สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา

โครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา

­

ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นางเสาวลักษณ์ คีรีเพ็ชร (ครูจอย) อายุ 47 ปี    ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน
  2. นายศราวุธ แก้วบุตร (ครูเอ็กซ์) อายุ 26 ปี    ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน
  3. นางสาวนันทินี พูลแก้ว (โนราห์) อายุ 19 ปี   ตำแหน่ง: หัวหน้าโครงการ
  4. นางสาวสุภัสสรา เพชรจูด (มุก) อายุ 19 ปี   ตำแหน่ง: สมาชิกโครงการ

­

บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้ช่วยแนะตัว

ครูเอ็กซ์  สวัสดีครับ นายศราวุธ แก้วบุตร ชื่อเล่นครูเอ็กซ์ อายุ 26 ปี สอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีที่ 4 ปีที่ 5

ครูจอย สวัสดีค่ะ นางเสาวลักษณ์ คีรีเพ็ชร ชื่อเล่นครูจอย อายุ 47 ปี สอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับชั้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ4 โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา

มุก นางสาวสุภัสสรา เพชรจูด ชื่อเล่นมุก อายุ 19 ปี ศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกระบี่ ตำแหน่งสมาชิกในโครงการ

โนราห์ นางสาวนันทินี พูลแก้ว ชื่อเล่นโนราห์ อายุ 19 ปี ศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตำแหน่งหัวหน้าโครงการ

­

ถาม ที่มาของโครงการที่ทำเป็นอย่างไร

โนราห์ พวกเราทำโครงการศึกษาสถานการณ์ขยะและแนวทางลดปริมาณขยะในโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือ แกนนำนักเรียนและคนที่เข้าร่วมโครงการลดปริมาณการใช้ขยะของตัวเอง และขับเคลื่อนเรื่องลดการใช้ขยะให้ไปสู่นักเรียนในโรงเรียน

ตอนแรกเรารับสมัครกลุ่มแกนนำ 100 คน เราให้กลุ่มแกนนำ 100 คน สำรวจการใช้ขยะของตัวเองโดยใช้แบบประเมินที่มีตารางให้บันทึกจำนวนการใช้ขยะในแต่ละวัน เป็นเวลา 15 วัน เพื่อสำรวจว่าแกนนำ100 คนใช้ขยะไปในปริมาณเท่าไร ช่วงปิดเทอมเราจะจัดกิจกรรมเป็นเวลา 45 วัน โดยใช้ตารางที่มีรูปแบบชัดเจนขึ้นว่า ขยะแต่ละชิ้นคือขยะอะไร ยี่ห้ออะไร ใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง

­

ถาม ทำไมถึงสนใจทำประเด็นเรื่องขยะ เรื่องนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ในโรงเรียนอย่างไร

มุก มีขยะในโรงเรียนจำนวนมาก นักเรียนทิ้งขยะไม่เป็นที่ มีสุนัขคุ้ยและคาบขยะ ทำให้โรงเรียนดูไม่สะอาดตา พวกเราฉุกคิดขึ้นมาจึงเลือกทำประเด็นนี้

โนราห์ หนูสังเกตเด็กนักเรียนเขากินตรงไหนเขาจะทิ้งขยะตรงนั้น เช่น เขากินบนโต๊ะก็จะทิ้งไว้บนโต๊ะ บางทีทิ้งที่สวนป่าดูแล้วไม่เป็นระเบียบ ขยะเกลื่อนไปทั่วโรงเรียน หนูกับเพื่อนรวมกลุ่มกันและคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนทิ้งขยะให้เป็นที่

พวกเราอยากทำโครงการนี้ เพื่อปลูกฝังวินัยของเด็กนักเรียนช่วยกันลดปริมาณขยะโดยเริ่มจากตัวของนักเรียน หนูเริ่มต้นลดขยะด้วยตัวเองก่อน เพราะเมื่อก่อนหนูใช้ขยะฟุ่มเฟือยมีปริมาณอยู่ที่ 60 ชิ้นต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก ขวดน้ำ แก้วพลาสติก พอทำโครงการนี้มาเรื่อยๆ เราเริ่มมีวินัยเรื่องการลดขยะในตัวเอง ปริมาณการใช้ขยะของหนูลดลงเหลือ 15 ชิ้นต่อวัน หนูจึงอยากให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียน หรือเพื่อนในกลุ่ม เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ว่าขยะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเราและสังคมอย่างไร

ครูเอ๊กซ์  นักเรียนช่วยกันเสนอเรื่องการจัดการขยะว่าควรทำอย่างไร ความคิดในช่วงแรก เขาจะนำขยะมาแปรรูปสร้างมูลค่า เพราะเคยเห็นงานแบบนี้มาก่อน ป้าหนูทีมสงขลาฟอรั่มตั้งคำถามว่า “เราจะนำขยะมาแปลงเป็นขยะอีกครั้งหรือ เราจะใช้มันได้จริงไหม” หลังจากวันนั้นเด็ก ๆ กลับไปทบทวนว่า “ถ้าเราไม่นำขยะมาสร้างรายได้ แต่เราช่วยกันลดขยะจากพฤติกรรมของตัวเราเองจะดีกว่าไหม” เพราะเราเห็นนักเรียนในโรงเรียนทิ้งขยะไม่เป็นที่และไม่มีการคัดแยกขยะ

