การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์พันธุ์กล้วยหายากในตำบลชะแล้ จังหวัดสงขลา ปี5

เรื่องกล้วย ๆ ที่ไม่กล้วย

โครงการกล้วยดีที่บ้านเรา

“ตลอดระยะเวลาที่เราทำโครงการ ทุกครั้งเราเจอกับปัญหารายทางอยู่เสมอ พวกเรามองว่าที่เราสามารถก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำว่า “ทีม” ที่ช่วยยึดให้เราผ่านเรื่องเหล่านั้นไปได้ มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจทุกครั้งเมื่อนึกย้อนกลับไปช่วงเวลาที่เราเผชิญกับปัญหา” คือเสียงสะท้อนและบทเรียนอันน่าจดจำของกลุ่มเยาวชนในโครงการกล้วยดีที่บ้านเรา จากโรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา จังหวัดสงขลา

ทั้ง นาเดีย-ณัฐวดี กาลาซา, ตอง-อนุชฉรา คงดำ, กัญ-สุกัญญา ดำเขียว และ ภูมิ-คณิศร คงชำนาญ เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา จังหวัดสงขลา เข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา จากการชักชวนจากครูทวีศักดิ์ นวลประดิษฐ์ ที่ปรึกษาโครงการ ที่มีประสบการณ์การทำโครงการมากว่า 2 ปี

­

หาประสบการณ์ต่อยอดความรู้

เหตุผลง่าย ๆ ที่เด็ก ๆ ทั้ง 5 คนตัดสินในทำโครงการกล้วยดีที่บ้านเรา คือ ต้นทุนความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากในห้องเรียน

“อยากทำเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเพาะเนื้อเยื่ออะไรดี” นาเดียแกนนำของทีมบอกถึงวันแรก ๆ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการ

เมื่อน้องอยากทำ จึงเป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยงอย่าง ย๊ะห์-ไครีย๊ะ ระหมันยะ เจ้าหน้าที่โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่เข้ามาชวนน้อง ๆ ค้นหาต้นทุนในชุมชนชะแล้ว่ามีอะไรดี ๆ อยู่บ้าง

น้อง ๆ พบว่าชาวบ้านปลูกกล้วยกันค่อนข้างมาก แต่การปลูกยังเป็นแบบเดิมคือขยายพันธุ์จากหน่อ น้อง ๆ เลยคิดว่าหากนำวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้ในขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์กล้วยหายากในตำบลชะแล้ น่าจะทำให้กล้วยสายพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนยังคงอยู่ต่อไป

หลังจากโจทย์ เป้าหมายชัด แต่สิ่งที่ต้องไปเก็บเพิ่มคือ “วิธีการเพาะเลี้ยง” ซึ่งน้อง ๆ บอกว่า ถึงแม้จะเคยเรียนมาก่อน แต่ยังไม่เคยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยมาก่อน จึงต้องไปเรียนรู้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่

“ตอนเรียนอยู่ ม. 4 เราเคยมาแข่งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่นี่ เลยคิดว่าที่นี่ว่าน่าจะให้ความรู้เราได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสอนเราตั้งแต่เรื่องการทำอาหารของพืช วิธีการเลี้ยงตั้งแต่อยู่ในขวดโหลจนปลูกลงดิน เมื่อก่อนเราเคยปลูกลงดินแต่ตายหมดเพราะไม่รู้วิธี ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เราได้จากการมาเรียนรู้ที่นี่ค่ะ ” นาเดียเล่าที่มาของการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากเรียนรู้เชิงปฏิบัติแล้ว ทีมงานยังค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ต้นกล้วยอย่างอื่นด้วย โดยสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อหาวิธีการขยายพันธุ์ในรูปแบบต่างๆ จนได้ข้อสรุปมา 4 วิธี คือ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้หน่อ ผ่าหน่อ และกลับหัว ซึ่งพวกเธอมองว่าทั้ง 4 วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและตัวเองน่าจะพอทำได้ภายในระยะเวลาที่โครงการกำหนด

­

กล้วยดีที่ “ชุมชนบ้านชะแล้”

ทีมงานประชุมและเลือกพื้นที่เป้าหมายเป็น ตำบลชะแล้ ทีมงาน บอกว่า ครั้งแรกที่ลงพื้นที่เธออาศัยมองด้วยตาเปล่า บ้านไหนปลูกกล้วยเยอะเลือกเข้าไปสำรวจบ้านนั้น แต่เพราะขาดการวางแผนในการเก็บข้อมูล ทำให้การเก็บข้อมูลสะเปะสะปะ

