เหลียวหลัง…ย้อนรอยยามู
​ด้วยแรงบันดาลใจจากการฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์จากเจ๊ะฆรู(ครู) ซึ่งเป็นผู้รู้ในชุมชนยามู ทำให้ 5 หนุ่ม-สาว จากโรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อยากรู้ที่มาประวัติศาสตร์ชุมชนมากขึ้น จึงรวมตัวกันเพื่อศึกษาความเป็นมาเกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่ง บะห์ หนึ่งในสมาชิกแกนนำบอกว่า “การยิ่งได้รู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ทำให้เราเกิดความหวงแหน และไม่อยากเห็นใครมาทำลายชุมชนของเรา อยากให้ชุมชนยามูอยู่กับเราไปนานๆ”

จากเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน นำไปสู่การสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทำให้เยาวชนทั้ง 5 คน ประกอบด้วย น.ส.มีสบะห์ นิมะ (บะห์) ชั้น ม.3 / น.ส.นูรีซา มาหะ (ซา) ชั้น ม.3 / น.ส.อารีนี อาแว (นี) ชั้น ม.3 / น.ส.กาสือหม๊ะ เซ็ง (หม๊ะ) ชั้น ม.6 และนายอัลฮายะห์ เจะหะ (ยัด) ชั้น ม.6 โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ สมาชิกจากโครงการย้อนรอยยามูหนึ่งใน โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปี 3 ดำเนินงานโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย มูลนิธิทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมด้วย สสส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักแล้วว่าในฐานะที่พวกเขาซึ่งเป็นลูกหลานในชุมชนนี้ หากไม่ลุกขึ้นมาเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสูญหายไป


น.ส.มีสบะห์ นิมะ (บะห์) ชั้น ม.3  โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์



เริ่มแรก เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนน.ส.มีสบะห์ นิมะ (บะห์) เล่าว่า “ก่อนหน้านี้หนูรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนมาบ้าง ทราบเรื่องราวคร่าวๆ ว่าในชุมชนมีวังยะหริ่ง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญเพียงแห่งเดียวในยามู แต่พอได้ศึกษาไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่าในชุมชนของเรายังสถานที่สำคัญที่อื่นอีก เช่น กุโบร์(สุสาน) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้า และสะพานข้ามคลองยามู เป็นต้น”

­

­


น.ส.กาสือหม๊ะ เซ็ง (หม๊ะ) ชั้น ม.6 โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์



ทางด้าน น.ส.กาสือหม๊ะ เซ็ง (หม๊ะ) กล่าวว่า “ส่วนหนูไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าวังยะหริ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร เพราะหนูไม่ได้อยู่ในชุมชนยามูแต่มีโอกาสเข้ามาเรียนที่ชุมชนนี้ และได้ทำโครงการร่วมกับน้องๆประกอบกับได้ฟังคำบอกเล่าจากปากของคนเฒ่าคนแก่ยิ่งกระตุ้น ทำให้อยากรู้เรื่องราวชุมชนมากขึ้นว่าชุมชนนี้มีความสำคัญอย่างไร จึงตั้งใจอยากจะเรียนรู้ไปพร้อมกับน้องๆ




เจ๊ะฆรู  ผู้รู้ในชุมชน



บะห์ เสริมอีกว่า“เจ๊ะฆรู บอกกับพวกเราว่า ในตำบลยามูของเรามีสถานที่ที่น่าสนใจอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ และที่สำคัญคือ ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ แต่ตอนนี้ผู้คนในชุมชนเริ่มไม่รู้ที่มาของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ มองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว จึงทำให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ค่อยๆจางหายไป อีกอย่างลองคิดดูว่า ถ้าเราเป็นคนในพื้นที่แล้วไม่สามารถตอบคนอื่นได้ว่าบ้านเรามีที่มาอย่างไร กลับเป็นคนนอกที่เขารู้จักประวัติชุมชนของเรามากกว่า แล้วเราจะอายไหม ซึ่งคำพูดตรง เกิดเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกเราอยากจะ ศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนรอยยามู มากขึ้น หากต่อไปเมื่อใครถาม เราก็จะได้ตอบเขาเกี่ยวกับชุมชมของเราได้อย่างภาคภูมิใจ…”



