ทำอย่างไร เราจึงจะพัฒนาศักยภาพให้เด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะเป็นเด็กยุค 4.0 ได้อย่างแท้จริง ในขณะที่สถานการณ์รอบด้านในปัจจุบัน มีสิ่งเร่งเร้าให้เด็กและเยาวชนออกนอกลู่นอกทางได้โดยง่าย และก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นทุกครัวเรือน ท่ามกลางกระแสที่ผู้ใหญ่ต่างตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน ที่ต้องมีบทบาทในการรับผิดชอบอนาคตของประเทศแทนตน ความคาดหวังของผู้ใหญ่ที่จะให้พวกเขาเป็นอนาคตของชาติก็ดูน่าเป็นห่วงไม่น้อย เราจึงมองหา “ตัวช่วย” ที่จะช่วยให้สัมฤทธิ์ผลได้ วันนี้มูลนิธิสยามกัมมาจลขอแนะนำกระบวนการจากค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ (ค่าย 10 วัน) ที่สามารถบ่มเพาะคุณลักษณะนิสัยให้เด็กและเยาวชนซึมซับความเป็น “เด็กดี – เด็กเก่ง” ได้โดยไม่รู้ตัว ค่ายมีกระบวนการอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กๆ ได้ มูลนิธิสยามกัมมาจลขออาสาพาไปดู
ค่าย 10 วันภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนโดย มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้จัดขึ้นสองครั้ง เมื่อวันที่ 19-30 เมษายน 2561 และวันที่ 30 เมษายน – 11 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ มีเด็กและเยาวชนจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จาก 7 พื้นที่ ได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล,อบต.หนองอียอ , อบต.หนองสนิท , อบต.สลักได ,อบต.หัวงัว และอบต.แกใหญ่ เข้าร่วมจำนวน 76 คน โดยการสนับสนุนของ 7 อปท. ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ต้องเร่งทำในวันนี้
มาทำความรู้จักค่าย ผ่าน “คุณวราภรณ์ หลวงมณี” ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน ผู้ทำหน้าที่จัดกระบวนการสร้างการเรียนรู้ภายในค่ายแห่งนี้
เป้าหมายการจัดค่าย
เป้าหมายการจัดค่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่เครือข่ายนักถักทอชุมชน ให้เป็นพื้นที่นำร่องของ จ.สุรินทร์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อเสริมศักยภาพแกนนำเด็กเยาวชนให้เกิดภาวะผู้นำ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ นอกจากนี้แกนนำเด็กและเยาวชนยังสามารถเรียนรู้ ได้จากการลงมือทำและสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ผ่านการทำ“โครงงานคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ชุมชน” และสุดท้ายเกิดกลไกในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับตำบลและชุมชน
กระบวนกรสร้างการเรียนรู้
เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ จึงได้เชิญกระบวนกรชั้นครูมาให้การเรียนรู้ อาทิ อาจารย์ประชา หุตานุวัตร รองประธานกรรมการบริหาร สถาบันยุวโพธิชน , วราภรณ์ หลวงมณี ผอ.สถาบันยุวโพธิชน , จรายุทธ สุวรรณชนะ กระบวนกรอิสระ ,พระอาจารย์สมบูรณ์ สุมังคโล , เกียรติรัตน์ ทองผาย ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ , พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ , นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ และ ทีมยุวกระบวนกร นำโดยสุริยา ดวงศรี และอดีตแกนนำเยาวชน อบต.หนองอียอ ได้ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงและมาทำหน้าที่สันทนาการแนวเรียนรู้ในค่าย
เครื่องมือสร้างการเรียนรู้
