สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการศึกษากระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็ง

โครงการศึกษากระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม


          ทีมอสม.น้อยเริ่มต้นมาจากการทำโครงการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชนร่วมกันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีแกนนำหลักจำนวน 11 คน และสมาชิกจำนวน 30 คน เรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 ดำเนินกิจกรรมมา 3 ปี จนปี 2562 ได้เข้าร่วมทำโครงการฯ กับเครือข่าย Active Citizen

           เริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต. แนะนำให้เยาวชนรู้จักเครื่องมือและการบันทึกข้อมูล โดยเริ่มจากสอนการใช้สายวัดเอว เครื่องวัดความดันโลหิต การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การลงบันทึกข้อมูลโดยมีแบบบันทึกข้อมูล ADL การบันทึก 3 อ. คือออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ พอทีม อสม.น้อย รวบรวมแล้ว จะส่งข้อมูลให้กับ รพ.สต. ปลายปี 2 ของการทำโครงการ โครงการได้รับรางวัลโครงการต้นแบบจังหวัด สิ่งที่เพิ่มเติมมาจากการทำตลอด 3 ปีคือ เยาวชนได้ทำการบันทึกไฟส์ลงคอมพิวเตอร์เพื่อสรุปข้อมูล มีการถอดบทเรียน พัฒนาศักยภาพเยาวชน และมีเวทีจัดบทเรียนชุมชน

           จากการลงบันทึกข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน เยาวชนทีม อสม.น้อย ได้พบผู้สูงอายุที่มีความเครียด ผู้ป่วยติดเตียง ซึมเศร้า พวกเขาเริ่มจากความไม่กล้าถามแต่ค่อย ๆ ปรับตัวตั้งแต่การใช้น้ำเสียงที่ดัง ผ่อนคลาย การชวนพูดคุยที่มากกว่าการอยากได้ข้อมูล ให้ผู้สูงอายุเล่าประวัติชุมชน ประสบการณ์ชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุผ่อนคลาย มีรอยยิ้ม และให้ข้อมูลเพื่อจะได้บันทึก ทุกครั้งที่พวกเขาเห็นรอยยิ้มพวกเขารู้สึกภูมิใจ ผลของการกรอกข้อมูลซึมเศร้าของผู้สูงอายุ เป็นบวกขึ้น จากที่เบื่อหน่ายกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งที่มีเยาวชนเข้ามาพูดคุย นอกเหนือจากผู้สูงอายุ เยาวชนทีม อสม.น้อย ยังสื่อสารกับผู้ปกครองเพื่อเตรียมตัวสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างรู้เท่าทัน

           ทีม อสม.น้อยทำงานร่วมกัน แบ่งหน้าที่และรับผิดชอบงานของตัวเอง แม้ครั้งหนึ่งเพื่อนแกนนำหายไปจากทีมหลายเดือนเนื่องจากติดเล่นเกม แต่เมื่อเพื่อนกลับมาทุกคนในทีมก็ให้โอกาส ร่วมงานกันอีกครั้ง ทำงานบนความสนุกและภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน จากเดิมที่ไม่เคยสนิทสนมกับผู้สูงอายุ ก็ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทุกครั้งก่อนเริ่มงานจะมีการประชุมชี้แจงเป้าหมาย อธิบายกระบวนการให้สมาชิกทุกคนเข้าใจและเห็นภาพตรงกัน จึงร่วมงานกันอย่างมีระบบ และดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ตามตำแหน่งหน้าที่ที่แต่ละคนรับผิดชอบ

          พวกเขาภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแล ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่มีใครดูแล ดีใจที่เห็นรอยยิ้มของผู้สูงวัย และยังเห็นว่าพวกเขาเองเปลี่ยนแปลงไปจากจุดเดิมมาก จากที่ไม่สนใจชุมชน คนรอบข้าง วันนี้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนน่าอยู่ รู้จักชุมชนตัวเองมากขึ้น และอยากพัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อไป