วังยะหริ่ง

เมื่อสำนึกพลเมืองเริ่มก่อเกิดในใจตน พวกเขาจึงเริ่มค้นหาคำตอบ …ทั้ง 5 คนจึงวางแผน กำหนดกิจกรรม ประชาสัมพันธ์รับสมัครสมาชิก และสืบค้นข้อมูลต่างๆทั้งที่มาจากอินเทอร์เนตและถามผู้รู้ในชุมชน โดยกำหนดจากสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ในชุมชนยามู มาเป็นตัวเริ่มต้นศึกษาประวัติของชุมชน ได้แก่ กุโบร์เจ้าพระยา สะพานคลองยามู  ศาลเจ้าปู่จ้อ โรงเรียนมัธยมแห่งแรกของอำเภอในวัดบูรพาราม สุสานจีน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และวังยะหริ่ง เมื่อได้สถานที่ที่เป็นเป้าหมายแล้ว พวกเขาก็ติดต่อหาผู้รู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ประสานงาน



สะพานข้ามคลองยามู

เมื่อสมาชิกทั้งหมดมีทุนเดิมเป็นเด็กกิจกรรมอยู่แล้ว บวกกับแรงบันดาลใจจากคำพูดของ เจ๊ะฆรู เลยไม่รีรอที่จะลงพื้นที่ไปค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งแรก แกนนำทั้ง 5 คน ลงไปสืบค้นข้อมูลในสถานที่ต่างๆก่อน หลังจากนั้นก็มาจัดค่าย พาสมาชิกในกลุ่มทั้ง 30 คน ลงพื้นที่ในช่วงวันแม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ปิดเทอมพอดี เพราะทุกคนจะได้มีเวลาในการเรียนรู้ข้อมูลชุมชนได้อย่างเต็มที่ “ โดยมีน้องในกลุ่มบางคนบอกว่า เขาเองเกิดและโตที่ยะหริ่งยังไม่เคยเข้าวังยะหริ่งเลย การได้มาร่วมกับโครงการนี้เขารู้สึกดีใจมาก และภูมิใจที่รู้ว่าบ้านเกิดตนเองมีของดี และมีคุณค่ามากสำหรับตัวเขาที่ได้รู้ความเป็นมาในชุมชนตัวเอง” บะห์ เล่า




มื่อกลับมาจากการพา สมาชิกทั้ง 30 คน ลงไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในสถานต่างๆแล้ว แกนนำกลุ่ม ยังได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประกวดภาพถ่ายในสถานที่สำคัญ 7 แห่ง พร้อมคำบรรยายใต้ภาพ บอร์ดนิทรรศการ การแสดงละครและวีดิโอเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนยามู เพื่อเผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นเด็กในโรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ และคนในชุมชนตำบลยามู

­

­

­

­

จากแรงบันดาลใจครั้งแรก สู่การส่งต่อให้ชุมชน ….“ตอนแรกที่อยากทำโครงการ เป็นเพราะแรงบันดาลใจที่ตนเองและเพื่อนๆในกลุ่มอยากรู้เรื่องราวของชุมชน แต่เมื่อได้ลงมือทำโครงการมาแล้ว นอกจากแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นแล้ว ยังอยากสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้ตระหนักในคุณค่าประวัติศาสตร์ชุมชนด้วย ก็เลยมีแนวคิดว่าจะนำความรู้ที่เรามี ทำเป็นสมุดบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อเผยแพร่ให้คนในชุมชนได้อ่าน ทำความเข้าใจคุณค่า ความหมายตัวตนและชุมชน ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่เคยเห็นใครทำบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชนแบบนี้ ถ้าจะมี ก็มีแต่ข้อมูลเกี่ยวกับวังยะหริ่งเท่านั้น ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดีที่เราจะคืนข้อมูลชุมชนในรูปแบบสมุดบันทึกนี้ อัลฮายะห์ กล่าว