วราภรณ์ เพิ่มเติมว่า สถาบันยุวโพธิชนมี “เครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้” ที่จะช่วยให้เยาวชนเข้าถึงด้านในของตัวเองอย่างลึกซึ้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้จักตัวเอง การรู้จักชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีจิตใจ มีจิตอาสาที่จะลุกขึ้นมาดูแลผู้อื่น ใส่ใจผู้อื่น ผ่านเครื่องมือสำคัญดังนี้
1.การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ต้องอาศัยการที่ผู้เรียนเอาตัวตนของตัวเองเข้ามาเรียนรู้ ผ่านการลงมือทำ
2.การถอดบทเรียน หลังจากการลงมือทำไม่ว่าจะผ่านเกมหรือกิจกรรมต่างๆ หรือการทำงานในวิถีชีวิตเอง เราก็จะถอดบทเรียนสิ่งนั้น ให้เขาเห็นแรงบันดาลใจภายในลึกๆ ที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาทำสิ่งนั้น ถอดบทเรียนให้เขาเห็นวิธีการทำงาน ถอดบทเรียนให้เขาจับหลักการสำคัญที่จะทำให้เขาดูไปสู่เรื่องนั้นๆได้ และสามารถประยุกต์ใช้กับเขาได้
3.การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพราะเราเชื่อว่าถ้าเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ทุกคนไว้วางใจ เขาก็จะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เขาจะเห็นตัวเองชัดขึ้น เห็นเพื่อนชัดขึ้น แล้วเขาเองก็จะรู้ความต้องการที่ชัดเจนของตัวเองได้ชัดขึ้น จากจุดนี้เมื่อเขาเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ชัดขึ้น การเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจะมีทิศทางเป้าหมายที่ชัดเจน และจะมีพลัง และแรงบันดาลใจในการที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ทำเพื่อแค่สนุกเท่านั้นเอง แต่บางครั้งอาจจะเบื่อหรือเหนื่อยหรือหงุดหงิด แต่เมื่อเขาค้นพบว่ามันกำลังไปตอบโจทย์อะไรบางอย่าง กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเขา เขาก็จะทำมันต่อเนื่องได้
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญภายใต้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ภายใต้พื้นที่ของความไว้วางใจ ภายใต้ความสัมพันธ์ เราเชื่อว่าต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาเองโดยลอยๆ แต่จะเกิดขึ้นโดยการที่เราตั้งใจที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดภายใต้ความรัก ความเมตตา ที่อยู่ด้วยกัน แก่นแท้ของความสัมพันธ์ก็คือความรัก ความเมตตา เราก็จะบ่มเพราะพื้นที่ตรงนี้ ใช้เวลากับการบ่มเพาะพื้นที่ตรงนี้พอสมควร
Øเจาะลึกกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเยาวชนให้รอบด้าน
§การพัฒนาด้านการรู้จักตนเอง
1.ใช้การภาวนาเป็นฐานสำคัญ ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าการที่เขามีเครื่องมือในการที่จะกลับเข้ามาเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น การมีสมาธิ มีสติที่จะใคร่ครวญปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เขาก็จะเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น และยอมรับตัวเองได้บนพื้นที่ของการเรียนรู้ร่วมกัน การเห็นตัวเองและการยอมรับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เขาก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง ออกมาสู่ขยายขอบเขตพื้นที่ที่กว้างใหญ่มากขึ้น มันหมายถึงการขยายศักยภาพของเขา
2. กิจกรรม 4 ทิศหรือกิจกรรมธาตุทั้ง 4 เป็นกรอบเป็นเครื่องมือให้คนได้กลับมาใคร่ครวญตัวเองว่าตัวเองมีแนวโน้มหรือมีพฤติกรรมชี้ไปทางไหนมากที่สุด ส่งเสริมในเรื่องของการรู้จักตัวเองก็จะมีเรื่องของการซึ่งการเห็นตรงนี้มันสำคัญในแง่ที่ว่าได้คือการข้ามเส้น ถ้าเขาไม่เห็นตัวเอง เขาจะไปพัฒนาตัวเองยาก แต่ถ้าเขาเห็นตัวเองและยอมรับมันได้มันก็ง่ายขึ้นที่จะพัฒนาตรงจุดไหน แก้จุดไหน หรือเอาจุดเด่นตรงไหนมาเติมเต็มของตัวเอง
