สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการการบริหารจัดการเครือข่ายเยาวชนอย่างเป็นระบบโดยพลังเยาวชนพลเมืองจังหวัดน่าน

โครงการแนวทางการบริหารจัดการเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดน่านอย่างเป็นระบบโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ โครงการการบริหารจัดการเครือข่ายเยาวชนอย่างเป็นระบบโดยพลังเยาวชนพลเมืองจังหวัดน่าน


          โครงการการบริหารจัดการเครือข่ายเยาวชนอย่างเป็นระบบโดยพลังเยาวชนพลเมืองจังหวัดน่าน เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเยาวชนที่เคยทำงานโครงการ Active Citizen โดยแต่ละโครงการจะส่งตัวแทนเข้าร่วมเครือข่ายเพื่อเชื่อมร้อยการทำงาน สานความสัมพันธ์ ผนึกพลังเยาวชนดูแลบ้านเกิด แกนนำเยาวชนมีรุ่นพี่ทั้งหมด 15 คน กระจายตัวอยู่ใน 5 อำเภอ มีประสบการณ์ทำงานชุมชนที่หลากหลายแตกต่างกันมารวมตัวกันเพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อให้จังหวัดน่านน่าอยู่ โดยเชื่อมประสานเครือข่ายโครงการย่อยที่ครอบคลุมทั้งหมด 9 อำเภอ

          แต่เดิมเคยเกิดเครือข่ายฯ ขึ้นแต่การทำงานไม่ต่อเนื่อง ไม่มีการสืบทอดต่อรุ่นจากรุ่นพี่ เมื่อรุ่นพี่ จบการศึกษาในจังหวัด ต่างแยกย้ายไปเรียนต่างจังหวัด และสมาชิกไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด เมื่อเครือข่ายฯ ได้ถอดบทเรียนและเห็นปัญหา จึงเกิดการรวมตัวกันอย่างมีระบบอีกครั้ง โดยรวมเครือข่ายขึ้นมาใหม่ ที่มีทั้งเยาวชนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาเป็นสมาชิก

           เป้าหมายหลักของเครือข่ายฯ คือ เยาวชนรวมตัวกันทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อเมืองน่าน หนุนเสริมการทำงานของโครงการย่อย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำปรึกษา ระดมกำลังลงแรงให้เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์แก่ชุมชน ภายใต้ชื่อกิจกรรมพลังสร้างสรรค์ เครือข่ายละอ่อนน่านฮักบ้านเกิด มีการทำกิจกรรม ทำรั้วปลูกผักในชุมชน ทำฝาย การจัดการขยะ จัดการความขัดแย้งภายในกลุ่มโครงการย่อย ร่วมตรวจสุขภาพผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ไปจนถึงกิจกรรมอาสาอื่นๆ ในชุมชน เป็นศูนย์ประสานงานกลางที่รับรู้ปัญหาของน้องๆ ที่ทำโครงการ ร่วมวางแผนและลงไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการที่น้องๆ ทำไม่โดดเดี่ยว

          เครือข่ายอยู่กันด้วยใจ รักกันอย่างพี่น้อง มีกติกาในการใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อฝึกฝนให้เป็นพลเมืองที่มีวินัย คิดถึงประโยชน์ส่วนร่วม มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ด้วยระบบประชาธิปไตยที่ดูแลกันอย่างเท่าเทียม การทำงานของเครือข่ายจึงขับเคลื่อนด้วยพลังเยาวชนทุกคน ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางของการสนับสนุนโครงการย่อย เยาวชนได้รับรู้สถานการณ์และปัญหา ได้ยกระดับ ทักษะการคิดวิเคราะห์ หาสาเหตุปัญหา เพื่อหาแนวทางการแก้ไข (Critical Thinking) อีกทั้งพวกเขายังเคยผ่านการลงมือทำงานในชุมชนจึงพอสามารถประเมินได้และร่วมแก้ไขให้ตรงจุด

          เยาวชนในเครือข่ายฯ ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กับเครือข่ายที่แข็งแรงขึ้น อนาคตเครือข่ายฯ จะไปเชื่อมร้อยการทำงานกับสภาเด็กและเยาวชน ร่วมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัด หากแต่วันนี้พวกเขาอยากทำให้ต้นกล้าต้นนี้หยั่งรากลึกและแข็งแรงก่อน โดยที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ใช้เครื่องมือในการถอดบทเรียนวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT) เพื่อให้รู้ว่าหน่วยงานของพวกเขาอยู่ตรงจุดไหนและจะทำอะไรต่อไป เยาวชนแต่ละคนเติบโต มีพัฒนาการ มีทักษะชีวิต กล้าแสดงออก เข้าใจตัวเองมากขึ้น กล้าเข้าหาคนในชุมชน มีความรับผิดชอบ เป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อผลักดันให้เพื่อนในเครือข่ายทำตามฝัน ทั้งนี้พี่เลี้ยงที่เข้าใจเยาวชนมีส่วนสำคัญมากในการให้พื้นที่คิด สร้างสรรค์ และอำนวยการเรียนรู้ให้เยาวชนได้สยายปีกบิน และพร้อมเป็นลมหนุนใต้ปีกให้ทำงานอย่างราบรื่น ร่าเริง

         สำหรับเยาวชนเครือข่ายฯ อุปสรรคเป็นเพียงเล็กน้อยของรอยทางการเรียนรู้ แต่หัวใจที่พวกเขามีให้กันต่างหากที่นำพาให้ ผ่านอุปสรรค เมื่อมองกลับไปบนเส้นทางจะเห็นเพียงร่องรอยที่พิสูจน์พลังเยาวชนที่กล้า แกร่ง และแข็งแรง รอยยิ้มที่ให้กันทั้งจากชุมชน น้องเยาวชน เพื่อนๆ เครือข่ายคือของขวัญของคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน พวกเขาเชื่อว่าการเดินทางทำงานไปด้วยกันจะทำให้เมืองน่านเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้น ด้วยความเป็นหนึ่งในพลเมืองน่าน แม้เส้นทางของเยาวชนแต่ละคนอาจต้องออกไปศึกษาเพื่อเติบโต แต่เชื่อว่ารากที่หยั่งลึกในใจของเยาวชนแต่ละคนจะนำพาให้พวกเขากลับมาบ้านเกิดทำหน้าที่ตามบริบทที่พวกเขาตั้งใจ


