วันที่ 18 ธันวาคม 2559 ห้องการะเกด โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ อ.เมือง จ.สงขลา โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ซึ่งนับเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Thailand Active Citizen Network ได้มีการจัดงานเทศกาลการเรียนรู้ พลเมืองเยาวชนส่องแสง ปี 4 “พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ตามแนวพระราชดำริ” ดำเนินงานโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดโอกาสให้เยาวชน “เรียนรู้จากการลงมือทำโครงการ” เพื่อร่วมเรียนรู้การแก้ไขปัญหาในชุมชนสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ด้วยคาดหวังว่าหากกลุ่มเยาวชนผ่านกระบวนการเหล่านี้จะทำให้กลุ่มเยาวชน “เก่งคิด เก่งงาน เก่งคน” นั่นคือมีทักษะความรู้ ความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีทักษะสังคม จัดการงานเป็น ริเริ่มลงมือทำจนงานสำเร็จ และเป็นพลเมืองตื่นรู้มีส่วนร่วมและทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังที่สังคมไทยต้องการ ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เพื่อเตรียมคนในสังคมไทยให้มีทักษะในการดำรงชีวิตสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกอบจ.สงขลา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเมืองสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงาน
บรรยากาศภายในงานเริ่มด้วย พิธีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้นตื่นตากับศิลปะการแสดงโขนจากน้องๆกลุ่มเด็กโขน พร้อมกับขบวนกลองยาวจากเยาวชนทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา พัทลุง และตรัง ภายใต้โครงการฯ กว่า 100 คน เดินเชิญชวนผู้ร่วมงาน ชมนิทรรศการเทศกาลการเรียนรู้ พลเมืองเยาวชนส่องแสง ปี 4 “พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ตามแนวพระราชดำริ” ทั้ง 7 ประเด็น 25 โครงการ **
นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม
ด้านนางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า “สงขลาฟอรั่มในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา มองว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมือง โดยใช้กระบวนการบ่มเพาะให้เยาวชนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จากสถานการณ์จริงที่เยาวชนเลือกเอง นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กอายุ 14-24 ปี เพราะช่วงนี้เป็นวัยที่เขามีความคิดแบบอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่กล้าเผชิญปัญหาได้เยอะ ขณะเดียวกันก็สามารถเติมเต็มประสบการณ์ และการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา เป็นวัยที่ชอบค้นหาและสร้างบุคลิกภายในตัวตน และเรียนรู้สังคมภายนอก ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ผู้ใหญ่ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว แต่ก็ยังต้องมีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ จะต้องเรียนรู้ความรับผิดชอบ ชั่วดี และจิตสำนึกของการเสียสละเพื่อส่วนรวม…ซึ่งขณะนี้สงขลาฟอรั่มเองก็เดินทางมาเป็นปีที่ 4 มีทั้งหมด 25 โครงการ แบ่งออกเป็น 7 ประเด็น** โดยกลุ่มเยาวชนแต่ละโครงการก็จะพบปัญหาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการที่พวกเขาได้เผชิญปัญหาจริง ในบริบทการทำงานจริง และได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เยาวชนทั้ง 25 โครงการนี้ได้เติบโตทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน บางกลุ่มได้ประสบการณ์ตรงกับตัวเอง บางกลุ่มได้บทเรียนในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของชุมชน อย่างเช่น โครงการ Law Long Beach ปี 2 ที่น้องๆได้ลงไปเรียนรู้ความเป็นไปของชุมชนสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำให้เขาได้เปิดมุมมองของว่าที่นักกฎหมาย ให้รับรู้ถึงบริบทของสังคมผ่านสถานการณ์ปัญหาที่ชุมชนประสบอยู่ ขณะเดียวกันก็เป็นการเติมเต็มความรู้ด้านกฎหมายที่จะช่วยให้ชุมชนมีทางเลือกในการต่อสู้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้การทำงานในแต่ละปีเราก็ได้มองเห็นทิศทางการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสถานศึกษาและเครือข่ายต่างๆในพื้นที่มากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมงานกับโครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และองค์กรเอกชนที่ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนในจังหวัดสงขลา โดยในปีหน้านี้ สงขลาฟอรั่มยังมุ่งมั่นที่จะบ่มเพาะเยาวชนเหล่านี้ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นพลเมืองที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน สังคม และประเทศไทยให้เข้มแข็งต่อไป”
นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา
นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา กล่าวเปิดงานความตอนหนึ่ง ว่า “…ผมในฐานะที่เป็นผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามีความยินดีที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงการฯนี้ เพราะถือว่า “เยาวชน” นั้น คือความหวังของประเทศ พลังของเยาวชนยังมีอีกยาวไกลและเป็นอนาคตในวันข้างหน้า เพื่อที่จะเข้ามาจัดการ-ดูแลชุมชนสังคม และประเทศในวันข้างหน้า ดังนั้นการปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกพลเมืองให้กับเยาวชนและชุมชนเท่ากับว่าเราได้สร้างสิ่งดีๆให้กับประเทศชาติต่อไปในอนาคต…”
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิต สุขภาวะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิต สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “…โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งเป็นการสร้างกลไกการสื่อสารสำหรับเยาวชน สังคม ประชาชนทั่วไป ในการเปลี่ยนจิตสำนึกใหม่ พร้อมกับสร้างเยาวชนที่มีสำนึกต่อส่วนรวมด้วยตระหนักถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่การเป็นประเทศที่เข้มแข็งโดยพลังของเยาวชน Active Citizen ทำให้เกิดการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ทำโครงการที่มาจากความต้องการของชุมชนและใช้โครงการเป็นเครื่องมือในการสร้าง Active Citizen ที่มีทักษะและสำนึกต่อส่วนรวมที่อยู่ในตัวเยาวชน
นับเป็นกระบวนการการทำงานเชิงลึก กับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ที่มีบทบาทสร้างการเรียนรู้ และสนับสนุนให้เกิด Active Citizen ทั่วประเทศ โดยความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้จาก 15 องค์กรพันธมิตร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งหวังให้เกิดเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเป็นกำลังสร้าง Active Citizen ให้กับประเทศไทยที่เข้มแข็งและน่าอยู่
หัวใจสำคัญ คือ ต้องการเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการทำโครงการของเขาเองให้มีความยั่งยืน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทักษะ และสำนึกใหม่ฝังอยู่ตัวของพวกเค้า เป็นคนที่มีจิตสาธารณะ มีความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมั่นในพลังบวกของตัวเองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม เส้นทางการทำงานของเยาวชนจาก โครงการ Active citizen ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กับการสร้างพลังเยาวชนที่ทำงานผ่านโจทย์ปัญหาของชุมชนในมุมมองของตัวเยาวชนเอง ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ Active citizen ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกพลเมืองให้หยั่งลึกไปในตัวเยาวชน ด้วยวิถีชุมชนและอัตลักษณ์ของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่
สสส.จึงเชื่อว่าพลังสร้างสรรค์ของเหล่าเยาวชน หรือ Active Citizen จะนำไปสู่การร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ร่วมจุดประกายแนวคิดสู่เส้นทางการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาใส่ใจผู้อื่น และพร้อมใช้วิชาความรู้และศักยภาพที่ตนมีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมของการเสียสละและมีจิตอาสาเพื่อสร้างพลังในการพัฒนาประเทศให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป”
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร
ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวย้ำถึงการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ว่า เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนโครงการ Active Citizen ที่มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลา ด้วยการทดสอบ “แนวคิด” การทำงาน ว่า ถ้ามูลนิธิฯ เข้าไปหนุนกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็น Active Citizen ที่มีความห่วงใยบ้านเมือง มีความรู้ความเข้าใจในชุมชน หรือจังหวัดของตัวเอง มีเครือข่ายการทำงานในจังหวัด ให้ทำหน้าที่ “สร้างคน” ด้วยการหนุนให้เขาเป็นพี่เลี้ยง (mentor) เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนคนหนุ่มสาวในจังหวัด โดย “เปิดโอกาส” ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และเข้าใจชุมชน เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เพราะมูลนิธิฯ เชื่อว่า หากเขาได้มีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้ชุมชน สิ่งนี้จะช่วยทำให้เด็กเยาวชน และคนหนุ่มคนสาวได้ประสบการณ์ชีวิต เกิดความเข้าใจในชุมชนตนเอง และค่อย ๆ เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองเข้าถึงชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ ซึ่งน่าจะเป็น “โมเดล” ที่ดีในการพัฒนาคนในจังหวัด…โดยผลจากการทดลองที่สงขลา มูลนิธิฯ พบว่า กระบวนการนี้ได้ผลดี เพราะนอกจากจะทำให้เด็กเยาวชนและคนหนุ่มสาวได้มีโอกาสทำงานเพื่อบ้านเกิดของตัวเองแล้ว ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชุมชนก็ได้รับการเอาใจใ และคลี่คลายลงได้ ที่สำคัญคือ โครงการนี้ยังเป็น “เครื่องมือ” ในการร้อยรัดคนเข้าด้วยกันกับพื้นที่ ซึ่ง “สำนึกความเป็นพลเมือง” จะเกิดขึ้นตรงนี้ เพราะคนเราทุกคนล้วนผูกพันกับถิ่นเกิด แต่ด้วยเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ทำให้หลงลืมและมองข้ามไป แต่ถ้าเขามีโอกาสได้กลับมามองชุมชนในสายตาที่ละเอียดขึ้น และมีโอกาสที่จะได้ทำงานด้วยการลงมือแก้ปัญหาเอง วิธีการนี้จะ “ปลุกสำนึก” ที่มีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น
เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีที่ 4 ต่างร่วมเล่าประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ได้จากการทำโครงการ เริ่มจาก …น.ส. มธุรดา ปันวิวัฒน์ (สตางค์ )นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ ตัวแทนเยาวชนจากโครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืนปีที่ 2 สตางค์ สะท้อนประโยชน์ที่ได้รับจากการทำโครงการว่า “การที่เราได้ลงพื้นที่ชุมชนทำให้หนูรู้จักรับฟังชาวบ้านมากขึ้น แทนที่เราจะดูแค่ตัวบทหรือตัวอักษรทางกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ในชั้นเรียนไม่มี การทำโครงการฯจึงเป็นตัวช่วยขัดเกลาความคิดของเรา ทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้น กว้างกว่าการมองแค่สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียนเสียอีก”
ส่วน น.ส. มีสบะห์ นิมะ (บะห์) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์วิทยา แกนนำจากโครงการย้อนรอยยามู บอกว่า “การทำโครงการทำให้เราได้รู้จักสถานที่ต่างๆ ในชุมชนตนเอง รู้ที่มาที่ไป ทำให้พวกเรามองเห็นคุณค่า และความสำคัญของบ้านเกิด อีกอย่างกิจกรรมที่นำพาเพื่อนๆ สมาชิกในชุมนุมออกไปเรียนรู้สถานที่ต่างๆ ทำให้นักเรียนเกินกว่าครึ่งในโรงเรียนที่เป็นคนในตำบลยามู ได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์บ้านตนเอง อีกทั้งยังจุดประกายความสนใจเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นให้กับเพื่อนเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในตำบลยามูอยากจะกลับไปศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนตัวเองด้วยเหมือนกัน”
ด้าน น.ส.รุ่งฤดี หนูม่วง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา หัวหอกสำคัญจากโครงการครูเพื่อศิษย์ เล่าว่า“หนูอยู่โครงการนี้ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว รู้สึกผูกพันกับพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ได้ทำงานร่วมกัน แม้จะเรียนรู้มาตลอด แต่ก็รู้สึกว่าความเป็นครูเติมไม่เต็ม สามารถเพิ่มพูนทักษะความสามารถ และเก็บเกี่ยวประสบการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณความเป็นครูได้เรื่อยๆ ซึ่งปีนี้หนูอาสาสอนพิเศษฟรีให้แก่เด็กด้อยโอกาสหน้าร้านสะดวกซื้อในเมืองสงขลา โดยยอมสละเวลาพักผ่อนของตนเอง ทั้งๆ ที่มีภาระเรื่องการหารายได้เพื่อส่งเสียตนเองในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ความรู้สึกที่ได้กลับมานั้น มันมีความตื้นตันใจอยู่ข้างใน …การที่เราเสียสละเวลาวันละชั่วโมงสองชั่วโมงมันมีค่ามากกว่าการไปสอนพิเศษชั่วโมงละร้อยสองร้อยบาทมากมายนัก”
หากน้องๆเยาวชนคนไหนสนใจการเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามข่าวสารการสมัครเข้าร่วมโครงการในปีที่5 ได้ที่ www.scbfoundation.com หรือ Facebook : SongkhlaForum (โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา)
หมายเหตุ : ** 7 ประเด็น 25 โครงการของเยาวชน ได้แก่