ความโดดเด่น

  • ทีมเยาวชนมีเครือข่ายในการทำงานชุมชน จึงมีเครื่องมือที่มีแบบแผน ชัดเจน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อการดูแลผู้สูงวัยได้ตรงเป้าหมาย
  • ทีมเยาวชนยืดหยุ่นและเข้าใจในการเก็บข้อมูลกับผู้สูงอายุ ไม่มุ่งเพียงบันทึก แต่ชวนสนทนาให้ผ่อนคลาย วางใจ และค่อยนำมาบันทึกข้อมูล
  • มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำงานอย่างตั้งใจและเปิดโอกาสให้เพื่อนได้ทำงานโดยไม่ปิดโอกาสแม้เพื่อจะหายไป


ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นางสาวธนัชพร โหมดตาด อายุ 15 ปี (น้ำฝน) เรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม
  2. นายแง ยังอยู่ อายุ 15 ปี (แง) เรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม
  3. เด็กหญิงกัลยา ภู่ระหง อายุ 14 ปี (อิง) เรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม
  4. เด็กหญิงรจนา พรหมรักษา อายุ 13 ปี (ฟ้า) เรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม


สัมภาษณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563



ถาม   ขอให้พวกเราแนะนำตัว ชื่อทีม ว่าแต่ละคนทำหน้าที่อะไรในโครงการ ทีละคน?

ตอบ   สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาวธนัชพร โหมดตาด ชื่อเล่นน้ำฝน อายุ 13 ปี ชื่อโครงการศึกษากระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

ตอบ  ผมชื่อนายแง ยังอยู่อายุ 15 ปี มาจากโครงการเดียวกันกับฝน

ตอบ  สวัสดีค่ะ ชื่อเด็กหญิงกัลยา ภู่ระหง ชื่อเล่นฟ้า อายุ 14 ปี จากโครงการ อสม.น้อย

ตอบ  สวัสดีค่ะ ชื่อเด็กหญิงรจนา พรหมรักษา ชื่อเล่นอิง อายุ 13 ปี จากโครงการ อสม.น้อย


ถาม  พวกเราชื่อทีมว่า อสม.น้อย

ตอบ  เป็นชื่อทีมที่เรียกกันสั้นๆ


ถาม  ขอให้พวกเราแนะนำว่าทำหน้าที่อะไรในทีม?

ตอบ  หนูเป็นหัวหน้าโครงการคอยดูแลเอกสาร เก็บข้อมูลต่างๆ ส่งให้แงเป็นผู้เรียบเรียง

ตอบ  ทำหน้าที่เกือบทุกอย่าง แต่ละอย่างจะแบ่งว่าเราทำมากหรือน้อย เช่น เราได้ข้อมูลมาต้องแยกว่าอันไหนใช้ได้ เอามาสรุป รวบรวมนำเสนอให้เขาฟัง

ตอบ  ช่วยสัมภาษณ์ ผู้สูงอายุค่ะ ตอนลงพื้นที่

ตอบ  หนูก็ช่วยสัมภาษณ์ ตามพี่เขาลงพื้นที่


ถาม  หนูเรียนชั้นอะไร?

ตอบ  ม. 1 และ ม. 3 ค่ะ เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน


ถาม  ทีมนี้มาร่วมตัวกันได้อย่างไร?

ตอบ  ตอนแรกก่อนมีโครงการ อสม.น้อยปีที่ 3 เราทำโครงการกับเทศบาล ตอนหลังไม่มีงบ ไม่มีอะไรทำ เรียนอย่างเดียวไม่ค่อยสนุกเท่าไร จากนั้นมีโครงการ สกว. มาจึงลองทำ ถามคุณครูพี่เลี้ยงเขาก็โอเค พวกหนูลองสมัครขอโครงการ เขาให้หาทีม หนูไปชวนน้องๆ ที่เคยเป็น อสม.น้อย เข้ามาร่วมทีม พอได้แล้วก็รวมทีมไปเยี่ยมผู้สูงอายุ


ถาม  ทีมของหนูทั้งหมดมีกี่คน?