ความโดดเด่น

  • เยาวชนทำงานด้วยหัวใจ รักกันฉันท์พี่น้อง ดูแลเครือข่ายฯ อย่างครอบครัวทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น กล้าแลกเปลี่ยนและเล่าปัญหาให้กันและกัน
  • เครือข่ายฯ ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดน่าน ทำให้เห็นพลังในการขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งจังหวัด
  • พี่เลี้ยงเข้าใจเยาวชน เข้าใจพื้นที่ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีพื้นที่ในการคิด สร้างสรรค์ ลงมือทำตัวตัวเอง

­

ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. ดวงพร ยังรักษ์ (กอล์ฟ) อายุ 29 ปี ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่โครงการ (พี่เลี้ยง)
  2. นางสาวจิดาภา ติละ (ปอ) อายุ 17 ปี   นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปัว
  3. นางสาวศิริลักษณ์ ต๊ะแก้ว (แพท) อายุ 20 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  4. นายณัฐภูมิ น้ำตอง (นัท) อายุ 18 ปี   กำลังจะเข้าศึกษาชั้นปีที่ 1 โรงเรียนนายสิบทหารบก
  5. ธันยบูรณ์ เสารางทอย (ธัน) อายุ 18 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  6. เศรษฐศาสตร์ เสารางทอย อายุ 18 ปี  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนไตรเขตประชาสามัคคี รัชมังคลาภิเษก
  7. อิสริยา โพธิ์ทอง (อ๋อย) อายุ 20 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  8. นางสาวจิราภา เทพจันดา อายุ 20 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  9. นายกวินภพ ไชยหาญ (สแน็ก) อายุ 17 ปี  นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 2 แผนกช่างกลโรงงาน วิทยาลัยเทคนิคน่าน
  10. นายกันต์พิมุก ไชยกาอินทร์ (ข้าวโอ๊ต) อายุ 18 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  11. นางสาวจิรัชยา ทากัน (จ๋าอี้) อายุ 20 ปี  นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยบรมราชชนนีจังหวัดแพร่



บทสัมภาษณ์

ถาม  โครงการที่ทำอยู่ชื่อโครงการอะไร?

ข้าวโอ๊ต   โครงการการบริหารจัดการเครือข่ายเยาวชนอย่างเป็นระบบโดยพลังเยาวชนพลเมืองจังหวัดน่าน


ถาม  มีประสบการณ์ทำโครงการทำงานเยาวชนอะไรบ้าง?

ข้าวโอ๊ต   ก่อนมารวมตัวเป็นเครือข่าย แต่ละคนช่วงแรกทำโครงการย่อยในชุมชนของแต่ละกลุ่ม ทำหลายเรื่อง มาจากหลายโครงการ

แฟง  น้องกลุ่มนี้เป็นแกนนำปีที่แล้วที่ทำโครงการ Active Citizen ทำที่ชุมชนของตัวเอง ทุกคนมาจากหลายชุมชน ต่างชุมชน ต่างอำเภอแต่อยู่ในจังหวัดน่านเหมือนกันรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเยาวชนในจังหวัด มีประสบการณ์ทำงานเพื่อชุมชนหลายเรื่องหลายประเด็น


ถาม  โครงการนี้ที่เกี่ยวกับอะไร?

ข้าวโอ๊ต  เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ เครือข่ายเยาวชนในจังหวัดน่าน ที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดคือ การมารวมตัวของหลายโครงการมาเป็นเครือข่าย

จิราภา  การสร้างเครือข่ายเยาวชน รวมแกนนำเยาวชนจากหลายโครงการมารวมกันเป็นเครือข่าย


ถาม  เป้าหมายการรวมตัวเพื่อทำอะไร?

ข้าวโอ๊ตปีนี้เราตั้งเป้าหมายเชื่อมเครือข่ายให้เป็นเครือข่ายให้มีรากฐาน


ถาม  เครือข่ายสำคัญกับชุมชนอย่างไร ทำไมเราต้องรวมกันเป็นเครือข่าย?

ปอ  ทำหลายคนดีกว่าทำคนเดียว

ธัน  ทำให้งานเบาลง


ถาม  การที่เรามารวมตัวเป็นเครือข่ายสำคัญกับชุมชนเราอย่างไร?

นัท  เยาวชนจะได้เป็นปึกแผ่น เข้มแข็งขึ้น

เศรษฐศาสตร์  แรงคนเดียวทำไม่ไหว เลยรวมกลุ่มกันทำ

กอล์ฟ  แต่ละปีที่ผ่านมาเด็กเก่ามีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น ในปีนี้จึงอัพเกรดขึ้นมาเป็นพี่เครือข่ายฯ ช่วยดูแลน้องทีมโครงการย่อย บางคนอยู่ในพื้นที่จะคอยดูแลโครงการน้อง ควบคู่การเป็นพี่เครือข่าย เครือข่ายนี้คือการรวมตัวกันให้เป็นเครือข่ายเดียว โดยเชื่อมทั้งเครือข่ายเก่าที่เคยสร้างแต่เริ่มห่างหายไป และน้องๆ ที่ทำโครงการใหม่ในปีนี้ เข้ามาให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน


ถาม  ในโครงการอธิบายว่าปัญหาเดิม คือมีเครือข่ายไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด บางทีไม่มีการสืบทอดส่งต่อรุ่น บางทีหายไป พอมารวมตัวกันแล้วเราทำกิจกรรมอะไรบ้าง เล่าภาพก่อนและหลังที่จะมีเครือข่าย สามปีที่แล้วเป็นอย่างไร พอมาปีที่สี่ เราจะทำให้เครือข่ายเข้มแข็ง ขอให้เปรียบเทียบภาพของเครือข่ายว่าเป็นมาอย่างไร?

