สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.เขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี

โครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาชะงุ้ม  อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี


          ทีมอาวุโส OK V.2 คือกลุ่มเยาวชนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ซึ่งดำเนินกิจกรรมเป็นปีที่ 2 โดยการสานต่องานจากรุ่นพี่ที่ได้จบการศึกษาไป มีสมาชิก 11 คน พื้นที่ในวิทยาลัยกว้างขวาง เยาวชนส่วนใหญ่ได้รับทุนมาเรียนด้านเกษตร ปศุสัตว์ มาจากอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง พวกเขามีฝันที่จะเรียนด้านนี้เพื่อต่อยอดนวัตกรรมและเพิ่มผลผลิตในครอบครัวซึ่งเดิมทำอาชีพเกษตรอยู่แล้ว แต่ด้วยหัวใจแห่งการเรียนรู้ ไม่แบ่งแยกการเรียนกับชุมชน พวกเขาจึงอาสาเข้ามาทำงานและอยากเรียนรู้กระบวนการดูแลผู้สูงอายุ

          การทำงานรุ่นพี่ในวิทยาลัยจะเชิญชวนน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมทีม และแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความสนใจและความสามารถเฉพาะตัว หากรุ่นน้องเป็นคนพูดจาฉะฉาน ก็จะชวนไปร่วมทีมประสานงาน ประกอบไปด้วย ปวช.ปีที่ 1 – 3 ทุกคนจะออกไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ พูดคุยอย่างเป็นกันเองก่อนจะสอบถามข้อมูลสุขภาพ เพื่อบันทึกไว้ แต่ละบ้านในเวลา 6 เดือนจะลงเยี่ยมมากกว่า 3 ครั้ง น้องๆ สังเกตว่าผู้สูงอายุค่อยๆ ไว้วางใจ ให้ความร่วมมือ จนครั้งที่ 3 จะเรียกได้ว่าเขามองเยาวชนเป็นลูกหลาน ชวนกินข้าว กินขนม ทำให้ทีมอาวุโสโอเค 2 ประทับใจในการต้อนรับและให้ความเป็นกันเอง

          ทีมอาวุโส OK V.2 ยึดคติการทำงานว่า “บริการด้วยใจ” เรียนรู้วิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ชวนผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมเพื่อทำปฏิทินกิจกรรมรายปี แผนที่ และจุดเสี่ยงในชุมชน โดยทำงานร่วมกับชุมชนรอบวิทยาลัย ม.7 ชุมชนเขาส้ม การทำกิจกรรมทำให้ทีมเยาวชนพบว่ารอบวิทยาลัยคือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุบางท่านไม่มีคนดูแล มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังไม่สามารถทำงานได้ และบางท่านยังแข็งแรงทำงานได้ดี ในช่วงกลางวันผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะอยู่ลำพัง เงียบเหงา หากทีมเยาวชนลงไปผู้สูงอายุจะดีใจและบอกกับน้องเยาวชนเสมอว่า “ว่างเมื่อไรก็มาอีกนะ” พวกเขามีความสุขที่ได้ใช้พลังงานวัยรุ่นในการทำให้ใครสุขใจ และรับรู้ถึงความสุขที่ได้กลับมา

          ทีมเยาวชนทำงานร่วมกัน ไปไหนไปกัน มีน้ำหนึ่งใจเดียวในการทำงาน ประชุมวางแผน คุยเป้าหมายวัตถุประสงค์ ทำให้งานราบรื่น อุปสรรคมีเพียงช่วงแรกที่ต้องทำให้ผู้สูงอายุวางใจ เน้นการถอดบทเรียนเพื่อที่จะหาว่าจุดไหนต้องแก้ไข จุดไหนดีแล้วและทำต่อไป จากการทำงานโครงการฯ ทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีระบบ มีการวางแผนส่งผลให้พวกเขาเข้าใจการเรียนและส่งเสริมเรื่องการเรียนในทิศทางที่ดีขึ้น พวกเขาเรียนรู้ว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นต้องดูแลสุขภาพก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ การตระหนักรู้สิ่งนี้ทำให้พวกเขาพยายามสื่อสารกับพ่อแม่เพื่อเตรียมพร้อมสู่วัยผู้สูงอายุ