3.กิจกรรมใช่ฉันเลย / กิจกรรมข้ามเส้น กระบวนการจะตั้งคำถามถ้าผู้เข้าร่วมเห็นว่าใช่ตัวเองก็ให้เดินข้ามเส้นไป เป็นกิจกรรมรู้จักตัวเองและการยอมรับตัวเอง ซึ่งกิจกรรมตัวนี้มันจะทำให้เขาได้ทบทวนตัวเองไปด้วย ยอมรับตัวเองทั้งในด้านที่เป็นด้านมืด ด้านลบ และด้านที่เป็นศักยภาพด้วย กิจกรรมตัวนี้ท้าทายในแง่ที่ว่าถ้าคุณเห็น รู้ว่ามีในตัวเอง แต่ถ้าคุณยังไม่กล้าที่จะยอมรับก็อยู่กับที่ได้ แต่ถ้ายอมรับและก้าวเดินออกมามันจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเขาจะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองได้มากขึ้นว่าฉันยอมรับตรงนี้ได้และเพื่อนก็ยอมรับเราตรงนี้ได้ด้วย
และ 4.กิจกรรมที่ท้าทายพลังของกลุ่ม เป็นการทำงานร่วมกัน กิจกรรมที่เราใช้จะเป็นกิจกรรมที่จะทำให้เขาเห็นตัวตนของตัวเองได้ชัดขึ้น จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหงุดหงิด ความพอใจ ความดีใจ ความเสียใจต่างๆ ซึ่งเกิดจากที่เขาได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แล้วเขาก็เรียนรู้ที่จะเห็นตัวเองจากการปฏิสัมพันธ์นั้นด้วยตนเอง และรวมถึงพี่เลี้ยง กระบวนกรหรือว่าเพื่อน ช่วยกันสะท้อน มันหมายถึงการที่เขามีกัลยาณมิตรที่ดี ที่สะท้อนตัวตนของเขาให้ชัดขึ้น เมื่อตัวตนของเขาชัดขึ้นผ่านเสียงสะท้อนบนพื้นที่ที่ปลอดภัย เขาก็จะรู้สึกถึงความจริงใจ การที่รับได้ถึงเสียงสะท้อนก็จะสำคัญทำให้เขาไม่รู้สึกถูกตำหนิ ไม่รู้สึกด้อย เขาก็จะยินดีที่จะพัฒนาตัวเองจากการสะท้อนของเพื่อนได้
§กิจกรรมท้าทายกลุ่มที่เราใช้เพื่อให้เขาเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น ที่นำมาใช้ ได้แก่
1.กิจกรรมแม่น้ำพิษ มีเป้าหมายให้เรารักสามัคคีกัน มีการดูแลกันและกันเป็นพื้นฐาน และให้เราเห็นว่าเมื่อรวมกันแล้วมีพลังอันยิ่งใหญ่ ซึ่งกิจกรรมนี้มันจะต้องเอาตัวเองไปเล่น ไปฝ่าฟันกับมันจริงๆ ไปสัมผัสกับเพื่อนทั้งกลุ่ม เมื่อเขาได้สัมผัสกับผู้คนเหล่านี้ที่มีความแตกต่างหลากหลายจากเขา เขาจะใช้วิธีอะไรที่จะรับมือกับบุคคลเหล่านั้น และกระบวนการถอดบทเรียนต่อจากนั้น ก็จะทำให้เขาทวนว่าเขารับมือกับตัวเองหรือกับเพื่อนได้อย่างไรบ้าง
กิจกรรมแม่น้ำพิษ
2.กิจกรรมโจรขึ้นบ้านหรือกิจกรรมเดินเป็ด กิจกรรมนี้จะกำหนดให้เป็นไปได้ดั่งใจได้ยาก แม้จะมีการประชุมวางแผนที่ดีแล้ว แต่การที่เขาไม่สามารถรวมใจของคนให้มาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ กิจกรรมมันก็ยากมากที่จะไปถึงเป้าหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้เขาเห็นปัจจัยที่มันมากกว่าความคิด มันมากกว่าการพูดคุยกัน แต่มันคือการที่จะทำอย่างไรให้คนมารวมใจอยู่ที่เป้าหมายเดียวกันได้
3.กิจกรรม mission impossible (วางเหรียญบนขวด) กิจกรรมนี้ทำให้เราได้กลับมาเรียนรู้เรื่องศักยภาพของเรากับเพื่อนได้อีกเยอะ ว่างานที่ยากขึ้นต้องใช้คนหลายคนมากขึ้น แล้วต้องใช้ศักยภาพขยายขอบเขตร่างกายและจิตใจของเราให้กว้างใหญ่ขึ้นไปอีก
- 4.กิจกรรมปิดตาเดินตะปู เพื่อสร้างความไว้วางใจ
- 5.กิจกรรมตีบอล เป็นการสร้างพลังกลุ่มผ่านกิจกรรมตีบอล โดยต้องดันบอลขึ้น และถ้าหากบอล
- ตกเมื่อไหร่ต้องเริ่มใหม่เมื่อนั้น ซึ่งเคล็ดลับอยู่ที่ใจของทุกคน กาย และสติทุกอย่างของเราอยู่ที่ลูกบอลด้วยกันทุกคน แม้แต่คนที่ตีแล้ว ตาก็ยังอยู่ที่ตรงนี้