“วันที่เราลงพื้นที่ มีบ้านหลังหนึ่งปลูกกล้วยเยอะแต่พอเราถามเขาว่าอยู่ตำบลชะแล้ไหมเขาบอกว่าเขาไม่อยู่ตำบลนี้ ทำให้เรากลับมาคุยกันว่าเราควรจะขอแผนที่กับทางเทศบาลตำบลชะแล้เพื่อมาเป็นตัวช่วยสำหรับใช้ในการลงพื้นที่สำรวจครั้งต่อไป” ทีมงานเล่า

เมื่อมีแผนที่เป็นเครื่องมือทำให้ทีมงานรู้พิกัดของการสำรวจพื้นที่ชัดเจนขึ้น จนแผนที่กลายเป็นคัมภีร์ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ทีมงานยังช่วยกันออกแบบการตั้งคำถามผ่านการทำแบบสอบถามเพื่อใช้ในการลงพื้นที่ด้วย อีกทั้งยังได้ข้อเสนอแนะจากทีมโคชสงขลาให้ทบทวนว่าเป้าหมายการลงพื้นที่เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นแนวทางของการตั้งคำถามที่จะนำมาสู่ข้อมูลที่ตัวเองต้องการ

ผลจากการวางแผนการทำงานในครั้งนั้นทำให้ทีมงานได้ข้อมูลกลับมาเป็นที่น่าพอใจ...โดยข้อมูลที่เก็บได้คือ ชื่อ-สกุล ที่อยู่ จำนวนไร่ที่ปลูกกล้วย ปลูกกล้วยพันธุ์อะไร จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวาดลงในแผนที่ชุมชน

“พวกเราลงพื้นที่มากกว่า 4 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งที่ลงพื้นที่กลับมามักมีข้อมูลใหม่ ๆ ที่ต้องนำกลับมาปรับปรุงอยู่เสมอ และผลจากการลงพื้นที่ซ้ำ ๆ ทำให้พบว่าคนในตำบลชะแล้ทั้ง 5 หมู่บ้านนิยมปลุกกล้วยอยู่ 4 หมู่บ้านประกอบด้วยหมู่ 2,3,4และ 5 ส่วนหมู่ที่ 1 ทำอาชีพประมง กล้วยที่นิยมปลูกกันมาที่สุดคือกล้วย กล้วยน้ำหว้า ส่วนกล้วยที่กำลังใกล้จะหมดไปในชุมชนคือ กล้วยน้ำ กล้วยหิน และกล้วยงาช้าง” ทีมงาน บอกข้อมูลที่ค้นพบ

แต่สิ่งที่ได้มากกว่าพันธุ์กล้วยนั่นคือ เคล็ดลับในการเข้าหาผู้ใหญ่และการตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ

“ตอนแรกที่ลงพื้นที่สอบถามข้อมูลพวกเราเกร็งมากเพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่หลังจากลงพื้นที่หลาย ๆ ครั้งเข้าทำให้เราเริ่มชินขึ้นจากเดิมที่ถามแบบเกร็งๆ เข้าไปจะเอาแต่ข้อมูลอย่างเดียว หลัง ๆ เราจะปล่อยให้เขาเล่าข้อมูลของเขาออกมาบางครั้งเราได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยซ้ำ ในเรื่องของการทำงานเป็นทีมช่วงแรกจะเกี่ยงกันถาม หลัง ๆ พอเริ่มสนิทกับผู้รู้ก็เริ่มกล้าพูดกล้าถาม” ทีมงาน ช่วยกันสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่

­

หลงประเด็นงานช้า...ปัญหาซับซ้อน

ถึงจะลงพื้นที่หลายรอบแต่ทีมงานก็ยอมรับว่า ระหว่างที่ลงพื้นที่พวกเขาก็หลงประเด็นอยู่เหมือนกันจนพี่ยะห์ต้องคอยเตือนอยู่เสมอ

“ตอนลงพื้นที่เราถามข้อมูลไปเรื่อย จนลืมนึกถึงเป้าหมายของโครงการ คือการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยหายาก หลัง ๆ มาเราถึงต้องเริ่มถามข้อมูลถึงพันธุ์กล้วยที่หายากเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการทำโครงการของเรา” ทีมงาน บอก