ความโดดเด่น

  • มีหัวใจบริการ ยึดหลัก “บริการด้วยหัวใจ” ทำให้ทีมอาวุโส OK V.2 เป็นสุขใจแม้เหนื่อยแต่ก็ไม่มองว่าเป็นปัญหา
  • สามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
  • ทำความเข้าใจเป้าหมายของกิจกรรมร่วมกัน จึงทำงานอย่างมีทิศทางเดียวกัน


สัมภาษณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563



ถาม ช่วยแนะนำชื่อทีม โครงการที่ทำ?

ตอบ ทีมอาวุโส OK V.2 โครงการการศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี


ถาม ช่วยแนะนำตัวเองและบทบาทหน้าที่ในทีม?

ตอบ นางสาวเดือนเพ็ญ ศรีสุข หน้าที่หัวหน้าโครงการและประสานงาน

นางสาวเจนจิรา หลวงทอ หน้าที่เลขาธิการจดบันทึกการประชุม ออกแบบกิจกรรม

นางสาวปวีณา สุโขประสพชัย หน้าที่การเงินและบัญชี


ถาม รวมทีมกันได้อย่างไร?

ตอบ ตอนแรกพวกเรารวมตัวกับโรเซทตี้ตอนหลังแยกกัน ครูเรชวนมาทำหลังจากนั้นเราก็เลยชวนน้องๆเข้ามาทำ


ถาม ก่อนหน้านี้ทำโครงการอะไรมา?

ตอบ เป็นโครงการของ Road Safety พวกหนูมีจำนวนคนที่เยอะ พี่อ้วนเลยแนะนำให้แบ่งทีมดู พวกหนูเลยมาคิดชื่อโครงการเพิ่ม เราจะทำเกี่ยวกับอะไรดีหนูย้อนกลับไปดูที่บ้านตัวเองซึ่งมีผู้สูงอายุอยู่เยอะ ประกอบกับที่นี่มีผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียวจำนวนมาก พวกหนูเลยสนใจที่จะเริ่มทำงานเกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุ มีอยู่วันหนึ่งวิทยาลัยมีโครงการไหว้ครู จะนำของกินของใช้ที่เสร็จจากกิจกรรมไหว้ครูเดินทางไปมอบให้ที่กาญจนบุรี พอน้องปี 1 เห็นก็เริ่มสนใจพวกหนูเลยชวนน้องๆ มา


ถาม ตอนนี้เรียนปีอะไร?

ตอบ ปี 3 ค่ะ


ถาม รุ่นน้องของเรามีปีไหนบ้าง?

ตอบ มีปี 2 และน้องปี 1 ค่ะ


ถาม วิธีการไปหาสมาชิกในทีมทำอย่างไร?

ตอบ แนะนำโครงการว่าโครงการนี้มีข้อดีอย่างไรลองชวนน้องเขามาทำ

ตอบ น้องเขาอยากลองมาทำ น้องบอกว่าที่บ้านน้องมีผู้สูงอายุ น้องเห็นผู้สูงอายุเจ็บป่วยแล้วอยากได้วิธีการที่จะไปดูแลผู้สูงอายุในบ้านของตัวเองด้วย

ตอบ เวลาเราเห็นผู้สูงอายุยิ้มเราก็สุขใจไปกับเขาด้วย


ถาม น้องในทีมมีจำนวนเท่าไหร่?

ตอบ 10 กว่าคนค่ะ มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง


ถาม ทำโครงการมากี่เดือน?

ตอบ ประมาณ 6 เดือน


ถาม แบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงานอย่างไร?