กิจกรรมเหล่านี้ ก็จะดึงให้เขาได้มองเห็นเงื่อนไขอื่นๆ ของการทำงานร่วมกัน ที่มันไม่ใช่การท่องจำมาจากตำรา ว่าจะต้องวางแผนที่ดีหรือการลงมือทำหรือการทบทวน เขาท่องได้โดยตำรา แต่โดยเมื่อเขาลงมาสู่พื้นที่จริง เขาจะเห็นได้ว่ามันมากกว่าตำราที่เขาท่องมา เพราะว่าการคุยกันมันมีหลายเงื่อนไขมากที่ทำให้เพื่อนคุยกันได้ รวมถึงตัวเขาเองด้วย ที่เขาจะก้าวข้ามออกมา การแสดงความคิดเห็นในกลุ่มใหญ่ รวมถึงเมื่อถูกผู้คนปฏิเสธความคิดของตัวเอง ตัวเองจะจัดการกับตัวเองอย่างไร หรือจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับกลุ่ม อันนี้ก็คือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่จะทำให้เขาเห็นตัวตนของตัวเอง บวก ไปกับการทำงานไปด้วย
กิจกรรมเพื่อสร้างพื้นที่ของความสัมพันธ์หรือการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน เราจะเน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม โดยเงื่อนไขมักจะออกมาในรูปแบบที่ว่าถ้าขาดคนหนึ่งไป งานจะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นทุกคนสำคัญกับความสำเร็จของงาน ไม่ใช่เฉพาะผู้นำ ทุกคนมีส่วนในความสำเร็จและทุกคนจะเห็นว่าตัวเองมีส่วนในการสร้างความสำเร็จได้อย่างไรหรือตัวเองเป็นอุปสรรคสร้างความสำเร็จได้อย่างไร ภายใต้กระบวนการเหล่านี้ เขาก็จะเห็นว่าตัวเองสำคัญอย่างไร ในการที่จะสร้างความสำเร็จ ไม่ใช่เฉพาะคนที่ลุกขึ้นมานำเท่านั้น แต่คนที่ทำหน้าที่เกื้อหนุนในส่วนอื่นๆ ก็สำคัญ
การฝึกฝนคุณลักษณะนิสัย
กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำมาร้อยเข้ากับกิจวัตรประจำวัน กิจวัตรประจำวันที่เด็กจะได้ฝึกฝนตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอด 10 วัน หรือ 21 วัน เป็นเรื่องของการดูแลตัวเองในเบื้องต้น ที่จะตื่นนอนให้ตรงเวลา ที่จะจัดการธุระส่วนตัวของตัวเองให้สำเร็จ ดูแลตัวเองให้พร้อมกับการเรียนรู้ นอนเพียงพอที่ตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมกับเพื่อนได้ตลอดทั้งวันอย่างสดชื่น การกินอาหารที่ดี และเพียงพอ งานที่จะทำเพื่อที่จะดูแลพื้นที่ส่วนรวมร่วมกัน
“กิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ มีความสำคัญในแง่ที่เขาจะเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆกับการที่สามารถดูแลตัวเองได้ในโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่อยู่ที่บ้านเรามีพ่อแม่ช่วยดูแล ช่วยทำแทน ซึ่งมันจะเกิดการพึ่งพา แต่อยู่ที่นี้เราจะทำให้เขาเห็นว่าเขามีศักยภาพในการที่จะดูแลตัวเองได้ โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆของตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลเรื่องการรักษาที่นอนของตัวเอง การปูที่นอน การตื่นขึ้นมา เก็บหรือพับผ้าห่ม การซักเสื้อผ้าเอง เก็บเสื้อผ้าเอง ซึ่งมันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ครอบครัวควรจะฝึกฝนเป็นการฝึกฝนลูกหลานของเราให้มีความรับผิดชอบ ให้เขาเชื่อมั่นในตัวเองจากการที่ได้รับผิดชอบตัวเองได้และการทำพวกนี้ การลงมือทำตั้งแต่วัยเด็กจะง่ายขึ้นต่อการมีระเบียบวินัยในการฝึกฝนในช่วงที่เป็นวัยรุ่น โตเป็นผู้ใหญ่เขาจะสามารถทำมันได้ง่ายขึ้น
นอกจากเขาดูแลตัวเองได้ เขายังต้องดูแลคนอื่น พื้นที่ส่วนรวมได้ด้วย โดยไม่เห็นว่าเป็นภาระ แต่เห็นว่าเป็นสิ่งที่เขาได้ภาคภูมิใจการทำเพื่อคนอื่น ก็จะมีอย่างเช่น งานขัดล้างห้องน้ำ งานดูแลห้องประชุม การดูแลในงาน ดูแลความสัมพันธ์ สุขภาพของเพื่อน
