สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี

โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี กลุ่มไก่ไข่อารมณ์ดี


          โครงการไก่ไข่อารมณ์ดี ดำเนินการโดยเยาวชนกลุ่มไก่ไข่อารมณ์ดี ซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 8 คน ของโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก เยาวชนกลุ่มนี้เป็นเด็กผู้ชายล้วนที่สนใจเรื่องกีฬา และไม่ถนัดการเรียนวิชาการ (เป็นเด็กหลังห้องและค่อนข้างเกเร)

          จุดเริ่มต้นของโครงการฯ คือเยาวชนมองสังเกตเห็นปัญหาของการซื้อไข่ไก่ พวกเขาสงสัยว่าไข่ไก่ที่คนในชุมชนและโรงเรียนซื้อมาทำอาหารมื้อกลางวันให้กับนักเรียน มาจากฟาร์มที่ปลอดภัยหรือไม่ เขาใช้สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของไก่และสารเร่งการออกไข่ไหม จึงอยากเลี้ยงไก่ เพื่อให้ได้ไข่ที่ปลอดภัยไว้บริโภคในโรงเรียน ทุกขั้นตอนเด็กๆจะได้คิดเอง ลงมือทำเองทั้งหมด โดยมีครูอมร (พี่เลี้ยงโครงการ) เป็นคนให้โจทย์เริ่มตั้งแต่ทำโรงเลี้ยงไก่ไข่ การสำรวจพื้นที่หลังโรงเรียนและเลือกพื้นที่ที่จะสร้างโรงเลี้ยงไก่ด้วยตัวเอง ออกแบบ คำนวณพื้นที่และก่อสร้าง เพื่อให้ได้ไข่ไก่อารมณ์ดีและปลอดสารพิษ เยาวชนคิดวิธีผลิตอาหารสูตรธรรมชาติให้กับไก่ไข่ พวกเขาคุยกันว่าต้องทำอย่างไร ครั้งแรกใช้เวลา 1 เดือน ลองผิดลองแต่ถูกสุดท้ายไก่ไม่ออกไข่ เพราะพวกเขาใช้เพียงหยวก รำ และเปลือกไข่ ไก่ได้รับโปรตีนในปริมาณที่น้อยเกินไปจึงไม่ออกไข่ หลังจากนั้นต้องใช้อาหารสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากโรงงานเพื่อปรับความสมดุลของไก่ ครูอมร จึงให้โจทย์ให้เยาวชนช่วยกันหาโปรตีนมาเสริมให้ไก่ เยาวชนค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จากปราชญ์ในชุมชนที่เลี้ยงไก่ไข่ รวมถึงขอการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่กำลังศึกษาเรื่องสมุนไพร จึงทดลองทำจากกากถั่วเหลือง ปลาป่น ปลายข้าว เปลือกไข่ ใบมัน ใบกระถิน (ใบสะตอเบา) หญ้าเบญจรงค์ 5 สี ให้ได้สูตรอาหารไก่ไข่ ไก่ได้รับโปรตีนมากขึ้น เห็นความแตกต่างของไข่ไก่ที่ได้จากฟาร์มกับไข่ไก่ที่กลุ่มไก่ไข่อารมณ์ดีเลี้ยง และในทุกๆ วันแกนนำจะแบ่งเวรกันเข้ามาดูแลให้อาหารไก่

          กระบวนการทำงานของโครงการฝึกให้เยาวชนมีกระบวนคิดทางวิทยาศาสตร์ โดยตั้งสมมติฐาน ทดลอง แก้ไขปัญหา บันทึก ฝึกกระบวนการคิดเชิงคณิตศาสตร์ โดยการคำนวณพื้นที่ให้เหมาะสมกับจำนวนไก่ การผลิตอาหารไก่ ฝึกวินัยและความรับผิดชอบ ประกอบกับพี่เลี้ยงโครงการใช้เครื่องมือ BAR (Before Action Review) และ AAR (After Action Review) ในการสร้างการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เยาวชนมีพฤติกรรมเชิงบวก มีสมาธิดีขึ้น ตั้งใจในการเรียนและการทำโครงการ รู้จักแบ่งหน้าที่ มีสำนึกพลเมือง การทำโครงการฯ ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้ถนัดกว่าการเรียนเนื้อหาในห้องเรียน

