กองทุนกระบอกไม้ไผ่ : วันละบาทเพื่อเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาสจาก "สึนามิ"

กระบอกไม้ไผ่ที่แขวนอยู่หน้าบ้านของชาวบ้านกว่า 130 ครัวเรือน ในตำบลสุขสำราญ จังหวัดระนอง แท้จริงแล้วคือ “กระปุกออมสิน” ที่ “กลุ่มสตรีสัมพันธ์” จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ “กองทุนวันละบาท” เพื่อแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน ที่ในหนึ่งปีจะนำมารวบรวมกันเป็นทุนสำหรับนำไปใช้ทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาสจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ 9 ปีก่อน ที่วันนี้พวกเขากำลังพยายามหยัดยืนขึ้นอีกครั้ง ด้วยพลังโอบอุ้มจากคนในท้องถิ่นเดียวกัน

กล่าวสำหรับกลุ่มสตรีสัมพันธ์ เกิดจากการรวมตัวกันของผู้หญิงในชุมชนราว 20 คนเมื่อปี 2550 ที่ประสบ พบเห็นและผ่านเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิประเทศไทยทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม ความทรงจำคือภาพความสูญเสียทรัพย์สิน ชีวิตของคนในครอบครัวอันเป็นที่รัก อยู่รอดอย่างสิ้นเนื้อประดาตัวและหมดหวัง พร้อม ๆ กับภาพความโกลาหลของความช่วยเหลือจากทุกสารทิศด้วยเจตนาดี แต่ยังขาดการจัดการที่ดีพอ เกิดความเหลื่อมล้ำของความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประสบภัยที่เป็นเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาส
พลังหนึ่งของคนในท้องถิ่นที่พยายามเข้าช่วยเหลือคือกลุ่มที่มี “จริยา สาลี” หรือ “จ๊ะมะ” เป็นนำรวมตัวกันตั้งกลุ่ม “สุขสำราญมัดย้อม”เมื่อปี 2548 สร้างงานให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ผลิตเสื้อยืดย้อมสีธรรมชาติจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวจนเป็นที่นิยม และต่อมา “จ๊ะมะ” และเพื่อนจำนวนหนึ่งได้แยกตัวมาก่อตั้งเป็น “กลุ่มสตรีสัมพันธ์” ตัดเย็บเสื้อผ้า และกระเป๋าผ้าหลากหลายรูปแบบจำหน่าย ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 20 คน และมีการดำเนินงานที่ดีระดับหนึ่ง ที่สำคัญการทำกิจกรรมของกลุ่มไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการของบประมาณหรือรายได้เป็นหลัก แต่ทำเพื่อใช้กิจกรรมเป็นตัวนำในการรวมคนเพื่อการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ พูดคุยในการช่วยกันคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ตามแต่โอกาส เช่น นัดหมายกันเดือนละครั้งหรือสองครั้ง เป็นต้น
กิจกรรมทั้งหมดเกิดจากการจุดประกายความคิดจากเหตุการณ์ที่เห็นคนต่างเชื้อชาติศาสนามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำให้มีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนได้เกิดการช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องเป็นผู้รับอย่างเดียว จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “กองทุนวันละบาท” เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน การทำงานใช้กระบวนการการเข้าถึงชุมชนเชื่อมโยงกับหลักการศาสนาและการพัฒนาจิตใจ “การเป็นผู้ให้ และรับอย่างสมศักดิ์ศรี” และหากจะให้ผลดีและยั่งยืนต้องทำให้เกิดความต่อเนื่อง รูปแบบการดำเนินงานของกองทุนวันละบาทยึดหลักบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนร่วมตัดสินใจ เป็นการให้ความช่วยเหลือและการให้บริการค้นหาและเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งของกลุ่ม เป็นรูปแบบงานบูรณาการด้านสังคมเข้าด้วยกันกับหลักธรรมคำสอนทางศาสนาให้มีจิตสำนึกที่ดีได้


