การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ โรงเรียนวัดท่านางหอม จังหวัดสงขลา ปี5

“ปณิธานอันแรงกล้า”...ของว่าที่ครูเลือดใหม่

โครงการพี่สอนน้องอ่านเขียน

ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โจทย์ใหญ่ในแวดวงการศึกษา ที่ว่าที่ครูจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย แพรว-แพรววดี สุขสมบูรณ์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ อัสมา-อัสมา หมาดหลี วิชาเอกภาษาอังกฤษ และเจี๊ยบ-จุฑามาศ บัวเนียม วิชาเอกภาษาไทย สุ-สุนิษา สุวรรณชาติ ที่มีแรงบันดาลใจจากการทำโครงการพี่สอนน้องอ่านเขียนกับรุ่นพี่ปีที่ผ่านมา อาสาเข้ามารับช่วงต่อ เพื่อสานฝันในการทำหน้าที่ครูของตนเอง และเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ให้เด็กวัยประถมศึกษา


สอนน้องอ่าน สานต่องานรุ่นพี่

“พี่สอนน้องอ่านเขียน” เป็นโครงการที่สานต่อจากรุ่นพี่ ซึ่งดำเนินงานในปีนี้เป็นปีที่ 2 แพรว แกนนำทีมเล่าว่า พี่กระต่าย-ศศิวิมล ณะวาโย รุ่นพี่ที่คณะมาชวนให้ช่วยสานต่อโครงการนี้ เธอและเพื่อน ๆ จึงเข้ามาดำเนินการต่อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการดีมีประโยชน์ทั้งต่อวิชาชีพที่เรียน

ด้าน อัสมา บอกว่า เหตุผลที่เธอสนใจอยากเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะอยากฝึกประสบการณ์สอนจริงในโรงเรียนที่ไม่ใช่แค่การทดลองสอนกับเพื่อนในห้องเรียนเท่านั้น แต่อยากทำประโยชน์ให้เด็ก ๆ ด้วย จึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล

“เห็นว่าเป็นประโยชน์กับตัวน้อง ๆ ในโรงเรียน และประโยชน์กับตัวเองที่ได้ฝึกประสบการณ์ก่อนคนอื่น ๆ”

โดยเป้าหมายแรกของการเลือกสถานศึกษายังคงเป็นโรงเรียนวัดท่านางหอมเหมือนเดิม เนื่องจากห่างจากมหาวิทยาลัยประมาณ 10 กิโลเมตร มีนักเรียนกว่า 90 คน มีครู 5-6 คน นักเรียนส่วนใหญ่เรียนกับครูตู้ เพราะครูประจำมีไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน

เหตุผลที่เลือกโรงเรียนนี้นอกจากสร้างความต่อเนื่องสำหรับการเรียนการสอนให้กับน้อง ๆ และรุ่นพี่แล้ว เหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ทำให้ทีมมีโอกาสติดตามพัฒนาการของน้อง ๆ รวมถึงพื้นฐานนิสัยใจคอและความเป็นอยู่ทางบ้านว่าพัฒนาไปในทิศทางไหน เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นเป้าหมายหลักยังคงเรียนที่เดิม

­

คัดกรองด้วยแบบทดสอบ TERA

ปัจจุบันปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของน้อง ๆ ในโรงเรียนวัดท่านางหอมยังคงมีอยู่ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักยังเป็นน้องในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 โดยวิชาหลักที่พี่ ๆ จะเข้ามาสอนคือ วิชาภาษาไทย ซึ่งทีมงานให้เหตุผลว่า วิชาภาษาไทย คือวิชาพื้นฐานในการเรียนของเด็กไทยที่จะนำไปสู่การเรียนวิชาอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กิจกรรมที่แพรวและเพื่อน ๆ ลงพื้นที่ระยะแรกจึงเป็นการคัดแยกเด็ก ด้วยการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน จากแบบทดสอบความสามารถในการอ่านเบื้องต้น (Test of early reading ability) หรือเรียกง่ายๆ ว่า TERA ที่จะคัดกรองเด็กเก่งออกไปก่อนจนเหลือเด็กกลุ่มเป้าหมายที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั่นเอง

