“ห้องสมุดที่นี่มีขนาดเล็ก คับแคบ ไม่สวยงาม และมีหนังสือน้อย ถึงมีก็ไม่ทันสมัย ทำให้นักเรียนกว่า 300 คน ไม่สนใจอ่านหนังสือ ทำยังไงห้องสมุดของโรงเรียนถึงจะให้สวยงามและมีหนังสือน่าอ่านมากขึ้น มีชีวิตและเป็นสถานที่บ่มเพาะนิสัยรักการอ่านให้นักเรียนได้” ธนพร บุญส่ง หรือ “นุ่น” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประธานนักเรียนโรงเรียนบ่อทรัพย์ อยากจะทำให้เป็นจริงหลังจากได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนๆ
จังหวะเดียวกันนั้น พรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ “ป้าหนู” ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ได้เข้ามาแนะนำ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำให้นุ่นมองเห็นช่องทางการทำห้องสมุดให้มีชีวิต จึงนำเรื่องไปปรึกษา
"ศลิษา มานะศิริ" หรือ “ครูษา”และหาสมาชิกด้วยการออกไปประกาศหน้าเสาธง พบว่ามีน้องๆ ชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาสมัคร 13 คน ซึ่งเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือและเข้าห้องสมุดเป็นประจำ
วนัชพร หวั่นเส้ง หรือ “กิ๊ฟ” บุษยา พิมพาชะโร หรือ “บุษ” พิมพิศา ปาณะ หรือ “โอ๊ต” และ อารีรัตน์ งาหัตถี หรือ “แนน” คือเพื่อนๆ ของนุ่น ภายใต้ชื่อกลุ่มจิตใสอาสา ที่มาช่วยทำให้ห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้อง เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความบันเทิง เอาหนังสือไปสอนน้อง ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการ นุ่นและเพื่อนๆ ได้ทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความต้องการใช้ห้องสมุดในโรงเรียน ทั้งถามแบบตัวต่อตัว และแจกแบบสอบถาม พบว่า ห้องสมุดมีหนังสือน้อย ที่มีอยู่ก็เล่มเก่าๆ เดิมๆ บางเล่มอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก อยากได้หนังสือใหม่ๆ
นุ่นและเพื่อนจึงเชิญชวนผู้ปกครองและชาวบ้านให้มาบริจาคหนังสือ คัดเลือกบางส่วนที่เป็นประโยชน์เก็บไว้ บางส่วนนำไปขายเพื่อนำเงินมาสมทบทุนพัฒนาห้องสมุด เช่น อุปกรณ์การเรียน หนังสือดีๆ หรือของตกแต่งห้องสมุดให้สวยงาม แต่ “หนังสือ” ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นุ่นและเพื่อน จึงเขียนจดหมายด้วยลายมือกว่า 100 ฉบับเพื่อขอความอนุเคราะห์หนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ เช่น ซีเอ็ด และสำนักพิมพ์อื่นๆ
พร้อมกับจัดแบ่งทีมในกลุ่มแกนนำ ชวนเพื่อนรวมกลุ่มมาอ่านหนังสือให้น้องฟัง โดยคัดเอาหนังสือและการ์ตูนที่คิดว่าน้องๆ สนใจใส่ตะกร้าไปอ่านให้น้องฟัง และแล้ว “ห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่” ซึ่งมีต้นแบบมาจากกิจกรรมนี้มาตั้งแต่เรียนชั้น ป.2 - ป.3 ที่คุณครูนำหนังสือหนังสือใส่ตะกร้าแล้วมาวางไว้ที่ม้าหินอ่อนเพื่อให้เด็กนักเรียนอ่าน แรกๆ ก็ไม่ได้รับความสนใจ หลังจากปรับกลยุทธ์ด้วยการเล่นเกม มีตุ๊กตาหรือหุ่นมือประกอบการเล่า นอกจากนั้นยังดัดเสียงสูงๆ ต่ำๆ เป็นเหมือนตัวละครในนิทานที่อ่านให้น้องๆ ฟัง ก็ได้รับความสนใจมากขึ้น
รวมทั้ง “ละครหุ่นมือ” ที่กลุ่มคิดขึ้น กิจกรรมครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นุ่นแบ่งเพื่อนๆ แกนนำเป็น 5 กลุ่ม กระจายอ่านนิทานให้น้องๆ ฟังตามมุมต่างๆ ในโรงเรียน และระหว่างที่อ่านหนังสือก็จะมีกิจกรรม “ตอบคำถามชิงรางวัล” ระยะเวลา 4-5 เดือนของการทำโครงการ พบว่ามีน้องๆ ระดับชั้นอนุบาลสนใจเข้าร่วมฟังนิทานที่พี่ๆ นำมาเล่าประกอบละครหุ่นมือเพิ่มขึ้น
ที่สำคัญมีหนังสือจากสำนักพิมพ์ซีเอ็ดบุ๊ค และสำนักพิมพ์อื่นๆ มูลค่านับแสนบาททยอยมาส่งที่โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ทำให้ “ห้องสมุดโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์” มีจำนวนหนังสือเพิ่มขึ้น และมีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เด็กๆ นักเรียนในโรงเรียนได้ใช้ ทั้งหมดนี้เกิดจากความพยายามของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รักหนังสือและอยากทำประโยชน์อยากให้น้องๆ ในโรงเรียนอ่านหนังสือออก สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มจิตอาสามีค่ามากต่อตนเองและผู้อื่น คือสิ่งดีๆ ที่ยังคงมีคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อสังคม
พรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ “ป้าหนู” ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เล่าว่า ระหว่างการทำกิจกรรมสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้อง เด็กๆ ทั้ง 5 คนล้วนเกิด “กระบวนการเรียนรู้” และเกิด “ความเปลี่ยนแปลง” หลายด้าน โดยเฉพาะการปรับเทคนิคการพูด และการสื่อสารผ่านละครหุ่นมือ หรือแม้แต่การเล่านิทาน เหล่านี้คือ “สิ่งใหม่” ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะนำความภาคภูมิใจมาสู่คนทำงาน โรงเรียน และเกิดผลต่อชุมชน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นว่า “เพียงแค่คิด” ก็มิอาจเดินไปสู่จุดหมายได้ หากไม่ได้ “ลงมือทำ”
และสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า “การทำเรื่องเล็กๆ ตามศักยภาพ” ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้..
ที่มา คมชัดลึกออนไลน์