และที่เราให้ความสำคัญและทำต่อเนื่องคือการสวดมนต์ ทำวัตรทั้งเช้าและเย็น และการภาวนาที่เริ่มระยะเวลาสั้นๆ 5 ถึง 10 นาที ซึ่งเราเชื่อเรื่องการบ่มเพาะ ถ้าเขาเริ่มต้นได้ ก็จะก้าวไปข้างหน้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเด็กก็จะเห็นความก้าวหน้าของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆในตลอด 10 วัน”
ฝึกทักษะการพูดในที่สาธารณะ
ฝึกทักษะพัฒนาทักษะการนำ
ให้มองเห็นว่าการที่เด็กสามารถนำตัวเองได้และนำผู้อื่นได้ เป็นทักษะที่สำคัญที่จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เขาสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยการพัฒนาเรื่องภาวะผู้นำ เราเน้นเรื่องการพัฒนาภาวะผู้นำที่เกิดจากความมั่นใจข้างในที่เกิดจากการที่เขาเห็นศักยภาพของตัวเอง เพราะฉะนั้นกิจกรรมของเราจะให้เขาได้เห็นศักยภาพของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมที่ใช้ฝึก
1.พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ในกลุ่มย่อย สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ในกลุ่มใหญ่ และสามารถที่จะพูดคุยได้พื้นที่ที่เป็นสาธารณะมากขึ้น
2. กิจกรรมฝึกทักษะพูด – ฟัง ผ่านการเล่าเรื่อง เป็นการฝึกทักษะในการเรียนรู้ โดยต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็น ฟังเป็น จับประเด็นเป็น และสรุปหรือสังเคราะห์ได้ ซึ่งมีการฝึกอยู่เรื่อยๆ ทุกวันผ่านทุกกิจกรรมอยู่แล้ว แต่กิจกรรมนี้ทำผ่านกิจกรรมเล่าเรื่อง 5 นาที จากนั้นให้มีการสรุป 3 นาที และ 30 วินาที
- 3.กิจกรรมการฝึกพูดฉับพลัน 1 นาที โดยมีโจทย์ให้แต่ละคนได้ลองพูดภาษาต่างดาวกันด้วย
3.การฝึกพูดในที่ชุมชนหรือในที่สาธารณะ (เยาวชนได้ฝึกพูดที่ตลาดเซาะกราวน์) ซึ่งเราทำเรื่องนี้มายาวนานหลาย 10 ปีแล้ว เห็นว่ากิจกรรมนี้ช่วยทำให้เด็กได้กลับมาเห็นศักยภาพข้างในของตัวเองว่าตัวเองก็สามารถพูดได้ ไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็นนักพูดหรือคนที่มั่นใจในตัวเองเท่านั้น แต่เขาสามารถเริ่มจากความไม่มั่นใจแล้วค่อยๆพัฒนาเป็นความมั่นใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขาเห็นว่าเขาทำได้แล้ว เขาเห็นได้ว่าอุปสรรคของการทำร้ายของเขาคืออะไรแล้ว เขาพยายามที่จะก้าวข้ามอุปสรรคนั้น ซึ่งนอกเหนือจากตัวตนของเขาเองที่พยายามจะฆ่ามัน กัลยาณมิตรหรือเพื่อน กระบวนกร พี่เลี้ยง ก็มีส่วนสำคัญที่จะคอยประคองเขาก้าวข้ามความจำกัดของศักยภาพของเขาได้ เพราะเราเชื่อว่าจริงๆ แล้วทุกคนเป็นผู้นำได้ ทุกคนมีศักยภาพในการลุกขึ้นมานำได้ แล้วเราก็เห็นตรงนี้
1.3 การฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ผู้นำในยุคใหม่ต้องมีผู้นำในการฟังอย่างลึกซึ้ง ได้ยินมากกว่าคำพูดที่เขาแสดงออกมาหรือการได้ยินท่าทาง ได้ยินสิ่งที่คนอื่นไม่ได้พูดออกมาด้วย กระบวนการเราจะมีกิจกรรมเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เด็กๆจะได้ฝึกผ่านการฟังจากกิจกรรมต่างๆ อย่างตั้งใจให้มันเกิดแบบนี้ เมื่อมีคนพูดเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะฟังคนอื่น ไม่ใช่แค่ว่าต้องฟัง แต่เขาเรียนรู้ว่าการฟังคนอื่นเป็นประโยชน์อย่างไร แล้วเขาได้อะไรจากการฟังคนอื่น เขาก็จะค่อยๆเริ่มจากการที่ถูกบังคับให้ฟัง เป็นการฟังคนอื่นด้วยใจจริงๆ ว่าเขาได้เรียนรู้ได้เข้าถึงเพื่อน ได้ประโยชน์จากการฟังจริงๆ
1.4 การคิดวิเคราะห์ การใคร่ครวญ และความสามารถในการเชื่อมโยงตัวเองกับสรรพสิ่งได้ในเรื่องพวกนี้เราก็จะเริ่มจากการที่เขาสามารถคิด วิเคราะห์ตัวเองได้ คิดวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ คิดวิเคราะห์ในเรื่องที่กว้างออกไป อย่างเช่น เรื่องของการรู้จักสังคมที่กว้างขวางขึ้น การคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้เขาติดนิสัยของการคิดวิเคราะห์ไปให้มันลึกมากกว่าปรากฏการณ์ที่เห็น