ทีมงาน บอกเหตุผลที่ต้องคัดกรองเด็ก ด้วย TERA โดยเลือกน้อง ๆ ในช่วง ป.3 ขึ้นไป เพราะพัฒนาการของเด็กที่อ่านหนังสือออกหรือไม่ออกจะอยู่ในช่วงนี้

ทั้งนี้ การให้น้องทำแบบทดสอบ TERA เริ่มต้นจากขั้นที่ยากที่สุด โดยให้น้องอ่านแบบทดสอบออกเสียงตามชั้นเรียนของตัวเอง จากนั้นจึงทดสอบในส่วนของพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด โดยแบ่งกลุ่มเด็กเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กที่อ่อนหรืออ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ พบว่าเด็กจะมีปัญหาคือไม่รู้จักพยัญชนะ สระ ตัวสะกด และผันวรรณยุกต์ไม่ได้ ทั้งหมด 29 คน จาก 68 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังคงมีน้องๆคนเดิมบางส่วน กลุ่มเด็กปานกลาง และกลุ่มเด็กเก่ง ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นแกนนำกลุ่มอื่นๆ ในการช่วยสอนเพื่อนๆ เพื่อแบ่งเบาภาระครูต่อไป

เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายแล้วในกลุ่มเด็กที่อ่อน พี่ ๆ แกนนำหลักจับคู่สอนน้องแบบตัวต่อตัว โดยแพรวจับคู่กับน้องนนท์ เจี๊ยบจับคู่กับน้องนิค ที่เรียนอยู่ชั้น ป.4 ซึ่งทั้งคู่เป็นเด็กที่เคยสอนเมื่อปีที่แล้ว ส่วนอัสมาจับคู่กับน้องพีท นักเรียนชั้น ป.5 เพราะน้องที่เคยจับคู่ด้วยจบออกไปแล้ว ขณะที่กลุ่มเด็กปานกลางและกลุ่มเด็กเก่งจะมีพี่ ๆแกนนำรองลงไปช่วยกันสอน เพื่อเสริมทักษะในกลุ่มนี้ให้แน่นขึ้น

“แบบทดสอบจะวัดเป็นขั้นๆ ค่ะ มีทั้งหมด 6 TERA เราจะเริ่มที่ TERA ที่ 6 ก่อน คือเริ่มจากขั้นยากที่สุดแล้วค่อยไล่ลงไปขั้นง่าย ก็จะให้น้องอ่านเรื่องตามระดับชั้นของตัวเอง ถ้าอยู่ ป.5 ก็อ่านของ ป.5 และก็ถัดลงไปเรื่อยๆ ดูว่าน้องไม่สามารถอ่านคำไหนได้บ้าง และก็จะมีอีก 5 TERA ที่จะนำมาทดสอบ จะเป็นในส่วนของพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด เราจะเห็นเลยว่าน้องไม่รู้จักพยัญชนะ สระ หรือตัวสะกดตัวไหนบ้างหรือไม่สามารถผันตัวไหนได้บ้าง จากการทดสอบพบว่าน้องจะติดเรื่องสระกับตัวสะกดที่คล้าย ๆ หรือใกล้เคียงกัน”

โดยในระหว่างนี้ทีมงานลงพื้นที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักกับน้อง ๆ คุณครูและสร้างความคุ้นเคยก่อนทดลองสอนจริง

­

เพื่อนสอนเพื่อนก่อนลงสนาม

และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามจริง ทีมงานต้องอบรมฝึกฝนและทดลองสอนก่อน แพรวเล่าว่า หลังจากประชาสัมพันธ์รับสมัครแกนนำและรุ่นน้องที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ปรากฎว่ามีผู้มาสมัครอย่างล้นหลามกว่าร้อยคน แต่พอนัดเจอเพื่อพูดคุยชี้แจงและทำความเข้าใจถึงการทำงาน กลับเหลือ 50 คน ซึ่งเป็นคนที่มีใจรักการทำกิจกรรมนี้จริง ๆ โดยวิชาเบื้องต้นที่ทีมงานทุกคนต้องมีพื้นฐานคือวิชาภาษาไทย เนื่องจากทีมงานแต่ละคนที่สมัครเข้ามามีหลากหลายวิชาเอก ดังนั้นทุกคนจึงต้องทำความเข้าใจและปูพื้นฐานวิชาภาษาไทยใหม่หมด การอบรมใช้เวลา 2 วัน วันแรกอบรมเรื่องหลักภาษาในช่วงเช้า ประกอบด้วยเรื่องการเขียนพยัญชนะที่ถูกต้อง ประเภทของสระ การผันเสียงวรรณยุกต์ มาตราตัวสะกด เป็นต้น

