แม้จะมีความเข้มแข็ง ทำงานกันอย่างเป็นระบบ แต่สภาองค์กรชุมชนบ้านขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ก็มองว่าการพัฒนากลไกการทำงานให้เกิดความเข็มแข็ง มีคนรุ่นใหม่มารับช่วงต่อน่าจะเป็นอีกแนวทางที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน จึงร่วมกันทำโครงการ การจัดการพื้นที่ทางทะเลผ่านบทบาทของสภาองค์กรชุมชน เป็นเพื่อรวบรวมระดมความเห็น พร้อม ๆ กับพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปในตัว


กระบวนการประชาธิปไตย หาได้เกิดจากการรวมตัว “เรียกร้อง” แต่กระบวนการทางประชาธิปไตยการเป็นการรวมตัวกันเพื่อกำหนด “เป้าหมาย” เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกัน

เมื่อมี “เป้าหมายร่วม” กระบวนการถัดมาคือการ แยกย้ายกันไปสร้างความเข้าใจตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วน

ต่างคนต่างมีหน้าที่ ต่างคนต่างมีบทบาทกันและกัน ในส่วนของคนที่ไม่มีบทบาทและหน้าที่ ก็ร่วมเป็นผู้สนับสนุนห่าง ๆ คอยเสนอความคิด แสดงความเห็น และหมั่นตรวจสอบกรณีเกิดสถานการณ์ผิดปกติ

นี่คือหลักคิดพื้นฐานการทำงานของ “สภาองค์กรชุมชนขอนคลาน”


“ขอนคลาน” เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อคราวเกิด “สึนามิ” ชุมชนแห่งนี้ก็ไม่รอดพ้นจากพลังของเกลียวคลื่นที่ถาโถมเข้าใส่

ความเสียหายที่เกิดขึ้นแม้จะเทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ รอบชายฝังอันดามัน....แต่ก็ “สึนามิ” ก็ทำให้หลาย ๆ ครัวเรือนที่บ้านขอนคลานแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

ช่วงหลังเหตุการณ์ หลายหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือ แต่ที่บ้านขอนคลานก็พยายาม “ลุกขึ้น” ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนเป็นแรงหนุนด้วยการจัดตั้ง “สภาตำบล” ขึ้นมาเพื่อเป็น “ศูนย์กลาง” การทำงานเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชน

ราวปี 2550 สภาองค์กรชุมชนขอนคลานเกิดขึ้นเพราะ หลังคลื่นลมสงบ ชาวบ้านกำลังอยู่ในช่วง “ฟื้นตัว” แต่นอกชายฝั่งออกไป กลับมีการทำประมงโดยการใช้เครื่องมือที่ผิดประเภทและผิดกฎหมาย อาทิการรุกล้ำแนวเขตของเรืออวนลากขนาดใหญ่ การทำโป๊ะน้ำลึก โพงพาง อวนล้อมประกอบเครื่องปั่นไฟ ยาเบื่อ กากชา การปล่อยน้ำเสียและของเสียจากบ่อกุ้งลงสู่แม่น้ำลำคลองที่ไหลออกสู่ทะเล เหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการทำลายความมั่นคง และทำลายแหล่งอาหารของชุมชนและอาจนำมาสู่การล่มสลายของชุมชนประมงชายฝั่งได้ในอนาคต ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้ง สภาองค์กรชุมชน ทำหน้าที่ขับเคลื่อน และร่วมกันเข้าไปจัดการประเด็นปัญหาต่าง ๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ข้อมูลพื้นที่ที่เยาวชนเก็บและทำขึ้นเอง

ข้อมูลพื้นที่ที่เยาวชนเก็บและทำขึ้นเอง

การเกิดขึ้นของสภาองค์กรชุมชนในช่วงแรก ๆ เน้นทำงานในลักษณะเรียกร้อง ปกป้อง บางกรณีใช้การขัดขวาง บางเรื่องประสบความสำเร็จ ขณะที่บางเรื่องไม่บรรลุเป้าหมายของการต่อสู้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชาวบ้านก็เชื่อมั่นในกระบวนการทำงานภายใต้สภาองค์กรชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้งขึ้นมา