ตอบ เราจะถามเขาก่อนว่าถนัดด้านไหน ถ้าเขาประสานงานรู้เรื่องก็ให้ไปอยู่กับทีมประสานงาน

ตอบ เราดูว่างานอันไหนพอที่จะให้น้องช่วยได้ เราก็ให้น้องช่วย หางานที่เหมาะสมที่เขาสนใจ


ถาม โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำเกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุใช่ไหม?

ตอบ ตอนแรกที่พวกหนูเข้ามาจะมีรุ่นพี่ที่เขาเคยทำเอาไว้ หนูสนใจเข้าไปถามพี่ๆ ว่าเขาทำอะไรกัน ทำเกี่ยวกับอะไร จนครูเรเข้ามาถามว่าพวกหนูสนใจทำไหม พวกหนูเลยมาทำต่อเนื่องจากรุ่นพี่ที่ทำโครงการรุ่น 1 และพวกเราทำโครงการรุ่น 2


ถาม ความแตกต่างระหว่างตอนเป็นรุ่นน้องที่ตามรุ่นพี่ กับปัจจุบันที่เป็นแกนนำมีความต่างอย่างไร รู้สึกอย่างไร?

ตอบ รู้สึกท้าทายดีค่ะ แตกต่างตรงตอนนั้นเราเป็นผู้ตาม แต่ตอนนี้เราต้องเป็นผู้นำ ต้องคิดเองทำเอง ตัดสินใจเอง ทำเองทุกอย่าง


ถาม เป้าหมายของโครงการคืออะไร?

ตอบ ช่วยศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ


ถาม หลังจากได้ทำจริงแล้วมีเป้าหมายอะไรเพิ่มขึ้นไหม?

ตอบ หาวิธีการให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรม


ถาม ทีมมีขั้นตอนการทำงานอย่างไร?

ตอบ ประชุมทีมว่าเราจะลงไปทำกิจกรรมอะไรกับผู้สูงอายุ

ตอบ เราจะลงไปตามบ้านผู้สูงอายุเพื่อซื้อใจเขาให้เข้ามาร่วมกิจกรรม


ถาม วิธีการซื้อใจทำอย่างไร?

ตอบ เราจะลงไปตามบ้านไปพูดคุยสอบถามเช่น คุณลุงคุณป้าอยู่บ้านกับใคร สุขภาพร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง ทานอาหารกันแบบไหน

ตอบ เราลงตามบ้านเราไม่ได้ลงแค่ 1 ครั้ง เราลงถึง 3 ครั้ง

ตอบ ผู้สูงอายุจะจำพวกเราได้ว่าพวกนี้ลงมาสอบถามอีกแล้ว

ตอบ พอเราได้ใจเขาแล้ว เขาจะเต็มใจมาร่วมกิจกรรมกับเรา เราจะถามเขาว่าสะดวกไหมถ้าไม่สะดวกเราก็มีรถไปรับเขา

ตอบ เราบริการด้วยใจ


ถาม เราทำกิจกรรมอะไรกับผู้สูงอายุ?

ตอบ เราจะเริ่มทำกันวันพุธนี้ เราจะชวนผู้สูงอายุมาทำปฏิทิน แผนที่และไทม์ไลน์ ชวนเขาคุยว่าเราจะทำแบบไหนดี ถึงเขาจะเขียนไม่ได้เราจะเขียนให้ แต่ขอให้เขามีส่วนร่วมในการบอกจะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ถาม ช่วยเล่าวิธีการทำปฏิทิน แผนที่ทำอย่างไร ทำเพื่ออะไร?

ตอบ ปฏิทินก็คือรอบปี ในเดือนนี้เราทำอะไรไปบ้าง เราทำกิจกรรมอะไร

ตอบ ส่วนแผนที่ก็คือในหมู่บ้านนี้ บ้านคุณตาคุณยายอยู่ตรงไหน มีตรงไหนเป็นจุดเด่นบ้างตรงไหนเป็นปัญหา


ถาม ชุมชนที่เราไปลงอยู่บริเวณไหน?

