ในยุคที่คนทำงานประจำหันมาทำ “อาชีพฟรีแลนซ์” กันจนเป็นแฟชั่น โดยเฉพาะคนเจนเนอเรชั่นใหม่คือ เจน Z ที่มีแนวโน้มจะทำอาชีพอิสระนี้กันมากขึ้น แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะมั่นใจได้อย่างไร? ว่าอาชีพอิสระนี้จะสามารถสร้างรายได้ และเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดได้ในวันข้างหน้า วันนี้มูลนิธิสยามกัมมาจลมีรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ทำงานอิสระไม่ต่ำกว่า 5 ปี และมีแนวโน้มที่จะมีความมั่นคงในงานของตนเองขึ้นเรื่อยๆ มาเล่าประสบการณ์และมีข้อแนะนำที่น่าสนใจ ได้แก่ “กอล์ฟ” หรือ นายธวัชชัย เหล่าชัยพฤกษ์ วัย 28 ปี อดีตเจ้าของผลงาน Animation เรื่อง Fact Fake 1 ใน 10 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายในเวที Thailand Animation Festival 2 (TAF2) ในปี 2557 ได้มีคำตอบให้กับน้องๆ ที่สนใจจะยึด“อาชีพฟรีแลนซ์” อย่างเต็มตัว “กอล์ฟ” ชี้คาถาง่ายๆ แค่มี “ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ” ก็เป็นบันไดก้าวแรกไปสู่ความสำเร็จได้แล้ว
“ผมตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าจะทำงานฟรีแลนซ์ ซึ่งมันยากแต่ผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจก็สามารถทำได้ ผมเริ่มทำงานฟรีแลนซ์ชิ้นแรกคือโมชั่นกราฟฟิกของสภากาชาด ได้ออกอากาศทางไทยพีบีเอส ตอนนั้นได้ไปเข้าค่าย Animator Ar-Sa ที่ผลงานเรื่องFact Fake ติด 1 ใน 10 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายในเวที Thailand Animation Festival 2 (TAF2) ในปี 2557 และเจอพี่โปรดิวเซอร์รายการคนหัวรั้นเข้ามายื่นนามบัตรให้ถามว่าผมทำอะไรได้บ้าง จากนั้นก็ได้งานชิ้นแรก หลังจากงานชิ้นนี้ได้ฉายออกไปก็ได้งานต่ออีกหลายชิ้น ทำให้ได้เจอกับพี่ๆ จากหลายบริษัททำให้เราได้สะสมคอนเนกชั่นคนไปในตัวครับ” กอล์ฟเล่าจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ ซึ่งทำระหว่างที่กำลังเรียนปริญญาตรีใกล้จบที่คณะดิจิตอลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม และเจ้าตัวยังรับทำกิจกรรมโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ จัดโดยเนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ซึ่งเป็นงานฟรีแลนซ์ที่กอล์ฟต้องรับผิดชอบเป็นหัวหน้าโปรเจค มีกิจกรรม 3 เดือนครั้ง และก่อนมีกิจกรรมก็ต้องมีประชุมเดือนละครั้ง สองครั้ง ทำให้กอล์ฟรู้ว่าการจัดการชีวิตช่วงนี้แรกๆ ยอมรับว่ายากมาก ถึงแม้เจ้าตัวจะมีประสบการณ์ทำงานประจำอยู่ 6 เดือน ได้เงินเยอะมาก แต่พบว่างานหนักมาก เลยทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากทำงานประจำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากประสบการณ์การทำฟรีแลนซ์ช่วงแรกบวกกับการจัดการชีวิตให้เป็นระบบของ “กอล์ฟ” ทำให้เจ้าตัวกล้าทำอาชีพฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว “ตอนนี้ผมทำฟรีแลนซ์เต็มตัวแล้ว สนุกดี ไม่อยากทำงานประจำแล้ว ตอนนี้งานที่ผมรับทำคือโมชั่นกราฟฟิก และทำหน้าที่เป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ เพิ่งมีงานใหญ่งานแรกเข้ามาคือกำกับโฆษณาน้ำผลไม้ยี่ห้อหนึ่ง เดือนๆ หนึ่งจะมีงานฟรีแลนซ์เข้ามาเดือนละชิ้น แต่โปรเจ็กค์หนึ่งจะทำประมาณ 3 เดือน ปีหนึ่งมี 3-4 งานก็สามารถอยู่ได้รายได้พอๆ กับงานประจำ โชคดีที่ตอนนี้มีรูทีนทำแบนเนอร์กราฟฟิกโพสต์ในเฟสบุ๊คให้กับน้ำยาขัดห้องน้ำยี่ห้อหนึ่งอยู่ และผมก็ยังรับงานแบบที่เป็นเจ้าของไม่ใช่เป็นซัพพลายเออร์รับงานมาและกระจายงานต่อให้กับรุ่นน้องด้วย ตอนนี้วางแผนจะตั้งบริษัทเพราะกำลังไปรับงานของหน่วยงานภาครัฐมาทำครับ”สิ่งที่หนึ่งทำให้งานกอล์ฟขยายจากงานชิ้นเล็กเป็นชิ้นใหญ่ได้เพราะคอนเนกชั่นกับรุ่นพี่รุ่นน้องในวงการแอนิเมชั่น เมื่อรู้ว่าใครเก่งอะไรก็ดึงมาช่วยทำให้ได้ผลงานดีและยังกระจายรายได้ให้กับเพื่อนๆ อีกด้วย
เท่านี้ “กอล์ฟ” ก็ยังไม่พอ เจ้าตัวได้เปิดร้านกาแฟชื่อดิอาร์ทคาเฟ่อยู่ตรงกับม.ศรีปทุม ทั้งที่แพลนนี้ต้องเป็นสเต็ปต่อไปของชีวิต “ที่แพลนไว้อยากไปเรียนต่อเมืองนอกก่อนแล้วแล้วค่อยกลับมาเปิดร้านกาแฟ อยากมีแกลอรีอาร์ท แต่ได้ทำเลดีก่อนก็เลยเปิดร้านกาแฟก่อน จุดประสงค์คือต้องการเงินที่มีแน่นอนวนต่อเดือนได้ไม่ต้องเยอะมาก 1-2 หมื่น โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร บริหารอย่างเดียว มีลูกจ้าง” ด้วยวิธีคิดที่มองรอบด้านทำให้ทำให้ “กอล์ฟ” มั่นใจว่าเขาสามารถยืนระยะ อยู่ในอาชีพนี้ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น จึงได้นำประสบการณ์มาถ่ายทอดต่อให้รุ่นน้อง ที่คิดจะเดินเส้นทางนี้ว่าต้องมีคุณสมบัติหลายด้าน ได้แก่ มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ และต้องมีความซื่อสัตย์ต่อคำพูด “ผมว่าระเบียบวินัยสำคัญที่สุดแล้ว คนชอบคิดว่างานฟรีแลนซ์เป็นงานสบายๆ จริงๆ แล้วมันอิสระที่การใช้ชีวิต แต่ต้องมีระเบียบวินัยสูงมาก เพราะต้องรับผิดชอบทุกอย่างในสิ่งที่รับมา คำพูดต้องเป็นคำพูด ใครที่อยากเริ่มทำงานฟรีแลนซ์จะต้องศึกษาเรื่องราคาหรือวิธีการกระบวนการคิด ผมว่าข้อนี้สำคัญ กระบวนการคิดสำคัญมากๆ เพราะจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น กระบวนการคิด เช่น งานนั้นเป็นงานแบบไหน เช่น งานโมชั่นเราต้องรู้ว่าสเต็ปของมันคืออะไร แล้วที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องมีก็วิธีการพูด วาทศิลป์ มีความสำคัญมาก เพราะเราเป็นคนที่เจอกับลูกค้าเอง คนส่วนใหญ่ที่เป็นฟรีแลนซ์ต่อไปไม่ได้เพราะไม่สามารถพูดกับลูกค้าได้”
