การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการใช้น้ำในชุมชนทุ่งสุ่น จ.น่าน ปี 3

ในโลกยุคใหม่ที่ความรู้ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ทักษะในศตวรรษที่ 21 ต่างหากคือสิ่งที่คนในสังคมต้องการ และพยายามค้นหาคำตอบว่า “เราจะฝึกเด็กไทยให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร” การทำ Community Project อาจเป็นตำตอบหนึ่ง

Station ฝึกความเก่ง...

สนามฝึกความเก่งเรื่องนี้ ไม่ได้หมายถึงความเก่งเรื่องเรียนที่ต้องได้เกรด A แต่หมายถึงความเก่งในด้านทักษะต่างๆ อาทิ เก่งคิด เก่งทำ เก่งพูด ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

“เดิมหนูเป็นคนติดบ้านมาก ไม่รู้จักคนในหมู่บ้าน ขี้กลัว ไม่พูด แต่หลังจากผ่านการเข้าร่วมโครงการฯทำให้เราเปลี่ยนไป โครงการนี้ช่วยเปิดหูเปิดตาให้เราได้สัมผัสโลกภายนอก ได้สัมพันธ์กับเพื่อนต่างวัย จนสามารถทลายความกลัวที่อยู่ในใจลง” เป็นคำบอกล่าของ ปุ๊กกี้-จิราภา จันตา ที่ค้นพบการเปลี่ยนแปลงของตนเองหลังจากเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ปี 2

และเมื่อเห็นตัวเองเก่งขึ้น เธอจึงอยากให้เพื่อนๆ น้องๆ ในชุมชนบ้านทุ่งสุนเก่งเหมือนเธอบ้าง จึงชักชวนโรส- วิมลศิริ ขุลิลัง มายด์-สุภาภรณ์ กลิ่นหอม ออย-อิสริยา โพธิ์ทอง และ นิล-ณัฐวุฒิ ทองแก้ว เข้ามาทำงานในปีที่ 3

Station 1 ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์

จุดเริ่มต้นกระบวนการฝึกความเก่งของปุ๊กกี้และทีมเริ่มต้นง่ายๆ คือ ทำโครงการตัวหนังสือไทลื้อ ที่ต่อเนื่องจากโครงการรำไทลื้อปีที่แล้ว แต่พอเจอคำถาม 7 ข้อ จากพี่มิ้น-สุทธิรา อุดใจ โคชโครงการฯ ถามว่า “ทำอะไร เพราะอะไร ทำกับใครบ้าง ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรทั้งต่อตัวเอง ต่อชุมชน ต่อทีม” ทำให้ทีมงานต้องหยุดคิดว่า สิ่งที่พวกเธอตั้งใจทำไม่สามารถตอบคำถามของโคชได้ ขณะที่โคชเองก็ชวนพวกเธอคิดต่อว่า โจทย์ปัญหาใดในพื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทีมงานจึงร่วมกันวิเคราะห์ทุกข์-ทุนในชุมชนจนพบว่า 2-3 ปีก่อนชุมชนบ้านทุ่งสุนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ชุมชนใช้น้ำในการดำรงชีวิตเพียงสายเดียวคือลำน้ำสุน เป็นลำน้ำเล็ก ๆ ที่ใช้กันทั้งชุมชนกว่า 155 ครัวเรือน ทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ถึงหน้าแล้งเทศบาลตำบลน้ำงอบต้องขนน้ำเข้ามาให้ชาวบ้านใช้

การตั้งคำถามของพี่มิ้น ทำให้ปุ๊กกี้และเพื่อนรู้ว่า พวกเธอมองปัญหาไม่รอบด้าน ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ตัวเองสนใจเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ดูปัญหาร่วมที่คนในชุมชนเผชิญอยู่ พวกเธอจึงเปลี่ยนโจทย์การทำงานใหม่เป็นโครงการหนึ่งเยาวชน หนึ่งตำบล หนึ่งต้นน้ำ เพราะมองว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาร่วมที่ทุกคนในชุมชนต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้นำชุมชนทำฝ่ายเดียว และมีเหตุผลแฝงเล็กๆ คือ อยากทำให้ผู้ใหญ่เห็นพลังเล็ก ๆ ของเราที่สามารถจุดประกายให้ผู้ใหญ่เห็นและลุกขึ้นมาร่วมกันเห็นคุณค่าของน้ำถึงแม้จะไม่มากแต่ได้สักนิดก็ยังดี