พวกเขาเป็นกรรมการนักเรียนเวลาที่เขาตรวจพื้นที่บริเวณใกล้โรงอาหาร และบริเวณอื่น ๆ ก็พบขยะ เขาเกิดคำถามว่า “ทำไมขยะเยอะ” แม้ไม่ใช่บริเวณโรงอาหารก็ตาม แสดงว่ามีนักเรียนกินอาหารแล้วทิ้งไว้บริเวณนั้น พวกเขาจึงคิดลดใช้ขยะโดยเริ่มต้นจากตัวเขาเอง โครงการนี้จึงเริ่มขึ้น

พวกเราแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มเล็ก ๆ ยังไม่คาดหวังทำทั้งโรงเรียน เราอยากมีแกนนำประมาณ 100 คน ช่วยเป็นกระบอกเสียงในโรงเรียน ถ้าคนหนึ่งเปลี่ยนเพื่อนใกล้ตัวก็อาจจะเปลี่ยนตาม หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้เข้าสู่กระบวนการของสงขลาฟอรั่ม ผมกับครูจอยเป็นโคชคอยแนะนำพวกเขา โดยที่พวกเขาคิดกระบวนการและกิจกรรม พวกเขาจัดการเองเกือบทั้งหมด โดยที่เราคอยมองภาพรวมให้กับพวกเขา

­

ถาม ก่อนหน้านี้ที่โรงเรียนมีโครงการเกี่ยวกับเรื่องขยะมาก่อนไหม

ครูจอย  ในช่วงของการลดเวลาเรียนจะมีการเก็บใบไม้ในโรงเรียนมาทำปุ๋ย แต่เรื่องการลดใช้ขยะ ให้พกถุงผ้า กล่องข้าวหรือแก้วน้ำมาโรงเรียนยังไม่เคยมีใครทำ

ครูเอ็กซ์  ถ้ามีอาจจะเป็นแค่เชิงนโยบาย สมมุติว่ามีงานโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนปลอดโฟมก็ช่วยกันเก็บเสร็จแล้วก็แยกย้าย ในโรงเรียนเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกมีการประชาสัมพันธ์ จะมีการแยกขยะพลาสติกออกจากขยะใบไม้เพราะว่าจะต้องเอาใบไม้ไปทำปุ๋ย

­

ถาม ขอให้ช่วยเล่าถึงปัญหาขยะโรงเรียน

ครูจอย  ก่อนหน้านี้เด็กนำข้าวห่อจากบ้านใส่ถุงพลาสติกมาที่โรงเรียน เขาไม่ได้ใส่กล่องมา เวลาที่ทานเสร็จเขาจะนำไปทิ้งที่ถังขยะ ถ้าภารโรงไม่ได้มาเก็บขยะ หมาจะเข้ามาคุ้ยขยะ ตอนเย็นเราจะเห็นขยะเต็มไปหมด ตอนเช้าพอเด็กนักเรียนมาโรงเรียนขยะพวกนั้นก็ยังอยู่ เราอยากให้แม่ค้าในโรงอาหารเลิกใช้พลาสติก พอเราเข้าไปคุยเขาไม่ให้ความร่วมมือ ตัวอย่าง ร้านขายน้ำแข็งใสเขาจะใส่ถ้วยพลาสติกที่กินแล้วทิ้ง ถ้าเราให้เขาใช้ถ้วยแบบที่กินแล้วสามารถล้างได้ เขาไม่อยากใช้เพราะเป็นการเพิ่มภาระเพราะเขาต้องไปจ้างคนมาล้าง แม่ค้าที่ขายผลไม้เขาใช้ถุงพลาสติกในการใส่ผลไม้ ถ้าเราบอกให้เขาใส่จาน เขากลัวว่าเด็กจะนำจานออกไปนอกโรงอาหาร และจานจะหาย

­

ถาม เด็ก ๆ แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ครูจอย  เด็กแกนนำเขาจะนำกล่องและแก้วน้ำไปเพื่อเป็นการปฏิเสธถุงพลาสติก แม่ค้าไม่เปลี่ยนแต่นักเรียนและครูเป็นคนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง

ครูเอ็กซ์  ตอนที่เราประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ เราไปประชาสัมพันธ์ที่ร้านของเขา ชี้แจงเขาให้ทราบบอกว่าเรากำลังจะทำอะไร โดยที่เราไม่บอกให้เขาเปลี่ยน แต่เราเริ่มจากตัวเองที่ลดการรับถุงพลาสติก ในอนาคตต่อไปถ้าเด็ก ๆ ทำแบบนี้ถูกพลาสติกก็ไม่จำเป็น ถ้าวันนี้เราเริ่มถอยกันคนละก้าวโดยการเพิ่มทางเลือกให้กับเด็ก เช่น มีถ้วยเพิ่มมาในร้านน้ำแข็งใส มีจานเพิ่มเข้ามาในร้านผลไม้น่าจะดี

­

ถาม สิ่งที่พวกเราทำในโครงการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนอย่างไร

มุก การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวของหนู เมื่อก่อนหนูจะดื่มน้ำชาเย็นทุกวัน พอได้ทำแบบประเมินทำให้เห็นว่าชาเย็นหนึ่งถุงมีปริมาณขยะ 4 – 5 ชิ้น หนูจึงนำแก้วของตัวเองไปซื้อที่ร้านเพื่อลดการใช้ขยะ หนูเอาเรื่องนี้มาบอกต่อที่บ้าน แม่สนใจและร่วมมือด้วย เวลาที่แม่ไปจ่ายตลาดจะนำตระกร้าไปใส่ของแทนถุงพลาสติก พี่สาวของหนูจะนำกระติกน้ำหรือแก้วน้ำของตัวเองไปซื้อน้ำหวานแทนการใส่ถุงพลาสติก จากเมื่อก่อนที่บ้านจะต้องซื้อของเยอะ ๆ ตอนนี้เราเริ่มซื้อน้อยลงเป็นการประหยัดเงินไปด้วย

เพื่อนในกลุ่มก็สนใจทำ แต่ถ้าพูดถึงในโรงเรียนนักเรียนบางคนยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ พวกเขายังชอบความสบายอยู่ คิดว่าการนำแก้วมาเองจากบ้านเป็นภาระเพราะเราก็ต้องถือไปตลอด ถ้าเป็นกลุ่มแกนนำ 100 คน พวกเขาจะเข้าใจเรื่องลดการใช้ขยะ เพราะเรามีตัวอย่างและรูปภาพให้เห็นถึงผลกระทบของขยะ เช่น ถุงพลาสติกถ้าเราไม่รีไซเคิลอย่างถูกวิธี ขยะจะถูกส่งลงไปที่ทะเลและสัตว์ในทะเลจะได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง ปลาที่เขากินอาจมีไมโครพลาสติกอยู่ในตัวปลาก็ได้

โนราห์ เมื่อก่อนหนูใช้ขยะประมาณ 60 ชิ้นต่อวัน แต่พอเริ่มทำโครงการปริมาณขยะลดลงเหลือ 15 ชิ้น เพราะหนูลดการเข้าร้านสะดวกซื้อ เวลาไปไหนหนูจะนำแก้วน้ำไปด้วยตลอด บางครั้งถ้าหนูไปตลาดหนูจะนำถุงผ้าไปเองเพื่อเป็นการลดใช้ถุงพลาสติก หนูกับพี่สาวจะคอยเตือนกันว่าเราจะไม่รับถุงพลาสติกแล้วเพราะเรามีถุงผ้า ที่โรงเรียนเราเห็นว่าในแกนนำ 100 คน คนที่นำแก้วน้ำมาเองมีประมาณ50% และคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อนักเรียนในโรงเรียน เช่น การนำแก้วน้ำและกระปุกใส่ข้าวมาใช้ในโรงเรียนเป็นแฟชั่นอีกอย่างในโรงเรียนด้วย พวกเขาทำให้เห็นว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะในโรงเรียน ตอนนี้มีนักเรียนจำนวนหนึ่งประมาณ 100 คน เริ่มให้ความร่วมมือกับการนำแก้วน้ำมาใช้ในโรงเรียน

ครูจอย เราเห็นว่ามีเด็กนำข้าวใส่กล่องมาทานที่โรงเรียนมากขึ้น เวลาที่เขาไปซื้อของที่โรงอาหาร เขาจะพากล่องของเขาไปซื้อของจากแม่ค้าโดยที่ไม่รับถุง เช่น ลูกชิ้น กล้วยทอด โดยปกติแม่ค้าจะขายของใส่ถุงพลาสติกให้เด็ก ๆ นักเรียนแกนนำเคยไปขอร้องแม่ค้าเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก แต่เขาไม่ยินดีทำเด็กจึงแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยการเอากล่องมาเอง เวลาซื้อน้ำที่โรงอาหารเด็กจะนำขวดน้ำมาใส่เอง เวลาที่เด็กไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อเด็กจะพกถุงผ้าไปเอง นอกจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องการลดขยะแล้ว เด็ก ๆ มีการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง พวกเขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่เฉพาะสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนแต่เป็นสิ่งแวดล้อมในชุมชนของเขาด้วย พวกเขาลดขยะด้วยตัวของเอง ชักชวนพ่อแม่และญาติพี่น้องของเขาทำไปด้วยกัน ส่วนคุณครูเมื่อไปตลาดนัด เราซื้ออาหารสด เช่น หมูหรือปลา เราจะยื่นกล่องให้แม่ค้า ส่วนผักเราจะให้ใส่ถุงผ้า ถึงแม้ในโรงเรียนเด็กอาจยังทำไม่เยอะ แต่มีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม

ครูเอ็กซ์ ร้านค้าในโรงอาหารบางร้านเขายังมองว่า การเปลี่ยนจะเป็นการเพิ่มภาระของเขา เพราะว่ารายรับเขาเท่าเดิมแต่ภาระอาจเยอะขึ้น ถ้าไม่ให้ขายแบบใส่ถุงพลาสติก ยอดขายเขาอาจจะลดลงเด็กอาจจะไม่มาซื้อของร้านเขาก็ได้ เด็กบางคนพอไม่มีถุงใส่เขาก็ไม่ซื้อ จะกระทบกันหลายต่อ

เราพยายามให้นักเรียนแกนนำกลุ่มนี้ทำเป็นสัญลักษณ์ให้เด็ก ๆ เห็นว่าพี่ไปซื้อน้ำพี่นำแก้วไปเอง แก้วของพี่มีขนาดใหญ่มาก แต่แม่ค้าคิดเงินราคา 5 บาท เท่ากันกับแก้วพลาสติก และแก้วน้ำของพี่ ๆ ที่พกมาเองนั้นมีปริมาณน้ำที่มากกว่า พอเด็กเห็นแบบนี้เขาก็คิดว่านำแก้วมาเองดีกว่า ทางร้านขายน้ำบอกว่าดีถ้าเด็กนำแก้วมาเอง ร้านจะไม่เปลืองแก้วพลาสติก ถ้าเด็กใช้แก้วพลาสติกเขาก็ต้องใช้หลอดพลาสติกด้วยเด็ก 1 คน ใช้พลาสติก 2 ชิ้น เด็ก 2,000 คน ก็ใช้พลาสติก 4,000 ชิ้น พอเด็ก ๆได้เห็นจำนวนการใช้พลาสติกแบบนี้ เขาก็จะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้พลาสติกก็ได้

อีกอย่างหนึ่งที่ครูดีใจมาก ตอนที่เราปิดรับสมัครแกนนำไปแล้ว ยังมีเด็กบางกลุ่มที่สนใจเข้ามาร่วมสมัครกับเรา จึงคิดว่านอกเหนือจากแกนนำ 100 คน แล้ว เรายังเปิดรับสมัครสมาชิกเรื่อย ๆ ใครพร้อมลดขยะวันไหนที่สะดวกก็นำกล่องข้าวมา เราอาจจะไม่ได้นำข้าวมาจากบ้านแต่เราสามารถเอากล่องไปซื้อข้าวที่โรงอาหารได้

พฤติกรรมที่เด็กกลุ่มนี้พัฒนาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาไม่ได้มองแค่ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เขามองไปถึงที่บ้านและคนในชุมชนด้วย ตัวอย่าง ผมอยู่ในละแวกโรงเรียน ผมเอากล่องไปซื้อของในตลาดสด หมูกิโลกรัมละ 140 บาท พอแม่ค้าเห็นว่าเราเอากล่องมาเขาก็จะลดให้ 10 บาท ทางร้านค้าในชุมชนเขายินดี ถ้าใครมาซื้อของแล้วนำถุงผ้าหรือกล่องมาเองเขายินดีร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดใช้ขยะ เขาจึงช่วยลดราคาสินค้าบางอย่างลง

ผมคิดว่าคนในชุมชนตื่นตัวเรื่องนี้ ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มอาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่มาก ทำได้เพียงแกนนำ 100 คน ที่อยู่กับเรา หลังจากนี้เขาอาจจะกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลง พวกเขาอาจจะเป็นพลังเล็ก ๆ ให้กับคนอื่นได้ สำหรับผมตอนนี้มีความพึงพอใจอยู่ในระดับที่ดี

­

ถาม ขอให้ช่วยเล่าถึงเสียงสะท้อนจากแม่ค้าในโรงเรียน

ครูเอ็กซ์  บางร้าน เช่น ร้านขายน้ำ เขายินดีเปลี่ยนโดยการที่ให้เด็กนำแก้วมาเอง เพราะเขาจะได้ไม่ต้องล้างเอง แต่ร้านผลไม้เสียงสะท้อนคือเขาไม่อยากเปลี่ยน เพราะว่าถ้าใส่จานเด็กชอบเข้าไปนั่งทานใต้ต้นไม้และไม่นำจานกลับคืนมา เขาไม่อยากเปลี่ยน จึงมีเสียงสะท้อนกลับมา ทั้งดีและไม่ดี ฝั่งละ 50%

­

ถาม ช่วยเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของคนในโรงเรียน

ครูจอย  อย่างครูที่ไม่ได้มือร่วมกับเรา เขามีการพกแก้วน้ำมาโรงเรียน จากเดิมที่ครูไปทานอาหารกลางวันข้างนอกเขาจะซื้อชาเย็นใส่ถุงกลับเข้ามาในโรงเรียน แต่ตอนนี้เขาจะใส่แก้วน้ำของตัวเองแทน อีกอย่างเวลาที่มีอบรมที่โรงเรียนจะมีการสั่งขนมที่ใส่ในถุงพลาสติกมา ตอนหลังเราจะเลือกเปลี่ยนเป็นสั่งขนมที่ใช้ใบตองห่อมาแทน ทางกระทรวงศึกษาเขาจะเน้นเรื่องนี้ด้วย

ครูเอ็กซ์  อีกเรื่องที่ครูในโรงเรียนเปลี่ยนก็คือ เมื่อก่อนเวลาที่มีกิจกรรมหรือการประกวด เราจะให้รางวัลกับเด็กเป็นขนม เงินรางวัล ตอนนี้เราเปลี่ยนของรางวัลมาเป็นแก้วน้ำ กล่องข้าว ถุงผ้า อะไรก็ได้ที่เด็กสามารถใช้ในชีวิตจำวันได้ต้องเป็นสิ่งที่ช่วยลดเรื่องการใช้ขยะ มอบรางวัลเป็นสิ่งของที่เขาได้เห็นคุณค่าและสามารถนำมันมาใช้ได้ เผื่อให้เขานำมาใช้ในโรงเรียนได้ พยายามหามาแจกจ่ายให้พวกเขาได้เท่าเทียมกัน เด็ก ๆ ก็ชอบ เพราะว่าแก้วน้ำที่ให้ไปดูทันสมัยและมีลายการ์ตูนที่พวกเขาชื่นชอบ

­

ถาม เสียงสะท้อนจากผู้บริหารของโรงเรียนที่มีต่อโครงการเป็นอย่างไร

โนราห์  หนูเห็นว่าในหนึ่งวันเด็กจะดื่มน้ำประมาณ 3 - 4 ขวด ใช้เงินมากในการซื้อ ทำมีการใช้พลาสติกจำนวนมาก หนูอยากเปลี่ยนให้มีตู้กดน้ำมากขึ้น เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการใช้ขยะ ก่อนหน้านี้ตู้กดน้ำในโรงเรียนเสียไม่สะอาดดูไม่ปลอดภัย หนูนำเรื่องนี้ไปบอกคุณครูฝ่ายอาคาร เขาจัดการซ่อมแซมให้และเริ่มกลับมาใช้ได้ หลังจากซ่อมตู้กดน้ำได้แล้ว นักเรียนจะนำแก้วน้ำที่ตัวเองพกมาไปกดน้ำและเป็นการช่วยลดใช้ขวดพลาสติกด้วย

ครูเอ็กซ์  ท่านผู้อำนวยเชิญผมเข้าไปหารือเพื่อทำแบบสอบถามของทาง สพฐ. มีนโยบายให้โรงเรียนรายงานเรื่องการจัดการขยะในโรงเรียน ผมรายงานไปว่าเราไม่ได้เน้นเรื่องการแยกขยะโดยตรง แต่เราเน้นเรื่องการลดใช้ปริมาณขยะ เน้นเรื่องจิตสาธารณะมากกว่า เรามองต่างกับเรื่องที่ สพฐ. ส่งมา ถ้าให้เราสร้างธนาคารขยะเหมือนที่บอกมาเราคงไม่ทำ เพราะเราจะไม่ให้เด็กนำขยะจากบ้านมาฝากไว้ที่ธนาคารขยะโรงเรียน สำหรับโรงเรียนเราจะใช้เรื่องการลดปริมาณขยะแทน เพราะเราเห็นว่าขยะในโรงเรียนเพียงพอต่อธนาคารขยะแล้ว

ส่วนเรื่องตู้กดน้ำท่านผู้อำนวยการได้ดำเนินการสั่งเพิ่ม ให้เพียงพอต่อนักเรียนและเป็นการช่วยลดขยะในโรงเรียนด้วย ที่นี่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา ตอนนี้ราคายางตกต่ำมาก ท่านผู้อำนวยการอยากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองด้วย เด็กหลายคนพกขวดน้ำมาจากบ้าน สะท้อนให้เห็นในหลายเรื่อง (1) เรื่องการลดปริมาณการสร้างขยะ (2) พวกเขาเริ่มเป็นห่วงเรื่องรายได้ของพ่อแม่ พอโครงการของเรามาทำเรื่องนี้ทำให้ครูและผู้บริหารเห็นถึงความเป็นจำของเด็ก ๆ การทำโครงการนี้ถือว่าเป็นการเรียกร้องสวัสดิการให้กับเด็ก ๆ ได้มากขึ้น

ครูเอ็กซ์  ส่วนครูบางคนไม่ได้อยู่ในโครงการ แต่พอเขาถือแก้วน้ำมาเองเขาจะเรียกให้เราหันไปมอง เขาจะบอกเราว่า “วันนี้พี่พาข้าวห่อมาด้วย พาแก้วน้ำมาด้วยนะ” ครูหลายท่านพกแก้วน้ำของตัวเองมาโรงเรียนมากขึ้น

­

ถาม ช่วยยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนในโรงเรียน

โนราห์หนูสังเกตเห็นเด็กคนหนึ่งที่บ้านอยู่ใกล้หนู เขาเป็นแกนนำด้วย เขาเล่าว่าโครงการนี้ช่วยเขาลดการใช้พลาสติกได้จริง และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของด้วย จากที่เมื่อก่อนเขาใช้ขยะประมาณ 20 ชิ้นต่อวัน โครงการนี้ทำให้เขาตระหนักว่าขยะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม เขาลดจำนวนการใช้ขยะลงมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เหลืออยู่ที่ 5 ชิ้นต่อวัน

­

ถาม คิดว่าอะไรที่ทำให้น้องคนนี้เปลี่ยนพฤติกรรม

โนราห์ หนูคิดว่าเขาคิดถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีครั้งหนึ่งที่เขามาร่วมทำกิจกรรม หนูให้เขาดูคลิปเต่าที่มีหลอดเข้าไปติดในจมูก เขารู้สึกสงสารเต่าตัวนี้มาก และคิดว่าต้องเริ่ม ลดปริมาณขยะของตัวเองเพื่อสิ่งแวดล้อม

ครูเอ็กซ์  มีเด็กตั้งคำถามกับผมว่า “หลอดในโรงอาหารมันจะลงไปถึงที่ทะเลได้จริงหรือ” พอพวกเขาได้ดูคลิปเต่า เขาบอกว่า “ไม่อยากจะเชื่อเลยที่หลอดจะลงไปที่มหาสมุทรได้” ตอนนั้นพวกเขาคิดว่าขยะที่เขาทิ้งตอนนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะไปอยู่ในทะเล พอเขาได้เห็นสื่อต่าง ๆ จากที่แกนนำนำเสนอ ทำให้พวกเขาคิดว่าการทิ้งขยะมันมีผลกระทบถึงขั้นวิกฤติและนำไปสู่การตั้งคำถาม หลังจากนั้นเรามีกระบวนการจัดกิจกรรมลดขยะภายใน 45 วัน

­

ถาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนคืออะไร

ครูเอ็กซ์  ปัจจัยภายนอกคือความสกปรกที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เราเข้ามาในโรงเรียนจะเห็นว่าคูน้ำเต็มไปด้วยขยะที่อุดตัน พวกเขาต้องอยู่กับมันทุกวัน ทำให้เขาคิดว่าทำไมเวลาที่มาโรงเรียนในตอนเช้าเขาจะต้องมาเก็บขยะ เขาเริ่มสงสัยว่าขยะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาพยายามช่วยกันลดปริมาณการใช้ขยะ พวกเขาอยากให้โรงเรียนสะอาดสวยงาม เป็นความรู้สึกที่เขาอยากช่วยกันลดขยะ

อีกหนึ่งปัจจัยผมคิดว่าความเป็นพลเมืองของเขาเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่เราได้เข้าร่วมอบรมกับสงขลาฟอรั่ม เราไม่คิดว่าเราจะทำหน้าที่พลเมืองในรูปแบบนี้ เราคิดแค่ว่าเราจะนำขยะมารีไซเคิล แต่พอผ่านกระบวนการของสงขลาฟอรั่ม เด็กฉุกคิดได้เขารู้สึกว่าคำว่าพลเมืองสำหรับเขาเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลหรือมีใครรู้ วันนี้พวกเขาภูมิใจที่ได้เป็นพลเมือง เรียกตัวเองได้เต็มปากว่าเป็นพลเมืองดีด้วยการที่เริ่มต้นจากตัวเขาเอง รวมถึงเผื่อแผ่ไปถึงสังคมรอบข้าง ไม่ได้มองว่าการช่วยเหลือคนอื่นต้องเริ่มต้นจากอะไรที่ใหญ่ แต่เริ่มต้นจากในโรงเรียนก่อน โครงการนี้ไม่ได้ทำอยู่ในเฉพาะโรงเรียนแต่แผ่ออกไปถึงข้างนอกโรงเรียน ถึงครอบครัวและชุมชนของเขา แม่ของมุกบอกกับผมว่า “เวลาที่จะไปตลาดต้องไปหยิบถุงผ้าก่อนเพราะว่านึกถึงหน้าของมุก” แสดงว่าไม่ใช่แค่จัดการขยะในโรงเรียนแต่ไปถึงจัดการขยะในครอบครัว ตอนนี้คำว่าพลเมืองอยู่ที่ตัวพวกเขาแล้ว

เรายังเหลือการพบปะอีกหนึ่งแต่ติดช่วงโรคระบาดโควิด-19 เสียก่อน เราอยากเชิญหน่วยงานที่เก็บขยะ มาพูคุยสถานการณ์ขยะรอบโรงเรียนและชุมชนของเราว่าเป็นอย่างไร เราอยากได้ข้อมูลจากคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรงเพื่อมาแลกเปลี่ยน

ตอนนี้การจัดการขยะในโรงเรียนเริ่มดีขึ้นจากกลุ่มแกนนำช่วยเป็นหูเป็นตาในโรงเรียน เราเห็นพฤติกรรมของเด็กนักเรียนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คิดว่าปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือเรื่องการจัดการขยะของชุมชนและเทศบาล

ทางผู้บริหารของโรงเรียนพร้อมสนับสนุน จากแต่ก่อนที่อาจจะรับรู้แค่ว่า ครูเอ็กซ์ ครูจอย พาเด็กไปทำกิจกรรม ตอนนี้ท่านผู้อำนวยการได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการด้วย และคอยถามไถ่ยินดีช่วยประสานงานในเวลาราชการที่เราจะต้องพาเด็กเข้าร่วมอบรม บางงานโรงเรียนอาจไม่ให้คุณครูไป แต่ถ้าเป็นโครงการของสงขลาฟอรั่มท่านจะอนุญาต เพราะรู้ว่าเราไปทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของโรงเรียน

มุก ท่านผู้อำนวยการบอกพวกเราว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีทำให้เราตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราทำมีคุณค่า” หนูรู้สึกดีเวลาที่เราได้ทำอะไรดี ๆ และมีผู้ใหญ่ชื่นชม ทำให้เรามีพลังใจและกำลังใจในการทำงานกันมากขึ้น

ครูจอย ครูภัคนรินทร์ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล) สนันสนุนให้เราทำโครงการนี้ต่อและให้ช่วยกันคิดนวัตกรรมออกมาให้ได้ เวลาที่เขาจัดนิทรรศการกับโรงเรียนในเครือ อยากให้เรานำเสนอนวัตกรรมการลดปริมาณขยะนี้

­

ถาม คิดว่าจุดเด่นของโครงการคืออะไร

มุก คนอื่นพูดว่าเขารักษ์โลกแต่เวลาไปไหนยังใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก แต่เราทำให้เขาดู เรารู้ว่าตัวเราทำ อาจจะไม่ได้ช่วยให้เรื่องลดการใช้พลาสติกไปในทีเดียว แต่เรากำลังเริ่มทำไปเรื่อย ๆ

โนราห์ เราเริ่มต้นจากตัวเรา โดยที่เราไม่ต้องไปบอกกับคนอื่นว่าให้ลดขยะเดี๋ยวนี้ เราทำให้คนอื่นเห็นว่าเราลดขยะด้วยตัวของเรา เพื่อให้เขาตระหนักถึงคุณค่าตรงนี้ เขาจะลดปริมาณการใช้ขยะจากตัวเขาเองโดยที่เราไม่ได้ไปบังคับเขา

ครูเอ็กซ์ คนอาจจะเห็นชื่อโครงการของเราแล้วคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับขยะ แต่จุดเด่นของโครงการเราอยู่ที่สำนึกพลเมือง ต่อให้หลังจากนี้โครงการไม่มีต่อแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือเมล็ดพันธุ์ 100 คน ที่ยังอยู่ สิ่งนี้จะติดตัวเขาไป และทำให้เขาตระหนักถึงการลดปริมาณขยะ รวมไปถึงการช่วยสร้างสังคมเล็ก ๆ ของเขา แต่ก่อนโนราห์กับมุกเขาเป็นคนขี้กลัว ไม่ค่อยได้นำเสนอ รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง กลัวว่าถ้าไปบอกครูไปบอกน้องเรื่องการลดใช้ขยะพวกเขาจะทำไหม ผมบอกเขาว่า “ลูกไม่ต้องไปบอก ให้ลูกทำให้ดูเลย” สิ่งที่ได้คือผลลัพธ์เพื่อนเห็นโดยที่เราไม่ต้องบอก จุดเด่นของโครงการนี้คือสำนึกพลเมืองที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของพวกเขาเองซึ่งจะติดตัวเขาไปตลอด

มุกบอกผมว่า “ครูคะ หนูไม่กล้าเข้าร้านสะดวกซื้อเพราะหนูกลัวว่าจะซื้อขยะกลับบ้าน” จิตสำนึกช่วยให้เขาลดขยะและมีเงินออมเก็บ เขาลดปริมาณการดื่มชาเย็นจากปกติ วันละ 2ถุง คิดเป็นเงินจำนวน 30 บาท พอเขาลดได้เขาก็เอาเงินตรงนั้นไปเป็นเงินเก็บ ผมเห็นความเป็นพลเมืองและวินัยในตัวของพวกเขา

ครูจอย  การทำโครงการนี้เราไม่ได้คาดหวังว่าขยะในโรงเรียนจะลดลงไปกว่าเดิม เราอยากเห็นเด็กนักเรียนที่ทำโครงการนี้มีจิตสำนึก เห็นคนที่เดือดร้อนแล้วเขาอยากจะช่วยเหลือ เป็นการสร้างจิตสำนึกของตัวเองให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเขาเห็นว่าขยะมีปริมาณมากและทำให้สังคมไม่น่าอยู่ ทำให้ตัวเขาอยากลดการใช้ปริมาณขยะโดยที่เริ่มจากตัวเขาเอง

ถาม การเรียนรู้และการเปลี่ยนของเยาวชนเป็นอย่างไร

มุก หนูมองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เริ่มต้นจากตัวเราและขยายไปที่ครอบครัว ชุมชน เราเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกโดยการลดใช้พลาสติก

โนราห์ หนูตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อก่อนใช้ขยะฟุ่มเฟือย คิดว่าจะใช้แบบไหนก็ได้ อยากใช้ก็ใช้ไปเลย ตอนนี้เรารู้แล้วว่าขยะที่เราใช้แต่ละวันจะส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง เราเริ่มลดจากตัวเราและบอกต่อคนรอบข้าง

ครูเอ็กซ์ เมื่อก่อนเด็กสองคนนี้พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องถามหลายรอบกว่าจะได้คำตอบ ผมเห็นว่าทักษะการสื่อสารของเขาดีขึ้น เขารู้ว่าควรจะแสดงออกและสื่อสารอย่างไร ผมเห็นว่าเขามีทักษะการแก้ปัญหา เมื่อก่อนถ้าเขามีปัญหา เขาจะคอยนั่งรอจนกว่าครูจะมาบอกว่าพวกเขาทำได้หรือไม่ได้ ตอนนี้เวลาที่เขามีปัญหาเขาจะค้นคว้าผ่านอินเตอร์เน็ตไม่ต้องรอเรา เขาสามารถแก้ปัญหาเองได้ ถ้าเขารู้จักแก้ปัญหาได้เองแล้วผมคิดว่าเขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาตอนที่รวมกลุ่มทำ BAR (Before Action Review) และ AAR (After Action Review) แต่ก่อนครูไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของโฟกัสกรุ๊ปแบบนี้ บางอย่างเราทำให้เขาเพราะเราไม่อยากรอ จนป้าหนูถามว่า “งานของใคร” พวกเราชะงักฉุกคิด เรารู้ว่าเป็นโครงการนักเรียน เราต้องเบรคตัวเอง เปลี่ยนเป็นคนยืนมองและเป็นคนแนะนำในเวลาที่เขาต้องการ เราพยายามโคชเขาไปในทางที่เราคิดว่าตรงตามประเด็นไม่ออกนอกประเด็น เราเริ่มเห็นเขามีการทบทวนตัวเองเริ่มฟังคนอื่น การพูดการนำเสนอเริ่มดีขึ้น และเขาพัฒนาขึ้นจริง

ครูจอย ช่วงที่เขาทำรายงานเขาจะต้องแผ่นกราฟสถิติแต่เขาทำไม่ได้ ตอนนั้นครูสองคนทำงานอื่นอยู่ สุดท้ายพอเรากลับมาหาเขาสามารถแก้ปัญหาเองได้และทำจนเสร็จ เราเห็นว่าเขาพยายามค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองผ่าน Google ทักษะในการสื่อสารของเขาดีขึ้น เป็นเพราะว่าเขาได้ทำงานกับทีมสงขลาฟอรั่ม เขาเข้าร่วมอบรมบ่อยมาก ได้รวมกลุ่มกับเด็กโรงเรียนอื่น น้องน้ำนิ่งจากทีมสงขลาฟอรั่มเขาเป็นคนที่ใจเย็น เวลาที่เขามาโรงเรียนเพื่อทำ AAR เขาถามเด็กและรอให้เด็กตอบ ต่างจากเราเวลาที่สอนหนังสือ ถ้าเราถามแล้วเด็กไม่ตอบเราจะตอบเอง น้ำนิ่งเขาสามารถกระตุ้นเด็ก ชวนเด็กวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้ เด็ก ๆ จึงรู้จักวิธีวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ครูบอกพวกเขาว่าเวลาที่เขาไปเรียนในระดับปริญญาตรี พวกเขาจะสบายเพราะว่าได้ฝึกทักษะพวกนี้จากสงขลาฟอรั่ม

­

ถาม ช่วยเล่าถึงแผนอนาคตหลังจบโครงการนี้

ครูจอย เราบอกทีมสงขลาฟอรั่มว่าถ้าให้เราเขียนโครงการอีกเราอยากจะทำต่อ ครูชอบวิธีการที่ทีมสงขลาฟอรั่มฝึกเด็ก ตัวเราเป็นครูแต่เราขาดทักษะในการฝึกเด็ก เพราะตอนที่เราสอนเราให้ความรู้มากเกินไป

ครูได้คุยกับเด็กไว้บางส่วน เราจะเลือกนักเรียน ม.3 ที่กำลังจะขึ้น ม.4 เพราะว่าเขาจะทำงานกับเราได้ถึง 3 ปี ถ้าเราเลือกเด็ก ม.6 จะทำงานได้ปีเดียว เพราะเขาเรียนจบจะต้องไปเรียนต่อ ตอนนี้มีเด็ก ๆ สนใจ เราจะทำเรื่องขยะต่อ และอาจจะทำเรื่องใหม่อีกซักเรื่อง ต้องดูตอนที่เสนอโครงการครั้ง

ครูเอ็กซ์ ยังไม่อยากทิ้งโครงการเดิม อยากสร้างสำนึกพลเมืองให้แข็งแรง ให้มีรุ่นพี่รุ่นน้องทำงานประสานกันและมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น พอรุ่นนี้จบไป 30-40 คน จะเหลือแกนนำไม่มาก เราต้องรับแกนนำเพิ่มและอาจจะให้แกนนำเดิมมาเป็นหัวหน้ากลุ่มและสร้างกลุ่มย่อย เพื่อหาวิธีการจัดการขยะและนำมาแลกเปลี่ยนนำเสนอกัน เราจะเลือกวิธีการที่ดีที่สุดและนำไปเสนอ เราอยากให้พ่อค้าแม่ค้าในโรงเรียนร่วมมือกับเราด้วย ถ้ามีโอกาสทำในปีหน้าเราอยากให้เด็กออกไปทำงานกับชุมชนและทำงานร่วมกับกับองค์กรท้องถิ่นด้วย