ตอบ  ทีมหลักมี 11 คน มีทีมลงพื้นที่ประมาณ 30 คน


ถาม  อยู่โรงเรียนเดียวกันหมดไหม?

ตอบ  มีจากบ้านกุดฉิด้วยค่ะ ทุกคนเป็น อสม. น้อย


ถาม  เด็กเล็กสุดและคนโตสุด อายุเท่าไร?

ตอบ  ป. 4 เล็กสุด โตสุด เป็น ม.3


ถาม  คือ ป.4 ถึง ม.3 ที่เป็น อสม. ประมาณ 30 คน โครงการนี้ อสม.น้อยใครเป็นคนคิด?

ตอบ  เริ่มจากหมอตั้ง อสม.น้อยขึ้นมา แล้วก็หาเด็กที่สนใจซึ่งตอนแรกผมไม่ใช่คนแรกที่สนใจ น้องสนใจก่อนผมเองเข้ามาช่วยค้นคว้า


ถาม  เป็นโครงการต่อเนื่องมานานหรือยัง?

ตอบ  3 ปี ค่ะ


ถาม  พอเป็นปีนี้ก็มาขอทุนกับอีกที่หนึ่งใช่ไหม?

ตอบ  ค่ะ


ถาม  เรารู้สึกอย่างไรกับโครงการนี้?

ตอบ  เราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากผู้สูงอายุที่เราได้ไปเยี่ยม ถ้าเราไม่ได้ทำโครงการนี้ ไปก็แค่เห็นผู้อายุนอนติดเตียงอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครสนใจ พอเราได้ไปใกล้ชิดไปเยี่ยม เรารับรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาบอกเรา บางคนรู้สึกแย่ต้องการคนดูแล บางทีพอเราไปเยี่ยม เขาก็บอกว่าไม่มีคนดูแล มีน้ำตาให้เราเห็นบ้าง เขาพูดอย่างนี้ให้เราฟัง เนื่องจากเราทำโครงการนี้ด้วย เราก็อยากจะทำให้ดี ให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง

ตอบ  ก่อนที่เราจะลงไปหา เขาจะมีความเครียดเป็นโรคซึมเศร้า หลังจากที่เราได้ลงพื้นที่ไปหา พูดคุย เขาสดใสขึ้น มีแรงจูงใจที่จะพยายามเข้าคนอื่น พยายามที่จะมีชีวิตอยู่ ทำตัวเองให้หายป่วย

ตอบ  ดีใจเวลาที่เห็นเขายิ้มได้

ตอบ  รู้สึกดีที่ได้เห็นผู้สูงอายุมีความสุข


ถาม  ถ้าให้ย้อนไปกระบวนการของเราตั้งแต่แรก พอเราทำมาถึงปีที่สามพวกเรามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร?

ตอบ  ตอนแรกที่ทำกับหมออนามัย เขาก็มาชวนเราเข้าร่วม พอเราเข้าร่วมกับเขาสอนการใช้สายวัดเอว เครื่องวัดความดันโลหิต การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ถึงเวลาทดลองจริงเขาจะให้เราลองทำ ลองตรวจวัดผู้สูงอายุ และพาลงพื้นที่เรื่อยๆ ลงเสร็จ ลงบันทึกข้อมูลเราจะมีแบบบันทึกข้อมูล ADL และมี 3 อ. ของผู้สูงอายุ รวมเรื่อง ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ พอเรารวบรวมได้แล้ว ก็ส่งข้อมูลให้กับทางอนามัยว่าวันนี้ คุณยาย คุณตา ท่านนี้ทานอาหารอะไรบ้าง มีความดันโลหิตเท่าไร ค่าเอวท่าไร น้ำหนักเท่าไร หลังจากนั้นพอเริ่มทำเรื่อยๆ ก็คุ้นชินกับผู้สูงอายุขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรา กล้าที่จะเข้าไปคุยกับเขาก่อน พอใกล้จบโครงการปี 2 เขาให้ไปประกวด โครงการได้รับรางวัลโครงการต้นแบบจังหวัดมา หลังจากนั้นโครงการก็จบไป เพิ่งมาเริ่มใหม่ปีนี้


ถาม  โครงการปีนี้ที่ทำกับ Active Citizen ทำกระบวนการอย่างไร?