“เราต้องเรียงลำดับขั้นในการสอนด้วย ซึ่งอาจารย์ก็ติงเรื่องนี้มา เพราะเราไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากอะไรก่อน-หลัง ตอนที่ออกไปทดลองสอน หนูสอนเรื่องพยัญชนะ ผสมสระ ผสมตัวสะกด วรรณยุกต์ แต่ในการสอนจริง ๆ ไม่ใช่ อาจารย์บอกว่าต้องเริ่มจากอักษร 3 หมู่ก่อน นั่นคือเทียบไตรยางศ์ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ เริ่มที่อักษรกลางแล้วให้เขาผสมสระและใส่วรรณยุกต์โดยให้เขาผันเสียง ซึ่งเราต้องเริ่มไปทีละหมวด เราจะให้ไปทีเดียวเลยไม่ได้” เจี๊ยบ สะท้อนข้อผิดพลาดที่ตอนทดลองสอน

ส่วนช่วงบ่ายเป็นการอบรมทำสื่อการสอน โดยใช้ไม้บรรทัดสะกดคำ การใช้ป๊อบอัพ จากนั้นเป็นการทดสอบสอน ซึ่งอาจารย์ที่มาเป็นวิทยากรตลอดการอบรมคือ ผศ.นิตยา ธัญญพาณิชย์ ซึ่งเป็นอาจารย์อาวุโสที่สอนวิชาเอกภาษาไทยของมหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การสอนมายาวนาน

“อาจารย์จะแนะนำตั้งแต่การจับปากกาว่า ต้องจับอย่างไร เขียนอย่างไรให้ถูกต้อง เหมือนเขียน น.หนู เขียนจากปลายมาหาหัว ก็ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย ส่วนการทำสื่อสารการสอน อาจารย์บอกว่าการสอนแบบบรรยายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเด็กจะไม่อยู่กับเราไม่สนใจ เขาจะสนใจสิ่งรอบตัวมากกว่า เราต้องใช้เกม ใช้สื่อเข้ามาช่วย” แพรว เล่า

ทั้งนี้ การทดลองสอนในห้องเรียนจำลองโดยมีเพื่อน ๆ เป็นนักเรียน แบ่งการสอนคนละ 15-20 นาที โดยแพรวให้เหตุผลว่า การทดลองสอนดังกล่าวเพื่อให้เพื่อนๆและน้องๆในทีมแต่ละคนลดความประหม่าลง สามารถลำดับความสำคัญและรู้คอนเซปต์ว่าจะต้องลำดับเรื่องราวอย่างไร โดยมีเพื่อนและอาจารย์นิตยาทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นในการสอนของแต่ละคน เพื่อนำไปแก้ไขในส่วนที่พี่แต่ละคนยังทำได้ไม่ดีนัก

­

ค่ายทำความรู้จักน้องอย่างเป็นทางการ

จากนั้นทีมงานทั้งหมดลงพื้นที่โรงเรียน จัดกิจกรรมเข้าค่าย 2 วัน 1 คืน ที่โรงเรียนวัดท่านางหอม มีสมาชิกไปร่วมกิจกรรมรวมทั้งพี่รุ่นที่ 1 ด้วย ทั้งหมด 60 คน วันที่ 1 พี่ ๆ จะทำความรู้จักกับน้อง เป็นการทำความรู้จักกับน้อง ๆ ให้มากขึ้น ต่อด้วยกิจกรรมปรับภูมิทัศน์พัฒนาโรงเรียน ซึ่งในตอนกลางคืนจะมีการถอดบทเรียนถึงกิจกรรมที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นและจะทำอย่างไรเพื่อให้การเรียนการสอนถัดจากนี้ดีขึ้น