จิราภา  เครือข่ายเราเคยก่อตั้งมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่แกนนำแต่ละคนอยู่ต่างที่ ไม่ค่อยมีเวทีได้มาพบกัน เพราะว่าตอนที่ก่อตั้งเป็นช่วงใกล้ปิดโครงการแล้ว ไม่เกิดการพูดคุยกันในกลุ่ม เป็นเพียงการตั้งกลุ่มขึ้นมาเท่านั้น พอนานเข้าก็ห่างหายกันไป บางคนย้ายไปเรียนที่อื่น เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนชั้น ม. 6 และเยาวชนที่อยู่ในช่วงที่กำลังจะไปเรียนต่อ บางคนย้ายไปเรียนต่างจังหวัดเลยทำให้เครือข่ายห่างหายกันไป ไม่มีการติดต่อกันอีกเลย กลุ่มพวกเราจึงรวมเครือข่ายขึ้นมาใหม่ โดยเอาทั้งคนเก่าและคนใหม่มารวมกัน


ถาม  เครือข่ายมีเป้าหมายอะไร ในการรวมตัวกัน?

จิราภา  เชื่อมเครือข่ายเป็นกลุ่ม อยากทำกิจกรรมดีๆ เพื่อเมืองน่านเหมือนที่เราเคยทำกับชุมชนของเรา เราตั้งใจจะทำร่วมกับกลุ่มอื่นด้วย


ถาม  มีสถานการณ์อะไรในชุมชนที่เป็นปัญหาอยากช่วยแก้ไข ทั้งระดับชุมชนและภาพรวมของจังหวัด?

ข้าวโอ๊ต  ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา พวกเรารวมกลุ่มกันและให้น้องๆ จากโครงการย่อย เสนอโครงการเพื่อให้ พวกเราไปหนุนเสริม เช่น เรื่องการจัดการขยะ ทำฝาย การทำรั้วปลูกผัก เราก็รับปัญหาของน้อง แล้วนำมาวางแผนลงไปช่วย จะทำอย่างไร


ถาม  พวกเราทั้งหมดเป็นส่วนกลาง น้องมีปัญหาจะมาขอคำปรึกษาจากพวกเรา พวกเราจะรวมตัวกันเพื่อมาช่วย บทบาทของพวกเราแต่ละคนทำไมถึงสนใจมารวมตัวเป็นเครือข่าย เพื่อทำงานพัฒนาชุมชน?

แพท  เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนรู้ประสบการณ์จากน้องๆ ในพื้นที่ ได้เรียนรู้บริบทชุมชนของน้องๆ แต่ละโครงการ

ปอ  ทำให้ได้เจอเพื่อน น้องใหม่ มีประสบการณ์เรียนรู้จากที่อื่น แล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

จิราภา  ทำโครงการมาสามปี ได้บทเรียนได้ประสบการณ์ รู้ว่าตัวเองได้รับการพัฒนาขึ้น จึงอยากจะเข้ามาเพื่อพัฒนาตัวเองด้วยแล้วก็อยากทำกิจกรรมกับน้องๆ อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับน้องๆ ไปเรื่อยๆ อยากสานต่อเครือข่ายให้รุ่นน้องได้อยู่ต่อๆ ไป

นัท  ได้เที่ยว และเรียนรู้การเป็นอยู่ของชุมชน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์

ข้าวโอ๊ต  สานสัมพันธ์พี่กับน้อง


ถาม  ในฐานะพี่เลี้ยงที่คอยมองคิดว่าบทบาทของเยาวชน สำคัญอย่างไรในการสร้างเครือข่ายและต้องทำงานในชุมชน?

กอล์ฟ  มีความสำคัญน้องๆ เปรียบเป็นต้นกล้า จะโตขึ้นไปเป็นผู้นำในอนาคต หรือสามารถกลับมาพัฒนาบ้านตัวเองได้ เหมือนตัวกอล์ฟ (พี่เลี้ยง) ที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง เชื่อว่าอย่างตัวเองยังกลับมาในถิ่นฐานบ้านเกิดของเรา ไปเรียนพัฒนาชุมชน มีใจที่อยากกลับมาทำอะไรสักอย่างเพื่อเมืองน่าน เพราะตัวเองคือคนน่าน สิ่งที่เห็นจากน้องๆ มีความคล้ายคลึงกัน คือ อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหา หรือชูของดีบ้านตัวเองหรือในเมืองน่านขึ้นมา “เชื่อว่าเด็กมีสำนึกพลเมืองที่อยู่ในตัวเองสามารถที่จะผลักดันน่านไปทางที่ดีได้” ปัจจุบันน้อยคนที่จะมีสำนึกแบบนี้ ที่จะทำเพื่อบ้านเกิดของตัวเอง


ถาม  พลังของเครือข่ายจะสามารถขับเคลื่อนชุมชนหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับเมืองน่าน

กอล์ฟ  เครือข่ายคือกลุ่มก้อน เราไม่สามารถทำงานพัฒนาไปคนเดียวได้ มันไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ การมีเครือข่ายจากคนที่มีใจอยากทำจริงๆ มีแรงผลักดันบางอย่างจากอุดมการณ์เดียวกัน มีพลังมากกว่าที่จะไปทำคนเดียว การทำคนเดียวไม่มีเพื่อน ไม่มีคู่คิด ในเครือข่ายน่านเราเชื่อมกัน คำว่าเครือข่ายเป็นคำวิชาการ ที่จริงเครือข่ายคือพวกพ้อง อยู่ด้วยกันไม่มีใครเป็นพี่น้อง แต่เป็นพวกพ้องที่ร่วมคิดและทำด้วยกันมากกว่า เรารวมเครือข่ายด้วยความสมัครใจ เราถามว่าคุณอยากเข้ามาทำไหม ถ้ามีความอยากให้เข้ามา ถ้าไม่อยาก ไม่มีการบังคับว่าน้องต้องเข้ามา เริ่มจากเครือข่ายลงไปช่วย โครงการย่อยที่มีปัญหาทั้งที่อยู่ในโครงการและไม่อยู่ในโครงการ ที่น้องเห็นว่าเป็นปัญหาของชุมชนตัวเอง พอเครือข่ายหนุนเสริม เหมือนมีกระจกสะท้อนปัญหาว่าบ้านคุณก็เป็นเหมือนบ้านฉัน เห็นปัญหาจริงๆ แล้วเราก็มาร่วมกันแก้ปัญหา เราได้ทีมที่มาเกาะเกี่ยวกันในพื้นที่ เหมือนจิ๊กซอร์แต่ละตัวที่มาต่อกัน พอเราลงไปในพื้นที่ก็มีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมจะเกาะเกี่ยวกันเรื่อย ๆ รวมตัวกัน เป็นระดับเครือข่าย เวลาที่ลงไปช่วยจะไม่บอกว่าเป็นโครงการหลักหรือโครงการย่อย แต่ทุกคนจะเรียกตัวเองว่าเครือข่ายเยาวชนน่าน