ไม่ใช่เพียงแค่โจทย์ 7 ข้อที่พี่มิ้นชวนคิดเท่านั้น แต่เงื่อนไขเรื่องระยะเวลาทำกิจกรรมที่มีเพียง 6 เดือน พวกเธอคงไม่สามารถแก้ปัญหาให้น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมได้ ทีมงานจึงชวนกันระดมความคิดหาเป้าหมายการทำโครงการ จนได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่พวกเขาน่าจะทำได้ภายใต้ศักยภาพและความสามารถของตนเองคือ การปลูกจิตใต้สำนึกของคนในชุมชนให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการใช้น้ำ วางแผนใช้เวทีประชุมประจำหมู่บ้านเป็นพื้นที่พูดคุยสร้างความเข้าใจร่วมกับคนในชุมชน

ทีมงาน เล่าว่า ครั้งแรกที่ผู้นำชุมชนเปิดพื้นที่เปิดโอกาสให้นำเสนอข้อมูล พวกเธอพยายามใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บอกเล่าข้อมูลที่มาของการใช้น้ำของคนในชุมชน เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพไปพร้อมกัน และขอโอกาสให้พวกเธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของุชมชน ผลที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือ คนในชุมชนเห็นด้วยและลุกขึ้นมาให้กำลังใจพวกเธอ จากเด็กในชุมชนคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเวทีประชุมประจำหมู่บ้านเลย แค่เคยเข้าประชุมแทนพ่อแม่เท่านั้น จากเดิมแค่นั่งฟังเฉยๆ แต่วันนี้ผู้ใหญ่ทุกคนเปิดพื้นที่และให้การสนับสนุน ทำให้พวกเธอรู้สึกอิ่มเอมใจที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญ และมีกำลังใจทำงานเพื่อชุมชนต่อไป

Station 2 ฝึกทักษะการทำงาน

การสืบค้นข้อมูล คือสนามฝึกทักษะการทำงานที่สำคัญของทีม เนื่องจากไม่เคยมีความรู้เลยว่าลำน้ำที่ใช้อยู่ทุกวันมาจากไหน ทีมจึงพากันชวนสำรวจเส้นทางลำน้ำสุนว่า มีกี่สาย สายไหนมีน้ำ สายไหนไม่มีน้ำ ใช้เวลาสำรวจมากถึง 4 ครั้ง เพราะต้องการดูความเปลี่ยนแปลงของน้ำในแต่ละช่วง เพื่อนำมาทำเป็นข้อมูลลงในปฏิทินน้ำ ที่แสดงให้เห็นปริมาณน้ำในแต่ละช่วงปี โดยระหว่างนั้นทีมได้ทำการสำรวจป่า สำรวจความสะอาดของลำน้ำที่มีตัวชี้วัดคือแมงมุมน้ำ หากมีจำนวนมากแสดงว่าน้ำสะอาดมาก นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบคุณภาพของดินว่าดินประเภทไหนมีน้ำเยอะที่สุด รวมถึงดูสัตว์ที่อยู่ใต้ดิน เช่น ไส้เดือนหากพบในปริมาณมากแสดงว่าดินบริเวณนั้นยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพฤติกรรมการใช้น้ำของคนในชุมชน ว่าแต่ละครัวเรือนใช้น้ำปริมาณเท่าไรต่อเดือน และถ้ารวมกันทั้งชุมชนเป็นปริมาณเท่าไร เพียงพอกับปริมาณน้ำที่มีอยู่หรือไม่ ส่วนพื้นที่การเกษตรก็สำรวจว่าชาวบ้านใช้น้ำจากที่ไหน ทำการเกษตรในชุมชนหรือนอกชุมชน และหลังลงพื้นที่ทุกครั้งทีมจะมีการถอดบทเรียนการทำงาน ผ่านคำถามง่ายๆ คือ ได้ข้อมูลอะไร รู้สึกอย่างไร สิ่งไหนที่ทำได้ดี สิ่งไหนทำไม่ได้ดี กิจกรรมต่อไปเราจะทำอะไร เมื่อเห็นข้อมูลส่วนไหนที่ยังขาดอยู่ก็ไปเก็บเพิ่ม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนคืนกลับสู่ชุมชน โดยพบว่า น้ำกว่า 83 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้ในครัวเรือน สำหรับเหตุผลที่ต้องเก็บข้อมูลมากมายขนาดนี้ ทีมงานบอกว่า เพราะต้องการสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของน้ำ

