ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการ "ปลูกใจ...รักษ์โลก" ปี 3 ดำเนินการโดยมูลนิธิกองทุนไทยในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีการจัดเวทีเรียนรู้ "สรุปบทเรียนการทำโครงการ เชื่อมพลังรักษาสิ่งแวดล้อม" ขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2558 ณ หินสวยน้ำใส รีสอร์ท จ.ระยอง โดยมีเยาวชนหัวใจสีเขียวปี 3 ทั้ง 20 โครงการเข้าเรียนรู้ วัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้สรุปบทเรียนการทำโครงการ และนำบทเรียนที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงเกิดการเชื่อมร้อยเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต
กิจกรรมสรุปบทเรียนการทำโครงการครั้งนี้ประกอบด้วยการชักชวนน้องๆ ทบทวนเป้าหมายโครงการ ร่วมกันประเมินความสำเร็จและถอดบทเรียนการทำงาน สำรวจความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากการทำโครงการที่เกิดขึ้นต่อตัวเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และการวางแผนสำหรับการทำงานในระยะต่อไป
เสียงสะท้อนของเยาวชนหลังสิ้นสุดโครงการ นางสาวสุธิชา ชิณบุตร (หลิน) และ นางสาววุศยพรเชียงกาญจนพงษ์ (มู๋แดง) กลุ่มเยาวชน บล.ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โครงการ Youth River Conservation โรงเรียนบ้านหลวงวิทยา จ.นครปฐม ซึ่งทำโครงการรักษาความสะอาดของคลองบ้านหลวง จ.นครปฐม สะท้อนว่าการเข้าร่วมโครงการทำให้ได้รับความรู้ มีทัศนคติ และมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป มีความกระตือรือร้นและอยากช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากแต่ก่อนไม่เคยสนใจ เห็นขยะถูกทิ้งไว้ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร แต่พอเข้าร่วมโครงการแล้ว หากเห็นขยะถูกทิ้งไว้ก็จะก้มเก็บ ถ้าไม่มีถังขยะอยู่ใกล้ๆ ก็จะเก็บใส่กระเป๋าไว้จนกว่าจะพบถังขยะ นอกจากนี้ยังช่วยกันประหยัดน้ำประหยัดไฟ ไม่เปิดทิ้งไว้ เมื่อใช้งานเสร็จก็ถอดปลั๊กเพื่อประหยัดพลังงาน
"ของทุกอย่างบนโลกมันไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง มันเป็นของทุกคน เราใช้ด้วยกัน เราต้องช่วยกันรักษาค่ะ" สองสาวกล่าว
ด้านนายวัชระพงษ์ สุขพรรณ์ (มาส) นางสาวกุลธิดา ขยันดี (อุ้ม) และ ด.ญ.ชิดชนก หล้าปาวงศ์ (แอล) กลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิด โครงการคืนต้นกล้าให้ผืนป่าม่อนต้นลานบ้านสาแพะ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับการทำโครงการ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเตือนให้เยาวชน ชาวบ้าน และผู้นำในชุมชนได้เห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ รักษา และใช้ประโยชน์ผืนป่าม่อนต้นลานอย่างยั่งยืน
"ผมมองว่าต้นไม้แต่ละต้นกว่าจะโตขึ้นมาได้ใช้เวลานานมาก แต่เวลาโดนตัดมันแปล๊บเดียวเอง" มาสสะท้อน
ส่วนนางสาวจุฑามาศนาลัย (ดรีม) นางสาวปิยธิดา ตุงคบุรี (เหรียญ) และนางสาวกรณิกา นวลคำ (ซิกกี้) สามสาวกลุ่มฟรีด้อมโปรเจคเชียงราย โครงการฮอมแฮงฮักป่าซาง จ.เชียงราย กับความพยายามฟื้นฟูและดูแลผืนป่าบ้านเกิด สะท้อนว่า การเข้าร่วมโครงการทำให้ตัวเองได้รับการปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้รับมิตรภาพ และโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเอง เช่น วิธีคิด วิธีการทำงาน ได้ฝึกการกล้าแสดงออก
"การทำโครงการยังทำให้เราได้ลงมือทำ และได้ส่งต่อความคิดความรู้สึกของเราสู่น้องๆ เป็นรากฐานให้เขาช่วยดูแลป่าต่อไป" สามสาวกลุ่มฟรีด้อมโปรเจคเชียงรายสรุปปิดท้าย
เรียกได้ว่า "เมล็ดพันธุ์รักษ์โลก" ได้เติบโตและผลิบานขึ้นในใจของเยาวชนกลุ่มนี้แล้ว .