“จ๊ะมะ” หรือ นางจริยา สาลี ประธานกลุ่มสตรีสัมพันธ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือดูแลเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาส ถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องช่วยกันทำตามความสามารถ ดังนั้นความหมายของงานกองทุนวันละบาท จึงเป็นงานสวัสดิการชุมชนอย่างหนึ่ง โดยเริ่มจากกิจกรรมเชิญชวนผู้นำในชุมชนเข้ามาร่วมพูดคุยเรื่องการทำโครงการ และชักชวนสมาชิกและคนในชุมชนร่วมกันสละเงินวันละ 1 บาท โดยเริ่มจากสมาชิกกลุ่มสิบกว่าคนและขยายเป็นสามสิบคนในปีแรก และกว่า 130 คนในปัจจุบัน โดยใช้ กระบอกไม้ไผ่ แขวนไว้แต่ละบ้านใครสะดวกจะออมเท่าไหร่ไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยให้ได้วันละบาท แล้วนำมารวมกันปีละครั้ง
ต่อมากลุ่มสตรีสัมพันธ์ ได้คิดหาวิธีเพิ่มเงินกองทุนวันละบาท ด้วยการรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน โดยปีแรกได้เงินกองทุนประมาณ 1.4 หมื่นบาทเศษ ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า125 คน เงินกองทุนราวห้าหมื่นบาท “การชักชวนโดยวิธีการใช้หลักการศาสนามาพูดคุยเรื่อความดีงามที่จะได้รับในการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาส ในโลกหน้า เป็นต้น นอกจากนี้การร่วมบริจาคให้เด็กกำพร้าวันละหนึ่งบาทยังถือเป็นการสร้างสัมพันธภาพและลดช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนได้เป็นอย่างดี”
“จ๊ะมะ” บอกว่า ความภูมิใจของกองทุนวันละบาทคือ ได้ให้ทุนแก่เด็กกำพร้าเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จาก 24 คนในปี 2551 เป็น 50 คนในปี 2554 ส่วนการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ที่เคยถูกละเลยจากชุมชนนั้นกระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ปัจจุบันทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้นำศาสนา และคนในชุมชนต่างหันมาทักทายพูดคุยกัน ไม่รังเกียจกันเหมือนในอดีต การดำเนินงานคือ กลุ่มสตรีสัมพันธ์มีการลงพื้นที่ไปเยี่ยมไปพูดคุยให้กำลังใจ และมีกิจกรรมเปิดเสวนาใช้กระบวนการพูดคุยและให้ความรู้ จนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชน ช่วยทำให้มีการลดช่องว่างระหว่างคนได้มาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่อยู่ในชุมชน จากเมื่อก่อนคนในชุมชนไม่ให้ความสำคัญกับผู้ติดเชื้อ แต่หลังจากใช้กระบวนการทางจิตวิทยาและนำหลักศาสนาเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจให้กับชุมชน ทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถอยู่ด้วยกันในชุมชนและทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างเข้าใจ
“จ๊ะมะ” กล่าวว่า ตอนนี้ทางผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของโครงการนี้มากขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรี ผู้นำศาสนามีการเชื่อมโยงระหว่างมัสยิด ทุกวันศุกร์จะมีการอบรมถึงความสำคัญของโครงการ อธิบายความสำคัญ ปลูกฝังให้คนมีจิตอาสาและยังขยายผลนำหลักการเข้าไปใช้ในโรงเรียนของชุมชน เพื่อพัฒนาให้เด็กมีจิตอาสา สามารถเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับได้ โดยมีอาจารย์คอยควบคุมดูแลช่วยเหลือโครงการอีกระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันได้จัดทำสื่อเผยแพร่ เช่น แผ่นพับ ป้ายประกาศติดตามมัสยิดต่างๆ ทำให้มีผู้สนใจทั้งบริษัทและกลุ่มคน เข้ามาให้ความสนใจและร่วมบริจาคเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันการ กองทุนวันละบาท ของ กลุ่มสตรีสัมพันธ์ เป็นตัวเชื่อมโยงผู้นำระดับชุมชนถึงระดับจังหวัด และยังเกิดกลไกขยายผลนำไปใช้หนุนช่วยกลุ่มผู้ติดเชื้อให้อยู่รวมกันได้ในชุมชนอย่างปกติ อันเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของคนทำงานอย่าง“จ๊ะมะ”ประธานกลุ่มสตรีสัมพันธ์ ซึ่งยืนยันว่าในอนาคตอาจจะขับเคลื่อนโครงการหรือว่ามีโจทย์ใหม่ ๆ เข้ามาที่จะได้ร่วมกันทำต่อไป

9 ปีที่สึนามิผ่านไป แต่กำลังใจและน้ำใจของคนในชุมชนยังอยู่ พร้อมเดินคู่ไปกับแรงหนุนเสริมจากหน่วยงานภายนอกที่เข้าไปสนับสนุนการทำดีอย่างต่อเนื่องคือ “โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ” โดยความร่วมมือของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง ในการเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคน และชุมชนให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งตนเองได้ รวมถึงวิธีการบริหารการจัดการกับปัญหานำไปสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้คนในชุมชนสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น.


คลิกอ่านเพิ่ม :"จ๊ะมะ"หญิงแกร่งสึนามิ กองทุนวันละบาทเพื่อเด็ก

คลิกอ่านเพิ่ม :กองทุนกระบอกไม้ไผ่ : วันละบาทเพื่อเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาสจาก “สึนามิ”

ดูคลิปข่าวได้ที่ :HEALTH CHANNEL Magazine "กองทุนกระบอกไม้ไผ่ "