ครู DELIVERY ไอเดียดี ๆ สำหรับการปฏิรูปครู

ครู DELIVERY ไอเดียดี ๆ สำหรับการปฏิรูปครู

ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป Wednesday July 16, 2014 16:36

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล

­

ในฐานะนักเรียนครูอย่าง “เอก” เอกพงษ์ สมหา นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณมองว่า การเป็นครูที่ดี ไม่จำเป็นต้องสอนดีเพียงอย่างเดียว “ครูดี” ต้องสามารถให้ได้ทั้งความรู้ ความรัก ความเอาใจใส่ กระทั่งสามารถละทิ้งความสะดวกสบายของตัวเอง

­

ซึ่งกว่า “นักศึกษาครู” คนนี้จะเดินทางมาถึงจุดที่ “เข้าใจแก่น” ของความเป็นครูได้นั้น เขาก็ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ต่างจากนิสิตทั่วไปที่ตื่นเช้าไปเรียนหนังสือ สอบ เรียนจบ และไปทำงาน

แต่สิ่งที่ เอกพงษ์ ต่างจากนิสิตคนอื่น ๆ คือ เขาไม่ปล่อยให้โอกาสที่เดินทางมาหาถึงที่ต้องหลุดมือไป

­

เพราะเอกพงษ์ มองเห็นข้อดีของเนื้อหาทีเขียนอยู่ในกระดาษเพียงหนึ่งแผ่นที่สงขลาฟอรั่ม ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ส่งไปเชิญชวนมหาวิทยาลัยทักษิณส่งเยาวชนร่วมทำโครงการ “พลังเยาวชนสงขลา” เมื่อปีที่แล้วนั้น....สิ่งที่เอกเห็นคือ การเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว นักศึกษาต้องรวมกลุ่มกันไม่น้อยกว่า 5 คน และต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา โครงการที่เสนอต้องมีฐานมาจากปัญหาของชุมชน และที่สำคัญสงขลาฟอรั่มมีพี่เลี้ยงค่อยติดตามหนุนเสริมกระบวนการทำงานตลอดทั้งโครงการ และมีงบประมาณจำนวนหนึ่งไว้สำหรับการทำโครงการ

­

เอกมองว่า โอกาสแบบนี้ไมได้มีบ่อยนัก เขาจึงชักชวนเพื่อน ๆ ประกอบด้วย “แคร์” ศุภรดา เพ็งรัตน์ “แบ็งค์” วสันต์ ระมะโน “เมมี่” สรารัตน์ โพชสาลี “สาว” อรวรรณ นิ่มดวง “พีท” เบญจพล สงมาก และ “มะปราง” นวพร บริสุทธิ์ ทั้งหมดเป็นนักศึกษาวิชาเอกสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

และโครงการที่เข้าและเพื่อน ๆ ร่วมกันเสนอเป็นโครงการที่ต้องการเอาความรู้ “วิชาครู” ออกไปรับใช้ชุมชนที่พวกเขาสังกัด โดยเฉพาะในโรงเรียนที่กำลังจะถูกยุบอย่าง “ โรงเรียนพังเภา”

­

“ก่อนหน้าทีจะทำโครงการนี้ ผมเคยคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนพังเภาในช่วงที่ไปทำกิจกรรมอาเซียนของทางมหาวิทยาลัย...ผู้อำนวยการท่านบอกว่าที่โรงเรียนมีครูน้อย คือมีกันอยู่ 2 คน และถ้าวันไหน ผอ.ต้องมีภารกิจติดประชุมในเมืองหรือต้องเข้ากรุงเทพ ก็จะเหลือครูเพียงคนเดียว...ทางออกของ ผอ.คือให้เด็ก ๆ เรียนกับจอตู้..หรือไม่ก็เรียนกับครูอีก 1 คน”

­

และผลของการเรียนกับจอตู้ เด็กหลายคนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้...ผู้ปกครองเลยทยอยกันพาลูกหลานไปเรียนทีอื่น เด็ก ๆ ก็ลดจำนวนลง...ผนวกกับกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย...ต้องยุบไปรวมกับโรงเรียนใกล้ ๆ กัน ...