ถาม  เครือข่ายเยาวชนน่านทำอะไรไปแล้วบ้าง?

ข้าวโอ๊ต  ตอนนี้เราลงไปช่วยเหลือ 8 โครงการ เรื่องเก็บขยะ ให้ความรู้เรื่องการเก็บขยะ ทำฝาย ปลูกผัก เป็นจิตอาสาเก็บขยะให้วัดภูมินทร์และพิพิธภัณฑ์


ถาม  เรื่องที่น้อง ๆ ในเครือข่ายปรึกษาเข้ามาปรึกษามีอะไรบ้าง ทางเครือข่ายทำงานร่วมกันอย่างไรในการช่วยเหลือ?

ข้าวโอ๊ต  เช่น เรื่องขยะในชุมชน เรารวมตัวกัน ประชุมแสดงความคิดเห็น กลับไปถามความคิดเห็นของน้อง

ธัน  หลังจากที่น้องได้บอกประเด็นมาแล้ว อยากให้เราเข้าไปช่วยเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับขยะในชุมชนและร่วมเป็นแกนนำในการเก็บขยะ

จิราภา  เราจะต้องมาวางแผนว่าเราจะลงไปทำอะไรบ้าง เราจะเตรียมข้อมูลแหล่งไหน เตรียมข้อมูลอย่างไร และใครจะเป็นคนทำ จะแบ่งบทบาทและนัดกันลงพื้นที่ เสร็จกิจกรรมเราจะสรุปกิจกรรมร่วมกันก่อน จะนัดลงพื้นที่ใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะว่า น้องๆ แต่ละกลุ่มนัดไล่เลี่ยกัน เพราะบางพื้นที่อยู่ใกล้กัน เช่น วันแรกไปโครงการของน้องกลุ่มนี้ พออีกวันก็ไปของน้องอีกกลุ่ม เพราะพื้นที่ใกล้กัน จะได้สะดวกในการเดินทาง


ถาม  เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เรื่องชุมชน โครงการ หรือปัญหาจากการที่เครือข่ายได้ลงไปช่วยน้อง ๆ ?

ข้าวโอ๊ต  สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความสามัคคีของพี่และน้องๆ ตอนแรก การทำเครือข่ายนี้ บางโครงการน้องยังอายเขินไม่กล้าคุยกับเรา พอเราเข้าไปช่วยเรื่องปัญหาทำให้เราได้เรื่องความสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น น้อง ๆ อยากไปช่วยเหลือเราในโครงการอื่นต่อไป


ถาม  การเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญหาของชุมชนเป็นอย่างไรเมื่อเครือข่ายลงไปช่วยน้องๆ เจ้าของโครงการในชุมชน?

จิราภา  จากการลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ได้ชวนคนในชุมชนเก็บขยะ เห็นความร่วมมือของคนในชุมชนที่ให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะว่าเราไม่ได้ไปเฉพาะเครือข่ายอย่างเดียว เรามีกลุ่มโครงการย่อย มีน้องๆ กลุ่มอื่นด้วยที่เขาเข้าไป ทำให้ชุมชนรู้สึกว่าไม่ได้มีเฉพาะเด็กบ้านเราที่ทำ มีเยาวชนข้างนอกที่อยากมาช่วยบ้านเรา ทำให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกว่า คนอื่นยังอยากมาพัฒนาบ้านเรา ทำไมเราไม่อยากพัฒนาบ้านตัวเอง


ถาม  ปัญหาเรื่องขยะที่มีจำนวนเยอะ เรามีการวางแผนงานต่อไปอย่างไรบ้าง?

จิราภา  เป็นความต้องการของน้อง ๆ ที่อยากให้พี่เครือข่ายเข้าไป บางกลุ่มก็อยากให้ไปช่วยในการคัดแยกขยะบางกลุ่มอยากให้พี่เครือข่ายไปช่วยให้ความรู้ บางกลุ่มอยากให้ไปช่วยเป็นแกนนำในการเก็บขยะ แล้วแต่พื้นที่ ที่อยากให้เราเข้าไปช่วยเหลือ


ถาม  เราเป็นส่วนกลางไปให้ความรู้ พอเราออกมาแล้วองค์ความรู้ยังคงอยู่กับน้องๆ ให้เขาสามารถทำต่อไปได้ไหม โดยไม่มีเรา?

ธัน  น้องทำต่อเองได้ เพราะเขามีทีมงาน หัวหน้าโครงการและกลุ่ม ที่แบ่งบทบาทในการทำโครงการ


ถาม  ตอนลงพื้นที่มีเสียงสะท้อนอย่างไรบ้างจากผู้นำในชุมชน?

นัท  ผู้ใหญ่ช่วยอำนวยความสะดวกในพื้นที่ ชื่นชม

จิราภา  เข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ เช่น กลุ่มบ้านแพะกลาง ผู้ใหญ่บ้านมาทำกิจกรรมด้วย


ถาม  งานที่พวกเราทำไปช่วยสนับสนุน งานของผู้ใหญ่บ้าน เขามองว่าขยะเป็นปัญหาของเขาไหม?

