การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ผ่านการทำผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมไล่ยุงลาย เทศบาลตำบลปริก จังหวัดสงขลา ปี5

สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง ปลุกพลังเยาวชนต้นปริก

‘ไข้เลือดออก’ เป็นโรคร้ายใกล้ตัวที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดสงขลา ขณะที่การดูแลและแก้ปัญหาอาจยังไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

แม้ยุงลายจะร้ายแค่ไหน ก็ต้องพ่ายให้กับพลังสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนต้นปริก ประกอบด้วย ธีรยุทธ์ ยังไพบูรณ์, สิปปกร คงชนะ, วิศวะ มูสา, เอกพล คชธรรมรงค์, อัษฎาวุธ อมแก้ว, สรีนา ยีขุน และ อวัสดา ยามะนี นักเรียนโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่รวมตัวกันทำโครงการผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมไล่ยุงลาย เพื่อช่วยป้องกันคนในชุมชนให้รอดพ้นจากการเป็นโรคไข้เลือดออก

เอาปัญหามาเป็นโจทย์

“จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการนี้มาจาก ครูโอ-ชุติมา หล๊ะโหมด ชวนทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เริ่มแรกก็ไม่คิดอะไร แต่ไม่ค่อยอยากทำ กลัวคิดไม่ออก กลัวไปไม่รอด แต่พอเขาบอกว่าการทำโครงการเหล่านี้จะช่วยให้พวกเราได้เห็นสภาพปัญหาของชุมชนตัวเอง คุยกันไปกันมาในทีมก็เริ่มอยากทำ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งตัวเราและชุมชนเราด้วย” วิศวะ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำโครงการ แต่ถึงกระนั้น ในตอนแรกก็ยังไม่มีใครนึกถึงเรื่องยุงลายและไข้เลือดออก

ตอนแรกที่เลือกหัวข้อก็มีถกเถียงกันว่าจะทำเรื่องน้ำหมักชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ แต่เมื่อลองมาวิเคราะห์แล้วก็พบว่า ทั้งน้ำหมักและก๊าสชีวภาพยังไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง และหากต้องทำโครงการ อาจไม่สำเร็จ เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์มากนัก

และเมื่อลองวิเคราะห์ต่อมาก็พบว่า ที่ชุมชนปลูกต้นตะไคร้หอมกันเยอะ และยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร

“เห็นเขาปลูกกันเยอะ แกงก็แกงไม่ได้ เราเลยคิดว่า หรือตะไคร้หอมไล่ยุงลายดี เพราะในหมู่บ้านมีคนเป็นไข้เลือดออกเยอะ พวกเราก็เคยเป็น คนในครอบครัวต่างก็เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว” อวัสดา บอก ซึ่งเธอยังบอกอีกว่า ตอนนั้นการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่คือ การแจกทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำยุงลาย พ่นควันกำจัดยุงตามชุมชนแค่นั้น แต่ยังมีคนเป็นไข้เลือดออกอยู่เรื่อยๆ

เมื่อได้ข้อสรุปว่าต้องการลดอัตราการเกิดไข้เลือดออกในชุมชน กลุ่มเยาวชนต้นปริกจึงเกิดแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงลายจากสมุนไพร โดยมุ่งหวังเป็นพลังเล็ก ๆ ที่จะได้ร่วมเรียนรู้และแก้ปัญหาสภาพชุมชนที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายสาเหตุหลักของโรคไข้เลือดออก

­

รวมพล ‘ส่อง’ ยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์

การดำเนินงานของเด็ก ๆ เริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคไข้เลือดออก วิธีป้องกัน การแก้ปัญหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ รวมถึงลงพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายของชุมชนและโรงเรียน

“เรารู้ว่าในพื้นที่มีคนเป็นไข้เลือดออกเยอะ แต่ไม่รู้จำนวนสถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกที่แน่นอน เลยไปขอข้อมูลของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และสถานีอนามัย เพราะเป็นหน่วยงานที่มีรายชื่อประชากรที่อยู่ในละแวกนี้ทั้งหมด พบว่า ปี พ.ศ. 2560 คนในหมูบ้านเป็นไข้เลือดออกจำนวนมาก เฉพาะในตำบลปริกมีเป็นร้อยคน โดยส่วนมากจะเป็นเด็ก”

ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลายเป็นพาหะที่สำคัญ ซึ่งจากการลงสำรวจพื้นที่ของเยาวชนต้นปริก พบว่า โดยรอบโรงเรียนและชุมชนมีแหล่งน้ำขังอยู่มากและเป็นป่ายาง ดังนั้นสิ่งแรกที่จะป้องกันการเกิดไข้เลือดออกได้ที่สุดคือ การรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

“พอได้ข้อมูลผู้ป่วยไข้เลือดออก พวกเราก็ลงพื้นที่ศึกษาตามรายชื่อคนที่เป็นไข้เลือดออก เพื่อไปให้ข้อมูล รวมทั้งแจกใบปลิวให้แก่บ้านที่มีคนป่วย ซึ่งในใบปลิวก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการเป็นไข้เลือดออก การป้องกัน การรักษา รวมถึงมาตราการปราบยุงลาย 5 ป 1 ข” ทีมงาน เล่ากระบวนการทำงาน

สำหรับ ‘มาตราการ 5 ป 1 ข’ พวกเขาอธิบายว่า เป็นวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนปลอดลูกน้ำยุงลายและห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก โดย ป ที่ 1 คือ ปิด ปิดภาชนะน้ำขัง, ป ที่ 2 คือ ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำ, ป ที่ 3 คือ เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก 7 วัน, ป ที่ 4 คือ ปรับปรุง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในและรอบบ้าน, ป ที่ 5 คือ ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และสุดท้าย 1 ข คือ ขัด ขัดภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำกำจัดไข่ยุง เนื่องจากยุงลายมักจะไข่ตามผนังภาชนะ โดยหากทำตามมาตรการนี้เป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้

­

สานต่อ ผลิตภัณฑ์ ‘สมุนไพรไล่ยุง’

นอกจากการให้ความรู้วิธีกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้กลายเป็นศูนย์แล้ว เยาวชนต้นปริกยังช่วยกันพัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงลาย’ ที่อาศัย ‘ต้นทุนความรู้’ และ ‘ต้นทุนทรัพยากร’ ที่มีอยู่แล้วในชุมชน

“เราอยากทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง เพราะในชุมชนมีตะไคร้หอมเยอะ โดยทางเทศบาลได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกไว้ทั้งบริเวณโรงเรียนและริมถนนของชุมชน แล้วก็พอดีที่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่รู้เรื่องทำสเปรย์ตะไคร้หอมซึ่งเคยทำขายอยู่กำลังจะเลิกทำ เลยใช้โอกาสนี้มาขอเรียนรู้สานต่อการทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง ซึ่งแต่เดิมผู้ใหญ่บ้ายขายอยู่ขวดละ 120 บาท ก็มีคนซื้อใช้ เพราะว่ามีอยู่ที่เดียวที่ทำ เราก็มาขอสูตรและวิธีการทำด้วย

เมื่อมีทั้งตะไคร้หอม พร้อมด้วยสูตรการทำสเปรย์ไล่ยุงในแบบฉบับเทศบาลต้นปริกแล้ว เด็ก ๆ และคุณครูช่วยกันหาซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบ เพื่อทดลองทำตามวิธีการที่ได้เรียนรู้มา ทว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไปตามที่คิด

“ช่วงแรกที่ลองทำกัน ตั้งใจจะสกัดน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมเอง ครูหาวิธีการทำซึ่งเป็นแบบหมักมาให้ แต่ต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน ก็คิดว่าอาจจะช้าไป เลยไปช่วยกันหาข้อมูลจากกูเกิลถึงวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่ทำเองได้ง่าย ๆ ดู ก็เจอวิธีหนึ่งเขาทำโดยเอาตะไคร้มาทุบให้พอมีกลิ่นออก ใส่ลงไปในหม้อ 2-3 มัด หรือประมาณ 1 กำมือ เว้นตรงกลางไว้ แล้วเอาถ้วยเล็กๆ คว่ำไว้ตรงกลาง เพื่อรองถ้วยอีกใบที่จะวางหงายไว้กลางหม้อสำหรับรองรับน้ำมันหอมระเหยที่จะหยดลงมา จากนั้นก็เอาน้ำใส่หม้อ เอากระทะหรือกาละมังตั้งปิดบนปากหม้อ พันผ้าขาวรอบๆ ปากหม้อด้วย เพื่อไม่ให้ไอระเหยออกมา จากนั้นก็เอาหม้อตั้งไฟ เอาน้ำแข็งใส่ในกระทะที่อยู่ด้านบนให้เย็นตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการสกัดเป็นน้ำมัน เราก็ทำตาม แต่หัวเชื้อน้ำมันหอมระเหยที่สกัดออกมาได้ตอนแรกก็หอมตะไคร้อยู่นะ พอใส่ไปในขวด ตั้งไว้สักพักให้เย็น กลายเป็นกลิ่นลิ้นจี่เฉยเลย ไม่รู้เป็นเพราะอะไร พอกลิ่นออกมาแบบนั้นก็นั่งงงกันทั้งกลุ่ม ทดลองครั้งที่ 2 กลิ่นก็ออกเป็นลิ้นจี่เหมือนเดิม ก็เลยเลิก ไม่ทำต่อแล้ว”