ประเด็นที่ 1 - บทบาทของพลเมืองเยาวชนที่นำเอาสิ่งดีๆที่มีในชุมชน และโจทย์ปัญหาใกล้ตัว มาผนวกกับความรู้ของตนแล้วมาลงมือทำ เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ทำให้เยาวชนได้ความรู้จากการปฏิบัติจริง จนเกิดทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับโจทย์ปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.โครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษ 2. โครงการไรน้ำนางฟ้า 3. โครงการผลิตน้ำบูดูสู่ชุมชน 4. โครงการสื่อเล็กๆของเด็กสงขลา 5. โครงการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ
ประเด็นที่ 2 - พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้ความเป็นรากเหง้าของพื้นที่ ความงดงามของ Rumah kita บ้านเรา มรดกศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ ในจังหวัดยะลาและปัตตานี จนจุดประกายให้ชุมชนเห็นความสำคัญของบ้านเกิด และคนภายนอกเห็นคุณค่า เห็นศักยภาพของเยาวชน ประกอบด้วย 1.โครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชนกะลูแป 2.โครงการเกลือหวานตานี 3.โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ 4.โครงการย้อนรอยยามู 5.โครงการศาสนานำพาชีวิต 6.โครงการอาสากุนุงจนอง ใส่ใจธรรมชาติ
ประเด็นที่ 3 - สำนึกพลเมือง ความรักและหวงแหน รักในศิลปวัฒนธรรมที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้เพื่อพลิกฟื้นศิลปวัฒนธรรม โดยศึกษาที่มา คุณค่าความหมาย ฝึกฝนเทคนิควิธี พัฒนาความสามารถของตนเองและทีม ในระหว่างเรียนรู้ร่วมกัน จนเกิดความภาคภูมิใจ และสานสายใยความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับคนในชุมชน ประกอบด้วย 1. โครงการรวมพลฅนรักษ์โขน 2. โครงการสืบสานการเล่นกลองยาว
ประเด็นที่ 4 - พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ที่มองเห็นเมืองสงขลาที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้ง ป่า น้ำ หาด ฯลฯ สร้างประโยชน์ให้กับคนเมือง แต่การพัฒนาเมืองที่ขาดความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับโครงสร้าง ทำให้เยาวชนเห็นความสูญเสียของมรดกทางธรรมชาติ จึงใช้ศักยภาพของตน นักวิชาการ และพลเมืองสงขลา มาร่วมขับเคลื่อนหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยการเรียนรู้จากเรื่องจริง สถานการณ์จริง ทำให้เยาวชนเข้าใจระบบนิเวศ รักและหวงแหน ลุกขึ้นมากระตุ้นและปลุกให้คนสงขลาตระหนัก เกิดความเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกัน ประกอบด้วย 1. โครงการหาดเพื่อชีวิต 2. โครงการศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน ปีที่ 2 3. โครงการศึกษาระบบนิเวศเขาเทียมดา 4. โครงการศึกษาระบบนิเวศป่าสนเมืองสงขลา
ประเด็นที่ - 5 นักศึกษาวิชาชีพครูที่ต้องการค้นหาคุณค่าและจิตวิญญาณของความเป็นครู ได้นำตัวเองออกไปสัมผัสห้องเรียนจริงๆ จนค้นพบปัญหาการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของเด็ก และลงมือปฏิบัติจริง ฝึกออกแบบการเรียนรู้จากปัญหาจริง ทำให้ได้เรียนรู้บทบาทของครูที่สอนวิชาการควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิต และเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นครูที่ดีในอนาคต และนี่คือจิตสำนึกพลเมืองของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เยาวชนค้นพบจากพื้นที่จริง ประกอบด้วย 1. โครงการ ครูเดลิเวอร์รี่ 2. โครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน 3. โครงการครูเพื่อศิษย์
ประเด็นที่ 6 - สำนึกพลเมืองจากการได้รับโอกาส และเปิดใจให้ตัวเองได้ลงมือทำชิ้นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีต อดทน มุ่งมั่น รับผิดชอบ ควบคุมตัวเอง เรียนรู้การทำงานกับผู้อื่น พัฒนาจนผลงานสำเร็จเป็นที่ยอมรับ มีคุณภาพ จำหน่ายได้ และได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นโดยถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและเพื่อน ทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นเป้าหมายชีวิต กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองพร้อมที่จะเป็นพลเมือง ประกอบด้วย 1. โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน 2. โครงการเย็บใย ร้อยใจด้วยรัก 3. โครงการงานหนังสานฝันเพื่อเยาวชน
ประเด็นที่ 7 - พลเมืองเยาวชนรุ่นใหม่ใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะปลูกผักในพื้นที่ที่จำกัด ปลูกผักปลอดสารกินเอง คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจวิถีการพึ่งพาตัวเองบนฐานทุนของชุมชน และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ประกอบด้วย 1. โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ 2. โครงการผักกับเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่ 3. โครงการปลูกเอง กินเอง ไร้สารตกค้าง