          “เด็ก 8 คน จากที่เคยเล่าว่าเกเร ไม่ใส่ใจเรื่องการเรียน การเปลี่ยนแปลงของพวกเขา คือ (1) มีความรับผิดชอบในการทำงาน จากแต่ก่อนเวลาอยู่ในห้องเรียนจะหลับหรือไม่ก็เล่นกัน พอได้มาทำโครงการนี้ มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ (2) พวกเขามีสมาธิดีขึ้นในการเรียนและการทำโครงการ (3) มีความเสียสละ รู้จักการแบ่งหน้าที่ มีสำนึกพลเมือง เช่น วันนี้เพื่อนไม่มา 6 คน เด็กมีกันอยู่ 2 คน เขาทั้ง 2 คนจะช่วยให้อาหารไก่ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เวรของเขา แต่เขาทำแทนเพื่อนได้”

         “หรือเด็กชายธานี เด็กคนนี้มีไอเดียอยู่ในหัว การเรียนของเขาอยู่ในระดับไม่ได้ดีมาก แต่เรื่องการปฏิบัติ การซ่อม การสร้าง ผมยกให้เขาเลย เขาเป็นผู้นำของเพื่อนทั้งหมด ทุกส่วนของโรงเลี้ยงไก่เขาเป็นคนคิดวิธีการและทำการก่อสร้างทั้งหมด จากคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ จนทำให้เขามีความรับผิดชอบมากขึ้น” ครูอมรสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของแกนนำโครงการฯ

        รวมถึงผู้ปกครองเองก็ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็กว่า “ตื่นเช้าขึ้นจากเมื่อก่อนนอนตื่นสาย เดี๋ยวนี้พวกเขาตื่นเช้าเพื่อมารวมตัวกันดูแลไก่ไข่ ให้อาหารไก่ กิจกรรมนี้ช่วยดึงลูกของเขาออกจากกลุ่มเสี่ยงในส่วนของชุมชน”

        ผลผลิตที่เกิดขึ้นได้ส่งต่อไปที่โรงอาหารของโรงเรียนให้นักเรียนในโรงเรียนได้กินไข่ไก่ที่มีคุณภาพ ลดจำนวนการสั่งไข่ไก่จากภายนอก และถ้ามีไข่มากพอก็จะขายให้กับครูในโรงเรียน เยาวชนภูมิใจกับผลผลิตที่เกิดขึ้น โรงเลี้ยงไก่ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนในชุมชนที่สนใจการเลี้ยงไก่ปลอดสารเคมี มาสอบถามและเรียนรู้วิธีการซึ่งเยาวชนสามารถตอบคำถามได้ เนื่องจากลงมือทำเองทุกขั้นตอน

         ปัจจัยที่ทำให้โครงการสำเร็จคือ เยาวชนและพี่เลี้ยงโครงการฯ มีความผูกพัน ใจแลกใจ ดูแลกันและกันด้วยความเป็นมิตร คุณครูอมรเป็นพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษาทุกเรื่อง เยาวชนรู้สึกอบอุ่น รับรู้ว่ามีคนรับฟังและเห็นศักยภาพภายใน ผู้อำนวยการโรงเรียนเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ สนับสนุน ใส่ใจ ชื่นชมและพร้อมให้ความช่วยเหลือ ผู้ปกครองและคนในชุมชนรับรู้และสนับสนุนตลอดโครงการฯ