เราก็จะให้เครื่องมือในการที่เด็กสามารถคิด วิเคราะห์ ใคร่ครวญได้มากขึ้น อย่างเช่น เราใช้กระบวนการตั้งคำถามให้เด็กได้มองเห็นอะไรที่มันลึกซึ้งขึ้น ได้มองเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้น และจะให้กรอบคิดบางอย่างที่ทำให้เขาใช้มันได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น อย่างเช่น ใช้ของเรื่องภูเขาน้ำแข็งให้เขาได้เห็นตัวปรากฏการณ์และเห็นโครงสร้างที่อยู่ภายใต้ปรากฏการณ์นั้น รวมถึงความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ที่อยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้น เราเชื่อว่าถ้าเขาฝึก โดยการใช้กรอบความคิดหรือมีเครื่องมือในการช่วยคิดให้ชัด มันก็จะทำให้เขามีสายตาที่มองอะไรได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ไม่ตัดสินอะไรจากภายนอกหรือไม่ด่วนตัดสินอะไร ที่มันไม่ได้ผ่านกระบวนการใคร่ครวญ
1.5 กิจกรรมภาวะผู้นำ ภาวะการนำ / คุณสมบัติของผู้นำที่ดี (กระบวนกร โดยจรายุทธ สุวรรณชนะ) เนื้อหาสะท้อนการเรียนรู้เรื่องภาวะผู้นำ ภาวะการนำโดยถอดบทเรียนต่อเนื่องจากกิจกรรมวางเหรียญ กระบวนการให้แบ่งกลุ่มและถอดบทเรียน “เราคิดว่าในทีมเรามีใครเป็นผู้นำบ้าง และทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นผู้นำ และบันทึกความคิดเห็นออกมา” ส่วนกิจกรรมคุณสมบัติของผู้นำที่ดี ให้พูดคนละ 1 ข้อ และนำข้อเขียนไปติดไว้ที่กระดาษฟลิปชาร์ตที่ร่างเป็นตัวคนไว้
กิจกรรมดูหนังเรื่อง Ender’s Game เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้นำ 2 แบบ คือ ผู้นำแบบเผด็จการกับผู้นำแบบสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งการนำแบบเผด็จการมีผลทำให้ลูกน้องไม่ชอบ เครียด ทะเลาะกัน ผู้นำแบบมีส่วนร่วมได้รับฟังความคิดเห็นของทุกคน
กิจกรรมรู้จักชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม
1.การใช้แผนที่เดินดิน การใช้เส้นประวัติศาสตร์ การใช้ปฏิทินฤดูกาล ปฏิทินวัฒนธรรม เรื่องเศรษฐกิจ ตารางวิเคราะห์องค์กร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้รู้จักชุมชนของตัวเอง เรามีการที่จะเตรียมเด็ก เยาวชนที่จะมาค่าย โดยให้เครื่องมือในการที่จะทำให้เขากลับไปรู้จักชุมชนของตัวเองได้มากขึ้น เขาก็กลับไปเขียนข้อมูลชุมชนของตัวเองเพื่อเป้าหมายก็คือให้เขาได้รู้จักชุมชนของตัวเองได้มากขึ้นต่อเนื่องจากการรู้จักชุมชนเรามองเรื่องของการที่เขาจะมีสำนึกพลเมือง การที่เขาตระหนักว่าชุมชน สังคมมีส่วนที่เขาเป็นผู้สร้างและผู้ทำลาย โดยกระบวนการของเราจะทำให้เขาเห็นว่าเขามีศักยภาพในการที่จะสร้างชุมชนของเขาให้มันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ให้ชุมชนของเขาได้อยู่รอดได้อย่างไร ให้ตัวเขาได้อยู่ในชุมชนได้อย่างไร
กิจกรรมวิเคราะห์สังคม โดยใช้ภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่เหนือน้ำขึ้นมาคือลักษณะทั่วไป ข้างใต้ คือโครงสร้าง และความเชื่อพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ
- กิจกรรมฝันถึงชุมชนของเรา และดูว่าเราจะมีบทบาทอะไรกับชุมชนของเราได้บ้าง
- กิจกรรมบ่มเพาะการเป็นพลเมืองจิตอาสา