แม้เหมือนจะทำงานได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเป็นกลไกคลี่คลายความขัดแย้งและเป็นกลไกประสานงานระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานของรัฐ แต่ภายใต้กลไกดังกล่าวยัง “ขาด” ข้อมูลและความรู้เพื่อที่จะนำไปขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อให้เกิดความยังยื่น อาทิ กติกา การใช้ประโยชน์ และการระบุพิกัดพื้นที่ ต่อประเด็นเหล่านี้แกนนำชุมชนอย่าง สมนึก ขุนแสง มองว่าชุดความรู้ที่ยังขาดเหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้ “สภาองค์กรชุมชน” ขอนคลานดำเนินกิจกรรมเพื่อปกป้องทะเลที่เป็นแหล่งอาหารแหล่งสุดท้ายของพวกเขาได้อย่างยั่งยืน

สมนึก ชุมแสง ผู้นำชุมชน

สมนึก ชุมแสง ผู้นำชุมชน

จึงได้มีการเสนอขอโครงการ การจัดการพื้นที่ทางทะเลผ่านบทบาทของสภาองค์กรชุมชน ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาระบบกลไกการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ โดยมีมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นพี่เลี่ยงในการดำเนินโครงการ

“จริง ๆ แล้วมันก็สำคัญทั้งสองส่วน ทั้งในเรื่องของการพัฒนากลไก และ การสร้างคนรุ่นใหม่ ตัวกลไกทุกวันนี้ยังไม่เข้มแข็ง เพราะบางเรื่องยังขาดฐานข้อมูลรองรับ ในส่วนของคนรุ่นใหม่ซึ่งแน่นอนต้องช่วยกันสร้าง ชุมชนก็เลยใช้โอกาสในการทำโครงการนี้พัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปพร้อม ๆ กัน”


ทั้งนี้ สมนึก ชุมแสง และชุมชนขอนคลานไม่ได้มองเฉพาะการพัฒนากลไกการทำงานของชุมชนตนเองเท่านั้น...คน “ขอนคลาน” คาดหวังว่าภายใต้โครงการ การจัดการพื้นที่ทางทะเลผ่านบทบาทของสภาองค์กรชุมชน จะสามารถพัฒนาขอนคลานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอื่น ๆ เนื่องจาก “ทะเล” มิได้มีเฉพาะที่ขอนคลานแห่งเดียว หากมันยังเชื่อมไปยังชุมชนอื่นโดยรอบ


“เราเข้มแข้งที่เดียวไม่ได้...บ้านอื่นต้องเข้มแข้งด้วย”

โครงการชุมชนฯเริ่มต้นเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์จากทะเล เนื่องจากมีข้อมูลพร้อม นำข้อมูลทั้งหมดในรอบ 1 ปี มารวบรวม จัดทำเครื่องมือบันทึก และสรุปรายได้พื้นที่การใช้ประโยชน์จากทะเล จากเครื่องมือการเก็บข้อมูลดังกล่าว นำมาสู่การออกแบบการเก็บข้อมูลพี่น้องชาวประมงทั้งตำบล โดยใช้การจัดเวทีเป็นรายหมู่บ้าน ซึ่งทีมต้องแบ่งหน้าที่ในการจัดเวทีครั้งนี้ คือ หน้าที่กล่าวนำภาพรวม ชี้แจงรายละเอียดข้อมูลที่ต้องการ และการนำไปใช้อธิบายแบบกรอกข้อมูล โดยมีพี่เลี้ยงในกลุ่มย่อยช่วยอธิบาย จากนั้นนำข้อมูลมาสรุปเป็นภาพรวมของตำบล