ไม่เพียงแค่ข้อมูลที่ทีมงานหลงประเด็น เรื่องของการเก็บพันธุ์กล้วยเพื่อมาทำการทดลองเพาะเลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้งานช้ากว่าที่วางไว้

“พวกเรามัวแต่คิดว่าต้องการทำการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยจัดการนำชิ้นส่วนของพันธุ์กล้วยที่หายากมาเพาะเลี้ยง เราเลยตกลงกันว่าจะนำกล้วยพันธุ์น้ำหว้ามาทดลองก่อน” ทีม เล่าสถานการณ์ปัญหา

แม้จะเริ่มลงมือทดลองจริง พวกเธอก็ยังหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับปัญหาอีกครั้ง นั่นคือการทำงานที่ล่าช้าจากการเตรียมอุปกรณ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ กัญในฐานะคนที่ชำนาญเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เล่าว่า พวกเธอต้องเตรียมสารที่ใช้สำหรับเพาะเนื่อเยื้อ ต้องนำไปเข้าไมโครเวฟ และนึ่งในตู้ที่ปลอดเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อหลายขั้นตอน ช่วงที่เราทำเป็นช่วงที่เรียนหนัก ทำให้การเพะเลี้ยงต้องหยุดชะงักไป เห็นว่าถ้าปล่อยไปเช่นนี้ งานต้องล่าช้าแน่ ๆ ทีมจึงต้องแบ่งบทบาทหน้าที่กันไปขอพันธุ์กล้วยหายากจากชาวบ้านมาทำการทดลอง ทั้ง 4 วิธีข้างต้น ซึ่งผลที่ออกมาคือ วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ผลดีสุด ส่วนการใช้หน่อนั้นทีมงานก็บอกว่าพวกเธอเจอปัญหาน้ำท่วมโรงเรียนทำให้หน่อกล้วยที่ปลูกไว้เน่าหมด

ระหว่างทางของการทำโครงการทีมงานพบเจอปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง แต่ทุกคนคิดว่า ปัญหาเหล่านี้คือบทเรียนชั้นดีที่ทำให้พวกเธอได้จดจำความรู้ เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

“เวลาที่เราเฝ้าติดตามดูการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของต้นกล้วย เห็นการเจริญเติบโตของมัน เป็นสิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจมาก ถึงแม้ตอนแรกเราจะรู้สึกว่าเราไม่อยากทำโครงการนี้เลย แต่พอเราใช้เวลาอยู่กับมันจริงๆ เห็นผลสัมฤทธิ์จากสิ่งที่เราได้ทุ่มเททำลงไป นั่นคือพันธุ์กล้วยที่หายากในชุมชนชะแล้ที่เรานำมาทำการทดลองจนโตขึ้นนั่นแหละคือความภาคภูมิใจของเรา” ทีมงานย้ำถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

หลังเสร็จการทดลองทีมงานเปิดบ้านจัดนิทรรศการแสดงผลงานให้น้องในโรงเรียนดู ทั้งส่วนที่เป็นหน่อ เนื้อเยื่อติดเชื้อมาให้เห็น สาธิตวิธีการทำ และนำกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงปลูกลงกระถางบางส่วนมาให้น้องๆ ในโรงเรียนได้เยี่ยมชม ขาดก็แต่เพียงการนำพันธุ์กล้วยเหล่านี้ไปคืนให้กับเกษตรที่ปลูกกล้วยในชุมชนเท่านั้น

­

เพาะเลี้ยงความกล้า...

เพราะเรื่องกล้วยไม่ได้กล้วยอย่างที่คิด ระยะเวลากว่า 6 เดือนของการทำโครงการ ที่พวกเธอต้องพบเจอกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ให้เรียนรู้และแก้ไข ทั้งเรื่องการจัดสรรเวลา ที่ทุกคนต้องประคับประคองกันในช่วงแรก ๆ รวมถึงขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ดูจะยากในทุกขั้นตอน แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นบทพิสูจน์ความรับผิดชอบที่มีอยู่ในเนื้อในตัว

นาเดีย บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอได้พัฒนาเรื่องการคิดวิเคราะห์ เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ก่อนหน้านี้เวลาตอบคำถามจะตอบแบบกว้าง ๆ ไม่ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าพี่เขาถามว่ากิจกรรมที่เราทำเราได้อะไรบ้าง เราจะตอบแค่ว่า ได้ความรู้ แล้วพี่เขาจะถามเราต่อว่าความรู้เรื่องอะไร เช่น ... ยกตัวอย่างมาเลย ทำให้เดี๋ยวนี้พอพี่เขาถามเรา เราจะพูดไปเองเลย เหมือนเวลาเราอยู่ในห้องเรียนถ้าเขาถามว่าเราได้อะไร เราจะไม่ได้บอกแค่ว่าได้ความรู้อย่างเดียว แต่เราสามารถบอกต่อได้ว่าเราได้ทักษะความคิดในเรื่องของ...เป็นต้น ”

