​“รำลึก 12 ปีสึนามิ:จากอาสาสมัครสึนามิ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

“รำลึก 12 ปีสึนามิ:จากอาสาสมัครสึนามิ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ อนุสรณ์สถานสึนามิ บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้นำผลงาน 2 โครงการเข้าร่วมเวทีเสวนาในช่วงนำเสนอบทเรียน “จากสึนามิ...ถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน” คือ โครงการพัฒนาแนวทางสำคัญในการดำเนินงานสนับสนุนชุมชนบริหารจัดการตนเอง กรณีศึกษา : กำพวนโมเดล ปี 2558-2560 ในหัวประเด็นกำพวนโมเดลกับมิติศาสนากลไกการจัดการชุมชน และ โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการประมง จ.สตูล ในประเด็นรักจังสตูลกับการฟื้นฟูปกป้องทรัพยากรโดยใช้“ข้อมูล”และ“ความรู้”เพื่อการตัดสินใจ ร่วมตอกย้ำชุมชนพึ่งพาตนเองคือทางรอด และ

บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยภาครัฐ เอกชน ชาวบ้าน นักเรียน ภาคีเครือข่ายสึนามิทั้งจ.พังงา จ.ระนอง จ.สตูล และจ.ตรัง เข้าร่วมฟังการเสวนากันอย่างคับคั่ง และมูลนิธิสยามกัมมาจลได้ร่วมจัดนิทรรศการการดำเนินโครงการเกี่ยวกับสึนามิอีกด้วย สำหรับเวทีเสวนานี้ จัดขึ้นภายในงาน “รำลึก 12 ปีสึนามิ:จากอาสาสมัครสึนามิ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดขึ้นโดยกลุ่มอาสาสมัครภัยพิบัติบ้านน้ำเค็ม ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และมูลนิธิชุมชนไท มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียน และจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาและพัฒนาหลัง12ปีสึนามิเพื่อต่อยอดและขยายผลการสร้างชุมชนบริหารตนเองและสังเคราะห์องค์ความรู้การสร้างกลไกของชุมชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ยังมีมีตัวแทนชุมชนที่เติบโตหลังคลื่นสึนามิร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แก่ 1.พังงาแห่งความสุขกับนโยบายจัดการภัยพิบัติ นำเสนอโดย ไมตรี กงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนา 2. ชาวเลกับพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม นำเสนอโดย นิรันดร์ หยังป่าน และ3.ไทยพลัดถิ่นกับกฎหมายคืนสัญชาติไทย นำเสนอโดย วิชัย สหรุน/สุพรรณ แก้วภักดี


นายอารีย์ ติงหวัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ต.หลอมปืน อ.ละงู จ.สตูล ตัวแทนกลุ่มรักจังสตูล ตัวแทนเสวนาหัวข้อรักจังสตูลกับการฟื้นฟูปกป้องทรัพยากรโดยใช้ข้อมูลและความรู้เพื่อการตัดสินใจนั้นมีที่มาหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ เช่นเดียวกับหลายชุมชนเมื่อหลายหน่วยงานถาโถมความช่วยเหลือเข้ามาทำให้ชาวบ้านทะเลาะกันและเกิดชุมชนแตกแยก แต่เมื่อตั้งหลักได้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีกระบวนการพัฒนาคนและแก้ปัญหาประเด็นปัญหาต่างๆ โดยมีภาคีภายนอกเข้ามาหนุนเสริมทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้ กระบวนการพัฒนาต่างๆ ทำให้คนสตูลสามารถลุกขึ้นมาบริหารจัดการตนเองในด้านการพัฒนาคน การร่วมกันแก้ไขปัญหาระดับกลุ่ม หมู่บ้าน และเมื่อหลายๆ ประเด็นของแต่ละชุมชนได้กลายเป็นประเด็นร่วมของจังหวัดสตูลเกิดกลุ่มรักจังสตูลขึ้นมา “ พวกเรามีเป้าหมายร่วมกันก็คือสตูลต้องยั่งยืน ในการรวมพลังคนคนสตูล เราต้องโดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตั้งแต่พื้นที่กลางตั้งแต่ระดับกลุ่ม ชุมชน ตำบล ตอนนี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลที่เรามีเพื่อป้องกันภัยรูปแบบใหม่ที่ถาโถมเข้ามาที่ชุมชน”

ด้านนายวราวุฒิ มาศโอสถ ตัวแทนจากกลุ่มกำพวนโมเดลกับมิติศาสนากลไกการจัดการชุมชน กล่าวว่า กำพวนโมเดลเกิดขึ้นจากสตรีไม่กี่คนมาร่วมกันเก็บเงินออมวันละ 1 บาท แล้วเอาเงินส่วนนี้ไปมอบช่วยเหลือเด็กกำพร้าและกลุ่มผู้ป่วยเอดส์/เอชไอวี ที่เป็นเหยื่อสึนามิ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่แต่ไม่มีองค์กรใดคิดถึงให้ความช่วยเหลือทันท่วงที ทุนที่มีเอาไปให้สวัสดิการสังคม เราส่งเสริมการศึกษา และส่งเสริมด้านสุขภาวะ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตต่อไปในสังคม” เป็นตัวอย่างของชุมชนที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน

 

และในเวทีเดียวกันได้มีเสวนา“การยกระดับบทเรียน จากสึนามิ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” จากผู้ทรงคุณวุฒิ 1.รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร นักวิชาการอาวุโส 2.นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ นักพัฒนาอาวุโส 3.นพ.บัญชา พงษ์พานิช อาสาสมัครสึนามิ 4.นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการ มูลนิธิชุมชนไท 6.นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 7.นายโชตินรินทร์ โชติหิรัญโยธิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการเสวนาโดยคุณประพจน์ ภู่ทองคำ

 

โดยรศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร นักวิชาการด้านสังคม กล่าวว่า ประเด็นสำคัญจากบทเรียน 12 ปี สึนามิ คือ ชุมชนรู้จักเก็บข้อมูล จัดการข้อมูล และวิเคราะห์ ซึ่งหากจะนำมาประยุกต์ใช้ ส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยมีโอกาสเจอคลื่นลมมรสุมอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ว่าผู้ประสบภัยและผู้เสี่ยงภัยจะมีความเข้มแข็งมาเพียงไร ที่แม้ปัจจุบันยังไม่เกิดคลื่นสึนามิอีกครั้ง แต่สังคมไทยมีคลื่นภัยชนิดอื่นกำลังเกิดขึ้น ทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึก การก่อสร้างเขตอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ เหล่านี้กำลังเป็นภัยกับชาวบ้านในหลายพื้นที่

ภัยพิบัติสึนามิ ที่คราทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แม้จะผ่านไปแล้ว 12 ปี แต่ยังส่งผลร้ายต่อชุมชน การรวมพลังและลุกขึ้นมาร่วมกันช่วยกันจัดการแก้ไขปัญหาในชุมชนและพัฒนาชุมชนไปสู่ความยั่งยืน จึงเป็นโจทย์ท้าทาย แต่ทั้งนี้ ชุมชนต้องมีองค์ความรู้และกระบวนการเพียงพอที่จะเคลื่อนตัวไปสู่การบริหารจัดการตัวเองได้อย่างแท้จริง เมื่อถึงวันนี้ แม้จะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม ก็เชื่อได้ว่าชุมชนนั้นจะสามารถตั้งหลักและรับมือได้เป็นอย่างดี