ตอบ ในโซนรอบๆ วิทยาลัย ที่เขาส้มค่ะ


ถาม ทำไมถึงเลือกพื้นที่เขาส้ม?

ตอบ อยู่ใกล้วิทยาลัยและสะดวกในการเดินทาง เป็นหมู่เดียวกับที่เราต้องการเพราะเราอยู่หมู่ 7เหมือนกัน


ถาม รู้ได้อย่างไรว่าชุมชนบริเวณเขาส้มมีผู้สูงอายุจำนวนเยอะ?

ตอบ เนื่องจากปี 1 พวกหนูลงไปสำรวจพื้นที่ผู้มีรายได้น้อย ไปตามบ้านเราจะเห็นผู้สูงอายุเยอะ อย่างหน้าวิทยาลัยออกไปก็เจอผู้สูงอายุแล้วค่ะ


ถาม ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นอย่างไร?

ตอบ บางคนทำงานปกติอยู่ค่ะ บางคนเริ่มมีโรคประจำตัว

ตอบ ที่หนูเคยเจอจะมีผ่าตัดมะเร็งไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แต่นั่งๆ นอนๆ

ตอบ บางคนยังทำอาชีพปกติตัดหญ้าให้วัว หรือ เผาถ่าน ยังคงใช้ชีวิตแบบว่าตัวเองยังหนุ่มอยู่

ตอบ บางคนก็อยู่บ้านคนเดียวแบบลูกหลานไม่ได้อยู่ด้วยกว่าลูกหลานจะกลับมาก็มืดเพราะลูกหลานเขาต้องไปทำงาน

ตอบ หนูสังเกตว่าเวลาพวกหนูเข้าไปพูดคุย พวกเขาก็มีความสุขที่ได้คุยกับเด็กๆ กลางวันเขาอยู่คนเดียวเขาอยู่กับโทรทัศน์อยู่กับสุนัข ลูกกลับมาก็มืดเช้าลูกเขาก็ไป


ถาม การลงพื้นที่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 3 เห็นการเปลี่ยนแปลงไปอะไรจากผู้สูงอายุ?

ตอบ ตอนลงไปครั้งแรกเขายังไม่ยอมรับเราคิดว่าพวกหนูมาหลอกเขา พอครั้งที่ 2 เขาอาจจะยังให้ข้อมูลไม่มากเขาจะเบียงแบนไม่บอกว่าเขาเป็นอะไรบ้าง เขากลัวว่าเราจะเอาข้อมูลไปทำอะไรไม่ดี

ตอบ เพราะครั้งที่ 2 หนูไม่ได้ใส่ชุดนักศึกษาไป พวกหนูใส่ชุดธรรมดา เขาเลยกลัวว่าพวกหนูไปหลอกเขาหรือเปล่า กลัวว่าจะเอาข้อมูลของเขาไปทำให้เกิดความเสียหาย

ตอบ ครั้งที่ 3 เขาให้ข้อมูลเต็มที่เหมือนว่าเราเป็นลูกหลานเขา


ถาม ไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอะไร?

ตอบ สุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน

ตอบ รอบเดือนนี้มีการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพอย่างไรบ้าง มีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นไหม


ถาม ช่วยเล่าเหตุการณ์ประทับใจในการลงเก็บข้อมูล?

ตอบ มีลุงที่ชื่อเผือกเขาบอกพวกหนูว่า “ว่างเมื่อไหร่ก็มาอีก” เขาชวนเราคุยด้วยและเขาอยากให้เรามาหาเขาบ่อยๆ

ตอบ มีเหตุการณ์ที่ท้อบ้าง มีผู้สูงอายุประมาณ 60 ปี ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้สูงอายุ เขาจะถามพวกหนูว่ามาทำไม

ตอบ บางครั้งเราก็ท้อ


ถาม ทำไมลุงเผือกถึงอยากให้พวกเรามาหาบ่อยๆ?