แม้ความตั้งใจเดิมที่ต้องการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากต้นตะไคร้หอมจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่พวกเขาก็ไม่ล้มเลิกความพยายาม เพราะเห็นว่าดำเนินงานมาถึงครึ่งทางแล้ว จึงพยายามหาวิธีแก้ปัญหา โดยตัดสินใจเลือกใช้หัวเชื้อน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมแบบสำเร็จรูปแทน

“โครงการที่ทำมีเวลา 6 เดือน ถ้าหากใช้การหมัก หรือลองสกัดไปเรื่อยๆ กลัวจะไม่ทัน ก็พยายามหาทางออก เลยเลือกใช้หัวเชื้อสำเร็จรูปแทน แล้วก็เริ่มทำตามสูตรที่ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่บ้าน ผลออกมาคือสเปรย์ที่ได้มีกลิ่นฉุนเกินไป เอาไปแจกในโรงเรียนแล้วครูแนะนำว่าให้ปรับกลิ่น ก็เลยไปหาข้อมูล หาสูตรจากกูเกิลเพิ่มเติม ซึ่งจากที่ศึกษาทั้ง 2 สูตร จะใช้วัตถุดิบเหมือนกัน คือ เมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำ น้ำมันยูคาลิปตัส แอลกอฮอล์ แล้วก็หัวเชื้อตะไคร้หอม แต่สูตรที่ได้จากกูเกิลต่างจากสูตรของผู้ใหญ่บ้านตรงอัตราส่วนของส่วนผสม และเขาจะใส่แอลกอฮอล์ กับน้ำมันระกำน้อยกว่า ก็เลยลองประยุกต์ทั้ง 2 สูตรดู โดยลดปริมาณแอลกอฮอล์ลง ก็จะได้กลิ่นกลาง ๆ ไม่ฉุนเกินไป” ทีมงาน เล่าถึงความพยายามในการทำงาน

สเปรย์ตะไคร้หอมบรรจุขวด 20 ซีซี ถูกนำไปแจกจ่ายทั้งในละแวกโรงเรียน และจุดที่มีความเสี่ยงที่จะโดนยุงลายกัด เช่น บริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำขังและป่ายาง และบ้านรุ่นน้อง ม. 1 ที่เขาเป็นไข้เลือดออก ตอนนั้นอยู่โรงพยาบาล และคนในบ้านก็มีคนเป็นไข้เลือดออกหลายรอบแล้ว ซึ่งหลังจากแจกไป พอผ่านไปสักอาทิตย์ก็ไปถามว่าเป็นยังไงบ้าง เขาก็บอกว่าดี กลิ่นไม่ฉุนเกินไป ใช้ได้ผล ไล่ยุงได้จริงๆ บางทียุงก็ตายคาที่เลย

เสียงตอบรับที่ดีและประสิทธิภาพของสมุนไพรไล่ยุงที่พวกเขาช่วยกันทำขึ้น เป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้พวกเขาก้าวขึ้นมาอีกขั้นด้วยการลองทำสเปรย์ตะไคร้หอมขาย

“พอใช้ได้ผลดี กระแสตอบรับดี ก็เริ่มลองขายเลย ขายขวดละ 49 บาท ซึ่งถูกกว่าตอนที่หวาเสาะขายเยอะ เพราะดูสภาพในชุมชนแล้ว ขายแพงก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา คนในชุมชนทำงานทั่วไป เลยไม่ได้หวังเอากำไร แล้วก็มีไปขายที่งานโอทอป ขายได้วันละหลายขวดเลย พอทำแล้วขายได้ ก็อยากทำต่อ ขายให้ล็อตนี้หมดก่อนแล้วค่อยทำใหม่ แต่จริงๆ ขายขวดละ 49 บาท ก็ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงทุนไป ตอนนั้นใช้ทุนรอบละ 2,000 กว่าบาท ได้ประมาณ 24-25 ขวด แต่ที่อยากขายส่วนหนึ่งเพราะว่าอยากได้เงินมาหมุนเวียนให้น้องๆ ทำโครงการต่อได้” ทีมงาน บอก