นาเดีย บอกต่ออีกว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการเธอเป็นคนไม่กล้าพูด ตอนลงพื้นที่ครั้งแรกไม่กล้าถาม เพราะไม่เคยทำมาก่อน ไม่รู้จะถามยังไงดี จะเริ่มยังไง คิดมากไปหมด พอหลัง ๆ เริ่มสนิทกับชาวบ้านเริ่มปรับตัวเองได้ทำให้เราสนิทกับชาวบ้าน แล้วก็รู้จักคนเพิ่มขึ้น

กัญ สะท้อนตัวเองจากการทำงานที่ผ่านว่า เธอได้เรียนรู้ผลจากความผิดพลาดของการทำงานในห้องแลบที่ต้องอาศัยความสะอาด ตอนแรกเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดมากนัก และพบว่าเนื้อเยื่อที่ตัวเองเพาะมีเชื้อรา ทำให้เราลับมาทบทวนตัวเองใหม่ว่า ผิดพลาดที่กระบวนการไหน จนได้ข้อสรุปว่าเพราะมองข้ามเรื่องของความสะอาดซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอ กลายเป็นคนรอบคอบมากขึ้น ทำอะไรต้องระวังมากขึ้น เพราะถ้าเราวางแผนไม่ดีจะทำให้การทำงานของเราล่าช้าไปอีก

ตอง เสริมว่า เธอเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่ชอบคิด แต่พอได้ลงพื้นที่บ่อย ๆ การได้พูดได้คุยกับชาวบ้านกลับทำให้เธออยากรู้และอยากถามเขา อยากรู้เรื่องราวในสิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง และยังทำให้เธอรู้จักการเสียสละ

“เวลาเห็นเพื่อนมาทำโครงการแล้วตัวเองไม่มาจะรู้สึกไม่ค่อยดี จนต้องพยายามหาเวลามาทำโครงการให่ได้ เพราะรู้สึกว่าถ้าเราไม่มาแล้วจะไม่มีใครช่วยเพื่อน เวลาทำงานเราจะแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจนทำให้เราไม่ได้รู้สึกว่างานหนักมาตกอยู่แค่ที่เราคนเดียว”

ภูมิ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงตัวเองว่า เดิมเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว โลกส่วนตัวสูง ถ้าไม่ได้มาทำโครงการจะนอนอยู่แต่บ้านอย่างเดียวไม่ได้ไปไหน เก็บตัว ถ้าอยากเจอภูมิมาหาที่บ้านได้เลยเจอตลอดเพราะไม่ออกไปไหน ช่วงแรก ๆ ยอมรับเลยว่าต้องปรับตัวมาก ถ้าให้เปรียบเทียบอยู่บ้านแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย กิน นอน สุขภาพจิตตัวเองก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หมกหมุ่นอยู่กับตัวเอง แต่โครงการนี้ทำให้ตัวเองมีโอกาสตอบแทนสังคม ได้ออกมาอยู่กับเพื่อน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้ตัวเองร่าเริงขึ้นแทนที่จะไปเครียดอยู่คนเดียว

บทสรุปของการทำโครงการนี้ไม่ใช่แค่เพียงการเพาะพันธุ์ต้นกล้วยหายากให้ยังคงอยู่คู่กับตำบลชะแล้ แต่โครงการนี้ยังช่วยบ่มเพาะให้เยาวชนกลุ่มนี้มีความกล้าแสดงออก กล้าคิด และกล้าที่เรียนรู้กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในทุกเวลาที่พวกเขาได้ทำโครงการ การก้าวข้ามปัญหามาได้ “ทีม” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขายังยืนหยัดที่จะเดินต่อจนจบโครงการ


โครงการกล้วยดีที่บ้านเรา

ที่ปรึกษาโครงการ : ทวีศักดิ์ นวลประดิษฐ์

ทีมงาน :

  • ณัฐวดี กาลาซา
  • อนุชฉรา คงดำ
  • สุกัญญา ดำเขียว
  • คณิศร คงชำนาญ