        โครงการไก่ไข่อารมณ์เสมือนห้องเรียนบูรณาการหลายวิชาให้เยาวชนได้เรียนรู้อย่างเป็นสุข สนุก ส่งเสริมทักษะชีวิตให้เยาวชนมีพื้นที่แสดงศักยภาพ เพราะเยาวชนมีความหลากหลาย ห้องเรียนไม่ได้มีเพียงนักเรียนเรียนเก่ง แต่การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการทำให้เด็กได้พบและแสดงศักยภาพที่ตัวเองมี


ความโดดเด่น

  • พี่เลี้ยงโครงการฯ อำนวยการเรียนรู้อย่างมีกระบวนการ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ลองผิดลองถูกและแสดงศักยภาพเต็มที่
  • โครงการฯ ฝึกทักษะชีวิต ฝึก Solf Skill ให้กับเยาวชนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม
  • การทำกระบวนการเชิงความคิดผ่าน เครื่องมือ BAR (Before Action Review) และ AAR (After Action Review) อย่างสม่ำเสมอ



ผู้ให้สัมภาษณ์

นายอมร หมัดเลียด (ครูมร) อายุ 34 ปี

ผู้ช่วยครูพละ สอนวิชาพลศึกษา-สุขศึกษา

ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก

พี่เลี้ยงเยาวชน



บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัวเอง

ตอบ สวัสดีครับ ผมชื่ออมร หมัดเลียด อายุ 34 ปี สอนวิชาพละและวิชาสุขศึกษาให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่1 - 3 โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก เป็นโรงเรียนขยายโอกาสเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3


ถาม ที่มาของโครงการไก่ไข่อารมณ์ดีเป็นอย่างไร

ตอบ ก่อนมาเป็นโครงการไก่ไข่อารมณ์ดี มีหัวข้อให้เด็กเลือกทำหลายเรื่อง เด็ก ๆ เลือกทำเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้มีรุ่นพี่ของพวกเขาทำโครงการศึกษาไก่ไข่แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ รุ่นพี่เลี้ยงไก่ไข่ไว้ 10 ตัว แต่ไก่ตายหมด หลังจากนั้นพวกเขาได้สานต่อโครงการจากรุ่นพี่ จนมาเป็นโครงการนี้

จุดเริ่มต้นคือเด็กมองเห็นปัญหาของการซื้อไข่ไก่ จากการสังเกตของเด็ก ๆ พวกเขาสงสัยว่าไข่ไก่ที่คนในชุมชนและโรงเรียนซื้อมาทำอาหารมื้อกลางวันให้กับนักเรียน มาจากฟาร์มที่ปลอดภัยหรือไม่ เขาใช้สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของไก่ และสารเร่งการออกไข่ไหม เด็ก ๆ กลัวว่าไข่ไก่ที่ตัวเองกินอาจจะทำให้ได้รับสารพิษจากโรงงานฟาร์มไก่ พวกเขาคิดวิธีผลิตอาหารสูตรธรรมชาติให้กับไก่ไข่ พวกเขาคุยกันว่าต้องทำอย่างไร ครั้งแรกใช้เวลา 1 เดือน ลองผิดลองถูกสุดท้ายไก่ไม่ออกไข่ เพราะพวกเขาใช้เพียงหยวก รำ และเปลือกไข่ ไก่ได้รับโปรตีนในปริมาณที่น้อยเกินไปไก่จึงไม่ออกไข่ หลังจากนั้นต้องใช้อาหารสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากโรงงานเพื่อปรับความสมดุลของไก่

