยากทำ ได้แก่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงกบ ปลูกอัญชัญ ซ่อมมอเตอร์ไซด์

อบต.หนองอียอ ทำงานด้านเด็กและเยาวชนต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2553 เมื่อถึงสถานการณ์ที่เยาวชนในชุมชนมี “เด็กนอกระบบ” เพิ่มมากขึ้น ก็รีบกระโจนเข้าแก้ไขปัญหา โดยการเลือกมองที่ “พลังบวก” ในตัวเด็กๆ เหล่านี้ หากผู้ใหญ่ทุกคนช่วยกันมองด้านดีๆ เด็กเหล่านี้คือ “พลัง” ไม่ใช่ “ภาระ” น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการแก้ไขปัญหาทั้งเด็กแว๊น เด็กติดยา เพราะ“เด็กทุกคนอยากเป็นคนเก่ง และคนดี”ด้วยกันทั้งนั้น

­

#www.scbfoundation.com

#www.facebook.com/scbfoundation

#www.youtube.com/scbfoundation

#info@scbf.or.th