คุณสมพงษ์ หลีเคราะห์ เล่าภาพรวมการทำงานของทีมพี่เลี้ยงสตูลให้ฟังว่า ก่อนการลงพื้นที่ จะมีการ training ทีมก่อน โดยตัวกระบวนการที่จะใช้ฝึกฝนการทำงานของทีมนั้นจะเน้นการให้รู้บริบทเรื่องราวชุมชนที่จะลงไปทำงาน เนื่องจากมองว่า คนนอกไม่รู้ข้อมูลชุมชนในขณะต้องการสื่อสารเรื่องราวของคนในกับภายนอก ดังนั้น ช่วงเริ่มต้นจึงต้องเอาบริบทเป็นตัวตั้งเพื่อหาแนวทางพัฒนาและปฏิบัติการ ซึ่งสุดท้ายต้องทะลุไปสู่ตัวปฏิบัติ ทั้งนี้การคิดประเด็นจะใช้แผนที่เป็นตัวตั้งโดยการมองภาพใหญ่ไปหาภาพเล็ก กล่าวคือ ภาพใหญ่คือประเด็น และภาพเล็กคือ ตัวข้อมูล
วิธีการทำแผนที่ดังกล่าว เริ่มจากชวนชาวบ้านวาดภาพใหญ่ก่อน เช่น สถานที่ต่างๆ ที่เขาเห็นด้วยตาเปล่า (ภูเขา ทะเล ป่า หมู่บ้าน ฯลฯ) ต่อจากนั้นให้ถามถึงสิ่งที่ไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น มีคนกับทะเลในภาพ ก็พยายามถามถึงความสัมพันธ์ คำตอบก็มักจะออกมาเป็น คนหากินกับทะเล หรือ เป็นข้อมูลอาชีพ แล้วจึงค่อยๆ ไล่ไปทีละเรื่อง เช่น มีเรื่องอาชีพแล้ว- ถ้าเห็นคนกับมัสยิดก็จะเป็นเรื่องพิธีกรรม, คนกับนา คือ อาชีพทำนา หรือแม้แต่สิ่งที่มองไม่เห็น นั่นคือ คนไปสัมพันธ์กับมิติต่างๆ ทั้งอาชีพ ภูมิปัญญา ความเชื่อ เป็นต้น สรุปคือ ในการทำแผนที่ต้อง พยายามกระตุ้นให้เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในแผนที่ด้วย..หลังจากวาดภาพใหญ่แล้วก็ชวนมองภาพเล็กต่อซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการมองเชิงปริมาณ-ประเภท-ชนิด หรือ ขนาด นอกจากนี้ยังมองเชิงคุณภาพได้ด้วย คือ มิติเชิงลึก เช่น สายพันธุ์ การใช้ประโยชน์ ปัญหา หรือพัฒนาการ เช่น สิ่งของต่างๆ มีที่มาของมัน...ดังนั้น ในช่วงแรกเริ่มต้นใช้กระบวนการแบบนี้ก่อนโดยค่อยๆ ไล่ไปทีละประเด็น แล้วจึงเริ่มแตกรายละเอียดจากแผนที่ไปเรื่อยๆ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นก่อน ส่วนใหญ่ทำไม่เสร็จในวันเดียวก็สามารถลงไปทำได้เรื่อยๆ โดยค่อยๆ ลงรายละเอียดทีละชื้นข้อมูล กล่าวคือ ในวันแรกๆ บางเรื่องก็ได้โครงเรื่องมา เช่น ประวัติศาสตร์ แล้ววันหน้าค่อยหาคนที่รู้เรื่องราวเหล่านี้ในชุมชนมาช่วยตรวจทานข้อมูลอีกที ทั้งนี้เวลาตรวจสอบข้อมูลก็ไม่จำเป็นต้องหาทุกข้อมูล-ค่อยๆ ไล่ไปทีละเรื่องโดยในการทำจะชวนชุมชนเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองรู้ ซึ่งก็ต้องตรวจสอบด้วยว่ารู้ถูกไหม? จากนั้นจึงชวนดูว่า สิ่งที่ไม่รู้มีอะไรบ้าง? เพื่อจะได้ประเด็นไปทำต่อ เช่น ถ้าเขาไม่รู้ประวัติศาสตร์น่าจะหาตรงไหนได้บ้าง?...