ปอ  ชาวบ้านมองว่าเป็นปัญหา จากที่ลงไปเก็บขยะในชุมชนได้ยินเขาพูดว่า ปัญหาจากขยะเกิดจากนักท่องเที่ยวขับรถผ่านไปมาทิ้งขยะลงข้างทาง ชาวบ้านตามเก็บขยะที่ทิ้งไม่ทัน รถผ่านทุกวันทำให้ขยะตกค้าง


ถาม  การหนุนเสริมมีส่วนช่วยพื้นที่อย่างไรบ้าง?

กอล์ฟ  เรื่องปัญหาขยะมีอยู่ทั่วไปที่ไหนก็มี อยู่ที่ว่าชุมชนไหนจะเข้มแข็งสามารถทำให้หมดไปได้ เครือข่ายที่เข้าไปทำ ได้สร้างความตระหนักทั้งคนในชุมชนและผู้นำชุมชน จนผู้นำชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพราะ เด็กที่ทำโครงการย่อยเป็นคนในหมู่บ้าน และมีเด็กจากที่อื่นจะเข้ามาทำกิจกรรม ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะไปสร้างความเข้าใจกับผู้นำในชุมชนก่อน ว่าพวกเรามาจากที่ไหนจะมาทำอะไร ก่อนที่เด็กกลุ่มนี้จะไปสร้างความเข้าใจจะมีน้องในกลุ่มย่อยไปประสานคนในชุมชนก่อน เพราะบ้านของตัวเองจะต้องเปิดทางให้พี่ก่อนที่จะลงไปหนุนเสริม

กระบวนการทำงานของเด็กและผู้ใหญ่มีความกลมกลืนกันเรื่องประสานงาน อำนวยความสะดวก กับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สมาชิก อบต. ของแต่ละหมู่บ้าน ที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น บ้านสาลี่ที่ทำเรื่องน้ำ น้องโครงการย่อยให้เครือข่ายไปช่วยโครงการ กิจกรรมสร้างฝายกึ่งถาวร มีผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยกรรมการหมู่บ้านเข้ามาช่วย พี่เลี้ยงได้ลองถามผู้นำว่าทางหมู่บ้านก็สามารถทำฝายเองได้ ผู้นำตอบว่าทำฝายนั้นสามารถทำเองได้ แต่คนในชุมชนยังไม่เห็นความสำคัญ พอถึงฤดูแล้งไม่มีน้ำก็ต้องดิ้นรนหาน้ำ

ทุกครั้งหลังกิจกรรมมีการถอดบทเรียน จะได้เสียงสะท้อนของผู้ใหญ่และเด็ก ที่ทำงานด้วยกัน

เหนื่อยก็พักพร้อมกัน ถามไถ่ความรู้สึก กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ให้ผู้ใหญ่สะท้อนการทำงานของเด็ก เห็นอะไรในตัวเด็กบ้าง เป็นพื้นฐานการทำงานร่วม อาจไม่ได้เชื่อมใหญ่โต ฝึกให้เด็กกับผู้นำชุมชนทำงานร่วมกัน

ผู้ใหญ่ชื่นชมว่ามีน้อยคนที่จะเอาเวลาว่างมาสร้างให้เกิดประโยชน์แบบนี้ เพราะเด็กยุคปัจจุบันนี้ไม่ค่อยสนใจให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ เล่นเกม แว้น ติดโทรศัพท์ ติดแฟน ผู้ใหญ่ย้อนกลับมาถามว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงตั้งใจมาทำ ไปสร้างคำถามขึ้นในใจของเขา ว่าทำไมเด็กถึงต้องมาทำ เด็กคิดอะไรอยู่ถึงได้มาทำในสิ่งที่รุ่นนี้ไม่จำเป็นต้องมาทำก็ได้ มาทำทำไม


ถาม  พวกเราคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงต้องมาทำงานชุมชน?

ข้าวโอ๊ต  รู้สึกดีอยากทำ อยากเจอเพื่อน สานสัมพันธ์กับน้อง ๆ ภูมิใจที่ได้ทำอะไรช่วยเหลือชุมชนคนอื่น ๆ

จิราภา  ได้ทั้งงานได้ทั้งความสัมพันธ์ และทำให้ตัวเองมีความสุข ได้งานคือเราทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ได้สานสัมพันธ์ ไม่เฉพาะในโครงการเท่านั้น เวลาไปไหนพบเจอน้อง ๆ ที่อื่น ทักทายกันตลอด เป็นคนรู้จักคุ้นเคย มีความสุข เป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้วพอได้ทำ ก็ทำให้เรามีความสุขและอยากจะทำต่อไป


ถาม  ความสุขที่บอกเกิดขึ้นตอนไหน เหตุการณ์เป็นอย่างไร?

ข้าวโอ๊ต  ความสุขตอนที่ได้เจอน้อง ๆ

จิราภา  ตอนทำกิจกรรม เห็นความร่วมมือ หลังกิจกรรมเห็นรอยยิ้มของทุกคนที่มีอุดมคติเดียวกันกับเรา ทำให้เรามีความสุข มีพลัง เห็นว่ายังมีคนอื่นทำที่ทำกิจกรรมแบบเรา ไม่ได้มีแค่เราคนเดียว เรามีกลุ่มมีเพื่อนที่จะทำกิจกรรมไปด้วยกัน

เศรษฐศาสตร์  ตัวเราเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดน่าน


ถาม  ความคิดแบบนี้ ที่อยากพัฒนาจังหวัดน่านเกิดขึ้นตอนไหน?

เศรษฐศาสตร์  คิดตอนที่ไปแว้นรถแล้วมันน่าเบื่อ เราน่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง ไม่ใช่แค่แว้นรถ หรือเที่ยวไปวัน ๆ


ถาม  การทำเพื่อประโยชน์เพื่อสังคมทำให้เรารู้สึกอย่างไร?

