
พื้นที่ประสบภัยสึนามิจังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่รุนแรงมากเหมือนจังหวัดอื่นๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อเนื่องอยู่หลายๆ ด้าน ซึ่งบางพื้นที่อาจหลงลืมเหตุการณ์นี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือเรื่องความช่วย เหลือ เพราะในช่วงนั้นต้องยอมรับว่าความช่วยเหลือต่างไหลบ่ามาจากหลายองค์กร รวมถึง อบต.ในท้องถิ่นด้วย ช่วงนั้นจะมีทั้งงบประมาณ สิ่งของ ความช่วยเหลือลงสู่ชุมชนมากมาย แต่ไม่มีระบบการจัดการที่ดีพอ ชาวบ้านมีแต่รอรับความช่วยเหลือ จนลืมคิดถึงวิธีแก้ปัญหาเมื่อมีภัยพิบัติ ชาวบ้านจะรอเป็นผู้รับฝ่ายเดียว “วิธีคิด” เช่นนี้ถูกปลูกฝังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในเรื่องความเสียหายของบ้านเรือน พื้นที่ทำกินทั้งพื้นที่การเกษตร และการทำประมง ชาวบ้านสามารถพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ส่วนเรื่องของจิตใจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง พบว่าหลังเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านหลายคนไม่กล้าออกทะเล ทำให้ขาดรายได้มาเลี้ยงครอบครัว แม้ระยะหลังเมื่อทำใจได้จนเริ่มออกทะเลได้แล้ว แต่มันยังเป็นความกลัวที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันนี้ความหวาดกลัวพิบัติภัยสึนามิเริ่มลดลงมาตามกาลเวลาที่ผ่านมา
สำหรับโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามินี้เป็นการนำ “กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” มาใช้ตั้งแต่เริ่มด้วยให้คนในชุมชนรวมตัวกันขึ้นมาร่วมคิดร่วมกันค้นหาปัญหา ของตนเอง ค้นหาสิ่งที่อยากจะแก้ เป็นกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านเห็นถึงปัญหาของตัวเองตั้งแต่ตัน เพราะฉะนั้นชาวบ้านจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของปัญหาว่านี่คือปัญหาของเขาเอง ตัวเขาเองเป็นผู้ที่อยากจะทำแต่สิ่งเขาทำอยู่ภายใต้การจัดการข้อมูลของชุมชน เพราะฉะนั้นไม่ได้เพียงคิดแค่ว่าอยากจะทำ แต่มันต้องมี “ข้อมูล” รองรับว่าเขาต้องการแก้ปัญหานี้ เพราะมีข้อมูลหนุนเสริมในการวางโจทย์การทำงานของชาวบ้าน ดังนั้นการเริ่มต้นจากความอยากจะทำ การเป็นเจ้าของปัญหา รวมถึงการมีข้อมูลรองรับ จะทำให้ชาวบ้านมีความตั้งใจในการทำงานอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าเป็นการดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนมาตั้งแต่ต้น ได้แกนทำงานที่ตั้งใจทำงานจริงๆ