ช่วง บ่ายๆ วันศุกร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ ในขณะที่กลุ่มเยาวชนคนรักบ้านเกิดจิตอาสาพัฒนาฟื้นฟูห้วยทรายให้ยั่งยืน กำลังสาระวนกับการเตรียมจัดงานวันสิ่งแวดล้อมอยู่นั้นองค์ประชุมที่มีตัวแทน จากสภานักเรียน กรรมการชมรม ConservationClub และครูที่ปรึกษา ต่างพูดคุยร่วมคิดช่วยกันเตรียมความพร้อมในงาน
เด็กๆนักเรียนได้เล่าให้ฟังว่า "วันนี้ ช่วยกันยกย้ายต้นไม้เข้าไปไว้ในพื้นที่แล้ว เป็นไม้พื้นถิ่นเบญจพรรณหลาย ประเภท เช่น ประดู่ มะค่า ตะแบก และตะเคียน เกือบ ๑๐,๐๐๐ต้น ได้รับการสนับสนุนมาจากอุทยานแห่งชาติภูพาน และหญ้าแฝก อีก ๑๐๐,๐๐๐ ต้น เทศบาลอำเภอร่องคำได้จัดเตรียมไว้ให้การประสานงานด้านต่างๆมีความพร้อมแล้ว ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์ได้บอกผ่านนักเรียนช่วยกันส่งข่าวบอกต่อผู้ปกครองให้มาช่วยๆกัน"
และวันเสาร์ที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ มาถึง เช้านี้ ณ โรงเรียนร่องคำ เสียงกลองเครื่องเป่าดังขึ้นวงโยทวาทิตเดินนำหน้าขบวนพาเลตตั้งแถวพร้อมเดิน รถตำรวจรักษาความปลอดภัยนำทางผ่านเข้าชุมชนและตลาดจนถึงพื้นที่นัดหมาย ผู้นำท้องถิ่นชาวบ้าน เด็กนักเรียน มาพร้อมกัน ณ ศาลปู่ตากุดลิง
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลร่องคำ(ดร.พูนสวัสดิ์ นาทองคำ) ได้กล่าวเปิดงานและเล่าเรื่องความเป็นมาในอดีต “แต่ก่อนห้วยทรายมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและชาวบ้านอยู่กันเป็นชุมชนใหญ่เป็นแหล่งอาหารและผู้คนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำและป่า ห้วยทรายเป็นสายน้ำเล็กๆที่กำเนิดจากป่าดงแม่แผด อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ไหลผ่าน อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด และอ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ที่นี่จึงเปรียบเสมือนพื้นที่กลางน้ำหากเราไม่ช่วยกันดูแลรักษา ก็จะส่งผลต่อผู้คนวิธีการจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากสภาพลำห้วยที่ตื้นเขินและแห้งแล้งในปัจจุบันจึงขุดปรับสภาพลำห้วยและช่วย กันสร้างป่าสร้างความชุ่มชื้นป้องกันตลิ่งพังทลายรวมถึงการสร้างฝายกักเก็บ น้ำไว้ใช้ประโยชน์”
การส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยกันจัดการดูแลจึงเป็น สิ่งสำคัญบ้านกุดลิงจึงเป็นพื้นที่ต้นแบบหนึ่งของการทำงานแบบมีส่วนร่วมโดย มีเด็กๆนักเรียนชมรม Conservation Club โรงเรียนร่องคำ เป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนพลังของคนรุ่นใหม่เพื่อใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เมื่อ ทุกฝ่ายทุกคนพร้อมแล้วจึงเริ่มชวนกันลงพื้นที่ปลูกต้นไม้เลาะริมห้วยทราย ระยะทางกว่า ๓ กม.จากหมู่บ้านเล็กๆ “กุดลิง” กลางอำเภอร่องคำ เดินตามลำห้วยทรายที่ไหลผ่านทุ่งนาไปสุดเขตถนนสายร่องคำ-โพธิ์ชัย คือเป้าหมายที่เราจะช่วยกันปลูกต้นไม้ในวันนี้