ตอบ  หาทีมเพิ่มเพราะหลังจากโครงการยุบไปน้องๆ ก็ไปสนใจเรื่องอื่น เราก็ต้องพยายามดึงน้องๆ กลับมาสนใจ พอเราเริ่มทำไปเรื่อยๆ มีลงพื้นที่ เก็บข้อมูลไม่ใช่ทำแค่บันทึกเล่มเดียว มีบันทึกข้อมูลในไฟล์คอมพิวเตอร์ เราต้องมาสรุปข้อมูลส่งให้ทาง สกว. ด้วย ปีนี้แตกต่างปีที่แล้วตรงที่ว่าปีที่แล้วไม่มีการถอดบทเรียน ไม่มีพัฒนาศักยภาพ ปีนี้มีการถอดบทเรียนและพัฒนาศักยภาพของตัวพวกเราเอง และมีการจัดเวทีชุมชน


ถาม  มีอะไรเพิ่มเติมต้องเก็บข้อมูลอะไรอีกบ้าง?

ตอบ  เดิมแค่เก็บข้อมูลความดันโลหิต เอว น้ำหนักของผู้สูงอายุ ปีนี้จะเก็บเรื่อง การกิน พฤติกรรมสุขภาพ ความเป็นอยู่ของเขา ทำกับพี่ สกว. จะมีไปถอดบทเรียนสรุปความรู้ ให้เรารู้ว่าเรามีอะไรแล้วและขาดอะไรไปบ้าง


ถาม  ไปลงเก็บข้อมูลผู้สูงอายุที่ชุมชนไหนบ้าง?

ตอบ  ซอยบางจะเกร็ง หมู่ 5 ไปแล้วถ้าข้อมูลยังไม่พอก็จะลงเก็บตามบ้านของผู้สูงอายุ


ถาม  ทำไมถึงเลือกลงที่หมู่ 5?

ตอบ  หมู่ 5 มีจำนวนผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงเยอะ มีประมาณ 15 คน


ถาม  ตอนที่ลงไปพื้นที่เก็บข้อมูลทำอะไรบ้าง?

ตอบ  แบ่งหน้าที่กันไปใครจะไปบ้านไหน มีแบบบันทึกคนละ 1 เล่ม มีเครื่องวัดความดันกลุ่มหนึ่งเครื่อง มีคนคอยสัมภาษณ์ คอยถ่ายรูป คอยถาม ถ้าน้องที่ไปด้วยไม่ได้ทำอะไรเขาจะไม่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เข้ามาทำ เราก็แบ่งหน้าที่ให้เขาไปทำและสร้างการเรียนรู้ไปกับเราด้วย


ถาม  ใครเป็นคนสอนให้ถามอย่างไร ใครเป็นคนคิดคำถาม?

ตอบ  เราคิดขึ้นมาเอง เพื่อไปถาม เราต้องคิดว่าถ้าเข้าไปถามคำถามเขาจะคิดอย่างไร ผู้สูงอายุบางคนเขาไม่ชอบคำถามที่เราเข้าไปถาม เราต้องหลีกเลี่ยงถามคำถามอื่น เช่น เข้าไปตอนแรกถามชื่อก่อน ต่อมาถามแต่ละวันกินอะไรบ้าง ป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง มีความดันไหม ซึ่งผู้สูงอายุบางคนไม่ชอบในสิ่งที่เราถามเลย อาจจะชอบอยู่คนเดียว บวกกับการที่เขาติดเตียงไปไหนไม่ได้ พอมีเด็กมาเยี่ยมเขารู้สึกไม่ชอบ เราก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เขาชอบ เราก็ต้องกลับมาคิดแล้วก็กลับไปหาเขาใหม่ ได้ผลเขาชอบในสิ่งที่เราทำ

