ประชุมเจ้าหน้าที่โครงการเพื่อออกแบบกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการเยาวชน

เมื่อวันที่ 9-10 กค. 2555 ทีมขับเคลื่อนโครงการจากมูลนิธิกองทุนไทย ได้มีโอกาสมาร่วมเรียนรู้ "การออกแบบกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการเยาวชน" ที่โรงแรมอมารี จัดโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


ครั้งนี้นอกจากเจ้าหน้าที่โครงการจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิกองทุนไทยและสงขลาฟอรั่มแล้ว เรายังมีเพื่อนใหม่จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแฟซิฟิก (รีคอฟ), เครือข่ายพุทธิกา, และกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม (YIY) มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย โดยมีทีมวิทยากรจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม นำโดย พี่ธเนศ (ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ), พี่ชาติ (อภิชาติ ลือสกล) และคณะ มาชวนคิด ชวนคุยเรื่อง “การออกแบบกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการ ทำอย่างไรที่จะได้ข้อเสนอโครงการดีๆ และเป็นความต้องการจากเด็กจริงๆ” โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่าน โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา, โครงการเยาวชน1000ทาง, โครงการตลาดนัดประกอบฝัน (YIM) และโครงการต้นกล้าในป่าใหญ่


กิจกรรมเริ่มด้วยการแนะนำตัว ต่อจากนั้น “พี่เปา” ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมและเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาเยาวชนที่มูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุน 2 องค์กร ได้แก่ สงขลาฟอรั่ม และมูลนิธิกองทุนไทย ให้เพื่อนใหม่ฟัง


“องค์กรที่ทำงานพัฒนาเยาวชนของไทยยังไม่เป็นกระบวนและไม่เป็นระบบ อีกทั้งเรายังขาดกลไกติดตามระยะยาว ซึ่งองค์ความรู้ในการพัฒนาคนรุ่นใหม่สำคัญเพราะคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน”



ต่อจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของแต่ละโครงการที่มีจุดเด่นและกระบวนการทำงานที่น่าสนใจคือ


โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา โดย “จุ้ย” (คะทาวุธ แวงชัยภูมิ) จากเครือข่ายพุทธิกา

แนวคิดกิจกรรมคือมุ่งสร้างเสริมทัศนคติดีงาม 4 ประเด็น คือ คิดถึงผู้อื่นมากว่าตัวเอง, ไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว, เชื่อมั่นในความเพียรของตนเอง, คิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล ซึ่งกระบวนการกิจกรรมจะต้องให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรม 4 ข้อข้างต้น โดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่


กระบวนการคัดเลือกมี 2 ระดับ คือ 1) คัดกรองรอบแรกจะพิจารณาจาก 3 ประเด็น คือ ดูที่กระบวนการเป็นหลัก สิ่งที่ทำต้องทำโดยประสบการณ์ตรง มีการถอดบทเรียนหรือเปล่า กิจกรรมที่ทำเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรือไม่ 2) พิจารณาโดยคณะกรรมการจาก สสส.


กระบวนการติดตามจะมีระบบอาสาพี่เลี้ยงโดยมองหาคนที่มีศักยภาพ หรือพัฒนาจากเจ้าหน้าที่โครงการซึ่งจะมีการฝึกอบรมเพื่อสร้างเข้าใจพี่เลี้ยงก่อน หน้าที่ของอาสาสมัครพี่เลี้ยงคือเสริมกำลังใจ ให้คำแนะนำ และติดตามการทำงานแต่ละโครงการ


กระบวนการหนุนเสริมมี 2 จังหวะ คือกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อสื่อสารความเข้าใจโครงการให้กับผู้รับทุน มีคู่มือการทำรายงาน การเงิน และกระบวนการถอดบทเรียน ซึ่งกระบวนการถอดบทเรียนจะทำจากสิ่งที่เป็นนามธรรมมาสู่รูปธรรม และจากรูปธรรมมาเป็นนามธรรมอีกที ซึ่งเป็นกระบวนการที่น่าสนใจมาก


พี่จุ้ยสะท้อนถึงปัญหาที่พบให้ฟังว่า “คิดว่าระบบการคัดเลือกโครงการยังไม่มีระบบที่ดีพอ และอยากจะเสริมเรื่องกระบวนการอบรมการพัฒนาข้อเสนอโครงการด้วยเหมือนกัน สุดท้ายคือเรื่องทุนระยะยาว”


