นำเสนอเครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดย คุณพรทวี ยอดมงคล (ปุ้ย)
คุณพรทวี ยอดมงคล กล่าวว่า เครื่องมือในการวิเคราะห์ชุมชนนั้น ในความเป็นจริงพี่เลี้ยงงานวิจัย หรือคนทำงานชุมชนส่วนใหญ่ก็ใช้กันมานานแล้ว แต่ที่ได้นำมาพัฒนาเป็น “หลักสูตร PRA” ก็เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยหลักสูตร PRA ดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่ คุณอรุณี เวียงแสง (อ้อย) นำมาถ่ายทอดให้พี่เลี้ยงงานวิจัยท้องถิ่นทางภาคเหนือใช้..
ในการใช้เครื่องมือดังกล่าวถ้าเรามุ่งเป้าไปที่ข้อมูล เราก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำงานเองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน แต่วัตถุประสงค์จริงๆ นั้นเราจะให้ชุมชนทำเพื่อดึงการมีส่วนร่วม ประเภทของเครื่องมือดังกล่าวคล้ายเครื่องมือทางมานุษยวิทยา เช่น แผนที่เดินเดิน แต่เราเรียกเป็นแผนที่รอบนอก-รอบใน ซึ่งจะมีหลายเครื่องมือโดยแต่ละเครื่องมือสามารถใช้เชื่อมโยงกันเพื่ออธิบายเรื่องราวของชุมชนได้ เช่น ปฏิทินอาหารจากป่าจะเชื่อมโยงกับแผนที่รอบนอกในการอธิบายว่าชุมชนใช้ทรัพยากรอย่างไร? มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร? โดยส่วนใหญ่เรามักโยงกับคำถามเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูทรัพยากรในชุมชนเช่นเดียวกับเรื่องวัฒนธรรมบางอย่างที่หายไปว่าจะฟื้นฟูขึ้นมาไหม? เป็นต้น ส่วนปฏิทินชุมชนก็จะช่วยให้เห็นสภาพความเป็นจริงว่าชุมชนมีกิจกรรมในช่วงไหน และว่างช่วงไหนบ้าง? ซึ่งจะช่วยวางแผนในการพัฒนาได้ดี เช่น การทำอาชีพเสริมนั้นสอดคล้องกับประเพณีไหม?
สำหรับโอ่งชีวิตจะใช้เพื่อดูรายรับ-รายจ่ายซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของชุมชน ด้าน Time line ก็จะเป็นการชักชวนให้ช่วยกันดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่การก่อตั้งของชุมชนมาจนถึงปัจจุบันว่าชุมชนปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร? และชวนมองว่าชุมชนมีศักยภาพในการปรับตัวตลอดเวลา เพียงแต่ไม่รู้ตัวว่ามีศักยภาพตรงนั้น รวมไปถึงมีเรื่องการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำงานประเด็นต่างๆ สรุปคือ เครื่องมือเหล่านี้ใช้ในการทำงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ แต่คนทำก็ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและความรู้ของชาวบ้านด้วยจึงจะใช้ได้ผลจริง
ภาพตัวอย่างเครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชนแบบต่างๆ
แผนที่รอบใน: ทำเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน สามารถบอกที่ตั้งคนสำคัญ เช่น ปราชญ์ชาวบ้านได้
แผนที่รอบนอก: ใช้ดูเรื่องฐานทรัพยากรในพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เป็นความเชื่อ พื้นที่เขตอนุรักษ์ พื้นที่ทำการเกษตร หรือ บริเวณจุดเสี่ยง เช่น ดินสไลด์ นอกจากนี้ยังใช้เพื่อวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในพื้นที่เพื่อวางแผนการดูแลป่าในอนาคตได้ด้วย
เครื่องมือแผนที่ทั้งแผนที่รอบนอก และแผนที่รอบใน มักจะเป็นเครื่องมือที่นำไปใช้ในการลงชุมชนแรกๆ เพราะทำง่ายที่สุด โดยจะเป็นการจับปากกาเขียน วาดภาพ ซึ่งเหมาะกับคนในชุมชนที่มักจะไม่ถนัดเขียนแต่จะวาดรูปได้เพราะเขาจะรู้เส้นทาง วิธีการทำ คือ ตอนแรกจะถามทิศก่อน แล้วลากเส้นหลักๆ เช่น แม่น้ำ ถนน จากนั้นจึงค่อยๆ ลงรายละเอียดไปเรื่อยๆ