“..ถามว่าอาชีพฟรีแลนซ์มั่นคงไหม มันมีลู่ทางของมันอยู่ครับ ผมเรียนแอนิเมชั่นตอนที่มองเข้ามาผมไม่รู้ว่าแอนิเมชั่นทำอะไรได้บ้าง แต่พอเข้ามาแล้วผมจึงเห็นว่ามีช่องทาง ถ้าเรารู้จักขวนขวาย ทุกอย่างมีขั้นตอนของมัน สำหรับน้องๆ ที่คิดจะเป็นฟรีแลนซ์ อาจจะต้องคิดตั้งแต่ก่อนที่จะเรียนจบ เพราะเรียนจบแล้วคิดมาเป็นฟรีแลนซ์ยากมาก เพราะที่สำคัญต้องมีคอนเนกชั่น อย่างผมทำงานมาตั้งแต่ปี 3 รู้จักรุ่นพี่ก็มีคอนเนกชั่นระดับหนึ่ง ก่อนจะมาเป็นฟรีแลนซ์ผมแนะนำว่าให้ทำงานก่อนสัก 2 - 3 ปี เปลี่ยนบริษัทมาสัก 2 บริษัท จะได้มีคอนเนกชั่น”
สุดท้าย “กอล์ฟ” ฝากไว้ว่าอย่ามองที่ชีวิตฟรีแลนซ์สวยหรูเพียงด้านเดียวเท่านั้น“ผมมีเพจที่ชื่อว่า Tale แปลว่าเล่าเรื่อง ในเพจมีเรื่องราวการใช้ชีวิตของผมที่ไปเที่ยวมา ภาพสวยงาม ทุกคนมองว่าเป็นการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ได้ไปเที่ยวเยอะ ไปเที่ยวหลายประเทศ ได้ทำงานอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ผมอยากจะบอกว่ากว่าเราจะมาถึงจุดๆ นี้ เราต้องผ่านอะไรมาเยอะมากๆ ข้างหลังภาพนั้นมีอะไรอีกเยอะ อย่าแค่มองความสำเร็จของเรา อย่ามองแค่ดาว เราก็มีทางคดเคี้ยวเหมือนกัน คนสมัยนี้มีไอดอล ไอดอลพูดอะไรก็แล้วแต่จะดูเท่ ดูมีแรงบันดาลใจ ดูเป็นความฝัน จินตนาการ แต่กว่าคนเหล่านี้นจะมาถึงตรงนี้ได้ ทางมันคดเคี้ยวมาก กว่าที่คนๆ หนึ่งจะมีชีวิตสโลว์ไลฟ์อย่างที่น้องๆ อยากเป็น มันต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก เขาต้องขยัน อดทน และเชื่อมั่นใจสิ่งที่รัก แล้วต้องศึกษาในสิ่งที่รักแล้วก็เดินๆๆๆ ต่อไป” กอล์ฟย้ำให้คิดเยอะๆ ก่อนจะก้าวสู่เส้นทางสายนี้
ถึงแม้ตอนนี้ “กอล์ฟ”จะพาตัวเองมาได้ไกลมากๆ แล้ว แต่”กอล์ฟ” ก็ยังไม่ยอมหยุดอยู่เพียงแค่นี้ ยังพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ ที่ ม.เกษมบัณฑิต ซึ่งเหลือทำธีสิสสุดท้ายแล้ว
นอกจากนี้ “กอล์ฟ” ยังได้ฝากกับน้องๆ ไว้ว่าเมื่อเรา “ได้” จากสังคมเราก็ควร “ให้” กลับไป โดยที่ตนเองก็ทำเช่นกัน ตอนนี้ได้มีค่ายที่ใช้ชื่อว่ามือบอร์น (born) โดยทำเป็นค่ายส่วนตัว ทำมาได้สองปีแล้ว เมื่อมี เวลาว่างกอล์ฟก็แพ็คกระเป๋าขึ้นดอย ไปสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน แถบจ.แม่ฮ่องสอน ครั้งละ 5-7 วัน เพื่อสอนงานศิลปะให้กับเด็กๆ เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ล่าสุดไปสอนเด็กทำว่าวเมื่อเด็กเห็นว่าวลอยขึ้นไปบนฟ้าก็ตื่นเต้นกันใหญ่ “ผมรู้สึกว่ามีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามอบให้ สิ่งนี้ กลับมาเติม “พลัง” ให้ผม ผลที่กลับมามันยิ่งใหญ่มาก ให้โดยที่ไม่หวังอะไร” กอล์ฟฝากทิ้งท้ายไว้