โครงการต้นกล้าในป่าใหญ่ โดย “บี” (สุภาภรณ์ ปันวารี) ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแฟซิฟิก (รีคอฟ)

เนื่องจากรีคอฟทำงานกับชาวบ้านที่ดูแลป่าชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งนับวันก็มีจะแก่ตัวขึ้นทุกวัน จึงมีความคิดที่อยากพัฒนาเยาวชนให้มาเป็นกำลังสำคัญและสืบทอดดูแลป่าชุมชนแลผู้ใหญ่ สำหรับในโครงการต้นกล้าในป่าใหญ่มีเยาวชนจาก 20 กลุ่ม กระจายตามภูมิภาคโดยคัดเลือกจากภาคีที่รีคอฟทำงานด้วย โครงการนี้จะเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชนในเรื่องการจัดการป่า การผลิตสื่อ การสำรวจป่า การประเมินคาร์บอน เป็นต้น


โครงการเยาวชน1000ทาง และ โครงการตลาดนัดประกอบฝัน (YIM) โดย “เก๋” (ดวงรัตน์ เลิศมั่งมี) จากกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม (YIY)

โครงการเยาวชน1000ทาง

เป็นการสนับสนุนคนรุ่นใหม่อายุ 15-22 ปี ที่เป็นมือใหม่อยากทำอะไรเพื่อสังคม มีงบประมาณสำหรับทำกิจกรรม 8,000 บาท


จุดเด่น คือ มีกระบวนการทำงานที่น่าสนใจ โดยมีอนุกรรมการภาคเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ ประชาสัมพันธ์ พัฒนาโครงการร่วมกับน้องๆ การพิจารณาโครงการ (กระบวนการกลั่นกรองโครงการเบื้องต้นจะมีทีมส่วนกลางเช็คข้อมูลทางโทรศัพท์) อบรมเตรียมความพร้อม (ค่ายก้าวแรก) เพื่อติดอาวุธให้กับน้องๆก่อนทำโครงการ ลงพื้นที่ติดตามโครงการ เป็นต้น ซึ่งทีมส่วนกลาง (YIY) จะมีการอบรมเตรียมความพร้อมให้กับอนุกรรมการภาคก่อน สิ่งที่น่าสนใจในการเก็บเกี่ยวการเรียนรู้ของน้องคือการให้น้องๆจดบันทึกในสมุดบันทึกการทำงาน และมีเวทีถอดบทเรียนการทำงานจากเยาวชนและพี่เลี้ยงด้วย มีการจัดแสดงผลงาน


ตลาดนัดประกอบฝัน

เป็นโครงการก้าวที่สองสำหรับน้องๆที่เคยผ่านโครงการเยาวชน1000ทางมาแล้ว หรือคนทั่วไปที่สนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคม

หลักเกณฑ์ : รวมกลุ่ม 3 คน, งบไม่จำกัด, มีกิจกรรม 1 ปี

มีการประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครโครงการ 3 เดือน (ธ.ค. – ก.พ.) ผ่านทาง website โปสเตอร์

กระบวนการคัดโครงการมี 3 ขั้นตอน คือ กลั่นกรอง พัฒนาโครงการ พิจารณาโครงการ

โครงการที่ผ่านจะมีการปฐมนิเทศเพื่อทำความเข้าใจการบริหารจัดการโครงการ การเงิน การทำรายงานฯ มีการจัดค่ายกลางปี ค่ายถอดบทเรียน สำหรับการลงพื้นที่ติดตามโครงการอย่างน้อย 2 ครั้ง

นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้การดำเนินงานการวิจัยท้องถิ่นผ่านวีดีโอ สรุปได้ดังนี้


สำหรับวันที่ 2 ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันระดมความคิด "โครงการที่ดี" เป็นอย่างไร ดูได้จากอะไรบ้าง

สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งสองวัน เราต่างก็ได้เข้าใจ และเรียนรู้ถึงแนวคิดการ ขั้นตอนการดำเนินงานพัฒนาเยาวชน ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเพื่อน เห็นถึงความตั้งใจ และขอบคุณเพื่อนๆที่ให้คำแนะนำต่างๆซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ เราจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในงานต่อไปคะ ประทับใจจริงๆ