ข้อดีของการทำแผนที่ทั้ง 2 แบบ คือ ชุมชนได้ทบทวนข้อมูล เห็นภาพการมีส่วนร่วมของคนในกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้หญิงที่ไม่ค่อยกล้าพูดก็จะมาช่วยระบายสี เด็กก็จะชอบวาดรูป เป็นต้น แต่ก็มีข้อเสียคือส่วนใหญ่ทำแล้วชุมชนไม่ค่อยให้เอากลับมา มักจะเอาเก็บไว้ในชุมชน แต่ครั้งต่อไปที่ลงไปในพื้นที่ก็มักจะถามต่อยอดจากแผนที่เดิม บางชุมชนทำแล้วก็เอามาทำใหม่เพื่อเปรียบเทียบช่วงเวลา เช่น บ้านแม่นาเติง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยงานเข้ามาทำงานในพื้นที่มาก ชุมชนก็จะเอาแผนที่ที่ทำมา up date ได้เรื่อยๆ ทั้งนี้ประโยชน์อีกข้อคือ ชุมชนสามารถนำแผนที่นี้มานำเสนอได้ แต่ก็มีบทเรียนที่ควรระวังคือ เคยมีพี่เลี้ยงทีมวิจัยนำแผนที่ที่ชุมชนทำในกระดาษไปลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาให้ แต่ปรากฎว่าชาวบ้านอธิบายไม่ได้ เขาไม่เข้าใจเพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาทำเอง
ปฏิทินการผลิต-ปฏิทินฤดูกาล: ใช้ทบทวนวิถีการผลิตในรอบปี และการจัดการชีวิตในช่วงต่างๆ ที่จะไปปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมในช่วงเวลาต่างๆ ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสมได้อย่างไร?
โอ่งชีวิต: ทางภาคอีสานเรียกว่า “โอ่งของมาติน” ในการทำจะแบ่งเป็น 2 ซีก คือ รายรับ และจ่าย เพื่อจะระดมว่าคนในชุมชนมีรายได้-รายจ่ายอะไรบ้างที่เข้ามาในและนอกภาคการเกษตร ทั้งนี้ในตอนแรกจะใช้วิธีการระดมก่อน แล้วตอนท้ายจึงจะใช้สติกเกอร์ให้ชาวบ้านลงคะแนนว่าภาพรวมของชุมชนมีรายได้-รายจ่ายมากที่สุดส่วนไหน? จากนั้นก็อาจจะมีภาคต่อมาโดยเขียนลำดับความสัมพันธ์มากน้อยลงกระดาษแผ่นใหม่เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายรับ-รายจ่าย ซึ่งจะทำให้เกิดการคิดเรื่องการบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือนและชุมชนว่าจะพัฒนาตัวไหนอย่างไร? ส่วนใหญ่ข้อมูลมักจะออกมาที่เรื่องของการลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร หรือบางทีก็เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่นหวย ค่าเหล้า-บุหรี่ ซึ่งข้อมูลที่ได้มักจะสอดคล้องกับการทำบัญชีครัวเรือน
เส้นแบ่งเวลา หรือ Time line: จุดเริ่มต้นมักเริ่มปีที่ก่อตั้งชุมชน ซึ่งจากประสบการณ์ในการลงไปทำในชุมชนจะพบว่า เวลาการก่อตั้งชุมชนกับเหตุการณ์ในประเทศส่วนใหญ่ก็จะสอดคล้องกันกับการพัฒนา เช่น ช่วงเวลาการเข้ามาของถนน-โรงเรียน หรือ รถมอเตอร์ไซด์ที่เริ่มเข้ามาในชุมชน เป็นต้น ดังตัวอย่างชุมชนในพื้นที่โครงการหลวงที่มักจะพบว่า โรงเรียนจะเข้ามาช่วงหลังจากที่มีโครงการหลวงเข้ามาตั้งในพื้นที่โดยครูที่ขึ้นมาสอนก็มักจะนำรถมอเตอร์ไซด์มาใช้งาน หลังจากนั้นคนในชุมชนก็เริ่มใช้มอเตอร์ไซด์กัน กล่าวคือ ครูที่เข้ามาสอนในพื้นที่มักจะนำวิถีที่เป็นอยู่เข้ามาด้วย
ไทม์ไลน์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่พี่เลี้ยงค่อนข้างมีบทบาทมากในการเขียนให้ แต่บางชุมชนก็ก้าวข้ามอุปสรรคในการเขียนด้วยการวาดภาพแทนแล้วอธิบายรายละเอียดตอนนำเสนอ ซึ่งที่เคยทำส่วนใหญ่มักจะย้อนหลังประวัตศาสตร์ไปได้ร้อยกว่าปี แต่ก็มีบางชุมชนที่ย้อนไปพันกว่าปีโดยถือเอาข้อมูลการบอกเล่าที่ได้รับฟังมาจากบรรพบุรุษ หรือบันทึกในวัดมาเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชน ในการเขียนข้อมูลที่ย้อนช่วงเวลาไปนานมากๆ ก็อาจทำได้ด้วยการแบ่งข้อมูลออกเป็นช่วงๆ ไม่ต้องต่อเนื่องเป็นรายปี ทั้งนี้ในการทำไทม์ไลน์มีบางชุมชนที่ทำแล้วสนใจก็ชวนกันศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนต่อ