“ที่ต้องถอดบทเรียนเพราะอยากรู้ว่าที่ผ่านมาใน 1 วัน น้องเป็นยังไงบ้าง แล้วสมาชิกของเราเองเป็นยังไงบ้าง เหมือนเราทำกิจกรรมกับน้องมาก่อนหน้านี้แล้วก็จะสนิทกับน้อง แต่สำหรับเพื่อนบางคนอาจจะไม่เคยเจอเด็กจริง ๆ บางคนรู้แต่ทฤษฎีแต่ยังไม่เคยมาลงปฏิบัติ หรือเพื่อนบางคนยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้หรือควบคุมน้องได้ เราก็มาแลกเปลี่ยนความรู้สึกประสบการณ์ของแต่ละคนเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น” เจี๊ยบและอัสมา ผลัดกันเล่าเสริม

เช้าวันที่ 2 ของการทำกิจกรรม เป็นการทดลองสอนจริงวันแรกกับน้อง ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทั้ง 29 คน โดยตั้งเป้าการสอนไว้ที่ 12 ครั้ง ที่พี่ ๆ ต้องแวะเวียนมาสอนที่โรงเรียนเป็นระยะ ๆ ในคาบลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ แต่สุดท้ายกลับสอนได้ทั้งหมด 7 ครั้ง ด้วยเหตุผลในเรื่องของ “เวลา” นั่นเอง

“พี่ ๆ จะเป็นคนเลือกเด็กเอง หากพี่คนเดิมก็จะใช้คู่เดิม เพราะเขาก็สนิทกันอยู่แล้วจะสอนตัวต่อตัว โดยเราจะสอนในช่วงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ วันพุธและวันศุกร์ เพราะเป็นแค่ช่วงเดียวที่เราจะว่าง ก็สลับกันไป โดยเราจะมีแฟ้มบันทึกว่าวันนี้เราสอนถึงไหน แล้วน้องพัฒนาการเป็นยังไง ซึ่งน้องจะมีพัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน ทำให้คนที่ไปรับไม้ต่อสอนยาก อีกอย่างปีนี้มีปัญหาเรื่องเวลาของพี่ ๆ ที่ไม่ตรงกัน บางคนอาทิตย์หนึ่งลงได้วันเดียวแนวทางแก้ไขก็ต้องชดเชยต่อไป” แพรวเล่า

­

เป้าหมายเดียวกัน...สอนน้องอ่านออกเขียนได้

แม้เวลาจะเป็นปัญหาใหม่ทีทำให้แกนนำไม่สามารถฝึกประสบการณ์สอนได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่แกนนำทั้งสามก็สะท้อนว่า พวกเธอรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวน้องและเพื่อน ๆ สมาชิกในโครงการอย่างเห็นได้ชัด

“รุ่น 2 นี่เราเพิ่มเรื่องมารยาทให้น้อง ๆ ไปด้วย ปีแรกเราไม่ได้เน้นตรงนี้ แต่พอมารุ่น 2 สอนเรื่องการทำความเคารพ การไหว้สวัสดี เราก็ปรับตัวไปด้วยคือ พูดให้เพราะขึ้น วางตัวให้เหมาะสม เพื่อให้น้องเรียนรู้เรื่องการมีสัมมาคารวะ ส่วนการทำงานกับเพื่อนร่วมทีมก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดเวลา รับฟังกัน โดยไม่คิดว่า ใครรุ่นพี่รุ่นน้อง เพราะทุกคนมีเป้าหมายเหมือนกันคือ การพัฒนาเด็กให้อ่านออกเขียนได้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของตัวเองก็คือมีความรอบคอบ คิดวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน คิดมากขึ้น และมีภาวะผู้นำมากขึ้น ดี” แพรวเล่าการเปลี่ยนแปลงของตนเอง

เช่นเดียวกับ อัสมา สะท้อนว่า เธอมีความกล้ามากขึ้นกล้าพูด กล้าพรีเซนต์งาน เป็นการก้าวข้ามความกลัวที่เธอรู้สึกดีใจมาก และภาคภูมิใจมากที่ได้ทำโครงการนี้

“โชคดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้ เพราะว่าไม่ใช่งานง่าย ๆ เลย หนูทุ่มเทกับโครงการนี้มาก โดยเฉพาะการวางแผนการสอนที่ทำอย่างไรให้น้องบรรลุเป้าหมายมากที่สุด ถึงจะเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะการอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ใช่แค่เขาไม่สามารถเรียนต่อวิชาอื่นได้ แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองด้วย ถ้าเขาโตไปแต่เขาอ่านหนังสือไม่ออก เขาจะไปโรงพยาบาลยังไง จะไปหาตำรวจยังไง ตรงนี้คือความสำคัญของการอ่านหนังสือออกเขียนได้”

ส่วนเจี๊ยบ บอกว่า เธอเป็นคนขี้อาย แต่พอมาทำโครงการนี้เธอได้ขึ้นมาเป็นแกนนำเยาวชนจากที่เคยอยู่แต่เบื้องหลัง ทำให้เธอมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

­

ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่น

เมื่อเจอคำถามที่ว่า จบแล้วอยากเป็นครูไหม? เจี๊ยบ บอกว่า ใจเธออยากเป็นครูอยู่แล้ว แต่การเป็นครูจะใช้ใจหรือความชอบอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการสอนเด็กต้องมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งความรู้และทักษะการสอน

ส่วนแพรว บอกว่า ที่เธออยากเป็นครูเพราะได้แรงบันดาลใจจากคุณแม่ที่มีอาชีพครู เนื่องจากตอนเด็กเธอตามคุณแม่ไปโรงเรียน ได้เห็นการสอน ได้เขียนกระดานดำ ที่กลายเป็นภาพจำที่ทำให้แพรวรู้สึกประทับใจ และนอกจากความประทับใจในวัยเด็กแล้ว แพรวยังตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดโดยใช้การการศึกษาเป็นตัวเชื่อม เพราะเธอเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้เด็กในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“พอเราได้เรียนครูและได้กลับไปบ้านที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เราเห็นว่าเด็กอ่านหนังสือไม่ออกกันเยอะ คนแถวนั้นพูดภาษายาวีเป็นหลักและครอบครัวแต่ละครอบครัวก็ไม่มีโอกาสได้เรียน ก็เลยคิดว่าอย่างน้อยๆ จบกลับไปก็ไปพัฒนาที่บ้านเราก่อนก็แล้วกัน ถึงแม้จะเป็นแนวคิดเล็กๆ แต่ถ้าเราทำได้ก็สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน”

เช่นเดียวกับอัสมาที่ยังคงยืนยันในปณิธานของตัวเองว่า อยากเป็นครู แม้จะสวนทางกับความคิดของทางบ้านที่อยากให้ทำธุรกิจ ด้วยผลตอบแทนของตัวเลขรายได้ที่สูงกว่าอาชีพครู

“แต่หนูมองอีกแบบหนึ่ง เพราะครูคนหนึ่งไม่ได้แค่สอนคน ๆ เดียว แต่สอนให้เด็กหลายคนได้พัฒนาตัวเอง และการจะสอนคน ๆ หนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ใจหนูรักที่จะเป็นครู แม้ครูจะไม่ใช่อาชีพที่ทำให้เราร่ำรวย แต่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง คน ๆ หนึ่ง นักเรียนคนหนึ่ง หรือว่าสังคมหนึ่ง ๆ ให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพได้ ถึงแม้หนูจะเป็นแค่ครูที่ไม่ได้มีศักยภาพมาก แต่ก็พร้อมที่จะพัฒนาเด็กให้ดีกว่าเดิมได้ เด็กคนหนึ่งที่เราสอนอาจจะไปเป็นนายกรัฐมนตรี หรือไปเป็นผู้นำในอนาคต” อัสมา กล่าวทิ้งท้าย


โครงการพี่สอนน้องอ่านเขียน

ที่ปรึกษาโครงการ :

ทีมงาน :

  • แพรววดี สุขสมบูรณ์ 
  • อัสมา หมาดหลี
  • จุฑามาศ บัวเนียม 
  • สุนิษา สุวรรณชาติ