ตอบ เวลาที่พวกหนูไปหนูจะถามว่า”ลุงเป็นอย่างไรบ้างคะ ลุงดีขึ้นหรือยังคะ” เวลาเราถามว่าลุงกินอยู่อย่างไร ลุงเขาจะหัวเราะ เวลาที่พวกหนูไปหนูจะไม่ไปเอาคำตอบว่าลุงอายุเท่าไหร่ น้ำหนักเท่าไหร่ พวกหนูจะชวนเขาคุยก่อนไม่ใช่ไปเอาแต่ข้อมูล เราคุยเหมือนเราเป็นลูกหลานเขาจริงๆ

ตอบ ลุงเค้าบอกว่าน้อยมากที่จะเจอเด็กรุ่นนี้ ส่วนมากไม่เห็นเด็กที่อายุประมาณนี้ลงไปหาเห็นแต่พวกหมอเท่านั้น เราก็ชื่นใจมีแรงที่จะไปบ้านอื่นต่อ

ตอบ แต่อย่างวันนั้นที่เจอคำพูดที่ป้าคนนั้นพูดหนูก็ท้อ โครงการนี้ก็ดีสำหรับเราแต่ทำไมผู้สูงอายุถึงมองว่าไม่ดีป้ารู้สึกว่าน่าเบื่อ มันทำให้พวกหนูท้อ แต่พอมาฟังลุงพูดก็มีกำลังใจขึ้นสามารถเดินต่อไปได้


ถาม เรามีวิธีก้าวข้ามต่ออุปสรรคในเวลาที่ท้ออย่างไร?

ตอบ ยังไงเราต้องไปต่อเพราะบ้านอื่นคงไม่พูดแบบบ้านนี้ทุกบ้าน เราคุยกันกับเพื่อนในทีมเรื่องความรู้สึกว่าเราท้อนะแต่เราจะสู้ไปด้วยกัน


ถาม ได้มีโอกาสพบป้าคนนี้อีกไหม?

ตอบ ยังไม่ได้ไปค่ะ เราไปบ้านอื่นแต่ข้อมูลของบ้านเราก็ยังคงเก็บไว้ เราคอยสังเกตมากกว่าแล้วไปถามอนามัยว่าข้อมูลที่ได้จากป้าเป็นอย่างไรบ้าง


ถาม มีปัญหาอุปสรรคอะไรอีกไหม?

ตอบ เรื่องเวลา

ตอบ เพราะพวกหนูใกล้จะจบแล้ว มีอะไรหลายอย่างที่กระทบกัน ไหนจะโครงการไหนจะแข่ง

ตอบ แต่พวกหนูไม่ได้เป็นตัวหลักมาก บางงานหนูก็ให้น้องปี 1 ปี 2 ไปแทน มีบางทีก็กระทบเพราะน้องจะมาบอกว่าทำไมใช้แต่พวกหนู ทำไมพี่ไม่ไปบ้าง แต่เราไม่ได้บ่นน้องเพราะว่าเราต้องทำอย่างอื่น


ถาม ทีมแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?

ตอบ เรียกน้องมาคุยเพื่อทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจกันในทีม บอกเหตุผลว่าโครงการนี้จะเป็นแบบนี้และพี่ใกล้จบแล้ว พอบอกน้องไปน้องก็เข้าใจ


ถาม ในฐานะแกนนำเราบริหารจัดการทีมอย่างไร?

ตอบ เราจะใช้เวลาเย็นตอนที่ทุกคนว่างมานั่งคุยงานกัน คุยว่าวันนี้โครงการนี้มาถึงตรงนี้แล้วนะแล้วขั้นต่อไปเราจะทำอะไรกัน

ตอบ เราจะเรียกน้องมาทดลองทำกิจกรรมที่เราออกแบบไว้ก่อนนำไปใช้จริง อธิบายขั้นตอนว่ากิจกรรมนี้ทำอย่างไร ซ้อมสันทนาการ เราได้เรื่องความสัมพันธ์ในทีมด้วยค่ะ


ถาม จุดเด่นของทีมเราคืออะไร?