­

“พอต้องเขียนโครงการ...ผมเลยนึกถึงที่นี่ เพราะเราเรียนครู น่าจะเอาความรู้ความสามารถไปช่วยสอนหนังสือให้น้อง ๆ ที่โรงเรียนพังเภาได้

­

กำเนิด “ครูเดลิเวอรี่”

­

“ครูเดลิเวอรี่” คือหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่ประกอบด้วยนักศึกษาจากคณะสังคมศึกษา 5 คน และนักศึกษารุ่นน้อง ๆ ที่มีจิตอาสาอยากช่วยเหลือสังคมอีก 10 คน รวมเป็น 15 คน ทั้งหมด จะเดินทางไปไปยังโรงเรียนพังเภาที่ตั้งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยราว 50 กิโลเมตรโดยรถตู้ของทางมหาวิทยาลัย

­

ซึ่งก่อนหน้าที่จะเดินทางไปยังโรงเรียนพังเภา “ว่าที่ครู” ทั้งหมดจะมาร่วมกันกำหนดแผนการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็นทีมเพื่อรับผิดชอบในแต่ละรายวิชา

­

“เราดูจากวิชาที่เด็กเรียนอ่อน เช่นคณิตศาสตร์ และภาษาไทย...ก่อนไปสอนก็มาวางแผนร่วมกัน โดยแบ่งเป็นทีม เพราะยังใหม่สอนคนเดียวอาจจะไม่ไหว...และแต่ละทีมก็จะสอนไปตามหลักสูตร พอหมดชั่วโมงก็จะเปลี่ยนห้องสอน...หมุนไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 3 วิชา” เอก กล่าว

­

และหลังสอนจบ ว่าที่ครูทุกคนก็จะมาประชุมร่วมกันเพื่อถอดบทเรียนหาจุดบกพร่อง และจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ถ้าหากผู้อำนวยการอยู่ก็เชิญเข้าร่วมฟังด้วยและช่วยชี้แนะในบางประเด็น

­

เอกยังบอกอีกว่า การรวมตัวช่วงเที่ยงทุกวันพุธของ 15 ชีวิต โดยเฉพาะในวันแรกของการสอนจริงนิสิตครูทุกคนรู้สึกตื่นเต้น แม้ว่าจะมีการเตรียมตัวและข้อมูลที่เพียบพร้อม การเดินทางด้วยรถตู้ประมาณ 1 ชั่วโมงจากมหาวิทยาลัยทักษิณถึงโรงเรียนบ้านพังเภาทุกคนร่วมพูดคุยปรึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลขณะเดินทาง เป็นการช่วยลดความกังวลได้ด้วย

­

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ครูอาสาทุกคนเจอครั้งแรกในการสอนคือ พฤติกรรมเด็ก ที่เกิดจากการคุ้นชินกับการเรียนแบบเดิม ๆ กับครูตู้ ทำให้ตัวเด็กปฏิเสธการสอน ไม่ยอมรับการที่กลุ่มเข้าไปทำกิจกรรม “พีท” เบญจพล สงมาก หนึ่งในทีมครูเดลิเวอรี่บอกว่า คาดหวังกับการสอนไว้ค่อนข้างสูง เห็นทีท่าว่าหากปล่อยไปจะทำให้ไม่สามารถเริ่มต้นกิจกรรมการเรียนการสอนได้

­

“คิดเยอะครับ ทุกทฤษฎีที่เรียนทยอยขุดมาใช้แต่ก็ไม่ได้ผล ทั้ง วิชาเทคนิคการควบคุมชั้นเรียน หรือ วิชาจิตวิทยา ขั้นพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ยังไม่สามารถดึงเด็กให้มาสนใจได้...แต่ในครั้งต่อ ๆ มาเราก็ต้องปรับวิธีสอน เพราะเอาเข้าจริง เราไม่อาจสอนหนังสือได้อย่างเดียว เราต้องเข้าใจเด็ก ๆ ว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะอะไร หลายครั้งต้องพูดหน้าห้องเพื่อสร้างกำลังใจ ให้เด็ก ๆ เห็นว่าศึกษานั้นดีต่อตัวเองอย่างไร” พีทกล่าวก่อนเสริมว่า หลังจากการเรียนการสอน ครูจะมีสมุดบันทึกการสอนประจำตัว และทุกครั้งที่สอนต้องมีการจดบันทึกอย่างละเอียดทันทีเมื่อเสร็จจากการสอน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ในกลุ่มตกลงร่วมกัน เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงว่านักเรียนเป็นอย่างไร และเพื่อนำข้อมูลที่ได้บันทึกได้มาร่วมแชร์สิ่งที่เกิดขึ้นในการร่วมการแก้ไข