เศรษฐศาสตร์  ดีใจได้รับคำชื่นชมจากชาวบ้านและคนอื่น มองกลับกันเวลาที่เราแว้นรถ เขาจะนินทาลับหลัง ตะโกนด่าตามหลัง


ถาม  ปัญหาอุปสรรคการสร้างเครือข่ายคืออะไร?

ปอ  ระยะทางที่ห่างกัน อยู่กันคนละอำเภอ อยู่กันคนละหมู่บ้าน ห่างกันหลายกิโลเมตร

แพท  บางคนก็เรียนระดับมหาวิทยาลัยเวลาว่างไม่ตรงกัน

ข้าวโอ๊ต  ใกล้เรียนจบมัธยมปลาย มีงานเยอะต้องเตรียมตัวเรียนต่อ


ถาม  แก้ปัญหาอย่างไร?

ข้าวโอ๊ต  นัดกันวันเสาร์-อาทิตย์ นัดกันให้มาก่อนเวลา ถามว่ามีใครว่างไหม ถ้ามีก็นัดมารวมตัวกัน ถ้าบางคนไม่ว่างเราอาจเลื่อนหรือเปลี่ยนวัน


ถาม  จำเป็นไหมว่าต้องครบทุกคน เพื่อทำงานเครือข่าย เราบริหารจัดการอย่างไร?

ธัน  ส่วนใหญ่จะเอาคนหมู่มากที่ว่างตรงกัน เพราะมีเวลาว่างไม่ค่อยตรงกัน ใครที่ว่างตรงกันจะมารวมตัวกัน คนที่ไม่ได้มาก็จะอธิบายให้ฟังทีหลัง

จิราภา  ใช้ Video Call สรุปข้อสรุปไว้ให้เพื่อนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม การพูดคุยของเครือข่ายแต่ละครั้ง เราจะมีการสรุปลงในกลุ่มในคนที่มาไม่ได้ ได้อ่านด้วย ว่าคุยอะไรกันบ้าง ได้ข้อสรุปอะไร จะไปทำกิจกรรมอะไร อย่างไร


ถาม  มีปัจจัยอะไรในชุมชนที่ทำงานยาก?

ข้าวโอ๊ต  บางโครงการให้ความร่วมมือดี แต่บางโครงการ เช่น บ้านก่อก๋วง กลุ่มเด็ก กศน. ทั้งชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือ สนับสนุน ไม่มาร่วมเลย คอยจับผิดเราตลอด


ถาม  เพราะอะไรจากการวิเคราะห์ของพวกเรา?

ข้าวโอ๊ต  อาจเป็นเพราะว่าเราเป็นคนต่างถิ่น ต่างบ้าน เขาไม่ค่อยไว้ใจ

กอล์ฟ  ในกลุ่มโครงการที่หมู่บ้านก่อก๋วงมีแกนนำ 4 คน แต่ มีเพียง 1 คน ที่เป็นคนในหมู่บ้านนี้ เขาเป็นน้องที่เรียน กศน. ระดับตำบลบ่อเกลือใต้ เขาอยากทำโครงการ ตอนแรกจะเลือกทำที่บ่อหลวงที่มีการต้มเกลือ ดูแล้วหมู่บ้านกว้างเกินไป ตัวน้องแกนนำบอกว่ามีแรงไม่พอ ไม่ไหว ตอนพัฒนาโครงการจึงให้เขาเลือกหมู่บ้านใดก็ได้ที่มีสมาชิกกลุ่มเป็นคนในหมู่บ้าน โดยประเมินจากแรงกำลังของตัวเองที่จะทำไหว เขาจึงเลือกหมู่บ้านนั้น ก่อก๋วงเป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์ลั๊วะ พื้นที่ไม่ติดกับหมู่บ้านอื่น มีลักษณะปลีกวิเวก เมื่อมีคนนอกเข้าไป เขาค่อนข้างระแวง คนหมู่บ้านนี้ค่อนข้างเก็บตัว ปิดตัว สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องใหม่ที่เขาไม่ค่อยสนใจ ไม่ได้มองว่าเราไปทำอะไร แต่มองว่าเราเป็นใคร และเด็กเจ้าของพื้นที่ก็ยังไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนให้กับคนในหมู่บ้าน และเป็นโครงการแรกที่เครือข่ายลงไป การประสานงานและความสร้างความเข้าใจยังไม่ลงตัว จึงค่อนข้างเป็นอุปสรรคในการทำงานกับชุมชนแรกที่ลงไป


ถาม  ตอนนั้นที่เราเจอสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือเราแก้ไขปัญหาอย่างไร?

ข้าวโอ๊ต  เราก็ทำงานของเราไปเลย เพราะเขาไม่ค่อยสนใจ ทำต่อไปให้เขาเห็นรูปธรรมว่าเรามาทำอะไร เพราะว่าบ้านก่อก๋วงทำเป็นแปลง ล้อมรั้วให้เขา เราก็สร้างให้เสร็จเพื่อให้เราเห็นว่า เรามาเพื่อช่วย ไม่ใช่มาทำอะไรไม่ดี


ถาม  ข้อเรียนรู้ หากได้ลงไปอีกครั้งที่บ้านก่อก๋วง อยากเพิ่มเติมแก้ไข ส่วนไหนในการทำงานร่วมกับชาวบ้านให้ราบรื่นขึ้น?

เศรษฐศาสตร์  อยากลงไปสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์กับคนในชุมชนให้มากขึ้น


ถาม  เครือข่ายเยาวชนเรามีอยู่ทุกอำเภอไหม?

อ๋อย  มีเครือข่าย 9 อำเภอ จากทั้งหมด 15 อำเภอ


ถาม  ในเครือข่าย 9 อำเภอมีน้องๆ เป็นชาติพันธุ์ลั๊วะอยู่ด้วยไหม?

ธัน  มี


ถาม  เนื่องจากโครงการเราเป็นโครงการเด่น ขอให้ช่วยมองว่าโครงการเครือข่ายมีความโดดเด่นอย่างไร?