รู้จักคุณค่า และความหมายของชุมชน“การทำโครงการนี้ทำให้หนูได้รู้จักชุมชนตนเองมากขึ้น สามารถบอกเล่าให้คนอื่นฟังได้ ว่าในชุมชนเรามีของดีอะไรบ้าง และถึงแม้ว่าเราจะเกิดที่ อยู่ที่นี่มานาน ถ้ารักบ้านเกิดก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การยิ่งได้รู้ประวัติศาสตร์ ด้วยมันทำให้เราเกิดความหวงแหนไม่อยากเห็นใครมาทำลายชุมชนของเรา อยากให้อยู่ไปนานๆ บะห์ เล่า



ครูฮานาดีห์ ดูมีแด ครูโรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ 


­

ทางด้านครูฮานาดีห์ ดูมีแด ครูโรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ และที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า“รู้สึกภูมิใจที่เด็กรุ่นนี้ ให้ความสนใจ เกี่ยวกับภูมิลำเนาหรือว่าท้องถิ่น ของตนเอง เพราะในปัจจุบัน เด็กส่วนใหญ่จะไม่เรียนเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง ส่วนใหญ่จะไปเรียนรู้ท่องโลกกว้างเอาเวลาส่วนใหญ่ไปดูอินเทอร์เน็ต เรียนรู้แต่เรื่องภายนอก แต่เรื่องใกล้ตัวกลับไม่รู้ ดังนั้นเมื่อโครงการนี้เข้ามา จึงเปรียบเสมือนเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โดยที่เด็กพยายามเข้าหาผู้ใหญ่ ไปสอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นของเรา ไปพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ”



นายอับดุลรอมัน มามะ (เจ๊ะฆรู) ครูสอนศาสนาและผู้รู้ในชุมชน



นายอับดุลรอมัน มามะ (เจ๊ะฆรู) ครูสอนศาสนาและผู้รู้ในชุมชน ระบายความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจที่เด็กรุ่นนี้ กลับมาให้ความสนใจ เกี่ยวกับภูมิลำเนาหรือของตนเอง เพราะถ้าเด็กไม่เรียนรู้และใส่ใจประวัติศาสาตร์ชุมชน เขาจะไม่รู้เลยว่าภูมิลำเนา รากเหง้าที่มาของตนเองเป็นอย่างไร และเขาจะลืมบ้านเกิด แต่ถ้าหากว่าเราให้ความรู้ ถึงแม้เขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาก็จะไม่ลืมบ้านเกิด และตัวเขาเองจะอยากกลับมาอยู่บ้านที่เป็นถิ่นกำเนิดของตนเอง



ถึงแม้วันนี้ผลลัพธ์ในการอยากเห็นคนในชุมชนยามูลุกขึ้นมาร่วมกันสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด ยังไม่ชัดเจนนัก อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดี ที่เห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมารื้อฟื้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน และรู้สึกหวงแหน มองเห็นคุณค่าในภูมิลำเนาของตนเอง ...และพร้อมที่จะเป็นผู้สืบทอด ต่อไป

----------------------------------------------------------

ติดตามรายละเอียดของโครงการ Active Citizen และโครงการอื่นๆของเยาวชนได้ที่

https://www.scbfoundation.com/ หรือแฟนเพจเฟสบุค

https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION/


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

(กรอบบ่าย)ย้อนรอยยามูรู้รากถิ่นเกิด

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ประจำวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2559

 

หัวข้อข่าว :

อีกโมเดล..ที่บ้านยามู 'รู้-รัก..ชุมชน' ค้นตัวตน'คิดดี-ทำดี'

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559