­

ครูสอนเด็ก...เด็กสอนครู เรียนรู้ปัญหาซึ่งกัน

­

จากกระดาษหนึ่งแผ่นของสงขลาฟอรั่ม กลายเป็นกระดาษหนึ่งแผ่นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเรียนการสอนของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

­

เพราะไม่นานหลังจากนั้น รูปแบบการสอนจากที่เคยมีเฉพาะในห้องเรียน ถูกขยับออกไปนอกห้อง เพราะนิสิตสามารถใช้ความรู้ “ในห้อง” มาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ “นอกห้อง” ได้ด้วยตัวเอง โดยมี “โรงเรียนพังเภา” ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเสมือน SOCAIL LAB หรือ “ห้องปฎิบัติการทางสังคม” ที่นิสิตจากคณะสังคมศึกษา ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้

­

ปิยะวุฒิ เดชนาวา หรือ “นกหวีด” ครูอาสารุ่นสอง เล่าว่า ตอนเดินเข้าไปขอเข้าร่วมโครงการดูเหมือนพี่ ๆ จะไม่มั่นใจในความสามารถ แต่เพื่อเป็นการทดสอบ พี่ ๆ ยื่นโจทย์วิชาคณิตศาสตร์มาให้ทดลองทำ

­

“ผมทำได้คะแนนเต็ม พี่ ๆ เลยให้เข้าร่วมทีม และได้สอนชั้น ป.6 “ นกหวีดกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

­

แต่เมื่อก้าวเข้าไปสอนจริง ๆ นกหวัดกลับต้องสอน “วิชาชีวิต” ก่อนเริ่มชั้นเรียนคณิตศาสตร์

­

“เพราะสังคมชนบท เด็กส่วนมากเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มักไม่เรียนต่อในระดับมัธยม เหตุผล เพราะขาดการกระตุ้นความคิดในเรื่องการเรียนต่อว่ามีผลดี...และการที่ตัวผมเองได้เข้าไปสอนเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นั้น นอกเหนือจากการสอนเรื่องของวิชาการสิ่งสำคัญที่รองลงมาที่ตั้งใจไว้ คือ การสอนวิชาชีวิตคือการเสริมทักษะการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าตอนที่เป็นเด็กเราเรียนหนังสือไม่มีสิ่งที่คอยสอนหรือชี้นำเรา อีกอย่างหนึ่ง ป.6 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการตัดสินใจในเรื่องของการเรียนต่อ แล้วยิ่งเป็นชุมชนที่ค่อนข้างชนบทแล้วการที่นักเรียนจะไม่ศึกษาต่อมีโอกาสสูง”

­

ทุกวันนี้ Model ครูเดลิเวอรี่ ถูกบรรจุไว้ในแผนการเรียนการสอนของคณะสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีโรงเรียนพังเภาเป็น “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” ของครูรุ่นต่อ ๆ มา

­

และแม้ผลของการทำโครงการจะสามารถแก้ไขปัญหาโรงเรียนถูกยุบลงไปได้ แตประเด็นสำคัญคือโครงการนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่า “หัวใจของความเป็นครู” ผู้ที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา จัดรูปแบบการเรียน เสริมทักษะชีวิต เปลี่ยนทัศนะคติการศึกษาที่ดีขึ้นให้เกิดกับตัวผู้เรียนได้อย่างแท้จริง....

­

Invalid Domain Name

­

อ่านข่าวออนไลน์ Click