เมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนาสังคม “เยาวชนต้นกล้าอันดามัน”

ต้นไม้จะเติบใหญ่ ยืนยงอยู่อย่างสง่างาม สำคัญที่สุด คือ “เมล็ดพันธุ์ที่ดี” สังคมก็เช่นกัน จะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยรากฐานที่มั่นคง

­

“เมล็ดพันธุ์” เปรียบได้กับ “เยาวชน” หากเราบ่มเพาะด้วย “ใจ” คอยรดน้ำ พรวนดิน และดูแลอย่างถูกวิธีแล้ว เมล็ดพันธุ์นั้นก็จะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่สวยงาม แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็นแก่สังคม

­

“ต้นกล้าอันดามัน” คือหนึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจาการบ่มเพาะ จาก เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (SAN) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอหาดสำราญ โดยการสนับสนุจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

­

จากการรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย และดูแลเอาใจใส่อย่างดีกว่า 4 ปี วันนี้ “เมล็ดพันธุ์” เหล่านั้นเติบโตเป็น “ต้นกล้า” ที่แข็งแรง คอยช่วยเหลือ และดูแลสังคม เราเรียกต้นกล้าใหม่นี้ว่า “ต้นกล้าอันดามัน”

­

กลุ่มเยาวชน “ต้นกล้าอันดามัน” เป็นการรวมตัวทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่บ้านเกิดของเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง

­

นายสมรรถ เสลา ประธานชมรมกลุ่มต้นกล้าอันดามัน ได้บอกเล่าถึงความตั้งใจในการรวมตัวทำกิจกรรมว่า “กลุ่มเรามีทั้งหมด 30 คน ทุกคนทำงานเพราะ “ใจรัก” อยากช่วยแก้ปัญหาชุมชน และพัฒนาท้องถิ่น”

­

“รู้สึกสนใจงานด้านอนุรักษ์ตั้งแต่ ป.6 แล้วพ่อก็เป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ปลาโลมาบ้านตะเสะ ต่อต้านอวนรุนอวนลากของนายทุน งานอนุรักษ์เลยอยู่ในสายเลือด” อัสมา ทุ่ยอัน สาวน้อยแกนนำรุ่นบุกเบิกวัย 20 ปี กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น

­


ส่วนหนุ่มนักอนุรักษ์มือใหม่ นายกิตติศักดิ์ กังสพฤติกุล ส่งยิ้มพร้อมกับบอกเล่าจุดเริ่มต้นในการเข้ามาร่วมกลุ่มว่า “สนใจด้านทะเลอยู่แล้ว อยากมีความรู้ด้านทะเล เพื่อนำมาพัฒนาชุมชน” จากความสนใจดังกล่าวจึงทำให้กิตติศักดิ์เลือกเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล เอกชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยเขาตั้งใจจะทำงานเป็นอาจารย์เผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้แก่เยาวชน เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนชาวเลให้ดีขึ้น

­

ด้วยความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เยาวชนต้นกล้าอันดามันจึงลงมือทำกิจกรรมเพาะกล้าโกงกาง และนำไปปลูกยังป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ยังจัดค่ายเยาวชนเพื่อปลูกฝังนิสัยการอนุรักษ์ทะเลและชายฝั่งแก่เด็กในชุมชน

­

“กิจกรรมไม่ได้มีแค่การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเท่านั้น แต่เรายังต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิตชาวเลด้วย กลางปี 2551 ที่ผ่านมา จึงทำกิจกรรมปลูกข้าวริมชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่คู่กับการประมง” สมรรถ เล่าถึงกิจกรรม “อู่ข้าวชาวเล”

­

กิจกรรมที่กลุ่มเยาวชนต้นกล้าอันดามันทำมากว่า 4 ปี มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนตะเสะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และทำให้คนในชุมชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ มีความ “รัก” และ “หวงแหน” สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน ที่สำคัญการทำกิจกรรมร่วมกันยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

­

“การทำงานแม้จะลำบาก แต่ก็สนุก เมื่อเห็นคนในชุมชนรักกัน ทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกัน เกิดเป็นภาพที่น่าประทับใจ” ซัด หรือนายสุทธิพงศ์ หมาดหลู คณะกรรมการฝ่ายวิชาการกล่าวด้วยรอยยิ้ม

­

“กิจกรรมนี้ไม่ได้มีประโยชน์กับชุมชนอย่างเดียว คนที่ทำก็ได้ประโยชน์ด้วย” กิฟท์ หรือนางสาวปริฉัตร หูเขียว สาวน้อยนักอนุรักษ์พัฒนาวัย 19 ปี เอ่ยขึ้น พร้อมกับเล่าว่า เธอเข้ามาทำกิจกรรมนี้เพราะ “ใจรัก” และเมื่อได้ทำกิจกรรมทำให้เธอได้รู้จักคำว่า “มิตรภาพ” ได้เข้าใจคำว่า “เสียสละ” และได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ซึ่งคือที่มาของคำว่า “สามัคคี”

­

แต่กว่า “ต้นกล้า” จะแข็งแรงได้ ก็ต้องพบเจอกับพายุน้อย ใหญ่ มรสุมซัดหลายครั้งหลายครา “แรกๆ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับการทำกิจกรรมของเรา มองว่าเราเป็นเด็กจะทำอะไรได้ แต่พอผลงานปรากฎ อย่างเช่นเรื่องกิจกรรม “อู่ข้าวชาวเล” ปลูกข้าวแล้วได้ผลผลิตดี ผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนความคิด และเห็นคุณค่าของการรวมตัวทำกิจกรรมของเยาวชนมากขึ้น”

­

การเจอปัญหา แรงกดดันมากๆ บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เรา “สู้”เพราะอยากพิสูจน์ความสามารถให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเรา “ทำได้” เลยทำให้เราสามัคคีกันมากขึ้น เพราะ “สามัคคีคือพลัง นำมาซึ่งความสำเร็จ” สมรรถฉายแววตาเด็ดเดี่ยว

­

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่เติบโตมาอย่างมีคุณค่า และวันนี้ “เมล็ดพันธุ์” นี้ก็กลายเป็น “ต้นกล้า” ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “เยาวชนมีพลังที่สามารถขับเคลื่อน พัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า”

­

แล้วคุณละ! พร้อมหรือยังที่จะบ่มเพาะ พัฒนาตัวเองให้เป็น “ต้นกล้า” ที่แผ่กิ่งก้านไพศาล เพื่อเป็นหลักให้คนในสังคมได้พึ่งพิง


โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนผ่านอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรชายฝั่งหลังสึนามิ ระยะที่ 2
โดยมูลนิธิอันดามัน สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล
กลุ่มเยาวชนต้นกล้าอันดามัน ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง


­