ตอบ  เราถาม แต่เราไม่ถามเขาว่า คุณตาเป็นโรคอะไร สบายดีไหม ถามเกี่ยวกับโรคเขาจะเบื่อ ไปคุยเล่นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเขาที่ผ่านมา เพราะว่าผู้สูงอายุชอบเล่าเรื่องราวของตัวเองที่เคยประสบมาในอดีต เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราใกล้ชิดเขามากขึ้น เขาค่อยๆ เปิดใจรับเราให้เข้าไปพูดคุย เราจะถามว่าคุณตาชอบไหมที่เด็กๆ มาหา สนุกไหมที่เด็กๆ เข้ามาพูดคุยด้วย ถ้าคุณตาชอบพวกหนูจะเข้ามาอีก


ถาม  ตอนนี้โครงการทำได้กี่เปอร์เซนต์?

ตอบ  ประมาณ 80 เปอร์เซนต์ 20 เปอร์เซนต์ เหลือรวบรวมเพื่อไปนำเสนออีกรอบ และทำอย่างไรให้เด็กในชุมชนสนใจเรื่องผู้สูงอายุมากขึ้น


ถาม  ทำไมเด็กต้องมาสนใจเรื่องผู้สูงอายุ?

ตอบ  เด็กก็ต้องโตขึ้น และเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ อยากให้เด็กเรียนรู้วิธีการดูแลและการป้องกันตัวเองเมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ เพราะร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน จะได้รู้ว่าโรคผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง จะดูแลตัวเองอย่างไร


ถาม  เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับผู้สูงอายุเป็นอย่างไรบ้างระหว่างทำโครงการ?

ตอบ  น้องๆ ตอนนี้ยุค 4.0 มีโซเชียล หลังจากดึงเข้ามาคุยกับผู้สูงอายุ เขาดูมีความสุข ที่ได้พูดคุย ใกล้ชิดกับผู้สุงอายุ เพราะเด็กยุคใหม่ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้ ทำให้เขารู้ว่าวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นแบบนี้ถ้าไม่มีใครดูแลเราแบบนี้คิดอย่างไร เด็กเหล่านี้ก็คิดได้ว่า ถ้าไม่มีใครดูแลเราจะทำอย่างไร ไม่มีเด็กๆ เข้ามาพูดคุยดูแลแบบที่เราทำกับผู้สูงอายุ


ถาม  เข้าใจเขาเข้าใจเรา เขารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุรู้สึกอย่างไรกับการที่เด็กๆ เข้ามาช่วยเหลือเขา?

ตอบ  เรามีแบบบันทึกโรคซึมเศร้า ตอนแรกที่เข้าไปมีสองคำถาม คือ ในช่วงหนึ่งสัปดาห์หรือสองสัปดาห์มานี้เบื่อหรือไม่ ช่วงหนึ่งถึงห้าวันมานี้เบื่อไหม ตอนแรกเบื่อทั้งหมด หลังจากที่พวกเราได้ไปพูดคุย จากที่เบื่อก็เป็นไม่เบื่อ เขาบอกว่าชอบที่เด็กเข้ามาพูดคุย ทำให้ไม่เหงา มีอารมณ์ที่ดีขึ้นจากที่ไม่อยากรับรู้อะไรแล้ว ไม่อยากสนใจสิ่งต่างๆ


ถาม  พี่ๆ ชวนมาเข้าโครงการ คิดว่าโครงการของเราเป็นอย่างไรบ้าง หรือตัวเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

ตอบ  ดีใจ ช่วยกันทำงานได้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น ช่วยกันในการพูดคุยกับผู้สูงอายุ สามัคคีขึ้น มีความสามารถมากขึ้น เข้าใจการดูแลผู้สูงอายุ