จิราภา  ทำจริง ลงมือปฏิบัติจริง มีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ทุกคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน พอมาทำงานร่วมกัน มีการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน มีการนำมาปรับใช้ในตัวโครงการของตัวเอง


ถาม  ระบบของเรา มีภาพการทำงานอย่างไร?

เศรษฐศาสตร์  มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน ว่าผู้ชายใช้แรงงาน ผู้หญิงก็แบ่งงานเบาให้ทำ แบ่งบทบาทหน้าที่ตามที่แต่ละคนถนัด ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำงานตามที่เราถนัด

ธัน มีกฏระเบียบในการอยู่ร่วมกัน


ถาม  ตรงที่มีกฏกติการ่วมกับ ตั้งขึ้นมาตอนไหน มีอะไรบ้าง?

ข้าวโอ๊ต  ตั้งขึ้นเมื่อเจอกันครั้งแรก กติกาที่ตั้งจะมีการปรับหากทำไม่ได้เกินสามครั้ง เช่น มาสายสามครั้งจะต้องนำสันทนาการหนึ่งครั้ง


ถาม  กติกานี้ใช้ได้ผลหมดไหม?

ปอ  ใช้ได้ผลบางข้อ กติกา ที่ตั้งไว้ คือ (1) ใช้โทรศัพท์ให้เป็นเวลา (2) ห้ามมีแฟนในเครือข่าย (3) รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น (4) ไม่ขาดการนัดประชุมต่างๆ ในโครงการ เกิน 3 ครั้ง (5) มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง (6) สามารถมาร่วมกิจกรรมเลทได้ไม่เกิน 30 นาที (7) ตอบ Chat กลุ่มทุกครั้ง (8) นำเอกสารสมุดโน๊ตมาร่วมกิจกรรมทุกครั้ง บทลงโทษ ถ้าทำข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ต้องไปทำสันทนาการกิจกรรมในครั้งต่อไป


ถาม  คิดว่าเป็นกติกาเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง?

ปอ  เป็นกติการที่ใช้ได้เพราะคนในกลุ่มได้ตกลงกันแล้ว


ถาม  โครงการนี้ศึกษาว่าจะมีระบบอย่างไรที่ทำให้เครือข่ายทำงานด้วยกันได้ภายในเครือข่าย และจะเชื่อมการทำงานไปกับสภาเด็กและเยาวชนและ พม. อย่างไร?

กอล์ฟ  น้องในกลุ่มบางคนอยู่ในสภาเด็กและเยาวชน เป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนระดับอำเภอ ระดับตำบล ในตอนแรกคิดถึงการไปเชื่อมร้อยเครือข่าย หลังจากได้กลับมาทบทวนระบบการทำงานภายในกลุ่ม แรงกำลังของทีมงาน ไหวหรือไม่ในการไปเชื่อมกับสภาเด็กและเยาวชน ที่มีเครือข่ายทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เมื่อกลับมามองเครือข่ายเด็กและเยาวชนไปถึงจุดนั้นไหม เมื่อกลับมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT) จึงกลับมาคุยกันว่าถ้าเราจะเดินไปถึงจุดนั้นเราต้องกลับมาเชื่อมเครือข่ายกันเองภายในก่อน ถ้าทีมของเรายังไม่เข้มแข็งพอที่จะไปเชื่อมเครือข่ายกับสภาเด็กและเยาวชน ถ้าด้อยกว่าเขาย่อมไม่ยอมรับ อย่างน้อยถ้าเครือข่ายเด็กและเยาวชนเชื่อมกันได้ เข้มแข็งเพียงพอ ในระบบการทำงาน ประสานงาน ระดับพื้นที่ก่อนจะขยายใหญ่ไปในระดับนั้น ซึ่งเราจะประเมินส่วนนี้อยู่ตลอด ถ้าคิดใหญ่แต่ทำไม่ได้ตามความคาดหวังก็จะต้องกลับมานั่งเสียใจ จึงทำตามแรงที่ทำได้ก่อน ค่อยๆ ขยับขยายไป เบี่ยงจากเป้าหมายคือกลับมาเชื่อมร้อยกันภายในเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งก่อน การเชื่อมสภาเด็กและเยาวชนอาจเป็นปีหน้าหรือสองปีข้างหน้า ซึ่งต้องประเมินกันเป็นระยะอีกครั้ง


ถาม  เข้าใจตรงจุดแล้วว่าทางเครือข่าย เห็นตัวเองจากการวิเคราะห์ภายในเครือข่าย เห็นว่าต้องกลับมาสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มสมาชิกเครือข่ายของเราเองก่อน ถ้าสรุปว่าบทบาทหลักของเครือข่ายคือการหนุนเสริมให้กับกลุ่มเครือข่ายที่มีการทำโครงการ เป็นกลุ่มที่รับทุนทำโครงการ Active Citizen เครือข่ายดูแล 9 โครงการ?

กอล์ฟ  ทั้งหมดมี 10 โครงการ แบ่งเป็น 1 โครงการใหญ่ ที่ดูแล 9 โครงการย่อย


ถาม  ทุกกลุ่มย่อยที่อยู่ภายใต้การดูแล หนุนเสริมโดยเครือข่าย มีการวิเคราะห์ SWOT ทุกกลุ่มไหม?

กอล์ฟ  การวิเคราะห์ SWOT ทำเฉพาะในส่วนของเครือข่าย แต่กลุ่มย่อยนั้นจะมีเป้าหมายในโครงการย่อยของตัวเองอยู่แล้ว เครือข่ายจะนำเอาข้อมูลจากประชุมพูดคุยวางแผนของแต่ละครั้งมาวิเคราะห์ เพราะทุกเวทีที่ลงไปทำกิจกรรมร่วมกันทั้งโครงการใหญ่และโครงการย่อยจะมีการวิเคราะห์ ถอดบทเรียนทุกครั้ง หลังเสร็จกิจกรรม จะไม่แยกออกมาถอดเฉพาะเครือข่าย เป็นการถอดบทเรียนรู้ในวงใหญ่ร่วมกัน


ถาม  ตอนที่เราไปหนุนเสริมกลุ่มเล็กที่มีกิจกรรม พอทำเสร็จแล้วก็จะถอดบทเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มนั้น?