เวทีประชุม

เวทีประชุม


และในระหว่างการเก็บข้อมูลมีข้อมูลที่ตกค้างในบางหมู่บ้าน จึงได้ทำการจัดค่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ทรัพยากรทางทะเลและการใช้ประโยชน์ โดยให้เด็กได้เก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์จากทะเล ที่เริ่มต้นจากการรู้จักทะเล พื้นที่ การใช้เครื่องมือประมงในพื้นที่ต่างๆ รายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะจัดทำสื่อนำเสนอพ่อแม่ผู้ปกครอง หลังจากนั้นได้มีการสรุปข้อมูลทรัพยากรทางทะเล แหล่งสัตว์น้ำ (ดอหมัน) รวมไปถึง การเก็บข้อมูลปฏิทินฤดูกาลในรอบปีในการประกอบอาชีพในทะเล

เวทีนำเสนอข้อมูล

เวทีนำเสนอข้อมูล

ราตรี โสสนุย หนึ่งในทีมชุมชนโครงการการจัดการพื้นที่ทางทะเลฯ ตำบลขอนคลาน เล่าว่า ที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนไม่ได้มีงบประมาณเหมือน อบต. แต่ชาวบ้านก็ทำงานกันอย่างแข็งขัน ไม่ได้มีหน่วยงานองค์กรใดเข้ามาร่วม แต่ผลจากการพูดคุยหารือกันอย่างสม่ำเสมอ ก็ทำให้มีองค์กรอื่น ๆ เช่น อบต. มาร่วมกิจกรรม

“ตอนนี้มี อบต.ช่วยเรื่องงบประมาณบางเรื่อง สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 37 สนับสนุนข้อมูลความรู้ เสริมเรื่องการปลูกป่า การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชน และร่วมออกแบบการสร้างกฎระเบียบทรัพยากรทะเล นอกจากนี้ พอช. (องค์กรพัฒนาชุมชน) ก็เข้ามาสนับสนุนโครงการ และอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำสภาองค์กรชุมชนฯ นอกจากนั้นยังมีประมงอำเภอ โรงเรียนบ้านขอนคลาน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งการสนับสนุนของหน่วยงานที่มีความต่างกัน ทำให้ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลขอนคลานมีแนวคิดที่จะบูรณาการงานของแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน โดยในอนาคตจะมีการสร้างรูปแบบกลไกที่กระชับมากขึ้น ทั้งในเรื่อง คน งาน เงิน โดยมีการกำหนดแผนงานที่พร้อมให้หน่วยงานสนับสนุนไปพร้อมๆ กับคนในชุมชน”

เยาวชนร่วมปล่อยพันธ์สัตว์น้ำ

เยาวชนร่วมปล่อยพันธ์สัตว์น้ำ


โดยทั้งหมดดำเนินงานภายใต้การเห็นร่วมกันของชาวบ้าน และการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน

สุภาวัตน์ วงค์จันทร์ ทีมงานอีกคนของโครงการการจัดการพื้นที่ทางทะเลฯ เล่าว่า แม้ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นของการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหลังจากที่มีการเก็บข้อมูลเสร็จแล้ว ก็จะมีการนำเสนอในเวทีประชาคม เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทาง หรือกฎระเบียบในการจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่ต่อไป รวมถึงการกำหนดอาณาเขตในการจับสัตว์น้ำด้วย รวมทั้งต้องมีการปรึกษากับหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมโครงการ เช่น ประมง อบต. สถานีป่าชายเลน เพื่อเข้ามาเสริมในสิ่งที่ชุมชนคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ ถูกต้องตามหลักการข้อกำหนดกฎหมายหรือไม่

“ดังนั้นการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายของผู้ที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ซึ่งขั้นตอนของเราอยู่ในขั้นของการจัดทำข้อมูลทรัพยากรทางทะเล ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการคืนข้อมูลสู่ชุมชน จากนั้นจึงจะเป็นการทำเวทีประชาคม เพื่อสร้างระเบียบบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และกำหนดเป็นข้อบัญญัติตำบลกับการจัดการทรัพยากรทางทะเล”

ซึ่งเมื่อข้อมูลทั้งหมดถูกนำเสนอต่อที่ประชุม ชาวบ้านทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันกำหนดเป้าหมายร่วมกันอีกครั้ง

++++++++++++++++++++++++