ตอบ  รู้สึกดี ได้เห็นผู้สูงอายุมีความสุข จัดการแบ่งงานกันได้ดี มีความสามัคคีกันในทีม อดทน แดดร้อนตอนลงพื้นที่ ช่วยกันยกของที่เอาไปให้ผู้สูงอายุ

ตอบ  ที่พัฒนาขึ้น ตอนแรกเป็นคนไม่ค่อยพูด ตอนนี้กล้าเข้าหาคนมากขึ้น พอได้มาทำโครงการกล้าขึ้นมา กล้าเข้าหาคน

ตอบ  เห็นปัญหาผู้สูงอายุนิสัยไม่เหมือนกัน เมื่อก่อนเป็นปัญหาตอนนี้ไม่เป็นปัญหา เราได้เรียนรู้ว่ามีวิธีการอย่างไรเพื่ออยู่กับผู้สูงอายุในชุมชนของเราได้ ถ้าแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกมา มีส่วนน้อยที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ชอบเด็ก

ตอบ  ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะชอบเล่าเรื่องในอดีตของตัวเองให้เด็กๆ ฟัง เพื่อให้เด็กๆ รับรู้ว่า เขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง

ตอบ  บางทีเขาเล่ามา ตัวผมไม่ชอบฟัง แรกๆ อดทนฟัง เวลาเขาเล่าจะไม่บอกข้อเสียของเขาแต่จะบอกข้อดีได้อะไรมา บอกแต่ข้อดีของตัวเอง ผมไม่ชอบในตอนแรก พอฟังมาเรื่อยๆ ก็คุ้นชินบวกกับความเข้าใจรับรู้ความรู้สึกของเขาด้วย ก็ทำอยู่ตรงนั้นได้


ถาม  อยากให้ทบทวนตัวเอง ที่บ้านเรามีผู้สูงอายุ ก่อนทำโครงการมุมมองของเราต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างไร เราใกล้ชิดกับเขาระดับไหน เราพูดคุยกับเขาบ้างไหม เราดูแลเขาอย่างไร?

ตอบ  หนูไม่ค่อยได้คุยกัน ที่บ้านหนูเขาไม่ชอบเด็ก

ตอบ  หนูเมื่อก่อนไม่บ่อยมาพอได้คุยในโครงการ ก็คุยกับเขามากขึ้นกว่าเดิม รู้สึกว่าเขาดูมีความสุขเวลาที่ได้คุยกับลูกหลาน มีหลานมาพูดคุยนั่นนี่ ทำให้เขาไม่เบื่อ

ตอบ  ไม่ค่อยได้คุย เขาไม่ค่อยคุยกับหนู เขาไม่ชอบเด็ก และเป็นคนหัวร้อน หลังๆ ได้คุยกันบ้าง อารมณ์เขาก็ไม่ค่อยร้อน คุยกับหนูเรื่อยๆ พูดดีกว่าเมื่อก่อน

ตอบ  บ้านผม พ่อแม่เป็นผู้สูงอายุ เรารู้วิธีการดูแลพ่อแม่ เราก็สามารถบอกวิธีการให้กับพ่อแม่รับรู้ได้ ว่าอายุเท่านี้ต้องดูแลอะไรบ้าง วัดความดัน เราบอกเขาตลอด เขาก็ทำตาม เราช่วยได้ดีขึ้น


ถาม  ทีมของพวกเราทำงานด้วยกัน เจอปัญหาอะไรบ้าง?