ครูให้โจทย์เด็ก โดยให้พวกเขาไปช่วยกันหาโปรตีนอะไรก็ได้มาเสริมให้ไก่ไข่ เด็กได้กากถั่วเหลือง ปลาป่น (น้องน้ำนิ่งเป็นคนแนะนำ) ปลายข้าว เปลือกไข่ ใบมัน ใบกระถิน (ใบสะตอเบา) จากการทดลองเราได้อาหารไก่ไข่สูตรอาหารนี้ ไก่ได้รับโปรตีนมากขึ้น เราเห็นความแตกต่างของไข่ไก่ที่ได้จากฟาร์มกับไข่ไก่ที่เราเลี้ยงเอง ไข่ไก่ของฟาร์มไข่ขาวจะเหลวกว่า ไข่ไก่ของเราไข่ขาวเป็นวุ้น ไข่แดงมีสีเหลืองอยู่ตรงกลาง ตอนนี้นักเรียนกำลังพิสูจน์เรื่องสีของไข่ไก่ ไข่ไก่ที่มีไข่แดงสีแดงเกิดจากอะไร นักเรียนไปสืบค้นมาพบว่าเกิดจากหัวกุ้ง ตอนนี้เรายังไม่ได้ทดลองทำ สูตรอาหารปลอดสารพิษสำหรับไก่ไข่ที่เราคิดค้นขึ้นมา ทำให้ไข่ไก่ที่เราเลี้ยงมีขนาดใหญ่ประมาณเบอร์ 0 และ เบอร์ 1


ถาม ตอนนี้โรงเรียนพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องไก่ไข่ปลอดสารพิษให้กับชุมชนไหม

ตอบ โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ได้แล้วครับ การเลี้ยงไก่ไข่เราใช้สมุนไพรในการรักษาไก่ เวลาที่ไก่เป็นหวัดเราไม่ใช้ยาฉีดเข้าไปในตัวไก่ไข่ เราใช้ฟ้าทะลายโจรกับบอระเพ็ดเป็นตัวช่วยในการรักษาและเราจะให้กินหญ้าเบญจรงค์ 5 สี มีชาวบ้านหลายคนอยากเลี้ยงไก่ไข่ เข้ามาถามความรู้จากโรงเรียน


ถาม ข้อมูลเรื่องการใช้สมุนไพรในการรักษาไก่ไข่ได้มาอย่างไร

ตอบ ข้อมูลเหล่านี้เกิดจากเด็กไปสืบค้นจาก Internet และสอบถามปราชญ์ชาวบ้านที่เคยเลี้ยงไก่ไข่ เขาแนะนำให้ใช้สมุนไพร เราปรึกษากับทางคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตอนนั้นเขาศึกษาเรื่องสมุนไพร คณะผู้บริหารของเทศบาลปริกพร้อมให้ความช่วยเหลือ เมื่อเราขาดอะไรเราสามารถยื่นเรื่องแจ้งได้ และมีทีมสงขลาฟอรั่มคอยให้คำปรึกษา


ถาม เด็ก ๆ ที่เข้ามาทำโครงการเป็นกลุ่มไหน รวมตัวกันได้อย่างไร

ตอบ เด็กในโครงการเป็นเด็กผู้ชายทั้งหมด 8 คน เป็นเด็กหลังห้องค่อนข้างเกเร พอพวกเขาได้ทดลองเลี้ยงไก่ไข่จนมีผลผลิตออกมา เด็กก็รู้สึกสนุกในการเลี้ยงไก่ไข่และการเก็บผลผลิต บางครั้งเราไม่ต้องบอกอะไรเขา เขาจะรู้หน้าที่ พอมาถึงโรงเรียนเขาจะเข้าไปดูผลผลิต ให้อาหารและน้ำกับไก่ไข่

การรวมตัวของพวกเขาเริ่มจาก ครูให้เด็ก ม.1 - ม.3 มารวมตัวกัน โดยให้โจทย์พวกเขาคิดโครงการ ใครอยากทำโครงการอะไรให้ออกมาเขียนลงบนบอร์ด เช่น โครงการไข่ไก่ โครงการผ้ามัดย้อม โครงการเฟอร์นิเจอร์ มีประมาณ 10 โครงการ หลังจากได้ชื่อโครงการต่าง ๆ มาแล้ว ครูให้เด็กนั่งปิดตา และยกมือเลือกโครงการที่ตัวเองสนใจเพียง 1 โครงการ โดยครูจะอ่านชื่อโครงการไปทีละโครงการ เช่น ครูจะอ่านชื่อโครงการที่หนึ่งแล้วสังเกตว่ามีใครสนใจบ้าง จากนั้นให้เด็กยกมือในขณะที่ปิดตา โดยที่เขามองไม่เห็นว่าเพื่อนเลือกโครงการอะไร เราให้เขาเลือกด้วยความสนใจที่แท้จริงและความสมัครใจของเขา