ตอบ หลังจากที่เราได้พูดคุยปัญหากันน้องก็ร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้น ทีมเราจะไปไหนไปกัน ถ้าบอกว่าเราจะต้องไปออกนอกพื้นที่ หลังจากทำเรื่องขอเสร็จ ทุกคนก็ไปพร้อมกันหมด

ตอบ ความมีน้ำใจต่อกันในทีม ถ้าฝ่ายไหนเกิดปัญหาอะไรทีมเราก็จะช่วยกัน เราจะไม่ทิ้งกันแน่นอน เราจะอยู่ด้วยกันตลอดจนกว่าจะจบโครงการ


ถาม ตอนนี้โครงการเดินทางมา 80% พวกเราคิดเห็นอย่างไร?

ตอบ ตอนนี้เริ่มโอเคขึ้น พอเราได้ลงสอบถามความรู้สึกของผู้สูงอายุเสร็จแล้ว เราได้กำหนดกิจกรรมที่เราจะลงไปทำ เราจะทำอะไรบ้าง

ตอบ ตอนนี้เราเริ่มชัดเจนเรื่องเป้าหมายแล้วว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรกับเขาบ้างเพื่อจะดูแลสุขภาพเขา เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น


ถาม ปลายทางของโครงการคืออะไร?

ตอบ เรามีวิธีการดูแลสุขภาพของเราเองได้อย่างไร หลังจากผู้สูงอายุทำกิจกรรมแล้วเขามีสุขภาพดีขึ้นหรือไม่


ถาม เป้าหมายต่อไปของทีมอยากทำอะไร?

ตอบ พวกหนูจบปีนี้แล้ว หนูจะฝากน้องปี 2 ให้เป็นหัวหน้าทีมแทนให้น้องได้ทำต่อ ส่วนพวกหนูจะคอยเป็นที่ปรึกษา


ถาม น้องปี 2 พอฟังแบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ตอบ พอเราได้ไปอยู่กับผู้สูงอายุเหมือนเราได้สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้สูงอายุ เราก็มีความสุข เวลาที่เราลงไปทำกิจกรรมเราเห็นเขาหัวเราะเรารู้สึกดี พอกลับมาก็ไม่รู้สึกเหนื่อย ทีแรกเราจะรู้สึกเหนื่อยเพราะเราจะต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปตามบ้าน พอมาเห็นวันที่เรารวมกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้สูงอายุ หนูเห็นพวกเขามีความสุข ผู้สูงอายุให้พรพวกเราทำให้เราก็รู้สึกดี ถ้าเกิดมีโอกาสก็อยากจะทำต่อ


ถาม ผลตอบรับจากผู้สูงอายุเป็นอย่างไร?

ตอบ เขาตอบรับดี ยิ้มมีความสุข เขาอยากให้พวกหนูมาอีก ส่วนมากที่หนูไปพวกเขาจะเต็มใจที่จะมาถึงแม้จะไม่ตรงกับวันที่อนามัยจัด ส่วนมากอนามัยจะจัดในวันที่ 18 วันที่หนูจัดกิจกรรมจะไม่ตรงกัน ผู้สูงอายุเขาตัดสินใจที่จะมาด้วยตัวเอง บางคนไม่สะดวกแต่บางคนเขาให้ความร่วมมือดีแม้พวกหนูเป็นแค่นักเรียน ความร่วมมือของผู้สูงอายุทำให้หนูมีกำลังใจขึ้น


ถาม ในฐานะวัยรุ่นรู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลชุมชน?