ตอบ  ไม่เข้าใจกัน ทำไมต้องหายไป ถ้าวันนี้มีแค่คนสองคนก็ไปสองคน ได้แค่ไหนแค่นั้น คนที่ได้ก็คือคนที่ไป คนที่ไม่ได้คือคนที่ไม่ไป เอาข้อมูลมาลงวิเคราะห์ด้วยกัน รู้กันทุกคน ผมจะพิมพ์ลงในโทรศัพท์แล้วก็พิมพ์ออกมา ผมมีปัญหาก่อนทำโครงการนี้ สองปีก่อนเคยทำโครงการเราก็เป็นน้องที่อยู่ในโครงการ พอพี่ๆ จบเหลือเราคนเดียว หาเพื่อนเข้ามาทำต่อมีฝนเข้ามา ตอนนั้นรับความกดดันจากพี่เลี้ยงไม่ไหว ผมถอยตัวเองออกมา หนี นั่นคือจุดที่หนักที่สุด คิดอะไรไม่ได้ก็ออกมาเลย ภาระที่หนักก็ตกอยู่ที่ฝนและเพื่อนร่วมทีมคนใหม่ ซึ่งทุกคนไม่รู้เรื่องกระบวนการว่าจะต่ออย่างไร เราก็เลยถอยออกมา พอเห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาทั้งที่ไม่มีเราเขาก็สามารถทำได้ เราก็อยากกลับมา ขอโอกาส รู้สึกว่าเราทำพลาดไป เราก็ยังมีความคิดที่จะกลับมา และสามารถเปลี่ยนตัวเองได้เลย จากคนไม่กล้าพูดไม่กล้าคิดก็พยายามพูดและคิด ทุกวันนี้เห็นเรื่องอะไรจะไม่คิดในทางไม่ดีก่อน คิดก่อนว่าไม่ดีเกิดจากสาเหตุอะไร


ถาม  ทีมของเราเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ  เป็นทีมที่ดี ช่วยกันทำงาน มีความสามัคคี ช่วยกันคุยกับผู้สูงอายุ ดูแลเขา

ตอบ  ดีที่สุดคือการดูแลผู้สูงอายุ ช่วยกันแบ่งงานได้ดี


ถาม  เรารู้ได้อย่างไรว่าบ้านไหนมีผู้สูงอายุ?

ตอบ  ถามน้องๆ ในทีมที่อยู่ติดกับบ้านผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ถามจากหมอ เพราะหมอเป็นคนเก็บข้อมูล การทำโครงการต้องใช้ข้อมูลที่ใหม่ เช่น เดือนนี้ผู้สูงอายุคนนี้น้ำหนักเท่านี้ เดือนหน้าอาจเปลี่ยนแปลงไป ต้องเอาข้อมูลใหม่มาตลอด


ถาม  ข้อมูลพื้นฐานเอาจากหมอ ส่วนตำแหน่งบ้านถามน้องๆ ที่โรงเรียน ข้อดีของทีมเรามีอะไรอีกบ้าง?

ตอบ เป็นทีมที่ครื้นเครง ในกลุ่มมีเด็กผู้ชายเวลาทำงานด้วยกัน ก็จะเล่นตลกกันอยู่ตลอด ทำให้ทีมไม่เครียดมาก เวลาเราเครียดก็ทำให้คลายเครียดได้


ถาม  เวลาที่ทำงานเราชี้แจงเป้าหมายการทำกิจกรรมเราคุยกันไหม ทุกคนเข้าใจตรงกันหมดไหม เราทำอย่างไร?

ตอบ  ทุกคนเข้าใจหมด เล่าให้ฟังว่ากระบวนการเป็นอย่างไร จะไปให้ถึงจุดนี้ น้องบางคนที่มาใหม่ไม่เข้าใจเราก็พาน้องไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง ลงพื้นที่


ถาม  แสดงว่าทีมเรามีการทำความเข้าใจกับสมาชิก กระบวนการเป็นอย่างไร พาลงไปปฏิบัติจริงเลยถ้ายังไม่เข้าใจ อันนี้คือจุดเด่นของพวกเรานะ พาลงไปปฏิบัติจริง ทำงานอย่างเป็นระบบ ตอนคืนข้อมูลจัดที่ไหน เชิญใครมาบ้าง?

ตอบ  จัดที่โรงเรียน เชิญเฉพาะผู้สูงอายุที่มาได้ เชิญโดยแจกใบเชิญที่บ้าน


ถาม  ในวันงานทำอะไรบ้าง?