ถาม บทบาทของเด็ก ๆ ในโครงการเป็นอย่างไร

ตอบ เริ่มต้นจากการหาพื้นที่การทำโรงเลี้ยงไก่ไข่ โดยที่ผมเป็นหัวหน้าทีม ผมจะไม่บอกว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหน ให้เขาเป็นคนไปค้นหาเอง โดยให้ทั้ง 8 คน สังเกต มองหาพื้นที่ ใครอยากจะทำบริเวณไหนให้มาบอกผม หลังจากนั้นพวกเขาจะกลับมาบอกว่าเขาอยากจะทำตรงไหน


ถาม บทบาทการทำงานของเยาวชนส่งผลอย่างไรกับผู้ปกครองและคนในชุมชน

ตอบ ผู้ปกครองบอกว่า เด็ก ๆ ตื่นเช้าขึ้นจากเมื่อก่อนนอนตื่นสาย เดี๋ยวนี้พวกเขาตื่นเช้าเพื่อมารวมตัวกันดูแลไก่ไข่ ให้อาหารไก่ กิจกรรมนี้ช่วยดึงลูกของเขาออกจากกลุ่มเสี่ยงในส่วนของชุมชน มีคนบอกว่าเขาอยากลองเลี้ยงไก่ไข่บ้าง แต่เขาไม่รู้จักวิธีเลี้ยงไก่ไข่ ผมแนะนำว่ามีเด็กหนึ่งกลุ่มที่ทดลองเลี้ยงไก่ไข่ ผมบอกให้ไปเขาและคนในชุมชนเข้าไปสอบถามข้อมูลที่บ้านของเด็ก ๆ ได้ ถ้าไม่เจอตัวเด็กให้มาถามข้อมูลกับผมได้หรือให้มาสอบถามข้อมูลการเลี้ยงไก่ไข่ได้ที่โรงเรียน


ถาม มีคนในชุมชมไปสอบถามข้อมูลไก่ไข่กับเด็กบ้างไหม

ตอบ ยังติดช่วงโรคระบาดโควิด-19 ผมยังไม่ได้เจอเด็กเหมือนกันครับ


ถาม มีวิธีการจัดการกับผลผลิตอย่างไร

ตอบ ผมอยู่กับเด็กแบบใจแลกใจ ถ้าเรามีเราให้ เขามีเขาให้ เช่น วันนี้เราเก็บไข่ได้ 65 ฟอง เด็กมา 4 คน ครูจะแบ่งให้กับเขาคนละ 5 ฟอง พวกเขาทำหน้าที่สละเวลาของเขามาดูแลไก่ เราต้องแบ่งปันไข่คืนให้เขาบ้าง เมื่อเราเก็บไข่ไก่ได้จำนวน 2 แผง เราจะส่งไปที่โรงอาหาร และลดจำนวนการสั่งไข่ไก่จากภายนอก โดยปกติเขาสั่งไข่ไก่จำนวน 8 แผง พอเราเก็บไข่ได้ 2 แผง ตรงนี้ช่วยลดรายจ่ายของโรงเรียนได้ ถ้ามีไข่มากพอ ในบางครั้งเราขายให้กับครูในโรงเรียน และตอนนี้ติดช่วงโรคระบาดโควิด-19 โรงเรียนไม่มีคนอยู่ ผมได้นำไก่ของโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน ถ้าเราทิ้งไก่ไว้ที่โรงเรียนจะมีสุนัขจรจัดเข้ามากัดไก่


ถาม นอกจากโครงการไก่ไข่อารมณ์ดี ส่งผลผลิตเป็นอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนแล้ว ยังมีโครงการอื่นในโรงเรียนอีกไหม