ตอบ ถ้าวัยรุ่นที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันเขามองว่าทำแล้วได้อะไร ทำ ทำไม เอาเวลาไปเที่ยวเล่นตามประสาวัยรุ่นดีกว่า พวกหนูกลับมองว่าถ้าเราแก่ตัวไปที่ผ่านมาตอนเราเป็นวัยรุ่นเราไม่สนใจสุขภาพเรา ถ้าเราไปดูแลสุขภาพตอนเราแก่ก็คงไม่ทัน ถ้าเราช่วยกันดูแลผู้สูงอายุตอนนี้น่าจะเป็นผลดีต่อตัวเขาแล้วก็ตัวเรา

ตอบ เหมือนถ้าต้องสลับกัน ในตอนนั้นถ้าเราแก่เราก็อยากให้มีคนมาดูแลเรา อยากให้คนมาสนใจเห็นคุณค่าเรา มาทำตอนแรกหนูก็รู้สึกว่าเสียเวลา เอาเวลาว่างของเราไปเที่ยวเล่นดีกว่า แต่พอเห็นโครงการใกล้จะจบแล้วมันได้อะไรหลายๆ อย่างทั้งการดูแลตัวเองและขวัญกำลังใจของเขาและตัวเราเอง

ตอบ มีคนเคยบอกหนูว่ามีเงินแล้วจะสบายมีความสุข หนูว่ามันไม่จริง เพราะว่าเงินมันซื้อไม่ได้ทุกอย่าง เรื่องสุขภาพถ้าเราแก่ไปแล้วเรามีเงิน แต่ไม่ได้มีสุขภาพแข็งแรงหนูว่ามันไม่มีความสุข คนในครอบครัวเราก็ไม่มีความสุข หนูมองว่าการที่เรามีสุขภาพดีตั้งแต่ตอนนี้จนถึงอนาคตที่เราแก่ลงมันจะดีมากกว่าการมีความสุขเพราะเงิน


ถาม ทีมแกนนำเยาวชนมีทั้งหมดกี่คน?

ตอบ ประมาณ 11 คน


ถาม ตอนลงพื้นที่มีจำนวนกี่คน?

ตอบ ประมาณ 6-7 คน สลับกัน


ถาม โครงการนี้ส่งผลต่อการเป็นนักศึกษาของเราในวิทยาลัยอย่างไร?

ตอบ การทำงานที่เป็นระบบเป็นขั้นตอนมากขึ้นแต่ก่อนอาจจะมองแค่ปลายทาง แต่ตอนนี้ทำให้มองตั้งแต่ต้นทางว่ามีอะไรบ้าง เริ่มจากตัวเราเองและไปที่คนอื่นเรื่อยๆ เช่น การเรียนเรามองแค่ปลายทางไม่ได้มองที่ต้นทาง เราไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อน เราไปเอาผลภายภาคหน้าที่จะได้เลย

ตอบ โครงการนี้ทำให้พวกหนูเพิ่มความคิดตัวเองมากขึ้นแล้ววางแผนก่อนทำงานทุกครั้ง ตอนนี้พวกหนูทำงานกับ อพ.ปร. เวลาทำงานกับสมาชิกเราก็ต้องวางแผนก่อน ถ้าเราไม่วางแผนกิจกรรมที่เราจะทำอาจจะล่มได้ มันเป็นผลดีให้เรามีการวางแผนก่อนเราจะทำงาน

ตอบ การพูดคุยกันก่อนทำงานถ้าเราไม่พูดคุยกับคณะกรรมการด้วยกันหรือเพื่อนในทีมด้วยกันจะทำให้งานไม่สำเร็จ ถ้าเราทำคนเดียวเราก็เหนื่อยคนเดียวมันอาจจะไม่ได้ผลอย่างที่เราคิดไว้ การที่เราทำงานกันหลายคนเราก็แบ่งงานกันงานอาจจะสำเร็จ การสรุปผลการทำงานพอเราทำงานเสร็จถ้าเราไม่มาถอดบทเรียนเราจะไม่รู้เลยว่ากิจกรรมที่เราทำไปมันมีตรงไหนที่พลาด ตรงไหนที่ควรเติมต้องแก้ไข ตรงไหนดีแล้ว เราจะได้รู้ว่าถ้าเราต้องแก้ไขเราจะแก้ไขอย่างไรบ้าง