­

การกล้าคิด กล้าลงมือทำ กล้าสร้างสรรค์

แม้พวกเขาจะไม่ได้ ‘กำไร’ ในรูปของ ‘ตัวเงิน’ จากการทดลองทำผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ แต่เยาวชนปริกบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า กำไรที่พวกเขาได้รับนั้น คือ ‘ประสบการณ์’ และการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ที่ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม

“ประทับใจและภูมิใจที่ได้ทำโครงการนี้ จนสามารถทำผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมไล่ยุงออกมาแจกจ่ายคนในชุมชนได้สำเร็จ ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือชุมชนเรื่องการลดผู้ป่วยไข้เลือดออก ตอนแรกไม่คิดว่าจะทำได้ พอทำ ๆ ก็ทำได้ ก็ดีใจ สอนให้เราได้เรียนรู้ว่าอย่าไปกลัวก่อนที่จะได้ลงมือทำ และก็มีความหวังว่าจะทำเรื่องอื่นได้ดีกว่า เพราะว่าผ่านงานแบบนี้มาแล้ว” อวัสดา พูดถึงสิ่งที่ตัวเองได้รับจากการทำโครงการ

วิศวะ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ได้รับจากการทำโครงการ คือการพัฒนาความคิด เมื่อก่อนไม่กล้าคิดไม่กล้าตอบอะไรแบบนี้ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก เพราะว่าไม่ค่อยได้ทำอะไรแบบนี้ อยู่เฉยๆ แต่พอมาทำโครงการนี้รู้สึกหัวหมุนเลย ตอนทำแรกๆ ก็มึนๆ อยู่บ้าง บางทีก็คิดไม่ออกว่าต้องทำแบบไหน พอตั้งใจฟังคุณครู ตั้งใจนั่งคิด ก็คิดได้ดีกว่าเดิม”

ส่วน สิปปกร บอกว่า นอกจากการพัฒนาตัวเองแล้ว การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ยังก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีมากกว่าเดิม

“โครงการนี้ช่วยให้รู้จักการวางแผนการทำงานเป็นระบบมากขึ้น มีการคิดล่วงหน้า ต้องฝึกคิดฝึกวางแผนในการทำโครงการเพราะว่าต้องการให้งานออกมาดี เมื่ออาสามาทำโครงการนี้แล้ว อยากให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และคนในชุมชนจริงๆ และที่สำคัญคือพวกเรามีความสามัคคีกัน มีการช่วยกัน ปรองดองกันมากขึ้น เมื่อก่อนผู้หญิงกับผู้ชายไม่ค่อยอยู่ด้วยกันเลย ไม่ค่อยถูกกันด้วย พอผู้หญิงเล่นด้วยมันวิ่งหมดเลย ไม่เข้าใกล้เลย ตอนนี้ดีขึ้นเพราะว่าทำงานเป็นทีม

สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุงขวดเล็กๆ ที่แจกจ่ายให้คนในชุมชน ถือเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ที่อาจช่วยให้ชาวบ้านหันมาป้องกันตัวเองจากยุงลายได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกระบวนการซึ่งกว่าจะได้มาของน้ำตะไคร้หอมแต่ละหยด ได้ช่วยขัดเกลาให้เหล่าเยาวชนต้นปริกได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าจากการลงมือทำ ได้เห็นศักยภาพตนเอง เป็นการจุดพลังให้พวกเขาลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสร้างสรรค์ชุมชนให้ดีมากยิ่งขึ้น


โครงการผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมไล่ยุงลาย

ที่ปรึกษาโครงการ : ชุติมา หล๊ะโหมด

ทีมงาน :

  • ธีรยุทธ์ ยังไพบูรณ์
  • สิปปกร คงชนะ
  • วิศวะ มูสาเอกพล 
  • คช ธรรมรงค์
  • อัษฎาวุธ อมแก้ว
  • สรีนา ยีขุน
  • อวัสดา ยามะนี