ทำเนียบผู้รู้: สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีประเด็นชัดเจน การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียก็จะทำได้ยาก จึงใช้เครื่องมือนี้มาทบทวนภูมิปัญญา หรือผู้รู้ในชุมชน ซึ่งยังช่วยในการวิเคราะห์สถานการณ์การใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาต่างๆ ในชุมชนได้ เช่น การทอผ้าใช้เอง หรือ ทอเพื่อขาย เป็นต้น
การวิเคราะห์ผู้มีส่วนร่วม: ใช้เพื่อวางแผนการระดมความคิดเห็นในการทำกิจกรรม ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงแรกของการพัฒนาโจทย์วิจัย โดยในการเขียนมีหลายลักษณะทั้งวงเล็ก-วงใหญ่ หรือห่างกัน-ติดกัน เพื่อแสดงความสัมพันธ์ว่ามีมาก หรือน้อย
ในช่วงท้าย คุณพรทวี ได้สรุปว่า เครื่องมือ PRA ดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือชวนคิด ชวนคุยที่คนทำงานพัฒนามักจะใช้เพื่อระดมความเห็น และสร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ซึ่งปกติจะใช้เวลาในการอบรม 3 วัน โดยวันแรกจะเป็นการทบทวนมุมมอง-ประสบการณ์ในเรื่องการมีส่วนร่วม ส่วนวันที่ 2 จะเป็นการออกแบบเครื่องมือการลงพื้นที่ และในวันที่ 3 จะนำเครื่องมือที่ออกแบบไว้ลงไปใช้งานในชุมชนจริง ทั้งนี้จะให้ผู้เข้าอบรมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการนำเครื่องมือไปใช้ต่อหน้าชุมชนเพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง
ประโยชน์ของเครื่องมือดังกล่าวนอกจากจะใช้เพื่อวิเคราะห์ประเด็นการทำงานกับชุมชนในอนาคตแล้ว ในบางครั้งที่ใช้เครื่องมือก็สามารถแก้ปัญหาบางอย่างในขณะนั้นๆ ได้เลยโดยไม่ต้องรอให้เกิดงานวิจัย ดังตัวอย่างการนำเครื่องมือ “โอ่งชีวิต” ไปใช้ที่บ้านดง อ.สบปราบ จ.ลำปางที่ผ่านมาซึ่งมีการสำรวจข้อมูลการซื้อสินค้าจากร้านค้าในชุมชนที่ พบว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่ซื้อบัตรเติมเงินมากที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีโทรศัพท์เยอะ ดังนั้นจึงเกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าวจนค้นพบว่าการที่ต้องเติมเงินโทรศัพท์มากเป็นเพราะความไม่รู้ หรือเข้าใจเรื่องของโปรโมชั่น หรือบริการต่างๆ เช่น บางคนสมัครบริการข้อความที่ต้องเสียเงินโดยไม่ได้ยกเลิกจึงทำให้ต้องเติมเงินเรื่อยๆ เนื่องจากมักจะถูกตัดเงินหลังจากเติมเงินแล้วบ่อยๆ เมื่อรู้ข้อมูลดังกล่าวจึงชวนกันวิเคราะห์โปรโมชั่นเหล่านี้ แต่เมื่อผู้ใหญ่ไม่เข้าใจก็ทำให้เกิดการไปชวนเด็กๆ มาฟังเพื่อศึกษาเรื่องโปรโมชั่นโทรศัพท์ และเลือกการใช้ให้เหมาะสมมาอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟัง ข้อมูลที่ได้จากการทำเรื่องโอ่งชีวิตจึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เกิดโครงการวิจัย
อย่างไรก็ตามในการลงไปวิเคราะห์ชุมชนในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ค. 2555) อาจจะไม่ต้องติดกับเรื่องของเครื่องมือมากนัก ถ้าสนใจเครื่องมือตัวไหนก็ลองหยิบไปทดลองฝึกใช้ก่อน แล้วค่อยนำมาวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง...