การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ จังหวัดสงขลา ปี5

ผักเชื่อมคน คนเชื่อมผัก

“เราเห็นว่าในโรงเรียนมีพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงมีความคิดอยากใช้พื้นที่ตรงนั้นทำกิจกรรมเพื่อดึงน้องๆ ในโรงเรียนให้มาทำกิจกรรมร่วมกับพวกเราค่ะ”

นี่คือภาพฝันที่ ปลา-สุนารี โภษะ และสมาชิกจากโรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่ประกอบด้วย ตุ๊กตา-กรรณิกา หัชบูรณ์, เจน-ศิริพร ชูกลิ่น และอุ้ม-วาสนา เจริญ อยากเห็น

ไม่ใช่แค่ฝันและอยู่เฉย แต่ปลาและทีมยังเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเพื่อทำฝันของพวกเธอให้เป็นจริง ผ่านโครงการปลูกผักสวนครัว โครงการที่จะเปิดพื้นที่ให้พวกเธอ และน้อง ๆ ในโรงเรียนได้มีโอกาสได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน

­

พวกเขาฝันอะไร..

ฝันเห็นภาพผักสมุนไพรนานาชนิดผลิดอกออกผลพร้อมเก็บเกี่ยว ถ้าเป็นไปได้ จะเก็บขาย นำมาเป็นรายได้ เพื่อต่อยอกในการทำกิจกรรมครั้งต่อ ๆ ไป

แต่ก็ไม่เป็นดังฝัน เมื่อเกิดอุทกภัยเกิดขึ้นในโรงเรียน ผักสวนครัวที่พวกเธอ ชาวบ้าน และน้อง ๆ ช่วยกันปลูกตายเกือบหมด

“ตอนนั้นเรารู้สึกท้อเหมือนกัน น้ำขังอยู่ในแปลงผักประมาณ 2 อาทิตย์กว่าจะลด ผักเน่าตายหมด” ตุ๊กตา เล่าสถานการณ์ที่ทำให้ทีมงานเกือบหมดหวัง

แม้ผักจะถูกน้ำท่วมตาย แต่ประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ผ่านมาทำให้ ปลา และทีมเห็นแนวทางว่าหากจะทำเรื่องดี ๆ แบบนี้ ต้องเริ่มต้นจากอะไร

เริ่มที่หาคนสานฝัน

กว่าจะมารวมเป็นทีมอย่างที่เห็นในวันนี้ ตุ๊กตาในฐานะที่เป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิก เล่าให้ว่า ครั้งแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมทำโครงการฯ เป็นเพื่อนอีกกลุ่มที่ตกลงกันไว้แต่แรกว่าจะทำโครงการด้วยกัน แต่ถึงวันจริงที่ต้องไปอบรม เพื่อนๆ กลับมาบอกกับว่าไม่อยากไป เราเลยต้องหาเพื่อนไปเป็นเพื่อนแทน ตอนนั้นนึกถึงปลาเพราะเป็นเพื่อนที่สนิทอีกคน ส่วนเจนกับอุ้มก็เป็นเพื่อนที่เราชวนให้เขามาร่วมทีมกับเราอีกที แม้ในช่วงเริ่มต้นจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ สมาชิกขาด ๆ หาย แต่เพราะคำว่าหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้ตุ๊กตายังทำโครงการต่อ

เมื่อทีมครบ ทีมงานจึงร่วมกันประชุมและวางแผนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่อไป พวกเธอออกแบบลงพื้นที่เพื่อสำรวจการบริโภคผักของคนในชุมชน และชนิดของผักที่ชาวบ้านนิยมปลูกรับประทานกันมากที่สุด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการทำกิจกรรมต่อไป

ปลา เล่าบรรยากาศและแนวคำถามที่ใช้ถามกับคนในชุมชนว่า เริ่มขึ้นด้วยการเดินเข้าไปแนะนำตัวก่อนว่าเราเป็นใครมาจากไหน เราต้องการข้อมูลพวกนี้ไปทำอะไร และยกตัวอย่างคำถามที่เราถามจะถาม เช่น ยายชื่ออะไร ปลูกผักอะไรบ้างในบ้าน หลังจากนั้นจะถามวิธีการปลูกของเขาว่าปลูกอย่างไร ใช้สารเคมีไหม แล้วเราจะจดบันทึกข้อมูลไว้ พอสำรวจครบตามจำนวนบ้านที่วางไว้จะนำข้อมูลที่บันทึกไว้มาสรุปกันว่าที่ชุมชนชะแล้นิยมปลูกอะไรกันบ้างค่ะ โดยมีปลาเป็นคนถามหลัก เพราะเป็นคนชอบพูด และให้ตุ๊กตาเป็นคนจดบันทึกเพราะลายมือสวย ส่วนอุ้มอาสาถ่ายภาพ และแจนอาสาพาเป็นคนขับรถพาเพื่อน ๆ ลงชุมชน

พริก ใบยี่หร่า โหรพา กระเพราะ ตะไคร้ คือผักที่ชาวบ้านในชุมชนชะแล้กว่า 20 หลังคาเรือนนิยมปลูกมากที่สุด จากการสรุปผลของพวกเธอ หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องพันธุ์ผักแล้วพวกเธอจึงนำข้อมูลที่ไว้มาจัดการวางแผนขอพันธุ์ผักเหล่านี้จากคนในชุมชนต่อ เพื่อนำมาเพาะปลูกบริเวณพื้นที่รกร้างที่ในโรงเรียนเพื่อใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้วยการทำเป็นแปลงสาธิตผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ

เพราะประเมินศักยภาพของตัวเองแล้วพบว่า กำลังของพวกเธอ 4 สาวไม่น่าจะทำทุกอย่างได้หมด ทีมงานจึงประกาศรับสมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 คน โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 1 และ 2

“วันนั้นเราขอครูประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงว่า พวกเราทำโครงการนี้ และวางแผนจะทำแปลงสาธิตจึงอยากจะขออาสาสมัครที่สนใจอยากจะทำกิจกรรมให้มาลงชื่อกับเราวันนั้นได้น้องๆ มาประมาณ 28 คน” ปลาเล่าวิธีการรับสมัครน้องๆ ให้ฟัง

­

ผักเชื่อมคน คนเชื่อมผัก

ต้นยี่หร่า โหระพา ตะไคร้ กะเพรา พริก ขมิ้น หัวหอม ข่า มะนาว มะกรูด ผักหวาน ถูกจัดเตรียมไว้พร้อมสำหรับลงดินเพื่อทำเป็นแปลงสาธิต พวกเธอเลือกใช้เวลาในช่วงบ่ายของวันศุกร์เป็นวันจัดกิจกรรมนี้ แต่ก่อนจะถึงวันงานพวกเธอยอมรับว่ามีการวางแผนเตรียมงานกันไว้พอสมควร

“ก่อนถึงวันงานพวกเราใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียน มาช่วยกันถอนหญ้าในแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับให้ชาวบ้านเตรียมแปลง อีกส่วนรับผิดชอบเตรียมอุปกรณ์ จอบ เสียม บัวรดน้ำที่จะใช้ในวันจริง ระหว่างนั้นก็แบ่งกันออกไปขอผักสวนครัวจากชาวบ้าน เราบอกวัตถุประสงค์เขาว่าจะเอาไปทำอะไรเขาก็ยินดีให้ค่ะ เราบอกชาวบ้านให้มาร่วมกิจกรรมกับเราด้วย พวกเราวางแผนว่าจะแบ่งดินเป็นโซน กำหนดว่าแปลงแต่ละแปลงเราจะปลูกอะไรบ้าง ก่อนจะลงแปลงจริง ให้ชาวบ้านแล้วก็นักเรียนนับเลข 1- 5 ใครนับหมายเลข 1 จะได้ทำผักยกร่อง นับ 2 ปลูกชะอม 3 ผักหวาน 4 ตะไค้ร 5 ผักที่ปลูกในล้อ เช่นหัวหอม ต้นหอม” ปลา เล่าเบื้องหลังของการเตรียมงานให้ฟัง

เมื่อถึงวันงานกลุ่มเป้าหมายที่พวกเธอวางไว้ไม่ได้มีเพียงแค่น้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 28 คน แต่รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนด้วย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน พวกเธอเล่าบรรยากาศในวันนั้นว่า “เกินจากที่เราคิดไว้มากค่ะ ตอนนั้นเราคิดว่าจะไม่มีผู้ใหญ่มาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราด้วยซ้ำ แต่เอาเข้าจริง ๆ มากันเยอะมาก เขามาช่วยเราเตรียมดิน ลงแปลง มากันประมาณ 20 กว่าคนได้ค่ะ”

ความร่วมมือของชาวบ้านที่มาร่วมกับโรงเรียนที่เยอะเกินคาด กลายเป็นเรื่องที่พวกเธอต้องมาแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าอีกครั้ง พวกเธอเล่าว่า “อุปกรณ์ที่เตรียมมาวันนั้นเราเตรียมไว้สำหรับ 4- 5 คนเท่านั้น แต่พอผู้ใหญ่เขามากันเยอะเกินที่เราเตรียมอุปกรณ์ไว้ก็เลยกระจายให้เพื่อน ๆ ไปขอจากครูภาควิชาเกษตรแต่ก็ยังไม่ครบอยู่ดี เราเลยแก้ไขสถานการณ์ใหม่ ให้คนที่ไม่มีอุปกรณ์เขาปลูกผักและรดน้ำร่วมกับเด็กๆ แทน”

หลังจบกิจกรรม ภาพบรรยากาศวันนั้นดูจะเข้าใกล้ภาพความฝันของพวกเธอทั้ง 4 คนที่สุด ที่อยากจะเห็นพื้นที่ที่เคยรกร้างกลับมาเป็นแปลงสาธิตที่เต็มไปด้วยผักสวนครัวไว้ให้เด็กๆ และชาวบ้านได้เข้ามาใช้สอยจากพื้นที่นั้น

­

ปัญหาสอนให้เข้มแข็ง

ภาพบรรยากาศของวันลงแปลงยังคงติดตา ผู้ใหญ่กับเด็กช่วยกันพรวนดิน ยกแปลง ปลูกผัก แต่ภาพที่ยังคงอยู่ในใจของพวกเธออีกภาพนั่นคือ ภาพของน้ำที่ท่วมขังแปลงผัก ของพวกเธอนั่นเอง “ตอนนั้นยอมรับเรารู้สึกท้อมาก ก่อนหน้านี้ไม่เคยเจอปัญหาน้ำท่วมมาก่อน และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้” ตุ๊กตา สะท้อนความรู้สึกให้ฟัง

น้ำท่วมร่วมๆ 2 อาทิตย์ หลังจากน้ำลงพวกเธอกลับไปติดตามผลอีกครั้ง พวกเธอ ยอมรับว่าตอนที่เดินเข้าไปดูแอบหวังเล็ก ๆ ว่าจะมีผักรอดให้พวกเธอได้รู้สึกบ้าง ภาพที่เธอเห็นคือต้นตะไคร้ที่ยังอยู่รอดเพราะปลูกอยู่พื้นที่สูง ถึงจะท้อใจไปบ้างแต่พวกเธอก็ไม่ท้อ ช่วยกันคิดว่าวิธีการปลูกผักในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ต้องกลัวว่าจะเจอกับปัญหาน้ำท่วมอีก

“เราได้เทคนิคการปลูกผักสวนครัวในกระถางแทนค่ะ สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ เราแบ่งกันปลูกคนละ 20 ต้น ปลูกอะไรก็ได้รวมๆ กันไป และเปลี่ยนสถานที่ปลูกจากที่โรงเรียนไปเป็นที่บ้านแทน เพราะเรามองว่าง่ายต่อการดูแลค่ะ พ่อแม่ก็มาช่วยเรารดน้ำต้นไม้ ต้นไหนกินได้ก็มาเอาไปทำกับข้าวให้เรากิน เราเองก็รู้สึกสบายใจกว่าตอนที่ปลูกที่โรงเรียนเพราะไม่ต้องกลัวน้ำท่วมค่ะ” ปลา พูดติดตลก

กิจกรรมสุดท้ายที่พวกเธอไม่ลืมที่จะทำคือ การเปิดพื้นที่เรียนรู้ โดยใช้สถานที่เป็นใต้ถุนอาคารเรียน และกลุ่มเป้าหมายเป็นน้องๆ ที่อยู่ในโรงเรียน โดยกิจกรรมที่พวกเธออกแบบคือ สาธิตการปลูกผักสวนครัวอย่างง่าย

พวกเธอออกแบบกิจกรรมในวันนั้นด้วยการสอนให้น้องๆ ปลูกต้นหอม โดยใช้วิธีการปลูกโดยไม่ใช้ดิน ปลูกใส่ในขวดพลาสติก โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปลูกที่ง่ายใครๆ ก็ทำได้ ก่อนวันจัดกิจกรรมพวกเธอไม่ลืมที่จะหาข้อมูล เตรียมอุปกรณ์และวางแผนการทำงานเหมือนที่พวกเธอเคยทำ

“ก่อนวันงานเราพยายามหาข้อมูลค่อนข้างเยอะ เพื่อเลือกหาวิธีการปลูกที่ง่ายที่สุด เหมาะกับเวลาที่จำกัด จนได้มาเป็นการปลูกต้นหอมด้วยขวดพลาสติกค่ะ พอได้โจทย์ก็จัดเตรียมอุปกรณ์รอไว้ให้น้องๆ เขามีหน้าที่แค่ปลูกอย่างเดียว ใช้เวลาประมาณอาทิตย์กว่า ๆ ก็โตแล้วค่ะ” ปลา เล่า

­

ปัญหาพาเปลี่ยนแปลง

แม้ท้ายสุดภาพฝันปลายทางอาจไม่ใช่ผักสวนครัวที่พร้อมให้เก็บเกี่ยว แต่สิ่งที่พวกเธอได้ระหว่างทางที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งตัวนั่นต่างหากที่ได้มากกว่าสิ่งที่พวกเธอหวัง ภาพรอยยิ้มของชาวบ้านและเด็กที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ภาพของการทำงานระหว่างพวกเธอทั้ง 4 คนที่ยังคงจับมือกันฝ่าฟันปัญหานี่ต่างหากคือผลผลิตที่พวกเธอได้จากการทำโครงการ

ตุ๊กตา สะท้อนว่า ก่อนหน้านี้เป็นคนขี้อาย ไม่กล้าพูดต่อหน้าคนมากๆ พอมาทำโครงการนี้ก็เริ่มกล้าพูดมากขึ้น เพราะต้องลงพื้นที่ไปปคุยกับชาวบ้านถ้าเราไม่กล้าพูดเราก็จะไม่ได้ข้อมูลกลับมาทำโครงการ เมื่อก่อนยอมรับว่าเป็นเด็กที่ใจร้อน แต่พอมาทำโครงการนี้ทำให้เราใจเย็นลง เพราะถ้าเรายังทำนิสัยส่วนตัวแบบนั้นในส่วนรวมคนอื่นเขาจะเข้ากับเราไม่ได้ ก็เลยเก็บอารมณ์เหล่านั้นเอาไว้ เพราะถ้าเกิดเราไม่เก็บเราต้องมีปัญหากับเพื่อน

“สิ่งที่ได้แน่ ๆ คือได้เรียนรู้การปลูกผัก ผักบางชนิดก็ปลูกไม่เป็น เช่น หัวหอมไม่เคยปลูก ก่อนหน้าที่บ้านจะซื้อผักจากที่อื่นมาทำกับข้าว แต่พอเราทำโครงการนี้แม่จะปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง เช่นตะไคร้ พริก ส่วนเรื่องของทักษะจะเป็นเรื่องการพูดต่อที่สาธารณะ จากเดิมเราเป็นคนเส้นตื้นเวลาพูดจะหัวเราะ แต่พอโครงการนี้เราต้องควบคุมสติ บังคับไม่ให้ตัวเองหัวเราะ ทำให้เราเริ่มนิ่งขึ้นค่ะ” อุ้ม ได้ทีสะท้อนสิ่งที่ตัวเองเปลี่ยนแปลง

ด้านปลา เล่าว่า เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่กล้าพูดกับผู้ใหญ่ กลัวไม่กล้าพูด เกิดไม่รู้จักกันจริง ๆ จะไม่พูด เป็นคนขี้อายมาก พูดอะไรจะติด ๆ ขัด ๆ ไม่กล้าตัวสั่น แล้วพอได้ทำโครงการนี้ ได้ลองไปพูดกับคนในชุมชน ตอนลงสำรวจ ตอนแรกก็เกร็งบ้างแต่พอได้พูดกับหลาย ๆ คนอาการสั่นเกร็งก็หายไป เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ฝึกการทำงาน ต้องคิดว่าอันนี้ต้องทำยังไง ต้องให้ออกมาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์

โครงการนี้ยังช่วยให้เธอนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในห้องเรียนด้วย เช่น ก่อนหน้านี้อะไรที่เธอทำไม่ได้ จะเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้จะคิดด้วยตัวเองก่อนแล้วถ้าหาคำตอบไม่ได้จริง ๆ ถึงค่อยหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เธอให้เหตุผลว่าถึงจะได้ข้อมูลที่เร็วกว่าโดยไม่ต้องมาเสียเวลาคิด แต่ก็เท่ากับว่าเราไม่โอกาสตัวเองที่จะคิดหาคำตอบก่อน

หากมองที่ตัวชี้วัด นั่นอาจจะหมายถึงแปลงสาธิตที่มีผัก มีคนมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้าง แต่หากมองจากสิ่งที่ได้ระหว่างทางของพวกเธอทั้ง 4 คนนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมากกว่า ผักสวนครัวเพียงหนึ่งต้นที่ช่วยต่อยอดความผูกพันธ์ของคนสองวัยเด็กในโรงเรียนและผู้ใหญ่ในชุมชน และยังช่วยเกาะเกี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนได้เป็นอย่างดี ปัญหาอาจเป็นบททดสอบทางลัดที่ช่วยให้พวกเธอเข้มแข็งและพร้อมจะดำเนินชีวิตได้อย่างเข้มแข็ง


โครงการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษเพื่อพึ่งพาตนเอง

ที่ปรึกษาโครงการ : อุไรวรรณ อุทัย

ทีมงาน :

  • สุนารี โภษะ 
  • กรรณิกา หัชบูรณ์
  • ศิริพร ชูกลิ่น 
  • วาสนา เจริญ