ตอบ  ทำสันทนาการก่อนเข้าเรื่อง มีเพื่อนทำนันทนาการ ชวนผู้สูงอายุเล่นเกม สลับนิ้วไปมา

ตอบ  สันทนาการเสร็จก็เข้าเรื่อง ให้เขานับหนึ่งสองแบ่งกลุ่มครั้งล่าสุด มีปัญหาผู้สูงอายุไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราจะทำวันนี้คืออะไร เขาเข้าใจว่าเป็น Mind Map เราก็เปลี่ยนเป็น Mind Map ตามที่เขาเข้าใจ แต่เราต้องการให้เขาทำแผนที่ชุมชน ว่าคนนี้อยู่ตรงไหน เราก็เปลี่ยนเป็น Mind Map เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงจากอดีตกับปัจจุบัน ช่วยให้เขาอธิบายได้ดีกว่าเดิม ทำกิจกรรมครึ่งวัน


ถาม  ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ  ผลดีคือเราได้ข้อมูล ผลเสียคือผู้สูงอายุที่มาเข้าร่วม เวลาพูดเขาจะเสียงดังคุยกับเอง ไม่ค่อยฟังเรา เพราะเป็นกิจกรรมครั้งแรก ตอนแรกท้อมีส่วนน้อยที่ฟัง มีพี่เข้ามาช่วยบอกว่าให้ฟังน้องๆ หน่อยนะ เราก็มีแรงบันดาลใจทำต่อ พูดต่อให้เสร็จ ครั้งที่สองง่ายขึ้น


ถาม  คนเดิมกลับมา

ตอบ  มีค่ะ


ถาม  พวกเราต้องคุยเรื่องอื่นก่อน เรื่องราวความเป็นมาของผู้สูงอายุในบางจะเกร็ง พวกเราได้ฟังมาหลายคน มีเรื่องราวไหนที่ประทับใจบ้าง ไม่เคยรู้มาก่อน ฟังแล้วจำได้เลย?

ตอบ  เรื่องชาวมอญ ผู้สูงอายุบางคนมีเชื้อสายชาวมอญ เล่าเรื่องของคนมอญ ที่ใช้ภาษามอญ สงครามที่ทำให้แยกออกมาจากพม่า ย้ายอยู่ที่นี่

ตอบ  ตาไก่ เล่าเรื่องที่ไปเป็นทหารรับใช้ ในหลวงรับกาลที่ 9 เขาเคยโดนพุ่งแหลมปักเข้าไปที่ขา เราฟังแล้วสนุกได้รู้เรื่องที่เขาประสบ


ถาม  พวกหนูรู้สึกอย่างไรที่เราได้เป็นอาสาสมัครในชุมชนของเรา?

ตอบ  แรงจูงใจจากที่บ้านได้เข้ามาทำ รู้สึกดีเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เห็นความเปลี่ยนแปลงอยากดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่อยากอยู่จุดเดิม อยากให้ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ ดีกว่านี้ด้วย

ตอบ  การเป็นอาสาสมัคร ถ้าเอาเวลาที่มีไปทำสิ่งอื่นเสียเวลา เอาเวลาไปลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุมีประโยชน์ดีต่อทั้งตัวเราเองและผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมีความสุขที่เด็กๆ เข้ามาดูแล ส่วนเราก็รู้วิธีการดูแลตัวเองในภายภาคหน้า

ตอบ  สนุกได้อยู่กับผู้สูงอายุที่ไม่มีใครดูแล ได้ช่วยเหลือเขา ภูมิใจ

ตอบ  รู้สึกดี สนุกได้เยี่ยมผู้สูงอายุ ได้รู้เกี่ยวกับตำบลบางจะเกร็ง ตั้งมาได้อย่างไร ตรงนี้เคยเป็นอะไรมาก่อน


ขอบคุณมากสำหรับทีมนี้

ขอบคุณครับ/ค่ะ