ทั้งนี้ระหว่างเก็บข้อมูล ทีมงานจะส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกครั้ง นำกิจกรรมของโครงการมาไปเล่าให้คนในชุมชนฟังเพื่อให้คนในชุมชนเห็นถึงความตั้งใจจริงของทีมงาน

กลายเป็นว่าการลงพื้นที่เก็บข้อมูลนอกจากจะฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม ฝึกสังเกต ตั้งคำถาม จดบันทึก การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะการประสานงาน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนได้อีกด้วย

Station 3 ฝึกความกล้า

กล้าพูด กล้าแสดงออก เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นในยุคสมัยนี้ ที่สามารถฝึกฝนได้ไม่ยาก แต่คนพูดต้องรู้จริงและมีข้อมูลมากพอ ฉะนั้นการที่ทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลดิน น้ำ ป่า และพฤติกรรมการใช้น้ำของคนในชุมชนไว้อย่างละเอียด ผสมรวมกับการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้เพื่อนร่วมทีมอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ที่มาของโครงการ วัตถุประสงค์ สาเหตุ ผลที่เกิดขึ้นในชุมชนจากการขาดน้ำ หลังจากนั้นนำเสนอข้อมูลป่าที่ได้จากกาลงพื้นที่ ข้อมูลน้ำ พฤติกรรมการใช้น้ำ พืช ป่าที่ไปสำรวจมา แผนที่ลำน้ำสุน ปฏิทินการใช้น้ำ เปรียบเทียบการใช้น้ำ กฎกติกาในชุมชน ปิดท้ายด้วยการสะท้อนตัวเองของปุ๊กกี้ เพราะอยากให้ชาวบ้านเห็นว่าเด็กทำแล้วไม่ได้สูญเปล่า แต่เกิดประโยชน์กับชุมชนจริงๆ เพราะผู้ใหญ่บางคนยังไม่รู้ว่าทีมทำอะไรจึงอยากให้เขาเห็นว่าสิ่งที่ทำทีมงานได้อะไร คนในชุมชนได้อะไรจากสิ่งที่ทีมงานทำ

ปุ๊กกี้ บอกว่า เธอนำประสบการณ์เดิมจากปีที่ผ่านมาใช้ปรับปรุงในเวทีคืนข้อมูลครั้งนี้ โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับทุกคน ตั้งแต่เนื้อหาที่แต่ละคนต้องพูดมีอะไรบ้าง เริ่มต้นจากโรสกล่าวเปิดและพูดที่มาของโครงการในฐานะประธานโครงการ เพราะอยากให้คนในชุมชนเห็นบทบาทการเป็นประธานเยาวชนของโรส ส่วนมายด์พูดข้อมูลเรื่องสัตว์น้ำ ออยพูดเรื่องแผนที่น้ำเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน นิลพูดเรื่องป่า น้ำพูดเรื่องปฏิทินน้ำ ปุ๊กกี้พูดเรื่องกติกาในชุมชน สรุปภาพรวม ชวนชาวบ้านแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ใครจะใช้วิดีโอ ภาพวาด หรือพูดปากเปล่าก็ได้แล้วแต่ความถนัด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้สึกเบื่อหน่าย

ข้อมูลที่ชาวบ้านให้ความสนใจมากที่สุดคือ แผนที่น้ำที่ทำให้ชาวบ้านเห็นเส้นทางน้ำที่คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และหลังจบเวทีพบว่า ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเข้าใจทีมงานมากขึ้น และมีผู้ใหญ่บ้านเข้าเป็นที่ปรึกษาโครงการ