กอล์ฟ  มีบทเรียนที่เกิดจากงานนั้น จะมีการระดมความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกตต่างๆ ต่อโครงการย่อยนั้นๆ เราจะเน้นไปที่กระบวนการทำงานมากกว่า ให้น้องสะท้อนเพื่อที่จะรับฟังความเห็นของน้องโครงการย่อยต่อการเครือข่ายขับเคลื่อนงาน ให้ข้อเสนอแนะ หรือมุมมองที่ต่างออกไปจากเครือข่าย เราจะบอกน้องโครงการย่อยเสมอเมื่อมาถอดบทเรียนร่วมกัน ทุกคนเป็นเครือข่าย ไม่มีโครงการใหญ่โครงการย่อย แต่วงนั้นจะเป็นมุมที่เปิดอิสระทางความคิด แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ จากสิ่งที่คิด ทุกคนต้องยอมฟังสิ่งที่คนในวงพูด โดยเท่าเทียมกัน


ถาม  ผ่านกระบวนการทำงาน ได้ถอดบทเรียนรู้กับทีมพื้นที่ การเรียนรู้ของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง หรือเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

แพท  กล้าแสดงออกเพิ่มขึ้น ตรงต่อเวลา

เศรษฐศาสตร์  เสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากขึ้น

ธัน  มีความรับผิดชอบมากขึ้น

นัท  กล้าคิดกล้าทำ

ปอ  เสียสละมากขึ้น

อ๋อย  กล้าเข้าหาคนในชุมชน และผู้ใหญ่มากขึ้น


ถาม  พี่เลี้ยงเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้องๆ อะไรบ้าง?

กอล์ฟ  สิ่งที่เห็นชัดเรื่องการยับยั้งช่างใจ เรามองวัยรุ่นถ้าจะทำอะไรก็จะทำไปโดยไม่คิดก่อนทำ ไม่ไตร่ตรอง พอมีกระบวนการหล่อหลอมน้องเหล่านี้ให้ทำงานร่วมกัน เห็นการยับยั้งช่างใจในทุกเรื่อง คิดก่อนลงมือทำ วางแผน วิเคราะห์ว่าถ้าแล้วไม่ดีจะเป็นอย่างไร ผ่านการถกเถียงในทีมเพื่อให้ได้สิ่งที่ชัดเจนที่สุดและเป็นสิ่งที่ทุกคนตกลงร่วมกัน น้องเข้าใจความเป็นเครือข่ายและการทำงานเป็นทีมเพิ่มมากขึ้น ที่ไม่ใช่เฉพาะตัวเองที่ทำแต่ต้องยอมรับการตัดสินใจของเพื่อน


ถาม  น้องๆ คิดว่าพี่เลี้ยงได้หนุนเสริมการทำงานของเครือข่ายอย่างไรบ้าง?

ข้าวโอ๊ต  เป็นทุกอย่าง คนขับรถไปส่ง เป็นที่ปรึกษาทุกเรื่อง คอยแนะนำเรื่องที่เราทำไม่ดี คอยพัฒนาพวกเรา ตักเตือน เป็นธนาคาร


ถาม  ข้อดีของพี่เลี้ยงในโครงการของเราคืออะไร?

จิราภา  ทุ่มสุดตัว รับฟังทุกเรื่อง ดูแลทุกคนในทีม เป็นกันเองไม่ทำตัวว่าพี่เป็นโคช น้องเป็นเด็ก พี่กอล์ฟกลมกลืนกับเด็ก


ถาม  ถ้าพี่จะไปทำเครือข่ายเยาวชนในจังหวัดอื่นในฐานะเยาวชนการทำเครือข่ายแกนนำให้เหนียวแน่นรวมตัวกันได้ดี ต้องใช้อะไรบ้าง?

จิราภา  ใช้ใจเข้าหากัน มีใจรัก ต้องให้คนที่มีใจอยากทำจริงๆ ไม่บังคับ ถ้าเราทำงานกับคนที่มีอุดมคติเดียวกันเราจะทำงานได้ราบรื่น


ถาม  เรามีแนวทางการทำงานของเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดน่าน เห็นว่าเราต้องไปหนุนเสริมกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยสร้างความสัมพันธ์ให้เข้มแข็งร่วมกันก่อน ในการทำงานเราเน้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เคารพการตัดสินใจของคนอื่น ทำงานด้วยกัน ไม่ทำงานคนเดียว เอาบทเรียนแต่ละครั้งมาพัฒนาทำครั้งต่อไป สรุปแบบนี้ได้ไหม?

ตอบ  ใช่ค่ะ


ถาม  การทำงานในโครงการของตัวเองแล้วปีนี้มาทำงานใหม่ ยกระดับตัวเองอย่างไรทั้งเรื่องบทบาทและกระบวนการของแต่ละคน ?

ข้าวโอ๊ต  “ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการคิดวางแผนมากขึ้น ก่อนทำต้องวางแผนก่อนว่าใครทำหน้าที่อะไร ก่อนทำต้องมีการคิดว่าทำแล้วเกิดผลอย่างไร มีกระทบอะไรบ้าง?


ถาม  ตอนที่เราทำอยู่ที่บ้านตัวเองอาจไม่เข้มข้นขนาดนี้ใช่ไหม?

ข้าวโอ๊ต  สมัยก่อนทำไปเลยไม่ได้คิดอะไรทำให้จบก็พอ

อ๋อย  ตอนที่ทำโครงการตัวเองมีพี่กอล์ฟเป็นคนนำสันทนาการ แต่ปีนี้ ได้มาทำเอง “เปิดประสบการณ์ตัวเองได้นำสันทนาการมากขึ้น ตัวเองชอบด้านนี้ พอไปมหาวิทยาลัยได้ไปเป็นพี่สันทนาการ ได้เอาประสบการณ์ ความรู้นี้ไปใช้ได้ดี”