เด็กนักเรียน ชาวบ้าน ผู้ปกครอง คุณปู่ ย่า ตา ยายลุง ป้า น้า อา และผู้นำชุมชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานของท้องถิ่น กว่า ๔๐๐ คน ต่างจับกลุ่มพากันเดินถือต้นไม้เป็นแถวเลาะคันนาแล้วขุดปลูกต้นไม้ตามรายทาง นายนิธนันท์ นาเมืองรักษ์ (น้องก้อย) อดีตประธานชมรม Conservation Club หัวแรงใหญ่ของงานที่กำลังออกแรงขุดหลุมทำแนวปลูกหญ้าแฝกอยู่ริมตลิ่งเล่าให้ ฟังว่า “ฤดูน้ำหลากน้ำไหลเชี่ยวแรงทำให้เกิดการกัดเซาะริมตลิ่งและฤดูน้ำแล้งน้ำจะ เหือดแห้งเพราะน้ำบางส่วนจะซึมอยู่ใต้พื้นทรายและไม่มีน้ำทำการเกษตร จากปัญหาที่ผ่านมารุ่นพี่ชมรมอนุรักษ์ได้ทำการปลูกหญ้าแฝกและช่วยกันสร้าง ฝายชะลอน้ำแต่ก็ช่วยได้เพียงบางส่วนทำให้พวกเรากลุ่มเยาวชนคนรักษ์บ้านเกิด และสมาชิกชมรมอนุรักษ์รุ่นปัจจุบันเกิดความคิดที่จะต้องการพัฒนาฟื้นฟู ลำห้วยทรายรวมทั้งต่อยอดความคิดและสานต่องานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องโดยเรียน รู้การทำงานจากรุ่นสู่รุ่นงานวันนี้ที่เกิดขึ้นได้จากการมีส่วนร่วมของทุกคน วัดผลได้จากมีผู้คนมาช่วยกันปลูกต้นไม้มากกว่าปีที่ผ่านมาและพันธุ์พืชที่นำ มาปลูกมีความหลากมากขึ้น”
นางสาวดารารัตน์ นาพรมมา (น้องยุ้ย) ประธานชมรมคนปัจจุบัน ที่ก้าวเข้ามาทำกิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกและเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นประธาน ชมรมคนใหม่วันนี้ทำหน้าที่เป็นช่างภาพและช่วยปลูกต้นไม้ได้คุยให้ฟังว่า “กิจกรรมครั้งนี้ได้เรียนรู้การทำงานพร้อมกับลงมือทำงานจริงและจะพัฒนางาน เก่าสานงานด้านการอนุรักษ์ต่อไป เพื่อพลิกฟื้นความสมบูรณ์ของห้วยทรายกลับคืนมาให้ได้”
เวลาผ่านไปกว่า ๓ ชั่วโมง เด็กๆนักเรียนยังช่วยกันทำงานหลายๆหน้าที่ทั้งสวัสดิการ บริการน้ำดื่ม เดินถือกระเป๋ายาบริการผู้เจ็บป่วยและช่วยกันเก็บถุงกล้าไม้ขยะระหว่างทาง เป็นบรรยากาศการทำงานของสมาชิกชมรม Conservation Club ที่มุ่งมั่นทำงานอย่างตั้งใจ ภาพของผู้คนทั้งเด็กโต เด็กเล็ก คนแก่ ชาวบ้านที่แบกจอบเสียมชวนกันมาออกแรงขุดดินปลูกต้นไม้ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อน แรงจนเหงื่อหยดไหลในขณะที่หน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นทำหน้าที่บริการสนับสนุน น้ำดื่มเอารถมาทยอยขนส่งต้นไม้เข้าไปตามพื้นที่เพื่อรอเตรียมปลูก
หาก วันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชุมชนทำให้ทุกคนได้รับรู้ร่วมกันคือ “ไม่มีน้ำ ไม่มีความชุ่มชื้น ไม่มีป่า ความสมบูรณ์ทางอาหารลดน้อยลง” จึงทำให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรในชุมชนขึ้นและได้รับความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วนส่งผลให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย คือ เกิดเครือข่ายเยาวชนชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลและฟื้นฟูห้วยทราย
สิ่งที่ผมเห็นและสัมผัสได้จากกิจกรรมในวันนี้ คือความตั้งใจ และ เอาใจใส่ดูแลร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะเป็น “กิจกรรมในวันสิ่งแวดล้อม” หากช่วยกันทำอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดความยั่งยืน แค่เพิ่มเติมรายละเอียดใส่ความรู้ความเข้าใจให้ทุกคนร่วมคิดร่วมสร้างวิธี จัดการเพื่อให้ต้นไม้ได้เติบใหญ่กลายเป็นป่า ให้คนในชุมชนได้ร่วมกันใช้และร่วมกันดูแลรักษานี่แหละคือความงดงามของชุมชน เล็กๆ ที่ อ.ร่องคำ ที่ช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน พลิกฟื้นฟูห้วยทรายให้กลับคืนมา“มีน้ำ มีป่า มีความสมบูรณ์ทางอาหาร” ดั่งที่ทุกคนคาดหวังคงอีกไม่ไกล
ภาพและเรื่อง โดย กำพล นามพูน