ตอบ มีโครงการเกษตรปลอดสารพิษที่ผลิตผักให้โรงอาหาร มีแนวโน้มว่าจะทำโครงการขนมพื้นบ้านซึ่งในส่วนนี้ผมไม่แน่ใจ ตอนนี้หลัก ๆ น่าจะมีโครงการไก่ไข่ โครงการเกษตรปลอดสารพิษ โครงการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์จากไม้ที่ไม่ได้ใช้งาน นำมาแปรรูปใหม่


ถาม เสียงสะท้อนจากผู้บริหารและครูในโรงเรียนถึงโครงการไก่ไข่อารมณ์ดีเป็นอย่างไร

ตอบ ผู้บริหารบอกว่า ถ้าเรามีงบประมาณหรือมีสถานที่เลี้ยงดี ๆ จะส่งผลดีกับโรงเรียน อย่างน้อยเราไม่ต้องไปสั่งไข่จากตลาด เราได้ผลผลิตจากการเลี้ยงไก่ไข่ของเราเอง เราได้ผักที่ปลอดสารพิษ ผู้บริหารรู้สึกปลื้มใจและชอบโครงการที่เด็ก ๆ ทำ เรามีรายได้หมุนเวียนจากการขายไข่ไก่บ้าง คนในพื้นที่เทศบาลได้กินไข่ไก่ที่ปลอดสารพิษ เราให้เขาเข้าคิวจองไข่ไก่ไว้ ถ้าเหลือจากการส่งให้โรงอาหาร เราจะนำมาขายเพื่อเป็นค่าอาหารไก่ต่อไป


ถาม ช่วยเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ หลังจากที่เข้าร่วมในโครงการ

ตอบ เด็ก 8 คน จากที่เคยเล่าว่าเกเร ไม่ใส่ใจเรื่องการเรียน การเปลี่ยนแปลงของพวกเขา คือ (1) มีความรับผิดชอบในการทำงาน จากแต่ก่อนเวลาอยู่ในห้องเรียนจะหลับหรือไม่ก็เล่นกัน พอได้มาทำโครงการนี้ มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ (2) พวกเขามีสมาธิดีขึ้นในการเรียนและการทำโครงการ (3) มีความเสียสละ รู้จักการแบ่งหน้าที่ มีสำนึกพลเมือง เช่น วันนี้เพื่อนไม่มา 6 คน เด็กมีกันอยู่ 2 คน เขาทั้ง 2 คนจะช่วยให้อาหารไก่ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เวรของเขา แต่เขาทำแทนเพื่อนได้


ถาม ยกตัวอย่างเด็กในโครงการที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาเปลี่ยนอย่างไร

ตอบ ตัวอย่าง เด็กชายธานี ทุกส่วนของโรงเลี้ยงไก่เขาเป็นคนคิดวิธีการและทำการก่อสร้างทั้งหมด เด็กคนนี้มีไอเดียอยู่ในหัว การเรียนของเขาอยู่ในระดับไม่ได้ดีมาก แต่เรื่องการปฏิบัติ การซ่อม การสร้าง ผมยกให้เขาเลย เขาเป็นผู้นำของเพื่อนทั้งหมด จากคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ จนทำให้เขามีความรับผิดชอบมากขึ้น บางครั้งถ้าผมไม่ว่าง ผมจะโทรหาธานีเป็นคนแรก เพื่อให้เขาดูแลความเรียบร้อยของโรงเลี้ยงไก่ ทั้งเรื่องให้อาหารไก่ เก็บไข่ นำไข่ไก่ที่ได้ไปวางไว้ที่ห้องท่านผู้อำนวยการโรงเรียน