จุฑารัตน์ ขุลิลัง พี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจว่าเด็กจะไปทำอะไรที่ไหน แต่หลัง ๆ ก็หันมาสนใจถามไถ่อยู่ตลอดเวลา

Mission Complete

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการใช้โครงการนี้เป็นพื้นที่ฝึกฝนความเก่งให้กับเพื่อนร่วมทีม ปุ๊กกี้จึงพยายามลดตัวตนของตัวเอง เปิดโอกาสให้เพื่อนคนอื่นได้ฉายแววเหมือนเธอ เช่น ออย จากเดิมที่ไม่เคยสนใจอะไรเลย การทำโครงการนี้ช่วยกระตุ้นให้เธอเข้าใจเรื่องการแบ่งเวลา ทำให้เธอตั้งใจเรียนจนเกรดเฉลี่ยดีขึ้น และพฤติกรรมการใช้น้ำก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้แบบไม่สนใจเพราะรู้ว่ายังไงก็มีน้ำใช้ การลงมือเก็บข้อมูลน้ำด้วยตัวเองทำให้เธอค้นพบว่าการจะทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน

โรสที่รับบทหนักเนื่องจากเป็นน้องเล็กสุด แต่ต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการบอกว่า เดิมเธอเป็นคนไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าพูดเพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่พูดจะถูกไหม การลงมือเก็บข้อมูลด้วยตัวเองทำให้เธอเกิดความมั่นใจในการพูดมากยิ่งขึ้น เมื่อผสมรวมกับบทบาทหัวหน้าโครงการทำให้เธอได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะความกล้าแสดงออกบ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้กล้าขึ้น เข้าหาชุมชนได้บ่อยขึ้น และคนในชุมชนก็รู้จักเธอมากขึ้น และที่สำคัญการทำโครงการทำให้เธอเห็นคุณค่าของดิน น้ำ ป่า ดิน น้ำ สัตว์ และมนุษย์ที่เชื่อมโยงถึงกัน

ส่วน นิล ถึงแม้จะเป็นผู้ชายคนเดียวในทีม แต่เขาก็ขันอาสาช่วยงานน้องในทีมอยู่เสมอ เดิมเขาเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ แต่พอได้เข้าร่วมเวทีกับทีมโคชบ่อยๆ เขาจึงตัดสินใจที่จะลองพูด ลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนคนอื่น การกล้าก้าวข้ามความกลัวในครั้งนี้ทำให้นิลกลายเป็นคนกล้าแสดงออก รู้สึกสนุกที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้

ส่วนปุ๊กกี้ สะท้อนตัวเองหลังจากทำโครงการมา 2 ปี ว่า เดี๋ยวนี้เวลาเธอพูดอะไรทุกคนจะเชื่อ รับฟัง และให้ความไว้วางใจเธอมากขึ้น เช่น เวลามีกิจกรรมอะไรผู้ใหญ่จะมอบหมายงานให้ช่วยรับผิดชอบ ซึ่งน่าจะมาจากทุกคนเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของเธอก็เป็นได้ การได้คลุกคลีทำงานเพื่อชุมชนนานถึง 2 ปี ทำให้เธอมองเห็นเส้นทางชีวิตของตนเอง โดยเธอวาดฝันไว้ว่าโตขึ้นอยากเป็นนักพัฒนา เพราะอยากพัฒนาบ้านทุ่งสุนให้ดียิ่งขึ้น เธอยังบอกทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าเด็กน่านทำรวมกลุ่มกันพัฒนาพื้นที่ของตัวเองในอนาคตปัญหาที่คนเมืองน่านประสบอยู่ย่อมหมดไป


โครงการหนึ่งเยาวชน หนึ่งชุมชน หนึ่งต้นน้ำ

ที่ปรึกษาโครงการ : ชลธิชา เทพจันตา

ทีมงาน :

  • วิมลสิริ ขุลิลัง 
  • จิราภา จันตา
  • สุภาภรณ์ กลิ่นหอม 
  • อิสริยา โพธิ์ทอง
  • ณัฐวุฒิ ทองแก้ว