การทำโครงงานชุมชน ซึ่งโครงงานคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์สังคมจะเป็นโครงงานที่ต่อเนื่องจากใครที่จะทำให้เขาได้บ่มเพาะสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอดทั้ง 10 ค่ายอย่างต่อเนื่อง การได้ลงมือทำจริงในพื้นที่ของเขาเอง นอกเหนือจากการที่เขาได้สร้างความสำเร็จให้กับชุมชนของตัวเองแล้ว เรามองเห็นเรื่องของการ พัฒนาทักษะในการลงมือทำของพวกเขาผ่านการลงมือทำ ทำให้เขาเห็นตัวตนของตัวเองมากขึ้นทำให้เขาเห็นตัวตนของทีมชัดขึ้น ทำให้เขาเห็นเครื่องมือที่เขาได้เรียนรู้ไปเมื่อเอาลงไปใช้จริง เขาสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างเช่น เขาสามารถไปดึงผู้ใหญ่มาร่วมกิจกรรมกับเขาได้ไหม หรือโน้มน้าวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณให้พวกเขาทำงาน เพื่อพัฒนาตัวเองพัฒนาชุมชนของเขาได้หรือไม่ เขาก็จะมีพื้นที่จริงในการทำ ซึ่งเขาจะเห็นว่าเขาทำอะไรได้และยังขาดเรื่องอะไร แล้วก็จะมีกระบวนการถอดบทเรียนหลังจากเขาทำโครงงานแล้วก็จะมีกระบวนการเติมต่อเนื่องให้เขา ซึ่งเราเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่กิจกรรม แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการเรียนจากค่ายและกระบวนการได้ลงมือทำด้วยตัวเองและกระบวนการถอดบทเรียนและการกลับเข้ามาเติมเต็มเพื่อที่จะไปทำซ้ำอีก
คุณเกียรติรัตน์ ทองผาย
ติดอาวุธทางปัญญา – ให้ความรู้
1.การสร้างผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ในยุคดิจิตอล โดยคุณเกียรติรัตน์ ทองผาย ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
เป็น “ชุดความรู้” อีกส่วนหนึ่งที่ได้เติมเข้ามาเพื่อให้เยาวชนสามารถที่จะออกไปสู่ชุมชนที่กว้างขึ้นแล้วก็สามารถที่จะคิดกิจกรรม คิดโครงงานหรือการที่จะมีเป้าหมายเพื่อจะพัฒนาตัวเองให้ชัดขึ้น เราดึงเรื่องของการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ในยุคดิจิตอลเข้ามา เพื่อเพิ่มมุมมองในการที่เขาจะเห็นเป้าหมายชีวิตได้มากขึ้น ได้กว้างขึ้น
ในกระบวนการของการมองอย่างผู้ประกอบการ ก็จะมีเครื่องมือที่จะทำให้เขาได้กลับเข้ามาเขียนตัวเองว่าตัวเองชอบอะไร ว่าตัวเองมีความใฝ่ฝันอะไรได้ชัดขึ้น และเมื่อเขาเห็นตรงนั้นก็จะมีกระบวนการให้คิด วิเคราะห์ ว่าถ้าเขาจะทำในเรื่องเหล่านั้น เขาเห็นปัญหาอะไร เขาต้องการที่จะแก้ปัญหาอะไรและเขาเห็นศักยภาพอะไรที่จะทำให้เขาทำสิ่งเรานั้นได้สำเร็จ
ในกระบวนการวางแผนการเป็นผู้ประกอบการค่อนข้างมีรายละเอียดในการที่จะมองวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์ทุนที่ชัดเจน เด็กก็จะรู้จักเครื่องมือในการที่จะกลับเข้าไปใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น รู้วิธีที่จะมองอะไรอย่างใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ด่วนตัดสินใจเฉพาะความชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น แต่เขาจะมองเห็นปัจจัยเงื่อนไขที่มากกว่านั้น
แม้จะเริ่มต้นจากการที่ชอบอะไรแต่เขาก็จะรู้ว่าจะเริ่มจากจุดนี้ไปต่อได้อย่างไรได้บ้าง วิทยากรที่เราได้เชิญมาจาก สวทช. เราไปเห็นเขาทำกระบวนการแล้วก็เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนและเห็นจุดเชื่อมต่อด้วยว่า สวทช. เองเขามีงานของเขาที่เป็นการบ่มเพาะธุรกิจของคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น ดิจิตอลทีนไทยแลนด์ ถ้าเด็กและเยาวชนของเรามีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปสู่จุดนั้นได้ ตัววิทยากรเองก็ยินดีที่จะเชื่อมโยงเด็กและเยาวชนของเราไปร่วมแลกเปลี่ยนแล้วก็พัฒนายกระดับไปสู่การเป็นผู้ประกอบจริงๆได้
คุณนฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ
2.เรื่องนิเวศวิทยาเชิงลึก โดยคุณนฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ
เป็นกิจกรรมที่ให้เยาวชนได้ค้นหาปัญหาและแสดงละครเพื่อสะท้อนปัญหาในชุมชน (มีเรื่องขยะ สารเคมี เสือขาว) เป็นการเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ความเชื่อมโยงของตัวเองกับสรรพสิ่งหรือกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เห็นว่าทรัพยากรพวกนี้เป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นแค่ทรัพยากรที่เราเอามาใช้ประโยชน์ แต่เห็นว่าตัวเราเองอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เราสามารถที่จะเกื้อหนุนได้อย่างไร และเราสามารถที่จะดูแลสิ่งเหล่านี้ให้มันไม่ใช่แค่การใช้ประโยชน์ในยุคของเรา แต่เราต้องเห็นความเป็นมาของสิ่งเรานี้ตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคตที่จะส่งไปต่อรุ่นต่อไปแล้วตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญที่จะดูแลสิ่งเหล่านี้และลุกขึ้นมาเพื่อที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมให้เขาอยู่ได้เหมือนกับที่เราอยู่ได้ ให้เห็นความเชื่อมโยงและประโยชน์ของกันและกัน
กิจกรรมเรียนรู้นิเวศวิทยาแนวลึก ให้ค้นหาปัญหาและแสดงละครเพื่อสะท้อนปัญหาในชุมชน มีเรื่องขยะ สารเคมี เสือขาว
3.การรู้จักโครงสร้างสังคม ผ่านสารคดี Story of stuff และ Where to invade next โดยอาจารย์ประชา หุตานุวัตร / วราภรณ์ หลวงมณี เป็นการเรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์สังคมผ่านหนัง ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำขึ้นมา เป็นตัวแทนของทุนนิยมเพื่อธุรกิจ
กิจกรรมดูหนัง บุก แหลก แหกตาดูโลก เรียนรู้เรื่องทุนนิยมเพื่อสังคม ประเด็นของการดูแลคนโดยคำนึงถึงสิทธิและสวัสดิการของมนุษย์แต่ละคน ไม่เว้นแม้แต่ช่วงวัย
กิจกรรมเรียนรู้จากพ่อคำเดื่อง โดยพ่อคำเดื่องชวนพวกเรามาดูชีวิตของเรา เพื่อให้เห็นคุณค่าชีวิตของเราว่าจะใช้ชีวิตที่สัมพันธ์กับโลกใบนี้อย่างไร
4.การจัดการองค์ความรู้ โดยจรายุทธ สุวรรณชนะ
§กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ / ทบทวน / และฝึกฝนตนเอง
กิจกรรมทบทวนการเรียนรู้มีสองกิจกรรมใหญ่ๆ ดังนี้
กิจกรรมสายธารการเรียนรู้ เมื่อทบทวนการเรียนรู้ทั้ง 8 วันแล้ว วิทยากรให้ช่วยกันวาดภาพสิ่งที่ทบทวนออกมา โดยทุกคนจะได้วาดภาพนี้ แต่ให้เลือกว่าเราจะอยู่ตรงไหนของวัน โดยเลือกว่าประทับใจวันไหนมากที่สุด แล้วเลือกกิจกรรมที่ชอบประทับใจมากที่สุดดึงออกมาเป็นภาพ
กิจกรรม World Café ให้เยาวชนสะท้อนการเรียนรู้ของตนเอง ในระยะเวลา 8 วัน กับการเรียนรู้ในด้านต่างๆ และกิจกรรมปวารณา
กิจกรรมฝึกฝนคุณลักษณะนิสัยตนเองที่ทำเป็นประจำทุกวัน อาทิ กิจกรรมสวดมนต์ ภาวนา ใส่บาตร , กิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ , กิจกรรมออกกำลังกาย , กิจกรรมการเรียนรู้ความงามและประวัติศาสตร์ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง และกิจกรรมทำความสะอาดสถานที่ เตรียมน้ำดื่ม ล้างจาน
กิจกรรมวาดภาพพุทธศาสนาในมุมที่ฉันรู้จัก
กิจกรรมวาดภาพพุทธศาสนาในมุมที่ฉันรู้จัก โดยพระอาจารย์สมบูรณ์ สุมังคโล โดยให้วาดภาพพุทธศาสนาในมุมที่รู้จักก่อนที่จะเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในแง่มุมที่ลึกขึ้น ซึ่งเรื่องสมาธิ สติ ภาวนาเป็นเรื่องสากลไม่ใช่เฉพาะเรื่องของพุทธศาสนาเท่านั้น
- กิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ ให้เราสะสมพลังงานก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมในช่วงบ่าย ซึ่งมีงานวิจัยศึกษาเรื่องเหล่านี้