ถาม ปัจจัยที่ทำให้โครงการสำเร็จคืออะไร

ตอบ ผมคิดว่าเป็นเรื่อง ใจแลกใจ เวลาที่เราทำโรงเลี้ยงไก่ เด็กเหนื่อย เด็กหิว เขาจะขอดื่ม เช่น น้ำแดง ผมจะให้เงินเขาไปซื้อน้ำมาดื่ม ถ้าหิวข้าวจะให้เขาไปซื้อข้าวมา 4 ห่อ แบ่งกันกิน 8 คน การที่เราดูแลเขา ทำให้เขามีใจอยากทำงาน เวลาที่ผมให้โจทย์เขาไปคิดค้นสูตรอาหาร วันรุ่งขึ้นเขาเอาสูตรที่เขาหามาให้ผมดู แบบนี้ที่ผมเรียกว่าใจแลกใจ

ส่วนปัจจัยภายนอก ผมคิดว่าผู้บริหารให้ความใส่ใจ ชื่นชมและพร้อมให้ความช่วยเหลือ สนใจลงมาดูสิ่งที่เด็ก ๆ ทำ เขาเป็นห่วง หาขนมน้ำมาให้เด็ก ๆ ได้รับประทาน


ถาม มองอนาคตของโครงการไก่ไข่อารมณ์ดีไว้อย่างไร

ตอบ ตอนนี้เราได้สูตรอาหารปลอดสารพิษ วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ทำอย่างไรให้ไก่อารมณ์ดี สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรค เราได้ครบแล้ว ผมคิดว่าควรมีโครงการนี้ต่อไปในโรงเรียน ผมอยากพัฒนาสูตรอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ผลิตเป็นอาหารเม็ด เราอยากเพาะพันธุ์ไก่ไข่เอง เพื่อที่เราไม่ต้องซื้อไก่ไข่ใหม่ เมื่อเพาะพันธุ์ไก่ได้ เราจะขายลูกเจี๊ยบส่งให้กับชุมชน อยากทำให้ครบวงจร


ถาม คุณครูมองอนาคตของเด็กในโครงการทั้ง 8 คน อย่างไร

ตอบ อนาคตของเด็ก 8 คน ถามว่าไปเรียนด้านวิชาการต่อได้ไหม พวกเขาอาจจะไปไม่รอด แต่ถ้าไปเรียนสายวิชาชีพ เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟ ผมคิดว่าพวกเขามีความสามารถทำได้ เด็กพวกนี้ที่ผมสอนอยู่ เรื่องวิชาการเขาจะไม่ถนัด เขาจะเก่งเรื่องของการปฏิบัติ เก่งด้านกีฬา

ในอนาคตถ้าเขาไม่ไปกับเพื่อนกลุ่มเสี่ยง หรือว่าพ่อแม่หย่าร้าง เขาน่าจะไปได้ไกล ตอนนี้พวกเขาอยู่ภายในโรงเรียนเขาจะไม่เป็นไร แต่ข้างนอกมีกลุ่มเสี่ยงค่อนข้างมาก บางคนเขาอาจจะตามเพื่อนกลุ่มเสี่ยงไป


ถาม ช่วยเล่าการรับรู้ของชุมชนที่มีต่อโครงการ

ตอบ ชุมชนนอกโรงเรียนรับรู้ จากการประกาศของโรงเรียนในวันประชุมผู้ปกครอง เขารู้ว่าที่โรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่ มีไข่ไก่และผักปลอดสารพิษขาย ผู้ปกครองทุกระดับชั้นรับรู้ในวันนั้น ผู้ปกครองบางคนโทรมาสั่งซื้อไข่ไก่โดยตรง หลังจากที่เขาซื้อไป เขาพูดปากต่อปากว่าไข่ที่โรงเรียนไม่เหมือนที่อื่น ที่โรงเรียนเรามีบอร์ดแจ้งข่าวสารกิจกรรมในโรงเรียนให้คนสามารถเข้ามาดูได้ เรามีป้ายกิจกรรมในโครงการไปแขวนไว้ เพื่อให้สร้างการรับรู้ว่าโรงเรียนเทศบาลปริกมีโครงการแบบนี้อยู่